พระยะโฮวา—แหล่งแห่งความยุติธรรมและความชอบธรรมที่แท้จริง
“พระองค์เป็นศิลา กิจการของพระองค์สมบูรณ์พร้อม เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งกับพระองค์นั้นไม่มีความอยุติธรรม.”—พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.
1. เพราะเหตุใดเราจึงมีความต้องการที่ฝังลึกในเรื่องความยุติธรรม?
ทุกคนต้องการความรักมาแต่กำเนิดฉันใด เราทุกคนก็ปรารถนาจะได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมฉันนั้น. ดังที่รัฐบุรุษชาวอเมริกัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน เขียนไว้ว่า “[ความยุติธรรม] ฝังอยู่ในสัญชาตญาณและมีติดตัวมาแต่กำเนิด . . . เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมชาติของร่างกายเราอย่างความรู้สึก, การมองเห็น, หรือการได้ยิน.” เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากพระยะโฮวาทรงสร้างเราตามแบบพระฉายของพระองค์เอง. (เยเนซิศ 1:26) จริงทีเดียว พระองค์ประทานคุณลักษณะต่าง ๆ ที่สะท้อนบุคลิกภาพของพระองค์เองแก่เรา ซึ่งคุณลักษณะอย่างหนึ่งนั้นก็คือความยุติธรรม. นั่นเป็นเหตุที่เรามีความต้องการที่ฝังแน่นในเรื่องความยุติธรรม และปรารถนาจะมีชีวิตในโลกที่มีความยุติธรรมและชอบธรรมอย่างแท้จริง.
2. ความยุติธรรมสำคัญอย่างไรต่อพระยะโฮวา และเหตุใดเราจำต้องเข้าใจความหมายของความยุติธรรมของพระเจ้า?
2 คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราเกี่ยวด้วยพระยะโฮวาดังนี้: “ทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม.” (พระบัญญัติ 32:4) แต่ในโลกที่มีแต่ความอยุติธรรม ไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจความหมายของความยุติธรรมของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี โดยทางหน้าหนังสือแห่งพระคำของพระเจ้า เราสามารถเข้าใจวิธีที่พระเจ้าทรงจัดการให้มีความยุติธรรม และเราสามารถหยั่งรู้ค่าแนวทางอันมหัศจรรย์ของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น. (โรม 11:33) การเข้าใจความยุติธรรมในความหมายของคัมภีร์ไบเบิลนั้นสำคัญทีเดียว เพราะความคิดของเราเกี่ยวกับความยุติธรรมอาจถูกโน้มนำโดยแนวคิดของมนุษย์. จากแง่คิดของมนุษย์ ความยุติธรรมอาจถือกันว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการใช้หลักแห่งกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม. หรือดังที่นักปรัชญา ฟรานซิส เบคอน เขียนไว้ “ความยุติธรรมมีอยู่ในการให้สิ่งที่ทุกผู้คนควรได้รับ.” อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมของพระยะโฮวากินความกว้างกว่านี้มาก.
ความยุติธรรมของพระยะโฮวาทำให้อบอุ่นใจ
3. อาจเรียนรู้อะไรได้โดยการพิจารณาคำในภาษาเดิมที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลสำหรับความยุติธรรมและความชอบธรรม?
3 เราสามารถเข้าใจความกว้างขวางแห่งความยุติธรรมของพระเจ้าได้ดีขึ้นด้วยการพิจารณาว่ามีการใช้คำในภาษาดั้งเดิมในคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร.a น่าสนใจ ในพระคัมภีร์ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างความยุติธรรมกับความชอบธรรม. ที่จริง บางครั้งมีการใช้คำภาษาฮีบรูสองคำนี้ซ้อนกันเพื่อความไพเราะทางภาษา ดังจะเห็นได้ที่อาโมศ 5:24 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งที่นั่นพระยะโฮวาทรงกระตุ้นเตือนไพร่พลของพระองค์ดังนี้: “จงให้ความยุติธรรมหลั่งไหลลงอย่างน้ำ และให้ความชอบธรรมเป็นอย่างลำธารที่ไหลอยู่เป็นนิตย์.” นอกจากนั้น มีอยู่หลายครั้งที่คำว่า “ความยุติธรรมและความชอบธรรม” ปรากฏอยู่ด้วยกันเพื่อเป็นการเน้น.—บทเพลงสรรเสริญ 33:5; ยะซายา 33:5; ยิระมะยา 33:15; ยะเอศเคล 18:21; 45:9.
4. การสำแดงความยุติธรรมหมายความเช่นไร และมาตรฐานความยุติธรรมสูงสุดคืออะไร?
4 คำภาษาฮีบรูและภาษากรีกเหล่านี้สื่อความหมายอะไร? การสำแดงความยุติธรรมตามความหมายในพระคัมภีร์หมายถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ก่อตั้งกฎและหลักการทางศีลธรรม หรือทรงกำหนดว่าอะไรถูกและยุติธรรม แนวทางที่พระยะโฮวาทรงทำสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นมาตรฐานความยุติธรรมสูงสุด. สารานุกรมเทโอโลจิคัล เวิลด์บุ๊ก ออฟ ดิ โอลด์ เทสทาเมนต์ อธิบายว่า คำภาษาฮีบรูที่แปลกันว่าความชอบธรรม (ทเซʹเดค) “พาดพิงถึงมาตรฐานทางศีลธรรมจรรยา และแน่นอน ในพันธสัญญาเก่า มาตรฐานดังกล่าวเป็นลักษณะประจำพระองค์และพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.” ด้วยเหตุนี้ แนวทางที่พระเจ้าทรงใช้หลักการของพระองค์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เผยให้เห็นความหมายอันจริงแท้ของความยุติธรรมและความชอบธรรมที่แท้จริง.
5. คุณลักษณะอะไรที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมของพระเจ้า?
5 พระคัมภีร์แสดงอย่างชัดเจนว่า ความยุติธรรมของพระเจ้านั้นทำให้อบอุ่นใจมากกว่าจะแข็งกระด้างและไม่ยืดหยุ่น. ดาวิดร้องเป็นเพลงดังนี้: “พระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม, และไม่ทรงละทิ้งพวกผู้ชอบธรรมของพระองค์เลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:28) ความยุติธรรมของพระเจ้ากระตุ้นพระทัยพระองค์ให้แสดงความสัตย์ซื่อและความสงสารต่อผู้รับใช้ของพระองค์. ความยุติธรรมของพระเจ้าพร้อมจะรับรู้ถึงความจำเป็นต่าง ๆ ของเราและทรงคำนึงถึงความไม่สมบูรณ์ของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) ทั้งนี้มิได้หมายความว่า พระเจ้าทรงยอมให้แก่ความชั่ว เพราะการทำดังนั้นย่อมเป็นการส่งเสริมความอยุติธรรม. (1 ซามูเอล 3:12, 13; ท่านผู้ประกาศ 8:11) พระยะโฮวาทรงอธิบายแก่โมเซว่า พระองค์ทรง “เมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.” แม้ว่าทรงเต็มพระทัยจะให้อภัยความผิดพลาดและการล่วงละเมิด แต่พระเจ้าจะไม่ทรงละเว้นการลงโทษคนที่สมควรรับโทษ.—เอ็กโซโด 34:6, 7, ล.ม.
6. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อเหล่าบุตรของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้อย่างไร?
6 เมื่อเราใคร่ครวญถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงสำแดงความยุติธรรม เราไม่ควรมองดูพระองค์ว่าทรงเป็นผู้พิพากษาที่ไม่ยอมผ่อนปรน มุ่งแต่จะตัดสินลงโทษผู้ทำผิด. ตรงกันข้าม เราควรมองดูพระองค์ในฐานะพระบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก แต่ถึงกระนั้นก็หนักแน่น ผู้ทรงปฏิบัติต่อเหล่าบุตรของพระองค์ในแนวทางดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เสมอ. ผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวดังนี้: “โอ้ พระยะโฮวา พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย.” (ยะซายา 64:8, ล.ม.) ในฐานะพระบิดาที่ยุติธรรมและชอบธรรม พระยะโฮวาทรงรักษาความสมดุลระหว่างลักษณะที่เปี่ยมด้วยความหนักแน่นเพื่อรักษาความถูกต้องกับความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนต่อเหล่าบุตรของพระองค์บนแผ่นดินโลก ผู้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือหรือการให้อภัยเนื่องจากสภาพการณ์ที่ยากลำบากหรือความอ่อนแอของเนื้อหนัง.—บทเพลงสรรเสริญ 103:6, 10, 13.
การทำให้กระจ่างว่าความยุติธรรมคืออะไร
7. (ก) เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระเจ้าจากคำพยากรณ์ของยะซายา? (ข) พระเยซูทรงมีบทบาทอะไรในการสอนนานาชาติเกี่ยวกับความยุติธรรม?
7 มีการเน้นคุณลักษณะด้านความเมตตาสงสารที่อยู่ในความยุติธรรมของพระยะโฮวาโดยการเสด็จมาของพระมาซีฮา. พระเยซูทรงสอนความยุติธรรมของพระเจ้าและดำเนินชีวิตประสานกับความยุติธรรมนั้น ดังผู้พยากรณ์ยะซายากล่าวเอาไว้ล่วงหน้า. เห็นได้ชัด ความยุติธรรมของพระเจ้ารวมไปถึงการปฏิบัติด้วยความอ่อนละมุนต่อคนที่ถูกเหยียบย่ำ. โดยวิธีนี้ คนเหล่านั้นจะไม่บอบช้ำจนเกินจะฟื้นตัวได้. พระเยซูซึ่งเป็น “ผู้รับใช้” ของพระยะโฮวาเสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อ “จะประกาศ . . . ให้แก่บรรดาประชาชาติ” ให้เข้าใจความยุติธรรมของพระเจ้าในแง่นี้. ยิ่งกว่าสิ่งใด พระองค์ทรงทำเช่นนั้นโดยการประทานตัวอย่างอันมีชีวิตแก่เราซึ่งทำให้เห็นว่าความยุติธรรมของพระเจ้ามีความหมายเช่นไร. ในฐานะ “กิ่งของความชอบธรรม” ของกษัตริย์ดาวิด พระเยซูทรงกระตือรือร้นที่จะ ‘แสวงความยุติธรรมและให้ความชอบธรรมโดยฉับพลัน.’—ยะซายา 16:5; 42:1-4; มัดธาย 12:18-21, ฉบับแปลใหม่; ยิระมะยา 33:14, 15.
8. เหตุใดความยุติธรรมและความชอบธรรมแท้จึงไม่ปรากฏชัดในศตวรรษแรก?
8 การสำแดงคุณลักษณะด้านความยุติธรรมของพระยะโฮวาให้ประจักษ์ชัดเช่นนั้นเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. พวกผู้เฒ่าผู้แก่และหัวหน้าศาสนาชาวยิว คือพวกอาลักษณ์, ฟาริซาย, และคนอื่น ๆ ประกาศและเป็นตัวอย่างถึงทัศนะที่บิดเบือนในเรื่องความยุติธรรมและความชอบธรรม. ผลก็คือ สามัญชนซึ่งพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุข้อเรียกร้องที่พวกอาลักษณ์และฟาริซายตั้งไว้ คงมีแนวโน้มจะคิดว่ามาตรฐานของพระเจ้าอยู่ไกลเกินเอื้อม. (มัดธาย 23:4; ลูกา 11:46) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นอย่างนั้น. พระองค์ทรงเลือกเหล่าสาวกจากท่ามกลางสามัญชนเหล่านี้ และพระองค์ทรงสอนมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้าแก่เขา.—มัดธาย 9:36; 11:28-30.
9, 10. (ก) พวกอาลักษณ์และฟาริซายพยายามแสดงอย่างไรให้เห็นว่าตัวเองชอบธรรม? (ข) พระเยซูทรงเปิดเผยอย่างไรว่าวิธีปฏิบัติของพวกอาลักษณ์และฟาริซายนั้นไร้ประโยชน์ และทำไมพระองค์จึงเปิดเผยอย่างนั้น?
9 ในอีกด้านหนึ่ง พวกฟาริซายแสวงโอกาสเพื่อแสดง “ความชอบธรรม” ของตนโดยการอธิษฐานหรือบริจาคในที่สาธารณะ. (มัดธาย 6:1-6) พวกเขายังพยายามแสดงความชอบธรรมของตนด้วยการยึดมั่นในกฎและข้อห้ามนับไม่ถ้วน ซึ่งมีอยู่หลายข้อที่พวกเขาตั้งขึ้นเอง. ความพยายามเช่นนั้นชักนำพวกเขาให้ “ละเว้นความชอบธรรมและความรักพระเจ้าเสีย.” (ลูกา 11:42) หากมองภายนอกแล้วพวกเขาอาจดูชอบธรรม แต่ภายใน พวกเขา ‘เต็มไปด้วยความชั่ว’ หรือความไม่ชอบธรรม. (มัดธาย 23:28) พูดง่าย ๆ คือ พวกเขารู้เรื่องความชอบธรรมของพระเจ้าน้อยเต็มที.
10 ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงเตือนผู้ติดตามพระองค์ดังนี้: “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ยิ่งกว่าความชอบธรรมของพวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย, ท่านจะเข้าในเมืองสวรรค์ไม่ได้.” (มัดธาย 5:20) ความแตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่างความยุติธรรมของพระเจ้าซึ่งพระเยซูทรงแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างกับการถือตัวว่าชอบธรรมอย่างใจแคบของพวกอาลักษณ์และฟาริซายเป็นเหตุให้มีการโต้เถียงกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่บ่อยครั้ง.
ความยุติธรรมของพระเจ้าปะทะกับความยุติธรรมที่บิดเบือน
11. (ก) เหตุใดพวกฟาริซายถามพระเยซูเกี่ยวกับการรักษาในวันซะบาโต? (ข) คำตอบของพระเยซูเผยให้เห็นอะไร?
11 ระหว่างการรับใช้ของพระองค์ในฆาลิลายช่วงฤดูใบไม้ผลิแห่งปี ส.ศ. 31 พระเยซูทรงสังเกตเห็นชายมือลีบคนหนึ่งในธรรมศาลา. เนื่องจากเป็นวันซะบาโต พวกฟาริซายจึงถามพระเยซูว่า “ควรจะรักษาโรคในวันซะบาโตหรือไม่?” แทนที่จะรู้สึกเป็นห่วงอย่างแท้จริงในความลำบากของชายผู้น่าสงสารคนนี้ พวกเขากลับปรารถนาจะหาเหตุเพื่อตั้งข้อกล่าวหาพระเยซู ดังเห็นได้จากคำถามของเขา. ไม่แปลกที่พระเยซูทรงเศร้าพระทัยเนื่องด้วยหัวใจอันไร้ความรู้สึกของพวกเขา! พระองค์จึงทรงย้อนถามพวกฟาริซายว่า “ในวันซะบาโตควรจะทำการดีหรือ [ไม่]?” เมื่อพวกเขานิ่งอยู่ พระเยซูจึงทรงตอบคำถามของพระองค์เองโดยถามเขาว่า ถ้ามีแกะตกบ่อในวันซะบาโตเขาจะไม่ช่วยหรือ.b “ฝ่ายมนุษย์คนหนึ่งก็ประเสริฐยิ่งกว่าแกะมากเท่าใด!” พระเยซูทรงหาเหตุผลอย่างที่ไม่อาจโต้แย้งได้. พระองค์ทรงสรุปว่า “เหตุฉะนั้นจึงสมควรจะทำการดีในวันซะบาโต.” ความยุติธรรมของพระเจ้าต้องไม่ถูกประเพณีของมนุษย์ผูกมัดไว้. เมื่อได้ทรงทำให้ชัดเจนในจุดนี้แล้ว พระเยซูทรงดำเนินการต่อไปโดยรักษามือของชายคนนั้น.—มัดธาย 12:9-13; มาระโก 3:1-5.
12, 13. (ก) ไม่เหมือนกับพวกอาลักษณ์และฟาริซาย พระเยซูทรงแสดงความสนใจอย่างไรในการช่วยคนบาป? (ข) มีความแตกต่างอะไรระหว่างความยุติธรรมของพระเจ้ากับการถือว่าตัวเองชอบธรรม?
12 หากบอกว่าพวกฟาริซายไม่ค่อยใส่ใจดูแลคนพิการทางกาย ก็ต้องบอกว่าพวกเขาดูแลคนยากจนฝ่ายวิญญาณน้อยยิ่งกว่านั้นเสียอีก. ทัศนะที่บิดเบือนของพวกเขาในเรื่องความชอบธรรมชักนำให้เขาละเลยและเหยียดหยามคนเก็บภาษีและคนบาป. (โยฮัน 7:49) กระนั้น คนเหล่านี้หลายคนตอบรับคำสอนของพระเยซูผู้แสดงออกอย่างไม่มีข้อสงสัยถึงความปรารถนาที่จะช่วย ไม่ใช่พิพากษา. (มัดธาย 21:31; ลูกา 15:1) อย่างไรก็ตาม พวกฟาริซายลบหลู่ความพยายามของพระเยซูในการรักษาคนที่ป่วยทางฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาบ่นงึมงำด้วยความไม่พอใจว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา.” (ลูกา 15:2) เพื่อตอบข้อกล่าวหาของพวกเขา อีกครั้งหนึ่งพระเยซูทรงใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเลี้ยงแกะ. ผู้เลี้ยงแกะยินดีเมื่อเขาพบแกะตัวหนึ่งที่หลงหายฉันใด ทูตสวรรค์ก็ยินดีเมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจฉันนั้น. (ลูกา 15:3-7) พระเยซูเองทรงยินดีเมื่อพระองค์ทรงสามารถช่วยซัคคายให้กลับใจจากแนวทางบาปแต่เก่าก่อนของเขา. พระองค์ตรัสว่า “บุตรมนุษย์ได้มาเพื่อจะแสวงหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปให้รอด.”—ลูกา 19:8-10.
13 การเผชิญหน้ากันเช่นนี้เผยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างความยุติธรรมของพระเจ้าซึ่งพยายามเยียวยารักษาและช่วยให้รอด กับการถือว่าตัวเองชอบธรรมซึ่งพยายามยกคนกลุ่มน้อยขึ้นและกดคนจำนวนมากลง. พิธีกรรมอันเปล่าประโยชน์และประเพณีที่มนุษย์ตั้งขึ้นได้ชักนำให้พวกอาลักษณ์และฟาริซายเย่อหยิ่งและถือว่าตัวเองสำคัญ แต่พระเยซูทรงชี้อย่างตรงจุดทีเดียวว่าเขาได้ ‘ละเว้นส่วนข้อสำคัญแห่งพระบัญญัติคือความชอบธรรม, ความเมตตา, และความเชื่อ.’ (มัดธาย 23:23) ขอให้เราเลียนแบบพระเยซูในการสำแดงความยุติธรรมแท้ในทุกสิ่งที่เราทำและระมัดระวังอย่าได้ตกหลุมพรางแห่งการถือว่าตัวเองชอบธรรม.
14. การอัศจรรย์อย่างหนึ่งของพระเยซูแสดงอย่างไรว่า ความยุติธรรมของพระเจ้านั้นคำนึงถึงสภาพเฉพาะตัวของบุคคล?
14 แม้ว่าพระเยซูทรงปฏิเสธกฎที่ตั้งตามอำเภอใจของพวกฟาริซาย แต่พระองค์ทรงถือรักษาพระบัญญัติของโมเซ. (มัดธาย 5:17, 18) ในการทำดังนั้น พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้การถือพระบัญญัติอันชอบธรรมอย่างเข้มงวดตามตัวอักษรครอบงำหลักการของพระบัญญัติ. เมื่อหญิงคนหนึ่งซึ่งทนทุกข์ด้วยโรคโลหิตตกมาเป็นเวลา 12 ปี ได้แตะฉลองพระองค์และหายโรค พระเยซูตรัสแก่เธอว่า “ลูกเอ๋ย, ความเชื่อของเจ้าได้กระทำให้ตัวเจ้าหายโรคแล้ว, จงไปเป็นสุขเถิด.” (ลูกา 8:43-48) คำพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจของพระเยซูพิสูจน์ยืนยันว่า ความยุติธรรมของพระเจ้าคำนึงถึงสภาพเฉพาะตัวของเธอ. แม้ว่าเธอไม่สะอาดตามพิธีกรรมและดังนั้น หากตีความกันอย่างเคร่งครัด เธอได้ฝ่าฝืนพระบัญญัติของโมเซด้วยการเข้ามาอยู่ในท่ามกลางฝูงชน ทว่าความเชื่อของเธอสมควรได้รับรางวัลตอบแทน.—เลวีติโก 15:25-27; เทียบกับโรม 9:30-33.
ความชอบธรรมนั้นสำหรับทุกคน
15, 16. (ก) อุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรียสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับความยุติธรรม? (ข) เหตุใดเราควรหลีกเลี่ยงการถือว่าตัวเอง “ชอบธรรมเกินไป”?
15 นอกจากจะเน้นแง่มุมด้านความเมตตาสงสารแล้ว พระเยซูยังทรงสอนสาวกของพระองค์ด้วยว่าความยุติธรรมของพระเจ้านั้นมีให้แก่มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม. เป็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาที่ให้พระองค์ “นำความยุติธรรมออกไปแจ้งแก่นานาชาติ.” (ยะซายา 42:1) นี่เป็นจุดสำคัญของอุทาหรณ์ที่ขึ้นชื่อที่สุดเรื่องหนึ่งของพระเยซู คือเรื่องเพื่อนบ้านชาวซะมาเรีย. อุทาหรณ์นี้ตอบคำถามของชายคนหนึ่งซึ่งรู้พระบัญญัติดีและต้องการจะ “สำแดงว่าตัวดี.” เขาถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” โดยที่เห็นได้ชัดว่าประสงค์จะจำกัดหน้าที่รับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านเฉพาะกับชาวยิวด้วยกัน. ชาวซะมาเรียในอุทาหรณ์ของพระเยซูแสดงความชอบธรรมตามอย่างพระเจ้า เพราะเขาเต็มใจใช้เวลาและเงินของตนเพื่อช่วยคนแปลกหน้าจากอีกชาติหนึ่ง. พระเยซูทรงลงท้ายอุทาหรณ์นี้โดยแนะนำผู้ตั้งคำถามว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด.” (ลูกา 10:25-37) หากเราทำดีในแบบเดียวกันต่อคนทุกชนิดโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ เราก็กำลังเลียนแบบความยุติธรรมของพระเจ้า.—กิจการ 10:34, 35.
16 ในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างของพวกอาลักษณ์และฟาริซายเตือนใจเราว่าหากเราต้องการจะสำแดงความยุติธรรมตามอย่างพระเจ้า เราไม่ควรถือตัวว่า “ชอบธรรมเกินไป.” (ท่านผู้ประกาศ 7:16, ล.ม.) การพยายามทำให้ผู้อื่นประทับใจด้วยการแสดงอย่างโอ้อวดว่าชอบธรรมหรือให้ความสำคัญมากเกินไปแก่กฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นจะไม่ช่วยให้เราได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า.—มัดธาย 6:1.
17. เหตุใดจึงสำคัญมากที่เราจะสำแดงความยุติธรรมของพระเจ้า?
17 เหตุผลอย่างหนึ่งที่พระเยซูทรงสำแดงแก่นานาชาติถึงคุณลักษณะแห่งความยุติธรรมของพระเจ้าก็เพื่อสาวกทุกคนของพระองค์จะได้เรียนรู้ที่จะสำแดงคุณลักษณะนี้. เหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญมาก? พระคัมภีร์กระตุ้นเตือนเราให้ “เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า” และแนวทางทั้งปวงของพระเจ้าล้วนยุติธรรม. (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) คล้ายกันนั้น มีคา 6:8 (ล.ม.) อธิบายว่าข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาประการหนึ่งคือให้เรา “สำแดงความยุติธรรม” ขณะที่เราดำเนินไปกับพระเจ้าของเรา. นอกจากนั้น ซะฟันยา 2:2, 3 (ล.ม.) เตือนเราให้ระลึกว่าหากเราประสงค์จะได้รับการกำบังไว้ในระหว่างวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา เราต้อง “แสวงหาความชอบธรรม” ก่อนวันนั้นจะมาถึง.
18. บทความถัดไปจะตอบคำถามอะไร?
18 สมัยสุดท้ายอันวิกฤตินี้จึงเป็น “เวลาที่โปรดเป็นพิเศษ” ที่จะสำแดงความยุติธรรม. (2 โกรินโธ 6:2, ล.ม.) เราสามารถแน่ใจว่าหากเราได้เอา ‘ความชอบธรรมเป็นเครื่องห่อหุ้ม’ และเอา ‘ความยุติธรรมเป็นเสื้อคลุม’ เช่นเดียวกับโยบ พระยะโฮวาจะทรงอวยพรเรา. (โยบ 29:14) ความเชื่อในความยุติธรรมของพระยะโฮวาจะช่วยเราอย่างไรให้มองดูอนาคตด้วยความมั่นใจ? นอกจากนั้น ขณะเราคอยท่า “แผ่นดินโลกใหม่” ที่ชอบธรรม ความยุติธรรมของพระเจ้าช่วยปกป้องเราอย่างไรทางฝ่ายวิญญาณ? (2 เปโตร 3:13) บทความถัดไปจะตอบคำถามดังกล่าว.
[เชิงอรรถ]
a ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีคำหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่สามคำ. คำหนึ่งคือมิชพาทʹ ซึ่งมักแปลกันว่า “ความยุติธรรม.” อีกสองคำคือทเซʹเดค และทเซดาคาห์ʹ ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกัน โดยมากแปลกันว่า “ความชอบธรรม.” คำภาษากรีกที่แปลกันว่า “ความชอบธรรม” (ดิไคโอซิʹเน) นั้นมีผู้ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น “คุณลักษณะแห่งความถูกต้องหรือเที่ยงธรรม.”
b ตัวอย่างที่พระเยซูทรงยกขึ้นมานี้นับว่าเหมาะมาก เพราะกฎหมายสืบปากของชาวยิวยอมให้เป็นพิเศษที่จะช่วยสัตว์ที่ตกอยู่ในความลำบากในวันซะบาโต. มีอีกหลายครั้งที่เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยประเด็นเดียวกันนี้ กล่าวคือ เป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ที่จะรักษาในวันซะบาโต.—ลูกา 13:10-17; 14:1-6; โยฮัน 9:13-16.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ ความยุติธรรมของพระเจ้าหมายความเช่นไร?
▫ พระเยซูทรงสอนเรื่องความยุติธรรมแก่นานาชาติอย่างไร?
▫ เพราะเหตุใดความชอบธรรมของพวกฟาริซายจึงบิดเบือนไป?
▫ เหตุใดเราจำต้องสำแดงความยุติธรรม?
[รูปภาพหน้า 8]
พระเยซูทรงสำแดงให้เห็นชัดถึงความกว้างขวางแห่งความยุติธรรมของพระเจ้า