จงวางใจในพระยะโฮวา!
“จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจของเจ้า.”—สุภาษิต 3:5, ล.ม.
1. ชายหนุ่มคนหนึ่งเกิดความประทับใจอย่างไรกับสุภาษิต 3:5 พร้อมด้วยผลประการใดในระยะยาว?
มิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งทำงานมานานหลายปีเขียนว่า “‘จงวางใจในพระเจ้าอย่างสุดหัวใจของเจ้า; และอย่าพึ่งความเข้าใจของตนเอง.’ ถ้อยคำเหล่านี้ที่ยกมาจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งใส่อยู่ในกรอบและแขวนติดข้างฝาในบ้านที่ผมไปเยี่ยมนั้นจับความสนใจของผม. ผมครุ่นคิดถึงข้อความนี้ตลอดวัน. ผมถามตัวเองว่า ผมจะวางใจพระเจ้าสุด หัวใจได้หรือเปล่า?” ผู้เล่ามีอายุ 21 ปีในตอนนั้น. ขณะที่อายุได้ 90 ปีและยังคงรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ในฐานะผู้ปกครองที่เมืองเพิร์ต ประเทศออสเตรเลีย เขาสามารถมองชีวิตย้อนหลังซึ่งบริบูรณ์ด้วยผลอันเนื่องมาจากการวางใจในพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ รวมเวลา 26 ปีที่คร่ำเคร่งอยู่กับงานบุกเบิกเขตมิชชันนารีในดินแดนใหม่ในซีลอน (เวลานี้คือศรีลังกา), พม่า, มะลายู, ประเทศไทย, อินเดีย, และปากีสถาน.a
2. สุภาษิต 3:5 น่าจะก่อความมั่นใจอะไรในตัวเรา?
2 “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจของเจ้า”—ถ้อยคำนี้ในพระธรรมสุภาษิต 3:5 ฉบับแปลโลกใหม่ น่าจะกระตุ้นพวกเราทุกคนให้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจอยู่เรื่อยไป มั่นใจว่า พระองค์สามารถเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็งมั่นคง กระทั่งเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่หลวงปานภูเขาไปได้. (มัดธาย 17:20) ตอนนี้ ให้เราพิจารณาสุภาษิต 3:5 โดยดูบริบท.
คำแนะนำสั่งสอนฉันบิดา
3. (ก) การหนุนใจเช่นไรซึ่งจะพบได้จากเก้าบทแรกในพระธรรมสุภาษิต? (ข) เพราะเหตุใดเราควรใส่ใจพิจารณาสุภาษิต 3:1, 2 อย่างถี่ถ้วน?
3 เก้าบทแรกของพระธรรมสุภาษิตเปล่งประกายด้วยคำแนะนำฉันบิดาสอนบุตร เป็นคำสั่งสอนจากพระยะโฮวาสำหรับทุกคนซึ่งคอยท่าจะได้เป็นบุตรทางภาคสวรรค์ หรือมี “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า” บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (โรม 8:18-21, 23, ล.ม.) คำแนะนำเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่สุขุมซึ่งบิดามารดาจะนำไปใช้อบรมเลี้ยงดูบุตรชายบุตรหญิงได้. ที่เด่นชัดคือคำแนะนำที่พระธรรมสุภาษิตบท 3 ซึ่งเริ่มด้วยคำตักเตือนดังนี้: “ศิษย์ [บุตร] ของเราเอ๋ย, อย่าลืมโอวาทของเรา; แต่จงให้ใจของเจ้ารักษาบัญญัติทั้งหลายของเรา.” ขณะที่ยุคสุดท้ายแห่งโลกชั่วของซาตานเคลื่อนไปสู่อวสาน ขอให้เราใส่ใจมากยิ่งขึ้นฟังข้อเตือนใจที่มาจากพระยะโฮวา. ระยะทางอาจดูเหมือนยาวไกล แต่มีคำสัญญาต่อทุกคนที่เพียรอดทนดังนี้: “บัญญัตินั้นจะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิตของเจ้า, กับสันติสุขให้แก่เจ้า” คือชีวิตชั่วนิรันดร์ในระเบียบใหม่ของพระยะโฮวา.—สุภาษิต 3:1, 2.
4, 5. (ก) ที่โยฮัน 5:19, 20 มีการพรรณนาสัมพันธภาพอะไรที่ให้ความสุข? (ข) คำแนะนำที่พระบัญญัติ 11:18-21 นำมาใช้ได้อย่างไรกับพวกเราสมัยนี้?
4 ความสัมพันธ์อย่างมีความสุขระหว่างบิดากับบุตรนั้นมีค่ายิ่ง. พระเจ้ายะโฮวา ผู้ทรงสร้างตัวเราทรงจัดเตรียมไว้อย่างนั้น. พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระองค์กับพระยะโฮวาว่า “พระบุตรจะกระทำสิ่งใดตามความริเริ่มของตนเองไม่ได้เลย เว้นแต่ที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำ. เพราะว่าสิ่งใด ๆ ที่พระองค์ทรงกระทำ พระบุตรก็ทรงกระทำในลักษณะเดียวกัน. เพราะพระบิดาทรงรักชอบพระบุตร และทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ.” (โยฮัน 5:19, 20, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายให้สัมพันธภาพที่ใกล้ชิดอย่างเดียวกันนี้มีระหว่างพระองค์กับทุกคนในครอบครัวของพระองค์บนแผ่นดินโลก และระหว่างบิดาที่เป็นมนุษย์กับบุตรของเขาเช่นกัน.
5 ชาวยิศราเอลสมัยโบราณได้รับการสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ที่วางใจกันภายในครอบครัว. ครั้งนั้น พระยะโฮวาทรงแนะนำผู้เป็นบิดาว่า “จงจำถ้อยคำเหล่านี้ไว้ในจิตใจ [หัวใจ, ล.ม.] ของเจ้า; จงผูกพันไว้ที่มือของเจ้าเป็นของสำคัญ, และจงจารึกไว้ที่หว่างคิ้วของเจ้า. และจงสอนถ้อยคำเหล่านี้แก่บุตรทั้งหลายของเจ้า, เมื่อนั่งอยู่ในเรือน, และเดินกลางหนทาง, เมื่อนอน, และลุกขึ้น, จงกล่าวสั่งสอนถ้อยคำเหล่านี้และจงเอาถ้อยคำเหล่านี้จารึกไว้ที่เสาประตูเรือน, และที่ประตูบ้านของเจ้า; เพื่ออายุของเจ้าทั้งหลายจะยืนนาน, และอายุบุตรทั้งหลายของเจ้าจะยืนนานบนแผ่นดิน, ซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงสัญญาแก่ปู่ย่าตายายของเจ้าว่าจะประทานให้เขา, เท่ากาลวันที่ฟ้าสวรรค์จะดำรงอยู่เหนือแผ่นดิน.” (พระบัญญัติ 11:18-21) พระวจนะโดยการดลบันดาลจากพระเจ้ายะโฮวา ผู้สอนองค์ใหญ่ยิ่งของเรา สามารถเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระองค์กับบรรดาบิดามารดาพร้อมทั้งบุตรทั้งหลาย รวมไปถึงคนอื่น ๆ ทุกคนซึ่งรับใช้พระองค์ในประชาคมคริสเตียน.—ยะซายา 30:20, 21.
6. โดยวิธีใดเราอาจได้รับความพอใจจากพระเจ้าและจากมนุษย์?
6 คำแนะนำที่สุขุมฉันบิดาเพื่อสอนไพร่พลของพระเจ้าไม่ว่าแก่หรือหนุ่มนั้นยังกล่าวต่อไปในข้อ 3 และข้อ 4 ของพระธรรมสุภาษิตบท 3 ดังนี้: “อย่าให้ความกรุณาและความจริงละจากตัวเจ้าไป: จงผูกความกรุณาและความจริงไว้รอบคอของเจ้า; จงจารึกไว้ที่ดวงใจของเจ้า: ดังนั้นแหละเจ้าจะได้พบการสงเคราะห์และชื่อเสียงดีเฉพาะพระเนตรพระเจ้าและต่อตามนุษย์.” พระเจ้ายะโฮวาทรงเป็นเลิศในการแสดงความรักกรุณาและความสัตย์จริง. ดังระบุไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 25:10 ว่า “บรรดาทางของพระยะโฮวาประกอบไปด้วยความเมตตาและความจริง.” ในการเลียนแบบพระยะโฮวา เราพึงตระหนักถึงคุณสมบัติเหล่านี้และพลังของสิ่งเหล่านี้ที่ให้การพิทักษ์รักษาเราได้ ประเมินค่าความรักกรุณาและความสัตย์จริงเหมือนสร้อยคออันเลอค่า และสลักลงบนแผ่นจารึกแห่งหัวใจซึ่งไม่สามารถจะลบได้. เช่นนั้นแล้ว เราก็จะทูลอธิษฐานด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา . . . ขอโปรดให้พระกรุณาและความสัตย์ซื่อของพระองค์บำรุงรักษาข้าพเจ้าไว้เป็นเนืองนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:11.
ความไว้วางใจที่ยั่งยืนตลอดไป
7. พระยะโฮวาได้สำแดงอย่างไรว่าพระองค์น่าเชื่อถือไว้วางใจ?
7 พจนานุกรมเว็บสเตอร์ส ไนนต์ นิว คอลลิจิเอต ได้นิยามคำ ไว้วางใจ ว่า “เชื่อถือได้อย่างแน่นอนในบุคลิกลักษณะ, ความสามารถ, ความเข้มแข็ง หรือความจริงเกี่ยวกับคนหนึ่งคนใดหรืออะไรบางอย่าง.” บุคลิกลักษณะของพระยะโฮวายึดแน่นกับความรักกรุณาของพระองค์. และเราจะมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่จะกระทำตามสัญญา เพราะพระนามยะโฮวานั้นระบุตัวพระองค์เป็นผู้มีความมุ่งหมายองค์ใหญ่ยิ่ง. (เอ็กโซโด 3:14; 6:2-8) ในฐานะเป็นพระผู้สร้าง พระองค์จึงเป็นบ่อเกิดของกำลังและพลังที่เคลื่อนไหว. (ยะซายา 40:26, 29) พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมแห่งความจริง เพราะ “พระองค์จะตรัสมุสาไม่ได้.” (เฮ็บราย 6:18) ดังนั้น เราจึงได้รับการหนุนให้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวา พระเจ้าของเรา ผู้ทรงเป็นแหล่งสำคัญของความจริงทุกอย่าง ผู้ทรงฤทธิ์อำนาจทุกประการในการพิทักษ์บรรดาชนที่วางใจในพระองค์ และจะทรงบันดาลให้สำเร็จอย่างน่าชื่นชมทุกประการตามความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 91:1, 2; ยะซายา 55:8-11.
8, 9. ทำไมโลกนี้ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างน่าเสียดาย และไพร่พลของพระยะโฮวากลับแตกต่างไปอย่างไร?
8 เป็นเรื่องน่าเสียดาย ในโลกที่เสื่อมทรามรอบตัวเรา ความไว้เนื้อเชื่อใจกันขาดไป. เรากลับพบเห็นว่า มีการโลภและการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง. หน้าปกวารสารเวิลด์ เพรส รีวิว ฉบับเดือนพฤษภาคม 1993 มีพาดหัวข่าวว่า “การฉ้อราษฏร์บังหลวงเฟื่องฟู—เงินสกปรกในระเบียบใหม่สำหรับโลก. การฉ้อราษฎร์บังหลวงระบาดไปทั่วโลก จากบราซิลถึงเยอรมนี จากสหรัฐลงไปจนถึงอาร์เจนตินา จากสเปนถึงเปรู จากอิตาลีถึงเม็กซิโก จากนครรัฐวาติกันถึงรัสเซีย.” เนื่องจากอาศัยความเกลียดชัง, ความโลภ และความไม่ไว้วางใจ ระเบียบใหม่สำหรับโลกที่มนุษย์อ้างถึงนั้นไม่บันดาลผลดีแต่ประการใด แต่กลับเพิ่มความทุกข์ยากแก่มนุษยชาติด้วยซ้ำ.
9 ตรงกันข้ามกับชนชาติต่าง ๆ ทางด้านการเมือง พวกพยานพระยะโฮวามีความสุขที่เขาเป็น “ชนประเทศที่ถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า.” พวกเขากลุ่มเดียวที่พูดได้อย่างเป็นความจริงว่า “เราวางใจพระเจ้า.” พยานฯแต่ละคนสามารถเปล่งเสียงด้วยความปีติยินดีดังนี้: “ในพระเจ้า—ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระวจนะของพระองค์ . . . ข้าพเจ้าได้วางใจในพระเจ้าแล้ว, ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นกลัว.”—บทเพลงสรรเสริญ 33:12; 56:4, 11.
10. อะไรได้เสริมความเข้มแข็งแก่คริสเตียนหนุ่ม ๆ หลายคน เพื่อรักษาความซื่อสัตย์ภักดี?
10 ในประเทศหนึ่งแถบเอเชียซึ่งพยานฯหนุ่มนับพัน ๆ คนถูกเฆี่ยนอย่างรุนแรงและต้องโทษจำคุกนั้น การวางใจพระยะโฮวาได้ช่วยพยานฯส่วนใหญ่ให้อดทน. คืนหนึ่งในคุก พยานฯหนุ่มที่ถูกทรมานอย่างทารุณคิดว่า เขาคงอดทนต่อไปไม่ไหวแล้ว. แต่มีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งแฝงตัวในความมืดเข้ามาหา และกระซิบบอกเขาว่า “อย่ายอมแพ้. ผมยอมอะลุ้มอล่วย ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา ผมไม่เคยสบายใจเลย.” ชายหนุ่มคนแรกจึงได้ตัดสินใจใหม่ว่า เขาจะยืนหยัดมั่นคง. พวกเราย่อมวางใจพระยะโฮวาได้เต็มที่ว่า พระองค์จะทรงช่วยเราให้ชนะความพยายามใด ๆ ทุกอย่างที่ซาตานจะทำลายความจงรักภักดีของเรา.—ยิระมะยา 7:3-7; 17:1-8; 38:6-13, 15-17.
11. เราได้รับการกระตุ้นอย่างไรให้วางใจในพระยะโฮวา?
11 พระบัญญัติข้อแรกส่วนหนึ่งอ่านว่า “จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า.” (มาระโก 12:30) เมื่อเรารำพึงถึงพระวจนะของพระเจ้า ความจริงต่าง ๆ อันล้ำค่าซึ่งเราเรียนรู้ก็จะซึมซาบเข้าในหัวใจของเรา ถึงขนาดที่ว่าเรารับการจูงใจที่จะใช้ทุกสิ่งทุกอย่างของเราไปเพื่องานรับใช้พระยะโฮวาองค์บรมมหิศร พระเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งของเรา. ด้วยหัวใจที่เต็มปรี่ด้วยความหยั่งรู้ค่าในพระองค์—สารพัดสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ทรงกระทำเพื่อเรา และที่ยังจะกระทำต่อไปอีก—เราจึงได้รับการกระตุ้นให้วางใจเต็มที่ในการช่วยให้รอดโดยพระองค์.—ยะซายา 12:2.
12. ตลอดเวลาหลายปี คริสเตียนหลายคนได้แสดงความวางใจพระยะโฮวาโดยวิธีใด?
12 เราจะพัฒนาความวางใจอย่างนี้ขึ้นมาได้เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลาหลายปี. พยานพระยะโฮวาที่ถ่อมใจคนหนึ่งซึ่งได้รับใช้ด้วยความซื่อสัตย์กว่า 50 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 1927 ณ สำนักงานใหญ่สมาคมว็อชเทาเวอร์ ในบรุกลิน เขียนเล่าว่า “ในวันสิ้นเดือนนั้น ผมได้รับเบี้ยเลี้ยง 125 บาทสอดมาในซองพร้อมกับบัตรที่สวยงามที่พิมพ์ข้อคัมภีร์จากสุภาษิต 3:5, 6 . . . มีเหตุผลทุกประการที่จะวางใจพระยะโฮวา เพราะที่สำนักงานใหญ่นี้เอง ไม่ช้าผมก็ได้มารู้สึกหยั่งรู้ค่าการที่พระยะโฮวาทรงใช้ ‘ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม’ ดูแลผลประโยชน์ทั้งสิ้นของราชอาณาจักรทางแผ่นดินโลกด้วยความซื่อสัตย์.—มัดธาย 24:45-47.”b คริสเตียนผู้นี้ตั้งใจแน่วแน่ ไม่ใช่ที่จะรักเงิน แต่เพื่อจะได้ “ทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ซึ่งไม่รู้สาบสูญ.” ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน หลายพันคนซึ่งรับใช้ที่บ้านเบเธลแห่งสมาคมว็อชเทาเวอร์ที่มีอยู่ทั่วโลกก็ทำเช่นนั้น ภายใต้คำปฏิญญาที่จะไม่แสวงหาผลประโยชน์ฝ่ายวัตถุ. พวกเขาวางใจพระยะโฮวาที่จะทรงจัดเตรียมให้ตามความจำเป็นของเขาทุก ๆ วัน.—ลูกา 12:29-31, 33, 34.
หมายพึ่งพระยะโฮวา
13, 14. (ก) จะพบคำแนะนำที่สุขุมได้เฉพาะที่ไหนเท่านั้น? (ข) ที่จะผ่านพ้นการข่มเหงจะต้องหลีกเลี่ยงอะไร?
13 พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงตักเตือนเราดังนี้: “อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง.” (สุภาษิต 3:5) ที่ปรึกษาและนักจิตวิทยาของโลกย่อมคาดหวังไม่ได้เลยที่จะมีสติปัญญาและความเข้าใจเท่าเทียมกับพระยะโฮวา. “ความเข้าใจของพระองค์นั้นวัดไม่ได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 147:5, ฉบับแปลใหม่) แทนการหมายพึ่งปัญญาบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลก หรืออารมณ์ความรู้สึกของเราเองซึ่งขาดความรู้ จงให้เราหมายพึ่งพระยะโฮวา พระวจนะของพระองค์ และพวกผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนเพื่อจะได้คำแนะนำที่สุขุมรอบคอบ.—บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 1 โกรินโธ 2:5.
14 สติปัญญาของมนุษย์หรือตำแหน่งใหญ่โตจะไม่ได้ช่วยอะไรในการทดลองหนักที่กระชั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว. (ยะซายา 29:14; 1 โกรินโธ 2:14) ในประเทศญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้บำรุงเลี้ยงไพร่พลของพระเจ้าคนหนึ่งที่มีความสามารถ ทว่าทะนงตนพอใจพึ่งในความเข้าใจของตนเอง. ครั้นตกอยู่ในภาวะกดดัน เขาเลยกลายเป็นคนออกหาก และเมื่อมีการข่มเหง สมาชิกในประชาคมส่วนใหญ่จึงพากันเลิกราไม่ประกาศข่าวดีต่อไป. พี่น้องหญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ผ่านการปฏิบัติอย่างทารุณในห้องขังที่แสนสกปรกอย่างกล้าหาญได้ให้ความเห็นว่า “คนเหล่านั้นที่รักษาความซื่อสัตย์ไม่มีความสามารถพิเศษและไม่ใช่คนเด่น. แน่นอน พวกเราทุกคนต้องวางใจพระยะโฮวาเสมอ ด้วยสุดหัวใจของเรา.”c
15. ถ้าเราจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย คุณลักษณะอะไรเป็นสิ่งจำเป็นในแง่ที่เกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสในพระเจ้า?
15 การไว้วางใจพระยะโฮวายิ่งกว่าการพึ่งความเข้าใจของเราเองนั้นเกี่ยวข้องกับความถ่อมใจ. คุณลักษณะนี้สำคัญเพียงไรสำหรับทุกคนที่ต้องการทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย! แม้พระเจ้าของพวกเราทรงเป็นถึงองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทั้งสิ้น กระนั้น พระองค์ทรงแสดงความถ่อมพระทัยขณะดำเนินงานกับมนุษย์ที่มีเชาวน์ปัญญาซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นมา. พวกเราน่าจะรู้สึกขอบพระคุณสำหรับสิ่งนี้. “ผู้ซึ่งทรงถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมาพิจารณาดูฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงโปรดยกคนอนาถาขึ้นจากผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 113:6, 7) ด้วยพระเมตตาอันใหญ่หลวง พระองค์ทรงให้อภัยข้ออ่อนแอต่าง ๆ ของเราโดยอาศัยของประทานของพระองค์อันประเสริฐและมีค่ายิ่งแก่มนุษย์ คือเครื่องบูชาอันเป็นค่าไถ่โดยพระเยซูคริสต์ พระบุตรสุดที่รักของพระองค์. พวกเราน่าจะสำนึกบุญคุณในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับนี้สักพียงไร!
16. พี่น้องชายจะพยายามให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษในประชาคมได้อย่างไร?
16 พระเยซูเองทรงเตือนพวกเราดังนี้: “ผู้ใดจะยกตัวขึ้น, ผู้นั้นคงจะถูกเหยียดลง ผู้ใดถ่อมตัวลง, ผู้นั้นคงจะถูกยกขึ้น.” (มัดธาย 23:12) ด้วยความถ่อมใจ พี่น้องชายที่รับบัพติสมาแล้วควรพยายามที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียน. กระนั้น ผู้ดูแลก็ควรคำนึงถึงการแต่งตั้งของตนว่าไม่ใช่เครื่องหมายแสดงถึงฐานะสำคัญ แต่เป็นโอกาสจะประกอบการงาน ด้วยความถ่อมใจ, ด้วยการหยั่งรู้ค่า, ด้วยความกระตือรือร้น ดังพระเยซูได้ตรัสว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานเรื่อยมาถึงบัดนี้ และเราก็ทำงานเรื่อยไป.”—โยฮัน 5:17, ล.ม; 1 เปโตร 5:2, 3.
17. พวกเราทุกคนน่าจะหยั่งรู้ค่าสิ่งใด ซึ่งนำไปสู่การงานอะไร?
17 ขอให้เราหยั่งรู้ค่าเสมอด้วยใจถ่อมและด้วยการอธิษฐานว่า ตัวเราก็เป็นเพียงธุลีในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. แล้วเราจะดีใจเพียงใดที่ “พระกรุณาคุณแห่งพระยะโฮวาแก่คนที่ยำเกรงพระองค์นั้นก็มั่นคงอยู่ตั้งแต่อดีตกาลตลอดอนาคตกาล, และความชอบธรรมของพระองค์คงถาวรแก่ลูกหลานสืบ ๆ ไป”! (บทเพลงสรรเสริญ 103:14, 17) ฉะนั้น พวกเราทุกคนควรจะเป็นนักศึกษาพระวจนะของพระเจ้าอย่างจริงจัง. เวลาที่ใช้ไปเพื่อการศึกษาส่วนตัว, การศึกษาร่วมกับครอบครัวและ ณ การประชุมของประชาคมทุกสัปดาห์นั้นควรเป็นช่วงเวลาของเราที่มีค่าอย่างยิ่ง. โดยวิธีนี้ เราสร้างเสริม “การรู้ถึงขององค์บริสุทธิ์.” “นั้นคือความเข้าใจ.”—สุภาษิต 9:10.
“ . . . ในทางทั้งหลายของเจ้า”
18, 19. เราจะนำเอาสุภาษิต 3:6 มาใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอย่างไร พร้อมด้วยผลเช่นไร?
18 ในการชี้ทางให้เราเข้าถึงพระยะโฮวา แหล่งแห่งความเข้าใจ สุภาษิต 3:6 บอกต่อไปดังนี้: “จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” การรับพระองค์เข้าส่วนด้วยนั้นหมายรวมถึงการเข้าใกล้พระองค์ด้วยคำอธิษฐาน. ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนหรือภายใต้สภาพการณ์ใด ๆ ก็ตาม เรามีหนทางจะเข้าถึงพระองค์โดยคำอธิษฐานทันที. ขณะที่เราปฏิบัติภารกิจประจำวัน ขณะที่เราเตรียมตัวออกไปประกาศ ขณะที่เราไปตามบ้านเรือนประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระองค์ เราน่าจะอธิษฐานอยู่เสมอ ขอให้พระองค์อวยพรการงานของเรา. ดังนั้น เราสามารถมีสิทธิพิเศษและความยินดีเหลือประมาณที่ “ดำเนินกับพระเจ้า” ด้วยมั่นใจว่าพระองค์จะ ‘ชี้ทางเดินของเราให้แจ่มแจ้ง’ อย่างที่พระองค์ได้กระทำต่อฮะโนค, โนฮา และชาวยิศราเอลที่ซื่อสัตย์ เช่น ยะโฮซูอะและดานิเอลที่เกรงกลัวพระเจ้า.—เยเนซิศ 5:22; 6:9; พระบัญญัติ 8:6; ยะโฮซูอะ 22:5; ดานิเอล 6:23; และดูยาโกโบ 4:8, 10 ด้วย.
19 เมื่อเราวิงวอนขอพระยะโฮวา เราย่อมมั่นใจได้ว่า ‘สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเราไว้โดยพระเยซูคริสต์.’ (ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.) สันติสุขแห่งพระเจ้านี้เองที่สะท้อนออกมาทางใบหน้าที่แช่มชื่น อาจทำให้เจ้าของบ้านที่เราได้พบปะในระหว่างการประกาศตอบรับข่าวสารของเรา. (โกโลซาย 4:5, 6) อีกประการหนึ่ง อาจเป็นการหนุนใจคนเหล่านั้นซึ่งกำลังเป็นทุกข์เพราะความกดดันหรือความไม่เป็นธรรมซึ่งมีให้เห็นบ่อย ๆ ในโลกสมัยนี้ ดังเรื่องต่อไปนี้แสดงให้เห็น.d
20, 21. (ก) ในระหว่างยุคนาซีหฤโหด ความซื่อสัตย์ภักดีของพยานพระยะโฮวาให้กำลังใจแก่คนอื่นอย่างไร? (ข) สุรเสียงของพระยะโฮวาน่าจะปลุกความตั้งใจอะไรในตัวเรา?
20 มากซ์ ลีบสเตอร์ เชื้อสายยิวซึ่งรอดชีวิตผ่านความหฤโหดมาได้โดยวิธีที่ดูเหมือนน่าอัศจรรย์ เขาพรรณนาการเดินทางไปยังค่ายประหารชีวิตแห่งหนึ่งของพวกนาซีว่า “พวกเราถูกขังในตู้โดยสารรถไฟที่จัดแบ่งเป็นช่องแคบ ๆ สำหรับสองคน. ผมถูกถีบเข้าไปอยู่ในช่องหนึ่งและเผชิญหน้ากับนักโทษคนหนึ่งซึ่งสายตาของเขาแสดงถึงความสงบเยือกเย็น. เขาอยู่ที่นั่นเพราะสาเหตุการเคารพกฎหมายของพระเจ้า เขาเลือกจะติดคุกและอาจเสียชีวิตแทนการทำลายชีวิตคนอื่น. เขาเป็นพยานพระยะโฮวา. ลูก ๆ ของเขา ถูกพรากไป และภรรยาก็ถูกประหาร. เขาเองก็คาดหมายจะถูกประหารเช่นกัน. การเดินทาง 14 วันให้คำตอบแก่การอธิษฐานของผม เพราะจากการเดินทางไปหาความตายครั้งนี้แหละที่ผมได้พบความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร.”
21 หลังจากที่บราเดอร์คนนี้ผ่านค่ายกักกันเอาช์วิตส์ หรือ “ถ้ำสิงโต” ตามที่เขาเรียกและได้รับบัพติสมาแล้ว เขาแต่งงานกับพยานฯซึ่งเคยถูกจำคุกและบิดาของเธอประสบความยากลำบากในค่ายกักกันดาเคามาแล้ว. ตอนที่บิดาของเธออยู่ที่ค่ายนั้น เขาได้ข่าวการจับกุมภรรยากับลูกสาวเหมือนกัน. เขาพรรณนาปฏิกิริยาของตัวเองดังนี้: “ผมรู้สึกกังวลมาก. แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ขณะเข้าแถวเพื่ออาบน้ำ ผมได้ยินเสียงท่องพระธรรมสุภาษิต 3:5, 6 . . . มันเหมือนเสียงดังก้องจากสวรรค์. ผมกำลังต้องการสิ่งนี้อยู่พอดีเพื่อผมจะกลับสู่สภาพสมดุลได้อีก.” จริง ๆ แล้ว เสียงที่ผมได้ยินคือเสียงนักโทษชายผู้ซึ่งได้ยกคัมภีร์ข้อนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้เน้นให้เห็นว่า พระคำของพระเจ้ามีพลังสำแดงฤทธิ์ในตัวเราได้เพียงไร. (เฮ็บราย 4:12) ขอพระสุรเสียงของพระยะโฮวาตรัสอย่างมีฤทธิ์แก่พวกเราสมัยนี้ ด้วยถ้อยคำแห่งข้อคัมภีร์ประจำปี 1994 ที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจของเจ้า”!
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูเรื่อง “ผมได้วางใจในพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ” เล่าโดยคล็อด เอส. กูดแมน, วารสารเดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1973 หน้า 760-765.
b โปรดดูเรื่อง “แน่วแน่จะสรรเสริญพระยะโฮวา” เล่าโดยแฮรี ปีเตอร์สัน, วารสารเดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 1968 หน้า 437–440.
c โปรดดูเรื่อง “พระยะโฮวาไม่ทรงทอดทิ้งผู้รับใช้ของพระองค์” เล่าโดยมัตสึเอะ อิชิอิ, วารสารเดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับ 1 พฤษภาคม 1988 หน้า 21–25.
d โปรดดูเรื่อง “การช่วยให้รอด! การพิสูจน์ว่าตัวเราสำนึกบุญคุณ” เล่าโดยมากซ์ ลีบสเตอร์, วารสารเดอะ ว็อชเทาเวอร์ ฉบับ 1 ตุลาคม 1978 หน้า 20-24.
ในการสรุป
▫ พระธรรมสุภาษิตเสนอคำแนะนำประเภทไหน?
▫ การวางใจพระยะโฮวาเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราอย่างไร?
▫ การหมายพึ่งพระยะโฮวารวมไปถึงอะไร?
▫ เหตุใดพวกเราพึงรับพระยะโฮวาให้เข้าส่วนในทางทั้งสิ้นของเรา?
▫ โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงชี้ทางเดินของเราให้แจ่มแจ้ง?
[รูปภาพหน้า 15]
ข่าวสารราชอาณาจักรที่ทำให้เกิดความปีติยินดีย่อมดึงดูดบุคคลผู้มีหัวใจสุจริต