อย่า “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา”
“ความโฉดเขลาของคนทำให้ทางการของเขาเสียไป, และใจของเขาก็บ่นต่อว่าพระยะโฮวา.”—สุภา. 19:3
1, 2. ทำไมเราไม่ควรโทษพระยะโฮวาว่าทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก? จงยกตัวอย่างที่อธิบายเรื่องนี้.
ขอนึกภาพชายคนหนึ่งซึ่งมีความสุขดีกับชีวิตสมรสกลับถึงบ้านตอนเย็นแล้วพบว่าทุกสิ่งในบ้านเขาพังเสียหายหมด. เฟอร์นิเจอร์หักพัง ถ้วยชามแตก และพรมก็ขาดจนซ่อมไม่ได้. บ้านสวยของเขากลายเป็นเหมือนเขตภัยพิบัติ. เขาจะพูดออกมาทันทีเลยไหมว่า “ทำไมภรรยาผมทำอย่างนี้?” ไม่เป็นอย่างนั้นแน่. เขาคงจะถามว่า “ใคร ทำอย่างนี้?” เขารู้ว่าภรรยาที่รักของเขาไม่มีทางทำลายบ้านตัวเองแน่ ๆ.
2 ในทุกวันนี้ โลกถูกทำลายด้วยหลายสิ่ง. ดิน น้ำ และอากาศปนเปื้อนมลพิษ. ผู้คนรุนแรงและผิดศีลธรรม. แต่เราเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลว่าพระยะโฮวาไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้. พระองค์ทรงสร้างโลกให้เป็นอุทยานที่สวยงามสำหรับเรา. (เย. 2:8, 15) พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่เปี่ยมด้วยความรัก. (1 โย. 4:8) พระคัมภีร์บอกเราว่าซาตานพญามารเป็น “ผู้ปกครองโลก” และมันเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหามากมายในโลกนี้.—โย. 14:30; 2 โค. 4:4
3. ความคิดของเราอาจถูกบิดเบือนอย่างไร?
3 อย่างไรก็ตาม เราจะโทษซาตานว่าทำให้เกิดปัญหาทุกอย่างไม่ได้. ทำไม? เพราะปัญหาบางอย่างเกิดจากความผิดพลาดของเราเอง. (อ่านพระบัญญัติ 32:4-6 ) แม้ว่าเราอาจยอมรับในเรื่องนี้ แต่ความไม่สมบูรณ์อาจบิดเบือนความคิดของเรา และนั่นนับว่าอันตรายทีเดียว. (สุภา. 14:12) แทนที่จะโทษตัวเราเองหรือซาตานสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรา เราอาจเริ่มโทษพระยะโฮวา. เราอาจถึงกับ “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา” หรือโกรธพระองค์.—สุภา. 19:3
4, 5. คริสเตียนอาจเริ่ม “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา” ได้อย่างไร?
4 เป็นไปได้จริง ๆ หรือที่เราจะ “บ่นต่อว่า” หรือโกรธพระยะโฮวา? ที่จริง การทำอย่างนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยสำหรับเรา. (ยซา. 41:11) เราไม่มีทางชนะเลยถ้าคิดจะต่อสู้กับพระเจ้า. จริงอยู่ เราอาจไม่ได้ออกปากบ่นต่อว่าพระยะโฮวา. แต่สุภาษิต 19:3 บอกว่าความคิดที่โง่เขลาของคนเรา “ทำให้ทางการของเขาเสียไป” และ “ใจของเขาก็บ่นต่อว่าพระยะโฮวา.” นั่นหมายความว่าคนเราอาจเริ่มบ่นต่อว่าหรือโกรธพระเจ้าในใจ. ความคิดหรือความรู้สึกที่อยู่ในใจนี้อาจค่อย ๆ ส่งผลต่อการกระทำของคนเรา เช่น เขาอาจเฉื่อยช้าลงในการรับใช้พระยะโฮวาหรือเลิกนมัสการร่วมกับประชาคม.
5 อะไรอาจทำให้เรา “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา”? เราจะหลีกเลี่ยงกับดักนี้ได้อย่างไร? เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะรู้คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวเพื่อเราจะปกป้องสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาพระเจ้าได้!
เราอาจเริ่ม “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา” ได้อย่างไร?
6, 7. ทำไมชาวอิสราเอลในสมัยโมเซจึงเริ่มบ่นต่อว่าพระยะโฮวา?
6 อะไรอาจเป็นเหตุที่ทำให้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาเริ่มบ่นต่อว่าพระยะโฮวาในใจ? บทความนี้จะพิจารณาห้าสิ่งที่อาจมีผลกระทบต่อเรา และเราจะพิจารณาตัวอย่างที่ไม่ดีของบางคนในคัมภีร์ไบเบิลที่เริ่ม “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา.”—1 โค. 10:11, 12
7 คำพูดในแง่ลบของคนอื่นอาจส่งผลกระทบต่อเรา. (อ่านพระบัญญัติ 1:26-28 ) ขอให้คิดถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทำเพื่อชาวอิสราเอล. พระองค์ทรงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติสิบประการต่ออียิปต์และทำลายฟาโรห์กับกองทัพที่ทะเลแดง. ชาวอิสราเอลเป็นอิสระ! (เอ็ก. 12:29-32, 51; 14:29-31; เพลง. 136:15) ประชาชนของพระเจ้าพร้อมจะเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา. แต่ในช่วงสำคัญนี้เองที่ชาวอิสราเอลเริ่มบ่นต่อว่าพระยะโฮวา. ทำไมพวกเขาจึงขาดความเชื่อขณะที่จวนจะได้รับบำเหน็จรางวัลอยู่แล้ว? คนสอดแนมสิบคนรายงานในแง่ร้าย และนั่นทำให้ชาวอิสราเอลท้อใจและกลัว. (อาฤ. 14:1-4) ผลก็คือ พระยะโฮวาไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าใน “แผ่นดินดีนั้น.” (บัญ. 1:34, 35, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971) เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? คำพูดในแง่ลบของคนอื่นอาจทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลงได้และอาจทำให้เราบ่นต่อว่าวิธีที่พระยะโฮวานำประชาชนของพระองค์.
8. ทำไมประชาชนในอาณาจักรยูดาห์ในสมัยยะซายาห์จึงโทษพระยะโฮวาว่าทำให้พวกเขาประสบปัญหา?
8 ความทุกข์ยากและปัญหาต่าง ๆ อาจทำให้เราท้อใจได้. (อ่านยะซายา 8:21, 22 ) ในสมัยยะซายาห์ ประชาชนในอาณาจักรยูดาห์ประสบความทุกข์ยาก. พวกเขามีศัตรูอยู่ล้อมรอบ. หลายคนหิวเพราะอาหารขาดแคลน. แต่ปัญหาที่หนักกว่านั้นก็คือ พวกเขาเลิกเชื่อฟังพระยะโฮวาและปล่อยให้สายสัมพันธ์กับพระเจ้าอ่อนลง. (อาโมศ 8:11) แทนที่จะขอให้พระยะโฮวาช่วย พวกเขากลับ “แช่งด่า” พระองค์และกษัตริย์ของพวกเขา. พวกเขาโทษพระยะโฮวาว่าทำให้พวกเขาประสบปัญหา. คล้ายกัน ถ้าเราท้อแท้เพราะความทุกข์ยากหรือปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เราอาจเริ่มโทษพระยะโฮวาและรู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้ช่วยเราเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์.
9. ทำไมชาวอิสราเอลในสมัยยะเอศเคลจึงคิดว่าแนวทางของพระยะโฮวาไม่ถูกต้อง?
9 เราไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่าง. เนื่องจากชาวอิสราเอลในสมัยยะเอศเคลไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่าง พวกเขาจึงคิดว่าแนวทางของพระยะโฮวาไม่ถูกต้องและ “ไม่ยุติธรรม.” (ยเอศ. 18:29, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ) พวกเขาทำราวกับว่ามีสิทธิ์ที่จะตัดสินพระเจ้าและตัดสินว่าสิ่งที่พระองค์กำลังทำอยู่นั้นดีที่สุดหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่เข้าใจเหตุผลทุกอย่างของพระองค์. เราอาจทำผิดพลาดคล้าย ๆ กันได้อย่างไร? มีบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลที่อาจเข้าใจยาก. หรือเราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นในชีวิตเรา. เราอาจเริ่มรู้สึกว่าแนวทางของพระยะโฮวาไม่ถูกต้อง.—โยบ 35:2
10. บางคนอาจเลียนแบบตัวอย่างที่ไม่ดีของอาดามอย่างไร?
10 เราไม่รับผิดชอบความผิดและข้อผิดพลาดของเราเอง. อาดามมนุษย์คนแรกโทษพระเจ้าเมื่อเขาทำผิด. (เย. 3:12) อาดามรู้ว่าเขาฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าและพระเจ้าจะลงโทษเขา. แต่เขาโทษพระยะโฮวาราวกับว่าเป็นความผิดพลาดของพระองค์ที่ประทานภรรยาที่ไม่ดีแก่เขา เขาจึงทำผิด. นับแต่นั้นมา มนุษย์คนอื่น ๆ ได้เลียนแบบอาดามด้วยการโทษพระเจ้าเมื่อพวกเขาทำผิด. เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันผิดหวังและหงุดหงิดกับความผิดของตัวเองมากจนเริ่มคิดว่ามาตรฐานของพระยะโฮวาเข้มงวดเกินไปไหม?’
11. เราได้บทเรียนอะไรจากโยนาห์?
11 เราเริ่มคิดถึงแต่ตัวเอง. ผู้พยากรณ์โยนาห์โกรธเมื่อพระยะโฮวาแสดงความเมตตาต่อชาวนีเนเวห์. (โยนา 4:1-3) ทำไม? ท่านกลัวว่าผู้คนจะคิดว่าท่านเป็นผู้พยากรณ์เท็จเพราะกรุงนั้นไม่ถูกทำลายอย่างที่ท่านได้ประกาศไว้. ดูเหมือนว่าโยนาห์เป็นห่วงกังวลในเรื่องชื่อเสียงของตัวเองมากกว่าจะเป็นห่วงเกี่ยวกับผู้คน. เราอาจรู้สึกแบบเดียวกับโยนาห์ได้ไหม? ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเอง เราอาจลืมคิดถึงความจำเป็นของคนอื่น. เช่น เราอาจประกาศมาหลายปีว่าใกล้จะถึงวันของพระยะโฮวาแล้ว. แต่เมื่อถูกเย้ยหยันเพราะวันนั้นยังไม่มา อาจเป็นไปได้ไหมที่เราจะเริ่มขาดความอดทนและตำหนิพระยะโฮวา?—2 เป. 3:3, 4, 9
วิธีที่เราจะไม่ “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา”
12, 13. ถ้าเราเริ่มไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พระยะโฮวาทำหรือยอมให้เกิดขึ้น เราต้องทำอะไร?
12 เราอาจทำอะไรได้ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พระยะโฮวาทำหรือยอมให้เกิดขึ้น? ขอให้จำไว้ว่าไม่ฉลาดที่เราจะคิดอย่างนั้น. สุภาษิต 19:3 เตือนเราว่าเพราะความโง่เขลาของเราเอง เราอาจโทษพระยะโฮวาว่าพระองค์ทำให้เกิดปัญหา. แต่จริง ๆ แล้ว เราเองเป็นคนทำให้เกิดปัญหานั้น. ดังนั้น ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาห้าปัจจัยที่ช่วยเราไม่ให้บ่นต่อว่าหรือโกรธพระยะโฮวา.
13 จงรักษาสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้น. ถ้าเรามีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา เราจะไม่โกรธพระองค์. (อ่านสุภาษิต 3:5, 6 ) เราต้องไว้วางใจพระยะโฮวา. เราต้องไม่คิดด้วยว่าเรารู้ดีกว่าพระองค์หรือตัวเราเองสำคัญที่สุด. (สุภา. 3:7; ผู้ป. 7:16) การมีทัศนะอย่างนี้จะช่วยให้เราไม่โทษพระองค์เมื่อมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น.
14, 15. อะไรจะช่วยเราไม่ให้ได้รับผลกระทบจากคำพูดในแง่ลบของคนอื่น?
14 อย่าปล่อยให้คำพูดในแง่ลบของคนอื่นมีผลกระทบต่อคุณ. ชาวอิสราเอลในสมัยโมเซมีเหตุผลมากมายที่จะเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะช่วยพวกเขาให้เข้าไปในแผ่นดินที่ทรงสัญญาได้. (เพลง. 78:43-53) แต่เมื่อคนสอดแนมสิบคนรายงานเกี่ยวกับแผ่นดินนั้นในแง่ไม่ดี คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าชาวอิสราเอลก็ “มิได้ระลึกถึงพระหัตถ์ของพระองค์” กล่าวคือพวกเขาลืมสิ่งที่พระยะโฮวาเคยทำเพื่อช่วยพวกเขา. (เพลง. 78:42) ถ้าเราใคร่ครวญสิ่งอันน่าอัศจรรย์ทั้งสิ้นที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อเรา เราจะรู้สึกใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. ผลก็คือ เราจะไม่ปล่อยให้คำพูดของคนอื่นมาทำให้เราห่างจากพระยะโฮวา.—เพลง. 77:11, 12
15 อีกสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เราห่างจากพระยะโฮวาได้คือการมองพี่น้องของเราในแง่ไม่ดี. (1 โย. 4:20) ตัวอย่างเช่น เมื่ออาโรนได้รับแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิต ชาวอิสราเอลบ่นในเรื่องนี้. แต่พระยะโฮวาทรงถือว่านั่นเป็นเหมือนกับการบ่นต่อว่าพระองค์. (อาฤ. 17:10) คล้ายกัน ถ้าเราบ่นต่อว่าคนที่พระยะโฮวาใช้ให้นำหน้างานของพระองค์บนโลก นั่นอาจเท่ากับว่าเรากำลังบ่นต่อว่าพระยะโฮวา.—ฮีบรู 13:7, 17
16, 17. ทำไมเราไม่ควรโทษพระยะโฮวาว่าเป็นผู้ที่ทำให้เราประสบปัญหา?
16 อย่าลืมว่าพระยะโฮวาไม่ใช่ผู้ที่ทำให้เราประสบปัญหา. ในสมัยของยะซายาห์ ชาวอิสราเอลเลิกรับใช้พระยะโฮวา แต่พระองค์ก็ยังต้องการช่วยพวกเขา. (ยซา. 1:16-19) ไม่ว่าเราอาจประสบปัญหาอะไรในทุกวันนี้ เรามีกำลังใจที่รู้ว่าพระยะโฮวายังคงดูแลเราและต้องการช่วยเรา. (1 เป. 5:7) พระยะโฮวาทรงสัญญากับเราด้วยซ้ำว่าพระองค์จะช่วยเราให้เข้มแข็งเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์อยู่เสมอ.—1 โค. 10:13
17 โยบไม่ได้รับความยุติธรรมแม้ว่าท่านซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. ถ้าเราได้รับความไม่ยุติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาไม่ใช่ผู้ที่ทำให้เราประสบความทุกข์ยาก. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระองค์ทรงเกลียดความไม่ยุติธรรมและพระองค์รักความชอบธรรม. (เพลง. 33:5) เราควรเป็นเหมือนกับอะลีฮู สหายของโยบ ซึ่งยอมรับว่า “พระเจ้าจะทรงกระทำการชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้; และท่านผู้ทรงฤทธิ์จะทรงกระทำผิดก็เป็นไปไม่ได้เลย!” (โยบ 34:10) แทนที่พระยะโฮวาจะทำให้เราประสบปัญหา พระองค์ทรงให้ “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง” แก่เรา.—ยโก. 1:13, 17
18, 19. ทำไมเราไม่ควรสงสัยพระยะโฮวา? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.
18 อย่าสงสัยพระยะโฮวา. พระเจ้าทรงสมบูรณ์ และความคิดของพระองค์ก็สูงกว่าความคิดของเรา. (ยซา. 55:8, 9) ถ้าเราถ่อมใจและเจียมตัวอย่างแท้จริง เราจะยอมรับว่าเราไม่เข้าใจทุกสิ่ง. (โรม 9:20) ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด. คุณคงเห็นจากประสบการณ์ในชีวิตของคุณเองว่าสุภาษิตข้อนี้เป็นจริง ที่ว่า “คนที่ให้การในคดีของตนก่อนดูเหมือนเป็นฝ่ายถูกจนกว่าคู่ความของเขาจะมาซักถามเขา.”—สุภา. 18:17, ล.ม.
19 ถ้าเพื่อนที่เราไว้ใจทำอะไรบางอย่างที่เราไม่เข้าใจหรือคิดว่าเขาไม่ควรทำ เราจะรีบกล่าวหาเลยไหมว่าเขาทำผิด? หรือเราจะคิดว่าเราไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น. หากเราพร้อมจะปฏิบัติต่อเพื่อนที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ด้วยความรักแบบนี้ เราก็ควรพร้อมจะไว้วางใจพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์มากยิ่งกว่านั้น. แนวทางและความคิดของพระองค์สูงกว่าของเราอย่างที่เทียบกันไม่ได้เลย!
20, 21. ทำไมเราไม่ควรโทษพระยะโฮวาว่าทำให้เราประสบปัญหา?
20 จำไว้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เราประสบคืออะไร. เราต้องยอมรับว่าปัญหาบางอย่างเกิดจากตัวเราเอง. (กลา. 6:7) เราไม่ควรโทษพระยะโฮวา. ทำไมจึงไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น? เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าใครคนหนึ่งขับรถเข้าโค้งเร็วเกินไป? เขาอาจประสบอุบัติเหตุ. คุณคิดว่าคนขับจะเรียกร้องให้บริษัทที่ผลิตรถคันนั้นรับผิดชอบได้ไหม? แน่ล่ะ เขาเรียกร้องอย่างนั้นไม่ได้! คล้ายกัน พระยะโฮวาประทานเจตจำนงเสรีให้เราสามารถตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง. แต่พระองค์ก็ประทานคำแนะนำที่ช่วยเราเลือกอย่างฉลาดสุขุมด้วย. ดังนั้น เราไม่ควรโทษพระยะโฮวาถ้าเราทำผิดพลาดและได้รับความเสียหาย.
21 แน่นอน ไม่ใช่ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความผิดพลาดและการทำผิดของเราเอง. เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นเพราะ “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” เกิดขึ้นได้กับทุกคน. (ผู้ป. 9:11, ล.ม.) นอกจากนั้น อย่าลืมว่าซาตานพญามารเป็นสาเหตุหลักของความชั่วร้ายที่อยู่รอบตัวเราในโลกนี้. (1 โย. 5:19; วิ. 12:9) มันคือศัตรูของเรา ไม่ใช่พระยะโฮวา!—1 เป. 5:8
จงปกป้องสายสัมพันธ์อันล้ำค่าของคุณกับพระยะโฮวา
22, 23. เราควรจำอะไรไว้ถ้ารู้สึกท้อใจเพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา?
22 เมื่อคุณประสบปัญหาและความลำบาก ขอให้นึกถึงตัวอย่างของยะโฮซูอะกับคาเลบ. คนสอดแนมสิบคนรายงานในแง่ไม่ดีเกี่ยวกับแผ่นดินที่ทรงสัญญา แต่ยะโฮซูอะกับคาเลบรายงานในแง่ดี. (อาฤ. 14:6-9) ทั้งสองแสดงความเชื่อในพระยะโฮวา. แม้ว่าเป็นอย่างนั้น ทั้งสองต้องรอนแรมในถิ่นทุรกันดารกับชาวอิสราเอลทั้งหมดเป็นเวลานานถึง 40 ปี. ยะโฮซูอะและคาเลบบ่นหรือแสดงความไม่พอใจเพราะคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมไหม? ไม่เลย. ยะโฮซูอะและคาเลบไว้วางใจพระยะโฮวา และพระองค์ทรงอวยพรโดยให้ทั้งสองได้เข้าในแผ่นดินที่ทรงสัญญา ในขณะที่ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ตายในถิ่นทุรกันดาร. (อาฤ. 14:30) คล้ายกัน เราจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวาถ้าเราไม่ “เลื่อยล้า” ในการทำตามพระประสงค์ของพระองค์.—กลา. 6:9; ฮีบรู 6:10
23 หากคุณท้อใจเพราะประสบปัญหา เพราะความผิดพลาดของคนอื่น หรือเพราะคุณเองทำผิดพลาด คุณควรทำอะไร? ขอให้คิดถึงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระยะโฮวา. ขอให้นึกภาพถึงสิ่งต่าง ๆ อันสวยสดงดงามที่พระยะโฮวาสัญญาว่าจะประทานแก่คุณ. ขอให้ถามตัวเองว่าชีวิตคุณจะเป็นอย่างไรถ้าคุณไม่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. จงรักษาตัวใกล้ชิดกับพระองค์เสมอ และอย่าบ่นต่อว่าหรือโกรธพระยะโฮวา!