จงควบคุมอารมณ์ของคุณ!
“คนโกรธง่ายและชอบพูดถากถางดูเหมือนมีโอกาสจะตายก่อนอายุ 50 ปีมากเป็นห้าเท่าของคนใจเย็นและคนไว้ใจผู้อื่น. นี้คือสิ่งที่จิตแพทย์ค้นพบ.” หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานอย่างนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 1989. ดร. เร็ดฟอร์ด บี. วิลเลียมส์ศาสตราจารย์ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยดูคในเมืองเดอร์แฮม รัฐนอร์ธ คาโรไลนา “ได้ลงความเห็นเช่นนั้นโดยอาศัยการค้นคว้ามากมาย.” ไทมส์ รายงานว่า “เขาบอกว่าหัวใจของคนที่วางใจผู้อื่นอยู่ได้ยืนยาวกว่า เนื่องด้วยหัวใจเหล่านั้นได้รับการป้องกันไว้จากความเสียหายโดยระบบประสาทซิมพาเททิก.”
ความโกรธอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจเกิดโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ และมีผลกระทบที่ไม่ดีด้านอื่น ๆ. การเดือดดาลสามารถทำให้ขบวนการคิดให้สับสนได้ และผลตามหลังบ่อยครั้งจะมีช่วงหนึ่งที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง. ผลกระทบสืบเนื่องมาจากความโกรธยังผลเสียต่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณของคนเราเช่นกัน. ไม่น่าแปลกที่พระคัมภีร์บอกว่า “ใจที่สงบเป็นความจำเริญชีวิตฝ่ายกาย.” (สุภาษิต 14:30) ใช่แล้ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่พึงจะควบคุมอารมณ์ของตน. แต่โปรดสังเกตเหตุผลอื่น ๆ บางประการที่จะควบคุมอารมณ์.
มุ่งติดตามแนวทางแห่งสติปัญญา
ใครก็ตามที่คิดอย่างถูกต้องย่อมต้องการจะปฏิบัติอย่างสุขุม. วิธีหนึ่งคือสำแดงการรู้จักบังคับตน. เกี่ยวกับเรื่องนี้สุภาษิต 29:11 กล่าวว่า “คนโฉดมักจะคายความโกรธ [ฮีบรู รูʹอาค, วิญญาณ] ของเขาออกมาทั้งหมด แต่ผู้มีปัญญาย่อมระงับความโกรธของเขาให้หายไป.”
ในคัมภีร์ไบเบิลคำ “วิญญาณ” บ่อยครั้งหมายถึงอารมณ์ น้ำใจหรือท่าทีอันเด่นชัดซึ่งกระตุ้นบุคคลให้มุ่งไปทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ. “คนโฉด” ปล่อย “วิญญาณ” หรือน้ำใจของเขาออกมาหมด เพราะเขาไม่มีอำนาจควบคุมไว้ได้. เขายอมให้ความโกรธพลุ่งขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา. อารมณ์ซึ่งมีประจำใจคนโฉดทีแรกก็อาจเป็นเหตุให้เขาแสดงสีหน้าโกรธ. ครั้นแล้วอารมณ์ของเขาจะพลุ่งด้วยการใช้คำพูดรุนแรง และลงมือกระทำสิ่งโฉดเขลา.
อย่างไรก็ดี คนมีปัญญา ‘ย่อมระงับความโกรธของเขา.’ เขาควบคุมอารมณ์ของตนและตรึกตรองถึงสิ่งอันอาจเกิดขึ้นถ้าเขาบันดาลโทสะ. ถึงแม้เขามีเหตุผลพอจะโกรธก็ตาม เขาตระหนักดีว่าการลงมือทำสิ่งใด ๆ ในขณะอารมณ์ยังเคียดแค้นอยู่อาจก่อความเสียหายใหญ่หลวง. ดังนั้น เขาจึงควบคุมอารมณ์และระงับใจไว้จากการแสดงความโกรธอย่างขาดสติและไม่มีการยับยั้ง. เขาหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อการช่วยเหลือ อาจทูลอธิษฐานขออย่างเงียบ ๆ อย่างเร่งด่วน. ในที่สุด เพื่อผลประโยชน์อันดียิ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้มีปัญญาสามารถระงับโทโสและจะหาเหตุผลด้วยความรอบคอบตามหลักคัมภีร์และพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น คนมีปัญญาตระหนักว่าตนไม่ควรเก็บความโกรธไว้เพราะมันอาจทำให้เขากลายเป็นคนใจแข็ง ลงมือทำอย่างไม่ฉลาด แล้วกระทำบาป.
อนึ่ง ผู้มีปัญญาย่อมปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จะโกรธก็โกรธได้ แต่อย่าทำบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่ และอย่าให้โอกาสแก่มาร.” (เอเฟโซ 4:26, 27; ฉบับแปลใหม่) ถ้าคุณโกรธเพราะมีเหตุผลอันควร ก็อย่ายอมตกอยู่ในสภาพที่รู้สึกเดือดดาลเนิ่นนานกระทั่งถึงตะวันตก. เพราะเหตุใด? เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็เปิดช่องให้ซาตานพญามารฉวยโอกาสได้ อาจเป็นได้ที่มันจะชักนำคุณทำการชั่ว และคุณจะประสบความไม่พอพระทัยของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 37:8, 9) แทนที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้น จงควบคุมอารมณ์และลงมือทำทันทีเพื่อยุติข้อยุ่งยากซึ่งอาจยั่วยุให้คุณบันดาลโทสะ.—มัดธาย 18:15-17.
มีใจสงบ
สุภาษิตอีกข้อหนึ่งบอกว่า “คนที่มีความรู้ย่อมประหยัดคำพูดของเขา และผู้ที่มีความเข้าใจย่อมมีอารมณ์เยือกเย็น.” (สุภาษิต 17:27) ผู้ที่รับเอาความรู้เกี่ยวด้วยพระคำของพระเจ้า จะ “ประหยัดคำพูด” และไม่พลั่งพรูคำพูดออกมาเร็ว ฟังแทบไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกรบกวน. การนึกถึงสัมพันธภาพที่ตนมีกับพระยะโฮวาและตำแหน่งที่เหมาะสมในองค์การของพระเจ้า เขาจะไม่ยอมให้ความโมโหฉุนเฉียวครอบงำเขา. แทนที่จะทำเช่นนั้น “ผู้ที่มีความเข้าใจ” จะพยายามทำใจให้สงบเยือกเย็นและใช้ดุลยพินิจ. เมื่อมีน้ำใจแบบนี้ คุณก็เช่นกันสามารถควบคุมสถานการณ์ซึ่งอาจจะผลักดันคนโง่เข้าไปสู่การบาปได้.
ในทำนองเดียวกัน เราอ่านว่า “บุคคลผู้ไม่โกรธเร็วเป็นคนประกอบด้วยความเข้าใจดียิ่ง แต่ผู้มีใจฉุนเฉียวส่งเสริมความโฉดเขลาให้ยิ่งขึ้น.” (สุภาษิต 14:29) การเป็นคนฉุนเฉียวเมื่อมีความปั่นป่วนทางอารมณ์อาจนำไปสู่การกระทำสิ่งโง่ ๆ ได้. คงดีกว่าเพียงไรที่จะพิจารณาผลซึ่งอาจเกิดจากการพูดหรือการกระทำโดยไม่มีการควบคุม! มิฉะนั้น คนเราอาจทำอย่างหุนหันและกระทำอย่างไม่รอบคอบ ซึ่งจะ “เป็นการส่งเสริมความโฉดเขลาให้ยิ่งขึ้น.” ดังนั้น จง “ช้าในการโกรธ” เหมือนพระเจ้าผู้ทรงอดพระทัยได้นาน แล้วคุณก็จะหลีกเลี่ยงการเป็นคนใจร้อนและไม่กระทำสิ่งใด ๆ โดยขาดดุลยพินิจ.—เอ็กโซโด 34:6.
ละเว้นการถือดี
เนื่องจากการถือดี คนเราอาจจะไม่คำนึงถึงผู้อื่นและเป็นคนฉุนเฉียวเสียด้วยซ้ำ. ดังที่เราอ่านว่า “คนเจ้าโมโหทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน และคนเจ้าโทโสก่อการผิดมาก.” (สุภาษิต 29:22) ถ้าผู้ใดไม่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง แต่เป็น “คนเจ้าโมโห” เขาอาจจะ “ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท” กระทั่งในหมู่มิตรสหาย. และผู้ที่เป็น “คนเจ้าโทโสก่อการผิดมาก.” ใช่แล้ว เขาย่อมจะทำบาปแน่—สิ่งซึ่งคนมีปัญญาและเลื่อมใสพระเจ้าอยากจะหลีกเลี่ยง.
อย่าลืมว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยในคนถือดีและการบันดาลโทสะอย่างอหังการ. (สุภาษิต 16:18) คงเป็นการดีกว่ามากที่จะแสวงการช่วยเหลือของพระเจ้าเพื่ออดทนได้เมื่อประสบความทุกข์ลำเค็ญ และประพฤติด้วยความอ่อนสุภาพ แทนที่จะโต้ตอบด้วยความโกรธหรือเดือดดาลอย่างอวดดี.—สุภาษิต 29:23.
ทำด้วยความอ่อนโยน
ความถ่อมเป็นสิ่งจำเป็นถ้าคุณบังเอิญต้องรับคำตักเตือนจากผู้มีอำนาจหน้าที่. ในยามนั้นความรู้สึกแรกของคุณจะออกมาในแง่ใด? บางทีอยากตอบรับด้วยคำพูดโพล่งอย่างไม่บังควร. แต่พระคัมภีร์ให้คำแนะนำว่า “ถ้าใจของเจ้านายเกิดโทโสขึ้นต่อเจ้า อย่าลาออกเสียตำแหน่งของเจ้า เพราะว่าใจสงบเสงี่ยมย่อมสงบความบาปใหญ่หลวงไว้ได้.” (ท่านผู้ประกาศ 10:4) จะดีกว่านั้นสักเพียงใดที่จะตอบด้วยใจถ่อม! จริง ๆ แล้ว “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป.” (สุภาษิต 15:1) การตอบด้วยใจถ่อมนั้นจะต้องใช้การควบคุมตัวเอง แต่แนวทางที่ฉลาดเช่นนี้คลี่คลายปัญหาได้และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่น่ายินดีระหว่างสองฝ่าย.
ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่ไม่น่าจะได้รับการตักเตือนว่ากล่าว ก็เป็นที่หวังกันว่าผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นจะยอมให้โอกาสคุณชี้แจง. แน่ละ การชี้แจงใด ๆ ควรกระทำด้วยใจถ่อมพร้อมกับหวังว่าสิ่งที่เข้าใจกันอย่างผิด ๆ นั้นจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง. ทางฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่ก็เช่นกัน จำต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองเพื่อให้โอกาสชี้แจงอย่างนั้น ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าเขามีสติปัญญาและความเข้มแข็ง.
ไม่ว่าคริสเตียนอยู่ในฐานะมีอำนาจหรือไม่มีก็ตาม เขาควรระลึกอยู่เสมอว่า “คนที่ไม่มีอำนาจบังคับระงับใจของตนเองก็เป็นเหมือนเมืองที่หักพังและไม่มีกำแพงเมือง.” (สุภาษิต 25:28) ผู้ที่ขาดความอ่อนโยนและไม่ควบคุมอารมณ์ของตนก็ง่ายสำหรับความคิดนึกที่ไม่ถูกต้องจะรุกเข้าไปกระตุ้นให้เขาปฏิบัติในทางผิด ๆ. พระเยซูคริสต์ผู้ทรงวางแบบอย่างอันถูกต้องครบถ้วน พระองค์มี ‘พระทัยอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.’ (มัดธาย 11:29) ยิ่งกว่านั้น ความอ่อนสุภาพเป็นผลอย่างหนึ่งแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งคริสเตียนควรอธิษฐานขอ.—ลูกา 11:13; ฆะลาเตีย 5:22, 23.
ทำไมคุณพึงควบคุมอารมณ์?
พวกเราพอใจกับถ้อยคำสุภาพนุ่มนวล แต่บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าอะไรกระตุ้นให้คนเราบันดาลโทสะ. บางคนที่ไม่มีหลักการก็อาจสามารถปิดบังความโกรธและความแน่วแน่ของเขาที่จะแก้เผ็ดคนที่ทำให้เขาขุ่นเคืองจริง ๆ หรือที่เขาคิดเอาเอง! โดยความหน้าซื่อใจคด เขาอาจจะรอโอกาสพูดอะไรบางอย่างในทางทำลายชื่อเสียงของคนนั้นซึ่งเขาเองเกลียดชัง. แน่นอน คริสเตียนต้องไม่ปล่อยให้น้ำใจแบบนี้เจริญงอกงามขึ้นภายในหัวใจของเขา เพราะอัครสาวกโยฮันเขียนอย่างนี้: “ผู้ที่เกลียดชังพี่น้องของตัวก็อยู่ในความมืดและเดินในที่มืด และไม่รู้ว่าตัวไปข้างไหน เพราะว่าความมืดทำให้ตาของเขาบอดไปเสียแล้ว.” โยฮันยังได้พูดอีกว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน และท่านทั้งหลายรู้แล้วว่าผู้ฆ่าคนไม่มีชีวิตนิรันดร์อยู่ในตัวเลย.”—1 โยฮัน 2:11; 3:15.
ถ้าความถือดี ความหน้าซื่อใจคดหรือนิสัยใด ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นแบบอย่างของพระเจ้าถูกปกปิดหรืออำพรางไว้ สิ่งที่พรางตาเช่นนั้นไม่อาจหลอกพระเจ้าได้. แม้กระทั่งการโอ้อวดอธิษฐานหรือการแสดงตัวเป็นผู้ชอบธรรมก็ไม่อาจปิดซ่อนสิ่งที่อยู่ในหัวใจไว้จากพระเจ้าได้. สุภาษิต 16:2 ว่าดังนี้: “มนุษย์ย่อมเห็นว่าทางประพฤติทั้งหลายขาวสะอาดในสายตาของเขาเอง แต่พระยะโฮวาทรงชั่งน้ำใจของคน.” เราจะหลอกพระเจ้าไม่ได้เลย.
เพื่อสวัสดิภาพของคุณเองและด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตามหลักคัมภีร์ที่เราได้พิจารณามาแล้ว ฉะนั้น จงปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของพระเยซู และบรรดาผู้มีปัญญาทั้งหลายซึ่งได้ละเว้นการถือดี และประพฤติด้วยความอ่อนสุภาพ. ในประการทั้งปวง จงควบคุมอารมณ์ของคุณ!