จงติดตามสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัว
“โอ ตระกูลของชนชาติทั้งหลายเอ๋ย จงถวายแด่พระเจ้า จงถวายพระสิริและกำลังแด่พระเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 96:7, ฉบับแปลใหม่.
1. พระยะโฮวาทรงจัดให้ชีวิตครอบครัวเริ่มต้นแบบใด?
พระยะโฮวาทรงริเริ่มให้ชีวิตครอบครัวเริ่มต้นขึ้นอย่างมีความสุข เมื่อพระองค์ทรงผูกพันชายหญิงคู่แรกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยสายสมรส. ที่จริง อาดามมีความสุขมากจนได้แสดงความยินดีของเขาออกมาเป็นบทกวีแรกสุดซึ่งมีการบันทึกไว้ดังนี้: “นี่เป็นกระดูกแท้และเนื้อแท้ของเรา. จะต้องเรียกว่าหญิง, เพราะหญิงนี้ออกมาจากชาย.”—เยเนซิศ 2:23.
2. พระเจ้าทรงคิดถึงอะไรในเรื่องการสมรสนอกเหนือไปจากการนำความสุขมาสู่บุตรของพระองค์ที่เป็นมนุษย์?
2 เมื่อพระเจ้าทรงก่อตั้งสถาบันการสมรสและจัดให้มีครอบครัวขึ้น พระองค์ทรงมีพระดำริไม่เพียงแค่ให้บุตรของพระองค์ที่เป็นมนุษย์มีความสุขเท่านั้น. พระองค์ต้องการให้พวกเขาปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. พระเจ้าตรัสสั่งมนุษย์คู่แรกว่า “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน; จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ, กับบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน.” (เยเนซิศ 1:28) นับเป็นงานมอบหมายที่ให้บำเหน็จจริง ๆ. อาดาม, ฮาวา, และบุตรหลานของพวกเขาที่จะเกิดมาคงจะมีความสุขสักเพียงไร หากคู่สมรสคู่แรกนี้ได้เชื่อฟังทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา!
3. ครอบครัวต้องทำเช่นไรเพื่อจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า?
3 อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในทุกวันนี้ ครอบครัวมีความสุขที่สุดเมื่อพวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. และครอบครัวที่เชื่อฟังเช่นนั้นย่อมมีความหวังที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง! อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ความเลื่อมใสในพระเจ้ามีประโยชน์ทุกทาง เพราะอำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย.” (1 ติโมเธียว 4:8, ล.ม.) ครอบครัวที่ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าอย่างแท้จริงปฏิบัติตามหลักการต่าง ๆ แห่งพระคำของพระยะโฮวาและทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. พวกเขาติดตามสันติสุขของพระเจ้า และโดยวิธีนี้ จึงพบความสุขสำหรับ “ชีวิตในปัจจุบัน.”
ชีวิตครอบครัวตกอยู่ในอันตราย
4, 5. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าเวลานี้ชีวิตครอบครัวทั่วโลกตกอยู่ในอันตราย?
4 เป็นธรรมดาอยู่เองที่ว่า เราไม่ได้พบสันติสุขและความสุขในทุกครอบครัว. โดยอ้างถึงงานวิจัยหนึ่งของสถาบันสถิติจำนวนประชากรแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าสภาประชากร หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานดังนี้: “เป็นเช่นเดียวกันทั้งประเทศที่ร่ำรวยและยากจน โครงสร้างของชีวิตครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปมาก.” มีการยกคำพูดของผู้เขียนรายงานการวิจัยดังนี้: “ความคิดที่ว่า ครอบครัวเป็นหน่วยที่มั่นคงและยึดกันแน่น ซึ่งบิดาทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาด้านการเงินและมารดาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความเอาใจใส่ด้านอารมณ์ เป็นเพียงนิยายเท่านั้น. ความเป็นจริงคือว่า แนวโน้มต่าง ๆ เช่น มารดาที่ไม่ได้สมรส, อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น, [และ] ครอบครัวซึ่งมีขนาดเล็กลง . . . กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก.” เนื่องด้วยแนวโน้มดังกล่าว หลายล้านครอบครัวขาดความมั่นคง, สันติสุข, และความสุข และเกิดการแตกแยกในหลายครอบครัว. ที่สเปน อัตราการหย่าร้างสูงถึง 1 ใน 8 ของการสมรสทั้งหมดในตอนเริ่มต้นของทศวรรษสุดท้ายแห่งศตวรรษที่ 20 นี้—เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเพียงแค่ 25 ปีก่อนหน้านั้นซึ่งมีอัตราการหย่าร้าง 1 ใน 100 คู่. ประเทศอังกฤษก็มีรายงานว่า มีอัตราการหย่าร้างสูงที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปคือ 4 ใน 10 คู่ประสบความล้มเหลว. ในประเทศนี้ยังเห็นได้ด้วยว่า ครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาไร้คู่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว.
5 ดูเหมือนว่าบางคนแทบรอไม่ไหวที่จะได้หย่า. มีคนมากมายหลั่งไหลไปที่ “ศาลเทพเจ้าตัดสายสัมพันธ์” ใกล้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น. วัดชินโตแห่งนี้รับคำบนบานขอให้ได้หย่าและขอให้ช่วยตัดความสัมพันธ์อื่นใดที่ตนไม่ต้องการให้มีอยู่ต่อไป. ผู้มานมัสการแต่ละคนจะเขียนคำอ้อนวอนของตนบนแผ่นไม้บาง ๆ เอาไปแขวนไว้รอบ ๆ ศาลเทพเจ้านั้น แล้วก็สวดอธิษฐานขอคำตอบ. หนังสือพิมพ์โตเกียวฉบับหนึ่งกล่าวว่า ตอนที่ศาลเทพเจ้าแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งศตวรรษมาแล้ว “เหล่าภรรยาของพวกพ่อค้าที่มั่งคั่งในท้องถิ่นพากันเขียนคำอธิษฐานขอให้สามีเลิกกับเมียน้อย และกลับมาหาตน.” ทว่าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาเพื่อขอให้ได้หย่า ไม่ใช่ให้คืนดีกัน. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชีวิตครอบครัวทั่วโลกตกอยู่ในอันตราย. เรื่องนี้ควรทำให้คริสเตียนประหลาดใจไหม? ไม่เลย เพราะคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เราหยั่งเห็นเข้าใจวิกฤตการณ์ภายในครอบครัวสมัยปัจจุบัน.
เหตุใดครอบครัวจึงตกอยู่ในภาวะวิกฤต?
6. หนึ่งโยฮัน 5:19 มีความเกี่ยวพันกับวิกฤตการณ์ครอบครัวในทุกวันนี้เช่นไร?
6 เหตุผลประการหนึ่งที่ครอบครัวในทุกวันนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตคือ “โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) เราสามารถคาดหมายอะไรได้จากผู้ชั่วร้ายนั้น ซึ่งก็ได้แก่ซาตานพญามาร? มันเป็นตัวมุสาที่ชั่วร้ายและไร้ศีลธรรม. (โยฮัน 8:44) ไม่แปลกที่โลกของมันจมปลักอยู่ในการหลอกลวงและการผิดศีลธรรม ซึ่งทำให้ชีวิตครอบครัวประสบความหายนะ! นอกองค์การของพระเจ้า อิทธิพลของซาตานคุกคามหมายจะทำลายสถาบันการสมรสของพระยะโฮวา และทำให้ชีวิตครอบครัวที่สงบสุขหมดสิ้นไป.
7. ครอบครัวอาจรับผลกระทบอย่างไรจากลักษณะนิสัยที่หลายคนในสมัยสุดท้ายนี้แสดงออก?
7 เหตุผลอีกประการหนึ่งในเรื่องปัญหาครอบครัวที่กำลังแพร่ไปในหมู่มวลมนุษย์เป็นดังที่บ่งชี้ไว้ที่ 2 ติโมเธียว 3:1-5 (ล.ม.). คำพยากรณ์ของเปาโลที่บันทึกไว้ที่นั่นแสดงว่า เรากำลังอยู่ใน “สมัยสุดท้าย.” ครอบครัวไม่อาจมีสันติสุขและความสุขได้ ถ้าสมาชิกเป็นคน “รักตัวเอง, รักเงินทอง, อวดตัว, จองหอง, เป็นคนหมิ่นประมาท, ไม่เชื่อฟังบิดามารดา, อกตัญญู, ไม่ภักดี, ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ, ไม่ยอมตกลงกัน, เป็นคนใส่ร้าย, ไม่มีการรู้จักบังคับตน, ดุร้าย, ไม่รักความดี, เป็นคนทรยศ, หัวดื้อ, พองตัวด้วยความหยิ่ง, เป็นคนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า, มีความเลื่อมใสต่อพระเจ้าในรูปแบบหนึ่ง แต่ปฏิเสธพลังแห่งความเลื่อมใสนั้น.” ครอบครัวไม่อาจมีความสุขได้อย่างแท้จริงถ้าสมาชิกครอบครัวแม้แต่คนเดียวขาดความรักใคร่ตามธรรมชาติหรือไม่ภักดี. ชีวิตครอบครัวจะมีสันติสุขได้อย่างไรถ้ามีบางคนที่ดุร้ายอยู่ในบ้าน และไม่ยอมเป็นไมตรีกับใคร? ซ้ำร้ายเข้าไปอีก จะมีสันติสุขและความสุขได้อย่างไรหากสมาชิกครอบครัวเป็นคนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า? ที่กล่าวไปคือลักษณะนิสัยของผู้คนในโลก นี้ซึ่งซาตานปกครองอยู่. จึงไม่ ต้องแปลกใจ ที่ความสุขในครอบครัวหาได้ยากเย็นในสมัยสุดท้ายนี้!
8, 9. พฤติกรรมของเด็ก ๆ อาจมีผลกระทบเช่นไรต่อความสุขของครอบครัว?
8 เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ว่า ทำไมครอบครัวเป็นอันมากขาดสันติสุขและความสุข ได้แก่ความประพฤติที่ไม่ดีของบุตรในครอบครัว. เมื่อเปาโลบอกล่วงหน้าถึงสภาพการณ์ในสมัยสุดท้าย ท่านพยากรณ์ว่าเด็กเป็นจำนวนมากจะไม่เชื่อฟังบิดามารดา. หากคุณเป็นเยาวชน ความประพฤติของคุณช่วยให้ครอบครัวคุณมีสันติสุขและมีความสุขไหม?
9 เด็กบางคนประพฤติอย่างที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง. เพื่อเป็นตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงพ่อของเขาซึ่งอ่านแล้วไม่ทำให้ยินดีเลยดังนี้: “ถ้าพ่อไม่พาผมไปอะเล็กซานเดรีย ผมจะไม่เขียนจดหมายถึงพ่อ, จะไม่พูดกับพ่อ, หรือบอกลาพ่อ, และถ้าพ่อไปอะเล็กซานเดรียคนเดียว ผมจะไม่จับมือพ่อและจะไม่ทักพ่ออีกเลย. จะเป็นอย่างนี้ถ้าพ่อไม่พาผมไป . . . แต่ขอให้พ่อส่ง [พิณ] มาให้ผม. ไม่อย่างนั้น ผมจะไม่กินและผมจะไม่ดื่ม. ผมเอาจริงนะจะบอกให้!” ฟังดูแล้วเข้ากับยุคสมัยดีใช่ไหม? แต่จดหมายฉบับดังกล่าวจากเด็กชายถึงพ่อของเขาเขียนที่ประเทศอียิปต์โบราณกว่า 2,000 ปีล่วงมาแล้ว.
10. ผู้เยาว์สามารถช่วยครอบครัวตนให้ติดตามสันติสุขของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
10 เจตคติของเด็กชาวอียิปต์คนนี้ไม่ส่งเสริมสันติสุขในครอบครัวเลย. แน่นอน มีหลายสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นอีกที่เกิดขึ้นในครอบครัวสมัยนี้. ถึงกระนั้น คุณซึ่งอายุยังน้อยก็สามารถช่วยครอบครัวคุณให้ติดตามสันติสุขของพระเจ้าได้. โดยวิธีใด? ก็โดยการเชื่อฟังคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ฝ่ายบุตรจงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตนในทุกสิ่ง, เพราะการนี้เป็นที่ชอบพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—โกโลซาย 3:20.
11. บิดามารดาสามารถช่วยลูก ๆ ให้เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
11 ฝ่ายคุณที่เป็นบิดามารดาล่ะจะว่าอย่างไร? จงช่วยบุตรของคุณด้วยความรักให้เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. สุภาษิต 22:6 กล่าวว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” ด้วยการสอนที่ดีโดยอาศัยพระคัมภีร์และการวางตัวอย่างที่ดีของบิดามารดา เด็กชายและเด็กหญิงหลายคนไม่ได้ละทิ้งทางที่ถูกต้องนั้นเมื่อพวกเขาแก่ชราแล้ว. เรื่องนี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับคุณภาพและระดับของการฝึกอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล และขึ้นอยู่กับหัวใจของเด็กเองด้วย.
12. ทำไมบ้านของคริสเตียนน่าจะสงบสุข?
12 หากสมาชิกทุกคนในครอบครัวพยายามทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา เราก็น่าจะมีสันติสุขของพระเจ้า. บ้านของคริสเตียนน่าจะเต็มไปด้วย ‘มิตรแห่งสันติสุข.’ ลูกา 10:1-6 แสดงให้เห็นว่า พระเยซูทรงคิดถึงคนเช่นนั้นเมื่อส่งสาวก 70 คนออกไปฐานะผู้รับใช้และตรัสสั่งพวกเขาว่า “ถ้าจะเข้าไปในเรือนใด ๆ จงพูดก่อนว่า, ‘ให้ความสุข [“สันติสุข,” ล.ม.] มีแก่เรือนนี้เถิด.’ ถ้าลูกแห่งความสุข [“มิตรแห่งสันติสุข,” ล.ม.] อยู่ที่นั่น, ความสุขของท่านจะได้อยู่กับเขา.” ขณะที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไปตามบ้านพร้อมด้วย “ข่าวดีแห่งสันติสุข” อย่างสงบเรียบร้อย พวกเขาเสาะหามิตรแห่งสันติสุข. (กิจการ 10:34-36; เอเฟโซ 2:13-18, ล.ม.) แน่นอน ครอบครัวคริสเตียนซึ่งประกอบด้วยมิตรแห่งสันติสุขน่าจะมีสันติสุข.
13, 14. (ก) นาอะมีปรารถนาสิ่งใดสำหรับรูธและอะระฟา? (ข) บ้านของคริสเตียนควรเป็นที่อยู่แบบใด?
13 บ้านควรเป็นสถานที่สงบสุขและเหมาะแก่การพักผ่อน. หญิงม่ายชรานาอะมีหวังว่าพระเจ้าจะให้ลูกสะใภ้ม่ายของเธอที่ยังสาว คือรูธและอะระฟา ได้อยู่เย็นเป็นสุขจากการมีสามีที่ดีและมีเหย้าเรือน. นาอะมีกล่าวว่า “ขอพระยะโฮวาทรงโปรดแก่เจ้าให้ต่างคนต่างมีที่อยู่ในเรือนของสามี.” (ประวัตินางรูธ 1:9) เกี่ยวกับความปรารถนาของนางนาอะมี ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งเขียนว่า ในบ้านเช่นที่มีการกล่าวถึงนี้ รูธและอะระฟา “จะพ้นจากความกระสับกระส่ายและความกระวนกระวาย. พวกเขาจะได้พบความสงบสุขแห่งจิตใจ. บ้านจะเป็นที่ซึ่งพวกเขาสามารถพักอาศัย และเป็นที่ซึ่งความรู้สึกอันละมุนละไม และความปรารถนาที่ดีงามส่วนใหญ่ จะได้รับการตอบสนองและพบกับสันติสุข. น้ำหนักของคำภาษาฮีบรูซึ่งมีลักษณะเฉพาะ . . . ได้มีแสดงไว้อย่างดีโดยลักษณะของคำที่เกี่ยวพันกันใน [ยะซายา 32:17, 18].”
14 โปรดสังเกตการอ้างอิงถึงยะซายา 32:17, 18. ที่นั่นเราอ่านว่า “ผลของความชอบธรรมนั้นคือสันติสุข, และผลของความยุติธรรมนั้นคือความสงบสุขและความไว้วางใจเป็นนิจ. พลเมืองของเราจะอยู่ในบ้านอันมีสันติสุข, ในเรือนที่ปลอดภัย, และในที่อยู่อันมีความสงบใจ.” บ้านของคริสเตียนน่าจะเป็นที่อยู่อันมีความสงบใจซึ่งมีความชอบธรรม, ความเงียบสงบ, ความปลอดภัย, และสันติสุขของพระเจ้า. แต่หากเกิดความยุ่งยาก, ข้อขัดแย้ง, หรือปัญหาอื่น ๆ ล่ะ? ถ้าอย่างนั้นเราจำเป็นอย่างยิ่งต้องรู้เคล็ดลับความสุขในครอบครัว.
หลักการสำคัญสี่ประการ
15. คุณจะอธิบายเคล็ดลับความสุขในครอบครัวอย่างไร?
15 ทุกครอบครัวบนแผ่นดินโลกมีนามก็เนื่องด้วยพระยะโฮวาพระเจ้าพระผู้สร้างครอบครัว. (เอเฟโซ 3:14, 15, ล.ม.) ดังนั้น คนที่ปรารถนาความสุขในครอบครัวควรแสวงหาการทรงนำและสรรเสริญพระองค์ ดังที่ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้ว่า “ดูกรพงศ์พันธุ์ [“ครอบครัว,” ล.ม.] ของชนประเทศต่าง ๆ, จงถวายแก่พระยะโฮวา, จงถวายรัศมีและเดชานุภาพแก่พระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 96:7) เคล็ดลับความสุขของครอบครัวมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้า และอยู่ที่การใช้หลักการซึ่งพบที่นั่น. ครอบครัวที่ใช้หลักการเหล่านี้จะเป็นสุขและจะชื่นชมกับสันติสุขของพระเจ้า. ดังนั้น ให้เราพิจารณาด้วยกันในหลักการสำคัญสี่ประการ.
16. การรู้จักบังคับตนควรมีบทบาทอะไรในชีวิตครอบครัว?
16 จุดสำคัญของหลักการข้อหนึ่งก็คือ การรู้จักบังคับตนนั้นสำคัญยิ่งต่อสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัว. กษัตริย์ซะโลโมกล่าวดังนี้: “คนที่ไม่มีอำนาจบังคับระงับใจของตนเองก็เป็นเหมือนเมืองที่หักพังและไม่มีกำแพงเมือง.” (สุภาษิต 25:28) การมีอำนาจบังคับระงับใจของเรา ซึ่งก็คือการรู้จักบังคับตน เป็นสิ่งที่สำคัญหากเราปรารถนาจะมีครอบครัวที่มีสันติสุขและมีความสุข. แม้ว่าเราไม่สมบูรณ์ แต่เราจำต้องสำแดงการรู้จักบังคับตน ซึ่งเป็นผลพระวิญญาณของพระเจ้าประการหนึ่ง. (โรม 7:21, 22; ฆะลาเตีย 5:22, 23) พระวิญญาณจะก่อให้เกิดการรู้จักบังคับตนขึ้นในตัวเรา หากเราอธิษฐานขอคุณสมบัตินี้, ใช้คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้, และคบหาสมาคมกับคนอื่น ๆ ที่แสดงชัดว่าเขารู้จักบังคับตน. แนวทางนี้จะช่วยเราให้ ‘หลีกหนีจากการผิดประเวณี.’ (1 โกรินโธ 6:18) การรู้จักบังคับตนยังจะช่วยเราให้ปฏิเสธความรุนแรง, หลีกเลี่ยงหรือเอาชนะนิสัยการใช้เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ, และจัดการสภาพการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างมีความสงบใจมากกว่า.
17, 18. (ก) จะนำ 1 โกรินโธ 11:3 มาใช้กับชีวิตครอบครัวคริสเตียนอย่างไร? (ข) การยอมรับความเป็นประมุขช่วยส่งเสริมสันติสุขของพระเจ้าในครอบครัวอย่างไร?
17 หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งอาจกล่าวได้ดังนี้: การยอมรับความเป็นประมุขจะช่วยเราให้ติดตามสันติสุขของพระเจ้าในครอบครัวของเรา. เปาโลเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า, พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง, และพระเจ้าเป็นศีรษะของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) นี่หมายความว่าผู้ชายนำหน้าในครอบครัว, ภรรยาสนับสนุนอย่างภักดี, และลูก ๆ เชื่อฟังบิดามารดาของตน. (เอเฟโซ 5:22-25, 28-33; 6:1-4) การประพฤติเช่นนั้นย่อมส่งเสริมสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัว.
18 สามีคริสเตียนต้องจำไว้ว่าการเป็นประมุขตามหลักพระคัมภีร์ไม่ใช่เป็นเผด็จการ. เขาต้องเลียนแบบพระเยซูผู้เป็นศีรษะของเขา. แม้ว่าพระเยซูทรงเป็น “ประมุขเหนือทุกสิ่ง” แต่พระองค์ “มิได้มาเพื่อให้เขาปรนนิบัติ แต่. . . . มาเพื่อจะปรนนิบัติเขา.” (เอเฟโซ 1:22, ล.ม.; มัดธาย 20:28) ในทำนองเดียวกัน ผู้ชายคริสเตียนใช้ความเป็นประมุขในลักษณะที่เปี่ยมด้วยความรัก ซึ่งทำให้เขาสามารถดูแลผลประโยชน์แห่งครอบครัวของเขาได้เป็นอย่างดี. และแน่นอนว่าภรรยาคริสเตียนย่อมปรารถนาจะร่วมมือกับสามีของเธอ. ฐานะ “ผู้ช่วย” ของเขา และเป็น “คู่เคียง” เธอแสดงคุณสมบัติในประการที่สามีของเธอขาดอยู่ และด้วยวิธีนี้ให้การสนับสนุนที่เขาจำต้องได้รับ. (เยเนซิศ 2:20; สุภาษิต 31:10-31) การใช้ความเป็นประมุขอย่างถูกต้องช่วยสามีและภรรยาให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความนับถือและกระตุ้นลูก ๆ ให้เชื่อฟัง. ใช่แล้ว การยอมรับความเป็นประมุขส่งเสริมสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัว.
19. เหตุใดการสื่อความที่ดีจำเป็นเพื่อมีสันติสุขและความสุขในครอบครัว?
19 หลักการที่สำคัญประการที่สามอาจแสดงได้ด้วยคำพูดดังนี้: การสื่อความที่ดีสำคัญยิ่งต่อสันติสุขและความสุขของครอบครัว. ยาโกโบ 1:19 บอกเราดังนี้: “จงให้ทุกคนว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” สมาชิกครอบครัวจำต้องฟังและพูดคุยกัน เพราะการสื่อความในวงครอบครัวไม่ได้เป็นแบบถนนทางเดียว. อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่เราพูดถูกต้อง แต่ก็มักจะก่อผลร้ายเสียมากกว่าดี หากพูดในแบบที่แข็งกระด้าง, หยิ่งยโส, หรือไม่แสดงความรู้สึกยินดียินร้าย. คำพูดของเราควรน่าฟัง “ปรุงด้วยเกลือให้มีรส.” (โกโลซาย 4:6) ครอบครัวที่ปฏิบัติตามหลักการพระคัมภีร์และมีการสื่อความที่ดีก็กำลังติดตามสันติสุขของพระเจ้า.
20. เหตุใดคุณจึงกล่าวว่าความรักจำเป็นเพื่อสันติสุขในครอบครัว?
20 หลักการประการที่สี่คือ ความรักสำคัญต่อสันติสุขและความสุขในครอบครัว. ความรักแบบที่ผู้ชายและผู้หญิงมีต่อกันอาจมีบทบาทสำคัญในชีวิตสมรส และความรักใคร่ผูกพันลึกซึ้งสามารถพัฒนาขึ้นได้ในท่ามกลางสมาชิกครอบครัว. แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นได้แก่ความรักซึ่งภาษากรีกใช้คำอะกาʹเป. นี่คือความรักที่เราปลูกฝังเพื่อจะแสดงต่อพระยะโฮวา, ต่อพระเยซู, และต่อเพื่อนบ้านของเรา. (มัดธาย 22:37-39) พระเจ้าทรงแสดงความรักแบบนี้ต่อมนุษยชาติ โดยทรงประทาน “พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ ที่เราสามารถแสดงความรักแบบเดียวกันนี้ต่อสมาชิกครอบครัวของเรา! ความรักที่สูงส่งทางศีลธรรมนี้เป็น “เครื่องเชื่อมสามัคคีที่ดีพร้อม.” (โกโลซาย 3:14, ล.ม.) ความรักนี้ผูกพันคู่สมรสเข้าด้วยกันและกระตุ้นให้ทั้งสองทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อกันและกันและเพื่อลูก ๆ ของเขา. เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากขึ้น ความรักช่วยให้ทั้งสองจัดการเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. เราสามารถมั่นใจได้เช่นนี้ เพราะ “ความรัก . . . ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง . . . ความรักทนรับเอาทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง. ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:4-8, ล.ม.) ครอบครัวที่ความรักต่อกันและกันได้รับการเสริมให้แข็งแรงด้วยความรักต่อพระยะโฮวาช่างมีความสุขเสียจริง ๆ!
จงติดตามสันติสุขของพระเจ้าต่อ ๆ ไป
21. อะไรที่น่าจะเพิ่มพูนสันติสุขและความสุขให้แก่ครอบครัวคุณ?
21 หลักการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปและหลักการอื่น ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลมีอธิบายจุดสำคัญ ๆ เอาไว้ให้เราในสรรพหนังสือที่พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้ทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเช่นนั้นพบได้ในหนังสือขนาด 192 หน้าที่มีชื่อว่าเคล็ดลับความสุขในครอบครัว ซึ่งออกในการประชุมภาคของพยานพระยะโฮวา “ผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า” ซึ่งจัดในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกระหว่างปี 1996/1997. การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว และประจำครอบครัวโดยอาศัยหนังสือเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ในหลายทาง. (ยะซายา 48:17, 18) ใช่แล้ว การใช้คำแนะนำของพระคัมภีร์น่าจะช่วยเพิ่มสันติสุขและความสุขในครอบครัวของคุณ.
22. เราควรจัดให้ชีวิตครอบครัวเรารวมจุดอยู่ที่อะไร?
22 พระยะโฮวาทรงจัดสิ่งอันน่ามหัศจรรย์ไว้พร้อมสำหรับครอบครัวที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ และจึงสมควรที่เราจะสรรเสริญและรับใช้พระองค์. (วิวรณ์ 21:1-4) ด้วยเหตุนี้ ขอให้การดำเนินชีวิตของครอบครัวคุณรวมจุดอยู่ที่การนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. และขอให้พระยะโฮวาพระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักของเราอวยพระพรคุณให้มีความสุข ขณะที่คุณติดตามสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัวของคุณ!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ จำเป็นต้องทำอะไรหากครอบครัวจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า?
▫ เหตุใดครอบครัวในปัจจุบันจึงอยู่ในภาวะวิกฤต?
▫ เคล็ดลับความสุขในครอบครัวคืออะไร?
▫ หลักการบางอย่างอะไรบ้างที่จะช่วยเราส่งเสริมให้มีสันติสุขและความสุขในชีวิตครอบครัว?
[รูปภาพหน้า 24]
การสื่อความที่ดีช่วยเราให้ติดตามสันติสุขของพระเจ้าในชีวิตครอบครัว