ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
“ไม้เรียวแห่งการตีสอน” ล้าสมัยแล้วหรือ?
“ความโฉดเขลาผูกพันอยู่กับหัวใจของเด็กชาย; ไม้เรียวแห่งการตีสอนคือสิ่งที่จะขับไล่มัน ให้ห่างจากเขา.”—สุภาษิต 22:15, ล.ม.
“การลงโทษทางร่างกายไม่ว่าแบบใดเป็นการทำร้ายทางอารมณ์และไม่ควรอนุญาตให้ทำ.” —สมาคมบิดามารดานิรนาม.
การที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “ไม้เรียวแห่งการตีสอน” กระตุ้นให้เกิดการโต้แย้งอย่างรุนแรง. เรื่องนี้ฟังแล้วพอจะเข้าใจได้ เพราะแต่ละปีมีเด็กนับพัน ๆ คนเสียชีวิตอันเป็นผลโดยตรงจากการถูกบิดามารดาทำร้ายร่างกาย. อาจเป็นได้ว่านี่เป็นสาเหตุที่หนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายอย่างผิด ๆ ถึงบทบัญญัติของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายนี้ว่าเป็นเพียง “ทัศนะที่อาศัยความเชื่อตามประเพณีนิยมของผู้คนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล.”
แต่ทัศนะที่เป็นไปตามประเพณีนิยมไม่ได้ดลบันดาลคัมภีร์ไบเบิล—พระเจ้าต่างหากที่ดลบันดาล. (2 ติโมเธียว 3:16) คำอธิบายเรื่อง “ไม้เรียวแห่งการตีสอน” ในพระคัมภีร์ไม่มีเหตุผลกระนั้นหรือ? สำคัญที่เราจะตรวจสอบคำ “ไม้เรียว” ในบริบท. เพื่อเป็นตัวอย่างประกอบ: ชิ้นของภาพต่อปริศนาแต่ละชิ้นแทบจะไม่มีความหมาย. เพียงแต่หลังจากประกอบชิ้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้นที่คนเราจะสามารถเห็นภาพทั้งหมดได้. เช่นเดียวกัน “ไม้เรียว” เป็นเพียงชิ้นเดียวของภาพปริศนา. เพื่อจะเห็นภาพเต็ม ๆ เราต้องประกอบ “ไม้เรียว” เข้ากับหลักการอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเกี่ยวข้องกับการตีสอน.
ทัศนะที่สมดุล
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนแต่การลงโทษทางร่างกายเท่านั้นไหม? ขอพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้:
• “อย่ายั่วลูก ๆ ของคุณให้ขุ่นเคือง.”
• “อย่าตำหนิลูก ๆ ของคุณจนเกินไป มิฉะนั้นคุณจะทำลายกำลังใจทั้งหมดของเขา.”
บางคนอาจบอกว่า ‘นั่นมีเหตุมีผลกว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลมาก.’ แต่นี่คือ คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล. คำแนะนำนี้บันทึกไว้ที่เอเฟโซ 6:4 (เดอะ นิว เจรูซาเลม ไบเบิล) และโกโลซาย 3:21 (ฟิลิปส์).
ถูกแล้ว ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลนับว่ามีเหตุผล. ทัศนะนี้ยอมรับว่าการลงโทษทางกายนั้นโดยปกติแล้วไม่ใช่วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพที่สุด. พระธรรมสุภาษิต 8:33 กล่าวว่า “จงฟังการตีสอน” ไม่ใช่ ‘รู้สึกการตีสอน.’ และสุภาษิต 17:10 ชี้ให้เห็นว่า “คนที่เข้าใจเมื่อถูกว่ากล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ซึมทราบยิ่งกว่าคนโฉดเขลาที่ถูกโบยสักร้อยราย.” นอกจากนั้น พระบัญญัติ 11:19 แนะการตีสอนแบบที่เป็นการป้องกัน โดยฉวยประโยชน์จากเวลาที่สะดวกเพื่อปลูกฝังค่านิยมทางศีลธรรมเข้าไว้ในตัวลูก ๆ. ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการตีสอนจึงมีความสมดุล.
จะว่าอย่างไรกับ “ไม้เรียว”?
กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลก็กล่าวถึง “ไม้เรียว” แห่งการตีสอน. (สุภาษิต 13:24; 22:15; 23:13, 14; 29:15) จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร?
คำ “ไม้เรียว” แปลมาจากคำภาษาฮีบรู เชʹเวต. สำหรับชาวฮีบรู คำ เชʹเวต หมายถึงแขนงไม้หรือไม้เท้า อย่างเช่นที่คนเลี้ยงแกะใช้. ในบริบทนี้ไม้เท้า (ธารพระกร) แห่งอำนาจชี้ถึงการนำทางด้วยความรัก ไม่ใช่ด้วยความรุนแรงหรือทารุณ.—บทเพลงสรรเสริญ 23:4.
คำ เชʹเวต มักใช้อย่างมีความหมายเป็นนัยในคัมภีร์ไบเบิล แสดงถึงอำนาจ. (2 ซามูเอล 7:14; ยะซายา 14:5) เมื่อกล่าวถึงอำนาจของบิดามารดา “ไม้เรียว” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่การลงโทษทางกายเท่านั้น. มันกินความกว้างถึงการตีสอนทุกรูปแบบซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องลงโทษทางกาย. และเมื่อใช้การตีสอนทางกาย โดยปกติแล้วนั่นก็เนื่องมาจากวิธีอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล. สุภาษิต 22:15 กล่าวว่าความโฉดเขลา “ผูกพัน” (“ยึดติด” เดอะ นิว เจรูซาเลม ไบเบิล ; “ฝังรากลึก” เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) กับหัวใจของผู้ที่ได้รับการตีสอนทางกาย. ไม่ใช่แค่พฤติกรรมธรรมดาตามประสาเด็ก ๆ เท่านั้นที่เกี่ยวข้องอยู่.
ควรทำการตีสอนอย่างไร?
ในคัมภีร์ไบเบิล การตีสอนเกี่ยวโยงกับความรักและความอ่อนโยนโดยตลอด ไม่ใช่ความโมโหและความโหดร้าย. ผู้ให้คำแนะนำที่ชำนาญควร “สุภาพต่อคนทั้งปวง, . . . เหนี่ยวรั้งตัวไว้ภายใต้สภาพการณ์ที่ไม่ดี; สั่งสอนคนที่มีแนวโน้มไม่ยินดีรับนั้นด้วยใจอ่อนโยน.”—2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.
เพราะฉะนั้น การตีสอนจึงไม่ใช่การระบายอารมณ์ของบิดามารดา. แต่เป็นวิธีการให้คำแนะนำสั่งสอน. เมื่อเป็นเช่นนั้น การตีสอนก็น่าจะสอนเด็กที่ทำผิด. เมื่อจัดการด้วยความโมโห การตีสอนทางกายก็จะสอนบทเรียนที่ผิด. การตีสอนนั้นสนองความต้องการของบิดามารดา ไม่ใช่ของเด็ก.
นอกจากนั้น การตีสอนที่มีประสิทธิภาพมีขอบเขต. “เราจะตีสอนเจ้าตามขนาด” พระยะโฮวาตรัสแก่ไพร่พลของพระองค์ที่ยิระมะยา 46:28 (ฉบับแปลใหม่). นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องระลึกถึงเมื่อทำการตีสอนทางกาย. การตีหรือการเขย่าตัวทารกสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรือถึงกับตายได้.a การทำเกินกว่าวัตถุประสงค์ของการตีสอน—คือเพื่อแก้ไขและสอน—อาจนำไปถึงการทำร้ายเด็ก.b
คัมภีร์ไบเบิลไม่ส่งเสริมการทำร้าย
ก่อนว่ากล่าวแก้ไขไพร่พลของพระองค์ พระยะโฮวาตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า.” (ยิระมะยา 46:28, ฉบับแปลใหม่) การตีสอนไม่ควรปล่อยให้เด็กคิดว่าถูกละทิ้ง. แต่เด็กควรรู้สึกว่าบิดามารดาอยู่ ‘กับเขา’ ในฐานะผู้ที่รักเขา สนับสนุนให้กำลังใจเขา. หากพิจารณาว่าการตีสอนทางกายจำเป็น เด็กก็ควรเข้าใจเหตุผล. สุภาษิต 29:15 (ล.ม.) กล่าวว่า “ไม้เรียวและการว่ากล่าว เป็นที่ให้เกิดปัญญา.”
ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าในทุกวันนี้คือมีหลายคนใช้ “ไม้เรียว” แห่งอำนาจความเป็นบิดามารดาอย่างผิด ๆ. กระนั้น ไม่อาจหาพบข้อผิดพลาดในหลักการอันสมดุลของคัมภีร์ไบเบิลได้. (เทียบพระบัญญัติ 32:5.) เมื่อเราพิจารณา “ไม้เรียว” ตามบริบท เราเห็นว่าไม้เรียวนี้ใช้เพื่อสอนเด็ก ไม่ใช่เพื่อทำร้ายเด็ก. เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ คัมภีร์ไบเบิล “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน เพื่อการว่ากล่าว เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.”—2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a หนังสือการผ่านพ้นความเจ็บปวด: หนังสือสำหรับและเกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่ถูกทำร้ายเมื่อเป็นเด็ก เตือนว่า “การเฆี่ยนตีอาจกลายเป็นการทำร้ายเด็กได้เมื่อทำโดยขาดการควบคุม ด้วยกำลังแรงพอที่จะทำให้บาดเจ็บ. การใช้เครื่องมือเพื่อตี, การตบด้วยกำปั้น, การตีเด็กที่เล็กมาก, และการตีในบริเวณที่บาดเจ็บได้ง่าย (เช่น ใบหน้า, ศีรษะ, ท้อง, หลัง, อวัยวะสืบพันธุ์) สามารถทำให้สิ่งที่น่าจะเป็นการลงโทษทางกายทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการทำร้ายเด็ก.”
b หนังสืออำนาจของบิดา โดย ดร. เฮ็นรี บิลเลอร์ และ เดนนีส เมเรดิท ให้ข้อสังเกตว่า “การลงโทษทางกายทำแค่เบา ๆ เท่านั้นก็ได้ผล. หากการทำเช่นนั้นมาจากคนที่เขารักและผู้ซึ่งเขาทราบว่ารักเขา ผลกระทบทางอารมณ์ก็จะมากพอที่จะทำให้เด็กคิดถึงสิ่งที่เขาได้ทำไป.”
[ที่มาของภาพหน้า 26]
The Bettmann Archive