บทเจ็ด
คุณสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้สร้างจากหนังสือเล่มหนึ่ง?
คุณคงจะยอมรับว่าหนังสือที่ให้ความรู้และน่าสนใจนั้นมีคุณค่าจริง ๆ. คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือแบบนั้น. คุณจะพบชีวประวัติที่น่าสนใจในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งแสดงให้เห็นค่านิยมทางศีลธรรมอันสูงส่ง. คุณจะพบตัวอย่างที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับความจริงที่สำคัญต่าง ๆ ด้วย. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในด้านสติปัญญากล่าวว่า ท่าน “ได้เสาะหาถ้อยคำที่หวานหูและวิธีการเขียนถ้อยคำอันถูกต้องแห่งความจริง.”—ท่านผู้ประกาศ 12:10, ล.ม.
หนังสือที่เราเอ่ยถึงว่าเป็น “คัมภีร์ไบเบิล” นี้ ที่จริงแล้วเป็นการรวบรวมหนังสือเล่มเล็ก ๆ 66 เล่มที่ถูกเขียนระหว่างช่วงเวลามากกว่า 1,500 ปี. ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 1513 ถึงปี 1473 ก.ส.ศ. โมเซเขียนหนังสือห้าเล่มแรก เริ่มต้นด้วยเยเนซิศ. โยฮัน อัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซูเป็นผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนสุดท้าย. ท่านเขียนชีวประวัติของพระเยซู (กิตติคุณของโยฮัน) อีกทั้งจดหมายที่สั้นกว่าและพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งปรากฏเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่.
ระหว่างช่วง 1,500 ปีตั้งแต่โมเซถึงโยฮัน ราว ๆ 40 คนมีส่วนร่วมในการเขียนคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาเป็นคนที่จริงใจและเลื่อมใสศรัทธาซึ่งต้องการช่วยคนอื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้สร้างของเรา. จากข้อเขียนของพวกเขา เราสามารถได้รับความหยั่งเห็นเข้าใจในบุคลิกลักษณะของพระเจ้าและเรียนรู้วิธีที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. คัมภีร์ไบเบิลยังช่วยให้เราสามารถเข้าใจสาเหตุที่ความชั่วมีดาษดื่นและวิธีที่จะมีการทำให้ความชั่วสิ้นสุดลงด้วย. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลชี้ไปข้างหน้าถึงสมัยที่มนุษยชาติจะมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าโดยตรงยิ่งขึ้น และพวกเขาพรรณนาสภาพการณ์ที่น่าตื่นเต้นบางอย่างที่เราอาจประสบในตอนนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; ยะซายา 2:2-4; 65:17-25; วิวรณ์ 21:3-5.
คุณคงจะทราบว่าหลายคนไม่ยอมพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลเพราะถือว่าเป็นหนังสือโบราณที่เกิดขึ้นจากสติปัญญาของมนุษย์. อย่างไรก็ตาม ผู้คนนับล้านเชื่อมั่นว่าพระเจ้าเป็นผู้ประพันธ์ที่แท้จริงของคัมภีร์ไบเบิล และพระองค์ทรงชี้นำความคิดของผู้เขียน. (2 เปโตร 1:20, 21) คุณจะตัดสินได้อย่างไรว่าสิ่งที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลเขียนนั้นมาจากพระเจ้าจริง ๆ หรือไม่?
มีหลักฐานหลายแนวรวมกันที่คุณอาจตรวจสอบได้. หลายคนได้ทำเช่นนั้นก่อนลงความเห็นว่า คัมภีร์ไบเบิลมิใช่เป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งของมนุษย์ แต่เป็นหนังสือซึ่งมาจากแหล่งที่เหนือกว่ามนุษย์. ให้เราใช้หลักฐานเพียงแนวเดียวเพื่อแสดงให้เห็นเรื่องนี้. ในการทำเช่นนี้ เราสามารถเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้สร้างเอกภพ บ่อเกิดแห่งชีวิตมนุษย์.
คำทำนายที่เป็นจริง
ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลหลายคนบันทึกคำพยากรณ์. แทนที่จะอ้างว่าพวกเขาสามารถบอกล่วงหน้าถึงอนาคตได้ด้วยตัวเอง ผู้เขียนเหล่านี้ถือว่าพระผู้สร้างควรได้รับเกียรติในเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น ยะซายาระบุว่าพระเจ้าเป็น “ผู้บอกเล่าตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย.” (ยะซายา 1:1; 42:8, 9; 46:8-11) พระปรีชาสามารถที่จะบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลายทศวรรษหรือกระทั่งหลายศตวรรษในอนาคตแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าของยะซายาเป็นผู้ที่ไม่มีใครเหมือน; พระองค์มิใช่เป็นเพียงรูปเคารพ เหมือนกับรูปเหล่านั้นที่ผู้คนในอดีตและปัจจุบันบูชากัน. คำพยากรณ์ทำให้เรามีหลักฐานที่มั่นใจได้ว่าคัมภีร์ไบเบิลมิได้มีผู้ประพันธ์เป็นมนุษย์. ขอพิจารณาวิธีที่พระธรรมยะซายายืนยันเรื่องนี้.
การเทียบเนื้อหาพระธรรมยะซายากับข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงว่าพระธรรมนี้ถูกเขียนประมาณปี 732 ก.ส.ศ. ยะซายาได้บอกล่วงหน้าว่า ความหายนะจะเกิดขึ้นกับผู้อาศัยในกรุงยะรูซาเลมและยูดาเพราะพวกเขามีความผิดฐานทำให้โลหิตตกและการนมัสการรูปเคารพ. ยะซายาได้ทำนายว่าแผ่นดินนั้นจะร้างเปล่า, กรุงยะรูซาเลมและพระวิหารจะถูกทำลาย, และเหล่าผู้รอดชีวิตจะถูกพาไปเป็นเชลยที่บาบูโลน. แต่ยะซายาได้พยากรณ์ด้วยว่าพระเจ้าจะไม่ลืมชาติเชลยนั้น. พระธรรมเล่มนี้บอกล่วงหน้าว่า กษัตริย์ต่างชาติที่มีนามว่าไซรัสจะพิชิตบาบูโลนและปล่อยชาวยิวให้กลับสู่มาตุภูมิของพวกเขา. ที่จริง ยะซายาพรรณนาถึงพระเจ้าว่าเป็น “ผู้ที่ได้กล่าวถึงท่านโคเรศ [ไซรัส] ว่า, ‘เจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะของเรา, ผู้ที่ประกอบกิจตามน้ำใจของเราให้สำเร็จผล’; ผู้ที่จะได้กล่าวถึงกรุงยะรูซาเลมว่า, ‘กรุงจะถูกกู้ขึ้น’, และกล่าวถึงวิหารว่า, ‘รากของเจ้าจะถูกวางขึ้นใหม่.’”—ยะซายา 2:8; 24:1; 39:5-7; 43:14; 44:24-28; 45:1.
ในสมัยของยะซายา ศตวรรษที่แปดก่อนสากลศักราช คำทำนายดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ. ในตอนนั้นบาบูโลนไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางทหารที่สำคัญด้วยซ้ำ แต่อยู่ภายใต้มหาอำนาจโลกที่แท้จริงในยุคนั้น คือจักรวรรดิอัสซีเรีย. ที่แปลกพอ ๆ กันก็คือความคิดที่ว่าประชาชนที่พ่ายแพ้ซึ่งถูกพาไปเป็นเชลยในดินแดนอันห่างไกลนั้นจะได้รับการปลดปล่อยแล้วจะได้รับแผ่นดินของตนคืนมา. ยะซายาเขียนว่า “ใครเคยได้ยินเช่นนี้บ้าง?”—ยะซายา 66:8.
กระนั้น เราพบอะไรหากเราพิจารณาประวัติศาสตร์ในสองศตวรรษต่อมา? ประวัติศาสตร์ของชาวยิวโบราณในเวลาต่อมาพิสูจน์ว่าคำพยากรณ์ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงในรายละเอียด. บาบูโลนกลายเป็นมหาอำนาจ และทำลายกรุงยะรูซาเลม. พระนามของกษัตริย์เปอร์เซีย (ไซรัส), การที่ท่านพิชิตบาบูโลนในเวลาต่อมา, และการที่ชาวยิวกลับสู่มาตุภูมิล้วนเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับ. รายละเอียดเหล่านี้ที่มีการพยากรณ์ไว้สำเร็จเป็นจริงแม่นยำเสียจนนักวิจารณ์ในศตวรรษที่ 19 อ้างว่าพระธรรมยะซายาเป็นเรื่องหลอกลวง; ที่แท้แล้วพวกเขาบอกว่า ‘ยะซายาอาจเขียนบทต้น ๆ แต่ผู้เขียนคนต่อมาในสมัยของกษัตริย์ไซรัสได้แต่งส่วนที่เหลือของพระธรรมนี้เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นคำพยากรณ์.’ บางคนอาจอ้างเช่นนั้น ไม่ยอมพิจารณาคำพยากรณ์เพราะถือว่าเป็นการแต่งเรื่องโดยมนุษย์ ทว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร?
ทำนายล่วงหน้าจริง ๆ ไหม?
คำทำนายในพระธรรมยะซายาใช่ว่าจำกัดอยู่แค่เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับไซรัสและการเนรเทศชาวยิว. ยะซายายังได้บอกล่วงหน้าถึงสภาพการณ์ในช่วงสุดท้ายของบาบูโลนด้วย และพระธรรมนี้ให้รายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับพระมาซีฮาหรือผู้ช่วยให้รอดที่จะเสด็จมา ผู้ซึ่งจะทนทุกข์และครั้นแล้วได้รับสง่าราศี. เราสามารถพิสูจน์ได้ไหมว่าคำทำนายดังกล่าวได้รับการเขียนไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานและจึงเป็นคำพยากรณ์ที่ยังจะต้องสำเร็จเป็นจริง?
ขอพิจารณาประเด็นนี้. ยะซายาเขียนถึงสภาพการณ์ในช่วงสุดท้ายของบาบูโลนว่า “กรุงบาบูโลนซึ่งเป็นสง่าของราชอาณาจักรทั้งหลาย, เป็นเมืองงามซึ่งชาวเคเซ็ธอวดอ้างนั้น, จะเป็นเหมือนอย่างเมืองซะโดมและเมืองอะโมราที่พระเจ้าได้ทรงคว่ำทลายเสียนั้น. และเมืองนั้นจะไม่มีใครมาอยู่ต่อไปอีกเลย, และจะไม่มีใครมาตั้งบ้านเรือนอาศัยต่อไปทุกชั่วอายุ.” (ยะซายา 13:19, 20; บท 47) เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริง ๆ อย่างไร?
ข้อเท็จจริงคือว่าบาบูโลนพึ่งอาศัยระบบชลประทานที่ซับซ้อนซึ่งประกอบด้วยทำนบและคูคลองต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสกับยูเฟรทิสมานานแล้ว. ดูเหมือนว่าประมาณปี 140 ก.ส.ศ. ระบบน้ำนี้ได้รับความเสียหายในการพิชิตของชาวพาร์เธียที่ยังความพินาศและทำให้ระบบน้ำส่วนใหญ่พังทลายลง. พร้อมด้วยผลประการใด? สารานุกรมอเมริกานา (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ดินกลับชุ่มโชกด้วยเกลือแร่และด่างที่ก่อตัวเป็นแผ่นเหนือผิวดิน ทำให้ไม่มีทางเพาะปลูกพืชได้.” ราว ๆ 200 ต่อมา บาบูโลนก็ยังเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอยู่ ทว่าคงสภาพเช่นนั้นได้อีกไม่นาน. (เทียบกับ 1 เปโตร 5:13.) พอถึงศตวรรษที่สาม ส.ศ. นักประวัติศาสตร์ชื่อ ดีออ คาสยุส (ประมาณปีส.ศ. 150-235) พรรณนาถึงผู้หนึ่งที่มาเยือนบาบูโลนว่า ไม่พบอะไรนอกจาก “เนินดิน, หิน, และซากปรักหักพัง.” (LXVIII 30) เป็นที่น่าสังเกต ถึงตอนนี้ยะซายาได้เสียชีวิตไปแล้วและพระธรรมที่เสร็จสมบูรณ์ของท่านได้แพร่หลายไปทั่วเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว. และถ้าคุณไปเยือนบาบูโลนในทุกวันนี้ คุณจะเห็นเพียงซากปรักหักพังของเมืองนี้ที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต. ถึงแม้เมืองโบราณต่าง ๆ เช่น โรม, ยะรูซาเลม, และเอเธนส์อยู่มาจนถึงปัจจุบันก็ตาม แต่บาบูโลนร้างเปล่า, ไม่มีคนอาศัยอยู่, เป็นซากปรักหักพัง ดังที่ยะซายาได้บอกไว้ล่วงหน้าทีเดียว. คำทำนายได้สำเร็จเป็นจริง.
ตอนนี้ให้เราเพ่งเล็งที่คำพรรณนาของยะซายาเกี่ยวกับพระมาซีฮาที่จะเสด็จมา. ตามยะซายา 52:13 ผู้รับใช้พิเศษคนนี้ของพระเจ้าจะ ‘ถูกยกย่องขึ้น และให้อยู่ในระดับสูงยิ่ง’ ในที่สุด. อย่างไรก็ตาม บทถัดไป (ยะซายาบท 53) พยากรณ์ว่า ก่อนที่จะถูกยกชูขึ้น พระมาซีฮาจะเผชิญกับประสบการณ์ที่ต่างออกไปอย่างนึกไม่ถึง. คุณอาจแปลกใจในรายละเอียดที่บันทึกในบทนั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮา.
ดังที่คุณอ่านได้จากบทนั้น พระมาซีฮาจะถูกเหยียดหยามจากคนร่วมชาติ. เพราะมั่นใจว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น ยะซายาจึงเขียนประหนึ่งว่าเหตุการณ์ได้เกิดไปแล้วดังนี้: “เขาเป็นที่ดูหมิ่น, และคนไม่คบหา.” (ข้อ 3) การปฏิบัติอย่างเลวร้ายเช่นนี้คงจะไม่ชอบด้วยเหตุผลเลยทีเดียวเพราะพระมาซีฮาจะทำสิ่งดีเพื่อประชาชน. ยะซายาได้พรรณนาการกระทำที่เป็นการเยียวยารักษาของพระมาซีฮาไว้ว่า “ความเจ็บปวดของเราเองที่เขาผู้นั้นรับแบกหาม.” (ข้อ 4) ทั้ง ๆ ที่เป็นเช่นนั้น พระมาซีฮาจะถูกพิจารณาคดีและตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ยังคงนิ่งเงียบอยู่ต่อหน้าผู้กล่าวหา. (ข้อ 7, 8) พระองค์จะทรงยอมให้ตัวเองถูกมอบไว้เพื่อประหารเคียงข้างอาชญากร; ระหว่างการประหารชีวิต พระกายของพระองค์จะถูกแทง. (ข้อ 5, 12) แม้จะสิ้นพระชนม์เยี่ยงอาชญากร พระองค์จะถูกฝังประหนึ่งเศรษฐี. (ข้อ 9, ฉบับแปลใหม่) และยะซายากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ความตายอย่างไม่เป็นธรรมของพระมาซีฮาจะมีพลังไถ่ถอน ปกคลุมบาปของมนุษย์คนอื่น ๆ.—ข้อ 5, 8, 11, 12.
ทั้งหมดนั้นได้เกิดขึ้นจริง. ประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยคนร่วมสมัยกับพระเยซู—คือมัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮัน—ยืนยันว่าสิ่งที่ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้านั้นได้เกิดขึ้นจริง. เหตุการณ์บางอย่างได้เกิดขึ้นหลังจากการตายของพระเยซู ดังนั้น พระเยซูไม่อาจจะปรับแต่งเหตุการณ์เหล่านั้นได้. (มัดธาย 8:16, 17; 26:67; 27:14, 39-44, 57-60; โยฮัน 19:1, 34) ความสำเร็จเป็นจริงทั้งสิ้นตามคำพยากรณ์ของยะซายาเรื่องพระมาซีฮามีผลกระทบอันทรงพลังต่อผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจตลอดหลายศตวรรษ รวมทั้งบางคนที่แต่ก่อนไม่ยอมรับพระเยซู. ผู้คงแก่เรียนชื่อ วิลเลียม เออร์วิก อรรถาธิบายไว้ว่า “เมื่อเขียนถึงเหตุผลที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสเตียนนั้น ชาวยิวหลายคนได้ยอมรับว่า การพิจารณาบทนี้ [ยะซายาบท 53] อย่างละเอียดนั่นเองที่ได้ทำให้เขาหมดศรัทธาในหลักความเชื่อและพวกอาจารย์ในอดีต.”—ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา (ภาษาอังกฤษ).a
เออร์วิกกล่าวเช่นนั้นในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บางคนอาจยังสงสัยว่ายะซายาบท 53 เขียนขึ้นหลายร้อยปีก่อนการประสูติของพระเยซูหรือไม่. อย่างไรก็ตาม การค้นพบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้ขจัดมูลเหตุใด ๆ สำหรับข้อสงสัยดังกล่าว. ในปี 1947 คนเลี้ยงแกะชาวเบดูอินที่อยู่ใกล้ทะเลตาย (เดดซี) ได้ค้นพบม้วนหนังสือโบราณของพระธรรมยะซายาทั้งเล่ม. ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเขียนโบราณได้กำหนดอายุของม้วนหนังสือนั้นว่าอยู่ในช่วงตั้งแต่ปี 125 ถึง 100 ก.ส.ศ. แล้วในปี 1990 การวิเคราะห์หาคาร์บอน 14 ในม้วนหนังสือนั้นระบุวันเวลาว่าอยู่ในระหว่างปี 202 กับ 107 ก.ส.ศ. ถูกแล้ว ม้วนหนังสือยะซายาที่มีชื่อเสียงโด่งดังนี้นับว่าเก่าแก่อยู่แล้วตอนที่พระเยซูประสูติ. การเปรียบเทียบม้วนหนังสือนี้กับคัมภีร์ไบเบิลสมัยปัจจุบันเผยให้เห็นอะไร?
หากคุณไปเยือนกรุงยะรูซาเลม คุณจะเห็นชิ้นส่วนของม้วนหนังสือทะเลตาย. การบันทึกโดย ยิกกาเอล ยาดีน ศาสตราจารย์ที่เป็นนักโบราณคดีอธิบายว่า “เวลาล่วงไปไม่เกินห้าร้อยหรือหกร้อยปีระหว่างที่มีการกล่าวถ้อยคำแท้ ๆ ของยะซายากับตอนที่มีการคัดลอกม้วนหนังสือนี้ในศตวรรษที่ 2 ก.ส.ศ. น่าแปลกที่ถึงแม้ม้วนหนังสือดั้งเดิมในพิพิธภัณฑ์มีอายุมากกว่า 2,000 ปีก็ตาม ข้อความในม้วนหนังสือนั้นคล้ายกันทีเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลที่เราอ่านในทุกวันนี้ทั้งในภาษาฮีบรูหรือไม่ก็ในฉบับแปลต่าง ๆ ซึ่งแปลจากต้นฉบับเดิม.”
เห็นได้ชัดว่า หลักฐานเหล่านี้ควรมีผลกระทบต่อทัศนะของเรา. ในเรื่องใด? หลักฐานดังกล่าวควรขจัดข้อสงสัยใด ๆ ในเชิงวิจารณ์ที่ว่าพระธรรมยะซายาเป็นเพียงคำพยากรณ์ที่เขียนหลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว. ปัจจุบันมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่ามีการทำสำเนาข้อเขียนของยะซายาขึ้นมากกว่าหนึ่งร้อยปีก่อนพระเยซูประสูติเสียด้วยซ้ำและเป็นเวลานานก่อนความร้างเปล่าของบาบูโลน. ฉะนั้น จะมีข้อสงสัยใด ๆ ได้อย่างไรต่อข้อเขียนของยะซายาที่ได้ทำนายทั้งผลบั้นปลายของบาบูโลนและการทนทุกข์อย่างไม่เป็นธรรม, ทั้งลักษณะการสิ้นพระชนม์, และการปฏิบัติต่อพระมาซีฮา? และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ขจัดมูลเหตุใด ๆ สำหรับการโต้แย้งเรื่องที่ยะซายาทำนายได้อย่างแม่นยำถึงการเป็นเชลยของชาวยิวและการปลดปล่อยพวกเขาจากบาบูโลน. คำทำนายที่สำเร็จเป็นจริงดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแนวหนึ่งจากหลายแนวที่ว่าผู้ประพันธ์แท้ของคัมภีร์ไบเบิลคือพระผู้สร้าง และคัมภีร์ไบเบิล “มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.”—2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.
มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ หลายประการเกี่ยวกับการที่พระเจ้าเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล. ข้อบ่งชี้เหล่านี้รวมถึงความถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิลทางด้านดาราศาสตร์, ด้านธรณีวิทยา, และด้านการแพทย์; ความสอดคล้องกันภายในของพระธรรมเล่มต่าง ๆ ที่เขียนโดยคนจำนวนมากตลอดหลายร้อยปี; ความลงรอยกันกับข้อเท็จจริงหลายอย่างของประวัติศาสตร์โลกและโบราณคดี; หลักศีลธรรมที่เหนือกว่าหลักของผู้คนที่อยู่รอบข้างชาติยิศราเอลในสมัยนั้นและซึ่งยังเป็นที่ยอมรับโดยไม่มีอะไรเทียบได้. หลักฐานแนวนี้และแนวอื่น ๆ ได้ทำให้ผู้คนที่ขยันหมั่นเพียรและสุจริตใจนับไม่ถ้วนมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่มาจากพระผู้สร้างโดยแท้.b
เรื่องนี้ยังอาจช่วยเราลงความเห็นที่สมเหตุสมผลบางประการเกี่ยวกับพระผู้สร้าง—ช่วยเราให้มองเห็นคุณลักษณะของพระองค์. พระปรีชาสามารถของพระองค์ที่จะมองไปยังเวลาเบื้องหน้านั้นยืนยันว่าพระองค์ทรงมีความสามารถในการหยั่งรู้เหนือกว่าที่มนุษย์เรามีมิใช่หรือ? มนุษย์ไม่ทราบสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันห่างไกล ทั้งไม่สามารถควบคุมอนาคตได้. พระผู้สร้างทรงทำได้. พระองค์ทั้งสามารถมองเห็นอนาคตและจัดเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อพระทัยประสงค์ของพระองค์จะบรรลุผลสำเร็จ. ยะซายาพรรณนาถึงพระผู้สร้างอย่างเหมาะสมว่าเป็น “ผู้บอกเล่าตั้งแต่ต้นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตอนปลาย, และบอกเล่าสิ่งซึ่งยังไม่เกิดขึ้นไว้ตั้งแต่เวลาโบราณ. เราเป็นผู้กล่าวว่า, ‘โครงการของเราจะยั่งยืน, และเราจะทำตามความประสงค์ของเราทุกประการ.’”—ยะซายา 46:10; 55:11.
การรู้จักผู้ประพันธ์ดีขึ้น
เรารู้จักคุ้นเคยกับคนอื่นโดยการสนทนากับเขาและมองดูวิธีที่เขาแสดงปฏิกิริยาต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ. อาจทำทั้งสองอย่างนี้ได้เพื่อจะรู้จักมนุษย์คนอื่น แต่จะว่าอย่างไรกับการรู้จักพระผู้สร้าง? เราไม่อาจร่วมในการสนทนาโดยตรงกับพระองค์ได้. แต่ดังที่เราได้พิสูจน์แล้ว พระองค์ทรงเปิดเผยเรื่องพระองค์เองไว้มากมายในคัมภีร์ไบเบิล—ทั้งจากสิ่งที่พระองค์ตรัสและวิธีที่พระองค์ปฏิบัติ. นอกจากนี้ หนังสือที่ไม่มีใดเหมือนเล่มนี้เชิญเราอย่างแท้จริงให้สร้างสัมพันธภาพกับพระผู้สร้าง. หนังสือนี้กระตุ้นเตือนเราว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 2:23; 4:8, ล.ม.
ขอพิจารณาขั้นตอนพื้นฐาน: หากคุณต้องการเป็นเพื่อนของใครสักคน คุณคงต้องรู้ชื่อเขาแน่ ๆ. ถ้าอย่างนั้นพระนามของพระผู้สร้างคืออะไร และพระนามนั้นเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระองค์?
ส่วนที่เป็นภาษาฮีบรูของคัมภีร์ไบเบิล (บ่อยครั้งเรียกว่าพระคริสตธรรมเดิม) นั้นแสดงให้เราเห็นพระนามที่ไม่มีใดเหมือนของพระผู้สร้าง. พระนามนั้นปรากฏในต้นฉบับโบราณด้วยพยัญชนะฮีบรูสี่ตัวซึ่งอาจเขียนทับศัพท์ได้ว่า ยฮวฮ หรือ จฮฟฮ. พระนามของพระผู้สร้างปรากฏประมาณ 7,000 ครั้ง บ่อยกว่าคำระบุตำแหน่งอย่างเช่น พระเจ้าหรือองค์พระผู้เป็นเจ้ามากนัก. ตลอดหลายศตวรรษคนเหล่านั้นที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษาฮีบรูใช้พระนามเฉพาะนั้น. แต่ต่อมา ชาวยิวหลายคนเกิดกลัวที่จะออกพระนามของพระเจ้าเนื่องจากการถือโชคลาง และดังนั้นพวกเขาไม่ได้อนุรักษ์การออกเสียงพระนามนั้น.
คำอธิบายเกี่ยวกับพระธรรมเอ็กโซโดของชาวยิวเล่มหนึ่งกล่าวว่า “การออกเสียงดั้งเดิมดูเหมือนหายไปในที่สุด; ความพยายามในปัจจุบันที่จะกลับไปสู่การออกเสียงดั้งเดิมนั้นอาศัยการคาดคะเน.” เป็นที่ยอมรับว่า เราไม่สามารถแน่ใจว่าโมเซออกเสียงพระนามของพระเจ้าซึ่งเราพบที่เอ็กโซโด 3:16 และ 6:3 นั้นอย่างไร. กระนั้น พูดกันตามตรง ใครในทุกวันนี้หรือที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องพยายามออกชื่อของโมเซหรือพระนามของพระเยซูด้วยเสียงและสำเนียงที่ถูกต้องตามที่ใช้กันในสมัยที่บุคคลทั้งสองนี้มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก? ถึงกระนั้นก็ตาม เราไม่ได้ละเว้นจากการออกชื่อโมเซและพระเยซู. จุดสำคัญคือ แทนที่จะเป็นห่วงเกินไปว่าคนในสมัยก่อนโน้นที่พูดอีกภาษาหนึ่งออกเสียงพระนามของพระเจ้าอย่างไร ทำไมไม่ใช้การออกเสียงที่ใช้กันทั่วไปในภาษาของเราล่ะ? ตัวอย่างเช่น มีการใช้คำ “ยะโฮวา” ในภาษาไทยมาเป็นเวลาร้อยกว่าปี และคำนี้ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นพระนามของพระผู้สร้าง.
แต่มีอะไรบางอย่างที่สำคัญยิ่งกว่ารายละเอียดเกี่ยวกับการออกเสียงพระนามนั้น. นั่นก็คือความหมายของพระนามนั้น. พระนามนั้นในภาษาฮีบรูเป็นรูปหนึ่งของคำกริยาฮาวาห์ ที่แสดงถึงการทำให้เกิดขึ้น คำนี้หมายถึง “กลายเป็น” หรือ “สำแดงว่าเป็น.” (เยเนซิศ 27:29, ล.ม.; ท่านผู้ประกาศ 11:3, ล.ม.) ดิ ออกซฟอร์ด คอมแพนยัน ทู เดอะ ไบเบิล ให้ความหมายว่า “‘พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น’ หรือ ‘จะบันดาลให้เป็น.’” ดังนั้น เรากล่าวได้ว่าพระนามเฉพาะของพระผู้สร้างมีความหมายตามตัวอักษรว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น.” โปรดสังเกตว่าจุดสำคัญมิได้อยู่ที่พระราชกิจของพระผู้สร้างในครั้งอดีตอันห่างไกล ดังที่บางคนอาจคิดถึงเมื่อใช้คำ “ต้นเหตุ.” ทำไมจึงไม่เป็นเช่นนั้น?
เพราะพระนามของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระผู้สร้างทรงมุ่งประสงค์จะทำ. ในขั้นพื้นฐานแล้วมีกาลสองแบบเท่านั้นในคำกริยาฮีบรู และกาลที่เกี่ยวข้องกับพระนามของพระผู้สร้าง “แสดงถึงการกระทำ . . . ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา. กาลนั้นมิได้แสดงถึงเพียงความต่อเนื่อง ของการกระทำอย่างหนึ่ง . . . แต่แสดงถึงการพัฒนา ของการกระทำนั้นตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ไปจนถึงตอนสิ้นสุดของการกระทำนั้น.” (คำอธิบายโดยย่อเกี่ยวกับกาลในภาษาฮีบรู) ถูกแล้ว โดยพระนามของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระองค์เองว่าทรงปฏิบัติงานอยู่ฐานะผู้มีจุดมุ่งหมาย. ดังนั้น เราเรียนรู้ว่า—ด้วยการกระทำที่ดำเนินไปเป็นลำดับ—พระองค์กลายเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสัญญา. หลายคนพบว่า เป็นเรื่องน่ายินดีและทำให้สบายใจเมื่อทราบว่าพระผู้สร้างทรงทำให้จุดมุ่งหมายของพระองค์เป็นจริงเสมอ.
จุดมุ่งหมายของพระองค์—จุดมุ่งหมายของคุณ
ขณะที่พระนามพระเจ้าสะท้อนถึงจุดมุ่งหมาย ผู้คนมากมายรู้สึกว่ายากที่จะพบจุดมุ่งหมายแท้ในการที่เขาเองดำรงชีวิตอยู่. พวกเขาเห็นมนุษยชาติล้มลุกคลุกคลานอยู่ในวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น สงคราม, ภัยธรรมชาติ, โรคระบาด, ความยากจน, และอาชญากรรม. แม้แต่บางคนที่สุขสบายซึ่งรอดพ้นจากผลเสียหายดังกล่าวด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ยังยอมรับอยู่เนือง ๆ ว่าสงสัยเรื่องอนาคตและความหมายของชีวิตตน.
คัมภีร์ไบเบิลให้คำอธิบายไว้เช่นนี้ “โลกทางกายภาพถูกทำให้อยู่ภายใต้ความข้องขัดใจ ไม่ใช่ตามความปรารถนาของตนเอง แต่ตามพระทัยประสงค์ของพระผู้สร้าง ซึ่งในการทำเช่นนั้น พระองค์ให้ความหวังว่าวันหนึ่งโลกนี้อาจได้รับการช่วยให้รอด . . . และถูกทำให้มีส่วนในเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.” (โรม 8:20, 21, เดอะ นิว เทสทาเมนต์ เลตเตอรส์ โดย เจ. ดับเบิลยู. ซี. วอนด์) เรื่องราวในพระธรรมเยเนซิศแสดงว่าครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีสันติสุขกับพระผู้สร้าง. ในการสนองตอบการประพฤติผิดของมนุษย์ จึงสมเหตุผลที่พระเจ้าทรงปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในสภาพการณ์ซึ่งในแง่หนึ่งแล้ว ก่อให้เกิดความข้องขัดใจ. ขอให้เราพิจารณาดูว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร, และแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระผู้สร้าง, และเราสามารถคาดหมายอะไรในเรื่องอนาคต.
ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ดังกล่าวซึ่งมีข้อพิสูจน์หลายทางว่าเป็นความจริงนั้น มนุษย์คู่แรกที่ถูกสร้างขึ้นมีชื่อว่าอาดามและฮาวา. บันทึกนั้นแสดงว่าเขาทั้งสองมิได้ถูกปล่อยให้คลำหาคำสั่งสอนเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่มีจุดหมาย. ดังที่แม้แต่บิดาที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีความรัก ความเห็นอกเห็นใจ จะทำเพื่อลูกหลานของตน พระผู้สร้างทรงประทานการชี้นำที่เป็นประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ. พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน; จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ, กับบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน.”—เยเนซิศ 1:28.
ดังนั้น มนุษย์คู่แรกมีจุดมุ่งหมายที่ดีในชีวิต. จุดมุ่งหมายนั้นรวมไปถึงการเอาใจใส่ดูแลระบบนิเวศของแผ่นดินโลกและจัดเตรียมให้โลกมีพลเมืองที่มีความรับผิดชอบอาศัยอยู่. (เทียบกับยะซายา 11:9.) ไม่มีใครสามารถตำหนิพระผู้สร้างได้อย่างมีเหตุผลสำหรับสภาพปัจจุบันของลูกโลกของเราที่เกิดภาวะมลพิษ ราวกับว่าพระองค์ทรงยอมให้มนุษย์แสวงประโยชน์ส่วนตัวและทำลายลูกโลก. คำ “มีอำนาจเหนือ” ไม่อนุญาตให้มีการแสวงประโยชน์ส่วนตัว. นั่นหมายถึงการเพาะปลูกและการเอาใจใส่ดูแลโลกที่มนุษย์ได้รับมอบหมายให้จัดการนั้น. (เยเนซิศ 2:15) นอกจากนี้ พวกเขาจะมีอนาคตอันไม่รู้จบสิ้นที่จะทำงานที่มีความหมายนั้นให้สำเร็จ. ความคาดหวังของเขาที่จะไม่ตายนั้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์มีสมรรถนะทางสมองเหนือกว่าที่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในช่วงชีวิต 70, 80, หรือ 100 ปีด้วยซ้ำ. มีการมุ่งหมายให้ใช้สมองโดยไม่มีเวลากำหนด.
พระยะโฮวาพระเจ้า ฐานะเป็นผู้สร้างและผู้ชี้นำสิ่งทรงสร้างของพระองค์ ทรงให้มนุษย์มีอิสระในเรื่องวิธีที่เขาจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติบรรลุผลสำเร็จ. พระองค์มิได้เรียกร้องมากเกินไปหรือวางข้อจำกัดจนเกินควร. ตัวอย่างเช่น พระองค์ประทานแก่อาดามในสิ่งที่คงจะเป็นความยินดีสำหรับนักสัตววิทยา นั่นคืองานมอบหมายให้ศึกษาและตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ. หลังจากอาดามสังเกตลักษณะนิสัยของสัตว์เหล่านั้นแล้ว เขาตั้งชื่อพวกมัน หลายชื่อเป็นแบบพรรณนา. (เยเนซิศ 2:19) นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเกี่ยวกับวิธีที่มนุษย์อาจใช้พรสวรรค์และความสามารถของเขาได้อย่างที่ประสานกับพระประสงค์ของพระเจ้า.
คุณจะเข้าใจได้ว่าพระผู้สร้างผู้ทรงเชาวน์ปัญญาแห่งเอกภพทั้งสิ้นสามารถควบคุมสถานการณ์ใด ๆ บนแผ่นดินโลกได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้มนุษย์เลือกแนวทางที่โง่เขลาหรือยังผลเสียหายก็ตาม. บันทึกทางประวัติศาสตร์แจ้งให้เราทราบว่าพระเจ้าทรงให้พระบัญชาที่เป็นข้อจำกัดข้อเดียวแก่อาดามคือ “บรรดาผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด; เว้นแต่ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่วผลของต้นนั้นเจ้าอย่ากินเป็นอันขาด; ถ้าเจ้าขืนกินในวันใด, เจ้าจะตายในวันนั้นเป็นแน่.”—เยเนซิศ 2:16, 17.
พระบัญชานั้นเรียกร้องให้มนุษยชาติยอมรับสิทธิของพระเจ้าที่พึงได้รับการเชื่อฟัง. มนุษย์ตั้งแต่สมัยอาดามจนถึงสมัยเราต้องยอมรับกฎของแรงโน้มถ่วงและดำเนินชีวิตประสานกับกฎนั้น; คงจะเป็นความโง่เขลาและยังความเสียหายหากฝืนกฎนั้น. ดังนั้น ทำไมมนุษย์จะปฏิเสธการดำเนินชีวิตประสานกับกฎหมายหรือพระบัญชาอีกอย่างหนึ่งจากพระผู้สร้างที่ทรงไว้ซึ่งคุณความดี? พระผู้สร้างทรงชี้ชัดถึงผลของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของพระองค์ แต่พระองค์ทรงให้อาดามและฮาวาเลือกที่จะเชื่อฟังพระองค์โดยสมัครใจ. เห็นได้ไม่ยากในเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติตอนต้น ๆ ของมนุษย์ที่ว่าพระผู้สร้างทรงยอมให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือก. กระนั้น พระองค์ทรงต้องการให้ผู้ที่พระองค์สร้างมานั้นมีความสุขสูงสุด ซึ่งตามปกติแล้ว นี่เป็นผลจากการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎหมายที่ดีซึ่งพระองค์ประทานให้นั้น.
ในบทต้น ๆ เราสังเกตว่าพระผู้สร้างได้ทรงสร้างบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา เป็นบุคคลวิญญาณ. ประวัติเกี่ยวกับการเริ่มต้นของมนุษย์เปิดเผยว่า หนึ่งในวิญญาณเหล่านี้ถูกครอบงำด้วยความคิดที่จะช่วงชิงตำแหน่งของพระเจ้า. (เทียบกับยะเอศเคล 28:13-15.) เขาใช้เสรีภาพในการเลือกที่พระเจ้าประทานให้นั้นอย่างผิด ๆ และล่อลวงมนุษย์คู่แรกเข้าสู่สิ่งที่เราต้องเรียกว่าการขืนอำนาจอย่างเปิดเผย. โดยการกระทำแบบท้าทายด้วยการไม่เชื่อฟังคำสั่ง นั่นคือการรับประทานผลจาก “ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่ว” สามีภรรยาคู่แรกแสดงว่าเขาไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้า. แต่ยิ่งกว่านั้น แนวทางดังกล่าวเผยให้เห็นว่าเขาทั้งสองสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าพระผู้สร้างทรงยับยั้งสิ่งดีไว้จากมนุษย์. ดูประหนึ่งว่าอาดามและฮาวาต้องการตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรดีและอะไรชั่ว—ไม่ว่าพระผู้สร้างของเขาจะทรงกำหนดมาตรฐานไว้อย่างไรก็ตาม.
คงจะเป็นเรื่องไร้เหตุผลสักเพียงไรที่ชายหญิงจะตัดสินใจว่า เขาไม่ชอบกฎของแรงโน้มถ่วงและปฏิบัติตรงกันข้ามกับกฎนั้น! เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเช่นเดียวกันที่อาดามและฮาวาปฏิเสธมาตรฐานทางศีลธรรมของพระผู้สร้าง. แน่นอนว่า มนุษย์พึงคาดหมายผลเสียหายจากการละเมิดกฎพื้นฐานของพระเจ้าที่เรียกร้องการเชื่อฟัง เช่นเดียวกับผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่สนใจไยดีกฎของแรงโน้มถ่วง.
ประวัติศาสตร์บอกเราว่าพระยะโฮวาทรงลงมือจัดการในตอนนั้น. ใน “วันนั้น” ที่อาดามและฮาวาปฏิเสธพระทัยประสงค์ของพระผู้สร้าง เขาทั้งสองเริ่มเสื่อมลง มุ่งหน้าสู่ความตาย ดังที่พระเจ้าทรงเตือนไว้ล่วงหน้าทีเดียว. (เทียบกับ 2 เปโตร 3:8.) นี่เผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของพระผู้สร้าง. พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรม ซึ่งมิได้มองข้ามการจงใจไม่เชื่อฟัง. พระองค์ทรงมีและทรงยึดมั่นกับมาตรฐานที่สะท้อนถึงพระสติปัญญาและความยุติธรรม.
สอดคล้องกับคุณลักษณะที่โดดเด่นของพระองค์ ด้วยความเมตตาพระองค์มิได้ทำให้ชีวิตมนุษย์สิ้นสุดลงทันที? เพราะเหตุใด? เนื่องจากความใฝ่พระทัยในลูกหลานของอาดามและฮาวา ผู้ซึ่งยังมิได้กำเนิดมาด้วยซ้ำและไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อแนวทางที่ผิดบาปแห่งบรรพบุรุษของพวกเขา. ความใฝ่พระทัยของพระเจ้าต่อชีวิตที่ยังมิได้กำเนิดมานั้นพิสูจน์ให้เราเห็นว่าพระผู้สร้างทรงเป็นเช่นไร. พระองค์มิใช่ผู้พิพากษาที่ไร้ความปรานี ไม่มีความรู้สึก. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงยุติธรรม เต็มพระทัยจะให้โอกาสทุกคน และพระองค์ทรงแสดงความนับถือต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์.
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์รุ่นหลังจะมีสภาพแวดล้อมที่น่ายินดีเช่นเดียวกับมนุษย์คู่แรก. โดยที่พระผู้สร้างทรงยอมให้ลูกหลานของอาดามเกิดมา “โลกทางกายภาพถูกทำให้อยู่ภายใต้ความข้องขัดใจ.” กระนั้น สรรพสิ่งก็ใช่ว่าจะน่าข้องขัดใจหรือสิ้นหวังเสียทีเดียว. ขอระลึกว่าโรม 8:20, 21 กล่าวด้วยว่า พระผู้สร้างทรง ‘ให้ความหวังว่า วันหนึ่งโลกนั้นอาจได้รับการช่วยให้รอด.’ นั่นเป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องการทราบมากขึ้น.
คุณจะพบพระองค์ได้ไหม?
ศัตรูซึ่งชักนำมนุษย์คู่แรกเข้าสู่การขืนอำนาจนั้นได้รับการระบุชื่อในคัมภีร์ไบเบิลว่าซาตานพญามาร ซึ่งหมายความว่า “ผู้ต่อต้าน” และ “ผู้หมิ่นประมาท.” ในคำพิพากษาที่ประกาศแก่ผู้ปลุกปั่นการขืนอำนาจตัวสำคัญนั้น พระเจ้าทรงตราหน้าเขาว่าเป็นศัตรู ทว่าทรงวางรากฐานไว้เพื่อมนุษย์ในวันข้างหน้าจะมีความหวัง. พระเจ้าตรัสว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) ปรากฏชัดว่า นั่นเป็นถ้อยคำเชิงอุปมา. ข้อนี้หมายความอย่างไรเมื่อกล่าวว่าจะต้องมี “พงศ์พันธุ์” เกิดขึ้นมา?
ตอนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลให้ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อที่น่าสนใจนี้. ตอนเหล่านั้นแสดงว่าข้อนี้เกี่ยวโยงกับการที่พระยะโฮวาทรงดำเนินการประสานกับพระนามของพระองค์และ ‘กลายเป็น’ อะไรที่จำเป็นเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำหรับมนุษย์บนแผ่นดินโลกสำเร็จ. ในการทำเช่นนั้น พระองค์ทรงใช้ชาติหนึ่งโดยเฉพาะ และประวัติเกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์กับชาติโบราณนั้นประกอบเป็นส่วนสำคัญของคัมภีร์ไบเบิล. ขอให้เราพิจารณาประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้นอย่างย่อ ๆ. ระหว่างนี้ เราสามารถเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระผู้สร้าง. ที่จริง เราสามารถเรียนรู้หลายสิ่งที่ประมาณค่ามิได้เกี่ยวกับพระองค์โดยการพิจารณามากขึ้นเกี่ยวกับหนังสือที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับมนุษยชาติ นั่นคือคัมภีร์ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
a เทียบกับกิจการ 8:26-38 ที่มีการยกยะซายา 53:7, 8 ขึ้นมากล่าว.
b สำหรับรายละเอียดเรื่องต้นตอของคัมภีร์ไบเบิล โปรดดูจุลสารหนังสือสำหรับทุกคน และหนังสือคัมภีร์ไบเบิล—คำของพระเจ้าหรือของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ), จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.
[รูปภาพหน้า 107]
หลายศตวรรษหลังจากคัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้า บาบูโลนที่เรืองอำนาจได้กลายเป็นซากปรักหักพังที่ร้างเปล่า และยังคงเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งสมัยของเรา
[รูปภาพหน้า 110]
ม้วนหนังสือยะซายานี้ซึ่งคัดลอกในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ถูกค้นพบในถ้ำใกล้ทะเลตาย. ม้วนหนังสือนี้ได้บอกล่วงหน้าอย่างละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายร้อยปีภายหลังที่มีการเขียนเรื่องนั้นไว้
[รูปภาพหน้า 115]
จดหมายนี้ซึ่งเขียนเป็นภาษาฮีบรูโบราณบนเศษเครื่องเคลือบขุดพบที่เมืองลาคิช. พระนามของพระเจ้า (ดูลูกศร) ปรากฏสองครั้ง แสดงว่าพระนามของพระผู้สร้างเป็นที่รู้จักและใช้กันโดยทั่วไป
[รูปภาพหน้า 117]
ไอแซ็ก นิวตันค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง. กฎต่าง ๆ ของพระผู้สร้างมีเหตุผล และการร่วมมือกับกฎเหล่านั้นเป็นประโยชน์แก่เรา