‘การค้นหาถ้อยคำหวานหูและถูกต้อง’
“ท่านผู้ประกาศค้นหาได้ถ้อยคำหวานหู และที่เขียนไว้แล้วนี้ได้เขียนอย่างตรงถูกต้อง.” (ท่านผู้ประกาศ 12:10) ‘ถ้อยคำหวานหู และถูกต้อง’ ซึ่งอาศัยพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลบันดาลนี้ ช่างมีค่ามากเพียงไร! มีการเปรียบถ้อยคำเช่นนี้กับ “ผลแอ็ปเปิลทองในกระเช้าเงิน” ซึ่งงามวิจิตรและสูงค่าในทุกโอกาส และประมาณค่ามิได้ในยามที่ยากลำบาก.—สุภาษิต 25:11.
ในสมัยของเรานี้ พระเยซูคริสต์ ท่านผู้ประกาศที่ยิ่งใหญ่กว่าได้จัดเตรียมโภคทรัพย์ฝ่ายวิญญาณไว้มากมายเกินกว่าที่พลไพร่ของพระเจ้าได้ชื่นชมในคราวที่อยู่ภายใต้การครอบครองโดยกษัตริย์ยิศราเอลในสมัยโบราณเสียอีก. (มัดธาย 12:42) มากกว่าหนึ่งร้อยปีแล้วที่ถ้อยคำแห่งความจริงอันหวานหูและถูกต้องซึ่งครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิตได้มีการเสนอออกมาในรูปของสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของสมาคมวอชเทาเวอร์และได้จำหน่ายจ่ายแจกออกไปอย่างกว้างขวางในภาษาต่าง ๆ มากมาย. ด้วยเหตุนั้น จึงมีทั้งปัจเจกชนและครอบครัวจำนวนมากสามารถสะสมผลงานค้นคว้าอ้างอิงที่เชื่อถือได้ซึ่งเน้นเรื่องพระคัมภีร์ไว้ในห้องสมุดในบ้านของตนได้. นอกจากนี้ ประชาคมส่วนใหญ่ของพวกพยานพระยะโฮวาก็มีห้องสมุดอันดีเยี่ยมเพื่อใช้ประโยชน์ ณ หอประชุมของเขา.
อย่างไรก็ตาม การจะพบถ้อยคำอันหวานหูและถูกต้องที่จำเป็นสำหรับสภาพการณ์เฉพาะอย่างนั้นยังเรียกร้องให้มีการค้นคว้าสืบเสาะ. โดยตระหนักถึงเรื่องนี้ นับตั้งแต่ตอนเริ่มต้น สมาคมวอชเทาเวอร์ได้จัดพิมพ์หนังสือดัชนีสำหรับสรรพหนังสือของสมาคมขึ้น.—ดูที่กรอบหน้า 28 และ 29.
นโยบายใหม่
ปี 1985 ได้เริ่มต้นบทใหม่ในประวัติการณ์ของดัชนีสรรพหนังสือของสมาคมวอชเทาเวอร์. หนังสือดัชนี เก้าเล่มก่อนถูกรวบรวมเข้ามาและทำให้สอดคล้องกัน รวมเป็นเล่มเดียวที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 1930 จนถึงปี 1985 ซึ่งเป็นโครงการ ถ้าคนเดียวจะทำเขาจะต้องใช้ความพยายามถึง 14 ปีเต็ม. ผลประโยชน์ที่ได้จากหนังสือดัชนี ที่รวมเป็นเล่มเดียวซึ่งประกอบด้วยดัชนีของหลายปีนั้นได้นำไปสู่นโยบายใหม่ในปี 1986 นั่นคือการจัดพิมพ์ดัชนี แบบสะสมต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา. แต่ละปี ตามปกติในช่วงสี่ปีต่อเนื่องกัน ดัชนี เล่มเล็กที่ออกต่อเนื่องกันจะประกอบด้วยหนึ่งปี สองปี สามปี และสี่ปี. ทุกห้าปี จะรวบรวมดัชนี ทั้งหมดนับจากปี 1986 มา เป็นดัชนี ที่เป็นปกแข็งเช่นดัชนี 1986–1990, ดัชนี 1986–1995 และรวบรวมต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ. ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องค้นหาจากดัชนี มากกว่าสามเล่ม คือ ดัชนี 1930–1985, ดัชนี ปกแข็งล่าสุด และดัชนี เล่มเล็กล่าสุดเท่านั้น.
หนังสือดัชนี ได้รับการจัดเตรียมขึ้นด้วยการคำนึงถึงคุณ
ส่วนแรกในดัชนี แต่ละเล่มคือดัชนีหัวเรื่อง. ในการเตรียมดัชนีหัวเรื่องแต่ละเรื่อง มีการคำนึงถึงปัญหาสองข้อคือ: (1) รายละเอียดอะไรที่ควรรวบรวมไว้ในดัชนี? (2) คนเราจะค้นหารายละเอียดนั้น ๆ ได้ที่ไหน?
ในฐานะผู้อ่าน คุณคงไม่ค่อยสนใจในการค้นหาคำอธิบายปลีกย่อยทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่อง ๆ หนึ่ง. เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคุณคงมองหารายละเอียดที่สำคัญและมีประโยชน์จริง ๆ เท่านั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่เลือกไว้เพื่อการทำดัชนี. แต่ข้อมูลเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องยืดยาว. ดัชนี รายการหนึ่ง ๆ อาจอ้างถึงสั้น ๆ เพียงหนึ่งประโยค เช่นข้อกำหนดเกี่ยวกับนโยบายของสมาคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง. หรือไม่ก็อาจครอบคลุมบทความทั้งเรื่อง หรือแม้กระทั่งหนังสือทั้งเล่ม. แต่ตามปกติแล้ว รายการนั้นจะนำสู่คำอธิบายหลายวรรค.
ปัญหาที่ว่าข้ออ้างอิงต่าง ๆ ควรอยู่ที่ไหนในหนังสือดัชนี ก็เป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กัน เนื่องจากผู้อ่านมีความคิดต่างกันไปและจะดูที่คนละหัวข้อ. ตัวอย่างเช่น รายละเอียดเกี่ยวกับหอบาเบลนั้นมีอยู่ที่หัวข้อหอบาเบล. แต่ผู้อ่านบางคนอาจมองหาที่หัวข้อบาบูโลน, โบราณคดี หรือ ภาษาต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับแง่มุมของเรื่องที่พวกเขาสนใจ. ฉะนั้น จึงมีการพยายามให้มีข้ออ้างอิงซ้ำอีกในหัวข้อต่าง ๆ ที่เหมาะสมหลายแห่ง โดยคำนึงอยู่เสมอว่าผู้อ่านทั้งหลายมีวัยและพื้นเพแตกต่างกันไป และมีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน.
วิธีที่ดัชนี ช่วยคุณได้
เช่นเดียวกับแผนที่ ดัชนี จะช่วยคุณได้ก็ต่อเมื่อคุณใช้มัน. สิ่งใดที่คุณคาดว่าจะพบทั้งในดัชนีหัวเรื่องหรือในส่วนของดัชนีข้อพระคัมภีร์ซึ่งอยู่ในตอนหลัง?
ข้ออ้างอิงในส่วนดัชนีข้อพระคัมภีร์นั้นเป็นข้อมูลที่อธิบายข้อคัมภีร์แต่ละข้อ. คุณอาจพบคำอธิบายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมซึ่งถ้อยคำในข้อคัมภีร์นั้นมีการกล่าวไว้, เหตุผลของการเขียน, กล่าวถึงผู้ใด หรือความหมายของแต่ละถ้อยคำหรือวลี. ตัวอย่างหนึ่งอาจเป็นคำทูลขอในคำอธิษฐานอันเป็นแบบฉบับของพระเยซูที่ว่า “ขออย่านำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง.” (มัดธาย 6:13) ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น? ดัชนีข้อพระคัมภีร์จะช่วยคุณให้พบเหตุผลนั้น.
ดัชนีหัวเรื่องดังที่ชื่อก็บ่งความหมายอยู่แล้วเป็นดัชนีที่ชี้ถึงหัวเรื่องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ถ้อยคำหรือวลี. ผู้อ่านบางคนมีความยุ่งยากในการค้นหาเรื่องหนึ่งเมื่อพยายามจะค้นหาโดยดูชื่อเรื่อง. อาจเกิดปัญหานี้ขึ้นเมื่อไม่มีคำไหนในชื่อเรื่องที่ระบุถึงหัวเรื่องนั้น. ตัวอย่างหนึ่งอาจเป็นบทความ “แค่ไหนถึงจะถือว่ามากเกินไป?” ซึ่งพิจารณาผลกระทบของแอกอฮอล์. โดยนึกถึงเรื่องราวในบทความนั้น คุณอาจเปิดไปที่หัวเรื่องเครื่องดื่มประเภทแอกอฮอล์หรือการดื่มในดัชนี แล้วคุณจะพบว่ามีข้ออ้างอิงถึงเรื่องนี้ที่นั่น.
หนังสือดัชนี อาจมีคุณค่ามากเป็นพิเศษในการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่คุณอาจเผชิญ. ยกตัวอย่าง หากคุณเป็นบิดามารดา บางครั้งคุณรู้สึกท้อแท้ใจไหมในความพยายามต่าง ๆ เพื่อการอบรมสั่งสอนและชี้นำบุตรของคุณ? ภายใต้หัวเรื่องบุตร คุณจะพบข้ออ้างอิงถึงหลายสิ่งที่ให้ความหยั่งเห็นเข้าใจในความคิด, ความรู้สึก และความต้องการของพวกเขา. แต่ภายใต้หัวเรื่องการฝึกอบรมบุตรคุณจะพบข้ออ้างอิงเพื่อการสอนและการอบรมบุตรในทุกแง่ทุกมุม.
บางครั้งสมาคมวอชเทาเวอร์ได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาชีวิตสมรสหรือคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ทางเพศบางอย่างในชีวิตสมรส. ขณะที่สมาคมอาจตอบปัญหานั้น ๆ ได้ คำแนะนำที่ฉับไวและใช้การได้อย่างเดียวกันอาจหาพบได้โดยการเปิดไปที่หัวเรื่องการสมรส พร้อมด้วยหัวเรื่องย่อย “ปัญหา” และ “เพศ” หรือ “ความสัมพันธ์ทางเพศ” และมองหาข้ออ้างอิงที่มีจัดไว้.
ยังมีจดหมายอีกหลายฉบับที่ได้รับจากคนที่ประสบความซึมเศร้าหรือความทุกข์ทางใจ. การให้คำรับรองหรือการช่วยเหลือที่จัดให้โดยทางจดหมายนั้น อาจพบได้เร็วกว่าในห้องสมุดส่วนตัวของคุณหรือที่หอประชุมที่คุณสมทบอยู่ โดยการตรวจดูในหัวเรื่องความซึมเศร้าและโรคจิตในหนังสือดัชนี. บทความที่อธิบายถึงวิธีการจะรับมือกับโรคจิต, การรักษาที่จะหาได้ และประสบการณ์ที่น่าจับใจของคนเหล่านั้นที่เคยซึมเศร้ามาแล้วก็ได้มีอ้างอิงไว้ที่นั่น.
คุณเป็นเยาวชนไหม? คุณอาจเป็นกังวลเกี่ยวกับการสมรส, ชีวิตครอบครัว, การเรียน, ความสัมพันธ์ของคุณกับบิดามารดา และอื่น ๆ. หัวเรื่องหลักเยาวชนมีข้ออ้างอิงถึงหัวเรื่องย่อยทั้งหมดนี้และมากกว่านั้นอีก. นอกจาก หัวเรื่องอย่างเช่น ความสัมพันธ์, การเรียน, อาชีพ และการติดต่อฝากรักก็มีคำแนะนำมากมาย. สำหรับการทำรายงานในโรงเรียน หนังสือดัชนี สามารถช่วยให้คุณมีข้อมูลอันดีเยี่ยมเกี่ยวกับธรรมชาติ, วิทยาศาสตร์, ยา, เศรษฐกิจ และหัวเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย.
เป็นประโยชน์แก่คนทุกวัย
สตรีอายุ 81 ปีคนหนึ่งเขียนมาว่า “หนังสือและวารสารต่าง ๆ เป็นขุมทองแห่งข้อมูลและการเสริมกำลังฝ่ายวิญญาณ—และหนังสือดัชนี นำทองนั้นขึ้นมาบนผิวดิน.” มารดาคนหนึ่งซึ่งมีบุตรอายุแปดขวบกับเก้าขวบกล่าวว่า “ตอนนี้ดิฉันสงสัยว่าฉันเคยอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีหนังสือนี้. หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ดิฉันพบคำตอบสำหรับคำถามหลายข้อที่ดิฉันเคยสงสัยมานานและได้ทำให้การค้นคว้าในระหว่างการเตรียมตัวสำหรับการประชุมประจำประชาคมง่ายขึ้นมาก. . . . ดิฉันใคร่จะบอกคุณเช่นกันว่าหนังสือเล่มนี้ได้ช่วยในการศึกษาประจำครอบครัวของเราด้วย. . . . เมื่อสามีดิฉันให้โอกาสลูกสาวของเราทำในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ เขามักต้องการจะทำการค้นคว้าโดยใช้หนังสือดัชนี เล่มนี้. พวกเขาเพลิดเพลินกับการเลือกเอาเรื่องที่เขาสนใจขึ้นมา อย่างเช่นเรื่องสัตว์ที่เขาชอบหรือประเทศต่าง ๆ และพวกเขาสามารถค้นหารายละเอียดได้ด้วยการช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น. การเช่นนั้นยังได้สอนพวกเขาด้วยว่าการศึกษาพระคัมภีร์นั้นเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลิน.
การค้นหาเพื่อจะได้ถ้อยคำแห่งความจริงอันหวานหูและถูกต้องนั้นมีผลตอบแทนอันประมาณค่ามิได้. ความพยายามของท่านผู้ประกาศได้จัดให้มีผลประโยชน์มากมายเกินกว่าที่ท่านได้ประสงค์ในตอนแรก เพราะว่าถ้อยคำเหล่านั้นได้มีการใช้เพื่อหนุนใจและชี้นำบรรดาผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจนถึงทุกวันนี้. ความพยายามอย่างคล้าย ๆ กันของเราก็จะนำมาซึ่งพระพรจากพระยะโฮวาเช่นกัน พร้อมด้วยผลลัพธ์ซึ่งอาจดำรงอยู่ตลอดกาล.—สุภาษิต 3:13-18, 21–26.
[กรอบ/รูปภาพหน้า]
หนังสือดัชนีเล่มแรก ๆ
ในปี 1902 พระคัมภีร์ฉบับปรับปรุงใหม่ที่จัดพิมพ์เป็นพิเศษของโฮลแมน พารัลเลลได้มีการผลิตออกมาสำหรับสมาคมวอชเทาเวอร์ และได้มีบรรจุไว้ด้วยสิ่งช่วยเหลือมากมายซึ่งสมาคมได้จัดให้มีขึ้น. ในภาคผนวกของหนังสือนี้มีทั้งดัชนีหัวเรื่องและดัชนีข้อพระคัมภีร์สำหรับหนังสือชุดรุ่งอรุณแห่งรัชสมัยพันปี (ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อการศึกษาพระคัมภีร์), หนังสือเล่มเล็กที่สำคัญสองเล่ม และไซโอน วอชเทาเวอร์ สำหรับปี 1879–1901.
คัมภีร์ไบเบิลฉบับเบอเรียนแห่งปี 1907 และต่อจากนั้น ได้จัดให้มีดัชนีที่คล้ายกัน. ในปี 1922 ดัชนีเหล่านี้ถูกแทนโดยหนังสือดัชนีสำหรับหนังสือต่าง ๆ ของสมาคม. ดัชนีเหล่านี้ปรากฏอยู่ในวารสารวอชเทาเวอร์ ฉบับรวมเล่มเจ็ดชุดที่จัดพิมพ์อีก (1879–1919). จนกระทั่งทุกวันนี้หนังสือดัชนีเล่มหลังนี้เป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาข้อมูลที่ได้มีการเสนอไว้ในหนังสือต่าง ๆ เล่มแรก ๆ ของสมาคมวอชเทาเวอร์.
แต่สำหรับ 40 ปีต่อมา การค้นคว้าในหนังสือต่าง ๆ ที่ออกมาภายหลังปี 1919 นั้นจำต้องทำโดยใช้ดัชนีที่กระจายอยู่ในหน้าหลัง ๆ ของหนังสือต่าง ๆ และในวารสารฉบับสุดท้ายของแต่ละปี. แต่ในปี 1959 สมาคมได้ดำเนินโครงการสำคัญเพื่อจัดทำดัชนีหัวเรื่องและดัชนีข้อพระคัมภีร์สำหรับสิ่งพิมพ์ทุกอย่างขึ้นให้อยู่ในเล่มเดียวสำหรับสรรพหนังสือภาษาอังกฤษ. ได้มีการรวบรวมทีมงานขึ้น ซึ่งรวมทั้งสมาชิกแห่งคณะผู้ทำงานที่สำนักงานใหญ่ มิชชันนารีผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกิเลียด วอชเทาเวอร์ ไบเบิล และแม้กระทั่งผู้ดูแลเดินทางจากนิวยอร์กด้วย. หลังจากหนึ่งปีครึ่งของการใช้ความมุมานะพยายามของผู้ทำงานที่อุทิศตนเอง 18 คน ก็ได้มีการออกหนังสือดัชนีสรรพหนังสือของสมาคมวอชเทาเวอร์ เล่มแรก พร้อมด้วยส่วนที่ชี้แจงหัวเรื่องและอธิบายข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่ปี 1930 จนถึงปี 1960. นั่นเป็นการออกจำหน่ายครั้งแรกแก่หมู่ผู้เข้าร่วมที่ชื่นใจยินดี ณ การประชุมใหญ่ เหล่าผู้นมัสการที่เป็นเอกภาพ ในปี 1961.
นับแต่นั้นมา ดัชนีสรรพหนังสือของสมาคมวอชเทาเวอร์ ก็ได้มีออกมาทุกปีในภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยหนังสือดัชนี ที่เป็นหนังสือปกแข็งซึ่งออกอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ห้าปี.