ความรอดสำหรับผู้เลือกความสว่าง
“พระยะโฮวาเป็นสว่างและความรอดของข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะต้องกลัวผู้ใดเล่า?”—บทเพลงสรรเสริญ 27:1.
1. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีอะไรซึ่งให้ชีวิต?
พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ให้กำเนิดแสงอาทิตย์ซึ่งทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกเป็นไปได้. (เยเนซิศ 1:2, 14) พระองค์ทรงเป็นผู้บันดาลให้มีแสงสว่างฝ่ายวิญญาณ ซึ่งขับไล่ความมืดแห่งโลกซาตานที่ยังผลเป็นความตายด้วย. (ยะซายา 60:2; 2 โกรินโธ 4:6; เอเฟโซ 5:8-11; 6:12) ผู้ที่เลือกความสว่างสามารถกล่าวได้เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญว่า “พระยะโฮวาเป็นสว่างและความรอดของข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะต้องกลัวผู้ใดเล่า?” (บทเพลงสรรเสริญ 27:1ก) อย่างไรก็ตาม ดังที่เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซู ผู้ที่ชอบความมืดมากกว่าจะคาดหมายได้เฉพาะแต่การพิพากษาลงโทษเท่านั้น.—โยฮัน 1:9-11; 3:19-21, 36.
2. ในสมัยโบราณ เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ปฏิเสธความสว่างของพระยะโฮวาและผู้ที่ฟังพระดำรัสของพระองค์?
2 ในสมัยของยะซายา ไพร่พลแห่งสัญญาไมตรีของพระยะโฮวาส่วนใหญ่ปฏิเสธความสว่าง. ผลคือ ยะซายาได้เห็นความหายนะที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรยิศราเอลที่อยู่ทางเหนือ. และในปี 607 ก่อนสากลศักราช ยะรูซาเลมและพระวิหารถูกทำลายและประชากรของยูดาถูกต้อนไปเป็นเชลย. อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฟังพระดำรัสของพระยะโฮวาได้รับการเสริมกำลังให้ต่อต้านการออกหากในสมัยนั้น. สำหรับในปี 607 ก่อนสากลศักราชนั้น พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าผู้ที่ฟังพระองค์จะรอดชีวิต. (ยิระมะยา 21:8, 9) ปัจจุบัน พวกเราที่รักความสว่างสามารถเรียนรู้ได้มากจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น.—เอเฟโซ 5:5.
ความสุขของผู้ที่อยู่ในความสว่าง
3. ปัจจุบัน เราสามารถเชื่อมั่นเช่นไร, “ชนชาติชอบธรรม” ชาติใดที่เรารัก, และ “ชาติ” นั้นมี “เมืองอันเข้มแข็ง” เช่นไร?
3 “เรามีเมืองอันเข้มแข็ง; เพื่อความปลอดภัย [พระเจ้า] จะทรงตั้งกำแพงและสีมาไว้. จงเปิดประตูเมืองออกเถิด, เพื่อให้ชนชาติชอบธรรมซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ไว้จะได้เข้าไปได้.” (ยะซายา 26:1, 2) ข้อความดังกล่าวเป็นคำพูดที่เปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดีของประชาชนที่ไว้วางใจในพระยะโฮวา. ชาวยิวที่ซื่อสัตย์ในสมัยของยะซายาหมายพึ่งพระยะโฮวาในฐานะแหล่งที่แท้จริงของความมั่นคงปลอดภัยเพียงแหล่งเดียว ไม่ใช่พระเท็จของเพื่อนร่วมชาติ. ปัจจุบัน เรามีความเชื่อมั่นอย่างเดียวกัน. นอกจากนั้น เรารัก “ชนชาติชอบธรรม” ของพระยะโฮวา—“ชาติยิศราเอลของพระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; มัดธาย 21:43) พระยะโฮวาทรงรักชาตินี้เช่นกันเนื่องด้วยความประพฤติที่ซื่อสัตย์ของชาตินี้. โดยได้รับพระพรจากพระองค์ ชาติยิศราเอลของพระเจ้ามี “เมืองอันเข้มแข็ง” คือองค์การซึ่งเป็นเสมือนเมืองที่ให้การสนับสนุนและปกป้องชาตินี้.
4. เราควรปลูกฝังเจตคติเช่นไร?
4 ผู้ที่อยู่ภายใน “เมือง” นี้ตระหนักดีว่า “แนวโน้มนั้นซึ่งได้รับการค้ำจุนไว้อย่างดี [พระยะโฮวา] จะปกป้องให้มีสันติสุขเสมอไป เพราะผู้คนได้รับการสนับสนุนให้วางใจใน [พระยะโฮวา].” พระยะโฮวาทรงสนับสนุนผู้มีแนวโน้มที่จะไว้วางใจในพระองค์และประพฤติสอดคล้องกับหลักการอันชอบธรรมของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ผู้ซื่อสัตย์ในยูดาใส่ใจคำกระตุ้นเตือนของยะซายาที่ว่า “ผู้คนทั้งหลาย จงวางใจในพระยะโฮวาเสมอเป็นนิจ เพราะยาห์ยะโฮวาเป็นศิลาแห่งเวลาไม่กำหนด.” (ยะซายา 26:3, 4, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 9:10; 37:3; สุภาษิต 3:5) ผู้มีเจตคติเช่นนั้นหมายพึ่ง “ยาห์ยะโฮวา” ในฐานะผู้เดียวที่ทรงเป็นศิลาอันมั่นคง. พวกเขามี “สันติสุขเสมอไป” กับพระองค์.—ฟิลิปปอย 1:2; 4:6, 7.
ความอับอายสำหรับศัตรูของพระเจ้า
5, 6. (ก) บาบูโลนโบราณตกต่ำอย่างน่าอับอายอย่างไร? (ข) “บาบูโลนใหญ่” ตกต่ำอย่างน่าอับอายอย่างไร?
5 จะว่าอย่างไรหากผู้ที่ไว้วางใจในพระยะโฮวาประสบความทุกข์ลำบาก? พวกเขาไม่จำเป็นต้องกลัว. พระยะโฮวาทรงยอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นชั่วเวลาหนึ่ง แต่ในที่สุดพระองค์ทรงนำการปลดเปลื้องมาให้ และพวกที่ก่อความทุกข์ลำบากเช่นนั้นก็เผชิญกับการพิพากษาของพระองค์. (2 เธซะโลนิเก 1:4-7; 2 ติโมเธียว 1:8-10) ขอให้พิจารณากรณีของ “เมืองสูงเด่น” เมืองหนึ่ง. ยะซายากล่าวว่า “[พระยะโฮวา] ได้ทรงเหยียดคนทั้งหลายที่อยู่ในที่สูง, คือเมืองสูงเด่นลงมา. พระองค์ได้ทรงกระทำให้เขาตกต่ำลงมาเสมอระดับดิน, พระองค์ทรงเหยียดลงมาให้เสมอกับผงคลีดิน. เมืองนั้นจะถูกเท้าเหยียบย่ำ; แม้แต่เท้าของคนจนและเท้าของคนเข็ญใจก็ย่างเหยียบได้.” (ยะซายา 26:5, 6) เมืองสูงเด่นที่กล่าวถึงในที่นี้อาจได้แก่บาบูโลน. เมืองนี้ทำให้ไพร่พลของพระเจ้าประสบความทุกข์หนักอย่างไม่ต้องสงสัย. แต่เกิดอะไรขึ้นกับบาบูโลน? ในปี 539 ก.ส.ศ. เมืองนี้ถูกยึดครองโดยพวกมาดายและเปอร์เซีย. นับเป็นความตกต่ำจริง ๆ!
6 ในสมัยของเรา คำพยากรณ์ของยะซายาพรรณนาไว้ตรงทีเดียวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับ “บาบูโลนใหญ่” นับตั้งแต่ปี 1919. เมืองสูงเด่นนี้ตกต่ำอย่างน่าอับอายในปีนั้น เมื่อจำใจต้องปล่อยไพร่พลของพระยะโฮวาให้เป็นอิสระจากการเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 14:8) สิ่งที่เกิดขึ้นถัดจากนั้นยิ่งน่าอายเข้าไปอีก. คริสเตียนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้หันมา “เหยียบย่ำ” ผู้ที่เคยกักตัวพวกเขาเป็นเชลย. ในปี 1922 พวกเขาเริ่มประกาศเกี่ยวกับอวสานของคริสต์ศาสนจักรที่กำลังใกล้เข้ามา เผยแพร่เรื่องเสียงแตรที่ทูตสวรรค์สี่องค์เป่าในวิวรณ์ 8:7-12 และวิบัติสามประการที่มีบอกล่วงหน้าในวิวรณ์ 9:1–11:15.
“ทางของผู้ชอบธรรมนั้นเที่ยงตรง”
7. ผู้ที่หันมาสู่ความสว่างของพระยะโฮวาได้รับการชี้นำเช่นไร พวกเขาฝากความหวังไว้กับผู้ใด และพวกเขาเทิดทูนอะไร?
7 พระยะโฮวาทรงจัดให้มีความรอดสำหรับผู้ที่หันมาสู่ความสว่างของพระองค์ และพระองค์ทรงนำวิถีทางที่พวกเขาดำเนิน ดังที่ยะซายาชี้ให้เห็นในข้อถัดมาว่า “ทางของผู้ชอบธรรมนั้นเที่ยงตรง. พระองค์เป็นผู้เที่ยงตรง พระองค์จะทำให้วิถีทางของผู้ชอบธรรมราบรื่น. โอ้พระยะโฮวา เนื่องด้วยแนวทางการพิพากษาของพระองค์ พวกข้าพเจ้าจึงหวังใจในพระองค์. พระนามของพระองค์และอนุสรณ์ของพระองค์เป็นสิ่งที่จิตวิญญาณปรารถนา.” (ยะซายา 26:7, 8, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่ชอบธรรม และผู้นมัสการพระองค์ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์. เมื่อพวกเขาทำอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงชี้นำพวกเขา ช่วยทำให้แนวทางชีวิตของพวกเขาราบรื่น. โดยใส่ใจในการชี้นำของพระองค์ ผู้อ่อนน้อมเหล่านี้แสดงว่าพวกเขาฝากความหวังไว้กับพระยะโฮวาและเทิดทูน “อนุสรณ์ของพระองค์”—คือพระนามของพระองค์—อย่างสุดหัวใจ.—เอ็กโซโด 3:15.
8. ยะซายาแสดงเจตคติอันเป็นแบบอย่างเช่นไร?
8 ยะซายาเทิดทูนพระนามของพระยะโฮวา. เรื่องนี้เห็นได้จากคำพูดต่อมาของท่านที่ว่า “ในเวลากลางคืนใจ [“จิตวิญญาณ,” ล.ม.] ของข้าพเจ้าคะนึงใฝ่ฝันถึงพระองค์; เออ, จิตต์ในร่างของข้าพเจ้าจะแสวงหาพระองค์ด้วยความร้อนรน; เพราะเมื่อการพิพากษาของพระองค์ปรากฏขึ้นในโลกแล้ว, พลโลกก็จะเรียนรู้ถึงความชอบธรรม.” (ยะซายา 26:9) ยะซายาคะนึงใฝ่ฝันถึงพระยะโฮวา ‘ด้วยจิตวิญญาณ’ ของท่าน คือทั้งหมดที่เป็นตัวท่าน. ขอให้นึกภาพว่าท่านผู้พยากรณ์กำลังใช้เวลาอันเงียบสงัดในยามค่ำคืนอธิษฐานถึงพระยะโฮวา เผยความคิดในส่วนลึกที่สุดและแสวงหาการชี้นำจากพระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้น. ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ! นอกจากนั้น ยะซายาเรียนรู้ความชอบธรรมจากการพิพากษาของพระยะโฮวา. ในเรื่องนี้ ท่านเตือนเราให้ระลึกถึงความจำเป็นต้องระวังระไวอยู่เสมอ ตื่นตัวเสมอเพื่อจะสังเกตเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา.
บางคนเลือกอยู่ฝ่ายความมืด
9, 10. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติด้วยพระกรุณาเช่นไรต่อชาติที่ไม่ซื่อสัตย์ของพระองค์ แต่พวกเขาตอบสนองอย่างไร?
9 พระยะโฮวาทรงแสดงความรักกรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อยูดา แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่ทุกคนตอบรับ. บ่อยครั้ง คนส่วนใหญ่เลือกจะขืนอำนาจและออกหากแทนที่จะเลือกแสงสว่างแห่งความจริงของพระยะโฮวา. ยะซายากล่าวว่า “ถึงจะทำคุณแก่คนชั่วสักเท่าไร, เขาก็จะไม่เรียนรู้ความชอบธรรมเสียเลย; ถึงอยู่ในแผ่นดินแห่งความชอบธรรมเขาก็จะกระทำผิดอยู่นั่นเอง, และเขาจะไม่สังเกตเห็นศักดานุภาพของพระยะโฮวา.”—ยะซายา 26:10.
10 ในสมัยของยะซายา เมื่อพระหัตถ์ของพระยะโฮวาปกป้องยูดาจากศัตรู คนส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะยอมรับเรื่องนี้. เมื่อพระองค์ทรงอวยพรพวกเขาให้มีสันติสุข ชาตินี้มิได้แสดงความกตัญญูรู้คุณ. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงทิ้งพวกเขาให้ปรนนิบัติ “เจ้านายอื่น” และในที่สุดทรงปล่อยให้ชาวยิวตกเป็นเชลยของบาบูโลนในปี 607 ก.ส.ศ. (ยะซายา 26:11-13, ฉบับแปลใหม่) ถึงกระนั้น ในที่สุดชนที่เหลือของชาตินี้ได้กลับมาถึงมาตุภูมิของตนหลังจากที่ถูกตีสอน.
11, 12. (ก) ผู้ที่จับชาวยูดาไปเป็นเชลยมีอนาคตเช่นไร? (ข) ในปี 1919 ผู้ที่เคยกักตัวผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระยะโฮวาไว้เป็นเชลยมีอนาคตเช่นไร?
11 จะว่าอย่างไรสำหรับผู้ที่จับชาวยูดาไปเป็นเชลย? ยะซายาตอบเป็นเชิงพยากรณ์ว่า “พวกเขาตายแล้ว; เขาจะไม่มีชีวิตอีก. ในความตาย พวกเขาทำอะไรไม่ได้ พวกเขาจะไม่เป็นขึ้นอีก. ฉะนั้น พระองค์จึงหันมาเพ่งเล็งเพื่อจะกวาดล้างพวกเขาและทำลายจนไม่มีใครเอ่ยถึงอีกเลย.” (ยะซายา 26:14, ล.ม.) ถูกแล้ว หลังจากความล่มจมในปี 539 ก.ส.ศ. บาบูโลนก็หมดอนาคต. ในที่สุด จะไม่มีเมืองนี้อีกต่อไป. เมืองนี้จะ ‘ทำอะไรไม่ได้ในความตาย’ และจักรวรรดิอันใหญ่โตของเมืองนี้จะกลายเป็นเพียงอดีต. นับเป็นคำเตือนสำหรับผู้ที่ฝากความหวังไว้กับมหาอำนาจของโลกนี้!
12 แง่มุมต่าง ๆ ของคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงไปแล้ว เมื่อพระเจ้าทรงยอมให้ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์ตกเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณในปี 1918 และหลังจากนั้นก็ทรงช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระในปี 1919. นับแต่นั้นมา อนาคตของผู้ที่เคยกักตัวพวกเขาไว้เป็นเชลย ซึ่งส่วนหลักคือคริสต์ศาสนจักร ก็มืดมน. แต่พระพรที่ไพร่พลของพระยะโฮวาจะได้รับนั้นมีอุดมจริง ๆ.
“พระองค์ทรงเพิ่มเติมแก่ชาตินี้”
13, 14. ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระยะโฮวาได้รับพระพรอันอุดมเช่นไรนับตั้งแต่ปี 1919?
13 พระเจ้าทรงอวยพรเจตคติที่กลับใจของผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์ในปี 1919 และช่วยพวกเขาให้เพิ่มทวี. ก่อนอื่น ได้มีการมุ่งความสนใจไปที่การรวบรวมสมาชิกกลุ่มสุดท้ายแห่งชาติยิศราเอลของพระเจ้า และหลังจากนั้น ก็เริ่มมีการรวบรวม “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) พระพรเหล่านี้มีบอกล่วงหน้าไว้ในคำพยากรณ์ของยะซายาดังนี้: “โอ้พระยะโฮวา พระองค์ทรงเพิ่มเติมแก่ชาตินี้; พระองค์ทรงเพิ่มเติมแก่ชาตินี้; พระองค์ทรงทำให้พระองค์เองได้รับเกียรติ. พระองค์ทรงขยายเขตแดนทั้งหมดของแผ่นดินให้กว้างไกล. โอ้พระยะโฮวา ในยามทุกข์ยาก พวกเขาหันมาหาพระองค์; พวกเขาพร่ำอธิษฐานเมื่อได้รับการตีสอนจากพระองค์.”—ยะซายา 26:15, 16, ล.ม.
14 ปัจจุบัน เขตแดนของชาติยิศราเอลของพระเจ้าได้ขยายไปทั่วโลก และชนฝูงใหญ่ได้เพิ่มจำนวนจนบัดนี้มีประมาณหกล้านคนที่มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในงานประกาศข่าวดี. (มัดธาย 24:14) ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนี้จากพระยะโฮวา! และเรื่องนี้นำเกียรติยศมาสู่พระนามของพระองค์จริง ๆ! ในปัจจุบัน มีการประกาศพระนามนี้ให้ผู้คนได้ยินใน 235 ดินแดน—ความสำเร็จเป็นจริงที่เยี่ยมยอดแห่งคำสัญญาของพระองค์.
15. มีอะไรเกิดขึ้นในปี 1919 ซึ่งเปรียบเหมือนกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
15 ยูดาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อหลุดพ้นจากการเป็นเชลยของบาบูโลน. พวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยตนเอง. (ยะซายา 26:17, 18) คล้ายคลึงกัน การที่ชาติยิศราเอลของพระเจ้าเป็นอิสระในปี 1919 เป็นหลักฐานถึงการสนับสนุนของพระยะโฮวา. เรื่องนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากพระองค์. และการเปลี่ยนแปลงในสภาพการณ์ของพวกเขานั้นน่าทึ่งจนยะซายาถึงกับเปรียบเหมือนกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย: “พวกเจ้าที่ตายไปแล้วจะมีชีวิตอีก. ศพของพวกข้าพเจ้า พวกเขาจะเป็นขึ้น. จงตื่นขึ้นและเปล่งเสียงร้องด้วยความยินดี พวกเจ้าที่อยู่ในผงคลี! เพราะน้ำค้างของเจ้าจะเป็นเหมือนน้ำค้างบนต้นแมลโลว์ และแผ่นดินโลกจะปล่อยคนตายที่ทำอะไรไม่ได้เหล่านั้นออกมา.” (ยะซายา 26:19, ล.ม.; วิวรณ์ 11:7-11) ถูกแล้ว คนตายที่ทำอะไรไม่ได้เหล่านั้นจะมีสภาพราวกับว่าได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อทำกิจกรรมต่อไป!
การคุ้มครองในช่วงเวลาอันตราย
16, 17. (ก) ในปี 539 ก.ส.ศ. ชาวยิวจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อรอดชีวิตจากความล่มจมของบาบูโลน? (ข) “ห้องชั้นใน” ในปัจจุบันน่าจะได้แก่อะไร และให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร?
16 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากพระองค์เสมอ. อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าพระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์ออกเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจัดการโลกของซาตาน และผู้นมัสการพระองค์จะจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. (1 โยฮัน 5:19) เกี่ยวกับช่วงเวลาอันตรายดังกล่าว พระยะโฮวาทรงเตือนเราว่า “ไปเถิด ไพร่พลของเรา จงเข้าไปยังห้องชั้นในของเจ้า แล้วปิดประตูเสีย. จงซ่อนตัวเพียงขณะหนึ่งจนกว่าการประณามผ่านพ้นไป. เพราะ นี่แน่ะ! พระยะโฮวากำลังเสด็จออกมาจากที่สถิตของพระองค์เพื่อเรียกผู้อาศัยในแผ่นดินมาให้การเรื่องความผิดที่กระทำต่อพระองค์ และแผ่นดินจะเปิดเผยเลือดที่ไหลนองและจะไม่ปิดบังผู้ที่ถูกฆ่าอีกต่อไปเป็นแน่.” (ยะซายา 26:20, 21, ล.ม.; ซะฟันยา 1:14) คำเตือนนี้ชี้ให้ชาวยิวเห็นวิธีที่จะรอดชีวิตผ่านความล่มจมของบาบูโลนในปี 539 ก.ส.ศ. ผู้ที่เอาใจใส่ฟังคำเตือนนี้จะอยู่ภายในบ้านของตน เพื่อจะปลอดภัยจากพวกทหารที่ใช้กำลังพิชิตตามถนน.
17 ปัจจุบัน “ห้องชั้นใน” ตามคำพยากรณ์นี้ดูเหมือนจะเป็นภาพเล็งถึงประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวาซึ่งมีอยู่หลายหมื่นประชาคมทั่วโลก. ประชาคมเหล่านี้เป็นแหล่งแห่งการคุ้มครองแม้แต่ในขณะนี้ เป็นสถานที่ซึ่งคริสเตียนได้รับความปลอดภัยในหมู่พี่น้อง ภายใต้การดูแลด้วยความรักของผู้ปกครอง. (ยะซายา 32:1, 2; เฮ็บราย 10:24, 25) เป็นจริงเช่นนี้โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอวสานของระบบนี้ที่ใกล้เข้ามา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นความรอดจะขึ้นอยู่กับการเชื่อฟัง.—ซะฟันยา 2:3.
18. ในไม่ช้าพระยะโฮวาจะ “ทรงประหารมังกรที่อยู่ในท้องทะเล” อย่างไร?
18 เกี่ยวกับเวลาดังกล่าว ยะซายาพยากรณ์ว่า “ในวันนั้นพระยะโฮวาจะทรงใช้พระแสงอันคมกล้าเล่มใหญ่และแข็งแกร่งมาลงโทษลีไวยะตัน คือพญานาคที่เหาะเหิน, และลีไวยะตันคือพญานาคขด, และพระองค์จะทรงประหารมังกรที่อยู่ในท้องทะเล.” (ยะซายา 27:1) “ลีไวยะตัน” ในสมัยปัจจุบันคืออะไร? ดูเหมือนว่านี่หมายถึง “งูตัวแรกเดิมนั้น” คือซาตานเอง พร้อมกับระบบชั่วนี้ซึ่งมันใช้เพื่อทำสงครามกับชาติยิศราเอลของพระเจ้า. (วิวรณ์ 12:9, 10, 17, ล.ม.; 13:14, 16, 17) ในปี 1919 ลีไวยะตันสูญเสียอำนาจเหนือไพร่พลของพระเจ้า. ในไม่ช้า มันจะสาบสูญไปโดยสิ้นเชิง. (วิวรณ์ 19:19-21; 20:1-3, 10) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาจะ “ทรงประหารมังกรที่อยู่ในท้องทะเล.” ในระหว่างนั้น ไม่มีสิ่งใดที่ลีไวยะตันอาจพยายามเพื่อโจมตีไพร่พลของพระยะโฮวาจะสำเร็จผลอย่างถาวร. (ยะซายา 54:17) ช่างเป็นการปลอบประโลมสักเพียงไรที่สามารถมั่นใจเช่นนั้น!
“สวนองุ่นอันเป็นที่พึงพอใจ”
19. สภาพการณ์ของชนที่เหลือในปัจจุบันเป็นเช่นไร?
19 เมื่อคำนึงถึงความสว่างทั้งหมดนี้จากพระยะโฮวา เรามีเหตุผลทุกประการมิใช่หรือที่จะชื่นชมยินดี? ใช่ เป็นเช่นนั้นจริง ๆ! ยะซายาพรรณนาไว้อย่างงดงามถึงความยินดีของไพร่พลพระยะโฮวาเมื่อท่านเขียนว่า “ในวันนั้นเขาจะร้องเพลงว่า: ‘สวนองุ่นอันเป็นที่พึงพอใจ, จงร้องสรรเสริญสวนนั้นเถิด. เรา, ยะโฮวา, เป็นผู้รักษาสวนนั้น, เรารดน้ำอยู่เนืองนิจ; เราเฝ้าระวังรักษาอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน, ด้วยเกรงว่าจะมีใครมาทำอันตรายแก่สวนนั้น.’ ” (ยะซายา 27:2, 3) พระยะโฮวาทรงดูแล “สวนองุ่น” ของพระองค์ คือชนที่เหลือแห่งชาติยิศราเอลของพระเจ้า รวมทั้งสหายของพวกเขาซึ่งทำงานหนัก. (โยฮัน 15:1-8) ทั้งนี้ก่อให้เกิดผลซึ่งนำพระเกียรติมาสู่พระนามของพระองค์และก่อความยินดีใหญ่หลวงในหมู่ผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก.
20. พระยะโฮวาทรงคุ้มครองประชาคมคริสเตียนอย่างไร?
20 เราสามารถตื่นเต้นดีใจที่พระพิโรธในตอนแรกของพระยะโฮวาต่อผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์ได้ยุติลง—ซึ่งเนื่องจากพระพิโรธนี้เองที่พระองค์ทรงยอมให้พวกเขาตกเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณในปี 1918. พระยะโฮวาเองตรัสว่า “ความกริ้วเราจะไม่มีต่อไป. แต่ถ้าหากเราจะพบหนามเล็กและหนามใหญ่มาขึ้นอยู่เราก็จะทำสงครามต่อสู้มัน, เราก็จะเผาผลาญมันให้หมดสิ้น. หรือมิฉะนั้นก็ให้มันมาอ่อนน้อมยอมอยู่ใต้ความบังคับบัญชาของเรา, และทำสัญญาสงบศึกกับเรา, เออ, ทำสัญญาสงบศึกกับเรา!” (ยะซายา 27:4, 5) เพื่อให้แน่ใจว่าเถาองุ่นของพระองค์จะเกิดผลอย่างอุดมและเป็น “สวนองุ่นอันเป็นที่พึงพอใจ” ต่อ ๆ ไป พระยะโฮวาทรงบดขยี้และเผาทำลายอิทธิพลใดก็ตามที่เปรียบดุจวัชพืชซึ่งอาจทำให้พวกเขาเสื่อมเสีย. ดังนั้น ขออย่าได้มีใครคิดทำอันตรายต่อสวัสดิภาพของประชาคมคริสเตียน! ขอให้ทุกคน ‘อ่อนน้อมยอมอยู่ใต้ความบังคับบัญชาของพระยะโฮวา’ แสวงหาความโปรดปรานและการคุ้มครองจากพระองค์. ด้วยการทำอย่างนั้น เราทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้า—ซึ่งสำคัญมากถึงขนาดที่ยะซายากล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงสองครั้ง.—บทเพลงสรรเสริญ 85:1, 2, 8; โรม 5:1.
21. แผ่นดินโลกเต็มไปด้วย “ผล” อย่างไร?
21 พระพรยังมีต่อไปอีก: “ในวันนั้นตระกูลยาโคบจะหยั่งรากลงลึก, ชนชาติยิศราเอลจะผลิดอกออกใบ, และเขาทั้งหลายจะเกิดผลแผ่ไปเต็มโลก.” (ยะซายา 27:6) ข้อนี้สำเร็จเป็นจริงนับตั้งแต่ปี 1919 ซึ่งให้หลักฐานอันเยี่ยมยอดถึงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา. คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้บรรจุแผ่นดินโลกด้วย “ผล” ซึ่งก็คืออาหารที่บำรุงสุขภาพฝ่ายวิญญาณ. ในท่ามกลางโลกที่เสื่อมทราม พวกเขารักษาไว้ซึ่งมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี. และพระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเขาต่อ ๆ ไปด้วยการเพิ่มทวี. ผลคือ แกะอื่นผู้เป็นสหายของพวกเขาซึ่งมีหลายล้านคนกำลัง “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืน.” (วิวรณ์ 7:15, ล.ม.) ขอเราอย่าได้หลงลืมสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ในการรับประทาน “ผล” นั้นและแบ่งปันผลนั้นแก่ผู้อื่น!
22. พระพรอะไรบ้างมีแก่ผู้ที่รับเอาความสว่าง?
22 ในสมัยอันวิกฤตินี้ เมื่อความมืดปกคลุมแผ่นดินโลกและความมืดอันหนาทึบครอบงำประชาชาติทั้งหลาย เราขอบคุณมิใช่หรือที่พระยะโฮวาทรงฉายแสงสว่างฝ่ายวิญญาณลงบนไพร่พลของพระองค์? (ยะซายา 60:2; โรม 2:19; 13:12) สำหรับทุกคนที่ยอมรับเอา แสงสว่างดังกล่าวหมายถึงสันติสุขแห่งจิตใจและความยินดีในเวลานี้ ตลอดจนชีวิตนิรันดร์ในอนาคต. ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ดี เราผู้รักความสว่างกระตุ้นใจเราให้สรรเสริญพระยะโฮวาและกล่าวเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญว่า “พระยะโฮวาเป็นกำลังวังชาแห่งชีวิตของข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะต้องไปกลัวใคร? จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:1ข, 14.
คุณจำได้ไหม?
• มีอะไรรออยู่ในวันข้างหน้าสำหรับผู้กดขี่ไพร่พลของพระยะโฮวา?
• พระธรรมยะซายาพยากรณ์ถึงการเพิ่มทวีอะไร?
• เราควรอยู่แต่ใน “ห้องชั้นใน” อะไร และเพราะเหตุใด?
• เหตุใดสภาพการณ์ของไพร่พลพระยะโฮวาจึงนำคำสรรเสริญมาสู่พระองค์?
[กรอบหน้า 22]
หนังสือใหม่
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่พิจารณาในบทความศึกษาสองเรื่องนี้ได้เสนอในคำบรรยาย ณ การประชุมภาคปี 2000/2001. ในตอนท้ายคำบรรยาย มีการออกหนังสือใหม่ซึ่งมีชื่อว่า คำพยากรณ์ของยะซายา—แสงสว่างสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล เล่ม 1. หนังสือขนาด 416 หน้าเล่มนี้พิจารณา 40 บทแรกของพระธรรมยะซายา ข้อต่อข้อ.
[ภาพหน้า 18]
เฉพาะผู้ชอบธรรมเท่านั้นได้รับอนุญาตให้อยู่ใน “เมืองอันเข้มแข็ง” ของพระยะโฮวา คือองค์การของพระองค์
[ภาพหน้า 19]
ยะซายาแสวงหาพระยะโฮวา “ในเวลากลางคืน”
[ภาพหน้า 21]
พระยะโฮวาทรงปกป้อง “สวนองุ่น” ของพระองค์และทำให้สวนนี้เกิดผล