คัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณให้พบความสุขได้
แม้ไม่ใช่ตำราทางการแพทย์ แต่คัมภีร์ไบเบิลก็กล่าวว่าความรู้สึกของคนเรา—ทั้งในแง่บวกหรือในแง่ลบ—สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายได้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ใจที่ร่าเริงเป็นเหมือนโอสถวิเศษ; แต่จิตต์ชอกช้ำเป็นที่ให้กะดูกเหี่ยวแห้งไป.” นอกจากนั้น เราอ่านพบว่า “ถ้าเจ้าป้อแป้ [“ท้อแท้,” ล.ม.] ในวันที่มีความทุกข์ยากก็เห็นได้ว่ากำลังของเจ้านั้นน้อย.” (สุภาษิต 17:22; 24:10) ความท้อแท้ใจอาจทำให้เราหมดกำลัง ทำให้เรารู้สึกอ่อนเปลี้ยและอ่อนแอ และไม่อยากจะปรับเปลี่ยนหรือแสวงหาความช่วยเหลือ.
ความท้อใจอาจส่งผลต่อสภาพทางด้านวิญญาณของคนเราด้วย. คนที่รู้สึกไร้ค่ามักจะคิดว่าไม่มีทางมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าและได้รับพระพรจากพระองค์. ซีโมนที่กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้เคยคิดว่าเธอคงเป็น “คนที่พระเจ้าไม่พอพระทัย.” อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจดูในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าเราจะเห็นว่า พระเจ้าทรงชื่นชมคนที่พยายามทำให้พระองค์พอพระทัย.
พระเจ้าใฝ่พระทัยจริง ๆ
คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ, และคนที่มีใจสุภาพ [“จิตใจชอกช้ำ,” ล.ม.] พระองค์จะทรงช่วยให้รอด.” พระเจ้าไม่ทรงดูหมิ่น “ใจแตกและฟกช้ำ” แต่ทรงสัญญาว่า “จะชูดวงจิตต์ของผู้ที่มีจิตต์น้อมถ่อมลง, ชูดวงใจของคนที่ช้ำใจเพราะบาป.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:18; 51:17; ยะซายา 57:15.
คราวหนึ่ง พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าเห็นว่าจำเป็นต้องช่วยเหล่าสาวกให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเห็นความดีในตัวผู้รับใช้ของพระองค์. โดยใช้อุทาหรณ์ พระองค์กล่าวว่า พระเจ้าทรงสังเกตเห็นเมื่อนกกระจอกตัวหนึ่งตกถึงดิน ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย. พระเยซูยังเน้นอีกด้วยว่าพระเจ้าทรงรู้รายละเอียดปลีกย่อยที่สุดเกี่ยวกับมนุษย์ แม้กระทั่งจำนวนเส้นผมบนศีรษะของคนเรา. พระเยซูสรุปอุทาหรณ์ของพระองค์โดยกล่าวว่า “เหตุฉะนั้นอย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายก็ประเสริฐกว่านกกระจาบ [“นกกระจอก,” ล.ม.] หลายตัว.” (มัดธาย 10:29-31)a พระเยซูบ่งชี้ว่า ไม่ว่าคนเราอาจรู้สึกเช่นไรกับตัวเอง แต่คนที่มีความเชื่อมีค่าอย่างยิ่งในสายพระเนตรของพระเจ้า. ที่จริง อัครสาวกเปโตรเตือนใจเราว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.”—กิจการ 10:34, 35.
จงรักษาทัศนะที่สมดุล
พระคำของพระเจ้าสนับสนุนเราให้มองตัวเองอย่างสมดุล. อัครสาวกเปาโลเขียนภายใต้การดลใจดังนี้: “ข้าพเจ้าว่าแก่ท่านทั้งหลายทุกคนโดยพระคุณซึ่งทรงประทานแก่ข้าพเจ้าแล้วว่า, อย่าคิดถือตัวเกินที่ตนควรจะคิดนั้น [“อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น,” ล.ม.] แต่จงคิดให้สุขุมสมกับขนาดแห่งความเชื่อซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานแก่ทุกคน.”—โรม 12:3.
แน่นอน เราไม่ควรจะคิดว่าตัวเองสูงส่งจนถึงขั้นหลงตัวเอง หรือคิดว่าเราเองต่ำต้อยจนรู้สึกว่าไร้ค่า. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราควรมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังการมีทัศนะที่ถูกต้องต่อตัวเอง ซึ่งหมายถึงการรู้ทั้งส่วนดีและขีดจำกัดของเรา. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ดิฉันไม่ใช่คนชั่วแต่ก็ไม่ได้เป็นคนดีเลิศเลออะไร. ดิฉันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และทุกคนก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน.”
แน่นอน การมีทัศนะที่สมดุลเช่นนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก. เราอาจต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะขจัดความรู้สึกในแง่ลบต่อตนเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สะสมมานานหลายปี. กระนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราสามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและวิธีที่เรามองชีวิต. ที่จริง พระคำของพระเจ้าสนับสนุนเราให้ทำเช่นนั้น. เราอ่านว่า “[จง] ละทิ้งบุคลิกภาพเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของท่าน และซึ่งถูกทำให้เสื่อมเสียตามความปรารถนาอันหลอกลวงของตน แต่ท่านทั้งหลายควรมีพลังกระตุ้นจิตใจใหม่ และควรสวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:22-24, ล.ม.
โดยพยายามเปลี่ยน ‘พลังกระตุ้นจิตใจของเรา’ ซึ่งก็คือแนวโน้มที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเรา เราสามารถเปลี่ยนบุคลิกภาพจากคนที่เคยมีความคิดในแง่ลบมากเกินไป กลายเป็นคนที่มีความคิดในแง่บวก. เลนาที่กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ได้ตระหนักว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของเธอได้ จนกว่าเธอจะเลิกคิดว่าไม่มีใครรักหรือช่วยเหลือเธอ. คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงอะไรบ้างซึ่งช่วยเลนา, ซีโมน, และคนอื่น ๆ ให้ทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น?
หลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ส่งเสริมความสุข
“จงมอบภาระของท่านไว้กับพระเจ้าและพระองค์จะทรงค้ำจุนท่าน.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ฉบับแปลใหม่) การอธิษฐานเป็นสิ่งแรกและเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยเราให้มีความสุขแท้. ซีโมนกล่าวว่า “เมื่อไรก็ตามที่ดิฉันรู้สึกท้อใจ ดิฉันจะหันเข้าหาพระยะโฮวาและขอการช่วยเหลือจากพระองค์. ไม่ว่าจะเจอกับสภาพการณ์ใด ดิฉันรู้สึกว่าพระองค์เสริมกำลังและชี้นำดิฉัน.” เมื่อกระตุ้นเราให้มอบภาระไว้กับพระยะโฮวา ที่จริงแล้วผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกำลังบอกเราว่า พระยะโฮวาไม่เพียงใฝ่พระทัยเราเท่านั้น แต่ยังทรงมองว่าเราแต่ละคนเป็นคนที่มีค่า ซึ่งสมควรที่พระองค์จะช่วยเหลือและค้ำจุน. ในคืนวันปัศคาปีสากลศักราช 33 สาวกของพระเยซูรู้สึกโศกเศร้าเนื่องจากพระเยซูบอกว่าพระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป. พระเยซูกระตุ้นพวกเขาให้อธิษฐานถึงพระบิดา และตรัสเสริมว่า “จงขอเถิดแล้วจะได้ เพื่อความชื่นชมยินดีของท่านจะมีเต็มเปี่ยม.”—โยฮัน 16:23, 24, ฉบับแปลใหม่.
“การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) ดังที่พระเยซูสอนไว้ การให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พบความสุขแท้ในชีวิต. การนำความจริงของคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้ไปใช้ จะทำให้เราสนใจในความจำเป็นของผู้อื่นแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าตัวเองไม่ดีพอ. เมื่อเราช่วยคนอื่นและเห็นว่าเขาหยั่งรู้ค่า เราก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง. เลนาเชื่อว่า การแบ่งปันข่าวดีจากคัมภีร์ไบเบิลให้แก่เพื่อนบ้านเป็นประจำช่วยเธอได้ในสองทาง. เธอกล่าวว่า “อย่างแรก การประกาศช่วยให้ดิฉันมีความสุขและรู้สึกพึงพอใจเหมือนที่พระเยซูตรัสไว้. อย่างที่สอง เมื่อผู้คนตอบรับเป็นอย่างดี ดิฉันรู้สึกมีความสุข.” โดยการสละตัวเองอย่างใจกว้าง เราจะประสบความสัตย์จริงแห่งถ้อยคำของสุภาษิต 11:25 (ล.ม.) ที่กล่าวว่า “ผู้ที่ใจกว้างนั้นเองจะถูกทำให้อ้วนพี และผู้ที่ให้น้ำผู้อื่นอย่างไม่อั้น ตนเองจะได้รับน้ำอย่างไม่อั้นเช่นกัน.”
“วันเวลาทั้งหมดของคนรับทุกข์เป็นที่เศร้าหมอง; แต่คนที่มีใจชื่นบานเปรียบเหมือนมีการเลี้ยงอยู่เสมอ.” (สุภาษิต 15:15) เราทุกคนมีโอกาสเลือกว่าเราจะมองตัวเราเองและสภาพการณ์ต่าง ๆ อย่างไร. เราอาจเป็นเหมือนคนที่มองทุกสิ่งในแง่ลบและรู้สึกเป็นทุกข์ หรือเราเลือกที่จะคิดในแง่บวกและ “มีใจชื่นบาน” และมีความสุขราวกับอยู่ที่งานเลี้ยง. ซีโมนกล่าวว่า “ดิฉันพยายามคิดในแง่บวกเสมอเท่าที่เป็นไปได้. ดิฉันศึกษาส่วนตัวและทำงานรับใช้อย่างจริงจังรวมทั้งหมั่นอธิษฐาน. นอกจากนั้น ดิฉันพยายามอยู่กับคนที่มองโลกในแง่ดี และพยายามช่วยคนอื่น ๆ.” คนที่มีเจตคติเช่นนั้นจะพบความสุขแท้ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราว่า “ท่านทั้งหลายผู้ชอบธรรม, จงชื่นชมยินดีในพระยะโฮวา; และบรรดาผู้ที่มีใจเที่ยงตรงจงโห่ร้องยินดีเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 32:11.
“มิตรแท้ย่อมรักอยู่ทุกเวลา และเป็นพี่น้องซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) การไว้ใจคนที่เรารักหรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้จะช่วยเรารับมือกับความรู้สึกในแง่ลบและขจัดความรู้สึกนั้นออกไปก่อนที่มันจะท่วมทับเรา. การพูดคุยกับคนอื่นอาจช่วยเราให้มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยทัศนะที่สมดุลและในแง่บวก. ซีโมนยอมรับว่า “การเผยความรู้สึกออกมาช่วยได้มาก. คุณแค่อยากจะบอกใครสักคนหนึ่งว่าคุณรู้สึกอย่างไร. บ่อยครั้ง แค่ได้เผยความรู้สึกออกมาก็พอแล้ว.” การทำเช่นนั้นจะช่วยคุณให้เห็นความจริงของสุภาษิตที่ว่า “ความหนักใจทำให้คนท้อใจลง; แต่คำปรานีทำให้คนเบิกบานใจ.”—สุภาษิต 12:25.
สิ่งที่คุณทำได้
เราได้พิจารณาหลักการเพียงไม่กี่ข้อที่ยอดเยี่ยมและใช้ได้จริงจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีหลักการเช่นนี้อีกมากมายที่สามารถช่วยเราเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบและพบความสุขแท้. หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่ดีพอ เราขอสนับสนุนคุณให้พิจารณาคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าอย่างละเอียด. จงเรียนรู้ที่จะมองตัวเองอย่างที่ตรงกับความเป็นจริงและมีทัศนะที่สมดุล และพัฒนาสัมพันธภาพกับพระเจ้าให้แน่นแฟ้น. เราหวังอย่างจริงใจว่า โดยการชี้นำจากพระคำของพระเจ้า คุณจะพบความสุขแท้ในทุกสิ่งที่คุณทำ.
[เชิงอรรถ]
a มีการพิจารณาข้อคัมภีร์ส่วนนี้อย่างละเอียดในหน้า 22 และ 23.
[ภาพหน้า 7]
การดำเนินชีวิตตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้มีความสุข