บทความศึกษา 7
“ฟังคำของคนฉลาด”
“ให้เงี่ยหูฟังคำของคนฉลาด”—สภษ. 22:17
เพลง 123 ทำตามระเบียบขององค์การพระเจ้าด้วยความภักดี
ใจความสำคัญa
1. ตอนไหนบ้างที่เราอาจได้รับคำแนะนำ? และทำไมเราทุกคนถึงต้องได้รับคำแนะนำด้วย?
เราทุกคนต้องได้รับคำแนะนำบ้างเป็นบางครั้งบางคราว อย่างเช่น เราอาจจะเป็นฝ่ายเข้าไปขอคำแนะนำจากคนอื่น หรืออาจจะมีพี่น้องที่เป็นห่วงเรามาบอกว่า เรา “กำลังก้าวไปผิดทาง” (กท. 6:1) หรือเราอาจจะได้รับคำแนะนำหลังจากที่เราทำผิดพลาดร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนเราควรฟังคำแนะนำเพราะว่ามันดีกับเราและอาจช่วยชีวิตเราด้วย—สภษ. 6:23
2. อย่างที่บอกไว้ในสุภาษิต 12:15 ทำไมเราควรฟังคำแนะนำ?
2 ข้อคัมภีร์หลักบอกให้เรา “ฟังคำของคนฉลาด” (สภษ. 22:17) ไม่มีใครรู้ไปทุกเรื่อง ยังไงก็ต้องมีคนที่รู้เยอะกว่าและมีประสบการณ์มากกว่าเราแน่นอน (อ่านสุภาษิต 12:15) ถ้าเราฟังคำแนะนำก็แสดงว่าเราเป็นคนถ่อม เรารู้ว่าเรามีขีดจำกัดและถ้าเราอยากทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราตั้งใจไว้ให้สำเร็จ เราต้องมีคนช่วย พระยะโฮวาดลใจให้กษัตริย์โซโลมอนที่ฉลาดมากเขียนว่า “ถ้ามีที่ปรึกษาหลายคนแผนการจะสำเร็จ”—สภษ. 15:22
3. เราอาจได้รับคำแนะนำแบบไหนบ้าง?
3 บางครั้งเราอาจจะได้รับคำแนะนำทางอ้อมหรือบางทีก็มีคนมาแนะนำเราตรง ๆ คำแนะนำทางอ้อมเป็นแบบไหน? ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราอ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือหนังสือต่าง ๆ ขององค์การ มันอาจจะทำให้เรารู้สึกว่ากำลังทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องและจำเป็นต้องเปลี่ยน (ฮบ. 4:12) นอกจากนั้น อาจจะมีผู้ดูแลหรือพี่น้องมาบอกเราตรง ๆ ว่าเราต้องปรับปรุงตัวเอง ถ้ามีพี่น้องที่รักเราถึงขนาดที่กล้าให้คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลกับเราอย่างนี้ ก็ให้เราขอบคุณโดยฟังเขาและพยายามทำตามสิ่งที่เขาแนะนำ
4. อย่างที่บอกไว้ในปัญญาจารย์ 7:9 ตอนที่เราได้รับคำแนะนำ เราไม่ควรทำอะไร?
4 ที่จริง คำแนะนำตรง ๆ นี่แหละที่เรารับได้ยากและอาจทำให้เรารู้สึกโกรธด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้ว่าเราจะยอมรับว่าเราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็อาจไม่ค่อยยอมรับคำแนะนำถ้ามีคนบอกว่าเราผิด (อ่านปัญญาจารย์ 7:9) เราอาจคิดเข้าข้างตัวเอง แก้ตัว หรือสงสัยว่าเขาไม่ชอบเราหรือเปล่า เราอาจไม่ชอบวิธีที่เขาแนะนำและอาจถึงขนาดคิดว่า ‘เขาก็ไม่ใช่ว่าจะดี แล้วมีสิทธิ์อะไรมาแนะนำฉัน’ และถ้าเราไม่ชอบคำแนะนำนั้น เราอาจไม่สนใจจะทำตาม และถึงกับไปหาคนอื่นเพื่อจะได้คำแนะนำที่ถูกใจเรา
5. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
5 ในบทความนี้เราจะดูตัวอย่างจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับคนที่ยอมรับคำแนะนำและคนที่ไม่ยอมรับคำแนะนำ นอกจากนั้น เราจะดูด้วยว่าเราต้องทำอะไรเพื่อจะยอมรับและได้ประโยชน์จากคำแนะนำ
คนที่ไม่ยอมรับคำแนะนำ
6. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของกษัตริย์เรโหโบอัม?
6 ให้เรามาดูตัวอย่างของเรโหโบอัม ตอนที่เขาเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล ประชาชนมาหาเขาแล้วบอกว่าโซโลมอนพ่อของเขาให้ประชาชนแบกภาระหนัก ขอเขาทำให้เบาลงได้ไหม เรโหโบอัมไปปรึกษาผู้ใหญ่ว่าควรทำยังไง การทำแบบนี้ดีมาก พวกผู้ใหญ่ก็แนะนำให้เขาฟังประชาชนเพื่อที่ประชาชนจะได้รับใช้เขาตลอดไป (1 พก. 12:3-7) แต่เรโหโบอัมไม่ชอบคำแนะนำของผู้ใหญ่ เขาเลยไปปรึกษาคนหนุ่ม ๆ ที่โตมาด้วยกันซึ่งอาจจะอายุประมาณ 40 ไล่เลี่ยกันกับเขา (2 พศ. 12:13) เพื่อน ๆ ของเขาอาจมีประสบการณ์อยู่บ้าง แต่คนเหล่านั้นแนะนำไม่ดีเลย พวกเขาบอกเรโหโบอัมว่าควรให้ประชาชนทำงานหนักขึ้นอีก (1 พก. 12:8-11) ตอนนี้กษัตริย์มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ที่จริง เขาควรถามพระยะโฮวาว่าควรจะตอบประชาชนยังไงแต่เขากลับเชื่อเพื่อนของเขา นี่เลยทำให้ตัวเขาเดือดร้อนและทำให้อิสราเอลทั้งชาติเดือดร้อนตามไปด้วย จากเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าไม่ใช่คำแนะนำทุกอย่างจะถูกใจเรา แต่ถ้าคำแนะนำนั้นมาจากคัมภีร์ไบเบิล เราก็ควรยอมรับ
7. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของกษัตริย์อุสซียาห์?
7 กษัตริย์อุสซียาห์ไม่ยอมรับคำแนะนำ เขาเข้าไปในวิหารส่วนที่เฉพาะปุโรหิตเท่านั้นเข้าได้และพยายามถวายเครื่องหอม พวกปุโรหิตของพระยะโฮวาบอกกับอุสซียาห์ว่า “ท่านอุสซียาห์ ท่านไม่ควรเผาเครื่องหอมถวายพระยะโฮวา ปุโรหิตเท่านั้นที่จะเผาเครื่องหอมได้” อุสซียาห์ทำยังไง? ถ้าเขายอมรับคำแนะนำและรีบออกไปทันที พระยะโฮวาก็อาจจะยกโทษให้เขา แต่ปรากฏว่าเขา “โกรธมาก” ทำไมอุสซียาห์ถึงไม่ฟังคำแนะนำ? เขาอาจคิดว่าเขาเป็นกษัตริย์ เขาจะทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ แต่พระยะโฮวาไม่ได้คิดอย่างนั้น อุสซียาห์ทำเกินสิทธิ์เลยทำให้เขา “เป็นโรคเรื้อนจนถึงวันที่เขาตาย” (2 พศ. 26:16-21) บทเรียนสำหรับเราก็คือ ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร ถ้าเราไม่ฟังคำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาจะไม่พอใจเราอีกต่อไป
คนที่ยอมรับคำแนะนำ
8. โยบทำยังไงตอนที่ได้รับคำแนะนำ?
8 นอกจากจะมีตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว ในคัมภีร์ไบเบิลยังมีตัวอย่างดี ๆ ของคนที่พระยะโฮวาอวยพรด้วยเพราะเขายอมรับคำแนะนำ ให้เรามาดูตัวอย่างของโยบด้วยกัน แม้ว่าโยบจะเป็นคนที่เกรงกลัวพระเจ้าแต่เขาก็เป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ ตอนที่เขาเครียดมาก เขามีความคิดบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เอลีฮูและพระยะโฮวาก็เลยแนะนำเขาตรง ๆ โยบทำยังไงหลังจากที่เขาได้รับคำแนะนำ? เขาถ่อมและยอมรับคำแนะนำเหล่านั้น เขาบอกว่า “ผมพูดออกไปโดยไม่เข้าใจอะไรเลยจริง ๆ. . . ผมขอถอนคำพูด และขอนั่งสำนึกผิดอยู่บนดินและในกองขี้เถ้า” โยบถ่อมมาก พระยะโฮวาเลยอวยพรเขา—โยบ 42:3-6, 12-17
9. ตอนที่โมเสสได้รับคำแนะนำ เขาทำยังไง? และทำไมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา?
9 โมเสสก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี หลังจากที่เขาทำผิดร้ายแรงมาแล้ว พอเขาได้รับคำแนะนำ เขาก็ยอมรับคำแนะนำนั้น ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งโมเสสโมโหมากจนไม่ได้ให้เกียรติพระยะโฮวา เลยทำให้เขาไม่ได้สิทธิพิเศษที่จะได้เข้าในแผ่นดินที่พระองค์สัญญา (กดว. 20:1-13) โมเสสอ้อนวอนขอให้พระยะโฮวาเปลี่ยนใจ แต่พระยะโฮวาบอกว่า “พอแล้ว ไม่ต้องมาพูดกับเราเรื่องนี้อีก” (ฉธบ. 3:23-27) ถึงโมเสสจะเจอแบบนี้ เขาก็ไม่ได้โกรธ เขายอมรับการตัดสินใจของพระยะโฮวา พระองค์เลยให้เขานำหน้าชาวอิสราเอลต่อไป (ฉธบ. 4:1) ทั้งโยบและโมเสสเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราควรเลียนแบบจริง ๆ โยบปรับความคิดของตัวเองและไม่ได้แก้ตัว ส่วนโมเสสก็แสดงให้เห็นว่าเขายอมรับคำแนะนำของพระยะโฮวาโดยซื่อสัตย์ต่อพระองค์ต่อไปแม้จะเสียสิทธิพิเศษที่มีค่ามากสำหรับเขา
10. (ก) จากที่บอกไว้ในสุภาษิต 4:10-13 ถ้าเรายอมรับคำแนะนำ เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง? (ข) พี่น้องบางคนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากคำแนะนำ?
10 ถ้าเราเลียนแบบโมเสสและโยบ เราจะได้ประโยชน์มาก (อ่านสุภาษิต 4:10-13) ในทุกวันนี้มีพี่น้องหลายคนที่ทำแบบนั้น ตัวอย่างเช่น เอมันวิลbจากคองโกพูดถึงคำแนะนำที่เขาได้รับว่า “พี่น้องชายบางคนในประชาคมเห็นว่าผมกำลังแย่ ความเชื่อของผมอ่อนแอมาก ๆ พวกเขาก็เลยมาช่วยผม พอผมเอาคำแนะนำไปใช้ มันก็ช่วยผมได้จริง ๆ ครับ ผมไม่ต้องเจอปัญหาหลายอย่างเลย” เมแกนไพโอเนียร์จากแคนาดาบอกว่า “บางครั้งฉันไม่ชอบหรอกนะที่มีคนมาแนะนำ แต่มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับฉันจริง ๆ” ส่วนมาร์โก้จากโครเอเชียบอกว่า “ผมเสียสิทธิพิเศษในประชาคมไป แต่พอมองย้อนกลับไป ที่ผมได้กลับมาสนิทกับพระยะโฮวาเหมือนเดิมก็เพราะคำแนะนำที่พี่น้องให้กับผมในวันนั้นแหละครับ”
11. พี่น้องคาร์ล ไคลน์พูดยังไงเกี่ยวกับการยอมรับคำแนะนำ?
11 พี่น้องอีกคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการยอมรับคำแนะนำก็คือ พี่น้องคาร์ล ไคลน์ซึ่งเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง เขาสนิทกับพี่น้องโจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ดมาก ในบทความเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องคาร์ล ไคลน์ พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดเคยแนะนำเขาอย่างตรงไปตรงมา ตอนแรกเขารู้สึกแย่มาก เขาเล่าว่า “พอผมเจอกับพี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดอีก พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดก็ทักทายผมอย่างอารมณ์ดีว่า ‘เป็นไงบ้างคาร์ล?’ แต่ตอนนั้นผมยังไม่หายโกรธเลยไม่อยากคุยด้วย พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดเลยบอกว่า ‘คาร์ล ระวังจะโดนซาตานเล่นงานนะ’ ผมตอบด้วยความอายว่า ‘เปล่าครับ ผมไม่ได้โกรธคุณนะครับ’ พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดรู้ว่าผมยังโกรธอยู่ก็เลยย้ำอีกครั้งว่า ‘งั้นเหรอ ยังไงก็ระวังนะ อย่าให้ซาตานเล่นงานคุณได้’ ผมรู้แล้วว่าพี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดพูดถูกจริง ๆ ถ้าเราโกรธพี่น้องไม่หาย โดยเฉพาะโกรธพี่น้องที่มีสิทธิ์จะเตือนเรา . . . เราก็กำลังเปิดโอกาสให้มารเล่นงานเรา”c (อฟ. 4:25-27) พี่น้องคาร์ล ไคลน์ยอมรับคำแนะนำของพี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ด และพวกเขาก็สนิทกันเหมือนเดิม
อะไรจะช่วยให้เรายอมรับคำแนะนำ?
12. ความถ่อมช่วยเรายังไงให้ยอมรับคำแนะนำ? (สดุดี 141:5)
12 อะไรจะช่วยให้เรายอมรับคำแนะนำ? เราต้องถ่อม เราต้องจำไว้ว่าเราเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ และบางครั้งเราก็ทำอะไรที่โง่มาก ๆ จากที่เราได้เรียนมาแล้ว เราเห็นว่าโยบมีความคิดที่ไม่ถูกต้องแต่เขาก็ปรับความคิดของเขาและพระยะโฮวาก็อวยพรเขา ทำไมพระองค์ถึงอวยพรเขา? ก็เพราะโยบเป็นคนถ่อม เขายอมรับคำแนะนำจากเอลีฮูทั้ง ๆ ที่เอลีฮูอายุน้อยกว่าเขาเยอะ (โยบ 32:6, 7) เราก็เหมือนกัน ความถ่อมจะช่วยให้เรายอมรับคำแนะนำทั้ง ๆ ที่บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ผิดหรือคนที่ให้คำแนะนำจะอายุน้อยกว่าเรา ผู้ดูแลคนหนึ่งจากแคนาดาบอกว่า “เรามักจะมองตัวเองไม่เหมือนที่คนอื่นมองเรา ถ้าไม่มีใครแนะนำเราเตือนเรา แล้วเราจะพัฒนาตัวเองได้ยังไง” เราคงเห็นด้วยกับคำพูดของผู้ดูแลคนนี้ เราทุกคนต้องพัฒนาตัวเองในงานรับใช้และพยายามมีผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้าให้มากขึ้น—อ่านสดุดี 141:5
13. เราควรมองคำแนะนำยังไง?
13 มองว่าคำแนะนำเป็นหลักฐานแสดงว่าพระเจ้ารักเรา พระยะโฮวาหวังดีกับเราเสมอ (สภษ. 4:20-22) ถ้าเราได้รับคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล หนังสือและสื่อขององค์การ หรือจากพี่น้องที่มีประสบการณ์ก็แสดงว่าพระยะโฮวารักเรา ฮีบรู 12:9, 10 บอกว่า “พระเจ้าสั่งสอนเราเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง”
14. เมื่อเราได้รับคำแนะนำ เราควรดูที่อะไร?
14 ดูที่คำแนะนำ ไม่ใช่วิธีให้คำแนะนำ บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ชอบวิธีที่บางคนแนะนำเราเลย ก็จริงที่เราทุกคนต้องพยายามแนะนำในแบบที่คนอื่นยอมรับได้ง่ายd (กท. 6:1) แต่ถึงเราจะรู้สึกว่าคนที่แนะนำเราน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ ให้เราสนใจที่คำแนะนำไม่ใช่วิธีของเขา เราควรถามตัวเองว่า ‘ถึงฉันไม่ชอบวิธีที่เขาแนะนำฉัน แต่บางอย่างที่เขาพูด มันถูกไหม? ฉันจะมองข้ามข้อเสียของเขา และมองที่ประโยชน์จากคำแนะนำของเขาได้ไหม?’ ถ้าทุกครั้งที่เราได้รับคำแนะนำ เราพยายามมองที่ประโยชน์ของคำแนะนำนั้น เราก็จะเป็นคนฉลาด—สภษ. 15:31
ขอคำแนะนำแล้วจะได้ประโยชน์
15. ทำไมเราน่าจะไปขอคำแนะนำจากคนอื่น?
15 คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เราไปขอคำแนะนำจากคนอื่น สุภาษิต 13:10 บอกว่า “คนที่เสาะหาคำแนะนำจะมีสติปัญญา” เป็นอย่างนั้นจริง ๆ คนที่เข้าไปขอคำแนะนำจากคนอื่นจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนที่มัวแต่รอให้คนอื่นมาแนะนำเขา ดังนั้น ขอให้คุณเข้าไปขอคำแนะนำจากคนอื่น
16. ตอนไหนบ้างที่เราอาจขอคำแนะนำ?
16 ตอนไหนบ้างที่เราอาจขอคำแนะนำจากพี่น้องคนอื่นได้? ขอให้คิดถึง 3 สถานการณ์ต่อไปนี้ (1) พี่น้องหญิงคนหนึ่งชวนพี่น้องอีกคนไปศึกษาด้วยกัน พอศึกษาเสร็จ เธอก็ถามพี่น้องคนนั้นว่าทำยังไงถึงจะสอนได้ดีขึ้น (2) พี่น้องหญิงที่เป็นโสดตั้งใจจะซื้อกางเกงตัวหนึ่ง เธอเลยขอให้พี่น้องหญิงที่อายุมากกว่าช่วยบอกตรง ๆ ว่าคิดยังไงกับกางเกงที่เธอเลือก (3) ตอนที่พี่น้องชายคนหนึ่งจะบรรยายสาธารณะครั้งแรก เขาขอให้ผู้บรรยายที่มีประสบการณ์ช่วยตั้งใจฟังเป็นพิเศษและช่วยบอกเขาว่ามีตรงไหนบ้างที่เขาต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ที่จริง แม้แต่พี่น้องชายที่บรรยายมาแล้วหลายปีก็น่าจะขอคำแนะนำจากผู้บรรยายที่มีประสบการณ์และก็พยายามทำตามคำแนะนำด้วย
17. เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะได้ประโยชน์จากคำแนะนำ?
17 ภายในไม่กี่อาทิตย์นี้หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า เราทุกคนต้องได้รับคำแนะนำแน่ ๆ ไม่ว่าจะทางอ้อมหรือมีคนมาแนะนำเราตรง ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น ขอให้จำสิ่งที่ได้คุยกันไปแล้วในบทความนี้คือ ให้ถ่อมตัว สนใจที่คำแนะนำไม่ใช่วิธีให้คำแนะนำ และให้คุณทำตามคำแนะนำที่ได้รับด้วย ไม่มีใครฉลาดมาตั้งแต่เกิด แต่ถ้าเรา “ฟังคำแนะนำและรับการอบรมสั่งสอน” คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าเรา “จะฉลาดขึ้น”—สภษ. 19:20
เพลง 124 ภักดีเสมอไม่เปลี่ยนแปลง
a เรารู้ว่าการยอมรับคำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เราต้องทำอะไรเพื่อจะยอมรับและได้ประโยชน์จากคำแนะนำ?
b บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
c ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) 1 ตุลาคม 1984 หน้า 21-28
d ในบทความหน้า เราจะดูกันว่าเราจะให้คำแนะนำยังไงที่ทำให้คนฟังรับได้ง่าย