พัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวา
สาวกยาโกโบเขียนว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) และดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวาย่อมมีอยู่แก่คนที่เกรงกลัวพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:14, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประสงค์ให้เรามีสัมพันธภาพที่สนิทสนมใกล้ชิดกับพระองค์. กระนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่นมัสการพระเจ้าและปฏิบัติตามกฎหมายของพระองค์จะมีความรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์เสมอไป.
คุณล่ะเป็นอย่างไร? คุณมีสัมพันธภาพส่วนตัวใกล้ชิดกับพระเจ้าไหม? ไม่ต้องสงสัย คุณต้องการเข้าใกล้พระองค์. เราจะพัฒนาความสนิทสนมกับพระเจ้าได้โดยวิธีใด? เรื่องนี้จะมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา? บทสามของพระธรรมสุภาษิตมีคำตอบให้เรา.
จงแสดงความรักกรุณาและความจริงให้ปรากฏ
กษัตริย์ซะโลโมแห่งยิศราเอลโบราณเริ่มต้นพระธรรมสุภาษิตบทสามด้วยถ้อยคำเหล่านี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, อย่าลืมโอวาทของเรา; แต่จงให้ใจของเจ้ารักษาบัญญัติทั้งหลายของเรา: เพราะว่าบัญญัตินั้นจะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิตของเจ้า, กับสันติสุขให้แก่เจ้า.” (สุภาษิต 3:1, 2) เนื่องจากกษัตริย์ซะโลโมเขียนโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้า คำแนะนำเชิงบิดาสอนบุตรเช่นนี้ จริง ๆ แล้วก็มาจากพระยะโฮวาพระเจ้า และมุ่งสู่พวกเราโดยตรง. จากข้อคัมภีร์เหล่านี้เราได้รับคำแนะนำให้ยึดถือข้อเตือนใจจากพระเจ้า—ข้อกฎหมาย, หรือคำสอน, และข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระองค์—ที่ได้รับการบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. หากเราทำเช่นนั้น ข้อเตือนใจเหล่านี้ “จะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิต . . . กับสันติสุข” ให้เรา. ใช่แล้ว แม้แต่เวลานี้เราสามารถชื่นชมกับชีวิตที่สงบสุขได้ และสามารถหลีกเลี่ยงการมุ่งแสวงหาอันอาจนำเราตกเข้าสู่อันตรายเสียชีวิตก่อนกาลอันควร อย่างที่มักจะเกิดขึ้นกับคนประพฤติชั่ว. ยิ่งกว่านั้น เรายังมีความหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ที่สงบสุข.—สุภาษิต 1:24-31; 2:21, 22.
ซะโลโมตรัสต่อไปว่า “อย่าให้ความกรุณา [“ความรักกรุณา,” ล.ม.] และความจริงละจากตัวเจ้าไป: จงผูกความกรุณาและความจริงไว้รอบคอของเจ้า; จงจารึกไว้ที่ดวงใจของเจ้า; ดังนั้นแหละเจ้าจะได้พบการสงเคราะห์และชื่อเสียงดีเฉพาะพระเนตรพระเจ้าและต่อตามนุษย์.”—สุภาษิต 3:3, 4.
คำ “ความรักกรุณา” ในภาษาเดิมได้รับการแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ความรักภักดี” และเกี่ยวโยงกับความซื่อสัตย์, ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน, และความภักดี. เราตั้งใจแน่วแน่จะติดสนิทกับพระยะโฮวาไหมไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น? เราสำแดงความรักกรุณาไหมในสายสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมความเชื่อ? เราพยายามจะใกล้ชิดสนิทสนมกับพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ ไหม? แต่ละวันที่เราติดต่อเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมความเชื่อ แม้เมื่ออยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบาก เราให้ ‘กฎแห่งความรักกรุณาอยู่ที่ลิ้นของเรา’ เสมอไหม?—สุภาษิต 31:26.
พระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยความรักกรุณาอุดมเหลือล้น พระองค์จึง “พร้อมจะให้อภัย.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) หากเราสำนึกผิดและกลับใจจากการบาปในอดีตและบัดนี้จัดทางเดินของเราให้ตรง เรามีคำรับรองว่า “วาระแห่งความสดชื่น” จะมาจากพระยะโฮวา. (กิจการ 3:19, ล.ม.) เราน่าจะเลียนแบบพระเจ้าของเรามิใช่หรือในการให้อภัยคนอื่นเนื่องด้วยการผิดของเขา?—มัดธาย 6:14, 15.
พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” และพระองค์ทรงประสงค์ “ความจริง” จากบรรดาชนที่แสวงหาเพื่อจะใกล้ชิดสนิทกับพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 31:5) เราคาดหมายได้จริง ๆ ไหมว่าพระยะโฮวาจะเป็นมิตรของเราถ้าเราเป็นคนตีสองหน้า—ประพฤติแบบหนึ่งเมื่ออยู่ต่อหน้าเพื่อนคริสเตียน และลับหลังประพฤติอีกแบบหนึ่ง—เหมือน “คนอสัตย์” ปิดบังอำพรางคนอื่นไม่ให้รู้ว่าตนเป็นคนชนิดใด? (บทเพลงสรรเสริญ 26:4, ล.ม.) คงจะเป็นความโง่เขลาสักเพียงไรที่ทำเช่นนั้น เนื่องจาก “สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตร” ของพระยะโฮวา!—เฮ็บราย 4:13.
อาจประเมินค่าความรักกรุณาและความสัตย์จริงเสมอกับสร้อยอันล้ำค่าที่ ‘คล้องรอบคอของเรา’ เพราะว่าเป็นสิ่งเสริมให้เรา ‘พบการสงเคราะห์เฉพาะพระเนตรพระเจ้าและต่อตามนุษย์.’ เราต้องไม่เพียงแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ให้ปรากฏภายนอกเท่านั้น แต่ต้องจารึกไว้ที่ ‘ดวงใจของเรา’ ทำให้คุณลักษณะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งบุคลิกอันแท้จริงของเรา.
ปลูกฝังความไว้วางใจเต็มที่ในพระยะโฮวา
กษัตริย์ผู้สุขุมทรงกล่าวต่อดังนี้: “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”—สุภาษิต 3:5, 6.
เป็นที่แน่นอนว่า พระยะโฮวาสมควรได้รับความไว้วางใจเต็มที่จากพวกเรา. ในฐานะเป็นพระผู้สร้าง พระองค์ทรงมี “กำลังแข็งขัน” และเป็นแหล่ง “พลังงานพลวัต.” (ยะซายา 40:26, 29, ล.ม.) พระองค์ทรงสามารถดำเนินการทุกอย่างให้ลุล่วงตามที่ทรงมุ่งหมาย. ทั้งนี้เพราะพระนามของพระองค์ตามตัวอักษรหมายความว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น” และข้อนี้เองสร้างความมั่นใจแก่เราเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการทำให้สำเร็จตามที่ได้ทรงสัญญาไว้! ข้อเท็จจริงที่ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา” ทำให้พระองค์เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศในด้านความสัตย์จริง. (เฮ็บราย 6:18, ล.ม.) ความรักเป็นคุณลักษณะโดดเด่นของพระองค์. (1 โยฮัน 4:8) พระองค์ “ทรงชอบธรรมในทางทั้งปวงของพระองค์ และภักดีในกิจการทั้งสิ้นของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:17, ล.ม.) ถ้าเราไว้ใจพระเจ้าไม่ได้ เราจะไว้ใจใครได้ล่ะ? จริงอยู่ ที่จะปลูกฝังความไว้วางใจในพระองค์ เราต้อง “ชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ” โดยนำสิ่งที่เราเรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในชีวิตส่วนตัวของเรา และโดยการใคร่ครวญดูผลดีที่เกิดขึ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 34:8.
โดยวิธีใดเราจะ ‘รับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเรา’? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้รับการดลใจให้กล่าวดังนี้: “ข้าพเจ้าจะใคร่ครวญดูบรรดากิจการของพระองค์ด้วย, และจะรำพึงถึงกิจการที่พระองค์ได้ทรงกระทำนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 77:12) เนื่องจากพระเจ้าไม่เป็นที่ประจักษ์ การใคร่ครวญดูพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และวิธีดำเนินการของพระองค์กับไพร่พลของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระองค์.
อนึ่ง การอธิษฐานเป็นแนวทางสำคัญในการรับพระยะโฮวาให้เข้าส่วนในทางของเรา. กษัตริย์ดาวิดได้เฝ้าร้องทูลถึงพระยะโฮวา “ตลอดวันยังค่ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:3, ล.ม.) บ่อยครั้งดาวิดทูลอธิษฐานตลอดคืนยังรุ่ง เช่น ในคราวที่ท่านลี้ภัยอยู่ในป่ากันดาร. (บทเพลงสรรเสริญ 63:6, 7) อัครสาวกเปาโลได้กระตุ้นเตือนว่า “จงทูลอธิษฐานต่อไปด้วยพระวิญญาณในทุกโอกาส.” (เอเฟโซ 6:18, ล.ม.) เราอธิษฐานบ่อยแค่ไหน? เรารู้สึกชื่นชมยินดีไหมเมื่อเราเองได้สื่อความกับพระเจ้าจากใจจริง? เมื่อประสบสภาพการณ์ที่ยากลำบาก เราทูลวิงวอนขอพระองค์ช่วยเราไหม? เราอธิษฐานเพื่อแสวงการชี้นำจากพระองค์ไหมก่อนจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ? การทูลอธิษฐานด้วยความจริงใจต่อพระยะโฮวาทำให้เราเป็นที่รักของพระองค์. และเราได้รับคำรับรองว่าพระองค์จะสดับคำอธิษฐานของเราและ ‘ชี้ทางเดินของเราให้แจ่มแจ้ง.’
นับว่าไม่ฉลาดเสียเลยที่จะ “พึ่งในความเข้าใจของตนเอง” หรือพึ่งผู้คนของโลกที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเมื่อเราสามารถวางใจพระยะโฮวาได้เต็มที่! ซะโลโมกล่าวว่า “อย่าอวดว่าตนเป็นคนฉลาด.” ในทางตรงกันข้าม ท่านได้ตักเตือนดังนี้: “จงยำเกรง [“เกรงกลัว,” ล.ม.] พระยะโฮวา, และละจากความชั่ว. นั่นแหละจะเป็นสุขภาพแก่ร่างกายของเจ้า, และสดชื่นแก่กะดูกของเจ้า.” (สุภาษิต 3:7, 8) ความเกรงกลัวว่าจะทำให้พระเจ้าไม่ชอบพระทัยน่าจะควบคุมการกระทำทุกอย่างของเรา ทั้งความคิดและอารมณ์ของเรา. ความเกรงกลัวด้วยความเคารพนับถือเช่นนั้นป้องกันเราที่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี และเป็นการเยียวยาฝ่ายวิญญาณพร้อมทั้งยังความสดชื่น.
ถวายสิ่งดีที่สุดแด่พระยะโฮวา
ด้วยวิธีอื่นอะไรบ้างที่เราจะเข้าใกล้พระเจ้าได้? กษัตริย์ทรงแนะนำว่า “จงถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของเจ้า, และด้วยผลแรกทั้งหมดที่เพิ่มพูนแก่เจ้านั้น.” (สุภาษิต 3:9) การถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาหมายถึงการแสดงความเคารพอย่างสูงและเทิดทูนพระองค์อย่างเปิดเผยโดยเข้าส่วนร่วมและสนับสนุนการประกาศพระนามของพระองค์แก่สาธารณชน. ทรัพย์มีค่าที่เราใช้เพื่อถวายเกียรติพระยะโฮวาได้แก่เวลาที่เรามีอยู่, ความสามารถพิเศษของเรา, กำลังวังชาและวัตถุปัจจัยของเรา. สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นผลแรก หรือสิ่งดีที่สุดของเรา. วิธีที่เราใช้ทรัพยากรส่วนตัวควรสะท้อนถึงความตั้งใจจะ ‘แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระเจ้าก่อนเสมอไป’ มิใช่หรือ?—มัดธาย 6:33, ล.ม.
การถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์สิ่งของอันมีค่าของเราจะไม่ขาดบำเหน็จ. ซะโลโมทรงรับรองว่า “เมื่อกระทำเช่นนั้นแล้วยุ้งฉางของเจ้าจะเต็มบริบูรณ์, และถังของเจ้าจะเปี่ยมล้นด้วยน้ำองุ่นสด.” (สุภาษิต 3:10) แม้ความเจริญมั่งคั่งฝ่ายวิญญาณในตัวมันเองไม่ทำให้ร่ำรวยทางวัตถุก็ตาม แต่การใช้ทรัพยากรของเราอย่างใจกว้างเพื่อถวายพระเกียรติพระยะโฮวาย่อมได้รับพระพรอุดม. การกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็น “อาหาร” ยังชีพสำหรับพระเยซู. (โยฮัน 4:34) ทำนองเดียวกัน การมีส่วนร่วมในงานประกาศสั่งสอนและงานทำให้คนเป็นสาวกซึ่งถวายเกียรติยศแด่พระเจ้าก็เป็นอาหารบำรุงเลี้ยงเราเช่นกัน. ถ้าเรายืนหยัดในงานนี้ คลังเสบียงอาหารฝ่ายวิญญาณของเราจะเต็มบริบูรณ์. ความชื่นชมยินดีของเรา—ซึ่งเหล้าองุ่นใหม่หมายถึง—จะไหลล้น.
อนึ่ง เราหมายพึ่งพระยะโฮวาและทูลขอพระองค์โปรดให้มีอาหารพอเพียงสำหรับร่างกายในแต่ละวันด้วยมิใช่หรือ? (มัดธาย 6:11) ที่จริง สิ่งสารพัดที่เรามีอยู่ เราได้รับจากพระบิดาทางภาคสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก. พระยะโฮวาจะทรงหลั่งพระพรต่อ ๆ ไปตราบเท่าที่เราใช้ทรัพย์อันมีค่าของเราเพื่อถวายการสรรเสริญแด่พระองค์.—1 โกรินโธ 4:7.
ยินดีรับการตีสอนจากพระยะโฮวา
เมื่อชี้ถึงความสำคัญของการตีสอนเพื่อจะได้เข้ามาใกล้ชิดกับพระยะโฮวา กษัตริย์แห่งยิศราเอลแนะนำพวกเราว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย, อย่าประมาทต่อบทวินัยของพระยะโฮวา; และอย่าอ่อนระอาต่อการเตือนสอนของพระองค์: เพราะผู้ใดที่พระยะโฮวาทรงรักพระองค์ทรงเตือนสอนผู้นั้น, เช่นบิดากระทำต่อบุตรที่ตนชื่นชม.”—สุภาษิต 3:11, 12.
แม้ว่าอาจไม่ง่ายที่เราจะรับการตีสอน. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้อย่างนี้ “ไม่มีการตีสอนใดดูเหมือนน่าชื่นใจเมื่อได้รับอยู่ แต่น่าเศร้าใจ; กระนั้นในภายหลังผู้ที่ได้รับการฝึกโดยการตีสอนก็ได้ผลที่ก่อให้เกิดสันติสุข คือความชอบธรรม.” (เฮ็บราย 12:11, ล.ม.) การว่ากล่าวและการตีสอนเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นของการฝึกอบรมซึ่งทำให้เราใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งขึ้น. การแก้ไขจากพระยะโฮวา—ไม่ว่าเราจะได้รับจากบิดามารดา, จากประชาคมคริสเตียน, หรือจากการใคร่ครวญข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ระหว่างที่เราศึกษาส่วนตัว—แสดงถึงความรักที่พระองค์มีต่อพวกเรา. นับว่าสุขุมที่จะตอบรับการตีสอน.
ยึดถือสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจไว้ให้ได้
ต่อจากนั้น ซะโลโมเน้นความสำคัญของสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจในการพัฒนาสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้า. ท่านแถลงดังนี้: “ความผาสุกมีแก่คนนั้นที่พบพระปัญญา, และแก่คนนั้นที่รับความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.]. เพราะว่าการหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์. . . . พระปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่คนนั้น ๆ ที่ฉวยเอาพระองค์ไว้ได้: และทุกคนที่ยึดถือพระองค์ไว้นั้นก็จะมีความผาสุก.”—สุภาษิต 3:13-18.
เพื่อเตือนเราให้นึกถึงการสำแดงสติปัญญาและความสังเกตเข้าใจที่มีอยู่ในราชกิจอันน่าพิศวงเกี่ยวกับการสร้างของพระยะโฮวา กษัตริย์ตรัสว่า “โดยพระปัญญานั้นเองพระยะโฮวาได้ทรงประดิษฐานโลกไว้; โดยความเข้าใจ [“การสังเกตเข้าใจ,” ล.ม.] นั่นเองพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งฟ้าสวรรค์. . . . ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงสงวนพระปัญญาอันเลิศและความสุขุมรอบคอบไว้: อย่าพ้นจากสายตาของเจ้าไป; เพื่อว่าจะได้เป็นชีวิตแก่วิญญาณของเจ้า, และเป็นคุณประดับคอของเจ้า.”—สุภาษิต 3:19-22.
สติปัญญาและการสังเกตเข้าใจเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า. เราไม่เพียงต้องการจะพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้ แต่จะยึดถือไว้ด้วย โดยที่เราจะไม่ย่อหย่อนในการศึกษาพระคัมภีร์อย่างแข็งขัน และการใช้สิ่งที่เราเรียน. ซะโลโมตรัสต่อไปว่า “ขณะนั้นเจ้าจะดำเนินอยู่ในทางของเจ้าโดยปลอดภัย และเท้าของเจ้าจะมิได้สะดุด.” ท่านเสริมดังนี้: “เมื่อเจ้าเอนหลัง, เจ้าจะไม่ต้องวิตก: เออ, ยามเจ้านอนลง, ความหลับของเจ้าจะสดชื่น.”—สุภาษิต 3:23, 24.
ใช่ เราจะเดินอยู่ในเส้นทางที่ปลอดภัยและนอนหลับด้วยใจสงบขณะที่เราเฝ้าระวังวันที่คืบใกล้เข้ามานั้นเหมือนขโมยดอดมา ซึ่งจะเกิด “ความพินาศโดยฉับพลัน” แก่โลกชั่วของซาตาน. (1 เธซะโลนิเก 5:2, 3, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) แม้แต่ระหว่างความทุกข์ลำบากใหญ่ซึ่งจวนจะมาถึงอยู่แล้ว เราสามารถมีคำรับรองดังนี้: “อย่าวิตกถึงเหตุน่ากลัวอันจะเกิดขึ้นฉับพลัน, หรือวิตกถึงพายุแห่งความพินาศของคนชั่วอันจะเกิดขึ้น; เพราะว่าพระยะโฮวาจะเป็นที่ไว้วางใจของเจ้า, และจะทรงรักษามิให้เท้าของเจ้าพลาดพลั้งไป.”—สุภาษิต 3:25, 26; มัดธาย 24:21.
จงกระทำการดี
ซะโลโมทรงตักเตือนว่า “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น, ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้.” (สุภาษิต 3:27) การทำดีต่อผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรของเราด้วยน้ำใจเผื่อแผ่เพื่อประโยชน์แก่คนเหล่านั้น และการทำดีมีหลายแง่มุม. แต่การช่วยผู้อื่นให้มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระเจ้าเที่ยงแท้เป็นสิ่งดีที่สุดซึ่งเราสามารถทำเพื่อพวกเขาได้ในช่วง “เวลาอวสาน” นี้มิใช่หรือ? (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ดังนั้น วันเหล่านี้ในสมัยอวสานเป็นช่วงเวลาอันเหมาะที่จะแสดงความกระตือรือร้นทำการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก.—มัดธาย 28:19, 20.
อนึ่ง กษัตริย์ผู้สุขุมองค์นี้ยังจัดเอากิจปฏิบัติบางอย่างเข้าในรายการที่พึงหลีกเลี่ยง โดยตรัสว่า “อย่าพูดกับเพื่อนบ้านของเจ้าว่า, ‘ไปก่อนเถอะแล้วค่อยมาอีกที, พรุ่งนี้เถอะฉันจะให้,’ ในเมื่อเจ้ามีสิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัวของเจ้า. อย่าคิดทำร้ายเพื่อนบ้านของเจ้า, เห็นแล้วว่าเขารู้สึกว่าปลอดภัยที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเจ้า. อย่าหาเหตุทะเลาะกับผู้ใด, เมื่อเขามิได้ทำอันตรายอย่างใดแก่เจ้า. อย่าอิจฉาคนห้าว, และอย่าเลือกทางประพฤติของเขาไว้.”—สุภาษิต 3:28-31.
ในการสรุปเหตุผลที่ท่านให้คำแนะนำ ซะโลโมทรงกล่าวว่า “เพราะผู้หลงผิดเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา; แต่ทรงเป็นมิตรกับคนตรง. การสาปสรรของพระยะโฮวาตกอยู่ในเรือนของคนชั่วร้าย; แต่พระองค์ทรงอวยพระพรต่อบ้านเรือนของผู้ชอบธรรม. พระองค์ทรงประมาทเยาะเย้ยผู้ประมาทเยาะเย้ยเป็นแน่; แต่พระราชทานพระคุณต่อผู้ถ่อมตัวลง. คนมีปัญญาจะได้สง่าราศีเป็นมรดก, แต่ความอับอายขายหน้าจะเป็นรางวัลสำหรับคนโง่.”—สุภาษิต 3:32-35.
หากเราจะประสบความชื่นชมด้วยการสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวา เราต้องไม่คิดทำร้ายและกะการชั่วที่ก่ออันตราย. (สุภาษิต 6:16-19) ถ้าเราทำแต่สิ่งถูกต้องในคลองพระเนตรของพระยะโฮวา เราย่อมได้รับความโปรดปรานและพระพรจากพระองค์. เรายังอาจได้รับเกียรติโดยที่เราไม่ได้แสวงหา เมื่อคนอื่นสังเกตเห็นว่าเราได้ประพฤติประสานกับสติปัญญาของพระเจ้า. ดังนั้น ให้เราปฏิเสธแนวทางชั่วและความรุนแรงของโลกนี้. โดยแท้แล้วขอให้เรามุ่งติดตามแนวทางชอบธรรมและพัฒนาความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป!
[ภาพหน้า 25]
“จงถวายเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ทั้งหลายของเจ้า”