“ท่านทั้งหลายได้ยินถึงความอดทนของโยบ”
“ท่านทั้งหลายได้ยินถึงความอดทนของโยบ, และได้เห็นแล้วว่าในที่สุดปลายนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาสักเท่าใด.”—ยาโกโบ 5:11.
1, 2. สามีภรรยาคู่หนึ่งในโปแลนด์เผชิญการทดลองอะไร?
ฮารัลด์ แอบต์ เป็นพยานพระยะโฮวาได้ไม่ถึงหนึ่งปีเมื่อกองทัพของฮิตเลอร์เข้ายึดเมืองดานซิก (ปัจจุบันคือเมืองกดันซค์) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโปแลนด์. แล้วสถานการณ์ก็เริ่มยุ่งยากจนถึงขั้นเป็นอันตรายสำหรับคริสเตียนแท้ที่อยู่ที่นั่น. ตำรวจลับเกสตาโปพยายามบังคับฮารัลด์ให้เซ็นเอกสารละทิ้งความเชื่อ แต่เขาปฏิเสธ. หลังจากถูกขังคุกอยู่หลายสัปดาห์ ฮารัลด์ถูกส่งตัวไปค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน ซึ่งเขาถูกขู่และทุบตีครั้งแล้วครั้งเล่าที่นั่น. เจ้าหน้าที่คนหนึ่งชี้ให้ดูปล่องไฟของเมรุเผาศพแล้วบอกฮารัลด์ว่า “หากแกยังขืนยึดมั่นในความเชื่อของแกอยู่ละก็ แกจะได้ขึ้นไปหาพระยะโฮวาของแกภายใน 14 วันนี้แหละ.”
2 เมื่อฮารัลด์ถูกจับกุม เอลซาภรรยาของเขากำลังให้นมลูกสาวอายุสิบเดือนอยู่. แต่เกสตาโปไม่ได้มองข้ามเอลซาไป. ไม่นานนัก ก็มีคนมาพรากลูกไปจากเธอและเธอถูกส่งตัวไปยังค่ายประหารชีวิตที่เอาชวิทซ์. แต่กระนั้น เธอรอดชีวิตมาได้ในช่วงหลายปีนั้น เช่นเดียวกับฮารัลด์. ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1980 (ภาษาอังกฤษ) คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาอดทน. ฮารัลด์เขียนไว้ว่า “รวมทั้งหมดแล้ว ผมใช้ชีวิต 14 ปีในค่ายกักกันและคุกต่าง ๆ เพราะความเชื่อในพระเจ้า. มีคนถามผมว่า ‘ภรรยาคุณมีส่วนช่วยให้คุณสามารถอดทนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไหม?’ เธอได้ช่วยผมมากจริง ๆ! ผมรู้ตั้งแต่แรกเลยว่าเธอจะไม่มีทางประนีประนอมความเชื่อของเธอ และการรู้อย่างนี้ช่วยค้ำจุนผมเอาไว้. ผมรู้ว่าเธออยากเห็นร่างผมที่ตายแล้วบนเปลหามมากกว่าจะเห็นผมถูกปล่อยเป็นอิสระเพราะยอมอะลุ่มอล่วย. . . . เอลซาอดทนความลำบากมากมายในช่วงเวลาหลายปีที่เธออยู่ในค่ายกักกันของเยอรมนี.”
3, 4. (ก) ตัวอย่างของใครสามารถช่วยหนุนใจคริสเตียนให้อดทน? (ข) เหตุใดคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราให้พิจารณาประสบการณ์ของโยบ?
3 การทนรับการชั่วร้ายไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ดังที่พยานฯ หลายคนยืนยันได้ในเรื่องนี้. ด้วยเหตุผลนี้ คัมภีร์ไบเบิลจึงแนะนำคริสเตียนทุกคนว่า “ในเรื่องการทนรับการชั่วร้ายและการอดกลั้นใจนั้น จงเอาแบบอย่างของพวกผู้พยากรณ์ที่ได้กล่าวในนามของพระยะโฮวา.” (ยาโกโบ 5:10, ล.ม.) ตลอดหลายศตวรรษ ผู้รับใช้พระเจ้าจำนวนมากถูกข่มเหงโดยไม่มีสาเหตุ. ตัวอย่างที่ “เมฆใหญ่แห่งพยาน” เหล่านี้ได้วางไว้สามารถหนุนใจเราให้วิ่งต่อไปด้วยความอดทนในการวิ่งแข่งของคริสเตียน.—เฮ็บราย 11:32-38; 12:1, ล.ม.
4 ตามบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล โยบเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในเรื่องความอดทน. ยาโกโบเขียนว่า “นี่แน่ะ เราทั้งหลายเคยถือว่าท่านเหล่านั้นที่อดทนก็เป็นสุข ท่านทั้งหลายได้ยินถึงความอดทนของโยบ, และได้เห็นแล้วว่าในที่สุดปลายนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาสักเท่าใด.” (ยาโกโบ 5:11) ประสบการณ์ของโยบช่วยเราให้พอมองเห็นภาพของรางวัลที่คอยท่าอยู่สำหรับเหล่าผู้ซื่อสัตย์ซึ่งพระยะโฮวาทรงอวยพร. สำคัญยิ่งกว่านั้น ประสบการณ์ของท่านเปิดเผยความจริงที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเราในยามทุกข์ยาก. พระธรรมโยบช่วยเราตอบคำถามดังต่อไปนี้: เมื่อถูกทดลอง เหตุใดเราต้องพยายามเข้าใจประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง? คุณลักษณะและเจตคติเช่นไรที่ช่วยเราให้อดทน? เราจะเสริมกำลังเพื่อนคริสเตียนที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนได้อย่างไร?
เข้าใจภาพรวม
5. ประเด็นสำคัญอะไรที่ควรระลึกไว้เสมอเมื่อเราเผชิญการทดลองหรือการล่อใจ?
5 เพื่อรักษาความสมดุลฝ่ายวิญญาณเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก เราจำเป็นต้องเข้าใจภาพรวม. หากไม่เข้าใจ ปัญหาส่วนตัวอาจบดบังมุมมองฝ่ายวิญญาณของเรา. ประเด็นเรื่องความภักดีต่อพระเจ้ามีความสำคัญในอันดับแรก. พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราทรงวิงวอนอย่างที่เราเองสามารถจำใส่ใจไว้ ที่ว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงมีปัญญาขึ้น, และกระทำให้ใจของเรามีความยินดี; เพื่อเราจะมีคำตอบคนที่ตำหนิเราได้.” (สุภาษิต 27:11) ช่างเป็นสิทธิพิเศษที่ไม่มีอะไรเหมือนจริง ๆ! แม้ว่าเรามีจุดอ่อนและข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่เราสามารถทำให้พระผู้สร้างยินดี. เราทำอย่างนั้นเมื่อความรักของเราต่อพระยะโฮวาทำให้เราสามารถอดทนการทดลองและการล่อใจต่าง ๆ. ความรักแท้ของคริสเตียนอดทนทุกสิ่ง. ความรักนั้นไม่ล้มเหลวเลย.—1 โกรินโธ 13:7, 8.
6. ซาตานท้าทายพระยะโฮวาอย่างไร และขอบเขตของข้อท้าทายนั้นครอบคลุมถึงขนาดไหน?
6 พระธรรมโยบระบุชัดว่าซาตานเป็นผู้ที่ท้าทายพระยะโฮวา. พระธรรมนี้ยังเผยให้เห็นนิสัยอันชั่วร้ายของศัตรูที่ไม่ประจักษ์แก่ตาผู้นี้และความปรารถนาของมันที่จะทำลายสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า. ดังที่เห็นตัวอย่างจากกรณีของโยบ โดยแท้แล้วซาตานกล่าวหาผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวาว่ารับใช้ด้วยแรงกระตุ้นที่เห็นแก่ตัวและมันพยายามพิสูจน์ว่าความรักของพวกเขาต่อพระเจ้าสามารถจืดจางลงไปได้. มันได้ท้าทายพระเจ้ามาหลายพันปีแล้ว. เมื่อซาตานถูกเหวี่ยงออกจากสวรรค์ มีเสียงจากสวรรค์พรรณนาว่ามันเป็น “ผู้ที่กล่าวโทษพวกพี่น้องของเรา” และมันกล่าวโทษอย่างนั้น “ต่อพระพักตร์พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน.” (วิวรณ์ 12:10) ด้วยความอดทนอย่างซื่อสัตย์ เราสามารถแสดงให้เห็นว่าการกล่าวโทษของมันไม่มีมูลความจริง.
7. เราจะเอาชนะความอ่อนแอด้านร่างกายได้ดีที่สุดโดยวิธีใด?
7 เราต้องจำไว้ว่าพญามารจะฉวยโอกาสจากความทุกข์ลำบากที่เราอาจเผชิญเพื่อทำให้เราถอยห่างจากพระยะโฮวา. มันล่อลวงพระเยซูตอนไหน? ตอนที่พระเยซูทรงหิวหลังจากไม่ได้เสวยพระกระยาหารเป็นเวลาหลายวัน. (ลูกา 4:1-3) แต่ความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณของพระเยซูทำให้พระองค์สามารถปฏิเสธข้อเสนอที่ล่อใจของพญามารอย่างหนักแน่น. นับว่าสำคัญจริง ๆ ที่จะเอาชนะความอ่อนแอด้านร่างกาย—ซึ่งอาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือวัยชรา—ด้วยความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ! แม้ว่า “กายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป” แต่เราไม่ท้อถอยเพราะ “ใจภายในนั้นก็ยังจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน ๆ.”—2 โกรินโธ 4:16.
8. (ก) อารมณ์ที่หดหู่สามารถก่อผลกระทบที่ค่อย ๆ เซาะกร่อนได้อย่างไร? (ข) พระเยซูทรงมีเจตคติเช่นไร?
8 นอกจากนั้น อารมณ์ที่หดหู่สามารถก่อผลเสียหายฝ่ายวิญญาณแก่คนเราได้. บางคนอาจสงสัยว่า ‘ทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้เป็นอย่างนี้?’ ‘พี่น้องทำกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร?’ บางคนอาจถามอย่างนี้หลังจากที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่กรุณา. ความรู้สึกเช่นนั้นอาจทำให้เรามองข้ามประเด็นสำคัญและเพ่งเล็งแต่สภาพการณ์ส่วนตัว. ความหงุดหงิดของโยบเพราะสหายสามคนที่มีทัศนะผิด ๆ นั้นดูเหมือนว่าก่อผลเสียหายทางอารมณ์ต่อท่านมากพอ ๆ กับที่อาการเจ็บป่วยของท่านก่อผลเสียหายต่อท่านทางร่างกาย. (โยบ 16:20; 19:2) คล้ายกัน อัครสาวกเปาโลชี้ว่าการเก็บความโกรธเอาไว้นาน ๆ อาจทำให้ “มารมีโอกาสได้.” (เอเฟโซ 4:26, 27) แทนที่จะระบายความข้องขัดใจหรือความโกรธต่อบางคนหรือครุ่นคิดมากเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ยุติธรรม คริสเตียนควรเลียนแบบพระเยซูด้วยการ “ฝากความของ [ตน] ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาโดยชอบธรรม” คือพระยะโฮวาพระเจ้า. (1 เปโตร 2:21-23) การมี “แนวโน้มทางใจ” แบบเดียวกับพระเยซูสามารถเป็นเครื่องปกป้องที่สำคัญในการต่อต้านการโจมตีของซาตาน.—1 เปโตร 4:1, ล.ม.
9. พระเจ้าทรงให้คำรับรองอะไรแก่เราเกี่ยวกับภาระหนักที่เราต้องแบกรับหรือการล่อใจที่เราเผชิญ?
9 เหนืออื่นใด เราต้องไม่มองว่าปัญหาของเราเป็นหลักฐานแสดงถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้า. ความเข้าใจผิดเช่นนั้นสร้างความเจ็บปวดแก่โยบเมื่อท่านถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดที่ไร้ความปรานีของคนที่จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นผู้ปลอบโยนท่าน. (โยบ 19:21, 22) คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราด้วยถ้อยคำดังนี้: “ความชั่วจะมาล่อลวงพระเจ้าไม่ได้, และพระองค์เองไม่ได้ทรงล่อลวงผู้ใดเลย.” (ยาโกโบ 1:13) ตรงกันข้าม พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะช่วยเราแบกรับภาระหนักใด ๆ ก็ตามที่ตกอยู่กับเราและช่วยเราให้รอดพ้นจากการล่อใจใด ๆ ที่รุมเร้าเข้ามา. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 1 โกรินโธ 10:13) โดยเข้าใกล้ชิดพระเจ้าในยามทุกข์ยาก เราสามารถประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงและต่อต้านพญามารอย่างประสบผลสำเร็จได้.—ยาโกโบ 4:7, 8.
ความช่วยเหลือให้อดทน
10, 11. (ก) อะไรช่วยโยบให้อดทน? (ข) การมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีช่วยโยบอย่างไร?
10 แม้ต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายอย่างมาก รวมทั้งคำพูดที่เจ็บแสบจาก “ผู้เล้าโลม” จอมปลอมและความสับสนของท่านเองในเรื่องสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ยากที่ท่านประสบ โยบยังคงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. เราเรียนอะไรได้จากความอดทนของท่าน? ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุผลพื้นฐานสำหรับความสำเร็จของท่านคือความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. ท่าน “เป็นผู้ยำเกรงพระเจ้าและหลบหลีกจากความชั่ว.” (โยบ 1:1) นั่นคือวิถีชีวิตของท่าน. โยบไม่ยอมหันหลังให้พระยะโฮวา แม้ว่าในตอนนั้นท่านไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งเลวร้ายทั้งหลายจู่ ๆ ก็เกิดขึ้นกับท่าน. โยบเชื่อว่าท่านควรรับใช้พระเจ้าทั้งในยามอยู่ดีมีสุขและในยามยากลำบาก.—โยบ 1:21; 2:10.
11 นอกจากนั้น การมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีทำให้โยบรู้สึกสบายใจด้วย. เมื่อถึงตอนที่ดูเหมือนว่าชีวิตท่านใกล้จะสิ้นสุดลง ท่านรู้สึกสบายใจที่ทราบว่าท่านได้ทำดีที่สุดแล้วเพื่อช่วยคนอื่น ๆ, ยึดมั่นมาตรฐานชอบธรรมของพระยะโฮวา, และหลีกเลี่ยงการนมัสการเท็จทุกรูปแบบ.—โยบ 31:4-11, 26-28.
12. โยบตอบสนองความช่วยเหลือที่ท่านได้รับจากอะลีฮูอย่างไร?
12 แน่นอน เป็นความจริงที่ว่าโยบจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้ปรับทัศนะของท่านในบางแง่. และท่านยอมรับความช่วยเหลือนั้นอย่างถ่อมใจ ซึ่งนี่แหละคือปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ท่านอดทนอย่างประสบผลสำเร็จ. โยบฟังด้วยความนับถือต่อคำแนะนำอันฉลาดสุขุมของอะลีฮู และท่านตอบรับการว่ากล่าวแก้ไขของพระยะโฮวา. “ข้าพเจ้านี่เองแหละซึ่งได้พูดสิ่งซึ่งข้าฯ ไม่เข้าใจเลย” ท่านยอมรับ. “ข้าฯ จึงชังตัวของข้าฯ เองอย่างยิ่ง [“ถอนคำพูด,” ล.ม.], และกลับใจรับผิดด้วยอาการเกลือกลงในฝุ่นและขี้เถ้า.” (โยบ 42:3, 6) แม้ว่าโรคร้ายยังคงทำให้ท่านทุกข์ทรมาน แต่โยบยินดีที่การปรับเปลี่ยนความคิดของท่านได้ชักนำท่านเข้าใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งขึ้น. โยบกล่าวว่า “ข้าพระองค์ทราบแล้วว่าพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งได้.” (โยบ 42:2, ฉบับแปลใหม่) โดยอาศัยคำพรรณนาของพระยะโฮวาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ โยบเข้าใจชัดเจนยิ่งกว่าเดิมมากในเรื่องฐานะของท่านเองเมื่อเทียบกับพระผู้สร้าง.
13. การแสดงความเมตตาก่อประโยชน์อย่างไรสำหรับโยบ?
13 ประการสุดท้าย โยบเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องความเมตตา. ผู้ปลอบโยนจอมปลอมทำให้ท่านเจ็บใจอย่างยิ่ง แต่กระนั้นเมื่อพระยะโฮวาทรงขอให้โยบอธิษฐานเพื่อพวกเขา ท่านทำตาม. หลังจากนั้น พระยะโฮวาทรงฟื้นฟูสุขภาพของโยบ. (โยบ 42:8, 10) เห็นได้ชัดว่า ความขมขื่นจะไม่ช่วยเราให้อดทน ในขณะที่ความรักและความเมตตาจะช่วยเราได้. การปล่อยความขุ่นเคืองให้ผ่านไปทำให้เราสดชื่นทางฝ่ายวิญญาณ และเป็นแนวทางที่พระยะโฮวาทรงอวยพร.—มาระโก 11:25.
ผู้ให้คำแนะนำที่ฉลาดสุขุมซึ่งช่วยเราให้อดทน
14, 15. (ก) คุณลักษณะเช่นไรจะช่วยผู้ให้คำแนะนำรักษาผู้อื่นให้หายได้? (ข) จงอธิบายว่าเหตุใดอะลีฮูจึงประสบผลสำเร็จในการช่วยโยบ.
14 บทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่เราอาจได้จากเรื่องราวของโยบคือคุณค่าของผู้ให้คำแนะนำที่ฉลาดสุขุม. คนเช่นนั้นเป็นเหมือนกับพี่น้องที่ “เกิดมาสำหรับช่วยกันในเวลาทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17) อย่างไรก็ตาม ดังที่ประสบการณ์ของโยบแสดงให้เห็น ผู้ให้คำแนะนำบางคนอาจสร้างความเจ็บปวดให้มากกว่าจะช่วยรักษา. ผู้ให้คำแนะนำที่ดีต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจ, ความนับถือ, และความกรุณา อย่างอะลีฮู. ผู้ปกครองและคริสเตียนที่อาวุโสคนอื่น ๆ อาจต้องปรับแก้ความคิดของพี่น้องที่รับภาระหนักจากปัญหาต่าง ๆ และในการทำอย่างนั้นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าวสามารถเรียนรู้ได้มากจากพระธรรมโยบ.—ฆะลาเตีย 6:1; เฮ็บราย 12:12, 13.
15 มีบทเรียนที่ดีหลายอย่างจากวิธีที่อะลีฮูจัดการเรื่องต่าง ๆ. ท่านอดทนฟังอยู่นานก่อนจะกล่าวตอบโต้ความเห็นที่ผิดเพี้ยนของเพื่อนสามคนของโยบ. (โยบ 32:11; สุภาษิต 18:13) อะลีฮูพูดกับโยบอย่างเพื่อน. (โยบ 33:1) ไม่เหมือนกับผู้ปลอบโยนจอมปลอมสามคนนั้น อะลีฮูไม่ได้ถือว่าตัวเองมีฐานะเหนือกว่าโยบ. ท่านกล่าวว่า “ข้าฯ ก็ถูกทรงสร้างมาด้วยดินดุจกัน.” ท่านไม่ต้องการเพิ่มความทุกข์ยากแก่โยบด้วยคำพูดที่ไร้ความคิด. (โยบ 33:6, 7; สุภาษิต 12:18) แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำในอดีตของโยบ อะลีฮูชมเชยท่านว่าเป็นคนชอบธรรม. (โยบ 33:32) ที่สำคัญที่สุดก็คือ อะลีฮูมองเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยทัศนะของพระเจ้า และท่านช่วยโยบให้เพ่งสนใจข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาไม่มีทางทำสิ่งใดที่ไม่ยุติธรรม. (โยบ 34:10-12) ท่านสนับสนุนโยบให้รอคอยพระยะโฮวาจัดการ แทนที่จะพยายามแสดงความชอบธรรมของท่านเอง. (โยบ 35:2; 37:14, 23) คริสเตียนผู้ปกครองและคนอื่น ๆ สามารถได้รับประโยชน์จากบทเรียนเช่นนี้อย่างแน่นอน.
16. ผู้ปลอบโยนจอมปลอมสามคนที่มาหาโยบกลายเป็นเครื่องมือของซาตานอย่างไร?
16 คำแนะนำอันฉลาดสุขุมของอะลีฮูไม่เหมือนกับคำกล่าวที่ทำให้เจ็บใจของอะลีฟาศ, บิลดัด, และโซฟาร์. พระยะโฮวาทรงบอกพวกเขาว่า “เจ้าได้พูดอะไร ๆ ถึงเรานั้นไม่เป็นความจริง.” (โยบ 42:7) แม้ว่าพวกเขาอ้างว่ามีเจตนาดี แต่พวกเขากระทำอย่างที่เป็นเครื่องมือของซาตานมากกว่าจะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์. ทั้งสามคนทึกทักเองตั้งแต่แรกว่าโยบต้องรับผิดในเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับท่าน. (โยบ 4:7, 8; 8:6; 20:22, 29) ตามที่อะลีฟาศกล่าว พระเจ้าไม่ทรงเชื่อมั่นในผู้รับใช้ของพระองค์ และเราจะชอบธรรมหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่พระองค์ทรงสนพระทัย. (โยบ 15:15; 22:2, 3) อะลีฟาศถึงกับกล่าวหาโยบว่าทำผิด ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านไม่ได้ทำ. (โยบ 22:5, 9) ตรงกันข้าม อะลีฮูให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณแก่โยบ อย่างที่ผู้ให้คำแนะนำด้วยความรักย่อมจะมีเป้าหมายเช่นนี้เสมอ.
17. เราควรจำอะไรไว้เสมอเมื่อถูกทดลอง?
17 มีบทเรียนอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความอดทนซึ่งเราสามารถนำมาใช้ได้จากพระธรรมโยบ. พระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงสังเกตสถานการณ์ของเรา อีกทั้งทรงประสงค์จะช่วยเราด้วยวิธีต่าง ๆ และทรงสามารถช่วยเราได้. ก่อนหน้านี้ เราได้อ่านประสบการณ์ของเอลซา แอบต์แล้ว. ขอให้ใคร่ครวญข้อสรุปของเธอ: “ก่อนที่ดิฉันจะถูกจับ ดิฉันได้อ่านจดหมายของพี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งกล่าวว่าเมื่อถูกทดลองอย่างหนักพระวิญญาณของพระยะโฮวาจะทำให้เรามีความสงบใจ. ตอนนั้น ดิฉันคิดว่าเธอคงต้องพูดเกินจริงอยู่บ้าง. แต่เมื่อผ่านการทดลองด้วยตัวเอง ดิฉันจึงได้ทราบว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นความจริง. สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบบนั้นจริง ๆ. เป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพออก หากคุณไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง. แต่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นกับดิฉันจริง ๆ. พระยะโฮวาทรงช่วย.” เอลซาไม่ได้พูดถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทรงสามารถทำได้หรือสิ่งที่พระองค์ได้ทำเมื่อหลายพันปีมาแล้วในสมัยของโยบ. เธอกำลังพูดถึงสมัยของเรานี่เอง. ใช่แล้ว “พระยะโฮวาทรงช่วย”!
ความสุขมีแก่คนที่อดทน
18. โยบได้รับประโยชน์เช่นไรจากการมีความอดทน?
18 ในท่ามกลางพวกเรามีเพียงไม่กี่คนที่ต้องเผชิญความทุกข์ลำบากอย่างสาหัสเหมือนโยบ. แต่ไม่ว่าระบบนี้อาจก่อให้เกิดการทดลองใด ๆ ก็ตาม เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของเรา เช่นที่โยบได้รักษา. ที่จริง ความอดทนช่วยเสริมคุณค่าแก่ชีวิตของโยบ. ความอดทนขัดเกลาท่านให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น. (ยาโกโบ 1:2-4) ความอดทนเสริมสายสัมพันธ์ของท่านกับพระเจ้าให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น. โยบยืนยันว่า “แต่ก่อนข้าฯ ได้ยินถึงเรื่องพระองค์ด้วยหูฟังเรื่องราวมา, แต่บัดนี้ข้าฯ เห็นพระองค์ด้วยตาของข้าฯ แล้ว.” (โยบ 42:5) ซาตานถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้มุสาจากการที่มันไม่สามารถทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบ. หลายร้อยปีต่อมา พระยะโฮวายังคงกล่าวถึงโยบผู้รับใช้ของพระองค์ว่าเป็นแบบอย่างในเรื่องความชอบธรรม. (ยะเอศเคล 14:14) ประวัติบันทึกเกี่ยวกับความซื่อสัตย์มั่นคงและความอดทนของท่านเป็นแรงชักจูงที่ดีแก่ประชาชนของพระเจ้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้.
19. เหตุใดคุณจึงคิดว่าคุ้มค่าที่จะอดทน?
19 เมื่อยาโกโบเขียนถึงคริสเตียนในศตวรรษแรกเกี่ยวกับความอดทน ท่านกล่าวถึงความอิ่มใจที่ความอดทนนำมาให้. และท่านใช้ตัวอย่างของโยบเพื่อเตือนใจพวกเขาให้ระลึกว่าพระยะโฮวาประทานรางวัลอย่างอุดมแก่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. (ยาโกโบ 5:11) เราอ่านที่โยบ 42:12 ว่า “ดังนี้แหละพระยะโฮวาได้ทรงอวยพรชีวิตบั้นปลายของโยบให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าชีวิตในบั้นต้นของท่าน.” พระเจ้าประทานสิ่งที่โยบสูญเสียไปคืนให้แก่ท่านเป็นสองเท่า และท่านมีชีวิตยืนนานอย่างมีความสุข. (โยบ 42:16, 17) คล้ายกัน ความเจ็บปวด, ความทุกข์, หรือความปวดร้าวใจใด ๆ ที่เราอาจประสบในช่วงอวสานของระบบนี้จะถูกลบล้างออกไปและถูกลืมไปสิ้นในโลกใหม่ของพระเจ้า. (ยะซายา 65:17; วิวรณ์ 21:4) เราได้ยินถึงความอดทนของโยบ และเราตั้งใจแน่วแน่จะเลียนแบบอย่างที่ดีของโยบ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. คัมภีร์ไบเบิลสัญญาดังนี้: “ความสุขย่อมมีแก่คนนั้นที่สู้ทนการทดลอง เพราะเมื่อปรากฏว่าผู้นั้นทนได้แล้ว, เขาจะได้รับมงกุฎแห่งชีวิต, ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้แล้วว่าจะทรงประทานให้แก่คนทั้งหลายที่รักพระองค์.”—ยาโกโบ 1:12.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราจะทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดีได้อย่างไร?
• เหตุใดเราไม่ควรลงความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราเป็นหลักฐานแสดงถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้า?
• ปัจจัยอะไรบ้างช่วยโยบให้อดทน?
• เราจะเลียนแบบอะลีฮูได้อย่างไรในการเสริมกำลังเพื่อนร่วมความเชื่อ?
[ภาพหน้า 28]
ผู้ให้คำแนะนำที่ดีแสดงความเห็นอกเห็นใจ, ความนับถือ, และความกรุณา
[ภาพหน้า 29]
เอลซาและฮารัลด์ แอบต์