หนังสือแห่งคำพยากรณ์
ผู้คนต่างสนใจอนาคต. พวกเขาแสวงหาคำทำนายที่วางใจได้ในหลายเรื่อง ตั้งแต่การพยากรณ์อากาศไปจนถึง เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ. แต่พอเขาทำตามคำพยากรณ์เหล่านั้น เขาก็มักผิดหวัง. คัมภีร์ไบเบิลบรรจุคำ ทำนายหรือคำพยากรณ์มากมาย. คำพยากรณ์เหล่านั้นถูกต้องแม่นยำแค่ไหน? คำพยากรณ์เหล่านั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ล่วงหน้าไหม? หรือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้สำคัญผิดว่าเป็นคำพยากรณ์?
กาโต รัฐบุรุษชาวโรมัน (234-149 ก.ส.ศ.) กล่าวตามที่มีรายงานว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจที่นักทำนายไม่หัวเราะเมื่อเขาเห็นนักทำนายอีกคนหนึ่ง.”1 แท้จริง จนถึงสมัยนี้ ผู้คนจำนวนมากต่างสงสัยพวกหมอดู, โหร, และนักทำนายประเภทอื่น ๆ. คำทำนายของพวกเขามักกล่าวด้วยถ้อยคำคลุมเครือและเป็นเรื่องที่ตีความได้กว้างขวางหลากหลาย.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล? มีสาเหตุสำหรับความสงสัยไหม? หรือว่ามีพื้นฐานสำหรับความมั่นใจไหม?
ไม่ใช่แค่การคาดการณ์โดยอาศัยความรู้
ผู้ทรงความรู้อาจพยายามใช้แนวโน้มที่สังเกตเห็นได้เพื่อทำการอนุมานที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับอนาคต แต่พวกเขาไม่เคยทำได้ถูกต้องทุกครั้ง. หนังสือฟิวเจอร์ ช็อก ให้ข้อสังเกตว่า “ทุกสังคมเผชิญไม่เพียงกับลำดับอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่กับชุดอนาคตที่มีทางเป็นไปได้ และความขัดแย้งในเรื่องอนาคตที่อยากให้เป็น.” หนังสือนั้นเสริมว่า “แน่ละ ไม่มีใครสามารถ ‘รู้’ อนาคตในความหมายครบถ้วนได้ไม่ว่าในความหมายใด. เราทำได้แค่จัดระบบและตั้งสมมุติฐานของเราให้ลึกขึ้นรวมทั้งพยายามกำหนดสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ให้กับสมมุติฐานเหล่านี้.”2
แต่ผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เพียง “กำหนดสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้” ให้กับ “สมมุติฐาน” เกี่ยวกับอนาคต. และคำพยากรณ์ของพวกเขาก็ไม่อาจถูกปัดทิ้งฐานะคำแถลงที่คลุมเครือซึ่งเปิดโอกาสให้ตีความกันอย่างหลากหลาย. ตรงกันข้าม คำพยากรณ์มากมายของพวกเขามีการกล่าวด้วยความชัดเจนอย่างยิ่งและชี้เฉพาะเป็นพิเศษ บ่อยครั้งเป็นการพยากรณ์ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้น. ขอมาดูสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงกรุงบาบูโลนโบราณเป็นตัวอย่าง.
จะถูก ‘กวาดด้วยไม้กวาดแห่งความพินาศ’
กรุงบาบูโลนโบราณกลายเป็น “อัญมณีแห่งอาณาจักรทั้งหลาย.” (ยะซายา 13:19, เดอะ นิว อเมริกันไบเบิล) กรุงนี้ซึ่งขยายออกไปทุกทิศทางตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมบนเส้นทางการค้าจากอ่าวเปอร์เซียถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำหน้าที่เป็นสถานีพาณิชย์ทั้งสำหรับการค้าทางบกและทางทะเลระหว่างตะวันออกกับตะวันตก.
พอถึงศตวรรษที่เจ็ด ก.ส.ศ. บาบูโลนเป็นนครหลวงที่ดูเหมือนไม่อาจพิชิตได้แห่งจักรวรรดิบาบูโลน. กรุงนี้ตั้งคร่อมแม่น้ำยูเฟรทีส และมีการใช้น้ำในแม่น้ำนี้เพื่อทำคูเมืองที่ทั้งกว้างและลึก รวมทั้งเครือข่ายคลองต่าง ๆ. นอกจากนั้น กรุงนี้ยังมีการป้องกันโดยระบบกำแพงสองชั้นอันใหญ่โต ซึ่งเสริมด้วยหอคอยป้องกันเมืองจำนวนมาก. จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชากรในกรุงนี้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย.
กระนั้นก็ตาม ในศตวรรษที่แปด ก.ส.ศ. ก่อนที่บาบูโลนขึ้นสู่ความรุ่งเรืองสุดยอด ผู้พยากรณ์ยะซายาได้บอกล่วงหน้าว่า บาบูโลนจะถูก ‘กวาดด้วยไม้กวาดแห่งความพินาศ.’ (ยะซายา 13:19; 14:22, 23) ยะซายายังได้พรรณนาอย่างชัดเจนถึงวิธีที่บาบูโลนจะล่มจมอีกด้วย. ผู้รุกรานจะทำให้แม่น้ำแห่งกรุงนี้อันเป็นแหล่งของแนวป้องกันดุจคูเมือง ‘แห้งไป’ ทำให้กรุงนี้ถูกโจมตีได้ง่าย. ยะซายาบอกแม้กระทั่งนามของผู้พิชิตด้วย คือ “ไซรัส” กษัตริย์เปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่ “ผู้ซึ่งประตูใหญ่จะเปิดและไม่มีประตูใดปิดอยู่ข้างหน้าท่าน.”—ยะซายา 44:27–45:2, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.
เรื่องเหล่านี้เป็นคำพยากรณ์ที่ต้องกล่าวอย่างกล้าหาญ. แต่คำพยากรณ์นี้กลายเป็นจริงไหม? ประวัติศาสตร์ให้คำตอบ.
“โดยไม่มีการสู้รบ”
สองศตวรรษภายหลังยะซายาบันทึกคำพยากรณ์ของท่าน ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 539 ก.ส.ศ. กองทัพเมโด-เปอร์เซียภายใต้การบัญชาการของไซรัสมหาราชยกมาตั้งค่ายใกล้กรุงบาบูโลน. แต่ชาวบาบูโลนก็มั่นใจ. ตามคำกล่าวของเฮโรโดทุสนักประวัติศาสตร์กรีก (ศตวรรษที่ห้า ก.ส.ศ.) พวกเขามีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ สะสมไว้เพียงพอจะอยู่ได้เป็นปี ๆ.3 นอกจากนี้พวกเขายังมีแม่น้ำยูเฟรทีสกับกำแพงอันแข็งแกร่งของกรุงบาบูโลนไว้ปกป้องตนเองด้วย. กระนั้น ตามจดหมายเหตุของนะโบไนดัส ในคืนนั้นเอง “กองทัพของไซรัสเข้ากรุงบาบูโลนโดยไม่มีการสู้รบ.”4 เรื่องนั้นเป็นไปได้อย่างไร?
เฮโรโดทุสชี้แจงว่า ภายในกรุงนั้น ผู้คน “กำลังเต้นรำและสนุกสนานกับงานเลี้ยงฉลอง.”5 แต่ภายนอก ไซรัสได้เปลี่ยนทางน้ำของแม่น้ำยูเฟรทีส. ขณะที่ระดับน้ำลดลง กองทัพของเขาจึงเดินลุยโคลนตามท้องแม่น้ำ ซึ่งน้ำสูงถึงต้นขา. พวกเขายกพลผ่านกำแพงสูงตระหง่านและผ่านสิ่งที่เฮโรโดทุสเรียกว่า “ประตูใหญ่ซึ่งเปิดสู่แม่น้ำ” เข้าไป ประตูใหญ่ซึ่งเปิดทิ้งไว้ด้วยความเลินเล่อ.6 (เทียบกับดานิเอล 5:1-4; ยิระมะยา 50:24; 51:31, 32.) นักประวัติศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งซีโนฟอน (ประมาณปี 431-352 ก.ส.ศ.) รวมทั้งแผ่นจารึกอักษรรูปลิ่มที่พวกนักโบราณคดีค้นพบ ต่างยืนยันการที่บาบูโลนถูกไซรัสยึดอย่างกะทันหัน.7
คำพยากรณ์ของยะซายาเกี่ยวกับบาบูโลนจึงสำเร็จเป็นจริงด้วยวิธีนี้. หรือว่าไม่ใช่? เป็นไปได้ไหมว่านี่ไม่ใช่คำพยากรณ์ แต่แท้จริงแล้วถูกเขียนขึ้นภายหลังบาบูโลนล่มจม? ที่จริง อาจถามคำถามเดียวกันนี้ได้เกี่ยวกับคำพยากรณ์อื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล.
ประวัติศาสตร์ที่ถูกปลอมแปลง เป็นคำพยากรณ์หรือ?
หากพวกผู้พยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล—รวมทั้งยะซายา—แค่ดัดแปลงประวัติศาสตร์ให้ดูเหมือนเป็นคำพยากรณ์ละก็ เขาเหล่านั้นก็คงเป็นแค่นักฉ้อฉลที่ฉลาดเท่านั้น. แต่พวกเขาจะมีมูลเหตุจูงใจอะไรที่ทำการหลอกลวงเช่นนั้น? ผู้พยากรณ์แท้พร้อมจะแสดงให้เป็นที่รู้กันว่าไม่มีใครอาจติดสินบนพวกเขาได้. (1 ซามูเอล 12:3; ดานิเอล 5:17) และเราก็ได้พิจารณาหลักฐานที่มีพลังไปแล้วว่า ผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิล (ซึ่งมีหลายคนเป็นผู้พยากรณ์) เป็นผู้ที่คู่ควรแก่ความไว้วางใจซึ่งเต็มใจจะเปิดเผยแม้แต่ความผิดที่น่าอับอายของตนเอง. จึงดูไม่น่าเป็นไปได้ที่คนประเภทนี้จะอยากทำการฉ้อฉลอันแนบเนียน โดยปลอมแปลงประวัติศาสตร์ให้เป็นคำพยากรณ์.
มีสิ่งอื่นที่พึงพิจารณา. คำพยากรณ์หลายเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลมีคำประจานอันเผ็ดร้อนรุนแรงเกี่ยวกับชนร่วมชาติของผู้พยากรณ์เอง ซึ่งรวมถึงพวกปุโรหิตและผู้ปกครองด้วย. ตัวอย่างเช่น ยะซายาประณามสภาพศีลธรรมอันเลวทรามต่ำช้าของชาวยิศราเอล—ทั้งพวกผู้นำและประชาชน—ในสมัยของท่าน. (ยะซายา 1:2-10) ส่วนผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ได้เปิดโปงการบาปของพวกปุโรหิตอย่างไม่มีผ่อนปรน. (ซะฟันยา 3:4; มาลาคี 2:1-9) เป็นเรื่องยากจะเข้าใจว่า ทำไมพวกเขาจะต้องเสกสรรปั้นเรื่องคำพยากรณ์ซึ่งบรรจุคำตำหนิอันรุนแรงที่สุดเท่าที่จะนึกออกต่อชนร่วมชาติของตนเอง และเพราะเหตุใดปุโรหิตเหล่านั้นจึงจะร่วมมือด้วยในการหลอกลวงเช่นนั้น.
อีกประการหนึ่ง พวกผู้พยากรณ์จะทำการปลอมแปลงเช่นนั้นสำเร็จได้อย่างไรหากพวกเขาเป็นแค่นักต้มตุ๋น? มีการส่งเสริมให้รู้หนังสือในยิศราเอล. ตั้งแต่เยาว์วัย เด็ก ๆ ได้รับการสอนวิธีอ่านเขียน. (พระบัญญัติ 6:6-9) มีการสนับสนุนให้อ่านพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว. (บทเพลงสรรเสริญ 1:2) มีการอ่านพระคัมภีร์ต่อสาธารณชน ในธรรมศาลาในวันซะบาโตประจำสัปดาห์. (กิจการ 15:21) ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ว่า ชาติที่รู้หนังสือทั้งชาติซึ่งรอบรู้พระคัมภีร์ดีจะถูกหลอกลวงได้โดยการฉ้อฉลเช่นนั้น.
นอกจากนี้ ยังมีมากกว่านี้อีกเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของยะซายาในเรื่องความล่มจมของบาบูโลน. ซึ่งในคำพยากรณ์นี้มีรายละเอียดที่ไม่มีทางเขียนขึ้นได้ภายหลังความสำเร็จเป็นจริงรวมอยู่ด้วย.
“เมืองนั้นจะไม่มีใครมาอยู่ต่อไปอีกเลย”
บาบูโลนจะเป็นเช่นไรภายหลัง ความล่มจม? ยะซายาพยากรณ์ว่า “เมืองนั้นจะไม่มีใครมาอยู่ต่อไปอีกเลย, และจะไม่มีใครมาตั้งบ้านเรือนอาศัยต่อไปทุกชั่วอายุ, ถึงพวกอาหรับก็จะไม่ตั้งกะโจมอาศัยอยู่ที่นั่น; หรือผู้เลี้ยงแกะจะไม่นำฝูงแกะไปพักนอนอยู่ที่นั่นเลย.” (ยะซายา 13:20) คงดูแปลกไม่น้อยถ้าจะพยากรณ์ว่า กรุงซึ่งตั้งอยู่ในทำเลดีเยี่ยมเช่นนั้นจะกลายเป็นที่ร้างอย่างถาวร. ถ้อยคำของยะซายาจะเขียนขึ้นหลังจากที่ท่านได้สังเกตเห็นกรุงบาบูโลนร้างเปล่าได้ไหม?
หลังจากถูกไซรัสยึดครอง บาบูโลนที่มีผู้คนอาศัย—แม้จะตกต่ำ—ยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายศตวรรษ. คงจำได้ว่า ม้วนหนังสือแห่งทะเลตายนั้นรวมถึงสำเนาพระธรรมยะซายาทั้งเล่มซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ประมาณช่วงเวลาที่ม้วนหนังสือนี้มีการคัดสำเนา ชาวปาร์เทียก็ได้ยึดครองบาบูโลน. ในศตวรรษที่หนึ่งแห่งสากลศักราช มีชาวยิวได้ตั้งถิ่นฐานในบาบูโลน และเปโตรผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลได้ไปเยือนที่นั่น. (1 เปโตร 5:13) พอถึงเวลานั้น ม้วนหนังสือพระธรรมยะซายาฉบับทะเลตายก็มีอยู่แล้วเกือบสองศตวรรษ. ดังนั้น ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช บาบูโลนยังไม่ร้างเปล่าโดยสิ้นเชิง แต่พระธรรมยะซายาถูกจารึกเสร็จก่อนเวลานั้นนานแล้ว.a
ดังที่พยากรณ์ไว้ ในที่สุดบาบูโลนก็กลายเป็นเพียง “สิ่งสลักหักพัง.” (ยิระมะยา 51:37, ฉบับแปลใหม่) ตามคำกล่าวของเจอโรม ผู้คงแก่เรียนด้านภาษาฮีบรู (ศตวรรษที่สี่ ส.ศ.) พอถึงสมัยของเขา บาบูโลนเป็นทุ่งล่าสัตว์ซึ่งมี “สัตว์ทุกชนิด” เพ่นพ่านไปมา.9 บาบูโลนยังคงร้างเปล่าจนทุกวันนี้.
ยะซายาไม่ได้อยู่จนเห็นบาบูโลนกลายเป็นเมืองร้าง. แต่ซากปรักหักพังของกรุงที่เคยเรืองอำนาจ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางใต้ราว 80 กิโลเมตร ในประเทศอิรักปัจจุบัน เป็นพยานยืนยันอย่างเงียบ ๆ ถึงความสำเร็จเป็นจริงแห่งถ้อยคำของท่านที่ว่า “เมืองนั้นจะไม่มีใครมาอยู่ต่อไปอีกเลย.” การบูรณะบาบูโลนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอาจดึงดูดใจผู้มาเยือน แต่ “ลูกหลานเหลน” ของบาบูโลนได้สาบสูญไปแล้วตลอดกาล.—ยะซายา 13:20; 14:22, 23.
ฉะนั้น ผู้พยากรณ์ยะซายาไม่ได้กล่าวคำพยากรณ์ที่คลุมเครือซึ่งอาจนำไปใช้กับเหตุการณ์ใดก็ได้ในอนาคต. และท่านก็ไม่ได้ดัดแปลงประวัติศาสตร์เพื่อทำให้ดูเหมือนเป็นคำพยากรณ์. คิดดูสิ: เหตุใดคนที่เป็นนักต้มตุ๋นซึ่งเขียนหลังจากบาบูโลนถูกพิชิตจะเสี่ยง “พยากรณ์” เรื่องที่เขาคงจะควบคุมไม่ได้เลย—ที่ว่า บาบูโลนอันเกรียงไกรจะไม่มีคนอยู่อาศัยต่อไปอีกเลย?
คำพยากรณ์นี้ซึ่งเกี่ยวกับความล่มจมของบาบูโลนเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นจากคัมภีร์ไบเบิล.b ในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล ผู้คนมากมายมองเห็นข้อบ่งชี้ที่ว่า คัมภีร์ไบเบิลต้องมาจากแหล่งที่สูงกว่ามนุษย์. บางทีคุณคงเห็นด้วยว่า อย่างน้อยที่สุด หนังสือแห่งคำพยากรณ์นี้คู่ควรแก่การตรวจสอบ. สิ่งหนึ่งที่แน่ ๆ คือ มีความแตกต่างใหญ่หลวงระหว่างคำทำนายของพวกนักทำนายในสมัยนี้ซึ่งคลุมเครือหรือสร้างความตื่นเต้น กับคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่ชัดเจน, จริงจัง, และชี้เฉพาะเรื่อง.
[เชิงอรรถ]
a มีหลักฐานแน่นหนาว่าพระธรรมต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—ซึ่งรวมถึงพระธรรมยะซายา—ถูกจารึกก่อนศตวรรษที่หนึ่งแห่งสากลศักราชเป็นเวลานาน. นักประวัติศาสตร์โยเซฟุส (ศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช) บ่งชี้ว่า สารบบของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการกำหนดไว้แล้วนานก่อนสมัยของเขา.8 นอกจากนั้น ฉบับแปลกรีก เซปตัวจินต์ ซึ่งเป็นฉบับแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก ได้เริ่มต้นในศตวรรษที่สาม ก.ส.ศ. และเสร็จสิ้นในศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ.
b สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพยากรณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านั้น โปรดดูหนังสือ คัมภีร์ไบเบิล—คำของพระเจ้าหรือของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก หน้า 117-133.
[จุดเด่นหน้า 28]
เหล่าผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลเป็นผู้พยากรณ์ที่ถูกต้องแม่นยำหรือว่านักฉ้อฉลที่ฉลาด?
[ภาพหน้า 29]
ซากปรักหักพังของ กรุงบาบูโลนโบราณ