ผู้ปกครองทั้งหลายจงตัดสินด้วยความยุติธรรม
“จงพิจารณาคดีของพี่น้องและตัดสินความตามยุติธรรม.”—พระบัญญัติ 1:16, คัมภีร์ฉบับแปลใหม่.
1. เกี่ยวกับการพิพากษา ได้มีการมอบอำนาจอะไร และเรื่องนี้หมายความอย่างไรสำหรับผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์?
ในฐานะผู้พิพากษาองค์ใหญ่ยิ่ง พระยะโฮวาทรงมอบอำนาจตัดสินความแก่พระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 5:27) ในฐานะทรงเป็นประมุขแห่งประชาคมคริสเตียน พระคริสต์จึงทรงใช้ชนจำพวกบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดและคณะกรรมการปกครองของบ่าวนั้นทำการแต่งตั้งผู้ปกครอง ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินความเป็นครั้งคราว. (มัดธาย 24:45-47; 1 โกรินโธ 5:12, 13; ติโต 1:5, 9) ในฐานะเป็นผู้พิพากษาตัวแทน คนเหล่านี้จึงอยู่ใต้พันธกรณีที่จะติดตามตัวอย่างของพระเจ้ายะโฮวา และพระเยซูคริสต์ผู้พิพากษาทางภาคสวรรค์อย่างใกล้ชิด.
พระคริสต์—ผู้พิพากษาตัวอย่าง
2, 3. (ก) คำพยากรณ์อะไรเกี่ยวเนื่องกับพระมาซีฮาได้ระบุคุณสมบัติของพระคริสต์ในฐานะผู้พิพากษา? (ข) จุดสำคัญอะไรบ้างอันควรแก่การเอาใจใส่เป็นพิเศษ?
2 ว่าด้วยพระคริสต์ผู้พิพากษา มีคำเขียนเชิงพยากรณ์ดังนี้: “พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะลงมาบนท่าน วิญญาณแห่งปัญญาและความเข้าใจ วิญญาณแห่งคำแนะนำและฤทธานุภาพ วิญญาณแห่งความรู้และความเกรงกลัวพระยะโฮวา และความชื่นชมจะมีแก่ผู้นั้นในความเกรงกลัวพระยะโฮวา. และท่านจะไม่พิพากษาตามที่ปรากฏแก่ตา ทั้งไม่ว่ากล่าวเพียงตามที่ได้ยินกับหู. และท่านต้องพิพากษาคนต่ำต้อยด้วยความชอบธรรม และท่านต้องให้การว่ากล่าวเพื่อประโยชน์ของชนผู้มีใจอ่อนสุภาพแห่งแผ่นดินโลกนั้นด้วยความซื่อตรง.”—ยะซายา 11:2-4, ล.ม.
3 จงสังเกตในคำพยากรณ์ข้อนี้คุณสมบัติประการต่าง ๆ ที่เสริมพระคริสต์ให้ “พิพากษาโลกตามความชอบธรรม.” (กิจการ 17:31) พระองค์ทรงพิพากษาสอดคล้องกับพระวิญญาณของพระยะโฮวา, สติปัญญา, ความเข้าใจ, คำแนะนำ, และความรู้ที่มาจากพระเจ้า. โปรดสังเกตด้วยว่า พระองค์ตัดสินความด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา. ฉะนั้น ‘บัลลังก์ตัดสินความของพระคริสต์’ จึงเป็นในรูปของตัวแทน “นั่งบัลลังก์ตัดสินความของพระเจ้า.’ (2 โกรินโธ 5:10; โรม 14:10) พระองค์ทรงระมัดระวังที่จะตัดสินอย่างที่พระเจ้าทรงตัดสินความเหล่านั้น. (โยฮัน 8:16) พระองค์ไม่ทรงตัดสินตามที่ปรากฏแก่สายตาหรือเพียงแต่ได้ยินกับหูเท่านั้น. พระองค์ทรงตัดสินความอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของคนถ่อมใจและคนต่ำต้อย. ช่างเป็นผู้พิพากษาที่ทรงคุณสมบัติเลอเลิศอะไรเช่นนั้น! และช่างเป็นตัวอย่างอันวิเศษยิ่งเพียงไรสำหรับมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์ซึ่งถูกเรียกให้ทำหน้าที่ฝ่ายการตัดสินความในสมัยนี้!
เหล่าผู้พิพากษาทางแผ่นดินโลก
4. (ก) หน้าที่อย่างหนึ่งของชน 144,000 คนในรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ได้แก่อะไร? (ข) คำพยากรณ์ข้อใดแสดงว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนจะถูกแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินโลก?
4 คัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมมีจำนวนค่อนข้างน้อย เริ่มต้นกับพวกอัครสาวก 12 คนจะเป็นผู้พิพากษาสมทบร่วมทำงานกับพระเยซูคริสต์ระหว่างรัชสมัยพันปี. (ลูกา 22:28-30; 1 โกรินโธ 6:2; วิวรณ์ 20:4) ชนที่เหลือในจำพวกผู้ถูกเจิมแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณซึ่งยังอยู่ในโลก พวกนี้แหละถูกพิพากษาแล้วกลับคืนสู่ฐานะเดิมในช่วงปี 1918-1919. (มาลาคี 3:2-4) เกี่ยวด้วยการคืนสู่ฐานะเดิมของยิศราเอลฝ่ายวิญญาณมีพยากรณ์ไว้ดังนี้: “เราจะกลับตั้งผู้พิพากษาของเจ้าให้คงตำแหน่งเดิม และตั้งคณะที่ปรึกษาของเจ้าไว้เหมือนแต่แรก.” (ยะซายา 1:26) ดังนั้น เช่นเดียวกันกับสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ “แต่แรก” ต่อยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนัง พระยะโฮวาทรงตั้งเหล่าผู้พิพากษาและที่ปรึกษาซึ่งรักความชอบธรรมขึ้นไว้ในท่ามกลางชนที่เหลือซึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม.
5. (ก) ใครถูกตั้ง “ให้เป็นผู้พิพากษา” หลังจากการกอบกู้ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ และมีการแสดงภาพพวกเขาไว้อย่างไรในพระธรรมวิวรณ์? (ข) ผู้ดูแลที่ถูกเจิมได้ใครเป็นผู้ช่วยในการตัดสินความ และผู้ช่วยเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมโดยวิธีใดเพื่อจะเป็นผู้พิพากษาที่มีคุณสมบัติ?
5 แรกทีเดียว ‘คนมีปัญญา’ ซึ่ง “ถูกตั้งให้เป็นผู้พิพากษา” นั้นล้วนแต่เป็นผู้อาวุโส เป็นผู้ปกครองจำพวกผู้ถูกเจิมทั้งสิ้น. (1 โกรินโธ 6:4, 5) ผู้ดูแลจำพวกผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ น่านับถือเหล่านั้นได้มีภาพแสดงไว้ในพระธรรมวิวรณ์ประหนึ่งว่าอยู่ในหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซู อันหมายถึงการอยู่ในความควบคุมและการชี้นำของพระองค์. (วิวรณ์ 1:16, 20; 2:1) ตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา เหล่าผู้ถูกเจิมได้รับการสนับสนุนอย่างซื่อสัตย์จาก “ชนฝูงใหญ่” ที่ทวีจำนวนเพิ่มพูนขึ้น ด้วยมีความหวังจะรอดผ่าน “ความทุกข์ยากครั้งใหญ่” และมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกอันเป็นอุทยาน. (วิวรณ์ 7:9, 10, 14-17) ขณะที่ “งานสมรสของพระเมษโปดก” ใกล้เข้ามาทุกที ชนเหล่านี้จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการปกครองเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ปกครองและผู้พิพากษาในประชาคมพยานพระยะโฮวา ณ ที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 66,000 ประชาคมทีเดียว.a (วิวรณ์ 19:7-9) โดยทางโรงเรียนซึ่งจัดให้มีหลักสูตรพิเศษไว้ บุคคลเหล่านี้จึงได้รับการฝึกอบรมที่จะแบกความรับผิดชอบในสังคม “แผ่นดินโลกใหม่.” (2 เปโตร 3:13) โรงเรียนพระราชกิจซึ่งจัดขึ้นในหลายประเทศเมื่อปลายปี 1991 ได้เน้นเรื่องการดำเนินงานด้านตัดสินความอย่างเหมาะสม. ผู้ปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้พิพากษามีพันธะต้องเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ ซึ่งการพิพากษาตัดสินของพระองค์นั้นเที่ยงธรรมและยุติธรรม.—โยฮัน 5:30; 8:16; วิวรณ์ 19:1, 2.
ผู้พิพากษาที่ ‘ประพฤติตัวด้วยความเกรงกลัว’
6. เหตุใดผู้ปกครองที่รับใช้ในคณะกรรมการตัดสินความจึงควร ‘ประพฤติตัวด้วยความเกรงกลัว’?
6 ในเมื่อพระคริสต์เองทรงพิพากษาด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา และพร้อมด้วยการช่วยเหลือแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า สำหรับผู้ปกครองซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์พึงกระทำมากยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด! เมื่อผู้ปกครองรับมอบหน้าที่ให้ปฏิบัติงานเป็นกรรมการตัดสินความ เขาจำต้อง ‘ประพฤติตัวด้วยความเกรงกลัว’ ร้องทูล “ถึงพระบิดาผู้ทรงพิพากษาอย่างไม่ลำเอียง” เพื่อตนจะสามารถตัดสินได้อย่างเที่ยงธรรม. (1 เปโตร 1:17, ล.ม.) เขาควรระลึกอยู่เสมอว่าตนดำเนินงานอันเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน, “จิตวิญญาณ” ของผู้คนอยู่ทีเดียว เป็นผู้ “ซึ่งจะชี้แจงรายงาน.” (เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ แน่นอน เขาก็ต้องให้การต่อพระยะโฮวาเช่นเดียวกันสำหรับความผิดใด ๆ ซึ่งเขาอาจกระทำอันอาจหลีกเลี่ยงได้ในการตัดสินความ. เมื่อวิจารณ์ เฮ็บราย 13:17 เจ. เอ็ช. เอ. แอบราร์ด เขียนว่า “เป็นหน้าที่ของผู้บำรุงเลี้ยงที่จะเฝ้าระวังดู จิตวิญญาณคนเหล่านั้นซึ่งมอบไว้ภายใต้การดูแลของตน และ . . . เขาต้องรายงาน เกี่ยวกับทุกคน รวมทั้งคนเหล่านั้นซึ่งหลงหายไปสืบเนื่องจากความบกพร่องของเขา. นี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์. ขอให้ผู้ปฏิบัติพระคำของพระเจ้าทุกคนจงรำลึกเสมอว่าตนรับเอาตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบสำคัญยิ่งนี้ด้วยความสมัครใจ.”—เทียบกับโยฮัน 17:12; ยาโกโบ 3:1.
7. (ก) ผู้พิพากษาสมัยนี้พึงจดจำสิ่งใด และอะไรควรเป็นจุดมุ่งหมายของเขา? (ข) ผู้ปกครองควรได้บทเรียนอะไรจากมัดธาย 18:18-20?
7 พวกผู้ปกครองที่ทำหน้าที่ฝ่ายการตัดสินความควรจดจำไว้เสมอว่า ผู้พิพากษาตัวจริงสำหรับทุกคดีคือพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์. ขอให้ระลึกถึงคำสั่งกำชับผู้พิพากษาในแผ่นดินยิศราเอลดังนี้: “การพิพากษาตัดสินนั้นไม่ใช่สำหรับมนุษย์ แต่สำหรับพระยะโฮวา; และพระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วยในการพิพากษานั้น. เหตุฉะนั้น จงให้ความเกรงกลัวของพระยะโฮวาสวมทับท่านไว้. . . . เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว พวกท่าน จึงจะปราศจากโทษ.” (2 โครนิกา 19:6-10) ด้วยความกลัวที่แฝงไว้ด้วยใจยำเกรงเช่นนั้น พวกผู้ปกครองซึ่งตัดสินความควรทำสุดความสามารถเพื่อแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวา ‘สถิตอยู่ด้วยในการพิพากษานั้น’ จริง ๆ. คำตัดสินของเขาควรสะท้อนทัศนะของพระยะโฮวา และของพระคริสต์อย่างถูกต้องแม่นยำ. โดยนัยแล้ว สิ่งที่เขา ‘ผูกมัด’ (ตัดสินว่ามีความผิด) หรือ ‘ปล่อย’ (ตัดสินว่าปราศจากผิด) บนแผ่นดินโลกก็ควรเป็นสิ่งที่ได้ผูกมัดหรือได้ปล่อยแล้ว ในสวรรค์—ดังได้เปิดเผยแล้วโดยสิ่งที่เขียนไว้ในพระวจนะที่รับการดลบันดาลจากพระเจ้า. หากเขาอธิษฐานถึงพระยะโฮวาในพระนามพระเยซู พระเยซูจะสถิต “ท่ามกลางพวกเขา” เพื่อช่วยเขา. (มัดธาย 18:18-20, หมายเหตุท้ายหน้า, หอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1988 หน้า 9) บรรยากาศ ณ การพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความควรแสดงให้เห็นว่าพระคริสต์ทรงอยู่ท่ามกลางพวกเขาจริง ๆ.
ผู้บำรุงเลี้ยงเต็มเวลา
8. หน้าที่รับผิดชอบหลักของพวกผู้ปกครองต่อฝูงแกะคืออะไร ดังตัวอย่างที่วางไว้โดยพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์? (ยะซายา 40:10, 11; โยฮัน 10:11, 27-29)
8 พวกผู้ปกครองไม่ทำการพิพากษาเต็มเวลา. พวกเขาเป็น ผู้บำรุงเลี้ยงเต็มเวลา. เขาเป็นผู้บำบัดรักษา ไม่ใช่ผู้ลงโทษ. (ยาโกโบ 5:13-16) ความคิดพื้นฐานเบื้องหลังคำกรีกสำหรับผู้ดูแล (เอพิʹสโกพอส) เป็นในแง่การพิทักษ์ปกป้อง. พจนานุกรมทางศาสนาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ใหม่ แจ้งดังนี้: “เพิ่มเข้ากับคำผู้เลี้ยง [ที่ 1 เปโตร 2:25] คำศัพท์ [เอพิʹสโกพอส] ชวนให้นึกถึงงานเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าที่ต้องคอยเฝ้าดูหรือปกป้องคุ้มภัย”. ถูกแล้ว หน้าที่รับผิดชอบอันดับแรกของเขาคือเฝ้าดูแลฝูงแกะและป้องกันอันตราย ระวังให้แกะอยู่ใน ฝูงเสมอ.
9, 10. (ก) เปาโลกล่าวย้ำหน้าที่ประการแรกของผู้ปกครองไว้อย่างไร ดังนั้นน่าจะตั้งคำถามอะไรขึ้นมา? (ข) คำพูดของเปาโลที่กิจการ 20:29 แสดงนัยถึงสิ่งใด ฉะนั้น ผู้ปกครองอาจพยายามโดยวิธีใดเพื่อลดการตัดสินความให้เหลือน้อยราย?
9 เมื่อพูดกับผู้ปกครองแห่งประชาคมเอเฟโซ อัครสาวกเปาโลกล่าวย้ำตรงจุดทีเดียวว่า “จงเอาใจใส่ตัวของท่านและฝูงแกะทั้งสิ้นที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านไว้เป็นผู้ดูแล เพื่อบำรุงเลี้ยง ประชาคมของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรของพระองค์เอง.” (กิจการ 20:28, ล.ม.) เปาโลเน้นความสำคัญของการบำรุงเลี้ยง ไม่ใช่การลงโทษ. คงจะดีหากผู้ปกครองบางคนใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้: ‘เราอาจประหยัดเวลาได้มากไหมที่จำเป็นในการสอบสวนและตัดสินความ หากเราสละเวลามากขึ้นและบากบั่นมากขึ้นสำหรับงานบำรุงเลี้ยง?’
10 จริง เปาโลได้กล่าวตักเตือนให้ระวัง “ฝูงสุนัขป่าที่กดขี่.” แต่ท่านไม่ตำหนิคนเหล่านั้นว่า ‘ไม่ปฏิบัติฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน’ หรอกหรือ? (กิจการ 20:29) และขณะที่ท่านแสดงนัยว่าผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์ควรขจัด “สุนัขป่า” เหล่านี้ คำพูดของท่านแสดงให้เห็นมิใช่หรือว่าพวกผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อสมาชิกคนอื่นในฝูง “ด้วยความอ่อนโยน”? ยามใดแกะอ่อนแอลงฝ่ายวิญญาณและหลงทาง แกะนั้นต้องการอะไร—การทุบตีหรือการรักษา, การลงโทษหรือการบำรุงเลี้ยง? (ยาโกโบ 5:14, 15) ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองควรจัดตารางเวลาไว้เป็นประจำสำหรับงานบำรุงเลี้ยง. สิ่งนี้อาจนำมาซึ่งผลที่น่ายินดีที่ไม่ต้องใช้เวลามากมายเพื่อตัดสินความหลายกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับคริสเตียนที่พลาดพลั้งทำบาป. แน่นอน ความห่วงใยประการแรกของผู้ปกครองควรจะเป็น การเป็นแหล่งแห่งการบรรเทาทุกข์ และความสดชื่น โดยวิธีนี้ จึงส่งเสริมสันติสุข, ความสงบราบรื่น, และความมั่นคงปลอดภัยในท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา.—ยะซายา 32:1, 2.
การรับใช้ในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงและผู้พิพากษาที่เป็นประโยชน์
11. เหตุใดผู้ปกครองที่รับใช้ในคณะกรรมการตัดสินความต้องไม่เลือกหน้าลำเอียง และต้องประกอบด้วย “สติปัญญาจากเบื้องบน”?
11 การบำรุงเลี้ยงอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้นก่อนคริสเตียนคนใดคนหนึ่งก้าวผิดพลาดอาจเป็นการช่วยลดกรณีที่ต้องนำเรื่องขึ้นสู่การตัดสินความท่ามกลางพลไพร่ของพระยะโฮวาทีเดียว. (เทียบกับฆะลาเตีย 6:1.) กระนั้นก็ตาม เนื่องจากบาปและความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ บางครั้งบางคราวคริสเตียนซึ่งเป็นผู้ดูแลอาจจะต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทำผิด. เขาต้องอาศัยหลักการอะไรชี้นำ? หลักการต่าง ๆ เหล่านั้นไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยโมเซ หรือในยุคแรกของคริสเตียน. คำสั่งของโมเซที่กล่าวต่อผู้พิพากษาในชาติยิศราเอลยังมีผลบังคับที่ว่า “จงพิจารณาความของพี่น้องทุกคน และตัดสินตามความยุติธรรม . . . เจ้าทั้งหลายอย่าเห็นแก่หน้าผู้ใดในการพิพากษา.” (พระบัญญัติ 1:16, 17) การไม่เลือกหน้าแสดงถึงลักษณะอย่างหนึ่งของ “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน” สติปัญญาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่รับใช้ในคณะกรรมการตัดสินความ. (ยาโกโบ 3:17; สุภาษิต 24:23) สติปัญญาดังกล่าวจะช่วยผู้ปกครองในการหยั่งเห็นเข้าใจความแตกต่างระหว่างความอ่อนแอกับความชั่วร้าย.
12. ที่ว่าผู้พิพากษาไม่เพียงแต่ต้องเป็นคนชอบธรรม แต่ต้องเป็นคนดีด้วย นั้นหมายความอย่างไร?
12 ผู้ปกครอง “ต้องตัดสินตามความยุติธรรม” สอดคล้องกับมาตรฐานของพระยะโฮวาที่ว่าอะไรถูกอะไรผิด. (บทเพลงสรรเสริญ 19:9) กระนั้น ขณะที่พยายามเป็นคนชอบธรรม เขาก็น่าจะพยายามเป็นคนดี ในแง่ที่เปาโลแยกให้เห็นชัดในพระธรรมโรม 5:7, 8. เมื่อพิจารณาข้อคัมภีร์เหล่านี้ใต้ชื่อเรื่อง “ความชอบธรรม” หนังสือ อินไซต์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ส ว่าดังนี้: “การใช้คำนี้ในภาษากรีกแสดงว่าผู้คนที่นับว่าเป็นคนดีอย่างเห็นได้ชัดนั้นย่อมเป็นคนที่มีใจเมตตากรุณา (มีใจโน้มเอียงจะทำดีหรือก่อประโยชน์แก่ผู้อื่น) และเกื้อกูล (แสดงคุณความดีดังกล่าวอย่างขันแข็ง). เขาไม่คำนึงแต่เพียงการกระทำตามความยุติธรรม แต่มากยิ่งกว่านั้น เขาได้รับแรงกระตุ้นจากการคิดถึงใจเขาใจเราในทางที่เป็นคุณประโยชน์สำหรับผู้อื่น และเขาปรารถนาจะให้ประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น.” (เล่ม 2 หน้า 809) ผู้ปกครองซึ่งไม่เป็นเพียงคนชอบธรรม แต่เป็นคนดีอีกด้วยก็จะปฏิบัติต่อคนทำผิดด้วยใจกรุณา. (โรม 2:4) เขาควรต้องการแสดงความเมตตา และความสงสาร. พวกเขาควรทำสิ่งที่เขาสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้เห็นความจำเป็นที่จะกลับใจ ถึงแม้ว่าในตอนแรกผู้กระทำผิดดูเหมือนจะไม่ตอบรับต่อความพยายามช่วยเหลือของเขาก็ตาม.
ทัศนะอันถูกต้องเมื่อพิจารณาความ
13. (ก) เมื่อผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา เขายังไม่พ้นจากฐานะอะไร? (ข) คำแนะนำอะไรจากเปาโลซึ่งใช้ได้เช่นเดียวกัน ณ การพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ?
13 เมื่อสภาพการณ์เรียกร้องให้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ พวกผู้ดูแลไม่ควรลืมว่าตนยังคงเป็นผู้บำรุงเลี้ยง, ดำเนินการกับแกะของพระยะโฮวา, อยู่ภายใต้ “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี.” (โยฮัน 10:11) คำแนะนำที่เปาโลให้ไว้เพื่อแกะที่ตกอยู่ในความยุ่งยากจะรับการช่วยเหลือเป็นประจำนั้นก็มีผลบังคับเท่ากันเมื่อมาถึงการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ. ท่านเขียนดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนสุภาพ ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย. จงแบกภาระของกันและกันต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงบรรลุบัญญัติของพระคริสต์.”—ฆะลาเตีย 6:1, 2, ล.ม.b
14. ผู้ดูแลควรมีทัศนะเช่นไรต่อการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ และเขาพึงมีทัศนะอย่างไรต่อคนกระทำผิด?
14 แทนที่จะคิดว่าตนเองเป็นผู้พิพากษาชั้นสูงซึ่งประชุมกันเพื่อตัดสินลงโทษ ผู้ปกครองที่รับใช้ในคณะกรรมการตัดสินควรมองการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ เสมือนงานอีกด้านหนึ่งของงานบำรุงเลี้ยง. แกะตัวหนึ่งของพระยะโฮวาตกอยู่ในภาวะอันตราย. พวกผู้ปกครองจะทำอะไรได้เพื่อช่วยเขาพ้นภัย? มันสายเกินไปที่จะช่วยแกะนี้ที่พลัดหลงฝูงไหม? เราจะไม่คิดเช่นนั้น. ผู้ปกครองควรรักษาทัศนะในแง่บวกในการสำแดงความเมตตาตามที่สมควร. มิใช่ว่าเขาจะลดมาตรฐานของพระยะโฮวาให้ต่ำลงไปหากได้มีการทำผิดอย่างร้ายแรง. แต่การที่เขาตระหนักถึงสภาพแวดล้อมใด ๆ ที่ควรแก่การลดหย่อนผ่อนโทษ ก็จะช่วยเขาให้แผ่ความเมตตาเท่าที่เป็นไปได้. (บทเพลงสรรเสริญ 103:8-10; 130:3) เป็นเรื่องน่าสลดที่ผู้ทำผิดบางคนดื้อดึงในท่าทีของตัวเอง จนผู้ปกครองต้องใช้ความเด็ดขาด แต่กระนั้น ก็จะไม่เกรี้ยวกราด.—1 โกรินโธ 5:13.
วัตถุประสงค์ของการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ
15. เมื่อเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นระหว่างบุคคล ควรจะพิจารณาอะไรก่อนอื่น?
15 เมื่อปัญหารุนแรงเกิดขึ้นระหว่างบุคคล ผู้ปกครองที่สุขุมจะพิจารณาก่อนว่าคู่กรณีได้พยายามจัดการเรื่องราวกันเป็นส่วนตัวหรือไม่ ด้วยเจตนาอย่างที่มีกล่าวในมัดธาย 5:23, 24 หรือ มัดธาย 18:15. ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล บางทีคำแนะนำโดยผู้ปกครองหนึ่งหรือสองคนอาจเพียงพอ. การตัดสินความเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะในกรณีการทำบาปร้ายแรงซึ่งอาจนำไปถึงขั้นถูกตัดสัมพันธ์. (มัดธาย 18:17; 1 โกรินโธ 5:11) สำหรับการตั้งคณะกรรมการตัดสินความนั้นจำต้องมีพื้นฐานมั่นคงทางด้านคัมภีร์ไบเบิล. (ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 กันยายน 1989 หน้า 18.) เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตัดสินความ ควรเลือกผู้ปกครองที่มีคุณวุฒิที่ดีที่สุดที่เหมาะสมกับกรณีโดยเฉพาะ.
16. ผู้ปกครองพยายามจะบรรลุจุดมุ่งหมายอะไรในการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ?
16 พวกผู้ปกครองพยายามจะบรรลุสิ่งใดในการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ? ก่อนอื่น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินด้วยความยุติธรรม เว้นแต่ได้รู้ความจริงกระจ่าง. เหมือนในแผ่นดินยิศราเอล เรื่องร้ายแรงใด ๆ ก็ต้อง ‘สืบความไต่ถามให้ถี่ถ้วน.’ (พระบัญญัติ 13:14; 17:4) ดังนั้น ความมุ่งหมายประการหนึ่งในการพิจารณาความคือที่จะสืบหาข้อเท็จจริงในกรณีนั้น ๆ. สิ่งนี้จะทำได้และควรจะทำ ด้วยความรัก. (1 โกรินโธ 13:4, 6, 7) ครั้นความจริงเป็นที่รู้กระจ่างแล้ว ผู้ปกครองจะทำสิ่งใด ๆ ที่จำเป็น เพื่อป้องกันประชาคมและธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานอันสูงส่งของพระยะโฮวา และการไหลหลั่งแห่งพระวิญญาณของพระองค์อย่างไม่ขาดสายภายในประชาคม. (1 โกรินโธ 5:7, 8) อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการพิจารณาความก็เพื่อจะช่วยคนบาปที่ตกอยู่ในอันตรายให้พ้นภัยถ้าเป็นไปได้.—เทียบกับลูกา 15:8-10.
17. (ก) ควรปฏิบัติอย่างไรต่อผู้กล่าวหาระหว่างการพิจารณาความ และด้วยจุดประสงค์อะไร? (ข) ทั้งนี้เรียกร้องอะไรจากสมาชิกของคณะกรรมการตัดสินความ?
17 คนที่ถูกกล่าวโทษก็ควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงแกะของพระเจ้าเสมอ. เขาควรได้รับการปฏิบัติด้วยความอ่อนโยน. ถ้าเขาได้กระทำบาป จุดมุ่งหมายของผู้พิพากษาที่มีใจเป็นธรรมก็เป็นไปเพื่อช่วยคนบาปปรับปรุงแก้ไข ให้เข้าใจความผิดพลาดแห่งแนวทางของเขา ให้กลับใจ และจึงเสมือนถูกฉุดให้พ้นจาก “บ่วงแร้วของมาร.” ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ “ศิลปแห่งการสั่งสอน” “สอนด้วยใจเย็น ๆ.” (2 ติโมเธียว 2:24-26; 4:2) จะเป็นเช่นไรถ้าคนทำบาปตระหนักว่าเขาทำบาป รู้สึกทิ่มแทงถึงหัวใจของเขา และเขาทูลพระยะโฮวาโปรดยกโทษให้? (เทียบกิจการ 2:37.) หากคณะกรรมการแน่ใจว่า คนบาปต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงใจ โดยทั่วไปแล้วคงไม่จำเป็นต้องตัดสัมพันธ์เขา.—ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 1983 หน้า 30 วรรค 1.
18. (ก) เมื่อไรคณะกรรมการตัดสินความควรจะแสดงความเด็ดขาดด้วยการตัดสัมพันธ์คนกระทำผิด? (ข) ผู้ปกครองน่าจะใช้ความพยายามเต็มที่ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ของแกะที่หลงเจิ่น เมื่อคำนึงถึงสภาพอะไรที่น่าเศร้าใจ?
18 ในทางกลับกัน เมื่อสมาชิกคณะกรรมการตัดสินความเข้าเผชิญหน้ากับคนออกหากซึ่งแจ้งชัดแล้วว่าไม่สำนึกผิด กับการเจตนากบฏต่อกฎหมายของพระยะโฮวา หรือความชั่วช้าอย่างโจ่งแจ้ง หน้าที่ของกรรมการคือ ป้องกันสมาชิกอื่น ๆ ในประชาคม โดยตัดสัมพันธ์คนทำผิดที่ไม่กลับใจ. คณะกรรมการตัดสินความไม่มีพันธะที่จะประชุมกับคนทำผิดหลาย ๆ ครั้งหรือพยายามบังคับเขาให้กลับใจ ถ้าปรากฏชัดว่าเขาไม่เสียใจอย่างที่ควร.c ในปีหลัง ๆ นี้ทั่วโลกได้มีการตัดสัมพันธ์โดยประมาณแล้วหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ประกาศ. หมายความว่าจากจำนวนแกะราว ๆ ร้อยตัวที่อยู่รวมฝูง หนึ่งตัวหลงหาย—อย่างน้อยก็ชั่วคราว. เมื่อคำนึงถึงเวลาและความพยายามที่ได้ใช้ไปในการนำคนเข้ามาในคอก เป็นเรื่องน่าเศร้ามิใช่หรือที่รู้ว่าจำนวนคนเป็นหมื่น ๆ ‘ถูกมอบไว้ให้ซาตาน’ ทุกปี?—1 โกรินโธ 5:5.
19. ผู้ปกครองที่รับใช้เป็นคณะกรรมการตัดสินความควรจดจำสิ่งใดไว้เสมอ และจุดมุ่งหมายของเขาคืออะไร?
19 ผู้ปกครองเมื่อเริ่มงานตัดสินความควรจำไว้ว่าการบาปเกือบทุกรายในประชาคมมักจะเกี่ยวเนื่องกับความอ่อนแอ ไม่ใช่ความชั่วช้า. เขาไม่ควรลืมอุทาหรณ์ของพระเยซูว่าด้วยเรื่องแกะที่หลงหายไป ซึ่งพระองค์ทรงสรุปด้วยถ้อยคำต่อไปนี้: “เราบอกท่านทั้งหลายว่า เช่นนั้นแหละ จะมีความยินดีในสวรรค์เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่ มากกว่าคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจเสียใหม่.” (ลูกา 15:7) แท้จริง “พระยะโฮวา . . . ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) ด้วยการช่วยเหลือของพระยะโฮวา ขอให้คณะกรรมการตัดสินความที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของโลกทำสุดกำลังความสามารถของเขาเพื่อยังความยินดีให้เกิดขึ้นในสวรรค์ โดยช่วยเหลือคนที่ทำผิดให้เห็นความจำเป็นที่จะกลับใจเสียใหม่ และเริ่มก้าวเดินกลับมายังทางแคบซึ่งนำไปถึงชีวิตนิรันดร์.—มัดธาย 7:13, 14.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับตำแหน่งผู้ปกครองที่มาจากแกะอื่นอยู่ในหัตถ์ข้างขวาของพระเยซูนั้น ดูจากเชิงอรรถ หน้า 136 ของหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะบรรลุจุดสุดยอด! (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทรกต์ แห่งนิวยอร์ก.
b โปรดอ่านหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 กันยายน 1989 หน้า 19.
c ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 1981 หน้า 31 วรรค 24.
คำถามทบทวน
▫ ด้วยการติดตามตัวอย่างของผู้บำรุงเลี้ยงองค์ใหญ่ยิ่ง และผู้เลี้ยงที่ดี สิ่งที่ผู้ปกครองพึงให้ความสนใจเป็นประการสำคัญคืออะไร?
▫ โดยวิธีใดผู้ปกครองอาจพยายามลดกรณีการตัดสินความลงไปได้หลายราย?
▫ ในแง่ไหนที่ผู้พิพากษาไม่เพียงแต่ต้องเป็นคนชอบธรรมแต่ต้องเป็นคนดีด้วย?
▫ ควรปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ทำผิดในระหว่างพิจารณาความ และด้วยมีจุดมุ่งหมายอะไร?
▫ เหตุใดการตัดสัมพันธ์จึงเป็นการตัดสินขั้นสุดท้าย?
[รูปภาพหน้า 16]
เมื่อได้ให้การบำรุงเลี้ยงล่วงหน้าแล้ว การตัดสินความหลายรายก็อาจหลีกเลี่ยงได้
[รูปภาพหน้า 18]
แม้ในระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการตัดสินความ ผู้ปกครองควรพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำผิดด้วยความอ่อนโยน