ไม่มีสันติสุขสำหรับผู้ส่งข่าวจอมปลอม!
“คนที่กระทำชั่วจะต้องถูกตัดขาด . . . แต่คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:9, 11.
1. เหตุใดเราคาดหมายได้เลยว่าจะพบทั้งผู้ส่งข่าวแท้และผู้ส่งข่าวจอมปลอมใน “วาระสุดท้าย”?
ผู้ส่งข่าวจอมปลอมหรือผู้ส่งข่าวแท้? มีทั้งสองแบบในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. แต่สมัยนี้ล่ะ? ที่ดานิเอล 12:9, 10 เราอ่านพบว่าผู้ส่งข่าวจากสวรรค์บอกผู้พยากรณ์ของพระเจ้าดังนี้: “เรื่องราวก็ถูกม้วนและประทับตราเก็บไว้จนถึงวาระสุดท้ายเสียแล้ว. หลายคนจะชำระกายและทำตนให้ขาวหมดจด, และถูกถลุงไล่ขี้แร่ออก; แต่คนชั่วจะคงทำชั่วเรื่อยไป; ไม่มีคนชั่วคนใดเข้าใจได้; แต่คนมีสติสัมปชัญญะ [“มีความหยั่งเห็นเข้าใจ,” ล.ม.] จะเข้าใจได้.” บัดนี้เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วง “วาระสุดท้าย” นั้น. เราเห็นความแตกต่างชัดเจนไหมระหว่าง “คนชั่ว” กับ “คนมีความหยั่งเห็นเข้าใจ”? เราเห็นได้ชัดเจนแน่นอน!
2. ยะซายา 57:20, 21 สำเร็จเป็นจริงในทุกวันนี้อย่างไร?
2 ที่บท 57 ข้อ 20 และ 21 เราอ่านถ้อยคำของยะซายาผู้ส่งข่าวของพระเจ้าว่า “‘คนชั่วทั้งหลายก็เหมือนกับทะเลบ้า, เพราะมันอยู่สงบไม่ได้, และน้ำทะเลก็เป็นคลื่นขุ่นและโสโครก. ไม่มีความสงบสุขสำหรับคนชั่ว,’ พระเจ้าของข้าพเจ้าตรัสไว้ดังนั้น.” คำเหล่านี้ช่างพรรณนาโลกที่กำลังจะล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเหมาะเจาะเสียจริง ๆ! บางคนถึงกับถามว่า ‘เราจะรอดถึงศตวรรษที่ 21 ไหม?’ ผู้ส่งข่าวซึ่งเป็นคนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจมีอะไรจะบอกเราบ้าง?
3. (ก) 1 โยฮัน 5:19 ชี้ให้เห็นความแตกต่างอะไร? (ข) วิวรณ์บท 7 พรรณนาคนที่ “มีความหยั่งเห็นเข้าใจ” อย่างไร?
3 อัครสาวกโยฮันมีความหยั่งเห็นเข้าใจด้วยการดลใจจากพระเจ้า. 1 โยฮัน 5:19 (ล.ม.) บอกว่า “เรารู้ว่าเราบังเกิดจากพระเจ้า แต่โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” ตรงกันข้ามกับโลกนี้ ชนที่เหลือซึ่งมีอายุมากแล้วแห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ 144,000 คนซึ่งยังคงอยู่กับเราหาเป็นเช่นนั้นไม่. กลุ่มที่ร่วมกับพวกเขาได้แก่ “ชนฝูงใหญ่ . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าห้าล้านคน เป็นผู้ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจเช่นกัน. “คนเหล่านี้คือผู้ที่ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” และเพราะเหตุใดพวกเขาจึงได้รับบำเหน็จเช่นนั้น? เพราะพวกเขาก็เช่นกัน “ได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” โดยแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาค่าไถ่ของพระเยซู. ฐานะผู้ส่งข่าวแห่งความสว่าง พวกเขาด้วยเช่นกันที่ได้ “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืน.”—วิวรณ์ 7:4, 9, 14, 15, ล.ม.
พวกที่เรียกกันว่าทูตสันติภาพ
4. (ก) เหตุใดพวกที่เรียกกันว่าทูตสันติภาพในโลกของซาตานถูกกำหนดว่าจะพบความล้มเหลว? (ข) เอเฟโซ 4:18, 19 เป็นจริงในทุกวันนี้อย่างไร?
4 กระนั้น จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่ถูกเรียกว่าทูตสันติภาพในระบบโลกของซาตาน? ที่ยะซายาบท 33 ข้อ 7 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านว่า “ดูเถิด ผู้แกล้วกล้าของเขาร้องทูลอยู่ภายนอก คณะทูตสันติภาพร่ำไห้อย่างขมขื่น.” นั่นช่างเป็นจริงเสียนี่กระไรกับคนเหล่านั้นที่วิ่งไปวิ่งมาจากเมืองหลวงแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งด้วยความพยายามจะนำมาซึ่งสันติภาพ! ช่างไร้ประโยชน์เสียจริง ๆ! ทำไม? ก็เพราะพวกเขารักษาความป่วยไข้ของโลกนี้ตามอาการแทนที่จะจัดการสาเหตุที่เป็นรากของปัญหา. ในประการแรกเลย พวกเขามืดบอดต่อการดำรงอยู่ของซาตาน ผู้ซึ่งอัครสาวกเปาโลพรรณนาว่าเป็น “พระเจ้าของระบบนี้.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) ซาตานได้หว่านเมล็ดแห่งความชั่วไว้ในหมู่มนุษยชาติ ซึ่งยังผลทำให้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ปกครองบ้านเมืองจำนวนมาก เป็นดังที่มีพรรณนาไว้ในเอเฟโซ 4:18, 19 (ล.ม.) ที่ว่า “เขาอยู่ในความมืดทางจิตใจและเหินห่างไปจากชีวิตซึ่งเป็นของพระเจ้า เนื่องด้วยความโง่เขลาซึ่งมีอยู่ในตัวเขา เนื่องด้วยการขาดสติไม่รู้จักเหตุผลอันมีอยู่ในหัวใจของเขาทั้งหลายนั้น. เมื่อเขามาถึงขั้นปราศจากความสำนึกด้านศีลธรรม เขาปล่อยตัวประพฤติหละหลวม กระทำกิจอันไม่สะอาดทุกอย่างด้วยความละโมบ.”
5. (ก) เหตุใดองค์การต่าง ๆ ของมนุษย์จึงล้มเหลวในบทบาทผู้สร้างสันติ? (ข) พระธรรมเพลงสรรเสริญบท 37 บอกข่าวสารอะไรที่ให้การปลอบโยน?
5 ไม่มีองค์การใดของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ที่สามารถขจัดความโลภ, ความเห็นแก่ตัว, และความเกลียดชังซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในทุกวันนี้ให้หมดไปจากหัวใจมนุษย์ได้. เฉพาะพระผู้สร้างของเรา พระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรเท่านั้นที่สามารถทำเช่นนี้! นอกจากนั้น ในท่ามกลางมนุษยชาติมีเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่มีใจถ่อมซึ่งเต็มใจจะน้อมรับการทรงนำของพระองค์. ผลบั้นปลายของคนเหล่านี้เมื่อเทียบกับของเหล่าคนชั่วแห่งโลกนี้จะเห็นความแตกต่างได้ที่บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11 ซึ่งอ่านว่า “คนที่กระทำชั่วจะต้องถูกตัดขาด; แต่ว่าเหล่าคนที่คอยท่าพระยะโฮวาอยู่ เขาจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก. เพราะว่ายังอีกหน่อยหนึ่ง, คนชั่วจะไม่มี . . . แต่คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”
6, 7. ประวัติบันทึกแห่งศาสนาของโลกเป็นเช่นไรซึ่งแสดงว่าพวกเขาล้มเหลวในการทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวสันติสุข?
6 ถ้าอย่างนั้น จะสามารถพบผู้ส่งข่าวสันติสุขท่ามกลางศาสนาต่าง ๆ ของโลกนี้ที่กำลังเสื่อมทรุดไหม? เอาละ ประวัติบันทึกของศาสนาตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเช่นไร? ประวัติศาสตร์แสดงว่า ศาสนาได้มีส่วนร่วมหรือถึงกับยุยงส่งเสริมการนองเลือดในหลายต่อหลายครั้งเสียด้วยซ้ำตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา. ตัวอย่างเช่น วารสารคริสเตียน เซนจูรี รายสัปดาห์ฉบับ 30 สิงหาคม 1995 ซึ่งรายงานเรื่องความยุ่งเหยิงในอดีตยูโกสลาเวีย รายงานดังนี้: “ในบอสเนียส่วนที่เป็นเขตยึดครองของชาวเซิร์บ บาทหลวงนั่งอยู่แถวหน้าของรัฐสภาที่ตั้งตัวเองขึ้นมา และยังอยู่ตามแนวหน้าเพื่ออวยชัยให้พรแก่หน่วยต่าง ๆ และแม้กระทั่งแก่อาวุธที่จะออกไปทำศึกสงครามเสียด้วยซ้ำ.”
7 งานมิชชันนารีของคริสต์ศาสนจักรในแอฟริกานับร้อยปีไม่ได้ก่อผลที่ดีกว่ากันเลย ดังที่เห็นตัวอย่างได้จากประเทศรวันดา ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่ามีผู้ถือศาสนาคาทอลิกถึง 80 เปอร์เซ็นต์. หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับ 7 กรกฎาคม 1995 รายงานดังนี้: “กอลยาวารสารคาทอลิกสำหรับฆราวาสซึ่งวารสารนี้ไม่ถูกควบคุมโดยวินัยทางศาสนา จัดพิมพ์ที่เมืองลีอองส์ [ฝรั่งเศส] วางแผนจะระบุรายชื่อบาทหลวงเพิ่มเติมอีก 27 คนและนางชีสี่คนซึ่งวารสารนี้กล่าวว่าเป็นผู้ที่ได้ฆ่าหรือส่งเสริมให้มีการฆ่าในประเทศรวันดาเมื่อปีกลาย.” กลุ่มเรียกร้องสิทธิชาวแอฟริกา องค์การสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ให้ความเห็นดังนี้: “ไม่เพียงแค่การนิ่งเฉยเท่านั้นที่คริสตจักรเหล่านั้นต้องรับผิดชอบ แต่ยังมีการที่พวกบาทหลวง, นักเทศน์, และนางชีของตนเข้าไปมีส่วนพัวพันด้วยในการฆ่าล้างชาติพันธุ์.” นี่นับว่าคล้ายคลึงกับสภาพการณ์ในยิศราเอลเมื่อยิระมะยาผู้ส่งข่าวแท้ของพระยะโฮวาพรรณนาถึงชาติยิศราเอลพร้อมด้วยพวกผู้ปกครอง, ปุโรหิต, และพวกผู้พยากรณ์ว่าน่า “ละอาย” และยังกล่าวอีกว่า “ที่ชายเสื้อของเจ้าจะเห็นโลหิตของคนจนที่ไร้ความผิดด้วย.”—ยิระมะยา 2:26, 34, ฉบับแปลใหม่.
8. ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่ายิระมะยาเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุข?
8 ยิระมะยามักจะถูกเรียกว่าเป็นผู้พยากรณ์แห่งการพิพากษา แต่ก็อาจเรียกท่านได้เช่นกันว่าเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า. ท่านเอ่ยถึงสันติสุขบ่อยพอ ๆ กับที่ยะซายาได้ทำในสมัยก่อนหน้านั้น. พระยะโฮวาทรงใช้ยิระมะยาให้ประกาศการพิพากษาต่อยะรูซาเลม โดยบอกว่า “กรุงนี้ได้เป็นแก่เราดุจข้อยั่วเย้าซึ่งความโกรธของเราแลความพิโรธของเราตั้งแต่คราวที่เขาทั้งหลายได้สร้างกรุงนี้ขึ้นจนถึงทุกวันนี้, เพื่อเราจะได้กวาดเมืองนั้นออกไปเสียจากที่ต่อหน้าเรา, เหตุเพราะบรรดาความชั่วแห่งลูกหลานยิศราเอล, แลลูกหลานของยะฮูดา, ที่เขาทั้งปวงได้ประพฤติเพื่อจะยุเย้าเราให้ถึงซึ่งความโกรธ, คือเขาทั้งหลาย, ทั้งกษัตริย์ทั้งปวงของเขา, ทั้งเจ้านายทั้งหลายของเขา, แลพวกปุโรหิตของเขา, แลพวกผู้ทำนายของเขา, ทั้งพวกชายแห่งยะฮูดา, และพวกชาวเมืองยะรูซาเลม.” (ยิระมะยา 32:31, 32) นี่เป็นภาพเล็งถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อพวกผู้ปกครองและพวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรทุกวันนี้. เพื่อสันติสุขแท้จะแพร่ไปทั่ว พวกคนที่ยุยงส่งเสริมความชั่วและความรุนแรงเหล่านี้ต้องถูกขจัดออกไป! พวกเขาไม่ใช่ผู้ส่งข่าวสันติสุขอย่างแน่นอน.
สหประชาชาติเป็นผู้สร้างสันติหรือ?
9. โดยวิธีใดที่สหประชาชาติได้อ้างตัวว่าเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุข?
9 สหประชาชาติไม่อาจจะเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขหรือ? ที่จริง คำปรารภของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งเสนอเมื่อเดือนมิถุนายน 1945 เพียง 41 วันก่อนระเบิดปรมาณูจะถล่มฮิโรชิมา แถลงวัตถุประสงค์ขององค์การนี้ว่า “เพื่อช่วยคนในชั่วอายุต่อ ๆ ไปให้รอดพ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม.” สมาชิกสหประชาชาติซึ่งตอนนั้นมี 50 ชาติต้อง “ผนึกกำลังกันเพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงท่ามกลางนานาชาติ.” ปัจจุบันสหประชาชาติมีสมาชิก 185 ชาติซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะทุ่มเทเพื่อส่งเสริมเป้าหมายหรือหลักการเดียวกันนี้.
10, 11. (ก) พวกผู้นำทางศาสนาได้ออกเสียงให้การสนับสนุนสหประชาชาติอย่างไร? (ข) โดยวิธีใดที่โปปได้บิดเบือน “กิตติคุณแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า”?
10 ตลอดหลายปีที่ผ่านไป สหประชาชาติได้รับการยกยออย่างออกนอกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหล่าผู้นำทางศาสนา. วันที่ 11 เมษายน 1963 โปป จอห์น ที่ 23 ลงนามสารถึงพวกบิชอปที่ชื่อ “พาเคม อิน แทร์ริส” (สันติสุขบนแผ่นดินโลก) ซึ่งโปปได้แถลงดังนี้: “เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของเราที่องค์การสหประชาชาติ—ในรูปองค์การและเปี่ยมด้วยกำลังวัตถุปัจจัย—จะแบกรับหน้าที่ในงานสำคัญและทรงเกียรติของตนให้ดียิ่งขึ้นต่อ ๆ ไป.” ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 1965 เหล่าผู้นำทางศาสนาซึ่งคาดว่าเป็นตัวแทนประชากรโลกครึ่งหนึ่ง ได้มาร่วมฉลองวันที่สหประชาชาติถือกำเนิดครบ 20 ปีในซานฟรานซิสโก. นอกจากนี้ ในการไปเยือนสหประชาชาติเมื่อปี 1965 โปป พอล ที่ 6 ได้พรรณนาองค์การนี้ว่าเป็น “ความหวังสุดท้ายแห่งความปรองดองกันและสันติภาพ.” ในปี 1986 โปปจอห์น พอล ที่ 2 ได้ร่วมมือในการส่งเสริมปีสันติภาพสากลแห่งสหประชาชาติ.
11 อีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างการเดินทางไปเยือนเมื่อเดือนตุลาคม 1995 โปปประกาศว่า “วันนี้เรากำลังร่วมกันเฉลิมฉลองกิตติคุณแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.” ทว่าโปปเป็นทูตแห่งข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าจริง ๆ ไหม? เมื่อพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ของโลก โปปกล่าวต่อไปว่า “ในเมื่อเรากำลังเผชิญการท้าทายอันใหญ่หลวงเช่นนี้ เราจะละเลยไม่ยอมรับบทบาทขององค์การสหประชาชาติอย่างไรได้?” โปปเลือกองค์การสหประชาชาติแทนที่จะเลือกราชอาณาจักรของพระเจ้า.
เหตุผลที่ “ร่ำไห้อย่างขมขื่น”
12, 13. (ก) สหประชาชาติได้ทำอย่างที่ยิระมะยา 6:14 พรรณนาไว้อย่างไร? (ข) เหตุใดผู้นำของสหประชาชาติถูกนับรวมเข้ากับคำพรรณนาที่ยะซายา 33:7?
12 การฉลองครบรอบ 50 ปีของสหประชาชาติไม่ได้เผยให้เห็นแม้แต่น้อยในเรื่องความหวังว่าจะมี “สันติสุขบนแผ่นดินโลก.” เหตุผลหนึ่งก็อย่างที่นักเขียนคนหนึ่งในหนังสือพิมพ์โตรอนโต สตาร์ แห่งแคนาดาเขียนไว้ที่ว่า “สหประชาชาติเป็นสิงห์ที่ปราศจากเขี้ยวเล็บ ซึ่งขู่คำรามเมื่อเผชิญหน้ากับความโหดร้ายทารุณของมนุษย์ แต่ต้องรอสมาชิกขององค์การใส่เขี้ยวเล็บให้จึงจะสามารถกัดหรือตะปบได้.” บ่อยครั้งที่การลงมือนั้นขาดน้ำหนักหรือสายเกินไป. ผู้ส่งข่าวสันติสุขในระบบโลกปัจจุบัน และโดยเฉพาะคนที่อยู่ในคริสต์ศาสนจักร ได้สะท้อนคำพูดที่ยิระมะยา 6:14 (ล.ม.) ซึ่งบอกว่า “พวกเขาพยายามจะรักษาภาวะเสื่อมแห่งไพร่พลของเราแต่เบาบาง กล่าวว่า ‘มีสันติภาพ! มีสันติภาพ!’ เมื่อหามีสันติภาพไม่.”
13 เหล่าเลขาธิการสหประชาชาติที่สืบตำแหน่งต่อเนื่องกันมาได้ทำงานกันอย่างหนัก และไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาทำงานด้วยความจริงใจ เพื่อจะทำให้สหประชาชาติประสบความสำเร็จ. แต่การทุ่มเถียงกันเป็นประจำระหว่างสมาชิก 185 ชาติที่ต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันในเรื่องวิธีจำกัดการทำสงคราม, นโยบายแผนงาน, และการจัดการด้านการเงิน ได้ขัดขวางความหวังที่จะประสบความสำเร็จ. ในรายงานประจำปี 1995 เลขาธิการในตอนนั้นเขียนถึง “ความหวาดกลัวฝังหัวเกี่ยวกับมหันตภัยนิวเคลียร์ในระดับโลก” ซึ่งกำลังลดน้อยลงไปว่า เป็นการเปิดทางสำหรับ “นานาชาติจะทำงานประสานกันเพื่อความรุดหน้าทางเศรษฐกิจและทางสังคมสำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น.” แต่เขากล่าวเสริมอีกว่า “น่าเสียดาย ประวัติบันทึกของเหตุการณ์ในโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังในทางดีเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง.” แท้จริง คนเหล่านี้ซึ่งต้องการจะเป็นผู้ส่งข่าวสันติสุขกำลัง “ร่ำไห้อย่างขมขื่น.”
14. (ก) ทำไมจึงอาจกล่าวได้ว่าสหประชาชาติล้มละลายทั้งทางการเงินและทางศีลธรรม? (ข) ยิระมะยา 8:15 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
14 พาดหัวข่าวหนึ่งในหนังสือพิมพ์ดิ ออเรนจ์ เคาน์ตี ริจิสเตอร์ แห่งแคลิฟอร์เนียอ่านดังนี้: “สหประชาชาติล้มละลายทั้งทางการเงินและทางศีลธรรม.” บทความนั้นรายงานว่า ระหว่างปี 1945 กับปี 1990 มีสงครามมากกว่า 80 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 30 ล้านคน. บทความนี้ได้ยกคำพูดของผู้เขียนคนหนึ่งที่ลงในหนังสือรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ฉบับเดือนตุลาคม 1995 ซึ่งเขา “อธิบายปฏิบัติการทางทหารของสหประชาชาติว่ามีลักษณะเด่นคือ ‘ผู้บังคับบัญชาไร้ประสิทธิภาพ, ทหารไม่มีวินัย, สนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับผู้รุกราน, ไม่สามารถป้องกันความทารุณโหดร้าย และในบางครั้งถึงกับมีส่วนในความสยดสยอง.’ นอกจากนั้น ‘ระดับของความสุรุ่ยสุร่าย, การฉ้อโกง, และการประพฤติมิชอบมีอยู่อย่างท่วมท้น.’” ในตอนที่มีชื่อว่า “สหประชาชาติ ณ วัย 50” หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ พาดหัวข่าวว่า “การจัดการผิดพลาดและความสุรุ่ยสุร่ายกัดกร่อนเจตนารมณ์อันสูงส่งของสหประชาชาติ.” หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขึ้นหัวเรื่องบทความหนึ่งด้วยประโยคที่ว่า “ยอบแยบเต็มทีเมื่อถึงอายุห้าสิบปี—สหประชาชาติจำต้องเข้าโปรแกรมบริหารร่างกายเพื่อมีรูปร่างดีดังเดิม.” ข้อเท็จจริงเป็นดังที่เราอ่านในยิระมะยาบท 8 ข้อ 15 (ล.ม.) ที่ว่า “มีความหวังว่า จะมีสันติภาพ แต่ไม่มีสิ่งดีอะไรเกิดขึ้น; มีความหวังว่า จะได้รับการรักษา แต่ดูเถอะ! มีแต่ความสยดสยอง!” และการคุกคามของการทำลายล้างด้วยนิวเคลียร์ยังคงข่มขวัญมนุษยชาติอยู่. เห็นได้ชัดว่า สหประชาชาติไม่ใช่ผู้ส่งข่าวสันติสุขที่มนุษยชาติต้องการ.
15. บาบูโลนโบราณและผู้สืบทอดทางศาสนาของเมืองนี้ปรากฏว่าเป็นทั้งพลังในทางทำลายและทำให้มึนซึมอย่างไร?
15 ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ผลเช่นไร? คำตรัสเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวาไม่ปล่อยให้ต้องสงสัยในเรื่องนี้. ก่อนอื่น มีอะไรที่รออยู่สำหรับศาสนาเท็จทั้งหลายในโลกนี้ซึ่งบ่อยครั้งแสดงตัวเป็นมิตรกับสหประชาชาติอย่างเต็มที่? ศาสนาเท็จเหล่านี้ล้วนแตกหน่อมาจากต้นกำเนิดเดียวกันซึ่งบูชารูปเคารพ นั่นคือบาบูโลนโบราณ. มีการบรรยายเอาไว้อย่างเหมาะเจาะถึงแหล่งนี้ที่วิวรณ์ 17:5 (ล.ม.) โดยบอกว่า “บาบูโลนใหญ่ แม่ของหญิงแพศยาทั้งหลายและของสิ่งน่าสะอิดสะเอียนทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก.” ยิระมะยาพรรณนาชะตากรรมของกลุ่มศาสนาที่หน้าซื่อใจคดเหล่านี้. ดุจดังหญิงแพศยา ศาสนาเหล่านี้ได้ล่อลวงนักการเมืองของโลก, ป้อยอสหประชาชาติและสร้างความสัมพันธ์แบบลักลอบกับอำนาจทางการเมืองที่เป็นสมาชิกขององค์การนี้. ศาสนาเท็จเป็นผู้มีส่วนสำคัญในสงครามต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์. นักวิจารณ์คนหนึ่งกล่าวโดยพาดพิงถึงสงครามศาสนาในอินเดียดังนี้: “คาร์ล มากซ์ เรียกศาสนาว่าเป็นฝิ่น [ยาเสพย์ติด] ของประชาชน. ทว่าคำพูดประโยคนี้ไม่จริงเสียทีเดียว เพราะฝิ่นเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบ กล่อมคนให้มึนซึม. เปล่าเลย ศาสนาเป็นเหมือนโคเคนบริสุทธิ์ซึ่งมีฤทธิ์ในทางกระตุ้นให้บ้าคลั่งเสียมากกว่า. ศาสนาปล่อยความรุนแรงออกมาอย่างมากและเป็นพลังที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่ง.” แต่ผู้เขียนคนนี้ก็เช่นกันยังว่าไว้ไม่ถูกทีเดียวนัก. ศาสนาเท็จมีทั้ง พลังในทางทำลายและ ทำให้มึนซึม.
16. เหตุใดประชาชนที่มีหัวใจสุจริตในปัจจุบันควรหนีออกจากบาบูโลนใหญ่? (ดูวิวรณ์ 18:4, 5 ด้วย.)
16 ถ้าอย่างนั้น คนที่มีหัวใจสุจริตควรทำอะไร? ยิระมะยาผู้ส่งข่าวของพระเจ้าให้คำตอบแก่เราดังนี้: “จงหนีจากที่ท่ามกลางเมืองบาบูโลน, แลให้รอดชีวิตของตัวทุก ๆ คน . . . เพราะเวลานี้เป็นวันกำหนดความกริ้วแห่งพระยะโฮวา.” เรามีความสุขที่หลายล้านคนได้หนีออกมาจากการคุมขังของบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. คุณเป็นคนหนึ่งในคนเหล่านี้ไหม? ถ้าเช่นนั้นคุณก็จะเข้าใจได้ถึงวิธีที่บาบูโลนใหญ่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อนานาชาติแห่งแผ่นดินโลก: “ประเทศทั้งปวงได้กินแต่ในน้ำองุ่นแห่งเมืองบาบูโลน, เหตุฉะนี้ประเทศทั้งปวงจึงคลั่งอยู่.”—ยิระมะยา 51:6, 7.
17. การสำเร็จโทษเช่นไรที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่บาบูโลนใหญ่ และจะมีการดำเนินการอะไรต่อจากนั้น?
17 อีกไม่นาน สมาชิกของสหประชาชาติที่ “คลั่งอยู่” เหล่านี้จะถูกพระยะโฮวาใช้ให้โจมตีศาสนาเท็จ ดังที่พรรณนาไว้ในวิวรณ์ 17:16 (ล.ม.) ดังนี้: “เหล่านี้จะเกลียดชังหญิงแพศยานั้นและจะทำให้นางถูกล้างผลาญและเปลือยกายและจะกินเนื้อของนางและเผานางจนสิ้นด้วยไฟ.” เหตุการณ์นี้จะเป็นเครื่องหมายบ่งชี้การเริ่มต้นความทุกข์ลำบากใหญ่ที่มีการกล่าวถึงในมัดธาย 24:21 ซึ่งจะไปถึงจุดสุดยอด ณ อาร์มาเก็ดดอน สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. เช่นเดียวกับบาบูโลนโบราณ บาบูโลนใหญ่จะถูกสำเร็จโทษตามการพิพากษาซึ่งประกาศไว้ที่ยิระมะยา 51:13, 25 ดังนี้: “โอ้เมืองซึ่งตั้งอยู่ที่น้ำมากมาย, มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์, ที่สุดปลายของเจ้าก็มาถึงแล้ว, แลโอกาสที่จะกระทำการโลภของเจ้านั้นก็จะถึงที่สุดแล้ว. นี่แน่ะ, โอ้ภูเขามักทำลาย, พระยะโฮวาได้ตรัส, เราตั้งอยู่ต่อสู้เจ้าผู้ที่ได้ทำลายแต่บรรดาแผ่นดินโลก, แลเราจะเหยียดมือของเราออกเหนือเจ้า, แลเราจะกลิ้งเจ้าลงจากภูเขาหินทั้งหลายนั้น, แลจะกระทำให้เจ้าเป็นภูเขาอันไหม้เสียแล้ว.” บรรดาชาติที่ทุจริตเสื่อมทรามและกระหายสงคราม จะตามศาสนาเท็จไปสู่ความหายนะเมื่อวันแห่งการแก้แค้นของพระยะโฮวาบังเกิดแก่พวกเขาเช่นกัน.
18. ยะซายา 48:22 ยังจะต้องได้สำเร็จเป็นจริงอีกเมื่อไรและอย่างไร?
18 หนึ่งเธซะโลนิเก 5:3 (ล.ม.) กล่าวถึงคนชั่วว่า “เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากล่าวว่า ‘สันติภาพและความปลอดภัย!’ แล้วความพินาศโดยฉับพลันก็จะมาถึงเขาทันที เหมือนความปวดร้าวมาถึงหญิงมีครรภ์; และเขาจะไม่มีทางหนีให้พ้น.” เกี่ยวด้วยคนเหล่านี้ ยะซายากล่าวว่า “ดูเถิด . . . คณะทูตสันติภาพร่ำไห้อย่างขมขื่น.” (ยะซายา 33:7, ฉบับแปลใหม่) จริงทีเดียว ดังที่เราอ่านที่ยะซายา 48:22 “พระยะโฮวาได้ตรัสว่า, ‘ไม่มีความสงบสุขสำหรับคนชั่ว.’” แต่มีอะไรรออยู่ในอนาคตสำหรับผู้ส่งข่าวสันติสุขของพระเจ้า? บทความถัดไปจะอธิบายเรื่องนี้.
คำถามเพื่อการทบทวน
▫ เหล่าผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้เปิดโปงผู้ส่งข่าวจอมปลอมด้วยคำพูดที่หนักแน่นเช่นไร?
▫ เหตุใดองค์การต่าง ๆ ของมนุษย์ล้มเหลวในความพยายามจะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน?
▫ ผู้ส่งข่าวสันติสุขแท้เมื่อเทียบกับผู้สนับสนุนองค์การสหประชาชาติแล้วเป็นอย่างไร?
▫ คนที่ถ่อมใจต้องทำอะไรเพื่อจะยินดีในสันติสุขตามคำสัญญาของพระยะโฮวา?
[รูปภาพหน้า 15]
ยะซายา, ยิระมะยา, และดานิเอลล้วนแต่บอกล่วงหน้าถึงความล้มเหลวแห่งความพยายามในการสร้างสันติภาพของผู้ที่เป็นเพียงแค่มนุษย์
[รูปภาพหน้า 16]
“โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.”—อัครสาวกโยฮัน
[รูปภาพหน้า 17]
“เขาอยู่ในความมืดทางจิตใจ.”—อัครสาวกเปาโล