พระยะโฮวา ‘ป้อมของเราในยามยากลำบาก’
“ความรอดของคนสัตย์ธรรมมาแต่พระยะโฮวา, พระองค์เป็นป้อมของเขาในยามยากลำบาก.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:39.
1, 2. (ก) พระเยซูทูลอธิษฐานอะไรเพื่อเหล่าสาวกของพระองค์? (ข) พระเจ้าทรงประสงค์เช่นไรสำหรับประชาชนของพระองค์?
พระยะโฮวาทรงฤทธานุภาพทุกประการ. พระองค์มีฤทธิ์อำนาจที่จะปกป้องเหล่าผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ด้วยวิธีใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์. พระองค์ทำได้แม้กระทั่งที่จะกันประชาชนของพระองค์ให้อยู่ต่างหากจากคนอื่น ๆ ในโลกในสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและปลอดภัย. อย่างไรก็ตาม พระเยซูอธิษฐานถึงพระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์สำหรับเหล่าสาวกว่า “ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย.”—โยฮัน 17:15, ล.ม.
2 พระยะโฮวาเลือกที่จะไม่เอาเรา “ไปจากโลก.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงประสงค์ให้เราดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางคนอื่น ๆ ในโลกนี้เพื่อจะประกาศข่าวสารของพระองค์ที่ให้ความหวังและการปลอบโยนแก่พวกเขา. (โรม 10:13-15) แต่ดังที่บ่งชี้ในคำทูลอธิษฐานของพระเยซู เมื่ออยู่ในโลกนี้ เราก็ไม่ปลอดจากอิทธิพลของ “ตัวชั่วร้าย.” มนุษยชาติที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและอำนาจวิญญาณชั่วสามารถก่อความทุกข์ระทมอย่างหนัก และคริสเตียนก็ใช่ว่าจะพ้นจากความทุกข์ใจ.—1 เปโตร 5:9.
3. แม้แต่ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาก็ต้องเผชิญความเป็นจริงอะไร แต่เราพบคำปลอบโยนอะไรในพระคำของพระเจ้า?
3 เมื่อเผชิญการทดลองเช่นนั้น เป็นธรรมดาที่บางทีคนเราจะรู้สึกท้อแท้ใจ. (สุภาษิต 24:10) คัมภีร์ไบเบิลมีบันทึกเรื่องราวมากมายของเหล่าผู้ซื่อสัตย์ที่ประสบความทุกข์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:19) ใช่แล้ว แม้แต่ “ผู้สัตย์ธรรม” ก็ยังประสบเรื่องเลวร้าย. เช่นเดียวกับดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ บางครั้งเราอาจถึงกับ “อ่อนกำลังฟกช้ำมาก.” (บทเพลงสรรเสริญ 38:8) ถึงกระนั้น เป็นการปลอบโยนที่รู้ว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ, และ . . . พระองค์จะทรงช่วยให้รอด.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:18; 94:19.
4, 5. (ก) ประสานกับสุภาษิต 18:10 เราต้องทำอะไรเพื่อจะรับการปกป้องจากพระเจ้า? (ข) มีวิธีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เพื่อรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า?
4 ประสานกับคำอธิษฐานของพระเยซู พระยะโฮวาทรงพิทักษ์เราไว้จริง ๆ. พระองค์เป็น ‘ป้อมของเราในยามยากลำบาก.’ (บทเพลงสรรเสริญ 37:39) พระธรรมสุภาษิตกล่าวคล้าย ๆ กันว่า “พระนามพระยะโฮวาเป็นป้อมเข้มแข็ง, คนชอบธรรมทั้งปวงวิ่งเข้าไปก็พ้นภัย.” (สุภาษิต 18:10) ข้อคัมภีร์นี้เผยความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับความห่วงใยรักใคร่ที่พระยะโฮวามีต่อประชาชนของพระองค์. พระเจ้าให้การปกป้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่คนชอบธรรมที่แสวงหาพระองค์ด้วยความกระตือรือร้น เสมือนเรากำลังวิ่งเข้าไปหาที่กำบังในป้อมเข้มแข็ง.
5 เมื่อเผชิญกับปัญหาที่ก่อความทุกข์ใจ เราจะวิ่งไปหาพระยะโฮวาเพื่อรับการปกป้องโดยวิธีใด? ขอเราพิจารณาสามวิธีสำคัญที่เราสามารถทำได้เพื่อรับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ประการแรก เราต้องเข้าเฝ้าพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วยการอธิษฐาน. ประการที่สอง เราต้องดำเนินตามการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. และประการที่สาม เราต้องอ่อนน้อมต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาโดยคบหากับเพื่อนคริสเตียนผู้ซึ่งจะช่วยบรรเทาความทุกข์ในใจของเรา.
พลังของคำอธิษฐาน
6. คริสเตียนแท้มองการอธิษฐานเช่นไร?
6 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนเสนอแนะให้ใช้การอธิษฐานเป็นวิธีบำบัดความซึมเศร้าและความเครียด. ในขณะที่การคิดรำพึงเงียบ ๆ สักครู่หนึ่งอย่างเช่นที่ทำในการอธิษฐานนั้นอาจช่วยบรรเทาความเครียดได้จริง แต่การฟังเสียงธรรมชาติบางอย่างหรือแม้แต่การนวดแผ่นหลังก็ช่วยได้เช่นกัน. คริสเตียนแท้ไม่ได้ลดความสำคัญของการอธิษฐานโดยถือว่าเป็นเพียงวิธีบำบัดสุขภาพจิต. เราถือว่าการอธิษฐานเป็นการสนทนากับพระผู้สร้างด้วยความรู้สึกเคารพยำเกรง. การอธิษฐานเกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสและความไว้วางใจพระเจ้า. ใช่แล้ว การอธิษฐานเป็นส่วนหนึ่งแห่งการนมัสการของเรา.
7. การอธิษฐานด้วยความมั่นใจหมายความเช่นไร และการอธิษฐานอย่างนั้นช่วยเรารับมือความทุกข์ใจได้อย่างไร?
7 เราต้องอธิษฐานด้วยความรู้สึกมั่นใจหรือไว้วางใจพระยะโฮวา. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “นี่แหละเป็นความมั่นใจที่เรามีต่อพระองค์ คือ สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา.” (1 โยฮัน 5:14, ล.ม.) แท้จริง พระยะโฮวาพระผู้สูงสุด พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษต่อคำอธิษฐานจากใจจริงของผู้นมัสการพระองค์. เพียงรู้ว่าพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักของเราทรงฟังขณะที่เราเล่าความกังวลใจและปัญหาของเราก็ให้การปลอบโยนแล้ว.—ฟิลิปปอย 4:6.
8. ทำไมคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ไม่ควรรู้สึกไม่กล้าหรือไม่คู่ควรที่จะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน?
8 คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ไม่ควรรู้สึกไม่กล้า, ไม่คู่ควร, หรือไม่มั่นใจที่จะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน. จริงอยู่ เมื่อเราผิดหวังกับตัวเองหรือท่วมท้นด้วยปัญหา เราอาจไม่รู้สึกอยากอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเสียทุกครั้งไป. ในโอกาสเช่นนั้น เราควรระลึกว่าพระยะโฮวา “ทรงเมตตาแก่ผู้ที่มีความทุกข์ยาก” และ “ทรงหนุนน้ำใจคนทั้งหลายที่ท้อใจ.” (ยะซายา 49:13; 2 โกรินโธ 7:6) โดยเฉพาะในยามทุกข์ระทมนั้น เราจำเป็นต้องเข้าเฝ้าพระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ผู้ทรงเป็นป้อมของเรา ด้วยความมั่นใจ.
9. ความเชื่อมีบทบาทเช่นไรเมื่อเราเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน?
9 เพื่อจะได้ประโยชน์เต็มที่จากสิทธิพิเศษในการอธิษฐานนี้ เราต้องมีความเชื่ออย่างแท้จริง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่, และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) ความเชื่อเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือเชื่อว่า “พระองค์ทรงพระชนม์อยู่.” ความเชื่อแท้รวมไปถึงความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าพระเจ้ามีพระปรีชาสามารถและความปรารถนาที่จะตอบแทนแนวทางชีวิตของเราที่เชื่อฟังพระองค์. “พระเนตรของพระยะโฮวาเพ่งดูคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์สดับคำวิงวอนของเขาทั้งหลาย.” (1 เปโตร 3:12, ล.ม.) การที่เราสำนึกอยู่เสมอถึงความห่วงใยรักใคร่ที่พระยะโฮวามีต่อเราทำให้คำอธิษฐานของเรามีความหมายเป็นพิเศษ.
10. เราควรทูลอธิษฐานอย่างไรเพื่อจะได้รับการค้ำจุนฝ่ายวิญญาณจากพระยะโฮวา?
10 พระยะโฮวาทรงสดับคำอธิษฐานของเราหากเราทูลอธิษฐานอย่างที่มาจากใจ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าร้องทูลด้วยสุดใจ; ขอทรงตอบข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:145) ต่างจากการอธิษฐานตามแบบแผนในหลายศาสนา การอธิษฐานของเราไม่ใช่ทำแบบพอเป็นพิธี หรือไม่ได้มาจากใจจริง. เมื่อเราทูลอธิษฐานพระยะโฮวาด้วย “สุดใจ” คำพูดของเราจะเปี่ยมด้วยความหมายและวัตถุประสงค์. เมื่อเราทูลอธิษฐานจากใจจริงเช่นนั้นแล้ว เราจะได้การบรรเทาที่มาจากการทอด ‘ภาระไว้กับพระยะโฮวา.’ ดังที่คัมภีร์ไบเบิลสัญญา “พระองค์เองจะทรงค้ำจุน” เรา.—บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.; 1 เปโตร 5:6, 7.
พระวิญญาณของพระเจ้าเป็นผู้ช่วยสำหรับเรา
11. อะไรคือวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเราเมื่อ “ขอ” ความช่วยเหลือจากพระองค์ “ต่อ ๆ ไป”?
11 พระยะโฮวาไม่เพียงเป็นผู้สดับคำอธิษฐาน แต่เป็นผู้ตอบคำอธิษฐานด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) ดาวิดเขียนว่า “ในยามทุกข์ยากข้าพเจ้าจะร้องทูลพระองค์; เพราะพระองค์คงจะทรงโปรดตอบข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:7) ด้วยเหตุนี้เอง พระเยซูจึงสนับสนุนสาวกของพระองค์ให้ “ขอ” ความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา “ต่อ ๆ ไป” เนื่องจาก “พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:9-13, ล.ม.) ใช่แล้ว พลังปฏิบัติการของพระเจ้าดำเนินการเป็นผู้ช่วย หรือผู้ปลอบโยน สำหรับประชาชนของพระองค์.—โยฮัน 14:16.
12. พระวิญญาณของพระเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อปัญหาดูเหมือนว่าหนักหนา?
12 แม้เมื่อเราเผชิญการทดลอง พระวิญญาณของพระเจ้าก็สามารถประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” ให้แก่เรา. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลผู้ซึ่งเผชิญเหตุการณ์ตึงเครียดหลายอย่าง กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานพลังให้ข้าพเจ้า.” (ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.) เช่นเดียวกัน คริสเตียนหลายคนในสมัยปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูกำลังฝ่ายวิญญาณและได้รับความเข้มแข็งทางจิตใจเป็นคำตอบสำหรับคำวิงวอนของพวกเขา. บ่อยครั้ง ปัญหาที่ก่อความหนักใจนั้นดูเหมือนไม่หนักถึงขนาดนั้นเมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า. เนื่องจากกำลังที่พระเจ้าประทานให้นี้ เราจึงกล่าวได้เช่นเดียวกับที่ท่านอัครสาวกกล่าวว่า “เราถูกขนาบรอบข้าง, แต่ก็ยังไม่ถึงกะดิกไม่ไหว. เราจนปัญญา, แต่ก็ยังไม่ถึงกับหมดมานะ เราถูกเขารุกไล่, แต่ก็ยังไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือเขา เราถูกตีลงแล้ว, แต่ก็ยังไม่ตาย.”—2 โกรินโธ 4:8, 9.
13, 14. (ก) พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าเป็นป้อมของเราโดยทางพระคำของพระองค์? (ข) การนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองอย่างไร?
13 นอกจากนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังดลใจให้มีการเขียนพระคำของพระเจ้าและพิทักษ์รักษาไว้เพื่อประโยชน์ของเรา. พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าเป็นป้อมของเราในยามยากลำบากโดยทางพระคำของพระองค์? วิธีหนึ่งคือโดยประทานสติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความสามารถในการคิดแก่เรา. (สุภาษิต 3:21-24, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลฝึกฝนความสามารถในการคิดและพัฒนาความสามารถในการหาเหตุผลของเรา. (โรม 12:1, ล.ม.) โดยการอ่านและศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำพร้อมกับนำไปใช้ เราสามารถ “ฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจเพื่อแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) คุณอาจเคยประสบด้วยตัวเองว่าหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณตัดสินใจอย่างสุขุมอย่างไรเมื่อเผชิญความยุ่งยาก. คัมภีร์ไบเบิลให้ความฉลาดสุขุมแก่เราซึ่งจะช่วยเราพบวิธีที่ใช้ได้จริงในการจัดการปัญหาที่ก่อความทุกข์ใจ.—สุภาษิต 1:4.
14 พระคำของพระเจ้าจัดเตรียมอีกแหล่งหนึ่งที่ให้กำลังแก่เรา นั่นคือความหวังเรื่องการช่วยให้รอด. (โรม 15:4) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าเรื่องเลวร้ายจะไม่เกิดขึ้นตลอดไป. ความทุกข์ยากใด ๆ ที่เราประสบอยู่เป็นเพียงชั่วคราว. (2 โกรินโธ 4:16-18) เรามี “ความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์, ซึ่งพระเจ้าผู้ตรัสมุสาไม่ได้ได้ตรัสสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนดึกดำบรรพ์.” (ติโต 1:2) ถ้าเรายินดีในความหวังดังกล่าว และให้อนาคตอันสดใสที่พระยะโฮวาสัญญาไว้แจ่มชัดอยู่ในความคิดเสมอ เราจะสามารถอดทนได้เมื่อเผชิญความทุกข์ยาก.—โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 1:3.
ประชาคม—การจัดเตรียมที่แสดงถึงความรักของพระเจ้า
15. คริสเตียนจะช่วยเหลือกันและกันได้อย่างไร?
15 การจัดเตรียมจากพระยะโฮวาอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราได้ในยามยากลำบากคือมิตรภาพที่เรามีในประชาคมคริสเตียน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มิตรแท้ย่อมรักอยู่ทุกเวลา และเป็นพี่น้องซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) พระคำของพระเจ้าสนับสนุนทุกคนในประชาคมให้เกียรติและรักซึ่งกันและกัน. (โรม 12:10, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “อย่าให้ผู้ใดกระทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย.” (1 โกรินโธ 10:24) การมีเจตคติเช่นนั้นจะช่วยเรามุ่งความสนใจไปที่การสนองความจำเป็นของผู้อื่นแทนที่จะมัวคิดแต่ความยากลำบากของตนเอง. เมื่อเราช่วยเหลือคนอื่น ๆ พวกเขาไม่เพียงได้รับความช่วยเหลือ แต่เรายังประสบความสุขและความอิ่มใจพอใจในระดับหนึ่งด้วย ซึ่งทำให้เรารับมือกับภาระของตนเองได้ง่ายขึ้น.—กิจการ 20:35.
16. คริสเตียนแต่ละคนจะหนุนใจคนอื่นได้อย่างไร?
16 ชายหญิงที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณจะมีส่วนช่วยได้มากในการเสริมกำลังคนอื่น ๆ. เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ พวกเขาควรทำตัวเองให้เป็นที่เข้าหาได้ง่ายเสมอ. (2 โกรินโธ 6:11-13) ประชาคมได้ประโยชน์แน่ ๆ เมื่อแต่ละคนหาโอกาสชมเชยเยาวชน, เสริมกำลังผู้เชื่อถือใหม่, และหนุนใจผู้ที่ท้อใจ. (โรม 15:7) นอกจากนี้ ความรักฉันพี่น้องจะช่วยไม่ให้เราแคลงใจสงสัยกันและกัน. เราไม่ควรด่วนตัดสินว่า การที่คนหนึ่งคนใดมีความทุกข์ใจนั้นแสดงว่าเขาอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ. เปาโลกระตุ้นคริสเตียนอย่างเหมาะสมให้ “หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าแม้แต่คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ก็ประสบกับความทุกข์ใจ.—กิจการ 14:15, ล.ม.
17. เราพึงเสริมความผูกพันแห่งสังคมพี่น้องคริสเตียนในโอกาสใดบ้าง?
17 การประชุมคริสเตียนให้โอกาสอันดีเยี่ยมแก่เราที่จะปลอบโยนและหนุนใจกัน. (เฮ็บราย 10:24, 25) การแสดงความรักต่อกันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในการประชุมต่าง ๆ เท่านั้น. ประชาชนของพระเจ้ายังหาโอกาสที่จะคบหากันในทางที่ดีงามในโอกาสอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการด้วย. เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ เราก็พร้อมจะช่วยเหลือกันเพราะได้สร้างมิตรภาพที่ผูกพันกันไว้อย่างแน่นแฟ้น. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ไม่ให้ [“ไม่ควร,” ล.ม.] มีการแก่งแย่งกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะทุกส่วนพะวงซึ่งกันและกัน ถ้าอวัยวะอันหนึ่งเจ็บ อวัยวะทั้งหมดก็พลอยเจ็บด้วย ถ้าอวัยวะอันหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะทั้งหมดก็พลอยชื่นชมยินดีด้วย.”—1 โกรินโธ 12:25, 26, ฉบับแปลใหม่.
18. เราควรหลีกเลี่ยงแนวโน้มอะไรเมื่อท้อแท้ใจ?
18 บางครั้ง เราอาจท้อแท้ใจจนไม่อยากจะพบปะกับเพื่อนคริสเตียน. เราควรต่อสู้กับความรู้สึกเช่นนี้เพื่อเราจะไม่กีดกันตัวเองไม่ให้ได้รับการปลอบโยนและความช่วยเหลือที่เพื่อนร่วมความเชื่ออาจเสนอให้. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.” (สุภาษิต 18:1) พี่น้องชายหญิงของเราเป็นการจัดเตรียมที่แสดงถึงความห่วงใยรักใคร่ที่พระเจ้ามีต่อเรา. ถ้าเรายอมรับการจัดเตรียมด้วยความรักนี้ เราจะได้รับความบรรเทาในยามยากลำบาก.
รักษาทัศนะในแง่บวก
19, 20. พระคัมภีร์ช่วยเราขจัดความคิดในแง่ลบอย่างไร?
19 เมื่อเกิดความท้อแท้และความทุกข์โศก ง่ายที่จะจมอยู่ในความคิดในแง่ลบ. ตัวอย่างเช่น เมื่อประสบความทุกข์ยาก บางคนอาจเริ่มสงสัยสภาพฝ่ายวิญญาณของตนเอง ลงความเห็นว่าความทุกข์ยากของตนเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้า. แต่ขออย่าลืมว่า พระยะโฮวาไม่ทดลองผู้ใดด้วย “สิ่งที่ชั่ว.” (ยาโกโบ 1:13, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “[พระเจ้า] จะได้กระทำให้ใครเกิดทุกข์หรือให้วงศ์วานแห่งมนุษย์มีโศกด้วยชอบพระทัยก็หามิได้.” (บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:33) ตรงกันข้าม พระยะโฮวาทุกข์พระทัยอย่างยิ่งเมื่อผู้รับใช้ของพระองค์ทนทุกข์.—ยะซายา 63:8, 9; ซะคาระยา 2:8.
20 พระยะโฮวาเป็น “พระบิดาผู้ทรงความเมตตาและพระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง.” (2 โกรินโธ 1:3) พระองค์ทรงห่วงใยเรา และจะยกเราขึ้นในเวลาอันควร. (1 เปโตร 5:6, 7) การสำนึกอยู่เสมอถึงความห่วงใยรักใคร่ที่พระเจ้ามีต่อเราจะช่วยให้เรารักษาทัศนะในแง่บวก แม้กระทั่งมีความยินดี. ยาโกโบเขียนดังนี้: “ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า, เมื่อท่านทั้งหลายตกอยู่ในการทดลองต่าง ๆ ก็จงมีความยินดีเถิด.” (ยาโกโบ 1:2) เพราะเหตุใด? ท่านตอบว่า “เพราะเมื่อปรากฏว่าผู้นั้นทนได้แล้ว, เขาจะได้รับมงกุฎแห่งชีวิต, ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้แล้วว่าจะทรงประทานให้แก่คนทั้งหลายที่รักพระองค์.”—ยาโกโบ 1:12.
21. ไม่ว่าเราจะเผชิญความทุกข์ยากใด ๆ พระเจ้าทรงรับรองอะไรแก่ผู้ที่พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ต่อพระองค์?
21 ดังที่พระเยซูทรงเตือนไว้ เราจะมีความทุกข์ยากในโลกนี้. (โยฮัน 16:33) แต่คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า ไม่มี “การยากลำบาก, หรือความทุกข์ในใจ, หรือการเคี่ยวเข็ญ, หรือการกันดารอาหาร, หรือการเปลือยกาย, หรือการถูกโพยภัย” จะพรากเราไปจากความรักของพระยะโฮวาและของพระบุตรของพระองค์. (โรม 8:35, 39) ช่างเป็นการปลอบโยนเสียจริง ๆ ที่รู้ว่าความทุกข์ใด ๆ ที่เราประสบอยู่เป็นแค่ชั่วคราว! ระหว่างนี้ ขณะที่เรากำลังคอยท่าอวสานแห่งความทุกข์ของมนุษย์ พระยะโฮวา พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงพิทักษ์เรา. ถ้าเราหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อการปกป้อง พระองค์จะเป็น “ป้อมอันสูงสำหรับผู้ที่ถูกข่มเหง . . . เป็นป้อมอันสูงในเวลายากลำบาก.”—บทเพลงสรรเสริญ 9:9.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• คริสเตียนควรคาดหมายว่าจะประสบสิ่งใดขณะดำรงชีวิตในโลกชั่วนี้?
• คำอธิษฐานอย่างแรงกล้าจากใจจริงจะเสริมกำลังเราให้เข้มแข็งได้อย่างไรเมื่อเผชิญการทดลอง?
• พระวิญญาณของพระเจ้าเป็นผู้ช่วยอย่างไร?
• เราสามารถทำอะไรได้เพื่อช่วยเหลือกันและกัน?
[ภาพหน้า 18]
เราต้องแสวงหาพระยะโฮวาเสมือนกำลังวิ่งเข้าไปในป้อมเข้มแข็ง
[ภาพหน้า 20]
ผู้ที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณใช้ทุกโอกาสเพื่อชมเชยและหนุนใจคนอื่น