ถือเป็นการยกยอหรือป้อยอ?
มีคนหนึ่งบอกคุณว่า “ผมทรงใหม่สวยจัง!” ถือเป็นการยกยอหรือป้อยอ? “ชุดนั้นเหมาะกับคุณมาก!” ยกยอหรือป้อยอ? “นี่เป็นอาหารมื้ออร่อยที่สุดที่ผมเคยกินมา!” เป็นการยกยอหรือป้อยอ? เมื่อเราได้ฟังคำชมเช่นนั้น เราอาจสงสัยว่าเขาพูดจากใจจริงและเป็นความจริงหรือเปล่า หรือเพียงแต่พูดเอาใจเราโดยผู้พูดเองไม่ได้เชื่อเช่นนั้น.
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่คนนั้นพูดกับเราเป็นการยกยอหรือป้อยอ? สำคัญไหม? เราจะเพียงแต่รับเอามูลค่าเพียงผิวเผินจากคำพูดและชื่นชมไปกับคำพูดนั้นไม่ได้หรือ? แล้วที่เราเยินยอผู้อื่นล่ะ? เราเคยตรวจสอบเจตคติของตัวเองบ้างไหม? การตริตรองคำถามเหล่านี้อาจช่วยเราเป็นคนมีวิจารณญาณ และใช้ลิ้นพูดในลักษณะซึ่งนำคำสรรเสริญสู่พระยะโฮวาพระเจ้า.
การยกยอและป้อยอถูกจำกัดความ
พจนานุกรมเว็บสเตอร์ ได้นิยามคำยกยอว่าเป็นการแสดงออกถึงความพึงพอใจหรือการยกย่องชมเชย และคำนี้อาจหมายความถึงการนมัสการหรือการถวายพระเกียรติ. ประจักษ์ชัดว่าความหมายสองอย่างหลังนี้เกี่ยวโยงถึงเฉพาะการสรรเสริญซึ่งมุ่งให้แก่พระยะโฮวาพระเจ้า. นี่แหละคือส่วนประกอบของการนมัสการแท้ที่นับว่าสำคัญ ดังผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่รับการดลใจได้กระตุ้นเตือนดังนี้: “เพราะเป็นการดี. . . . การถวายคำสรรเสริญนั้นเป็นที่สำราญใจ—เป็นการสมควร.” “ให้สรรพสัตว์ที่มีลมหายใจสรรเสริญพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 147:1, ล.ม.; 150:6.
อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ไม่หมายความว่า จะให้การสรรเสริญมนุษย์ด้วยกันไม่ได้. อาจให้ได้ในลักษณะการชมเชย ให้การเห็นดีเห็นชอบด้วย หรือการพิจารณาตัดสินด้วยความพึงพอใจ. ในอุทาหรณ์ของพระเยซู นายบอกบ่าวของตนว่า “ดีแล้ว, เจ้าเป็นบ่าวซื่อตรงดี.”—มัดธาย 25:21.
ในทางตรงกันข้าม คำพูดป้อยอได้รับการนิยามว่าเป็นการเยินยอไม่จริง, ไม่เกิดจากใจจริง, หรือเกินควร ซึ่งโดยปกติแล้วคนป้อยอมีเจตนาหาประโยชน์ให้ตัวเอง. การแสร้งชมหรือแสร้งยอก็เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรักชอบหรือให้ประโยชน์ทางด้านวัตถุแก่ตน หรือเพื่อสร้างความรู้สึกว่าได้มีพันธะผูกพันกับคนที่ป้อยอ. ฉะนั้น คนป้อยอมีความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงกระตุ้น. ตามคำกล่าวในพระธรรมยูดาข้อ 16 พวกเขา “พร้อมจะป้อยอผู้อื่นเมื่อเขามองเห็นผลประโยชน์ของการทำเช่นนั้น.”—ฉบับแปลเดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล.
ทัศนะของพระคัมภีร์
ทัศนะของพระคัมภีร์ว่าด้วยการเยินยอมนุษย์นั้นคืออย่างไร? ในเรื่องนี้พระยะโฮวาได้ทรงวางแบบอย่างให้เราปฏิบัติตาม. เราได้ทราบจากคัมภีร์ไบเบิลว่าเราจะได้รับคำสรรเสริญหากเรากระทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “ทุกคนจะได้รับความชมเชยจากพระเจ้า.” เปโตรบอกเราว่าคุณภาพแห่งความเชื่อที่ผ่านการทดสอบแล้ว “เป็นเหตุให้เกิดความสรรเสริญ.” ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาจะชมเชยมนุษย์ จึงทำให้เราเห็นว่าการยกยอที่จริงใจนั้นเป็นการกระทำด้วยความกรุณา, ความรักใคร่, และเสริมประโยชน์ การกระทำซึ่งไม่ควรมองข้าม.—1 โกรินโธ 4:5; 1 เปโตร 1:7.
อีกแหล่งหนึ่งซึ่งจะให้การยกย่องเรา ดังกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือผู้มีอำนาจหน้าที่ปกครองบ้านเมืองที่สังเกตเห็นการประพฤติที่ดีงามของเราและชมเชยเราด้วยใจจริง. พระคัมภีร์บอกเราว่า “จงกระทำการดีต่อ ๆ ไป แล้วท่านจะได้รับคำสรรเสริญจากอำนาจนั้น.” (โรม 13:3, ล.ม.) นอกจากนั้น เราอาจจะได้รับการยกย่องจากผู้คนที่เชื่อมั่นด้วยใจจริงตามที่เขาพูดและไม่ได้มีเจตนาอื่นแอบแฝงเมื่อเขายกย่องพวกเรา. พระคัมภีร์ที่เขียนโดยการดลใจกล่าวในสุภาษิต 27:2 ดังนี้: “จงให้คนอื่นสรรเสริญเจ้าเถิด, อย่าให้ออกมาจากปากของเจ้าเลย.” ข้อนี้แสดงว่าการยอมรับคำสรรเสริญจากมนุษย์เป็นสิ่งเหมาะสม.
แต่การพูดป้อยอผู้อื่นหรือยินดีรับคำป้อยอไม่อยู่ในข่ายนี้. ทำไมการพูดป้อยอจึงเป็นที่ขัดเคืองพระทัยพระยะโฮวาอย่างมากเช่นนั้น? ประการหนึ่ง คำพูดเช่นนั้นไม่ได้เกิดจากใจจริง และพระยะโฮวาทรงตำหนิความไม่จริงใจ. (เทียบกับสุภาษิต 23:6, 7.) ยิ่งกว่านั้น คำพูดเช่นนั้นเป็นการไม่สุจริต. เมื่อพรรณนาคนที่ให้หลักฐานว่าเขาทำให้พระเจ้าเคืองพระทัย ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวดังนี้: “พวกเขาทุกคนพูดมุสาต่อกัน พูดด้วยริมฝีปากป้อยอและปากกับใจไม่ตรงกัน. ขอยาเวห์ทรงตัดริมฝีปากที่ป้อยอออกเสียสิ้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 12:2, 3, ฉบับแปลเดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล.
ที่สำคัญยิ่ง การพูดป้อยอไม่ได้แสดงความรัก. การป้อยอได้รับแรงกระตุ้นจากความเห็นแก่ตัว. หลังจากพูดถึงพวกที่ชอบพูดป้อยอแล้ว ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ยกคำพูดของพวกเขาที่กล่าวว่า “เราจะเอาชนะด้วยลิ้นของเราเอง; ริมฝีปากเป็นของเรา, ใครจะมาเป็นเจ้าเรา?” พระยะโฮวาทรงพรรณนาคนเห็นแก่ตัวเช่นนั้นว่าเป็นคน ‘ข่มเหงคนยากจน.’ ลิ้นที่พูดป้อยอของเขาถูกใช้ ไม่ใช่เพื่อจะเสริมสร้างคนอื่นแต่ใช้ข่มเหงและทำให้เขายากจน.—บทเพลงสรรเสริญ 12:4, 5.
การป้อยอเป็นหลุมพราง
“คนที่ป้อยอเพื่อนบ้านของตน, ก็เปรียบเหมือนวางตาข่ายไว้ดักเท้าของเขา.” กษัตริย์ซะโลโมผู้เปรื่องปราดตรัสไว้และเป็นจริงเพียงไร! (สุภาษิต 29:5) พวกฟาริซายเคยพยายามวางหลุมพรางดักพระเยซูด้วยการป้อยอ. เขาพูดดังนี้: “อาจารย์เจ้าข้า, ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบอยู่ว่าท่านเป็นผู้สัตย์ซื่อ. ได้สั่งสอนในทางของพระเจ้าจริง ๆ โดยมิได้เกรงกลัวผู้ใด เพราะท่านมิได้เห็นแก่หน้าของบุคคล.” ฟังแล้วเหมือนไม่เป็นปฏิปักษ์กันเลย! แต่พระเยซูหาได้หลงคำพูดที่รื่นหูไม่. พระองค์ทรงทราบดีว่าคนเหล่านั้นไม่เชื่อถือคำสอนอันสัตย์จริงของพระองค์ แต่พยายามจับผิดคำพูดของพระองค์ในประเด็นการเสียภาษีแก่ซีซาร์เท่านั้น.—มัดธาย 22:15-22.
ที่แตกต่างกับพระเยซูอย่างเด่นชัดก็คือกษัตริย์เฮโรดแห่งศตวรรษแรก. เมื่อเขากล่าวต่อสาธารณชนในเมืองกายซาไรอา ฝูงชนตอบสนองดังนี้: “เป็นพระสุรเสียงของพระ, มิใช่เสียงของมนุษย์.” แทนที่จะกล่าวปรามประชาชนเพราะการร้องโอ้อวด, เยินยอโดยไม่มีมูลความจริง เฮโรดกลับยินยอมรับคำป้อยอเช่นนั้น. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาได้สนองโทษแก่เขาทันทีทันใด โดยให้ตัวหนอนเกิดกินร่างกายของท่านจนถึงแก่พิราลัย.—กิจการ 12:21-23.
คริสเตียนที่มีความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่จะตื่นตัวเพื่อวินิจฉัยได้ว่าการป้อยอนั้นหมายถึงอะไร. บรรดาผู้ปกครองในประชาคมควรระวังเป็นพิเศษเมื่อคนหนึ่งคนใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาตัดสินเป็นคนช่างพูดป้อยอเกินจริง บางทีถึงกับเปรียบเทียบผู้ปกครองคนหนึ่งกับผู้ปกครองอีกคนหนึ่ง และบอกว่าผู้ปกครองที่เขาอ้างถึงนั้นมีความกรุณาและมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่าผู้ปกครองอีกคนหนึ่ง.
คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดถึงหลุมพรางอีกแบบหนึ่งซึ่งสืบเนื่องจากการป้อยอ เมื่อพรรณนาวิธีการของผู้หญิงที่ล่อใจคนหนุ่มให้ทำผิดศีลธรรม. (สุภาษิต 7:5, 21) คำเตือนสตินี้เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพการณ์สมัยนี้. ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ถูกตัดสัมพันธ์จากประชาคมคริสเตียนแต่ละปี มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดออกไปเพราะประพฤติผิดศีลธรรม. เป็นไปได้ไหมที่การพลาดผิดที่นำไปสู่การบาปร้ายแรงดังกล่าวเริ่มจากการพูดป้อยอเอาใจ? เพราะมนุษย์เราต่างก็อยากรับคำชมเชยและให้ผู้อื่นพูดถึงตนในทางที่ดี คำพูดรื่นหูจากริมฝีปากของคนป้อยอก็อาจบั่นทอนกำลังต้านทานของคริสเตียนต่อการประพฤติที่ไม่เหมาะสม. หากเมื่อใดไม่ระวังป้องกันคำพูดดังกล่าว มันอาจก่อผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่ร้ายแรงได้.
การป้องกันคำพูดป้อยอ
การป้อยอสนองความพอใจแก่คนรักตัวเองหรือหลงลาภยศ. การป้อยอมักชักนำให้คนเราประเมินค่าตัวเองอย่างเกินจริง ทำให้รู้สึกว่าตนเหนือกว่าคนอื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. นักปรัชญาฟรังซัว เดอ ลา โรแชฟูโชเปรียบการป้อยอเสมือนเงินปลอม “ซึ่งไม่ใช่ของแท้ ไม่มีค่าแต่ถูกใช้และได้การยอมรับเพราะการหลงตัวเอง.” ด้วยเหตุนี้ การป้องกันตัวเองก็คือการเอาใจใส่คำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ใช้ได้ผลจริงที่ว่า “ข้าพเจ้าบอกทุกคนท่ามกลางท่านทั้งหลายว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็นจะคิดนั้น; แต่คิดอย่างที่จะมีสุขภาพจิตดี แต่ละคนตามขนาดแห่งความเชื่อที่พระเจ้าได้ทรงประทานให้เขา.”—โรม 12:3, ล.ม.
แม้ความโน้มเอียงของเราตามธรรมชาติคือต้องการฟังคำพูดรื่นหู แต่ที่เราต้องการจริง ๆ เกือบตลอดเวลาคือคำแนะนำและการว่ากล่าวซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. (สุภาษิต 16:25) กษัตริย์อาฮาบต้องการฟังเฉพาะเรื่องที่จะทำให้เขาสบายใจเท่านั้น พวกมหาดเล็กถึงกับขอร้องผู้พยากรณ์มีคายาเปล่งวาจาให้ “เหมือนคำของเขา [พวกผู้พยากรณ์ที่ชอบป้อยอของอาฮาบ], และกล่าวแต่สิ่งที่เป็นมงคลดี.” (1 กษัตริย์ 22:13) หากอาฮาบเต็มใจฟังการพูดอย่างตรงไปตรงมาและเปลี่ยนแนวทางต่อต้านของตน เขาคงจะไม่แพ้อย่างย่อยยับในการทำสงครามกับพวกยิศราเอล และตัวเขาเช่นกันคงไม่ต้องถึงแก่ชีวิต. เพื่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเราเอง เราจึงควรว่องไวยอมรับคำแนะนำที่หนักแน่นแต่เปี่ยมด้วยความรักของคริสเตียนผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้ง ผู้ซึ่งต้องการช่วยเราให้อยู่ในทางตรงแห่งความจริง แทนที่จะเสาะหาคนที่ออกปากชมเราว่าดียอดเยี่ยมเพียงใด โดยการยอนหูเราด้วยคำพูดป้อยอ!—เทียบกับ 2 ติโมเธียว 4:3, ล.ม.
คริสเตียนไม่ควรใช้วิธีการพูดป้อยอเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลใดก็ตาม. เช่นเดียวกับเอลีฮูที่ซื่อสัตย์ โดยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวพวกเขาอธิษฐานว่า “ขออย่าให้ข้าฯ เห็นแก่หน้าบุคคลเลย, และขออย่าให้ข้าฯ ประจบประแจงคน. เพราะข้าฯ ประจบประแจงคนไม่เป็น. ถ้าข้าฯ ทำอย่างนั้น, ก็ให้พระผู้สร้างทรงเอาข้าฯ ไปเสียโดยเร็วพลัน.” เช่นเดียวกับเปาโล ครั้นแล้วพวกเขาจะสามารถพูดได้ว่า “เราไม่ได้มาด้วยคำพูดป้อยอในเวลาใดเลย . . . หรือด้วยสิ่งใด ๆ เป็นเครื่องบังหน้าความโลภ.”—โยบ 32:21, 22; 1 เธซะโลนิเก 2:5, 6, ล.ม.
ให้การสรรเสริญเมื่อสมควรจะให้
สุภาษิตที่เขียนโดยการดลใจแสดงว่าการเยินยออาจมีบทบาทเหมือนหินที่ทดลองเนื้อทองคำ ดังนี้: “เขาใช้เบ้าสำหรับพิสูจน์เงิน, และใช้เตาสำหรับพิสูจน์ทองคำฉันใด, คำสรรเสริญของคนใดก็เป็นที่พิสูจน์ใจของคนนั้นฉันนั้น.” (สุภาษิต 27:21) ถูกแล้ว การเยินยอสรรเสริญอาจส่งเสริมความรู้สึกเหนือกว่าคนอื่นหรือความหยิ่งทะนง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียตำแหน่งหน้าที่อย่างฉับพลัน. ในทางตรงข้าม การเยินยออาจเผยถึงความเจียมตัวและความถ่อมใจในส่วนของคนที่ได้รับการเยินยอ หากเขาสำนึกว่าที่เขาได้รับการสรรเสริญนั้น เขาเองเป็นหนี้พระยะโฮวาสำหรับทุกสิ่งซึ่งเขาได้กระทำไป.
การยกย่องอย่างจริงใจสำหรับความประพฤติอันคู่ควรหรือความสำเร็จย่อมเสริมสร้างทั้งผู้ให้และผู้รับ และเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดการหยั่งรู้ค่าอันอบอุ่นและให้คุณประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นกำลังใจให้บากบั่นถึงเป้าหมายอันมีค่าควรแก่การสรรเสริญ. การยกย่องชมเชยแก่ผู้น้อยอย่างสมควรอาจทำให้พวกเขากลายเป็นคนขยันทำงานมากขึ้น และอาจช่วยหลอมหล่อบุคลิกภาพของเขาขณะที่เขามุ่งมั่นปฏิบัติตามมาตรฐานที่คาดหมายจากเขา.
ดังนั้น ขอเราจงหลีกเลี่ยงการป้อยอไม่ว่าเราเป็นฝ่ายพูดหรือฟัง. จงถ่อมใจเมื่อได้รับการเยินยอสรรเสริญ. จงเป็นคนใจกว้างและเต็มใจให้สุดหัวใจทีเดียวเมื่อเรากล่าวคำสรรเสริญ—สรรเสริญพระยะโฮวาเป็นประจำในการนมัสการ และกล่าวยกย่องชมเชยคนอื่นอย่างจริงใจและด้วยการหยั่งรู้ค่า โดยให้เราระลึกอยู่เสมอว่า “ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะก็ประเสริฐนัก!”—สุภาษิต 15:23.