เรามีเหตุผลจะโห่ร้องด้วยความยินดี
“พวกเขาจะได้รับความปลาบปลื้มและความปีติยินดี และความโศกเศร้าและการถอนใจจะจากไป.”—ยะซายา 35:10, ล.ม.
1. ในทุกวันนี้ ใครโดยเฉพาะที่มีเหตุผลจะชื่นชมยินดี?
คุณคงสังเกตเห็นแล้วว่า ไม่กี่คนในโลกทุกวันนี้มีความยินดีแท้. กระนั้น ในฐานะคริสเตียนแท้ พยานพระยะโฮวามีความชื่นชมยินดี. และโอกาสจะได้รับความชื่นชมยินดีเช่นเดียวกันนั้นมีอยู่เบื้องหน้าผู้ที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาอีกหลายล้านคน ทั้งผู้เยาว์วัยและผู้สูงอายุซึ่งสมทบกับพยานฯ. ข้อเท็จจริงที่ว่า คุณกำลังอ่านถ้อยคำเหล่านั้นในวารสารนี้อยู่แสดงว่า ความยินดีเช่นนั้นเป็นของคุณแล้วหรือไม่ก็อยู่ในอุ้งมือคุณ.
2. ความยินดีของคริสเตียนเมื่อเทียบกับสภาพโดยทั่วไปของผู้คนส่วนใหญ่แล้วเป็นอย่างไร?
2 ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ชีวิตเขาขาดอะไรไปบางอย่าง. คุณล่ะเป็นอย่างไร? จริงอยู่ บางทีคุณไม่มีเครื่องมือที่คุณอาจใช้ได้ไปหมดทุกอย่าง แน่นอน ไม่ใช่ทุกสิ่งซึ่งคนที่มั่งคั่งและมีอำนาจในทุกวันนี้มีกัน. และคุณอาจอยากจะมีสุขภาพดีกว่านี้หรือมีความกระปรี้กระเปร่ากว่านี้. ถึงกระนั้น ก็บอกได้อย่างเต็มปากว่า ในเรื่องของความชื่นชมยินดีคุณมีมากกว่าและมีสุขภาพดียิ่งกว่าผู้คนส่วนใหญ่ในหลายพันล้านคนบนแผ่นดินโลกนี้มากนัก. เป็นไปได้อย่างไร?
3. ถ้อยคำอะไรที่มีความหมายที่เราควรเอาใจใส่ และเพราะเหตุใด?
3 ขอระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “สิ่งเหล่านี้เราได้กล่าวกับเจ้าทั้งหลายเพื่อความยินดีของเราจะได้อยู่ในเจ้า และความยินดีของเจ้าจะเต็มบริบูรณ์.” (โยฮัน 15:11, ล.ม.) “ความยินดีของเจ้าจะเต็มบริบูรณ์.” คำพรรณนาที่วิเศษอะไรอย่างนั้น! การศึกษาวิถีชีวิตคริสเตียนอย่างลึกซึ้งจะเผยให้เห็นเหตุผลหลายประการที่ความยินดีของเราจะบริบูรณ์. แต่ตอนนี้ ขอสังเกตถ้อยคำอันมีความหมายของยะซายา 35:10 (ล.ม.). ถ้อยคำเหล่านี้มีความหมายเพราะเกี่ยวข้องกับพวกเราในสมัยปัจจุบันจริง ๆ. ข้อนี้อ่านว่า “คนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงไถ่ไว้จะกลับมาและมายังซีโอนด้วยโห่ร้องยินดีเป็นแน่; และจะมีความปีติยินดีถึงเวลาไม่กำหนดอยู่บนศีรษะพวกเขา. พวกเขาจะได้รับความปลาบปลื้มและความปีติยินดี และความโศกเศร้าและการถอนใจจะจากไป.”
4. มีการกล่าวถึงความยินดีชนิดใดในยะซายา 35:10 และทำไมเราควรเอาใจใส่ความยินดีชนิดนี้?
4 “ความปีติยินดีถึงเวลาไม่กำหนด.” วลี “ถึงเวลาไม่กำหนด” เป็นการแปลคำที่ยะซายาเขียนในภาษาฮีบรูอย่างถูกต้อง. แต่ดังที่ข้อพระคัมภีร์อื่นยืนยัน ความหมายที่แฝงอยู่ในข้อนี้คือ “ตลอดไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 45:6; 90:2; ยะซายา 40:28) ดังนั้น ความปีติยินดีจะไม่มีสิ้นสุด ในสภาพการณ์ซึ่งจะเอื้ออำนวย—ใช่ เป็นเรื่องชอบด้วยเหตุผลที่จะมี—ความปีติยินดีชั่วนิรันดร. ฟังดูน่าดีใจไม่ใช่หรือ? แต่บางทีข้อนี้ทำให้คุณประทับใจว่าเป็นคำอธิบายเรื่องสภาพการณ์แบบนามธรรม ทำให้คุณคิดว่า ‘ที่จริง เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉันถึงขนาดที่ปัญหาและความเป็นห่วงในแต่ละวันของฉันไปเกี่ยวข้องด้วยนี่.’ แต่ข้อเท็จจริงพิสูจน์ว่าเกี่ยว. คำสัญญาเชิงพยากรณ์ที่ยะซายา 35:10 มีความหมายต่อคุณในทุกวันนี้. เพื่อดูว่ามีความหมายอย่างไร ให้เราตรวจดูบทที่น่าอ่านนี้คือยะซายา 35 โดยสังเกตบริบทแต่ละตอน. แน่ใจเถอะว่า คุณจะชอบสิ่งที่เราจะได้พบเห็น.
ไพร่พลที่ขาดความปีติยินดี
5. คำพยากรณ์ในยะซายาบท 35 ปรากฏในฉากเหตุการณ์เชิงพยากรณ์เช่นไร?
5 เพื่อช่วยเราเข้าใจ ให้เรามาดูที่ภูมิหลัง ฉากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ของคำพยากรณ์ที่น่าสนใจยิ่งนี้. ยะซายาผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูจารึกคำพยากรณ์นี้ราว ๆ ปี 732 ก.ส.ศ. นานหลายสิบปีก่อนที่กองทัพบาบูโลนทำลายกรุงยะรูซาเลม. ดังที่ยะซายา 34:1, 2 บ่งไว้ พระเจ้าทรงบอกล่วงหน้าว่า พระองค์จะทรงแก้แค้นนานาชาติ เช่นชาติอะโดม ซึ่งมีกล่าวถึงในยะซายา 34:6. ปรากฏชัดว่าพระองค์ทรงใช้ชาวบาบูโลนให้ทำการนั้น. ทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงใช้ชาวบาบูโลนทำให้ยูดาร้างเปล่าเพราะชาวยิวไม่ซื่อสัตย์. ผลเป็นอย่างไร? ไพร่พลของพระเจ้าถูกจับเป็นเชลย และแผ่นดินของพวกเขาถูกทิ้งให้ร้างเปล่าเป็นเวลา 70 ปี.—2 โครนิกา 36:15-21.
6. มีความแตกต่างอะไรระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอะโดมและสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยิว?
6 อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างอันสำคัญระหว่างชาวอะโดมกับชาวยิว. ผลแห่งการลงโทษที่พระเจ้ามีต่อพวกเขานั้นเป็นแบบถาวร ในที่สุด พวกเขาก็เป็นชาติที่สาบสูญ. ใช่ คุณยังไปเยือนซากปรักหักพังในบริเวณที่ชาวอะโดมเคยอาศัยได้ เช่น ซากเมืองเพตราอันมีชื่อเสียงทั่วโลกที่ยังเหลืออยู่. แต่ทุกวันนี้ ไม่มีชาติหรือชนชาติใดซึ่งอาจระบุได้ว่าเป็น ‘ชาวอะโดม.’ อีกด้านหนึ่ง ความร้างเปล่าของยูดาโดยชาวบาบูโลนนั้นจะเป็นแบบถาวรไหม โดยทิ้งให้แผ่นดินนี้ไร้ความยินดีจนตลอดกาล?
7. ชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบูโลนอาจมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อยะซายาบท 35?
7 ในกรณีนี้คำพยากรณ์อันเยี่ยมยอดในยะซายาบท 35 มีความหมายที่น่าตื่นเต้น อาจเรียกได้ว่าเป็นคำพยากรณ์เรื่องการบูรณะฟื้นฟู เพราะคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อชาวยิวกลับสู่แผ่นดินเกิดในปี 537 ก.ส.ศ. ชาวยิศราเอลซึ่งเคยเป็นเชลยในบาบูโลนได้รับอิสรภาพเพื่อกลับสู่แผ่นดินเกิดของตน. (เอษรา 1:1-11) แต่กว่าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้น ชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบูโลนซึ่งครุ่นคิดถึงคำพยากรณ์ของพระเจ้าอาจข้องใจว่า พวกเขาจะพบสภาพการณ์เช่นไรเมื่อกลับไปยังยูดา บ้านเกิดเมืองนอนของตน. และพวกเขาจะอยู่ในสภาพการณ์เช่นไร? คำตอบก็เหมาะเจาะกับสาเหตุที่เรามีเหตุผลอย่างแท้จริงที่จะโห่ร้องด้วยความยินดี. ให้เรามาดูกัน.
8. ชาวยิวคงจะพบสภาพเช่นไรเมื่อกลับจากบาบูโลน? (เทียบกับยะเอศเคล 19:3-6; โฮเซอา 13:8.)
8 สภาพการณ์คงดูเหมือนไม่ค่อยดีเท่าไรสำหรับชาวยิวแม้ในคราวที่พวกเขาได้ยินว่า พวกเขาจะได้กลับสู่แผ่นดินเกิดของเขา. แผ่นดินของเขาถูกทิ้งให้ร้างเปล่าตั้งเจ็ดสิบปี ชั่วชีวิตคนทีเดียว. ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับแผ่นดินนั้น? พื้นที่เพาะปลูก, สวนองุ่น, หรือสวนผลไม้ต่าง ๆ คงกลายเป็นป่ารกไปแล้ว. เรือกสวนหรือแปลงผักที่มีระบบชลประทานคงเสื่อมโทรมกลายเป็นที่รกร้างหรือทะเลทราย. (ยะซายา 24:1, 4; 33:9; ยะเอศเคล 6:14) เช่นกัน ลองนึกภาพสัตว์ป่าต่าง ๆ ซึ่งคงจะมีเต็มไปหมด. สัตว์เหล่านั้นคงมีทั้งสัตว์กินเนื้อด้วย เช่น สิงโตและเสือดาว. (1 กษัตริย์ 13:24-28; 2 กษัตริย์ 17:25, 26; เพลงไพเราะ 4:8) และพวกเขาคงไม่อาจมองข้ามพวกหมีซึ่งสามารถทำร้ายทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง, หรือเด็กถึงตายได้. (1 ซามูเอล 17:34-37; 2 กษัตริย์ 2:24; สุภาษิต 17:12) และไม่ต้องพูดถึงพวกงูพิษหรือแมงป่อง. (เยเนซิศ 49:17; พระบัญญัติ 32:33; โยบ 20:16; บทเพลงสรรเสริญ 58:4; 140:3; ลูกา 10:19) ถ้าคุณได้อยู่กับชาวยิวที่กลับจากบาบูโลนในปี 537 ก.ส.ศ. บางทีคุณคงลังเลที่จะเดินรอบ ๆ บริเวณนั้น. ที่นั่นไม่ใช่อุทยานเมื่อพวกเขาไปถึง.
9. ด้วยเหตุผลอะไรที่เหล่าผู้เดินทางกลับมีพื้นฐานสำหรับความหวังและความมั่นใจ?
9 กระนั้น พระยะโฮวานั่นแหละที่ทรงนำเหล่าผู้นมัสการพระองค์กลับบ้าน และพระองค์ทรงสามารถจะเปลี่ยนแปลงสภาพร้างเปล่าให้เป็นตรงกันข้าม. คุณเชื่อเช่นนั้นมิใช่หรือเกี่ยวกับพระผู้สร้าง? (โยบ 42:2; ยิระมะยา 32:17, 21, 27, 37, 41) ถ้าเช่นนั้น พระองค์จะทำอะไร—พระองค์ได้ทำเช่นไร—เพื่อชาวยิวที่กลับมาและสำหรับแผ่นดินของพวกเขา? เรื่องนี้ส่งผลกระทบเช่นไรต่อไพร่พลของพระเจ้าในสมัยนี้และต่อสภาพการณ์ของคุณ—ทั้งในปัจจุบันและอนาคต? ก่อนอื่น ให้เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสมัยโน้น.
ปีติยินดีต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป
10. ยะซายา 35:1, 2 พยากรณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นไร?
10 จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไซรัสอนุญาตให้ชาวยิวกลับสู่แผ่นดินที่ดูเหมือนสิ้นหวังนั้น? จงอ่านคำพยากรณ์อันน่าตื่นใจที่ยะซายา 35:1, 2 (ล.ม.) ว่า “ถิ่นทุรกันดารและที่แห้งแล้งจะปีติยินดี และป่าทรายจะเปรมปรีดิ์และมีดอกดกดุจหญ้าฝรั่น. ถิ่นนี้จะผลิดอกแน่นอน และถิ่นนี้จะชื่นชมยินดีจริง ๆ ด้วยความเบิกบานและด้วยโห่ร้องดีใจ. สง่าราศีแห่งเลบานอน ความงดงามของคาร์เมลและชาโรน จะต้องยกให้ถิ่นนี้. จะมีคนเหล่านั้นที่เห็นสง่าราศีของพระยะโฮวา ความรุ่งโรจน์งดงามแห่งพระเจ้าของเรา.”
11. ยะซายาอาศัยพื้นความรู้อะไรเกี่ยวกับแผ่นดินนั้น?
11 ในสมัยที่บันทึกคัมภีร์ไบเบิล ภูเขาละบาโนน, คาร์เมล, และทุ่งชาโรนขึ้นชื่อในด้านความงดงามของพืชที่เขียวขจี. (1 โครนิกา 5:16; 27:19; 2 โครนิกา 26:10; เพลงไพเราะ 2:1; 4:15; โฮเซอา 14:5-7) ยะซายาใช้ตัวอย่างเหล่านั้นมาพรรณนาว่า แผ่นดินที่เปลี่ยนแปลงด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้านั้นจะเป็นเช่นไร. แต่การนี้ส่งผลกระทบเพียงพื้นดินเท่านั้นหรือ? ไม่อย่างแน่นอน!
12. ทำไมเราจึงกล่าวได้ว่า คำพยากรณ์ในยะซายา 35 มุ่งที่ตัวผู้คน?
12 ยะซายา 35:2 กล่าวถึงแผ่นดินที่ ‘จะชื่นชมยินดีด้วยความเบิกบานและด้วยโห่ร้องดีใจ.’ เราทราบว่าพื้นดินและพืชพันธุ์จะไม่ ‘ชื่นชมยินดีด้วยความเบิกบานและด้วยโห่ร้องดีใจ’ จริง ๆ. กระนั้น การที่มันเปลี่ยนแปลงไปมีความอุดมสมบูรณ์และการบังเกิดผลอาจทำให้ผู้คนรู้สึกอย่างนั้นได้. (เลวีติโก 23:37-40; พระบัญญัติ 16:15; บทเพลงสรรเสริญ 126:5, 6; ยะซายา 16:10; ยิระมะยา 25:30; 48:33) การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในส่วนของแผ่นดินเองคงจะประสานกับการเปลี่ยนแปลงในผู้คน เพราะคำพยากรณ์นี้มุ่งที่ตัวผู้คน. ฉะนั้น เราจึงมีเหตุผลจะเข้าใจว่า ถ้อยคำของยะซายามุ่งที่การเปลี่ยนแปลงในชาวยิวซึ่งกลับมาเป็นประการแรก โดยเฉพาะความชื่นชมยินดีของพวกเขา.
13, 14. ยะซายา 35:3, 4 พยากรณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวผู้คน?
13 ดังนั้น ให้เราตรวจดูเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ที่น่าเร้าใจนี้เพื่อดูว่า มีความสำเร็จเป็นจริงอย่างไรหลังจากชาวยิวได้รับเสรีภาพและกลับจากบาบูโลน. ในข้อ 3 และ 4 (ล.ม.) ยะซายากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในผู้ที่กลับมาเหล่านั้นดังนี้: “เจ้าทั้งหลาย จงเสริมกำลังมือที่อ่อนแอ และทำหัวเข่าที่สั่นให้มั่นคง. จงกล่าวแก่คนเหล่านั้นที่มีหัวใจกังวลดังนี้: ‘จงเข้มแข็ง. อย่ากลัวเลย. นี่แน่ะ! พระเจ้าของเจ้าทั้งหลายเองจะเสด็จมาด้วยการแก้แค้น พระเจ้าพร้อมด้วยการตอบแทนด้วยซ้ำ. พระองค์เองจะเสด็จมาและช่วยเจ้าทั้งหลายให้รอด.’”
14 เป็นการเสริมกำลังเราให้เข้มแข็งขึ้นมิใช่หรือที่จะคิดว่า พระเจ้าของเรา ผู้ทรงสามารถพลิกสภาพร้างเปล่าของแผ่นดินให้กลับคืน ทรงสนพระทัยในเหล่าผู้นมัสการพระองค์มากถึงขนาดนั้น? พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้ชาวยิวที่เป็นเชลยรู้สึกอ่อนแอ, ท้อแท้, หรือกังวลในเรื่องอนาคต. (เฮ็บราย 12:12) ขอคิดถึงสภาพการณ์ของเชลยชาวยิวเหล่านั้น. นอกจากความหวังที่พวกเขาอาจได้จากคำพยากรณ์ของพระเจ้าในเรื่องอนาคตของพวกเขาแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะมองในแง่ดี. ดูราวกับพวกเขาอยู่ในคุกมืดใต้ดิน ไม่มีอิสระจะไปไหนมาไหนและทำการรับใช้พระยะโฮวา. สำหรับพวกเขาแล้ว สภาพเช่นนั้นดูราวกับไม่มีความหวังอันสดใสใด ๆ เลย.—เทียบกับพระบัญญัติ 28:29; ยะซายา 59:10.
15, 16. (ก) เราอาจลงความเห็นว่า พระยะโฮวาจะทรงทำอะไรเพื่อผู้ที่กลับมา? (ข) เพราะเหตุใดเหล่าผู้ที่กลับมาจะไม่คาดหมายการรักษาทางกายอย่างอัศจรรย์ แต่พระเจ้าได้ทรงทำเช่นไรซึ่งประสานกับยะซายา 35:5, 6?
15 แต่สภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไปจริง ๆ เมื่อพระยะโฮวาทรงใช้ไซรัสปลดปล่อยพวกเขาให้กลับบ้าน! ไม่มีหลักฐานใด ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า โดยการอัศจรรย์พระเจ้าทรงรักษาชาวยิวผู้กลับมาซึ่งตาบอด, ทำให้หูของคนหูหนวกได้ยิน, หรือรักษาคนพิการหรือคนง่อย. แต่พระองค์ทรงทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากนัก. พระองค์ทรงนำพวกเขากลับสู่ความสว่างและเสรีภาพแห่งแผ่นดินที่พวกเขารัก.
16 ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผู้กลับมาเหล่านั้นคาดหมายให้พระยะโฮวาทรงทำการรักษาทางกายอันอัศจรรย์เช่นนั้น. พวกเขาคงต้องตระหนักว่า พระเจ้าไม่ได้ทำเช่นนั้นกับยิศฮาค, ซิมโซน, หรือเอลี. (เยเนซิศ 27:1; วินิจฉัย 16:21, 26-30; 1 ซามูเอล 3:2-8; 4:15) แต่ถ้าพวกเขาคาดหมายให้พระเจ้าเปลี่ยนสภาพการณ์ของตนเป็นตรงกันข้ามอย่างที่เป็นไปโดยนัยละก็ พวกเขาคงไม่ผิดหวัง. ตามความหมายเป็นนัย ข้อ 5และ 6 (ล.ม.) ได้สำเร็จจริงแน่นอน. ยะซายาพยากรณ์ไว้อย่างถูกต้องแม่นยำดังนี้: “ในเวลานั้นตาของคนตาบอดจะถูกเปิด และหูของคนหูหนวกจะได้ยิน. ในเวลานั้นคนง่อยจะปีนขึ้นเหมือนกวางตัวผู้ และลิ้นของคนใบ้จะร้องด้วยความปีติ.”
การทำให้แผ่นดินเป็นเหมือนอุทยาน
17. ปรากฏชัดว่า พระยะโฮวาได้ทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรด้านกายภาพ?
17 คนเหล่านั้นซึ่งกลับไปย่อมมีเหตุผลอย่างแน่นอนที่จะโห่ร้องด้วยความปีติต่อสภาพการณ์ดังที่ยะซายาได้พรรณนาถึงต่อไป: “เพราะน้ำจะได้พุพลุ่งขึ้นแล้วในป่ากันดาร และมีน้ำไหลเชี่ยวในที่ราบทะเลทราย. และพื้นดินแตกระแหงด้วยความร้อนจะกลายเป็นหนองน้ำเต็มไปด้วยพงอ้อ และพื้นดินกระหายน้ำจะเป็นน้ำพุ. ในที่อยู่ของหมาใน ในที่นอนของมัน จะมีหญ้าเขียวสดกับพงอ้อและต้นพาไพรัส.” (ยะซายา 35:6ข, 7, ล.ม.) แม้เราจะไม่เห็นสภาพนั้นทั่วภูมิภาคนี้ทั้งหมดในปัจจุบัน หลักฐานก็แสดงว่า บริเวณซึ่งเคยเป็นยูดานั้นครั้งหนึ่งเคยเป็น “อุทยานปศุสัตว์.”a
18. ชาวยิวที่กลับมาคงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อพระพรจากพระเจ้า?
18 เกี่ยวกับสาเหตุแห่งความยินดี คิดดูสิว่าชาวยิวที่เหลืออยู่คงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อได้กลับคืนสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญาอีกครั้ง! พวกเขาอยู่ในฐานะจะรับเอาแผ่นดินร้างเปล่าที่พวกหมาในและสัตว์อื่นมาอาศัย และเปลี่ยนแปลงแผ่นดินนั้น. คุณคงจะยินดีมิใช่หรือในการทำงานฟื้นฟูเช่นนั้น โดยเฉพาะถ้าคุณทราบว่าพระเจ้าอวยพระพรความพยายามของคุณ?
19. การกลับจากการเป็นเชลยในบาบูโลนนั้นเป็นแบบมีเงื่อนไขในแง่ไหน?
19 แต่ไม่ใช่เชลยชาวยิวคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนในบาบูโลนสามารถกลับหรือได้กลับไปเพื่อร่วมในการเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นชมยินดีนั้น. พระเจ้าทรงตั้งเงื่อนไขไว้. คนที่แปดเปื้อนด้วยกิจปฏิบัติทางศาสนานอกรีตแบบบาบูโลนไม่มีสิทธิจะกลับไป. (ดานิเอล 5:1, 4, 22, 23; ยะซายา 52:11) และคนใด ๆ ที่ทำตามแนวทางไม่ฉลาดด้วยความโฉดเขลา. คนเช่นนั้นทุกคนไม่มีคุณสมบัติ. อีกฝ่ายหนึ่ง คนที่บรรลุมาตรฐานของพระเจ้า คนที่พระองค์ทรงถือว่าบริสุทธิ์ในระดับหนึ่ง สามารถกลับสู่ยูดาได้. พวกเขาสามารถเดินทางราวกับไปตามทางบริสุทธิ์. ยะซายาบอกถึงเรื่องนั้นชัดเจนในข้อ 8 (ล.ม.) ที่ว่า “จะมีทางหลวงอยู่ที่นั่นแน่ แม้แต่ทาง; และทางนั้นจะเรียกว่าทางบริสุทธิ์. คนไม่สะอาดจะไม่ผ่านทางนั้น. และจะเป็นทางสำหรับคนที่เดินในทางนั้น และจะไม่มีคนโง่เขลาเดินไปมาบนทางนั้น.”
20. ชาวยิวไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรเมื่อพวกเขาเดินทางกลับ ซึ่งยังผลประการใด?
20 ชาวยิวที่กลับไปไม่จำเป็นต้องกลัวการโจมตีจากคนที่เป็นเยี่ยงสัตว์หรือโจรปล้นสะดม. ทำไม? ก็เพราะพระยะโฮวาจะไม่ทรงปล่อยให้คนเช่นนั้นอยู่บนเส้นทางเดียวกับไพร่พลที่พระองค์ทรงซื้อกลับคืน. ดังนั้น พวกเขาจึงสามารถเดินทางด้วยหัวใจชื่นชมยินดีและมีความคาดหวังในเรื่องความสุข. ขอพิจารณาว่ายะซายาพรรณนาถึงเรื่องนั้นในตอนจบคำพยากรณ์ของท่านอย่างไร: “จะไม่มีสิงโตอยู่ที่นั่น และจะไม่มีสัตว์ป่าดุร้ายมาบนทางนั้น. จะไม่มีเลย; และคนที่ถูกไถ่แล้วต้องเดินที่นั่น. และคนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงไถ่ไว้จะกลับมาและมายังซีโอนด้วยโห่ร้องยินดีเป็นแน่; และจะมีความปีติยินดีถึงเวลาไม่กำหนดอยู่บนศีรษะพวกเขา. พวกเขาจะได้รับความปลาบปลื้มและความปีติยินดี และความโศกเศร้าและการถอนใจจะจากไป.”—ยะซายา 35:9, 10, ล.ม.
21. พวกเราในทุกวันนี้ควรมองดูความสำเร็จเป็นจริงของยะซายาบท 35 ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วนั้นอย่างไร?
21 ช่างเป็นภาพเชิงพยากรณ์อะไรเช่นนั้นที่เราเห็นในที่นี้! แต่เราไม่ควรมองดูคำพยากรณ์นี้ว่าเป็นแค่เรื่องในประวัติศาสตร์โบราณ ราวกับว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าอ่านซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสภาพการณ์หรืออนาคตของเรา. ข้อเท็จจริงคือว่า คำพยากรณ์นี้มีความสำเร็จเป็นจริงอันน่าทึ่งในปัจจุบันท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า ดังนั้น คำพยากรณ์นี้จึงเกี่ยวข้องกับพวกเราแต่ละคนจริง ๆ. คำพยากรณ์นี้ทำให้เราแต่ละคนมีเหตุผลอันดีที่จะโห่ร้องด้วยความยินดี. ลักษณะเหล่านั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณในขณะนี้และในอนาคตจะพิจารณาในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a จากการค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ พืชกรชื่อ วอลเตอร์ ซี. เลาเดอร์มิลก์ (ตัวแทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ลงความเห็นดังนี้: “ดินแดนนี้เคยเป็นอุทยานปศุสัตว์.” อนึ่ง เขาบ่งชี้ว่า สภาพอากาศที่นั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก “ตั้งแต่สมัยโรมัน” และ “‘ทะเลทราย’ ซึ่งมาแทนแผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้นเป็นฝีมือมนุษย์ ไม่ใช่ธรรมชาติ.”
คุณจำได้ไหม?
▫ ยะซายาบท 35 สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อไร?
▫ ความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกของคำพยากรณ์นี้ก่อผลกระทบเช่นไร?
▫ พระยะโฮวาทรงทำให้ยะซายา 35:5, 6 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
▫ ชาวยิวที่กลับไปประสบการเปลี่ยนแปลงเช่นไรในแผ่นดินนั้นและในสภาพการณ์ของตน?
[รูปภาพหน้า 9
ซากปรักหักพังของเพตรา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลักของชาวอะโดม
[ที่มาของภาพหน้า 9]
Garo Nalbandian
[รูปภาพหน้า 10]
ขณะที่ชาวยิวถูกเนรเทศ แผ่นดินยูดาส่วนมากกลายเป็นเหมือนป่ารกมีสัตว์ดุร้ายอย่างพวกหมีและสิงโตเข้ามาอาศัยอยู่เต็มไปหมด
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Garo Nalbandian
Bear and Lion: Safari-Zoo of Ramat-Gan, Tel Aviv