แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 2-8 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 24-28
“พระยะโฮวาดูแลประชาชนของพระองค์”
ip-1-E น. 272 ว. 5
มือของพระยะโฮวาช่วยผู้รับใช้ของพระองค์
5 พวกศัตรูอาจรู้สึกกลัวพระยะโฮวา แต่สำหรับคนที่ถ่อมตัวและถ่อมใจซึ่งต้องการรับใช้พระยะโฮวามองว่าพระองค์เป็นที่หลบภัย ถึงพวกศัตรูคือผู้กดขี่ทางศาสนาและทางการเมืองพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนที่นมัสการแท้ทิ้งความเชื่อ แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะคนที่นมัสการแท้มั่นใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ และในที่สุด พระองค์ทำให้พวกผู้ต่อต้านเงียบเสียง พระองค์เป็นร่มเงาของเมฆที่ช่วยบดบังแสงอาทิตย์ในทะเลทรายที่ร้อนระอุ และเป็นเหมือนกำแพงที่ช่วยปกป้องคนที่นมัสการแท้จากพายุฝน—อ่านอิสยาห์ 25:4, 5
ip-1-E น. 273 ว. 6-7
มือของพระยะโฮวาช่วยผู้รับใช้ของพระองค์
6 พระยะโฮวาเป็นเหมือนพ่อที่รักลูก พระองค์ไม่ใช่แค่ปกป้องลูกเท่านั้น แต่ดูแลให้มีอาหารด้วย โดยเฉพาะอาหารที่เสริมสร้างความเชื่อ หลังจากที่ช่วยให้ประชาชนของพระองค์เป็นอิสระในปี 1919 พระองค์ได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ฉลองชัยชนะซึ่งมีอาหารที่เสริมสร้างความเชื่อมากมายจริง ๆ เรื่องนี้มีบอกไว้ว่า “พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพจะจัดงานเลี้ยงใหญ่สำหรับคนทุกชาติบนภูเขานี้ มีอาหารอย่างดีที่อุดมด้วยไขกระดูก เหล้าองุ่นชั้นเลิศ เหล้าองุ่นที่กรองอย่างดี”—อิสยาห์ 25:6
7 งานเลี้ยงใหญ่จัดขึ้นที่ “ภูเขา” ของพระยะโฮวา ภูเขานี้คืออะไร? คือ “ภูเขาที่มีวิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่” โดย “ในสมัยสุดท้าย” คนจากทุกชาติจะหลั่งไหลไปที่นั่น ที่ “ภูเขาบริสุทธิ์” ของพระยะโฮวา ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์จะไม่ทำอันตรายหรือทำความเสียหายใด ๆ (อิสยาห์ 2:2; 11:9) สถานที่ในการนมัสการที่ได้รับการเชิดชูแห่งนี้คือที่จัดงานเลี้ยงใหญ่ซึ่งพระยะโฮวาจัดไว้สำหรับคนที่ซื่อสัตย์ และสิ่งดีต่าง ๆ ที่เสริมความเชื่อที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้อย่างใจกว้างเป็นภาพล่วงหน้าว่า ตอนที่รัฐบาลของพระเจ้ากลายเป็นรัฐบาลเดียวของมนุษย์ รัฐบาลนี้จะจัดให้มีสิ่งดีต่าง ๆ มากมายสำหรับชีวิต และตอนนั้นจะไม่มีความอดอยากอีกต่อไป แต่ “จะมีข้าวมากมายในแผ่นดิน บนยอดเขาทั้งหลายจะมีข้าวอุดมสมบูรณ์”—สดุดี 72:8, 16
ip-1-E น. 273-274 ว. 8-9
มือของพระยะโฮวาช่วยผู้รับใช้ของพระองค์
8 พระเจ้าเตรียมสิ่งที่เสริมสร้างความเชื่อไว้ให้คนที่ร่วมงานเลี้ยงใหญ่นี้ และพวกเขามีความหวังที่ยอดเยี่ยม อิสยาห์เปรียบเทียบบาปและความตายเป็นเหมือนกับ “ผ้าทอ” ที่คลุมหน้าทำให้หายใจไม่ออกหรือ “ผ้าที่ปิดคลุม” เขาบอกว่า “บนภูเขานี้ พระองค์จะทำลายผ้าที่ปิดคลุมชนชาติทั้งหลายและผ้าทอที่คลุมหน้าทุกชาติไว้ พระองค์จะทำลายความตายให้สาบสูญไปตลอดกาล พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดจะเช็ดน้ำตาให้ทุกคน”—อิสยาห์ 25:7, 8ก
9 บาปและความตายจะไม่มีอีกต่อไป! (วิวรณ์ 21:3, 4) ยิ่งกว่านั้น ข้อกล่าวหาที่ไม่จริงซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาต้องทนมาเป็นพัน ๆ ปีก็จะไม่มีอีกต่อไป “พระองค์จะขจัดคำตำหนิที่ต่อว่าประชาชนของพระองค์ให้หมดไปจากโลก เพราะพระยะโฮวาบอกไว้อย่างนั้น” (อิสยาห์ 25:8ข) เรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร? พระยะโฮวาจะกำจัดต้นเหตุของข้อกล่าวหานั้น นั่นก็คือซาตานและใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายมัน (วิวรณ์ 20:1-3) จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนของพระเจ้าจะถูกกระตุ้นให้พูดด้วยความดีใจว่า “นี่แหละคือพระเจ้าของเรา เราวางใจพระองค์เสมอมา พระองค์จะช่วยเราให้รอด นี่แหละคือพระยะโฮวา เราวางใจพระองค์เสมอมา ให้เรามาชื่นชมยินดีที่พระองค์ช่วยเราให้รอดกันเถอะ”—อิสยาห์ 25:9
วันที่ 9-15 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 29-33
ip-1-E น. 332-334 ว. 7-8
กษัตริย์และพวกเจ้านาย
7 ในคำพยากรณ์ที่สำคัญของพระเยซูที่อธิบายเกี่ยวกับความทุกข์ “ในสมัยสุดท้ายของโลกนี้” ท่านบอกว่า “ระวังอย่าตกใจกลัว” (มัทธิว 24:3-8) ทำไมคนที่ติดตามพระเยซูไม่ตกใจกลัวเมื่อเจอสภาพการณ์ที่อันตรายในโลกทุกวันนี้? เหตุผลหนึ่งก็คือ “พวกเจ้านาย” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือ “แกะอื่น” ได้ปกป้องฝูงแกะอย่างภักดี (ยอห์น 10:16) พวกเขาดูแลพี่น้องชายหญิงด้วยความกล้าหาญแม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัว เช่น สงครามระหว่างชาติพันธุ์หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้จะอยู่ในโลกที่ขาดความเชื่อ แต่พวกเขาก็ดูแลให้ทุกคนที่ท้อใจได้รับความสดชื่นและกำลังใจจากความจริงในคัมภีร์ไบเบิล
8 ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราเห็นกลุ่มคนที่เป็น “พวกเจ้านาย” ชัดเจนยิ่งขึ้น “พวกเจ้านาย” ที่เป็นแกะอื่นได้รับการฝึกให้เป็น “หัวหน้า” ที่มีความสามารถ เพื่อหลังจากความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ บางคนในพวกเขาที่มีคุณสมบัติก็จะพร้อมทำงานเกี่ยวกับการจัดระเบียบใน “โลกใหม่” (เอเสเคียล 44:2, 3; 2 เปโตร 3:13) ในขณะที่พวกเขาต้องนำหน้าในการทำงานรับใช้รัฐบาลของพระเจ้า พวกเขาก็ให้กำลังใจและคำแนะนำที่เสริมสร้างความเชื่อกับฝูงแกะด้วย นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาเป็น “เหมือนเงาของหินผา” ซึ่งทำให้ฝูงแกะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ภายใต้การนมัสการแท้
ip-1-E น. 334-335 ว. 10-11
กษัตริย์และพวกเจ้านาย
10 ชนฝูงใหญ่ตอบรับการจัดระเบียบของพระยะโฮวาอย่างไร? คำพยากรณ์บอกต่อไปว่า “ตอนนั้น คนที่ได้เห็นจะไม่ถูกปิดตาอีกต่อไป และคนที่ได้ยินก็จะสนใจฟัง” (อิสยาห์ 32:3) ตลอดหลายปี พระยะโฮวาฝึกอบรมและช่วยผู้รับใช้ที่มีค่าของพระองค์ให้เติบโตในความเชื่อ พระองค์จัดให้มีโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าและการประชุมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการประชุมภาค การประชุมใหญ่ระดับชาติ และการประชุมนานาชาติ รวมทั้งการฝึกอบรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อช่วย “พวกเจ้านาย” ให้ดูแลฝูงแกะด้วยความรัก การจัดเตรียมทั้งหมดนี้ช่วยให้พี่น้องหลายล้านคนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกผู้ดูแลเหล่านี้ตั้งใจฟังเมื่อมีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ ๆ ในเรื่องความจริงไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนในโลก และพวกเขาพร้อมเสมอที่จะเชื่อฟังและทำตามเพราะพวกเขามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกฝนตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล—สดุดี 25:10
11 คำพยากรณ์นี้เตือนว่า “คนที่เคยใจเร็วจะกลายเป็นคนที่พิจารณาความจริงอย่างรอบคอบ และคนที่เคยพูดตะกุกตะกักก็จะพูดคล่องแคล่วและฉะฉาน” (อิสยาห์ 32:4) อย่าให้ใครเป็นคนใจเร็วรีบตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คุณเคยเห็นคนปากไวไหม? คนโง่ยังมีหวังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าเขาอีก” (สุภาษิต 29:20; ปัญญาจารย์ 5:2) ก่อนปี 1919 ประชาชนของพระยะโฮวาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบาบิโลน แต่ในปีนั้นพระยะโฮวาเริ่มให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความประสงค์ของพระองค์ พวกเขาได้เห็นว่าความจริงที่พระองค์เปิดเผยนั้นผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ใช่ด้วยความใจเร็ว ตอนนี้พวกเขาจึงพูดเกี่ยวกับความเชื่อด้วยความมั่นใจไม่ใช่พูดตะกุกตะกักอย่างไม่มั่นใจ
วันที่ 16-22 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 34-37
ip-1-E น. 386-388 ว. 7-14
พระยะโฮวาตอบแทนความเชื่อของกษัตริย์
7 เซนนาเคอริบส่งรับชาเคห์ (เป็นตำแหน่งทางทหารไม่ใช่ชื่อเฉพาะของบุคคล) กับข้าราชสำนักระดับสูงอีก 2 คนไปเยรูซาเล็มเพื่อเจรจาให้เยรูซาเล็มยอมแพ้ (2 พงศ์กษัตริย์ 18:17) พวกเขาไปพบกับตัวแทน 3 คนของกษัตริย์เฮเซคียาห์ที่นอกกำแพงเมือง คนเหล่านั้นคือ เอลียาคิมผู้ดูแลวังของกษัตริย์ เชบนาเลขานุการ และโยอาห์ผู้บันทึกเหตุการณ์ซึ่งเป็นลูกของอาสาฟ—อิสยาห์ 36:2, 3
8 เป้าหมายของรับชาเคห์คือโน้มน้าวเยรูซาเล็มให้ยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้ เขาพูดเสียงดังเป็นภาษาฮีบรูว่า “อะไรทำให้พวกคุณมั่นใจกันเหลือเกิน? . . . พวกคุณพึ่งใครหรือถึงได้กล้ากบฏอย่างนี้?” (อิสยาห์ 36:4, 5) แล้วรับชาเคห์ก็เยาะเย้ยคนยิวที่กำลังรู้สึกกลัวว่าพวกเขาไม่มีที่พึ่งอย่างแน่นอน พวกเขาจะหันไปพึ่งใครได้? จะพึ่งอียิปต์ที่เป็นเหมือน “ต้นอ้อที่หักแล้ว” หรือ? (อิสยาห์ 36:6) ในตอนนั้น อียิปต์เป็นเหมือนต้นอ้อที่หักแล้วจริง ๆ เพราะถูกเอธิโอเปียยึดครองอยู่ช่วงหนึ่งทั้ง ๆ ที่อียิปต์เคยเป็นมหาอำนาจโลก และกษัตริย์ทีร์หะคาห์ซึ่งเป็นฟาโรห์ของอียิปต์ในตอนนั้นก็ไม่ใช่คนอียิปต์แต่เป็นคนเอธิโอเปีย และเขากำลังจะแพ้อัสซีเรียอีกด้วย (2 พงศ์กษัตริย์ 19:8, 9) ดังนั้น ถ้าอียิปต์ยังช่วยประเทศตัวเองไม่ได้ แล้วจะช่วยยูดาห์ได้อย่างไร
9 รับชาเคห์โน้มน้าวต่อไปอีกว่าพระยะโฮวาจะไม่ต่อสู้เพื่อประชาชนของพระองค์เพราะพระองค์ไม่พอใจพวกเขา รับชาเคห์พูดว่า “แต่ถ้าพวกคุณบอกว่า ‘พวกเราจะพึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเรา’ แต่สถานบูชาบนที่สูงและแท่นบูชาต่าง ๆ ของพระองค์ไม่ใช่หรือที่เฮเซคียาห์ได้สั่งให้ทำลาย?” (อิสยาห์ 36:7) การที่คนยิวทำลายสถานบูชาบนที่สูงและทำลายแท่นบูชาไม่ได้เป็นการกบฏต่อพระยะโฮวาเลย ที่จริง การทำอย่างนั้นเป็นการกลับมาหาพระยะโฮวาต่างหาก
10 ต่อมา รับชาเคห์พูดกับคนยิวว่ากองทัพของยิวด้อยกว่ากองทัพของอัสซีเรียมาก เขาท้าทายด้วยความเย่อหยิ่งว่า “ผมจะให้ม้าพวกคุณ 2,000 ตัว แล้วดูซิว่าพวกคุณจะหาคนได้มากพอที่จะขี่ม้าพวกนี้ไหม?” (อิสยาห์ 36:8) แต่ในความเป็นจริง การมีทหารม้ามากหรือน้อยสำคัญกับยูดาห์ไหม? ไม่เลย เพราะความรอดของยูดาห์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพที่มีกำลังมากกว่า สุภาษิต 21:31 บอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ม้าถูกเตรียมไว้สำหรับทำสงคราม แต่พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยให้รอด” นอกจากนั้น รับชาเคห์ยังพูดว่าพระยะโฮวาอวยพรอัสซีเรียไม่ได้อวยพรคนยิว เขาอ้างว่าถ้าพระยะโฮวาไม่อวยพร อัสซีเรียก็คงไม่สามารถยึดครองเขตของยูดาห์ได้เยอะขนาดนี้—อิสยาห์ 36:9, 10
11 ตัวแทนของเฮเซคียาห์กังวลว่าสิ่งที่รับชาเคห์พูดจะมีผลต่อพวกผู้ชายที่ยืนฟังอยู่บนกำแพงเมือง พวกเขาจึงขอว่า “ขอพูดกับพวกเราซึ่งเป็นคนรับใช้ของคุณเป็นภาษาอาราเมอิก [ภาษาซีเรีย, เชิงอรรถ] เถอะ พวกเราเข้าใจ อย่าพูดภาษาของชาวยิวให้คนที่อยู่บนกำแพงได้ยินเลย” (อิสยาห์ 36:11) แต่รับชาเคห์ไม่ต้องการพูดภาษาซีเรีย เพราะเขาตั้งใจจะพูดให้คนยิวกลัวและเกิดความสงสัย เพื่อคนยิวจะได้ยอมแพ้และอัสซีเรียจะได้ชนะเยรูซาเล็มโดยไม่ต้องต่อสู้ (อิสยาห์ 36:12) ดังนั้น เขาจึงพูดเป็น “ภาษาของชาวยิว” อีก เขาทำเป็นเตือนคนที่อยู่ในเยรูซาเล็มว่า “อย่าให้เฮเซคียาห์มาหลอกพวกคุณ เขาช่วยพวกคุณไม่ได้หรอก” จากนั้น เขาพยายามโน้มน้าวคนที่ฟังอยู่โดยพูดให้เห็นภาพว่า คนยิวจะมีชีวิตที่ดีอย่างไรถ้ายอมอยู่ใต้การปกครองของอัสซีเรีย เขาพูดว่า “ยอมแพ้เราซะดี ๆ อย่าพยายามต่อสู้เลย แล้วพวกคุณทุกคนจะได้กินองุ่นและมะเดื่อจากต้นของตัวเอง และจะได้ดื่มน้ำจากบ่อเก็บน้ำของตัวเอง จนกว่าเราจะมาพาพวกคุณไปที่แผ่นดินหนึ่งซึ่งเป็นเหมือนแผ่นดินของพวกคุณ แผ่นดินนั้นจะมีข้าว มีเหล้าองุ่นใหม่ และมีขนมปังกับสวนองุ่น”—อิสยาห์ 36:13-17
12 เนื่องจากการบุกของพวกอัสซีเรีย ชาวยิวจึงไม่ได้ปลูกพืช เลยไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวในปีนี้ ดังนั้น การนึกภาพว่าตัวเองจะได้กินองุ่นที่หวานฉ่ำและดื่มน้ำเย็น ๆ คงต้องดึงดูดใจพวกผู้ชายที่กำลังฟังอยู่บนกำแพงแน่ ๆ แต่รับชาเคห์ไม่หยุดแค่นั้น เขาพยายามทำให้คนยิวใจอ่อนมากขึ้นอีก
13 รับชาเคห์เตรียมเหตุผลมากมายเพื่อมาโน้มน้าวเหมือนมีอาวุธมาเต็มคลัง ตอนนี้เขาใช้อีกวิธีหนึ่งมาโจมตี เขาเตือนพวกยิวไม่ให้เชื่อคำพูดเฮเซคียาห์ที่ว่า “พระยะโฮวาจะช่วยปกป้องเรา” รับชาเคห์บอกให้ชาวยิวนึกถึงเทพเจ้าของสะมาเรียที่ไม่สามารถปกป้องอิสราเอลสิบตระกูลจากการรุกรานของอัสซีเรียได้ แล้วยังพูดถึงเทพเจ้าของชาติอื่น ๆ อีกที่ถูกอัสซีเรียยึด เขาพูดว่า “พระของเมืองฮามัทกับเมืองอาร์ปัดไปไหนซะล่ะ? แล้วพระของเมืองเสฟาร์วาอิมล่ะอยู่ที่ไหน? พระพวกนั้นช่วยสะมาเรียให้พ้นมือเราได้ไหม?”—อิสยาห์ 36:18-20
14 เนื่องจากรับชาเคห์นมัสการพระเท็จ เขาจึงไม่เข้าใจว่ากรุงสะมาเรียที่นมัสการแบบผิด ๆ แตกต่างกันมากขนาดไหนกับกรุงเยรูซาเล็มที่อยู่ภายใต้การปกครองของเฮเซคียาห์ พระเท็จของสะมาเรียไม่มีอำนาจอะไรเลยที่จะช่วยปกป้องอาณาจักรสิบตระกูลได้ (2 พงศ์กษัตริย์ 17:7, 17, 18) ในทางกลับกัน เยรูซาเล็มที่ปกครองโดยเฮเซคียาห์หันหลังให้กับนมัสการพระเท็จและกลับมารับใช้พระยะโฮวาแล้ว แต่ตัวแทนของยูดาห์ทั้ง 3 คนก็ไม่ได้อธิบายเรื่องเหล่านี้ให้รับชาเคห์ฟัง ในตอนนั้น “เขาทั้งสามก็นิ่งเงียบ ไม่พูดอะไรสักคำเพราะกษัตริย์ได้สั่งไว้ว่า ‘ไม่ต้องตอบอะไรเขา’” (อิสยาห์ 36:21) เอลียาคิม เชบนา และโยอาห์กลับไปหาเฮเซคียาห์และบอกกษัตริย์ว่ารับชาเคห์พูดอะไรบ้าง—อิสยาห์ 36:22
ip-1-E น. 389-391 ว. 15-17
พระยะโฮวาตอบแทนความเชื่อของกษัตริย์
15 ตอนนี้กษัตริย์เฮเซคียาห์ต้องตัดสินใจ เยรูซาเล็มจะยอมแพ้อัสซีเรียดีไหม? ไปเข้าร่วมกับกองกำลังของอียิปต์ดีไหม? หรือจะยืนหยัดต่อสู้? เฮเซคียาห์รู้สึกกดดันมาก เขาไปที่วิหารของพระยะโฮวา ในขณะเดียวกันก็ส่งเอลียาคิมและเชบนากับพวกปุโรหิตที่อาวุโสเป็นตัวแทนไปขอการชี้นำจากพระยะโฮวาผ่านทางผู้พยากรณ์อิสยาห์ (อิสยาห์ 37:1, 2) พวกตัวแทนของกษัตริย์ใส่ผ้ากระสอบ พวกเขาไปหาอิสยาห์และพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่ทุกข์ยากลำบาก วันที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน และวันที่น่าอับอาย . . . พระยะโฮวาพระเจ้าของคุณคงจะได้ยินคำเยาะเย้ยของรับชาเคห์ซึ่งเป็นคนที่กษัตริย์อัสซีเรียส่งมาเยาะเย้ยพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่ และพระองค์จะมาคิดบัญชีกับเขาที่พูดถึงพระองค์อย่างนั้น” (อิสยาห์ 37:3-5) ใช่แล้ว อัสซีเรียกำลังท้าทายพระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่ พระยะโฮวาจะอยู่เฉย ๆ ไหมเมื่อคนพวกนั้นเยาะเย้ยพระองค์? พระยะโฮวาให้คำรับรองกับชาวยิวโดยบอกผ่านทางอิสยาห์ว่า “ไม่ต้องไปกลัวเรื่องที่พวกเจ้าได้ยิน หรือกังวลกับคำพูดที่คนรับใช้ของกษัตริย์อัสซีเรียดูหมิ่นเรา เราจะดลใจเขาให้กลับไปที่แผ่นดินของตัวเองเมื่อเขาได้ยินรายงานข่าวเรื่องหนึ่ง และเราจะทำให้เขาตายด้วยคมดาบที่แผ่นดินของตัวเอง”—อิสยาห์ 37:6, 7
16 ขณะเดียวกัน รับชาเคห์ถูกเรียกตัวกลับไปหากษัตริย์เซนนาเคอริบที่กำลังทำสงครามกับเมืองลิบนาห์อยู่ เซนนาเคอริบจะมาจัดการกับเยรูซาเล็มในไม่ช้า (อิสยาห์ 37:8) การเดินทางกลับไปของรับชาเคห์ไม่ได้ทำให้เฮเซคียาห์รู้สึกกดดันน้อยลงเลย เพราะเซนนาเคอริบส่งจดหมายขู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวเยรูซาเล็มถ้าพวกเขาไม่ยอมแพ้ เซนนาเคอริบบอกว่า “คุณก็รู้อยู่แล้วว่ากษัตริย์ของอัสซีเรียได้ทำลายประเทศต่าง ๆ ไปมากมายขนาดไหน แล้วคุณจะรอดหรือ? ชาติต่าง ๆ ที่ถูกบรรพบุรุษของเราทำลายนั้น พระของพวกเขาช่วยได้ไหม? . . . กษัตริย์ของเมืองฮามัทกับเมืองอาร์ปัดล่ะ? กษัตริย์ของเมืองเสฟาร์วาอิมล่ะ? แล้วกษัตริย์ของเมืองเฮนาและเมืองอิฟวาห์ล่ะคุณยังเห็นอยู่อีกไหม?” (อิสยาห์ 37:9-13) อัสซีเรียกำลังบอกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดสู้กับอัสซีเรีย ยิ่งสู้ก็จะยิ่งโดนหนักขึ้น
17 เฮเซคียาห์ใคร่ครวญอย่างจริงจังถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเขา เขากางจดหมายของเซนนาเคอริบที่วิหารต่อหน้าพระยะโฮวา (อิสยาห์ 37:14) เฮเซคียาห์อธิษฐานจากหัวใจ อ้อนวอนขอให้พระยะโฮวาฟังคำข่มขู่ของพวกอัสซีเรีย และเขาจบคำอธิษฐานว่า “แต่ในตอนนี้ พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเรา โปรดช่วยพวกเราให้รอดจากเงื้อมมือของเขาด้วย เพื่ออาณาจักรต่าง ๆ ในโลกจะได้รู้ว่าพระองค์ผู้เดียวเป็นพระเจ้า พระยะโฮวาโปรดช่วยพวกเราด้วยเถอะ” (อิสยาห์ 37:15-20) คำอ้อนวอนนี้ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เฮเซคียาห์เป็นห่วงมากที่สุดไม่ใช่การที่เขาจะได้รับการช่วยให้รอด แต่เขาห่วงว่าชื่อของพระยะโฮวาจะถูกดูหมิ่นถ้าอัสซีเรียเอาชนะเยรูซาเล็มได้
ip-1-E น. 391-394 ว. 18-22
พระยะโฮวาตอบแทนความเชื่อของกษัตริย์
18 พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเฮเซคียาห์โดยบอกผ่านทางอิสยาห์ว่า เยรูซาเล็มต้องไม่ยอมแพ้ต่ออัสซีเรียแต่ต้องยืนหยัดต่อสู้ และพระยะโฮวาให้อิสยาห์บอกข่าวสารเกี่ยวกับพวกอัสซีเรียซึ่งเป็นข่าวที่พระองค์อยากให้กษัตริย์เซนนาเคอริบรู้ อิสยาห์จึงพูดเรื่องนี้อย่างหนักแน่นว่า “ลูกสาวของศิโยนซึ่งเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์จะดูหมิ่นและเยาะเย้ยเจ้า ลูกสาวของเยรูซาเล็มจะส่ายหน้าใส่เจ้า [ทำท่าทางเยาะเย้ย]” (อิสยาห์ 37:21, 22) พระยะโฮวายังบอกอีกว่า ‘เจ้าเป็นใครกันที่มาเยาะเย้ยพระเจ้าองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล? เรารู้ว่าเจ้าทำอะไร เจ้ามันทะเยอทะยานและพูดจาโอ้อวดมาก เจ้ามั่นใจในอำนาจทางทหารของตัวเองและยึดเมืองได้มากมาย แต่เจ้าจะถูกทำลาย เราจะขัดขวางแผนการของเจ้า เราจะจัดการเจ้า แล้วเราจะทำกับเจ้าให้เหมือนที่เจ้าทำกับคนอื่น เราจะเอาตะขอเกี่ยวจมูกเจ้าและลากเจ้ากลับไปอัสซีเรีย!’—อิสยาห์ 37:23-29
“เหตุการณ์ต่อไปนี้จะเกิดขึ้นเพื่อให้เจ้ามั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง”
19 เฮเซคียาห์มั่นใจได้อย่างไรว่าคำพยากรณ์ของอิสยาห์จะเป็นจริง? พระยะโฮวาตอบว่า “เหตุการณ์ต่อไปนี้จะเกิดขึ้นเพื่อให้เจ้ามั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ในปีนี้เจ้าจะได้กินข้าวที่งอกขึ้นเอง ในปีที่สองเจ้าก็จะได้กินข้าวที่งอกขึ้นจากเมล็ดที่หล่นในปีแรก และในปีที่สามเจ้าจะได้หว่านและได้เก็บเกี่ยว เจ้าจะได้ทำสวนองุ่นและกินผล” (อิสยาห์ 37:30) พระยะโฮวาดูแลให้ชาวยิวมีอาหารกิน แม้พวกเขาจะไปไหนไม่ได้และไม่สามารถปลูกพืชได้เนื่องจากถูกอัสซีเรียล้อมอยู่ แต่เขาจะมีอาหารกินจากผลผลิตที่หลงเหลืออยู่หลังการเก็บเกี่ยวของปีที่แล้ว และในปีต่อมาซึ่งเป็นปีสะบาโต แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากพวกเขาก็ต้องปล่อยทุ่งนาทิ้งไว้โดยไม่ปลูกพืช (อพยพ 23:11) พระยะโฮวาสัญญาว่าคนที่เชื่อฟังคำพูดพระองค์ จะมีข้าวที่งอกขึ้นบนที่นามากพอที่จะเลี้ยงชีวิต จากนั้นในปีต่อมา พวกเขาจะได้เพาะปลูกตามปกติและมีความสุขจากการได้เก็บเกี่ยวพืชผลที่พวกเขาลงมือปลูก
20 พระยะโฮวาเปรียบเทียบประชาชนของพระองค์กับต้นไม้ที่ไม่สามารถถอนรากถอนโคนได้ง่าย ๆ พระองค์บอกว่า “พวกยูดาห์ที่หนีรอด . . . จะหยั่งรากและเกิดผล” (อิสยาห์ 37:31, 32) ถูกแล้ว คนที่เชื่อมั่นในพระยะโฮวาไม่ต้องกลัวอะไร พวกเขาและลูกหลานจะคงอยู่ต่อ ๆ ไปในแผ่นดิน
21 แล้วการบุกเยรูซาเล็มของพวกอัสซีเรียล่ะ? พระยะโฮวาให้คำตอบว่า “เขาจะไม่ได้เข้ามาในเมืองนี้ ไม่ได้มายิงธนูที่นี่ ไม่ได้ถือโล่มายืนอยู่หน้าเมืองนี้ และไม่ได้สร้างเนินดินเพื่อยึดเมืองนี้ พระยะโฮวาบอกว่า ‘เขามาทางไหนก็จะกลับไปทางนั้น เขาจะไม่ได้เข้ามาในเมืองนี้’” (อิสยาห์ 37:33, 34) จะไม่มีการต่อสู้ระหว่างอัสซีเรียกับเยรูซาเล็มเลย แล้วฝ่ายที่ต้องพ่ายแพ้โดยไม่ทันจะได้ต่อสู้กลับต้องเป็นอัสซีเรียไม่ใช่ชาวยิว
22 พระยะโฮวารักษาสัญญา พระองค์ส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาสังหารทหารฝีมือดี 185,000 คนของกองทัพกษัตริย์เซนนาเคอริบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองลิบนาห์ และเมื่อเซนนาเคอริบตื่นขึ้นมาก็ต้องพบว่าแม่ทัพ หัวหน้ากองทหาร และพลทหารที่แข็งแกร่งของตัวเองตายเกลี้ยง เขาต้องกลับนีนะเวห์ไปด้วยความอับอายขายหน้า แต่ทั้ง ๆ ที่ข่าวเรื่องการพ่ายแพ้ของเขาเลื่องลือไปทั่ว เขาก็ยังหัวดื้อที่จะนมัสการนิสโรกซึ่งเป็นพระเท็จต่อไป หลายปีต่อมา ตอนที่เขากำลังนมัสการอยู่ในวิหารพระนิสโรก เขาก็ถูกลูกชายสองคนเข้ามาลอบสังหาร เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่านิสโรกเป็นพระเท็จที่ไร้ชีวิตไม่สามารถปกป้องใครได้เลย—อิสยาห์ 37:35-38
วันที่ 23-29 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 38-42
ip-1-E น. 409-410 ว. 23-25
“ปลอบโยนประชาชนของเรา”
23 มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชลยชาวยิวกล้าหาญและมีความหวัง เนื่องจากผู้ที่สัญญาว่าจะช่วยปลดปล่อยพวกเขาคือผู้สร้างทุกสิ่งและเป็นต้นกำเนิดของพลังอันมหาศาลทุกอย่าง พระยะโฮวาชวนให้ชาวยิวสังเกตผลงานที่พระองค์สร้างซึ่งแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์อำนาจที่น่าทึ่งของพระองค์ พระเจ้าองค์บริสุทธิ์พูดว่า “พวกเจ้าจะเอาเราไปเปรียบกับใคร? ใครจะมาเทียบกับเราได้? เงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าและดูซิว่าใครเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านั้น? พระเจ้าเป็นผู้เรียกดวงดาวเหล่านั้นออกมาทีละดวงตามจำนวนของมันเหมือนกับเรียกทหารในกองทัพพระองค์เรียกชื่อดวงดาวเหล่านั้นได้ทั้งหมด และด้วยพลังอันมหาศาลกับอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น ไม่มีดาวสักดวงเดียวที่ขาดหายไป”—อิสยาห์ 40:25, 26
24 พระเจ้าองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอลพูดถึงตัวพระองค์เอง พระองค์ชวนให้ดูดวงดาวมากมายบนท้องฟ้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครจะมาเทียบพระองค์ได้ พระองค์สามารถควบคุมดวงดาวต่าง ๆ ได้เหมือนกับแม่ทัพรวบรวมกำลังพล ถ้าพระองค์จะรวบรวมดวงดาวเหล่านั้น ‘จะไม่มีดาวสักดวงเดียวขาดหายไป’ ดวงดาวมีจำนวนมากมายมหาศาลแต่พระองค์เรียกชื่อได้ทุกดวง อาจเป็นชื่อเฉพาะหรือชื่อที่ถูกตั้งตามตำแหน่งหรือลักษณะของดาวแต่ละดวง ดวงดาวต่าง ๆ เหมือนทหารที่เชื่อฟัง ดาวเหล่านั้นอยู่ประจำตำแหน่งและอยู่อย่างเป็นระเบียบตามคำสั่งของผู้นำซึ่ง “มีพลังอันมหาศาล” และมี “อำนาจที่ยิ่งใหญ่” ดังนั้น เชลยชาวยิวจึงมีเหตุผลที่จะมั่นใจ ผู้สร้างซึ่งเป็นผู้บัญชาการดวงดาวมากมายย่อมมีอำนาจในการดูแลผู้รับใช้ของพระองค์
25 คงไม่มีใครปฏิเสธคำชวนของพระเจ้าตามที่บอกไว้ใน อิสยาห์ 40:26 ว่า “เงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าและดูซิว่า ใครเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านั้น?” การค้นพบของนักดาราศาสตร์ในสมัยปัจจุบันยิ่งทำให้รู้ข้อมูลที่น่าทึ่งเกี่ยวกับดวงดาวบนท้องฟ้ามากยิ่งกว่าที่รู้กันในสมัยของอิสยาห์ นักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องอวกาศใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถกะประมาณว่าเอกภพเท่าที่เราสามารถสำรวจได้ในทุกวันนี้มีกาแล็กซีมากถึง 125,000 ล้านกาแล็กซี มีการประมาณกันว่าแค่กาแล็กซีทางช้างเผือกกาแล็กซีเดียวก็มีดวงดาวมากกว่า 100,000 ล้านดวงแล้ว! ความรู้เหล่านี้น่าจะกระตุ้นหัวใจเราให้รู้สึกเคารพยำเกรงผู้สร้างของเราและมั่นใจเต็มร้อยในคำสัญญาของพระองค์
ip-1-E น. 413 ว. 27
“ปลอบโยนประชาชนของเรา”
27 อิสยาห์บันทึกคำของพระยะโฮวาที่พูดถึงความรู้สึกของเชลยในบาบิโลนซึ่งต้องจากบ้านเกิดไปไกลหลายร้อยไมล์ พวกเขาบางคนอาจคิดว่าพระยะโฮวาไม่เห็นหรือไม่รู้ว่าพวกเขา “ต้องเจอกับอะไรบ้าง” คิดว่าพระองค์ไม่รู้ว่าพวกเขาต้องเจอกับชีวิตที่ยากลำบาก พระองค์ไม่ใส่ใจความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาต้องทนทุกข์ พวกเขาจึงถูกกระตุ้นเตือนให้คิดถึงสิ่งที่พวกเขาควรรู้จากประสบการณ์ของพวกเขาเองหรือจากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน ว่าพระยะโฮวาสามารถช่วยได้และพระองค์อยากช่วยพวกเขาให้รอด พระองค์เป็นพระเจ้าที่อยู่ตลอดกาลและเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกของเรา ดังนั้นพระองค์จึงเป็นเจ้าของพลังอำนาจที่เราเห็นได้จากสิ่งที่พระองค์สร้าง แม้แต่บาบิโลนที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ก็เทียบไม่ได้กับพระองค์ พระเจ้าที่มีลักษณะแบบนี้จะไม่มีวันอ่อนล้าหรือทำให้ประชาชนของพระองค์ผิดหวัง มนุษย์ไม่ควรคิดว่าตัวเองสามารถเข้าใจการกระทำทุกอย่างของพระยะโฮวา หรือสติปัญญาที่ลึกซึ้งของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเข้าใจ และการรับรู้ของพระองค์ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเกินขีดจำกัดที่พวกเขาจะเข้าใจได้
ip-1-E น. 413-415 ว. 29-31
“ปลอบโยนประชาชนของเรา”
29 เมื่อพูดถึงความจำเป็นของการให้กำลังกับคนที่เหน็ดเหนื่อย พระยะโฮวาอาจคิดถึงเชลยชาวยิวที่ต้องเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความยากลำบาก พระยะโฮวาย้ำเตือนให้ประชาชนของพระองค์ไม่ลืมว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ช่วยเหลือคนเหน็ดเหนื่อยที่หวังพึ่งพระองค์เสมอ โดยทั่วไป “เด็ก ๆ” และ “คนหนุ่ม” ที่กระฉับกระเฉงก็อาจรู้สึกเหนื่อยและหมดเรี่ยวหมดแรงได้ แต่สำหรับคนที่เชื่อในพระยะโฮวาจะมีกำลังสำหรับวิ่งและเดินอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตามที่พระองค์สัญญาไว้ เรื่องนี้เปรียบได้กับนกอินทรีที่บินร่อนอย่างไม่รู้จักเหนื่อยบนท้องฟ้า มันบินร่อนได้นานเป็นชั่วโมง ๆ ซึ่งเปรียบได้กับการที่พระยะโฮวาให้กำลังผู้รับใช้ของพระองค์ ชาวยิวที่เป็นเชลยไม่ต้องท้อใจเพราะพระยะโฮวาคอยช่วยพวกเขาอยู่
30 คำพูดปิดท้ายในอิสยาห์บท 40 ให้กำลังใจกับคริสเตียนที่อยู่ในสมัยสุดท้ายของโลกชั่วนี้ แม้เราต้องเจอแรงกดดันและปัญหามากมายที่อาจทำให้ท้อใจ แต่เราได้รับกำลังใจมากที่รู้ว่าพระเจ้าสังเกตเห็นความยากลำบากที่เราต้องอดทนและความไม่เป็นธรรมที่เราต้องเจอ เรามั่นใจได้ว่าผู้สร้างทุกสิ่ง พระเจ้าผู้มี “ความเข้าใจไร้ขีดจำกัด” จะจัดการกับความไม่ยุติธรรมที่เราต้องทนทุกข์ตามเวลาที่พระองค์กำหนดและด้วยวิธีของพระองค์ (สดุดี 147:5, 6) และในตอนนี้ เราไม่จำเป็นต้องอดทนด้วยกำลังของเราเอง เพราะพระยะโฮวาผู้มีพลังที่ไร้ขีดจำกัดสามารถให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ” กับผู้รับใช้ของพระองค์ในเวลาที่ถูกทดสอบ—2 โครินธ์ 4:7
31 ลองคิดถึงชาวยิวที่ถูกจับไปบาบิโลนในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช พวกเขาต้องจากบ้านเกิดหลายร้อยไมล์ เยรูซาเล็มเมืองที่เขารักก็ถูกทิ้งร้าง พระวิหารต้องกลายเป็นซากปรักหักพัง สำหรับพวกเขาแล้ว คำพยากรณ์ของอิสยาห์มีคำสัญญาที่ให้กำลังใจ เป็นเหมือนแสงสว่างและความหวังที่ว่าพระยะโฮวาจะฟื้นฟูบ้านเกิดของพวกเขา ในปี 537 ก่อนคริสต์ศักราช พระยะโฮวานำประชาชนของพระองค์กลับบ้านเกิด พิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ทำตามสัญญา พวกเราเองก็สามารถมั่นใจในพระยะโฮวาได้อย่างเต็มที่เช่นกัน คำสัญญาเรื่องรัฐบาลของพระองค์ที่มีบอกไว้อย่างสวยงามในคำพยากรณ์ของอิสยาห์จะกลายเป็นจริง นี่เป็นข่าวดีมากจริง ๆ ข่าวดีที่เป็นเหมือนแสงสว่างสำหรับมนุษย์ทุกคน
วันที่ 30 มกราคม-5 กุมภาพันธ์
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อิสยาห์ 43-46
ip-2-E น. 71-72 ว. 22-23
พระเจ้าเที่ยงแท้บอกล่วงหน้าเรื่องการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ
22 คนที่ไม่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ส่วนใหญ่จะไม่กล้าพูดอะไรเฉพาะเจาะจงในคำทำนายของพวกเขา เพราะกลัวว่าเมื่อเวลาผ่านไปคำทำนายเหล่านั้นจะถูกพิสูจน์ว่าผิด ต่างกันกับพระยะโฮวา พระองค์เปิดเผยผ่านทางอิสยาห์ให้รู้ชื่อของชายที่จะมาปลดปล่อยประชาชนของพระองค์จากการเป็นเชลย เพื่อให้พวกเขากลับบ้านเกิดและฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มและวิหาร ชื่อของชายคนนั้นคือ ไซรัส ที่หลายคนเรียกว่า ไซรัสมหาราชแห่งเปอร์เซีย พระยะโฮวายังบอกรายละเอียดของแผนการที่ไซรัสจะใช้เพื่อฝ่าระบบป้องกันเมืองที่ทั้งแข็งแรงและแน่นหนาของบาบิโลน บาบิโลนมีกำแพงสูงและคูน้ำล้อมรอบเมืองเป็นแนวป้องกัน ไซรัสจะใช้เส้นทางของแม่น้ำยูเฟรติสซึ่งเป็นระบบป้องกันหลักของเมืองให้เป็นประโยชน์กับเขา ตามบันทึกของเฮโรโดทุสและเซโนโฟนนักประวัติศาสตร์ ไซรัสไปที่ต้นแม่น้ำของบาบิโลนแล้วเบี่ยงเส้นทางการไหลของแม่น้ำยูเฟรติส ทำให้น้ำลดระดับลงจนทหารสามารถเดินลุยน้ำไปได้ แม่น้ำยูเฟรติสที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถปกป้องเมืองบาบิโลนถูกทำให้แห้งไป
23 แล้วคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่าไซรัสจะปลดปล่อยประชาชนของพระเจ้าและจะฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มและวิหารขึ้นมาใหม่ล่ะ? คัมภีร์ไบเบิลบันทึกคำประกาศอย่างเป็นทางการของไซรัสว่า “กษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียพูดว่า ‘พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งสวรรค์ได้ให้อาณาจักรทั้งหมดบนโลกนี้กับเรา และมอบหมายให้เราสร้างวิหารของพระองค์ที่กรุงเยรูซาเล็มในแผ่นดินยูดาห์ ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นประชาชนของพระองค์ ขอพระเจ้าอยู่กับเขาและให้เขากลับไปที่กรุงเยรูซาเล็มในแผ่นดินยูดาห์ เพื่อไปสร้างวิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าของอิสราเอลขึ้นใหม่ พระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้และวิหารของพระองค์ก็อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม’” (เอสรา 1:2, 3) คำสัญญาของพระยะโฮวาที่ผ่านทางอิสยาห์เกิดขึ้นจริงในทุกรายละเอียด
ip-2-E น. 77-78 ว. 4-6
พระยะโฮวา “เป็นพระเจ้าผู้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอและเป็นผู้ช่วยให้รอด”
4 พระยะโฮวาพูดกับไซรัสผ่านอิสยาห์เหมือนกับว่าเขามีชีวิตอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ในสมัยของอิสยาห์นั้น ไซรัสยังไม่เกิดด้วยซ้ำ (โรม 4:17) เนื่องจากพระยะโฮวามอบหมายไซรัสล่วงหน้าให้ทำงานที่สำคัญจึงสามารถเรียกเขาได้ว่าเป็น “ผู้ถูกเจิม” ด้วยการนำของพระเจ้า เขาจึงมีอำนาจเหนือชาติต่าง ๆ ทำให้กษัตริย์หมดอำนาจและทำให้ผู้ต่อต้านหมดทางสู้ ดังนั้นตอนที่ไซรัสโจมตีบาบิโลน พระยะโฮวาจึงทำให้ประตูบานคู่ของเมืองเปิดทิ้งไว้ ทำให้เหมือนกับว่าประตูนั้นถูกทำลายจนแตกละเอียด พระองค์จะนำหน้าไซรัสและทำให้อุปสรรคต่าง ๆ ถูกขจัดออกไป จนในที่สุด กองทัพของไซรัสจะยึดเมืองกับทรัพย์สมบัติที่ซ่อนอยู่ในที่ลับ ซึ่งเป็นสมบัติที่อยู่ในที่มืด นี่คือสิ่งที่อิสยาห์บอกไว้ล่วงหน้า แล้วทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงไหม?
5 ในปี 539 ก่อน ค.ศ ประมาณ 200 ปีหลังจากอิสยาห์บันทึกคำพยากรณ์ของเขา ไซรัสก็มาถึงกำแพงเมืองบาบิโลนเพื่อบุกโจมตี (เยเรมีย์ 51:11, 12) แต่ชาวบาบิโลนไม่ทันรู้ตัว พวกเขามั่นใจว่าเมืองของพวกเขาจะไม่มีใครพิชิตได้ เพราะมีการป้องกันเมืองด้วยกำแพงสูงใหญ่และคูน้ำลึกรอบเมืองที่เติมเต็มไปด้วยน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติส เป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้วที่ไม่มีศัตรูรายไหนจะทำอะไรบาบิโลนได้เลย ผู้นำบาบิโลนคือเบลชัสซาร์กับพวกชนชั้นสูงจึงกินเลี้ยงกันอย่างสบายใจ (ดาเนียล 5:1) ในคืนวันที่ 5 ตุลาคมนั้นเอง ไซรัสได้เตรียมแผนการทางทหารอย่างยอดเยี่ยมไว้พร้อมแล้ว
6 ที่ต้นทางน้ำของบาบิโลน ทหารช่างของไซรัสได้ขุดเซาะข้างตลิ่งของแม่น้ำยูเฟรติสเพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำไม่ให้ไหลไปทางทิศใต้เพื่อเข้าสู่เมือง ไม่นาน ระดับน้ำในแม่น้ำรอบ ๆ บาบิโลนก็ลดต่ำลง ทำให้เหล่าทหารของไซรัสสามารถเดินลุยน้ำเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ (อิสยาห์ 44:27; เยเรมีย์ 50:38) และน่าแปลกใจที่ประตูเมืองซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำถูกเปิดทิ้งไว้จริง ๆ ตามคำพยากรณ์ของอิสยาห์ ทำให้กองกำลังของไซรัสสามารถบุกเข้าไปในบาบิโลน ยึดวัง และฆ่ากษัตริย์เบลชัสซาร์ (ดาเนียล 5:30) ในคืนเดียวไซรัสก็เอาชนะเมืองนี้ได้ บาบิโลนล่มสลายและคำพยากรณ์ก็เป็นจริงทุกตัวอักษร
ip-2-E น. 79-80 ว. 8-10
พระยะโฮวา “เป็นพระเจ้าผู้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอและเป็นผู้ช่วยให้รอด”
8 หลังจากที่พระยะโฮวาบอกว่าใครจะเอาชนะบาบิโลนและเขาจะใช้วิธีไหน พระองค์ก็อธิบายต่อไปว่าทำไมถึงให้ไซรัสได้รับชัยชนะ พระองค์บอกเหตุผลข้อหนึ่งว่า “เพื่อเจ้าจะรู้ว่าเราคือยะโฮวา พระเจ้าของอิสราเอล ผู้ที่เรียกชื่อของเจ้า” (อิสยาห์ 45:3ข) เป็นเรื่องเหมาะสมจริง ๆ ที่ผู้ปกครองของมหาอำนาจโลกลำดับที่สี่ตามประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลจะยอมรับว่า ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขาได้รับมาจากการสนับสนุนของผู้ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา ซึ่งก็คือพระยะโฮวาผู้มีอำนาจการปกครองสูงสุดในเอกภพ ไซรัสควรยอมรับว่าคนที่เรียกเขาหรือใช้เขาให้ทำงานนี้คือพระยะโฮวาพระเจ้าของอิสราเอล บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าไซรัสได้ยอมรับจริง ๆ ว่าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของเขามาจากพระยะโฮวา—เอสรา 1:2, 3
9 พระยะโฮวาบอกเหตุผลข้อที่สองที่ให้ไซรัสชนะบาบิโลนว่า “เพื่อเห็นแก่ยาโคบผู้รับใช้ของเรากับอิสราเอลผู้ที่เราเลือกไว้ เราจึงเรียกชื่อของเจ้าและมอบชื่อที่มีเกียรตินี้ให้เจ้า ถึงเจ้าจะไม่รู้จักเรามาก่อน” (อิสยาห์ 45:4) การที่ไซรัสชนะบาบิโลนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มหาอำนาจหนึ่งล่มจมและมีอีกมหาอำนาจขึ้นมาแทน นอกจากนั้น ยังเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนอีกหลายรุ่นได้เรียนรู้ แต่สำหรับชาติที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งเฝ้าดูเหตุการณ์นี้ พวกเขาคงต้องแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นก็เพื่อประโยชน์ของ “คนต่ำต้อย” แค่ไม่กี่พันคนที่เป็นเชลยในบาบิโลนซึ่งก็คือชาวยิวที่เป็นลูกหลานของยาโคบ แต่สำหรับพระยะโฮวา พระองค์ไม่ได้มองว่าลูกหลานของอิสราเอลโบราณที่รอดชีวิตเป็นคนต่ำต้อย แต่มองว่าพวกเขาเป็น “ผู้รับใช้” ของพระองค์ พวกเขาเป็น ‘ผู้ที่พระองค์เลือกไว้’ จากทุกชาติในโลก ถึงแม้ก่อนหน้านี้ไซรัสจะไม่รู้จักพระยะโฮวา แต่พระยะโฮวาก็ใช้เขาให้ไปทำลายเมืองที่ไม่ยอมปล่อยเชลย เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้ต้องการให้พวกเขาต้องตกเป็นเชลยตลอดไปในดินแดนของคนต่างชาติ
10 พระยะโฮวายังบอกถึงเหตุผลข้อที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่พระองค์ใช้ไซรัสในการล้มล้างบาบิโลน พระองค์บอกว่า “เราคือยะโฮวา ไม่มีพระเจ้าอื่นอีก ไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากเรา เราจะให้กำลังกับเจ้าแม้เจ้าไม่รู้จักเรามาก่อน ใคร ๆ จะได้รู้ ตั้งแต่ทิศตะวันออกไปจนถึงทิศตะวันตกว่าไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากเรา เราคือยะโฮวา ไม่มีพระเจ้าอื่นอีก” (อิสยาห์ 45:5, 6) การล่มจมของมหาอำนาจโลกอย่างบาบิโลนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวา เรื่องนี้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าพระองค์เท่านั้นที่คู่ควรจะได้รับการนมัสการ และเนื่องจากผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ผู้คนจากชาติต่าง ๆ ตั้งแต่ทิศตะวันออกจนถึงทิศตะวันตกจะได้ยอมรับว่าพระยะโฮวาเท่านั้นที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้—มาลาคี 1:11
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
ip-2-E น. 60 ว. 24
“พวกเจ้าเป็นพยานของเรา”!
ขอสังเกตว่า ที่พระเจ้าแสดงความเมตตาไม่ใช่เพราะเห็นแก่ชาติอิสราเอลที่สำนึกผิด แต่เป็นเพราะเห็นแก่ชื่อของพระยะโฮวา ถ้าพระองค์ปล่อยให้อิสราเอลถูกจับเป็นเชลยตลอดไป ชื่อของพระองค์เองก็จะถูกดูหมิ่นโดยคนอื่น ๆ (สดุดี 79:9; เอเสเคียล 20:8-10) เช่นเดียวกันในปัจจุบัน ความรอดของมนุษย์เป็นเรื่องรองลงมาจากการทำให้ชื่อของพระเจ้าเป็นที่เคารพนับถือและการพิสูจน์ว่าพระองค์มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวารักคนที่ยอมรับคำสอนของพระองค์ทั้งตัวและหัวใจ และคนที่นมัสการพระองค์โดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำและนมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง พระองค์แสดงให้เห็นว่ารักพวกเขาโดยลบล้างความผิดผ่านทางเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือแกะอื่น—ยอห์น 3:16; 4:23, 24