คัมภีร์ไบเบิล—แม่นยำทุกคำพยากรณ์ ตอน 2
หนีจากบาบิโลน!
ชุดบทความแปดตอนในตื่นเถิด!นี้พิจารณาลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือคำพยากรณ์หรือคำทำนาย. บทความชุดนี้จะช่วยคุณตอบคำถามต่อไปนี้: คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นแค่การคาดการณ์ของมนุษย์ที่ฉลาดหลักแหลมเท่านั้นไหม? คำพยากรณ์เหล่านี้มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าไหม? เราขอเชิญคุณพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้.
บทความชุดนี้ในฉบับที่แล้วพิจารณาคำพยากรณ์สามเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับลูกหลานของอับราฮาม. หลักฐานแสดงว่าพระเจ้าทรงทำตามคำสัญญาเหล่านั้นโดยก่อตั้งชาติอิสราเอลและช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอับราฮาม.
บาบิโลนโบราณเป็นอีกชาติหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช. ให้เราพิจารณาคำพยากรณ์สามเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรแห่งนี้และดูว่ามีหลักฐานที่แสดงว่าคำพยากรณ์เหล่านั้นมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าหรือไม่.
ผู้พยากรณ์โมเซเตือนชาวอิสราเอลโบราณว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายหลงลืมพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, หันหาพระอื่น, และปฏิบัตินมัสการพระอื่น ๆ . . . เจ้าทั้งหลายจะพินาศไปเป็นแน่.” (พระบัญญัติ 8:19; 11:8, 9) ถึงกระนั้น ชาวอิสราเอลก็ยังขัดขืนพระเจ้าซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยหันไปนมัสการรูปเคารพ.—1 กษัตริย์ 14:22-24
ต่อมา พระเจ้าจึงหมดความอดทน และทรงยอมให้ประชาชนที่ดื้อดึงของพระองค์ถูกชาวบาบิโลนพิชิต. กษัตริย์นะบูคัดเนซัร หรือเนบูคัดเรซซาร์ นำกองกำลังของบาบิโลนมาต่อสู้อิสราเอล แล้วล้อมกรุงเยรูซาเลม. การล้อมเมืองครั้งนี้มีความสำคัญไหม? ให้เราพิจารณาข้อเขียนของผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์เกือบ 20 ปีก่อนเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น.—ยิระมะยา 25:1
คำพยากรณ์ที่ 1: “เหตุเพราะพวกเจ้า [ชาวอิสราเอล] ไม่ได้ยินฟังคำโอวาทของเรา [พระเจ้า], นี่แน่ะ, เราจะใช้ . . . นะบูคัดเนซัรกษัตริย์เมืองบาบูโลน . . . แลเราจะพาเขาทั้งหลาย [ชาวบาบิโลน] มาต่อสู้ประเทศนี้, แลต่อสู้ชาวเมืองประเทศนี้ . . . แลประเทศนี้ทั้งหมดจะเป็นร้างทั้งนั้น, จะเป็นที่ตกตะลึง, แลบ้านเมืองทั้งปวงเหล่านี้จะต้องปรนนิบัติกษัตริย์บาบูโลนเจ็ดสิบปี.”—ยิระมะยา 25:8-11
ความสำเร็จเป็นจริง: หลังจากล้อมเมืองเป็นเวลานาน นะบูคัดเนซัรตีกรุงเยรูซาเลมได้ในปี 607 ก่อน ส.ศ. เขายังได้ยึดเมืองอื่น ๆ ของยูดาห์ เช่น ลาคิชและอะเซคาห์. (ยิระมะยา 34:6, 7) เขานำตัวผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ไปเป็นเชลยที่บาบิโลนนาน 70 ปี.
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● คัมภีร์ไบเบิลบอกว่านะบูคัดเนซัรเป็นกษัตริย์ของบาบิโลนในช่วงที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. หลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าเคยมีกษัตริย์ชื่อนะบูคัดเนซัรอยู่จริงตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้. มีหินโอนิกซ์ที่สลักเป็นรูปนูนจัดแสดงอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี. หินนั้นมีข้อความจารึกไว้ว่า “นะบูคัดเนซัร กษัตริย์แห่งบาบิโลน ได้ทำสิ่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เมโรดัคในช่วงชีวิตของท่าน.” นะบูคัดเนซัรปกครองตั้งแต่ปี 624 ถึง 582 ก่อน ส.ศ.
● หนังสือคัมภีร์ไบเบิลและโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า การขุดค้นและการสำรวจในลาคิชยืนยันดังนี้: “การทำลายครั้งสุดท้ายนั้นรุนแรงมาก และไฟซึ่งทำลายเมือง [ลาคิช] แรงถึงขั้นทำให้หินปูนในอาคารต่าง ๆ กลายเป็นปูนขาว.”
คำพยากรณ์ที่ 2: “ครั้นเมื่อครบถ้วนเจ็ดสิบปี, ที่เมืองบาบูโลนแล้ว, เรา [พระยะโฮวา] จะไปเยี่ยมเจ้าทั้งหลาย [พวกเชลยชาวยิว], แลจะกระทำให้คำดีของเรา (ซึ่งได้กล่าวไว้) แก่พวกเจ้าให้สำเร็จ, คือว่าจะกระทำให้พวกเจ้ากลับมาถึงที่นี่ [แผ่นดินยูดาห์].”—ยิระมะยา 29:10
ความสำเร็จเป็นจริง: หลังจากเป็นเชลย 70 ปี ตั้งแต่ปี 607 ถึง 537 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียปล่อยเชลยชาวยิวเป็นอิสระและอนุญาตให้พวกเขากลับมาตุภูมิเพื่อสร้างพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่.—เอษรา 1:2-4
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● ชาวอิสราเอลเป็นเชลยตลอดช่วงเวลา 70 ปีอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไหม? ขอสังเกตคำกล่าวของนักโบราณคดีชั้นแนวหน้าคนหนึ่งชื่อเอฟราอิม สเติร์น. “ตั้งแต่ปี 604 ก่อน ส.ศ. ถึง 538 ก่อน ส.ศ. ไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยที่บ่งชี้ว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในดินแดนนั้น. ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว ไม่มีเมืองใดที่บาบิโลนทำลายแล้วจะมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่.” ระยะเวลาที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกพิชิตนั้นใกล้เคียงกันมากกับช่วงที่อิสราเอลเป็นเชลยในบาบิโลนตั้งแต่ปี 607 ถึง 537 ก่อน ส.ศ.—2 โครนิกา 36:20, 21
● ชาติโบราณแถบเมโสโปเตเมียจารึกข้อความไว้บนแผ่นดินเหนียวที่นิ่มอยู่. แผ่นดินเหนียวที่แข็งแล้วแผ่นหนึ่งซึ่งมีชื่อว่ากระบอกดินเหนียวของไซรัส มีอายุตั้งแต่ราว ๆ ปี 539 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียโค่นจักรวรรดิบาบิโลน. ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ข้าคือไซรัส . . . กษัตริย์แห่งบาบิโลน.” ข้อความเดียวกันกล่าวต่อไปว่า “ข้าได้ส่งคืนถึงเมืองศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ [ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้] บนอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำไทกริส, สถานศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นซากปรักหักพังมาเป็นเวลานานรวมถึงรูปเคารพที่อยู่ที่นั้นด้วย . . . ข้า (ยังได้) รวบรวมผู้คนที่ (เคย) อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นและได้ส่งพวกเขากลับไป (ยังที่เหล่านั้น).”
แหล่งข้อมูลนอกคัมภีร์ไบเบิลนี้สอดคล้องกับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าเชลยชาวยิวจะกลับสู่มาตุภูมิ ซึ่งเขียนไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์จริงประมาณ 200 ปี.
คำพยากรณ์ที่ 3: “กรุงบาบูโลนซึ่งเป็นสง่าของราชอาณาจักรทั้งหลาย, เป็นเมืองงามซึ่งชาวเคเซ็ธอวดอ้างนั้น, จะเป็นเหมือนอย่างเมืองซะโดมและเมืองอะโมราที่พระเจ้าได้ทรงคว่ำทลายเสียนั้น. และเมืองนั้นจะไม่มีใครมาอยู่ต่อไปอีกเลย.”—ยะซายา 13:19, 20
ความสำเร็จเป็นจริง: เหตุการณ์พลิกผันอย่างน่าตกตะลึง. บาบิโลน มหาอำนาจโลกอันเกรียงไกรถูกพิชิตโดยชาวมีเดียและเปอร์เซียในปี 539 ก่อน ส.ศ.a เมืองนี้ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่อีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา แต่ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงและในที่สุดกลายเป็นที่ร้างเปล่า “ปราศจากชาวเมืองอยู่.”—ยิระมะยา 51:37
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● บาบิโลนหายสาบสูญไปอย่างสิ้นซากจนผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งชื่อทอม บอยกล่าวว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ตะวันตกและนักเดินทางซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหกถึงศตวรรษที่สิบแปด” ซึ่งรู้จักเมืองที่มีความหมายพิเศษนี้ มีปัญหาในการระบุ “ที่ตั้งที่แน่ชัดของเมืองนี้.”
● ในปี 1919 เอช. อาร์. ฮอลล์ ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลโบราณวัตถุของอียิปต์และอัสซีเรียในพิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตน พรรณนาถึงบาบิโลนว่า “มีแต่ซากกำแพงที่ไม่เป็นระเบียบ . . . และมีทรายปกคลุมเต็มไปหมด.”
เราอาจลงความเห็นอะไรได้เมื่อพิจารณาความสำเร็จของคำพยากรณ์เหล่านี้? เห็นได้ชัด คัมภีร์ไบเบิลผ่านการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นหนังสือแห่งคำพยากรณ์ที่แม่นยำ. คำพยากรณ์เกี่ยวกับยูดาห์และบาบิโลนสำเร็จเป็นจริงทุกรายละเอียดตามที่บอกไว้ล่วงหน้า!
เยรูซาเลมถูกทำลายเพราะประชาชนไม่เชื่อฟังคำเตือนของพระเจ้าที่ให้เลิกประพฤติเลวทราม. หลังจากเป็นเชลย 70 ปีในบาบิโลนตามคำพยากรณ์ ชาวอิสราเอลได้รับอนุญาตให้กลับสู่กรุงเยรูซาเลม. เมืองบาบิโลนโบราณถูกทำลายเหมือนกับที่ได้พรรณนาไว้ และยังคงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้. แต่คำพยากรณ์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของคำพยากรณ์ทั้งหมดในคัมภีร์ไบเบิล.
บทความในฉบับถัดไปจะพูดถึงการบอกล่วงหน้าไว้เป็นเวลานานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. คำพยากรณ์ที่สำเร็จแล้วเหล่านั้นจะทำให้เรามั่นใจในความถูกต้องแม่นยำของคัมภีร์ไบเบิลเช่นกัน.
[เชิงอรรถ]
a นอกจากนี้ ยะซายาห์บอกล่วงหน้าประมาณ 200 ปีว่าชาวมีเดียจะนำหน้าในการพิชิตบาบิโลน.—ดูยะซายา 13:17-19; 21:2
[แผนภูมิหน้า 12, 13]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
แผนภูมิแสดงลำดับเวลาของบาบิโลน
ประมาณ 732 ก่อน ส.ศ.: ยะซายาห์บอกล่วงหน้าถึงความล่มจมของบาบิโลน
(ก่อน ส.ศ.)
647 ยิระมะยาห์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พยากรณ์
632 บาบิโลนโค่นล้มอัสซีเรีย
625 นะบูคัดเนซัรเริ่มครองราชย์
617 ดานิเอลและยะเอศเคลถูกนำตัวไปบาบิโลน
607 นะบูคัดเนซัรทำลายกรุงเยรูซาเลม
582 สิ้นสุดรัชกาลของนะบูคัดเนซัร
539 ชาวมีเดียและเปอร์เซียพิชิตบาบิโลน
537 ชาวยิวที่ตกเป็นเชลยได้รับอนุญาตให้กลับไปยังกรุงเยรูซาเลม
ชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลนเป็นเวลา 70 ปี
[ภาพหน้า 12]
จดหมายลาคิชสนับสนุนคำพรรณนาของยิระมะยาห์เกี่ยวกับการที่บาบิโลนพิชิตยูดาห์
[ภาพหน้า 13]
กระบอกดินเหนียวของไซรัสบันทึกนโยบายของไซรัสเรื่องการส่งเชลยกลับสู่มาตุภูมิ
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Page 12 Lachish Letter: Photograph taken by courtesy of the British Museum; page 13 Cyrus Cylinder: © The Trustees of the British Museum