แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 5-11 ธันวาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 1-5
“ขึ้นไปบนภูเขาของพระยะโฮวากันเถอะ”
ip-1-E น. 38-41 ว. 6-11
วิหารของพระยะโฮวาถูกยกขึ้น
6 คำพยากรณ์ของอิสยาห์จะเกิดขึ้นจริงเมื่อไร? จะเกิดขึ้น “ในสมัยสุดท้าย” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกบอกล่วงหน้าถึงลักษณะต่าง ๆ ของช่วงเวลานี้ นั่นรวมถึงสงคราม แผ่นดินไหว โรคระบาด ขาดแคลนอาหาร และ “ช่วงเวลาวิกฤติที่มีแต่ความยุ่งยากลำบาก” (2 ทิโมธี 3:1-5; ลูกา 21:10, 11) คำพยากรณ์หลายข้อที่เกิดขึ้นจริงนี้ให้หลักฐานว่าเรากำลังอยู่ “ในสมัยสุดท้าย” ซึ่งก็คือช่วงเวลาท้าย ๆ ของสังคมโลกในปัจจุบัน นี่เป็นเหตุผลที่เราคาดหวังได้ว่าคำพยากรณ์หลายข้อของอิสยาห์จะเป็นจริงในสมัยของเรา
ภูเขาที่คนไปนมัสการ
7 อิสยาห์ทำให้เราเห็นภาพของคำพยากรณ์อย่างชัดเจนโดยใช้การอธิบายสั้น ๆ เราเห็นภาพภูเขาสูงที่บนยอดมีบ้านที่สง่างามซึ่งเป็นวิหารของพระยะโฮวาราวกับสวมมงกุฎ ภูเขานี้อยู่เหนือภูเขาและเนินเขาที่อยู่รายรอบ แต่ไม่ได้ดูน่าหวาดกลัว กลับดูสวยงามน่าดึงดูด ผู้คนจากทุกชาติอยากจะขึ้นไปที่ภูเขาที่เป็นวิหารของพระยะโฮวา พวกเขาหลั่งไหล ไปที่นั่น ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนจริง ๆ แต่เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร?
8 ในสมัยของอิสยาห์มักมีการเชื่อมโยงเนินเขาและภูเขากับการนมัสการ ตัวอย่างเช่น การนมัสการรูปเคารพและวิหารของพระเท็จก็มักจะตั้งอยู่บนภูเขา (เฉลยธรรมบัญญัติ 12:2; เยเรมีย์ 3:6) อย่างไรก็ตาม วิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่บนภูเขาโมริยาห์ในกรุงเยรูซาเล็ม คนอิสราเอลที่ซื่อสัตย์เดินทางขึ้นไปภูเขาโมริยาห์ปีละ 3 ครั้งเพื่อนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ (เฉลยธรรมบัญญัติ 16:16) ดังนั้น ฝูงชนจากชาติต่าง ๆ จะหลั่งไหลไปยัง “ภูเขาที่มีวิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่” ซึ่งเป็นภาพเปรียบเทียบของการที่ผู้คนมากมายร่วมกันในการนมัสการแท้
9 ในทุกวันนี้ ประชาชนของพระเจ้าไม่ได้ไปรวมตัวบนภูเขาจริง ๆ ซึ่งมีวิหารที่สร้างด้วยหิน วิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายไปแล้วโดยกองทัพโรมันในปี ค.ศ. 70 นอกจากนั้น อัครสาวกเปาโลอธิบายชัดเจนว่าวิหารในกรุงเยรูซาเล็มและเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ที่พูดไปก่อนหน้านั้นเป็นแค่ภาพเปรียบเทียบ สิ่งเหล่านั้นเป็นภาพแสดงถึงการนมัสการแท้ที่ดีกว่าคือ การนมัสการ “ในเต็นท์เข้าเฝ้าที่แท้จริงซึ่งพระยะโฮวาตั้งไว้ ไม่ใช่มนุษย์” (ฮีบรู 8:2) เต็นท์โดยนัยที่ว่านี้ คือสิ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมเพื่อให้เราเข้าใกล้พระองค์ได้โดยผ่านทางค่าไถ่ของพระเยซูคริสต์ (ฮีบรู 9:2-10, 23) สอดคล้องกันกับเรื่องนี้ “ภูเขาที่มีวิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่” ที่บอกไว้ในอิสยาห์ 2:2 เป็นภาพแสดงถึงการนมัสการแท้ของพระยะโฮวาในสมัยของเรา ผู้คนที่ร่วมกันนมัสการแท้ไม่ได้รวมตัวกันในสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่พวกเขานมัสการอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
เชิดชูการนมัสการแท้
10 ผู้พยากรณ์บอกว่า “ภูเขาที่มีวิหารของพระยะโฮวา” หรือการนมัสการแท้จะ “ตั้งมั่นคงและสูงกว่าภูเขาอื่น ๆ”และจะ “ถูกยกให้สูงเด่นกว่าภูเขาทุกลูก” นานก่อนสมัยอิสยาห์ กษัตริย์ดาวิดได้นำหีบสัญญาขึ้นไปไว้ที่ภูเขาศิโยนในกรุงเยรูซาเล็ม ภูเขานี้สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2,500 ฟุต [760 เมตร] หีบสัญญาอยู่ที่นั่นก่อนจะถูกย้ายไปไว้ที่วิหารที่สร้างเสร็จแล้วบนภูเขาโมริยาห์ (2 ซามูเอล 5:7; 6:14-19; 2 พงศาวดาร 3:1; 5:1-10) ดังนั้น ก่อนสมัยอิสยาห์ หีบศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกเชิดชูและนำไปไว้ที่วิหารแล้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่สูงกว่าภูเขารอบ ๆ ที่มีการนมัสการเท็จ
11 ในแง่ของการนมัสการ การนมัสการพระยะโฮวาเหนือกว่าธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีกรรมทางศาสนาของคนที่นมัสการพระเท็จ แต่ในสมัยของเรา พระยะโฮวาทำให้การนมัสการของพระองค์สูงจดสวรรค์ อยู่เหนือการนมัสการเท็จทุกรูปแบบ คือเหนือกว่า “ภูเขาทุกลูก” และ “สูงกว่าภูเขาอื่น ๆ” เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร? โดยการรวบรวมผู้คนที่อยากนมัสการพระองค์ “โดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำและนมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง”—ยอห์น 4:23
ip-1-E น. 44-45 ว. 20-21
วิหารของพระยะโฮวาได้รับการเชิดชู
20 พระยะโฮวาไม่ได้ปล่อยให้ประชาชนของพระองค์เป็นเหมือนแกะหลง พระองค์ช่วยพวกเขาให้รู้จัก “กฎหมาย” และ “คำ” ของพระองค์โดยทางคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือที่อาศัยความรู้จากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อพวกเขาจะรู้ว่าพระองค์อยากให้ทำอะไร ความรู้นี้ช่วยให้พวกเขา “ใช้ชีวิตตามแนวทาง” ของพระองค์ พวกเขาพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวทางของพระยะโฮวาด้วยความรู้สึกขอบคุณ พวกเขาจึงประชุมกันในการประชุมใหญ่และการประชุมกลุ่มเล็ก ๆ ที่หอประชุมหรือในบ้านเพื่อจะฟังและเรียนรู้ว่าพระเจ้าอยากให้พวกเขาทำอะไร (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:12, 13) นี่แสดงว่าพวกเขาเลียนแบบตัวอย่างของคริสเตียนรุ่นแรกที่มาเจอกันเพื่อให้กำลังใจและกระตุ้นกันให้มี “ความรักและทำความดี”—ฮีบรู 10:24, 25
21 พวกเขาชวนหลายคนให้ “ขึ้นไป” ยังการนมัสการที่ได้รับการเชิดชูแล้วของพระยะโฮวาพระเจ้า นี่สอดคล้องกับคำสั่งที่พระเยซูให้ไว้กับสาวกของท่านก่อนท่านจะกลับไปสวรรค์ ท่านบอกพวกเขาว่า “ให้พวกคุณไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมาในนามพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ในนามลูกของพระองค์ และในนามพลังบริสุทธิ์ และสอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่ผมสั่งคุณไว้” (มัทธิว 28:19, 20) ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า พยานพระยะโฮวาจึงเชื่อฟังคำสั่งที่ให้ไปหาผู้คนทั่วโลกเพื่อสอนพวกเขาให้เป็นสาวกและรับบัพติศมา
ip-1-E น. 46-47 ว. 24-25
วิหารของพระยะโฮวาได้รับการเชิดชู
24 แม้ชาติต่าง ๆ ทั้งหมดจะรวมตัวกันก็ไม่สามารถทำให้เรื่องที่ยากนี้เป็นไปได้ สิ่งนี้ไกลเกินเอื้อมสำหรับพวกเขา คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดขึ้นจริงในความหมายที่ว่า แต่ละคนจากชาติต่าง ๆ ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ในการนมัสการที่บริสุทธิ์ พระยะโฮวาได้ “จัดการเรื่องราว” ระหว่างพวกเขา พระองค์สอนประชาชนของพระองค์ให้อยู่กันอย่างสงบสุข พวกเขาทำอย่างนั้นจริงแม้จะอยู่ในโลกที่แตกแยกและขัดแย้ง โดย “เอาดาบตีเป็นผาลไถนา และเอาหอกตีเป็นมีดตัดแต่งกิ่ง” เขาทำอย่างนั้นโดยวิธีใด?
25 อย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามระหว่างประเทศ ไม่นานก่อนการตายของพระเยซู มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งถืออาวุธเข้ามาจะจับกุมท่าน เปโตรจึงชักดาบเพื่อปกป้องพระเยซูนายของเขา แต่พระเยซูบอกเปโตรว่า “เก็บดาบใส่ฝักซะ เพราะทุกคนที่ใช้ดาบจะตายด้วยดาบ” (มัทธิว 26:45-52) ตั้งแต่นั้นมา สาวกที่ติดตามพระเยซู “เอาดาบตีเป็นผาลไถนา” พวกเขาไม่จับอาวุธเพื่อฆ่าเพื่อนมนุษย์ และไม่สนับสนุนสงครามไม่ว่าในทางใด พวกเขา “พยายามสร้างสันติสุขกับทุกคน”—ฮีบรู 12:14
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-2-E น. 761 ว. 3
การคืนดีกับพระเจ้า
ขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อจะคืนดีได้ เนื่องจากพระเจ้าไม่ใช่ฝ่ายกระทำผิด มนุษย์ต่างหากที่ฝ่าฝืนกฎหมายของพระองค์มาโดยตลอด มนุษย์จึงต้องเป็นฝ่ายคืนดีกับพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าขอคืนดีกับมนุษย์ (สด 51:1-4) มนุษย์ไม่ได้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับพระเจ้า และจุดยืนของพระเจ้าในเรื่องสิ่งที่ถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุง (อสย 55:6-11; มลค 3:6 เทียบกับ ยก 1:17) เงื่อนไขต่าง ๆ ของพระองค์สำหรับการคืนดีจึงไม่อาจต่อรองได้ และไม่อาจตั้งคำถามหรืออะลุ่มอล่วยได้ (เทียบกับ โยบ 40:1, 2, 6-8; อสย 40:13, 14) แม้ว่าฉบับแปลหลายฉบับใช้ข้อความทำนองนี้ในอิสยาห์ 1:18 ที่ว่า “มาเถิด, ให้เรามาหารือตกลงกันเสียให้เด็ดขาด” (OV83; KJ; AT; JP; RS) แต่ถ้าจะแปลให้ตรงกว่านั้น ก็อาจแปลได้ว่า พระยะโฮวาบอกว่า ให้เราจัดการเรื่องราวระหว่างเรากับเจ้าให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้น ความผิดทั้งหมดที่ทำให้มนุษย์กับพระเจ้าแตกแยกนั้นไม่ได้อยู่ที่พระเจ้า แต่อยู่ที่มนุษย์—เทียบกับ อสค 18:25, 29-32
วันที่ 12-18 ธันวาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 6-10
“เมสสิยาห์ทำให้คำพยากรณ์สำเร็จ”
ip-1-E น. 124-126 ว. 13-17
คำสัญญาเรื่องเจ้าชายแห่งสันติสุข
แผ่นดินที่ “ถูกเหยียดหยาม”
13 ตอนนี้อิสยาห์ได้พูดเป็นนัยถึงความหายนะที่แย่ที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นกับลูกหลานของอับราฮัม “ในวันข้างหน้าจะไม่มีความมืดมิดเหมือนอย่างในช่วงที่ยุ่งยากวุ่นวายเมื่อตอนที่แผ่นดินเศบูลุนและแผ่นดินนัฟทาลีถูกเหยียดหยาม เพราะในตอนนั้น พระเจ้าจะทำให้แผ่นดินนั้นได้รับเกียรติตั้งแต่เส้นทางไปทะเล ริมแม่น้ำจอร์แดน คือแคว้นกาลิลีของคนต่างชาติ” (อิสยาห์ 9:1 ) กาลิลีอยู่ในอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ คำพยากรณ์ของอิสยาห์รวม “แผ่นดินเศบูลุนและแผ่นดินนัฟทาลี” และตั้งแต่ “เส้นทางไปทะเล” ซึ่งเป็นถนนโบราณที่เลียบทะเลกาลิลีและนำไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในสมัยของอิสยาห์ มีการเรียกเขตนี้ว่า “แคว้นกาลิลีของคนต่างชาติ” อาจเป็นเพราะหลายเมืองในเขตนี้มีคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนอิสราเอลอาศัยอยู่ แล้วแผ่นดินนี้ “ถูกเหยียดหยาม” อย่างไร? พวกอัสซีเรียมายึดเมืองนี้ จับคนอิสราเอลไปเป็นเชลย และให้คนที่นมัสการพระเท็จเข้ามาครอบครองทั่วทั้งเขต ซึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นลูกหลานของอับราฮัม ดังนั้น อาณาจักรทางเหนือ 10 ตระกูลจึงหายไปจากประวัติศาสตร์และไม่เป็นชาติอีกต่อไป!—2 พงศ์กษัตริย์ 17:5, 6, 18, 23, 24
14 อาณาจักรยูดาห์ก็อยู่ใต้แรงกดดันของพวกอัสซีเรียเช่นกัน เมืองนี้จะอยู่ใน “ความมืดมิด” อย่างถาวรเหมือนกับอาณาจักรทางเหนือ 10 ตระกูลที่แผ่นดินเศบูลุนและแผ่นดินนัฟทาลีเป็นภาพเล็งถึงไหม? ไม่ เพราะ “ในวันข้างหน้า” พระยะโฮวาจะอวยพรอาณาจักรยูดาห์ซึ่งอยู่ในอาณาจักรอิสราเอลทางใต้รวมถึงแผ่นดินที่เคยอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรทางเหนือ แต่จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
15 อัครสาวกมัทธิวตอบคำถามนี้ในข้อความที่ได้รับการดลใจให้บันทึกเกี่ยวกับงานประกาศของพระเยซูตอนที่อยู่บนโลก มัทธิวอธิบายเกี่ยวกับช่วงแรกของงานประกาศของพระเยซูว่า “จากนั้น พระเยซูออกจากเมืองนาซาเร็ธ แล้วย้ายมาอยู่ที่เมืองคาเปอร์นาอุมซึ่งอยู่ริมทะเลสาบในเขตแดนเศบูลุนกับนัฟทาลี เป็นไปตามที่พระเจ้าบอกไว้ผ่านผู้พยากรณ์อิสยาห์ที่ว่า ‘แผ่นดินเศบูลุนและแผ่นดินนัฟทาลี ซึ่งอยู่ตามเส้นทางไปทะเล และอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน คือแคว้นกาลิลีของคนต่างชาติ ประชาชนที่เคยอยู่ในความมืดได้เห็นแสงสว่างเจิดจ้า และคนที่อยู่ในแผ่นดินซึ่งปกคลุมด้วยเงาของความตาย แสงสว่างได้ส่องลงบนพวกเขาแล้ว’”—มัทธิว 4:13-16
16 “ในวันข้างหน้า” ที่อิสยาห์พูดถึงก็คือช่วงเวลาที่พระคริสต์ทำงานประกาศตอนอยู่บนโลก พระเยซูใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแคว้นกาลิลี ที่นั่นท่านเริ่มทำงานรับใช้และเริ่มประกาศว่า “รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 4:17) ที่แคว้นกาลิลี พระเยซูให้คำบรรยายบนภูเขา เลือกอัครสาวก ทำการอัศจรรย์ครั้งแรก และปรากฏตัวต่อสาวกประมาณ 500 คนหลังจากที่ท่านได้รับการปลุกให้ฟื้นจากตาย (มัทธิว 5:1-7:27; 28:16-20; มาระโก 3:13, 14; ยอห์น 2:8-11; 1 โครินธ์ 15:6) โดยวิธีนี้เองที่พระเยซูทำให้ “แผ่นดินเศบูลุนและแผ่นดินนัฟทาลี” ได้รับเกียรติตามที่ผู้พยากรณ์อิสยาห์บอกไว้ จริง ๆ แล้วพระเยซูไม่ได้ประกาศเฉพาะกับผู้คนในแคว้นกาลิลี พระเยซูทำให้อิสราเอลทั้งชาติรวมทั้งอาณาจักรยูดาห์ ‘ได้รับเกียรติ’ โดยการประกาศข่าวดีไปทั่วแผ่นดิน
“แสงสว่างเจิดจ้า”
17 แล้วที่มัทธิวพูดถึง “แสงสว่างเจิดจ้า” ในแคว้นกาลิลีหมายความว่าอย่างไร? คำนี้ก็เช่นกันถูกยกมาจากคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่ว่า “ประชาชนที่เคยเดินอยู่ในความมืด ได้เห็นแสงสว่างเจิดจ้า และคนที่อยู่ในแผ่นดินที่มีแต่เงามืดทึบ แสงสว่างได้ส่องลงบนพวกเขาแล้ว” (อิสยาห์ 9:2 ) ก่อนจะถึงศตวรรษแรก แสงของความจริงถูกปิดคลุมด้วยศาสนานอกรีต และผู้นำศาสนาชาวยิวยังทำให้แย่ลงไปอีกโดยการยึดเอาธรรมเนียมศาสนาของพวกเขาเองซึ่ง “ทำให้คำสอนของพระเจ้าไม่มีความหมาย” (มัทธิว 15:6) คนที่มีความถ่อมจึงรู้สึกถูกกดขี่และสับสนเพราะ “พวกคนนำทางที่ตาบอด” (มัทธิว 23:2-4, 16) เมื่อพระเยซูซึ่งเป็นเมสสิยาห์มาปรากฏ ตาของผู้คนที่มีความถ่อมจึงเปิดกว้างด้วยความประหลาดใจ (ยอห์น 1:9, 12) ดังนั้น “แสงสว่างเจิดจ้า” ในคำพยากรณ์ของอิสยาห์จึงหมายถึง งานรับใช้ที่พระเยซูทำตอนอยู่บนโลกและพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากเครื่องบูชาซึ่งหมายถึงชีวิตของท่าน—ยอห์น 8:12
ip-1-E น. 132 ว. 28-29
เจ้าชายแห่งสันติสุข
28 พระคริสต์จะทำให้เกิดความสงบสุขอย่างมั่นคง ถาวร ตลอดทั่วโลก เรื่องนี้จะเกิดขึ้นตามเวลาที่พระเจ้ากำหนด (กิจการ 1:7) “การปกครองของท่านจะยิ่งใหญ่ และจะมีสันติสุขตลอดไปบนบัลลังก์ของดาวิด และในรัฐบาลของท่าน รัฐบาลนี้จะถูกตั้งขึ้นอย่างมั่นคงและคงอยู่ตลอดไป เพราะจะมีความยุติธรรมและความถูกต้องชอบธรรม ตั้งแต่นี้ไปจนตลอดกาล” (อิสยาห์ 9:7ก) พระเยซูจะไม่ใช้อำนาจในฐานะเจ้าชายแห่งสันติสุขอย่างโหดร้ายทารุณ ประชาชนของท่านจะยังคงมีอิสระในการตัดสินใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ ท่านจะทำให้โลกสงบสุขด้วยวิธีที่ ‘ยุติธรรมและถูกต้องชอบธรรม’ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีจริง ๆ!
29 เมื่อเราได้เข้าใจความหมายของอีกชื่อหนึ่งที่ชี้ถึงพระเยซูในคำพยากรณ์นี้ เราก็ตื่นเต้นจริง ๆ กับตอนจบของคำพยากรณ์ที่อิสยาห์ได้เขียนไว้ซึ่งบอกว่า “พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพตั้งใจจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ” (อิสยาห์ 9:7ข) พระยะโฮวาจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จด้วยความตั้งใจ พระองค์ไม่เคยทำอะไรแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เราจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อพระองค์สัญญาเรื่องอะไร พระองค์ก็จะทำให้สำเร็จอย่างแน่นอน ดังนั้น ใครก็ตามที่อยากมีความสงบสุขตลอดไป ก็ขอให้รับใช้พระยะโฮวาสุดหัวใจ และให้ผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้า “มุ่งมั่นในการทำงานที่ดี” เหมือนกับที่พระยะโฮวาและพระเยซูผู้เป็นเจ้าชายแห่งสันติสุขได้ทำ—ทิตัส 2:14
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 1219
อิสยาห์
ผู้คนในอาณาจักรยูดาห์มีสภาพศีลธรรมเสื่อมทรามมากในช่วงที่อิสยาห์รับใช้เป็นผู้พยากรณ์ โดยเฉพาะสมัยของกษัตริย์อาหัส ที่นั่นเต็มไปด้วยการกบฏไม่ว่าจะเป็นพวกเจ้าชายหรือประชาชนเอง ในสายตาของพระยะโฮวา ชาตินี้กำลังป่วยหนักในหัวใจและในความคิด พวกผู้ปกครองถูกเรียกว่า “พวกผู้ปกครองที่เผด็จการของเมืองโสโดม” และผู้คนก็ถูกเปรียบเหมือน “ประชาชนของเมืองโกโมราห์” (อสย 1:2-10) พระยะโฮวาบอกอิสยาห์ล่วงหน้าแล้วว่าคนพวกนั้นจะเป็นเหมือนคนหูตึง พระองค์บอกว่าจะเป็นอยู่อย่างนี้จนถึงตอนที่ชาตินี้ถูกทำลายและจะเหลือผู้คนแค่ “1 ใน 10” เป็น “กิ่งที่บริสุทธิ์” ถูกทิ้งไว้เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ถูกตัดเหลือแต่ตอ คำพยากรณ์ของอิสยาห์คงให้กำลังใจและเสริมความเชื่อคนกลุ่มเล็กนี้ให้เข้มแข็งขึ้น แม้คนเกือบทั้งชาติจะปฏิเสธก็ตาม—อสย 6:1-13
แม้อิสยาห์จะพยากรณ์เกี่ยวกับอาณาจักรยูดาห์เป็นส่วนใหญ่ แต่บางอย่างก็เกี่ยวกับอิสราเอลและชาติรอบ ๆ ด้วย เพราะอิสราเอลและชาติที่อยู่รอบ ๆ นั้นอาจทำบางสิ่งที่ส่งผลต่อสถานการณ์และประวัติศาสตร์ของอาณาจักรยูดาห์ อิสยาห์รับใช้เป็นผู้พยากรณ์เป็นเวลานาน เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 778 ก่อน ค.ศ. ตอนที่กษัตริย์อุสซียาห์ตาย หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ และเขาเป็นผู้พยากรณ์ต่อไปจนถึงหลังปีที่ 14 ของการปกครองของกษัตริย์เฮเซคียาห์ (732 ก่อน ค.ศ.)—อสย 36:1, 2; 37:37, 38
ครอบครัวของอิสยาห์ อิสยาห์มีภรรยาเป็น “ผู้พยากรณ์หญิง” (อสย 8:3) ซึ่งดูเหมือนเธอไม่ได้เป็นเพียงภรรยาของผู้พยากรณ์ แต่เธอเป็นเหมือนเดโบราห์ผู้พยากรณ์หญิงในสมัยผู้วินิจฉัยและฮุลดาห์ในสมัยการปกครองของกษัตริย์โยสิยาห์ ภรรยาของอิสยาห์ก็ได้รับงานมอบหมายจากพระยะโฮวาให้พยากรณ์ด้วย—วนฉ 4:4; 2พก 22:14
คัมภีร์ไบเบิลบันทึกชื่อลูกชาย 2 คนของอิสยาห์ไว้ ซึ่งเป็นชื่อที่พระเจ้าตั้งให้เพื่อ “เป็นหลักฐานยืนยันและเป็นเหมือนสิ่งอัศจรรย์สำหรับอิสราเอล” (อสย 8:18) ตอนที่อาหัสปกครอง เชอาร์ยาชูบโตพอที่จะไปกับอิสยาห์พ่อของเขาเพื่อบอกข่าวจากพระเจ้าให้กษัตริย์ฟัง ชื่อเชอาร์ยาชูบหมายความว่า “เฉพาะคนที่เหลืออยู่จะได้กลับมา” ชื่อนี้เป็นชื่อเชิงพยากรณ์ที่พระเจ้ากำลังบอกว่าอาณาจักรยูดาห์จะถูกทำลายอีกไม่นานและเฉพาะคนที่เหลืออยู่จะได้กลับมาจากการเป็นเชลยเหมือนกับความหมายของชื่อลูกชายอิสยาห์ (อสย 7:3; 10:20-23) คนที่เหลืออยู่ได้กลับมาจริงในปี 537 ก่อน ค.ศ. ตอนที่กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียออกกฎหมายเพื่อปล่อยเชลยที่อยู่ในบาบิโลนนานถึง 70 ปี—2พศ 36:22, 23; อสร 1:1; 2:1, 2
พระเจ้าตั้งชื่อให้ลูกชายอีกคนหนึ่งของอิสยาห์ก่อนที่ภรรยาของเขาจะท้อง ชื่อของเขาถูกเขียนไว้บนกระดานแผ่นใหญ่และให้พยานที่น่าเชื่อถือรับรอง ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ถูกเก็บไว้เป็นความลับจนถึงเวลาที่ลูกเขาเกิด ซึ่งตอนนั้น พยานเหล่านั้นสามารถออกมายืนยันได้ว่าคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดขึ้นจริง ดังนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความหมายเชิงพยากรณ์ ชื่อที่พระเจ้าตั้งให้เด็กคนนี้คือ “มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส” ซึ่งแปลว่า “เร่งไปเอาของริบ” หรือ “รีบไปเอาของปล้น” พระเจ้าบอกไว้ว่า ก่อนที่เด็กนั้นจะเรียก “พ่อ” เรียก “แม่” เป็น อาณาจักรยูดาห์จะได้รับความช่วยเหลือให้พ้นจากแผนชั่วร้ายที่ซีเรียและอาณาจักรอิสราเอล 10 ตระกูลคบคิดกัน—อสย 8:1-4
คำพยากรณ์นี้ชี้ถึงการช่วยเหลือที่อาณาจักรยูดาห์จะได้รับในอีกไม่ช้า การช่วยเหลือนี้มาทางอัสซีเรีย ตอนที่กษัตริย์อัสซีเรียเข้าแทรกแซงแผนการโจมตีของกษัตริย์เรซีนแห่งซีเรียและกษัตริย์เปคาห์แห่งอิสราเอลต่ออาณาจักรยูดาห์ อัสซีเรียไปโจมตีกรุงดามัสกัส และต่อมาในปี 740 ก่อน ค.ศ. อัสซีเรียได้ปล้นและทำลายอาณาจักรอิสราเอล นี่ทำให้ความหมายเชิงพยากรณ์ของชื่อเด็กคนนี้เกิดขึ้นจริงอย่างครบถ้วน (2พก 16:5-9; 17:1-6) อย่างไรก็ตาม กษัตริย์อาหัสไม่ได้วางใจพระยะโฮวาในการตอบโต้แผนร้ายของซีเรียและอิสราเอล แต่กลับหันไปพึ่งกษัตริย์อัสซีเรียโดยการให้ของบรรณาการเพื่อจะได้รับการปกป้อง นี่เป็นเหตุผลที่พระยะโฮวายอมให้อัสซีเรียกลายเป็นศัตรูต่ออาณาจักรยูดาห์และสุดท้ายกองทัพอัสซีเรียก็ไปโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม เหมือนกับที่อิสยาห์ได้บอกไว้—อสย 7:17-20
อิสยาห์พูดถึง “หลักฐานยืนยัน” ที่มาจากพระยะโฮวาหลายครั้ง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับลูกชาย 2 คนของเขา และตัวอย่างหนึ่งก็เกี่ยวกับตัวเขาเอง พระยะโฮวาสั่งอิสยาห์ให้สวมแต่เสื้อตัวในและเดินเท้าเปล่า 3 ปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์และสิ่งที่บ่งบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอียิปต์และเอธิโอเปีย นี่หมายความว่าพวกเขาจะถูกกษัตริย์อัสซีเรียจับไปเป็นเชลย—อสย 20:1-6; เทียบกับ อสย 7:11, 14; 19:20; 37:30; 38:7, 22; 55:13; 66:19
คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเป็นเชลยและการฟื้นฟู อิสยาห์ได้รับเกียรติให้บอกล่วงหน้าว่าอัสซีเรียไม่ใช่ชาติที่จะถอดถอนกษัตริย์แห่งอาณาจักรยูดาห์และทำลายเยรูซาเล็ม แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นโดยบาบิโลน (อสย 39:6, 7) ในตอนที่กองทัพอัสซีเรียบุกอาณาจักรยูดาห์เหมือนกับน้ำที่ “ท่วมสูงขึ้นมาถึงคอ” อิสยาห์ก็ส่งข่าวที่ให้กำลังใจกษัตริย์เฮเซคียาห์ว่า กองทัพอัสซีเรียจะไม่สามารถบุกเข้ามาได้ (อสย 8:7, 8) พระยะโฮวาทำตามคำพูดโดยส่งทูตสวรรค์มาฆ่านักรบที่เก่งกล้าและแม่ทัพของอัสซีเรียทั้งหมด 185,000 คน นี่เป็นวิธีที่พระองค์ช่วยกรุงเยรูซาเล็มให้รอด—2พศ 32:21
การที่พระยะโฮวาให้อิสยาห์พูดและเขียนคำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มที่เขารักทำให้เขามีความสุขที่สุด แม้พระยะโฮวาจะยอมให้ประชาชนถูกจับไปเป็นเชลยที่บาบิโลนเพราะความดื้อรั้นและการกบฏของพวกเขา แต่พระองค์ก็กำหนดเวลาที่จะพิพากษาบาบิโลนไว้แล้ว เพราะบาบิโลนทำสิ่งที่ชั่วร้ายมากและต้องการให้ประชาชนของพระเจ้าเป็นเชลยตลอดไป คำพยากรณ์หลายเรื่องของอิสยาห์เกี่ยวข้องกับคำตัดสินของพระเจ้าที่มีต่อบาบิโลนว่า บาบิโลนจะกลายเป็นแผ่นดินที่ร้างเปล่า และจะไม่ถูกสร้างขึ้นอีกเลย—อสย 45:1, 2; บท 13, 14, 46-48
ip-1-E น. 111-112 ว. 23-24
วางใจพระยะโฮวาเมื่อเจอความทุกข์ลำบาก
คำพยากรณ์ที่เฉพาะเจาะจง
23 ตอนนี้อิสยาห์กลับมาพูดถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่กรุงเยรูซาเล็มยังคงถูกล้อมโดยกองทัพซีเรียและอิสราเอล อิสยาห์บอกว่า “พระยะโฮวาพูดกับผมว่า ‘ไปเอากระดานแผ่นใหญ่มาแผ่นหนึ่ง แล้วใช้ปากกาปลายแหลมเขียนลงไปว่า “มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส” แล้วไปหาปุโรหิตอุรีอาห์กับเศคาริยาห์ลูกของเยเบเรคียาห์ซึ่งเป็นพยานที่น่าเชื่อถือ ให้มายืนยันข้อความนี้เป็นลายลักษณ์อักษร’” (อิสยาห์ 8:1, 2 ) ชื่อ “มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส” หมายความว่า “เร่งไปเอาของริบ” หรือ “รีบไปเอาของปล้น” อิสยาห์ขอให้ผู้ชายสองคนซึ่งเป็นคนที่น่าเชื่อถือให้มายืนยันว่าเขาได้เขียนชื่อนี้ลงไปบนแผ่นกระดานจริง เพื่อในเวลาต่อมาพวกเขาจะรับรองได้ว่าข้อมูลนี้ไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา และหลักฐานยืนยันอย่างที่สองก็รับรองเรื่องนี้ด้วย
24 อิสยาห์บอกว่า “ต่อมา ผมมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาซึ่งเป็นผู้พยากรณ์หญิง เธอตั้งท้องแล้วก็คลอดลูกชาย พระยะโฮวาบอกผมว่า ‘ให้ตั้งชื่อลูกว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส เพราะก่อนที่เด็กนั้นจะเรียก “พ่อ” เรียก “แม่” เป็น คนของกษัตริย์อัสซีเรียจะเอาทรัพย์สมบัติของดามัสกัสและของปล้นที่ได้จากสะมาเรียไป’” (อิสยาห์ 8:3, 4 ) ทั้งกระดานแผ่นใหญ่และเด็กที่จะเกิดมาเป็นสัญลักษณ์ว่าอีกไม่นานอัสซีเรียจะจัดการกับพวกซีเรียและอาณาจักรอิสราเอลที่กดขี่ยูดาห์ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร? ก่อนที่เด็กนั้นจะพูดคำแรกซึ่งก็คือ “พ่อ” และ “แม่” คำพยากรณ์ที่เฉพาะเจาะจงแบบนี้น่าจะทำให้ประชาชนมั่นใจในพระยะโฮวา หรืออาจทำให้อิสยาห์และลูก ๆ ถูกเยาะเย้ย ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน คำที่อิสยาห์พูดเชิงพยากรณ์ก็เกิดขึ้นจริง—2 พงศ์กษัตริย์ 17:1-6
วันที่ 19-25 ธันวาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 11-16
“ความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจะมีเต็มโลก”
ip-1-E น. 160-161 ว. 9-11
การช่วยให้รอดและมีความสุขภายใต้การปกครองของเมสสิยาห์
ผู้พิพากษาที่เป็นธรรมและเมตตา
9 อิสยาห์บอกล่วงหน้ามากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะของเมสสิยาห์ว่า “ท่านจะไม่พิพากษาตามที่ตาเห็น หรือตัดสินแค่ตามที่หูได้ยิน” (อิสยาห์ 11:3ข) ถ้าคุณต้องขึ้นศาล คุณจะรู้สึกสบายใจไม่ใช่หรือที่เจอผู้พิพากษาแบบนี้? พระเยซูมีความสามารถที่จะพิพากษามนุษยชาติ เพราะเมสสิยาห์ไม่ถูกชักจูงได้ง่ายด้วยคำให้การเท็จ เล่ห์เหลี่ยมในศาล ข่าวลือ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น เงิน ท่านมองทะลุการหลอกลวงและไม่ได้ตัดสินตามที่ตาเห็น ท่านมองเห็น ‘ความงามที่อยู่ภายใน’ (1 เปโตร 3:4) พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมให้กับทุกคนที่ได้รับมอบหมายให้ตัดสินความในประชาคมคริสเตียน—1 โครินธ์ 6:1-4
10 คุณลักษณะที่ดีเยี่ยมของเมสสิยาห์จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินความอย่างไร? อิสยาห์อธิบายว่า ท่านจะ “ว่ากล่าวตักเตือนผู้คนอย่างตรงไปตรงมาเพื่อช่วยคนอ่อนน้อม ท่านจะออกคำสั่งลงโทษผู้คนบนโลกเหมือนตีด้วยไม้เรียว และคนชั่วจะถูกประหารเพราะคำสั่งที่ออกมาจากปากของท่าน ท่านพร้อมจะลงมือทำเพราะท่านมีความยุติธรรมที่เป็นเหมือนเข็มขัดคาดไว้ที่เอว และมีความซื่อสัตย์ที่เป็นเหมือนผ้าที่คาดเอวไว้”—อิสยาห์ 11:4, 5
11 เมื่อสาวกของท่านจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข พระเยซูทำด้วยวิธีที่จะเกิดประโยชน์กับพวกเขามากที่สุด สิ่งนั้นเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมให้กับคริสเตียนผู้ดูแล ในทางกลับกัน พระเยซูจะพิพากษาคนที่ทำชั่วอย่างเด็ดขาด เมื่อพระเจ้ามาพิพากษาโลกชั่ว เมสสิยาห์ก็จะ “ลงโทษผู้คนบนโลก” ด้วยเสียงที่ทรงอำนาจของท่านซึ่งจะพิพากษาทำลายล้างความชั่วให้หมดสิ้นไป (สดุดี 2:9; เทียบกับวิวรณ์ 19:15) ในที่สุด จะไม่มีคนชั่วมาทำลายความสงบสุขของมนุษยชาติอีกต่อไป (สดุดี 37:10, 11) พระเยซูซึ่งมีความยุติธรรมและมีความซื่อสัตย์คาดเอวไว้เป็นผู้มีพลังที่จะทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ—สดุดี 45:3-7
วันที่ 26 ธันวาคม-1 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 17-23
“การใช้อำนาจในทางที่ผิดทำให้สูญเสียตำแหน่ง”
ip-1-E น. 238 ว. 16-17
บทเรียนเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์
ผู้ดูแลวังที่เห็นแก่ตัว
16 หลังจากผู้พยากรณ์อิสยาห์ได้พูดถึงประชาชนทั้งชาติที่ไม่ซื่อสัตย์ไปแล้ว ตอนนี้เขาหันมาพูดถึงคนที่ไม่ซื่อสัตย์เป็นรายบุคคล เขาเขียนว่า “พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพและเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดบอกว่า ‘ไปหาเชบนาผู้ดูแลวังของกษัตริย์ และถามเขาว่า “คุณมีสิทธิ์อะไรถึงได้มาสกัดที่ฝังศพของตัวเองที่นี่? ใครให้คุณทำ?” เชบนาได้สกัดที่ฝังศพตัวเองบนที่สูง และเจาะที่อยู่สำหรับตัวเองในหินผา’”—อิสยาห์ 22:15, 16
17 เชบนาเป็น ‘ผู้ดูแลวัง’ ซึ่งอาจเป็นวังของกษัตริย์เฮเซคียาห์ ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากรองจากกษัตริย์ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าเชบนาต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ (1 โครินธ์ 4:2) เขาควรให้ความสนใจกับเรื่องของชาติเป็นอันดับแรก แต่เชบนากลับมุ่งที่จะทำให้ตัวเองได้รับเกียรติ เขาทำที่ฝังศพอันหรูหราซึ่งเทียบได้กับกษัตริย์ โดยเจาะหินผาบนที่สูงสำหรับตัวเอง พระยะโฮวาเห็นสิ่งที่เขาทำ จึงดลใจอิสยาห์ให้เตือนผู้ดูแลวังที่ไม่ซื่อสัตย์คนนี้ว่า “ระวังเถอะ พระยะโฮวาจะเหวี่ยงคุณลงและจับคุณไว้แน่น พระองค์จะพันคุณให้แน่น แล้วขว้างไปที่ดินแดนกว้างใหญ่เหมือนขว้างลูกบอล คุณจะไปตายที่นั่น รถศึกคันงามของคุณก็อยู่ที่นั่น ซึ่งจะทำให้เชื้อสายของเจ้านายคุณได้รับความอับอาย พระองค์จะถอดคุณออกจากหน้าที่ และปลดคุณออกจากตำแหน่ง” (อิสยาห์ 22:17-19 ) เพราะเชบนาสนใจแต่ตัวเอง เขาเลยไม่มีแม้แต่ที่ฝังศพแบบธรรมดา ๆ ในเยรูซาเล็ม เขาจะถูกขว้างเหมือนลูกบอล และตายในดินแดนที่ห่างไกล เรื่องนี้เตือนใจคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในหมู่ประชาชนของพระเจ้าว่า การใช้อำนาจอย่างผิด ๆ จะทำให้เขาต้องสูญเสียหน้าที่รับผิดชอบและอาจทำให้สายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาสิ้นสุดลง
ip-1-E น. 238-239 ว. 17-18
บทเรียนเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์
17 เชบนาเป็น ‘ผู้ดูแลวัง’ ซึ่งอาจเป็นวังของกษัตริย์เฮเซคียาห์ ตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากรองจากกษัตริย์ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าเชบนาต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ (1 โครินธ์ 4:2) เขาควรให้ความสนใจกับเรื่องของชาติเป็นอันดับแรก แต่เชบนากลับมุ่งที่จะทำให้ตัวเองได้รับเกียรติ เขาทำที่ฝังศพอันหรูหราซึ่งเทียบได้กับกษัตริย์ โดยเจาะหินผาบนที่สูงสำหรับเขาเอง พระยะโฮวาเห็นสิ่งที่เขาทำ จึงดลใจอิสยาห์ให้เตือนผู้ดูแลวังที่ไม่ซื่อสัตย์คนนี้ว่า “ระวังเถอะ พระยะโฮวาจะเหวี่ยงคุณลงและจับคุณไว้แน่น พระองค์จะพันคุณให้แน่น แล้วขว้างไปที่ดินแดนกว้างใหญ่เหมือนขว้างลูกบอล คุณจะไปตายที่นั่น รถศึกคันงามของคุณก็อยู่ที่นั่น ซึ่งจะทำให้เชื้อสายของเจ้านายคุณได้รับความอับอาย พระองค์จะถอดคุณออกจากหน้าที่ และปลดคุณออกจากตำแหน่ง” (อิสยาห์ 22:17-19 ) เพราะเชบนาสนใจแต่ตัวเอง เขาเลยไม่มีแม้แต่ที่ฝังศพแบบธรรมดา ๆ ในเยรูซาเล็ม เขาจะถูกขว้างเหมือนลูกบอล และตายในดินแดนที่ห่างไกล เรื่องนี้เตือนใจคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในหมู่ประชาชนของพระเจ้าว่า การใช้อำนาจอย่างผิด ๆ จะทำให้เขาต้องสูญเสียหน้าที่รับผิดชอบและอาจทำให้สายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาสิ้นสุดลง
18 แล้วเชบนาถูกถอดออกจากตำแหน่งอย่างไร? พระยะโฮวาบอกผ่านทางอิสยาห์ว่า “ในวันนั้น เราจะเรียกผู้รับใช้ของเรามาคือ เอลียาคิม ลูกชายของฮิลคียาห์ เราจะเอาเสื้อยศของเจ้ามาสวมให้เขา แล้วเอาสายรัดเอวของเจ้ามาผูกให้เขา เราจะมอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าให้กับเขา แล้วเขาจะเป็นเหมือนพ่อของชาวเยรูซาเล็มและพ่อของลูกหลานยูดาห์ เราจะให้เขาดูแลกุญแจของเชื้อสายดาวิด เมื่อเขาเปิด จะไม่มีใครมาปิดได้ และเมื่อเขาปิด ก็จะไม่มีใครมาเปิดได้” (อิสยาห์ 22:20-22 ) พระยะโฮวาให้เอลียาคิมมาแทนเชบนาโดยเขาได้รับเสื้อยศของผู้ดูแลวังและกุญแจของเชื้อสายดาวิด คัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “กุญแจ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอำนาจหน้าที่ การปกครอง หรือพลังอำนาจ (เทียบกับมัทธิว 16:19) ในสมัยโบราณ ที่ปรึกษาของกษัตริย์ผู้ซึ่งได้รับมอบกุญแจอาจมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจตราดูแลห้องต่าง ๆ ในวัง และอาจมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกคนที่จะดูแลงานต่าง ๆ ของกษัตริย์ (เทียบกับวิวรณ์ 3:7, 8) ดังนั้น ตำแหน่งผู้ดูแลวังจึงเป็นงานที่สำคัญและเป็นที่คาดหมายอย่างมาก (ลูกา 12:48) ถึงแม้เชบนาจะเป็นคนมีความสามารถ แต่เพราะเขาไม่ซื่อสัตย์ พระยะโฮวาจึงปลดเขาออก
ip-1-E น. 240-241 ว. 19-20
บทเรียนเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์
สัญลักษณ์ของตะปูสองตัว
19 ในที่สุด พระยะโฮวาใช้คำพูดที่เป็นสัญลักษณ์เพื่ออธิบายการเปลี่ยนอำนาจหน้าที่จากเชบนาไปเอลียาคิม พระองค์บอกว่า “‘เราจะทำให้เขา [เอลียาคิม] เป็นเหมือนตะปูที่ถูกตอกจนแน่น และเขาจะเป็นเหมือนบัลลังก์ที่เชิดหน้าชูตาให้วงศ์ตระกูล เกียรติยศทั้งหมดของวงศ์ตระกูลจะแขวนอยู่บนตัวเขา พวกลูกหลานก็จะพึ่งพิงเขาเหมือนที่ถ้วยโถโอชามทั้งเล็กและใหญ่แขวนอยู่บนตะปู’ พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพพูดว่า ‘ในวันนั้น ตะปู [เชบนา] ที่ถูกตอกจนแน่นจะถูกถอนให้หล่นลงมาแล้วถูกทำลาย และทุกสิ่งที่แขวนอยู่บนนั้นก็จะหล่นลงมาและถูกทำลายด้วย เพราะพระยะโฮวาได้บอกไว้อย่างนั้น’”—อิสยาห์ 22:23-25
20 จากข้อคัมภีร์เหล่านี้ ตะปูตัวแรกคือเอลียาคิม เขาจะเป็น “บัลลังก์ที่เชิดหน้าชูตา” ให้วงศ์ตระกูลของฮิลคียาห์ พ่อของเขา เอลียาคิมไม่เหมือนเชบนาเพราะเขาจะไม่ทำให้วงศ์ตระกูลของพ่อต้องเสื่อมเสียหรือเสียชื่อเสียง เขาจะคอยสนับสนุนภาชนะต่าง ๆ ในบ้านหลังใหญ่ ซึ่งหมายถึงคนอื่น ๆ ที่ทำงานรับใช้กษัตริย์ (2 ทิโมธี 2:20, 21) ในทางตรงข้าม ตะปูตัวที่สองหมายถึง เชบนา แม้จะดูเหมือนมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่เขาจะถูกปลด ใครก็ตามที่ยังหวังพึ่งเขาก็จะแย่ไปด้วย
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
ip-1-E น. 253-254 ว. 22-24
พระยะโฮวาทำลายความหยิ่งยโสของเมืองไทระ
22 อิสยาห์บอกต่อไปว่า “พอครบ 70 ปี ไทระก็จะเป็นเหมือนกับผู้หญิงโสเภณีในเนื้อเพลงที่ว่า ‘ผู้หญิงโสเภณีที่ถูกลืม ถือพิณเดินไปรอบ ๆ เมืองสิ แล้วบรรเลงเพลงให้เพราะ ๆ ร้องหลาย ๆ เพลง พวกเขาจะได้จำเธอได้’ พอสิ้นปีที่ 70 พระยะโฮวาจะหันมาสนใจเมืองไทระ เมืองนี้จะกลับมามีรายได้อีกครั้ง เมืองนี้จะทำตัวเป็นเหมือนผู้หญิงโสเภณี มีรายได้จากการค้าขายกับหลาย ๆ อาณาจักรบนโลก”—อิสยาห์ 23:15ข-17
23 หลังจากบาบิโลนล่มจมในปี 539 ก่อน ค.ศ. ฟีนิเซียกลายเป็นเขตปกครองของจักรวรรดิมีเดีย-เปอร์เซีย ไซรัสมหาราชกษัตริย์ของเปอร์เซียเป็นผู้ปกครองที่ไม่เข้มงวด ดังนั้น ภายใต้การดูแลของกษัตริย์องค์ใหม่นี้ ไทระจึงรื้อฟื้นกิจกรรมต่าง ๆ และพยายามจะกลับมาเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการค้าของโลกอีกครั้ง เปรียบเหมือนกับโสเภณีที่ถูกลืม และเสียแขกไปหมด แล้วอยากจะกลับมาเป็นที่ดึงดูดใจแขกอีกครั้งโดยเดินไปรอบ ๆ เมือง เล่นพิณ และร้องเพลง แล้วไทระจะทำสำเร็จไหม? สำเร็จ เพราะพระยะโฮวาจะให้เกิดขึ้นอย่างนั้น ต่อมาไม่นาน เมืองกลางทะเลอย่างไทระก็กลับมาเจริญรุ่งเรืองจนถึงปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้พยากรณ์เศคาริยาห์บอกว่า “ไทระสร้างป้อมปราการไว้ป้องกันตัวเอง พวกเขารวบรวมเงินไว้มากมายเหมือนกับฝุ่น และสะสมทองมหาศาลเหมือนกับดินตามถนน”—เศคาริยาห์ 9:3
‘ผลกำไรจะกลายเป็นสิ่งบริสุทธิ์’
24 คำพยากรณ์ต่อไปนี้น่าประทับใจจริง ๆ! “ผลกำไรและรายได้ของเมืองนี้จะกลายเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ต้องให้พระยะโฮวา สิ่งเหล่านั้นจะไม่ถูกเก็บสะสมไว้เฉย ๆ แต่จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนของพระยะโฮวา ให้พวกเขาได้ซื้ออาหารกินอย่างสบายใจและซื้อเสื้อผ้าที่งดงามมาสวมใส่” (อิสยาห์ 23:18 ) ผลกำไรทางด้านวัตถุของไทระกลายมาเป็นสิ่งบริสุทธิ์ได้อย่างไร? พระยะโฮวาควบคุมสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลกำไรนั้นจะถูกใช้ตามความประสงค์ของพระองค์คือ ให้ชาวอิสราเอลประชาชนของพระองค์มีอาหารกินอย่างสบายใจ และมีเสื้อผ้าสวมใส่ เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวอิสราเอลกลับมาจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน ตอนนั้น ประชาชนของไทระช่วยอิสราเอลโดยจัดเตรียมไม้สนซีดาร์สำหรับการสร้างวิหารของพระเจ้าขึ้นมาใหม่ และยังกลับมาทำการค้ากับเยรูซาเล็มอีกครั้ง—เอสรา 3:7; เนหะมีย์ 13:16