อักษรรูปลิ่มโบราณและคัมภีร์ไบเบิล
หลังจากภาษาของมนุษยชาติสับสนที่บาเบล ก็ได้มีการพัฒนาระบบการเขียนขึ้นมาหลายระบบ. ผู้คนที่อยู่ในเมโสโปเตเมีย เช่น ชาวซูเมอร์และชาวบาบิโลน ใช้อักษรรูปลิ่ม. ตามที่ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ระบบการเขียนแบบนี้ใช้อักษรที่เป็นเครื่องหมายรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเขียนโดยใช้เครื่องมือเขียนที่ตรงปลายเป็นรูปลิ่มกดลงบนดินเหนียวเปียก.
นักโบราณคดีได้ขุดพบบทจารึกอักษรรูปลิ่มซึ่งมีเนื้อความบอกเกี่ยวกับผู้คนและเหตุการณ์ที่พระคัมภีร์กล่าวถึง. เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบการเขียนโบราณแบบนี้? และบทจารึกเหล่านี้ให้ข้อพิสูจน์ยืนยันความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
บันทึกที่คงอยู่ยาวนาน
ผู้คงแก่เรียนเชื่อว่าในตอนแรกระบบการเขียนที่ใช้ในเมโสโปเตเมียเป็นอักษรภาพ ซึ่งใช้สัญลักษณ์หรือภาพแทนคำหรือความคิด. ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายที่ใช้แทนวัวในตอนแรกเริ่มมีลักษณะที่ดูคล้ายหัวของวัว. เมื่อมีความจำเป็นมากขึ้นในการเก็บบันทึก จึงได้พัฒนาการเขียนโดยใช้อักษรรูปลิ่ม. หนังสือคัมภีร์ไบเบิลฉบับศึกษาเชิงโบราณคดีของเอ็นไอวีอธิบายว่า “ถึงตอนนี้เครื่องหมายต่าง ๆ ไม่เพียงสามารถใช้แทนคำเท่านั้น แต่ใช้แทนพยางค์ได้ด้วย โดยที่สามารถรวมหลายพยางค์เข้าด้วยกันเพื่อแทนพยางค์ต่าง ๆ ของคำคำหนึ่ง.” ในที่สุด เครื่องหมายต่าง ๆ ซึ่งมีประมาณ 200 เครื่องหมายก็ทำให้อักษรรูปลิ่มสามารถ “แทนคำพูดต่าง ๆ ได้จริง ๆ โดยแสดงแง่มุมที่ซับซ้อนของคำศัพท์และไวยากรณ์ได้หมด.”
เมื่อถึงสมัยของอับราฮาม คือประมาณปี 2,000 ก่อนสากลศักราช อักษรรูปลิ่มก็พัฒนามากแล้ว. ในช่วง 20 ศตวรรษต่อมา มีประมาณ 15 ภาษาที่ใช้ตัวอักษรชนิดนี้. บทจารึกอักษรรูปลิ่มที่พบมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์เขียนบนแผ่นดินเหนียว. ช่วง 150 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบแผ่นดินเหนียวดังกล่าวมากมายในเมืองอูร์, อูรัก, บาบิโลน, นิมรุด, นิพพูร์, อาชูร์, นีเนเวห์, มารี, เอบลา, อูการิต, และอะมาร์นา. วารสารการเดินทางอันยาวนานของโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่ามีการขุดพบแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มแล้วราว ๆ หนึ่งถึงสองล้านแผ่น และพบเพิ่มอีกประมาณ 25,000 แผ่นทุก ๆ ปี.”
ผู้คงแก่เรียนด้านอักษรรูปลิ่มทั่วโลกมีงานแปลมากมายท่วมท้น. ตามที่เคยมีการประมาณไว้ “ผู้คงแก่เรียนในสมัยปัจจุบันได้อ่านบทจารึกอักษรรูปลิ่มไปแล้ว (แค่อย่างน้อยแผ่นละครั้ง) เพียง 1 ใน 10 ของบทจารึกที่มีอยู่.”
การค้นพบบทจารึกอักษรรูปลิ่มที่มีสองภาษาและสามภาษาในข้อเขียนเดียวกันเป็นกุญแจที่ช่วยไขความหมายของอักษรรูปลิ่ม. ผู้คงแก่เรียนดูออกว่าเอกสารเหล่านี้มีเนื้อความเหมือนกันในภาษาต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเขียนโดยใช้ตัวอักษรรูปลิ่ม. สิ่งที่ช่วยกระบวนการถอดความหมายก็คือการสังเกตข้อเท็จจริงที่ว่ามักมีการกล่าวซ้ำชื่อ, ตำแหน่ง, วงศ์วานของผู้ปกครอง, และแม้แต่ถ้อยคำเยินยอตัวเอง.
พอถึงทศวรรษ 1850 ผู้คงแก่เรียนก็สามารถอ่านภาษาที่ใช้ร่วมกันของชาวตะวันออกกลางโบราณ คือภาษาอักคาดหรือภาษาอัสซีเรีย-บาบิโลน ซึ่งเขียนด้วยอักษรรูปลิ่ม. สารานุกรมบริแทนนิกาอธิบายว่า “เมื่อถอดความหมายภาษาอักคาดได้แล้ว ก็สามารถเข้าใจส่วนสำคัญที่สุดของระบบได้ และสามารถวางแบบแผนไว้สำหรับการแปลภาษาอื่นที่ใช้อักษรรูปลิ่ม.” ข้อเขียนเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระคัมภีร์?
พยานหลักฐานที่สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเมืองเยรูซาเลมอยู่ในการปกครองโดยกษัตริย์หลายองค์ของชาวคะนาอันจนกระทั่งดาวิดพิชิตเมืองนี้ ประมาณปี 1070 ก่อนสากลศักราช. (ยโฮ. 10:1; 2 ซามู. 5:4-9) แต่ผู้คงแก่เรียนบางคนสงสัยเรื่องนี้. อย่างไรก็ตาม ในปี 1887 หญิงชาวนาคนหนึ่งพบแผ่นดินเหนียวแผ่นหนึ่งที่เมืองอะมาร์นา ประเทศอียิปต์. ในที่สุดผู้คงแก่เรียนก็รู้ว่าข้อความประมาณ 380 ข้อความที่พบที่นั่นเป็นสารโต้ตอบระหว่างผู้ปกครองของอียิปต์ (อาเมนโฮเทปที่ 3 และอะเคนาทน) กับอาณาจักรทั้งหลายของคะนาอัน. มีจดหมายหกฉบับที่เขียนมาจากอับดี-เฮบา ผู้ปกครองเมืองเยรูซาเลม.
วารสารบทวิจารณ์โบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “แผ่นดินเหนียวที่พบที่อะมาร์นาอ้างถึงอย่างชัดเจนว่าเยรูซาเลมเป็นเมือง ไม่ใช่ที่ดินส่วนตัว และอ้างถึงตำแหน่งของอับดี-เฮบาว่าเป็น . . . ผู้สำเร็จราชการซึ่งมีเรือนที่พักและทหารประจำการชาวอียิปต์ 50 นายในเยรูซาเลม. ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ว่าเยรูซาเลมเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา.” วารสารเดียวกันนี้กล่าวในภายหลังอีกว่า “เราอาจมั่นใจได้ โดยอาศัยจดหมายที่พบที่อะมาร์นา ว่ามีเมืองหนึ่งที่ค่อนข้างโดดเด่นในยุคนั้นจริง ๆ.”
ชื่อต่าง ๆ ในบันทึกของอัสซีเรียและบาบิโลน
ชาวอัสซีเรีย และในเวลาต่อมาชาวบาบิโลน เขียนประวัติศาสตร์ของตนบนแผ่นดินเหนียว เช่นเดียวกับที่เขียนบนกระบอกดินเหนียว, แท่งปริซึม, และอนุสาวรีย์. ดังนั้น เมื่อผู้คงแก่เรียนถอดความอักษรรูปลิ่มภาษาอักคาด พวกเขาจึงพบว่าบันทึกเหล่านั้นกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลด้วย.
หนังสือคัมภีร์ไบเบิลในพิพิธภัณฑสถานบริเตน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ในคำปราศรัยเมื่อปี 1870 ต่อสมาคมโบราณคดีด้านคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเพิ่งก่อตั้ง ดร. แซมมูเอล เบิร์ช สามารถระบุ [ในข้อความที่เขียนด้วยอักษรรูปลิ่ม] ว่าเป็นชื่อของกษัตริย์ชาวฮีบรูต่อไปนี้: อัมรี, อาฮาบ, เยฮู, อะซาระยา . . . , มะนาเฮ็ม, เพคา, โฮเซอา, ฮิศคียาห์และมะนาเซห์, กษัตริย์อัสซีเรียต่อไปนี้: ทิกลัท-พิเลเซอร์ . . . [ที่ 3], ซาร์กอน, ซันเฮริบ, เอซัรฮัดโดนและอะเชอร์บานิปาล, . . . และกษัตริย์ซีเรียดังต่อไปนี้: เบนฮะดัด, ฮะซาเอลและระซีน.”
หนังสือคัมภีร์ไบเบิลและการวัดอายุโดยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี (ภาษาอังกฤษ) เปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอิสราเอลและยูดาห์กับบทจารึกอักษรรูปลิ่มโบราณ. ผลเป็นอย่างไร? “รวมทั้งหมดแล้ว มีชื่อกษัตริย์ยูดาห์และอิสราเอล 15 หรือ 16 องค์ปรากฏอยู่ในบันทึกต่าง ๆ ของประเทศอื่น ๆ ในสมัยนั้น ซึ่งก็สอดคล้องกันอย่างดีกับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพงศาวดารกษัตริย์ทั้งสองเล่มในคัมภีร์ไบเบิลทั้งในเรื่องชื่อและสมัยที่คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่. ไม่มีชื่อกษัตริย์แม้แต่ชื่อเดียวที่ดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางหรือเป็นชื่อที่เราไม่รู้จักอยู่แล้ว.”
บทจารึกอักษรรูปลิ่มที่มีชื่อเสียงซึ่งค้นพบในปี 1879 คือกระบอกดินเหนียวของไซรัส บันทึกไว้ว่าหลังจากขึ้นครองราชย์ในปี 539 ก่อนสากลศักราชไซรัสก็ปล่อยเชลยคืนสู่มาตุภูมิตามแนวนโยบายของเขา. ในบรรดาชาติต่าง ๆ ที่รับประโยชน์จากนโยบายนี้ก็มีชาวยิวรวมอยู่ด้วย. (เอษรา 1:1-4) ผู้คงแก่เรียนหลายคนในศตวรรษที่ 19 เคยตั้งข้อสงสัยว่าที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่. อย่างไรก็ตาม เอกสารอักษรรูปลิ่มจากสมัยที่เปอร์เซียเป็นมหาอำนาจ รวมทั้งกระบอกดินเหนียวของไซรัสด้วย ให้พยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อมั่นว่าประวัติบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลถูกต้องแม่นยำ.
ในปี 1883 มีการค้นพบคลังเอกสารแห่งหนึ่งซึ่งมีบทจารึกอักษรรูปลิ่มมากกว่า 700 ชิ้นที่เมืองนิพพูร์ ใกล้ ๆ บาบิโลน. ในบรรดาชื่อ 2,500 ชื่อที่มีการกล่าวถึง มีประมาณ 70 ชื่อที่ระบุได้ว่าเป็นชาวยิว. เอดวิน ยามาอุชิ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนเหล่านี้ “เป็นผู้ร่วมลงนามในสัญญาต่าง ๆ, ตัวแทน, พยาน, คนเก็บภาษี, และข้าราชสำนัก.” หลักฐานที่ว่าชาวยิวมีการติดต่อเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบาบิโลนอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าสำคัญทีเดียว. ข้อเท็จจริงนี้ให้หลักฐานยืนยันคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า แม้ว่า “คนที่เหลืออยู่” ของชาวอิสราเอลหลุดพ้นจากการเป็นเชลยในอัสซีเรียและบาบิโลนและกลับมายังยูเดีย แต่หลายคนไม่ได้กลับไป.—ยซา. 10:21, 22, ฉบับ R73.
ในช่วงสหัสวรรษแรกก่อนสากลศักราช มีการใช้อักษรรูปลิ่มควบคู่กับการเขียนโดยใช้พยัญชนะ. แต่ในที่สุดชาวอัสซีเรียและชาวบาบิโลนก็เลิกใช้อักษรรูปลิ่มและเปลี่ยนมาเขียนโดยใช้พยัญชนะ.
ยังมีแผ่นดินเหนียวอีกหลายแสนแผ่นซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ที่ต้องศึกษากันต่อไป. แผ่นดินเหนียวที่ผู้เชี่ยวชาญได้ถอดความกันไปแล้วให้พยานหลักฐานที่หนักแน่นในเรื่องความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล. ใครจะรู้ล่ะว่ายังจะมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมอะไรอีกที่อาจมาจากบทจารึกที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้ศึกษา?
[ที่มาของภาพหน้า 21]
Photograph taken by courtesy of the British Museum