พระธรรมเล่มที่ 22—เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม
ผู้เขียน: ซะโลโม
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 1020 ก.ส.ศ.
1. ในแง่ไหนที่พระธรรมนี้เป็น “เพลงแห่งบทเพลงทั้งหลาย”?
“โลกทั้งสิ้นไม่คู่ควรกับวันนั้นที่เพลงอันเลิศล้ำบทนี้ถูกมอบแก่ชาติยิศราเอล.” ด้วยวิธีนี้ อะคิบา “รับบี” ชาวยิวผู้มีชีวิตในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชแสดงความหยั่งรู้ค่าของตนต่อเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม.a ชื่อพระธรรมตรงกันกับคำขึ้นต้นที่ว่า “เพลงเลอเลิศ ซึ่งเป็นของซะโลโม.” ตามข้อความภาษาฮีบรูคำต่อคำ เพลงนี้คือ “เพลงแห่งบทเพลงทั้งหลาย” แสดงถึงความเลอเลิศสุดยอด คล้ายกับคำกล่าวที่ว่า “ฟ้าสวรรค์แห่งฟ้าสวรรค์” ซึ่งแสดงถึงสวรรค์สูงสุด. (บัญ. 10:14, ล.ม.) พระธรรมนี้ไม่ใช่การรวมเพลงต่าง ๆ แต่เป็นเพลงเดียว “เพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุด หนึ่งในเพลงดีที่สุดที่เคยมี หรือที่เคยแต่งไว้.”b
2. (ก) ใครเป็นผู้เขียนเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม ท่านมีคุณวุฒิเช่นไร และเหตุใดอาจเรียกได้ว่าพระธรรมนี้เป็นเพลงแห่งความรักที่ผิดหวัง? (ข) พระธรรมนี้เขียนขึ้นที่ไหน และเมื่อไร?
2 กษัตริย์ซะโลโมแห่งยะรูซาเลมเป็นผู้เขียนเพลงนี้ ดังที่คำนำของเพลงนี้ยืนยัน. ท่านมีคุณวุฒิอย่างยิ่งที่จะเขียนบทกวีภาษาฮีบรูอันเป็นแบบฉบับแห่งความไพเราะยิ่งนี้. (1 กษัต. 4:32) พระธรรมนี้เป็นบทกวีพรรณนาชีวิตชนบทซึ่งเต็มไปด้วยความหมายและมีสีสันที่สุดในการพรรณนาความงดงาม. ผู้อ่านที่สามารถสร้างจินตภาพฉากเหตุการณ์ทางตะวันออกย่อมจะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นอีก. (ไพเราะ. 4:11, 13; 5:11; 7:4) โอกาสที่เขียนพระธรรมนี้ก็เป็นโอกาสพิเศษสุดไม่เหมือนใคร. กษัตริย์ซะโลโมผู้ยิ่งใหญ่, เลิศด้วยปัญญา, ทรงอำนาจยิ่งใหญ่, และรุ่งโรจน์ด้วยความมั่งคั่ง ซึ่งยังความชื่นชมแม้แต่จากราชินีแห่งซีบา กลับไม่อาจทำให้สาวชนบทซึ่งท่านหลงรักประทับใจได้. เนื่องด้วยความรักมั่นคงที่เธอมีต่อหนุ่มคนเลี้ยงแกะ กษัตริย์จึงต้องพ่าย. ฉะนั้น จึงอาจเรียกพระธรรมนี้อย่างเหมาะสมว่า เพลงแห่งความรักที่ผิดหวังของซะโลโม. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงดลใจท่านให้แต่งเพลงนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลในยุคหลัง ๆ. ท่านเขียนเพลงนี้ที่ยะรูซาเลม. อาจเป็นในราวปี 1020 ก.ส.ศ. ไม่กี่ปีหลังจากสร้างพระวิหารเสร็จ. ตอนที่เขียนเพลงนี้ ซะโลโมมี “มเหสีหกสิบองค์, และนางห้ามแปดสิบคน” เมื่อเทียบกับ “นางห้ามเจ็ดร้อยคน, เป็นเชื้อกษัตริย์, และนางห้ามธรรมดาสามร้อยคน” ในตอนปลายรัชกาล.—ไพเราะ. 6:8; 1 กษัต. 11:3.
3. มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ว่าเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโมเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์?
3 การที่เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโมเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์ไม่มีใครคัดค้านเลยในยุคแรก ๆ. ถือกันว่าเพลงไพเราะเป็นส่วนที่แยกออกไม่ได้และมีขึ้นโดยการดลใจแห่งสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมานานก่อนถึงยุคสากลศักราช. พระธรรมนี้ถูกรวมไว้ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์. โยเซฟุสได้แทรกพระธรรมนี้ไว้ในรายการหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของเขา. ดังนั้น พระธรรมนี้จึงมีหลักฐานพิสูจน์การเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์เช่นเดียวกับที่มีการอ้างสนับสนุนพระธรรมอื่น ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู.
4. (ก) การที่ไม่มีคำว่า “พระเจ้า” พิสูจน์ไหมว่าเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโมไม่เป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์? (ข) อะไรที่ชี้ชัดว่าพระธรรมนี้เป็นส่วนที่โดดเด่นในสารบบพระคัมภีร์?
4 อย่างไรก็ตาม บางคนตั้งข้อสงสัยเรื่องการที่พระธรรมนี้เป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่มีการกล่าวอ้างถึงพระเจ้าในพระธรรมนี้. การไม่มีกล่าวถึงพระเจ้าคงไม่ทำให้พระธรรมนี้ขาดคุณสมบัติ พอ ๆ กับการที่เพียงแต่มีคำว่า “พระเจ้า” คงไม่ทำให้พระธรรมนี้เป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์. พระนามของพระเจ้ามีปรากฏจริง ๆ ในรูปคำย่อที่บท 8 ข้อ 6 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวถึงความรักว่าเป็น “เปลวไฟของยาห์.” ไม่มีข้อสงสัยว่าพระธรรมนี้ประกอบเป็นส่วนของหนังสือที่พระเยซูคริสต์ทรงกล่าวพาดพิงถึงด้วยการยอมรับเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายค้นดูพระคัมภีร์ เพราะเจ้าคิดว่าโดยทางพระคัมภีร์เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์.” (โย. 5:39, ล.ม.) นอกจากนี้ คำพรรณนาอันทรงพลังในพระธรรมนี้ถึงเรื่องคุณสมบัติอันดีเยี่ยมของความรักที่มีต่อกัน ดังที่มีอยู่ในความหมายฝ่ายวิญญาณระหว่างพระคริสต์และ “เจ้าสาว” ของพระองค์ ชี้ชัดว่าเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโมเป็นส่วนที่โดดเด่นในสารบบพระคัมภีร์.—วิ. 19:7, 8; 21:9.
เนื้อเรื่องในเพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม
5. (ก) จะระบุตัวบุคคลต่าง ๆ ในฉากเหตุการณ์นี้อย่างไร? (ข) มีการแสดงถึงอรรถบทอะไรที่น่าประทับใจ?
5 เนื้อเรื่องในพระธรรมนี้เสนอโดยชุดบทสนทนา. มีการเปลี่ยนตัวผู้พูดโดยตลอด. ผู้มีส่วนในการพูดได้แก่ กษัตริย์ซะโลโมแห่งยะรูซาเลม, คนเลี้ยงแกะ, สาวชาวชูเลมคนรักของเขา, พวกพี่ชายของเธอ, เหล่านางสนม (“บุตรีแห่งกรุงยะรูซาเลม”), และพวกผู้หญิงชาวยะรูซาเลม (“บุตรีแห่งซีโอน”). (ไพเราะ. 1:5-7; 3:5, 11) จะระบุตัวพวกเขาได้โดยสิ่งที่เขาพูดถึงตัวเองหรือสิ่งที่มีการพูดกับเขา. เรื่องเริ่มต้นใกล้ชูเนม หรือชูเลม ที่ซึ่งซะโลโมตั้งค่ายพร้อมกับข้าราชบริพาร. เรื่องนี้เสนออรรถบทที่น่าประทับใจ นั่นคือ ความรักที่สาวชนบทแห่งหมู่บ้านชูเลมมีต่อเพื่อนคนเลี้ยงแกะของเธอ.
6. มีการสนทนาอะไรระหว่างหญิงสาวกับพวกนางสนมในค่ายของซะโลโม?
6 สาวชาวชูเลมในค่ายของซะโลโม (1:1-14). หญิงสาวปรากฏตัวในกระโจมของกษัตริย์ซึ่งนำตัวเธอเข้ามา แต่เธอกังวลแต่จะได้พบชายเลี้ยงแกะคนรักของเธอ. ด้วยความคิดถึงคนรัก เธอพูดออกมาราวกับว่าเขาอยู่ที่นั่น. พวกนางสนม “บุตรีแห่งกรุงยะรูซาเลม” ที่ปรนนิบัติกษัตริย์ มองสาวชาวชูเลมด้วยความอยากรู้อยากเห็นเนื่องด้วยผิวกายที่คล้ำของเธอ. เธออธิบายว่า เธอถูกแสงแดดแผดเผาขณะที่ดูแลสวนองุ่นของพวกพี่ชาย. จากนั้น เธอพูดถึงคนรักราวกับว่าเธอเป็นอิสระและถามว่าจะพบเขาได้ที่ไหน. พวกนางสนมปล่อยให้เธอออกไปและเลี้ยงฝูงแกะของเธอใกล้ ๆ กับกระโจมของพวกคนเลี้ยงแกะ.
7. ซะโลโมรุกคืบอย่างไร แต่ประสบผลเช่นไร?
7 ซะโลโมเข้ามา. ท่านไม่เต็มใจให้เธอไป. ท่านยกย่องความงามของเธอและสัญญาจะประดับตัวเธอด้วย “เครื่องประดับทองคำ” และ “ลูกปัดเงิน.” สาวชาวชูเลมต้านทานการรุกคืบของท่านและแจ้งให้ท่านทราบว่า เธอจะรักได้ก็แต่คนรักของเธอเท่านั้น.—1:11, ฉบับแปลใหม่.
8. คนรักของหญิงสาวชูใจเธออย่างไร? เธอเฝ้ารำพึงถึงสิ่งใด?
8 ชายเลี้ยงแกะผู้เป็นคนรักปรากฏตัว (1:15–2:2). คนรักของสาวชาวชูเลมเดินทางมาที่ค่ายของซะโลโมและชูใจเธอ. เขาทำให้เธอมั่นใจในความรักของเขา. สาวชาวชูเลมรำพึงรำพันถึงการอยู่ใกล้คนรักและความเพลิดเพลินจากการอยู่กับเขาในทุ่งนาและป่า.
9. หญิงสาวและคนรักของเธอประเมินค่าความงามของเธออย่างไร?
9 สาวชาวชูเลมเป็นคนเจียมตัว. เธอกล่าวว่า “ดิฉันเหมือนดอกฝรั่นในทุ่งชาโรน.” ส่วนชายเลี้ยงแกะคนรักของเธอคิดว่าไม่มีใครเปรียบกับเธอได้ โดยกล่าวว่า “ดอกพลับพลึงท่ามกลางต้นกระชับนั้นอย่างไร ที่รักของฉันก็อยู่เด่นในท่ามกลางสาวอื่น ๆ อย่างนั้น.”—2:1, 2, ฉบับแปลใหม่.
10. หญิงสาวระลึกถึงอะไรเกี่ยวกับความรักของเธอ?
10 หญิงสาวเฝ้าคิดถึงคนเลี้ยงแกะของเธอ (2:3–3:5). เมื่อถูกแยกจากคนรักอีกครั้ง สาวชาวชูเลมแสดงให้เห็นว่าเธอยกย่องเขาเหนือกว่าคนอื่น ๆ ทั้งหมดอย่างไร และเธอได้บอกเหล่าบุตรีแห่งยะรูซาเลมว่า พวกนางอยู่ใต้คำปฏิญาณที่ต้องไม่พยายามปลุกเร้าความรักต่อคนอื่นที่เธอไม่ต้องการให้มีขึ้นในตัวเธอ. สาวชาวชูเลมระลึกถึงคราวเมื่อคนเลี้ยงแกะของเธอตอบรับเสียงเรียกของเธอและเชื้อเชิญเธอไปยังภูเขาในฤดูใบไม้ผลิ. เธอเห็นเขาปีนขึ้นบนภูเขา โลดเต้นด้วยความยินดี. เธอได้ยินเสียงเขาร้องบอกเธอว่า “แม่คนรักของฉันเอ๋ย, เธอจงลุกขึ้นเถอะ, แม่คนงามแฉล้มแช่มช้อยของฉัน, แม่จงมาเถิด.” อย่างไรก็ตาม พวกพี่ชายของเธอซึ่งไม่มั่นใจในความมั่นคงของเธอ รู้สึกโกรธและสั่งให้เธอทำงานเฝ้าสวนองุ่น. เธอบอกอย่างเปิดเผยว่า “ตัวพ่อคนรักของดิฉันก็เป็นกรรมสิทธิ์ของดิฉัน, และตัวดิฉันก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา” และอ้อนวอนให้เขารีบมาอยู่ข้าง ๆ เธอ.—2:13, 16.
11. สาวชาวชูเลมเตือนบุตรีแห่งยะรูซาเลมให้ระลึกถึงคำปฏิญาณอะไรอีกครั้ง?
11 สาวชาวชูเลมพรรณนาถึงการกักกันตัวเธอในค่ายของซะโลโม. ตอนกลางคืนเมื่ออยู่บนเตียง เธอคิดถึงคนเลี้ยงแกะของเธอ. เธอเตือนบุตรีแห่งยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่งว่า พวกเขาอยู่ภายใต้คำปฏิญาณที่จะไม่ปลุกเร้าความรักที่เธอไม่ต้องการขึ้นในตัวเธอ.
12. คนรักของเธอให้กำลังใจเธออย่างไรอีกเมื่อซะโลโมพาหญิงสาวไปยังยะรูซาเลม?
12 สาวชาวชูเลมในกรุงยะรูซาเลม (3:6–5:1). ซะโลโมกลับสู่ยะรูซาเลมด้วยสง่าราศีของกษัตริย์และฝูงชนต่างชื่นชมกับขบวนแห่ของท่าน. ชายเลี้ยงแกะคนรักไม่ได้ละทิ้งเธอในช่วงวิกฤตินี้. เขาติดตามเธอซึ่งมีผ้าคลุมหน้าไว้ และเข้าไปหาเธอ. เขาให้กำลังใจคนรักของเขาด้วยถ้อยคำแสดงความรักซึ่งทำให้อุ่นใจ. เธอบอกเขาว่าเธออยากเป็นอิสระและไปจากกรุงนี้ และด้วยเหตุนั้น เขาร้องโพล่งออกมาด้วยความรักว่า “โอ้แม่คนรักของฉันเอ๋ย, เธอช่างงามพร้อมสะพรั่งไปทั้งนั้น.” (4:7) เพียงแค่เธอชายตามองแวบเดียวก็ทำให้หัวใจเขาเต้นถี่ขึ้น. การแสดงความรักของเธอดีกว่าเหล้าองุ่น กลิ่นหอมของเธอเหมือนกลิ่นภูเขาละบาโนน ผิวเธอเหมือนอุทยานแห่งทับทิม. หญิงสาวเชิญคนรักให้เข้ามายัง “สวนของเขา” และเขาตอบรับ. เหล่าสตรีที่เป็นมิตรแห่งยะรูซาเลมสนับสนุนทั้งสองว่า “โอ้สหายทั้งหลายเอ๋ย, จงรับประทานเถิด, ท่านทั้งปวงผู้เป็นที่รักใคร่เอ๋ย, จงดื่ม, และดื่มให้อิ่มหนำเถิด.”—4:16; 5:1.
13. หญิงสาวฝันอะไร และเธอพรรณนาถึงคนรักอย่างไรแก่พวกนางสนม?
13 ความฝันของหญิงสาว (5:2–6:3). สาวชาวชูเลมเล่าความฝันเรื่องหนึ่งให้พวกนางสนมฟัง ในฝันนั้นเธอได้ยินเสียงเคาะ. คนรักของเธออยู่ข้างนอก ขอเธอเปิดประตูให้เขาเข้ามา. แต่เธอเข้านอนแล้ว. ในที่สุด เมื่อเธอลุกขึ้นเปิดประตู เขาก็หายไปในความมืดเสียแล้ว. เธอออกไปตามหาเขาแต่ไม่พบ. พวกทหารยามปฏิบัติต่อเธออย่างเลวร้าย. เธอบอกพวกนางสนมว่า หากพวกนางพบคนรักของเธอ พวกนางต้องบอกเขาว่าเธอเป็นไข้ใจ. พวกนางถามว่าอะไรทำให้เขายอดเยี่ยมขนาดนั้น. เธอพรรณนาถึงเขาอย่างไพเราะว่า เขา “ผิวขาวอมเลือด, เขาเป็นเอกในท่ามกลางสิบพันคน.” (5:10) พวกนางสนมถามเธอว่าเขาไปไหน. เธอบอกว่าเขาได้ไปเลี้ยงแกะในสวน.
14. แม้จะใช้ทุกกลวิธี ซะโลโมพ่ายแพ้อย่างไรในการขอความรัก?
14 การรุกคืบครั้งสุดท้ายของซะโลโม (6:4–8:4). กษัตริย์ซะโลโมเข้าพบสาวชาวชูเลม. อีกครั้งหนึ่งที่ท่านชมว่าเธอสวยนัก น่ารักยิ่งกว่า “มเหสีหกสิบองค์, และนางห้ามแปดสิบคน” แต่เธอปฏิเสธท่าน. (6:8) เธออยู่ที่นี่ก็เพราะหน้าที่การงานทำให้เธอมาใกล้ค่ายของท่าน. เธอถามว่า ‘ท่านเห็นอะไรในตัวดิฉัน?’ ซะโลโมฉวยโอกาสจากคำถามที่ไร้เดียงสานั้นเพื่อบอกถึงความงามของเธอตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่หญิงสาวต้านทานกลวิธีทุกอย่างของท่าน. เธอประกาศอย่างกล้าหาญถึงความจงรักภักดีที่เธอมีต่อคนเลี้ยงแกะของเธอ และคร่ำครวญหาเขา. เธอเตือนเหล่าบุตรีแห่งยะรูซาเลมเป็นครั้งที่สามว่าพวกเขาอยู่ใต้คำปฏิญาณที่จะไม่ปลุกเร้าความรักที่ใจเธอไม่ต้องการ. ซะโลโมให้เธอกลับบ้าน. ท่านพ่ายแพ้ในการขอความรักจากสาวชาวชูเลม.
15. (ก) หญิงสาวยื่นคำขออะไรต่อพวกพี่ชาย? (ข) ความเลื่อมใสโดยเฉพาะมีชัยอย่างไร?
15 สาวชาวชูเลมกลับบ้าน (8:5-14). พวกพี่ชายเห็นเธอเดินเข้ามาแต่ไม่ใช่เพียงลำพัง. เธอกำลัง “อิงแอบแนบมากับคู่รัก.” เธอหวนนึกถึงตอนที่พบกับคู่รักใต้ต้นแอปเปิลและบอกเขาถึงความรักที่ไม่มีวันสลายซึ่งเธอมีต่อเขา. มีการกล่าวถึงความเห็นก่อนหน้านี้ของพวกพี่ชายอันเกี่ยวกับความห่วงใยที่เขามีต่อเธอผู้เป็น “น้องสาว” แต่เธอบอกว่าเธอได้พิสูจน์ตัวแล้วว่าเป็นสตรีที่เป็นผู้ใหญ่และมั่นคง. (8:8) บัดนี้ขอให้พวกพี่ชายเห็นชอบให้เธอแต่งงาน. กษัตริย์ซะโลโมอาจมั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคาร! แต่เธออิ่มใจพอใจกับสวนองุ่นแปลงเดียวของเธอ เพราะเธอรักคนที่เป็นสุดที่รักยิ่งของเธอคนเดียว. ในกรณีของเธอ ความรักนี้เข้มแข็งเหมือนความตายและร้อนแรงประหนึ่ง “เปลวไฟของยาห์.” การยืนยันในความเลื่อมใสโดยเฉพาะ “ไม่ยอมแพ้เหมือนเชโอล” ได้ชัยชนะและได้นำเธอสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันอันล้ำเลิศกับชายเลี้ยงแกะคนรักของเธอ.—8:5, 6, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
16. บทเรียนอันมีค่าอะไรบ้างมีสอนไว้ในบทเพลงนี้?
16 มีการสอนบทเรียนอะไรบ้างในเพลงแห่งความรักเพลงนี้ที่คนของพระเจ้าอาจพบว่าเป็นประโยชน์ในทุกวันนี้? ความซื่อสัตย์, ความภักดี, และความซื่อสัตย์มั่นคงต่อหลักการของพระเจ้ามีแสดงไว้อย่างชัดเจน. บทเพลงนี้สอนถึงความงดงามของคุณความดีและความไร้ตำหนิในตัวผู้มีความรักแท้. บทเพลงนี้สอนว่าความรักแท้คงอยู่อย่างที่ไม่อาจพิชิตได้, ไม่อาจทำให้สูญสลายได้, ซื้อไม่ได้. คริสเตียนหนุ่มสาวรวมทั้งสามีและภรรยาสามารถได้รับประโยชน์จากตัวอย่างที่เหมาะสมแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงเมื่อเกิดการล่อใจขึ้นและเมื่อเผชิญการโน้มน้าวใจ.
17. (ก) เปาโลแสดงอย่างไรว่าบทเพลงนี้ถูกเขียนไว้เพื่อสั่งสอนประชาคมคริสเตียน? (ข) เหตุใดเปาโลจึงอาจคิดถึงบทเพลงนี้เมื่อเขียนถึงคริสเตียนที่โกรินโธและเอเฟโซ? (ค) อาจทำการเปรียบเทียบที่น่าสนใจเช่นไรบ้างกับข้อความที่โยฮันเขียนโดยการดลใจ?
17 แต่ว่าเพลงไพเราะที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งประชาคมคริสเตียนอีกด้วย. พวกคริสเตียนในศตวรรษแรกยอมรับว่าเพลงไพเราะเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ คนหนึ่งในพวกเขาเขียนว่า “สิ่งสารพัตรที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย. เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.” (โรม 15:4) เปาโล ผู้เขียนที่ได้รับการดลใจคนเดียวกันนี้คงคำนึงถึงความรักเดียวใจเดียวที่สาวชาวชูเลมมีต่อคนเลี้ยงแกะของเธอเมื่อท่านเขียนถึงประชาคมคริสเตียนว่า “เพราะว่าข้าพเจ้าหวงแหนท่านทั้งหลายตามอย่างความหวงแหนของพระเจ้า เหตุว่าข้าพเจ้าได้หมั้นพวกท่านไว้สำหรับสามีผู้เดียว, เพื่อจะได้ถวายพวกท่านให้แก่พระคริสต์เป็นพรหมจารีอันบริสุทธิ์.” อนึ่ง เปาโลยังเขียนถึงความรักที่พระคริสต์มีต่อประชาคมด้วยว่าเหมือนความรักที่สามีมีต่อภรรยา. (2 โก. 11:2; เอเฟ. 5:23-27) พระเยซูคริสต์ไม่เพียงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งมอบความยินดีสุดจะพรรณนาได้เกี่ยวกับ “การอภิเษกสมรส” กับพระองค์ในสวรรค์แก่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์อีกด้วย.—วิ. 19:9, ล.ม.; โย. 10:11.
18. โดยวิธีใดที่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์เยซูอาจได้รับประโยชน์จากตัวอย่างของสาวชาวชูเลม?
18 แน่นอน สาวกผู้ถูกเจิมเหล่านี้ของพระเยซูคริสต์ย่อมได้รับประโยชน์มากมายจากตัวอย่างของหญิงสาวชาวชูเลม. พวกเขาเช่นกันที่ต้องภักดีในความรักของตน ไม่ถูกชักนำด้วยสิ่งชวนตาชวนใจทางวัตถุเงินทองของโลก รักษาความสมดุลในความซื่อสัตย์มั่นคงตลอดไปจนบรรลุบำเหน็จ. พวกเขาเอาใจจดจ่อที่สิ่งฝ่ายเบื้องบนและ ‘แสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก.’ พวกเขายินดีตอบรับความรักของพระเยซูคริสต์ผู้เลี้ยงแกะของพวกเขา. พวกเขาปีติยินดีที่รู้ว่า ผู้เป็นที่รักผู้นี้ แม้จะมองไม่เห็น แต่อยู่ใกล้ชิดเคียงข้างพวกเขา ร้องบอกพวกเขาให้กล้าหาญและเอาชนะโลก. โดยมีความรักที่ไม่อาจดับได้ ซึ่งร้อนแรงเหมือน “เปลวไฟของยาห์” ต่อพระมหากษัตริย์ผู้เลี้ยงฝูงแกะ พวกเขาจะชนะแน่นอนและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในฐานะรัชทายาทร่วมแห่งราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ในสวรรค์. โดยวิธีนี้ พระนามของยาห์จะได้รับการทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์!—มัด. 6:33; โย. 16:33, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a มิชนาห์ของชาวยิว (ยาดายิม 3:5).
b อรรถาธิบาย ของคลาร์ก (ภาษาอังกฤษ) เล่มสาม หน้า 841.