“พระองค์ให้พลังกับคนที่เหน็ดเหนื่อย”
ข้อคัมภีร์ประจำปี 2018 “คนที่วางใจพระยะโฮวาจะกลับมีเรี่ยวแรงอีก”—อิสยาห์ 40:31
1. เราต้องอดทนกับปัญหาอะไรบ้าง และทำไมพระยะโฮวาภูมิใจในผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์? (ดูภาพแรก)
การใช้ชีวิตในสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น พี่น้องที่รักของเราหลายคนกำลังทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยร้ายแรง ส่วนคนอื่นขนาดแก่อยู่แล้วก็ต้องมาดูแลญาติพี่น้องที่แก่อีก และยังมีอีกหลายคนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัว และเรารู้ว่าพวกคุณหลายคนกำลังรับมือกับปัญหาพวกนี้ซึ่งไม่ได้มาแค่ทีละอย่าง แต่มันประเดประดังเข้ามาในคราวเดียว การรับมือกับปัญหาต้องใช้เวลา พลังงาน และเงินทองมากมาย แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น คุณก็ยังมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณแน่ คุณรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้นเพราะนั่นคือสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้ พระองค์ต้องภูมิใจที่คุณมีความเชื่อมากขนาดนี้แน่ ๆ
2. อิสยาห์ 40:29 ให้กำลังใจเราอย่างไร แต่เราอาจทำผิดพลาดอะไร?
2 บางครั้งคุณเคยรู้สึกไหมว่าปัญหาที่คุณเจออยู่มันหนักมากจนจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว? ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ คุณก็ไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าบางคนในอดีตก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน (1 พงศ์กษัตริย์ 19:4; โยบ 7:7) แต่อะไรช่วยให้พวกเขายังอดทนต่อไปได้? พวกเขาวางใจว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังพวกเขานั่นเอง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้า “ให้กำลังกับคนที่หมดเรี่ยวแรง” (อิสยาห์ 40:29) แต่น่าเสียใจจริง ๆ ที่ผู้รับใช้พระเจ้าบางคนในทุกวันนี้คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะอดทนกับปัญหาในชีวิตได้ก็คือการเลิกรับใช้พระยะโฮวาสักพักหนึ่ง พวกเขารู้สึกว่าการรับใช้พระยะโฮวาเป็นภาระแทนที่จะรู้สึกว่าเป็นพรจากพระองค์ พวกเขาก็เลยเลิกอ่านคัมภีร์ไบเบิล เลิกไปประชุม และเลิกไปประกาศ นี่แหละคือสิ่งที่ซาตานอยากให้พวกเขาทำ
3. (ก) เราจะป้องกันไม่ให้ซาตานทำให้เรามีความเชื่อน้อยลงได้อย่างไร? (ข) เราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้?
3 มารซาตานไม่อยากให้เราเข้มแข็ง และมันรู้ว่าเราจะเข้มแข็งขึ้นถ้าเราทุ่มเทให้กับการรับใช้พระยะโฮวา ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกหมดแรงหรือท้อ อย่าเพิ่งทิ้งพระยะโฮวา ขอให้คุณพยายามสนิทกับพระองค์ให้มากขึ้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระองค์จะทำให้พวกคุณมั่นคง พระองค์จะทำให้พวกคุณเข้มแข็ง” (1 เปโตร 5:10; ยากอบ 4:8) ในบทความนี้ เราจะเรียนจากอิสยาห์ 40:26-31 ว่าพระยะโฮวาจะช่วยให้เราเข้มแข็งมากขึ้นได้อย่างไร จากนั้น เราจะคุยกันเกี่ยวกับ 2 อย่างที่อาจทำให้เรารับใช้พระยะโฮวาน้อยลง และเราจะเรียนรู้วิธีเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เพื่อช่วยให้รับมือได้
คนที่วางใจพระยะโฮวาจะกลับมีเรี่ยวแรงอีก
4. เราได้เรียนอะไรจากอิสยาห์ 40:26?
4 อ่านอิสยาห์ 40:26 ไม่มีใครสามารถนับดาวทั้งหมดในเอกภพได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีดาวถึง 4 แสนล้านดวงในกาแล็กซีของเราแค่กาแล็กซีเดียว แม้จะมีดาวมากมายมหาศาลขนาดนั้น แต่พระยะโฮวาก็ตั้งชื่อให้ดาวทุกดวง เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์? ขนาดดวงดาวที่ไม่มีชีวิตพระองค์ยังสนใจดาวแต่ละดวงมากขนาดนี้ แล้วคุณล่ะ พระองค์จะสนใจขนาดไหน! คุณรับใช้พระองค์ไม่ใช่เพราะจำเป็นต้องทำ แต่เป็นเพราะคุณรักพระองค์ (สดุดี 19:1, 3, 14) พระเจ้าผู้เป็นพ่อที่รักคุณรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “แม้แต่ผมบนหัวของคุณ พระองค์ก็นับไว้แล้วทุกเส้น” (มัทธิว 10:30) พระยะโฮวาอยากให้คุณรู้ว่าพระองค์ “รู้ดีว่าคนไม่มีตำหนิต้องเจอกับอะไรบ้าง” (สดุดี 37:18) เห็นได้ชัดเลยว่าพระยะโฮวารู้ดีว่าคุณกำลังเจอปัญหาอะไรบ้าง และพระองค์จะให้กำลังกับคุณเพื่อคุณจะอดทนกับปัญหาแต่ละอย่างได้
5. เรามั่นใจได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาสามารถให้กำลังกับเราได้?
5 อ่านอิสยาห์ 40:28 พระยะโฮวาเป็นแหล่งของพลังงานทั้งหมด ลองคิดถึงพลังงานที่พระองค์ให้ดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อเดวิด โบดานิสบอกว่า ในแต่ละวินาที ดวงอาทิตย์ผลิตพลังงานได้มากพอ ๆ กับการระเบิดของระเบิดปรมาณูหลายพันล้านครั้ง นักวิจัยอีกคนหนึ่งคำนวณว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ผลิตได้ในเวลาเพียง 1 วินาทีช่วยให้คนทั่วโลกมีพลังงานเพียงพอสำหรับ 200,000 ปี! ดังนั้น เรามั่นใจได้เลยว่า พระยะโฮวาผู้ให้พลังงานกับดวงอาทิตย์สามารถให้กำลังกับเราตอนที่ต้องอดทนกับปัญหาต่าง ๆ ได้แน่นอน
6. แอกของพระเยซูแบกง่ายอย่างไร? และการรู้เรื่องนี้น่าจะมีผลกับเราอย่างไร?
6 อ่านอิสยาห์ 40:29 การรับใช้พระยะโฮวาทำให้เรามีความสุขมาก พระเยซูบอกกับสาวกว่า “มารับแอกของผมแบกไว้” แล้วท่านก็บอกว่า “คุณจะสดชื่น . . . แอกของผมแบกง่ายและภาระของผมก็เบา” (มัทธิว 11:28-30) นี่เป็นเรื่องจริง หลายครั้งเรารู้สึกเหนื่อยก่อนที่จะออกจากบ้านไปประชุมหรือไปประกาศ แต่พอประชุมหรือประกาศเสร็จเรารู้สึกอย่างไร? เรารู้สึกสดชื่นและพร้อมมากขึ้นที่จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ แอกของพระเยซูแบกง่ายจริง ๆ
7. ขอเล่าประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามัทธิว 11:28-30 เป็นจริง?
7 ลองดูประสบการณ์ของพี่น้องหญิงคนหนึ่ง เธอทนทุกข์ทรมานจากอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง โรคซึมเศร้า และปวดหัวไมเกรน บางครั้งจึงเป็นเรื่องยากมากที่เธอจะไปประชุม แต่วันหนึ่งหลังจากที่เธอได้พยายามเข้าร่วมการประชุม เธอเขียนว่า “คำบรรยายวันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความท้อใจ มันเป็นคำบรรยายที่ดีมาก พี่น้องบรรยายอย่างเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของคนที่ท้อใจจนทำให้ฉันถึงกับร้องไห้ออกมา ฉันรู้เลยว่าการประชุมนี่แหละคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับฉัน” เธอรู้สึกดีใจมากที่พยายามไปประชุมวันนั้น
8, 9. ตอนที่เปาโลพูดว่า “เมื่อไรที่ผมอ่อนแอ ผมกลับยิ่งเข้มแข็งขึ้น” เขาหมายถึงอะไร?
8 อ่านอิสยาห์ 40:30 แม้เราจะมีความสามารถหลายอย่าง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำทุกอย่างได้ด้วยกำลังของเราเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ เหมือนกับตัวอย่างของเปาโล เขาทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เขาก็ไม่สามารถทำทุกอย่างที่อยากทำ ตอนที่เขาบอกพระยะโฮวาว่ารู้สึกอย่างไร พระองค์บอกเขาว่า “เมื่อเจ้าอ่อนแอ พลังอำนาจของเราก็แสดงได้อย่างเต็มที่” เปาโลเข้าใจที่พระยะโฮวาบอก เขาจึงพูดว่า “เมื่อไรที่ผมอ่อนแอ ผมกลับยิ่งเข้มแข็งขึ้น” (2 โครินธ์ 12:7-10) เปาโลหมายถึงอะไร?
9 เปาโลรู้ดีว่า เขาไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยกำลังของตัวเอง เขาต้องการความช่วยเหลือจากคนที่มีพลังอำนาจมากกว่าเขาเยอะมาก พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าสามารถให้กำลังกับเปาโลตอนที่เขารู้สึกอ่อนแอ ไม่ใช่แค่นั้น พลังนี้สามารถทำให้เปาโลมีกำลังที่จะทำสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เราก็เป็นแบบนั้นได้ เมื่อพระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับเรา เราจะเข้มแข็งแน่นอน
10. พระยะโฮวาช่วยดาวิดให้อดทนกับปัญหาอย่างไร?
10 ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีเจอด้วยตัวเองบ่อย ๆ ว่าพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำให้เขาเข้มแข็งได้ ดาวิดร้องเพลงว่า “เพราะพระองค์ช่วย ผมถึงจัดการกองโจรได้ และเพราะพระเจ้าให้พลัง ผมถึงกระโดดข้ามกำแพงได้” (สดุดี 18:29) เหมือนกำแพงที่สูงมาก ๆ ที่เราไม่สามารถปีนข้ามได้เอง บางครั้งปัญหาที่เราเจอก็ใหญ่มากจนเราไม่สามารถจะแก้ได้ด้วยตัวเอง เราต้องให้พระยะโฮวาช่วย
11. พลังบริสุทธิ์ช่วยเราให้อดทนกับปัญหาได้อย่างไร?
11 อ่านอิสยาห์ 40:31 เวลานกอินทรีบินอยู่บนท้องฟ้ามันไม่ได้อาศัยแค่กำลังของมันอย่างเดียว แต่อาศัยแรงจากกระแสลมอุ่นที่พัดขึ้นซึ่งช่วยให้มันลอยอยู่บนฟ้าได้ นี่ทำให้นกอินทรีสามารถบินได้ไกลมากและยังประหยัดแรงด้วย ตอนที่คุณเจอปัญหาที่ดูเหมือนจะรับมือไม่ไหว ขอให้คิดถึงนกอินทรี คุณต้องขอพระยะโฮวาให้กำลังกับคุณโดยทาง ‘ผู้ช่วยคือพลังบริสุทธิ์’ (ยอห์น 14:26) เราสามารถขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และตอนที่เราอยากขอให้พระยะโฮวาช่วยมากที่สุดอาจเป็นตอนที่เรามีปัญหากับพี่น้องในประชาคม แต่ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นได้?
12, 13. (ก) ทำไมคริสเตียนถึงมีปัญหากันในบางครั้ง? (ข) เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับโยเซฟสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
12 เราอาจมีปัญหากันได้เพราะเราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ บางครั้งเราอาจรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำ และเราก็อาจทำให้คนอื่นหงุดหงิดด้วย นี่อาจเป็นการทดสอบที่ยากสำหรับเรา แต่มันเป็นโอกาสที่เราจะแสดงว่าเราภักดีต่อพระยะโฮวา ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ง่ายแต่เราควรพยายามเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับพี่น้องอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พระยะโฮวารักพวกเขาแม้พวกเขาจะไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ต้องทำเหมือนกันด้วย
13 พระยะโฮวาไม่ได้ปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ให้เจอการทดสอบ เราเรียนรู้เรื่องนี้ได้จากโยเซฟ ตอนที่โยเซฟยังเป็นหนุ่ม พวกพี่ชายอิจฉาเขาจนขายเขาไปเป็นทาสที่อียิปต์ (ปฐมกาล 37:28) พระยะโฮวารู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโยเซฟเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์และรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นเขาต้องเจอกับเรื่องเลวร้ายแบบนี้ แต่พระองค์ไม่ได้หยุดสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อมา โยเซฟถูกกล่าวหาว่าพยายามข่มขืนภรรยาของโปทิฟาร์และถูกจับเข้าคุก พระยะโฮวาก็ยังไม่ช่วยเขา พระองค์ทิ้งเขาไปเลยไหม? ไม่ใช่ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระยะโฮวาอยู่กับโยเซฟ และพระยะโฮวาช่วยให้ทุกสิ่งที่เขาทำประสบผลสำเร็จ”—ปฐมกาล 39:21-23
14. ถ้าเราทำตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อย่าโกรธ” เราจะได้ประโยชน์อะไร?
14 อีกตัวอย่างหนึ่งคือดาวิด คนส่วนใหญ่คงไม่เคยเจออะไรเลวร้ายเท่าดาวิด แต่เพื่อนของพระเจ้าคนนี้ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเจ็บแค้น เขาเขียนว่า “อย่าโกรธและอย่าโมโห อย่าหงุดหงิดแล้วไปทำชั่ว” (สดุดี 37:8) เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราจะหายโกรธคนอื่นก็คือ เราอยากเลียนแบบพระยะโฮวา พระองค์ “ไม่ลงโทษพวกเราให้สมกับบาปของพวกเรา” แต่ให้อภัยเรา (สดุดี 103:10) นอกจากนั้น การไม่เก็บความโกรธยังให้ประโยชน์อีกหลายอย่างด้วย ตัวอย่างเช่น ความโกรธอาจทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและปัญหาทางเดินหายใจ ทำลายตับกับตับอ่อน และยังทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา นอกจากนั้น ตอนที่เราโกรธ เราจะคิดอะไรไม่ค่อยรอบคอบ เราอาจพูดหรือทำสิ่งที่ทำให้คนอื่นเจ็บ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกแย่ไปอีกนาน ดังนั้นการสงบสติอารมณ์ไว้จึงดีกว่าเยอะ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ใจที่สงบทำให้สุขภาพดี” (สุภาษิต 14:30) แล้วถ้าพี่น้องทำให้เราเจ็บล่ะ เราควรทำอย่างไรและเราจะสร้างสันติสุขกับเขาได้อย่างไร? เราสามารถใช้คำแนะนำที่ฉลาดของคัมภีร์ไบเบิลได้
เมื่อพี่น้องทำให้เราผิดหวัง
15, 16. ถ้ามีใครทำให้เราเจ็บ เราควรทำอย่างไร?
15 อ่านเอเฟซัส 4:26 เราไม่แปลกใจถ้าคนอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาทำไม่ดีกับเรา แต่พอพี่น้องคริสเตียนหรือคนในครอบครัวพูดหรือทำอะไรให้เราเจ็บ เราอาจรู้สึกแย่มาก ๆ แล้วถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เรามองข้ามไม่ได้ล่ะ? เราจะเจ็บแค้นเป็นปี ๆ ไหม? หรือเราจะทำตามคำแนะนำที่ฉลาดของคัมภีร์ไบเบิลโดยรีบเคลียร์กับคนนั้นให้เรียบร้อยไหม? ยิ่งเราชักช้าไม่ยอมปรับความเข้าใจกับอีกฝ่าย มันก็ยิ่งยากขึ้นที่เราจะสร้างสันติสุข
16 ถ้ามีพี่น้องคนหนึ่งทำให้คุณเจ็บและคุณก็เลิกคิดเรื่องนั้นไม่ได้ คุณจะทำอะไรเพื่อสร้างสันติสุขกับเขา? อย่างแรกคุณต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ขอพระองค์ช่วยให้คุณกับเขาคุยกันดี ๆ จำไว้ว่าพี่น้องคนนั้นก็เป็นเพื่อนของพระยะโฮวา (สดุดี 25:14) พระองค์รักเขาและดีกับเขา และพระองค์ก็อยากให้เราทำแบบนั้นด้วย (สุภาษิต 15:23; มัทธิว 7:12; โคโลสี 4:6) อย่างที่สอง ให้คิดดี ๆ ว่าจะพูดอะไรกับพี่น้องคนนั้น อย่าคิดไปเองว่าเขาตั้งใจทำให้คุณเจ็บ บางทีมันอาจเป็นความผิดพลาดหรือคุณอาจเข้าใจผิดไปเอง ขอให้เต็มใจยอมรับว่าคุณเองก็อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดเรื่อง เวลาไปคุยกับเขาคุณอาจเริ่มพูดว่า “บางทีฉันอาจจะคิดมากไปก็ได้นะ แต่ตอนที่เธอพูดกับฉันเมื่อวาน ฉันรู้สึก . . . ” แต่ถ้าคุยกันแล้วคุณกับเขาก็ยังไม่เข้าใจกัน ขอให้พยายามต่อไป อธิษฐานเผื่อเขา ขอให้พระยะโฮวาอวยพรเขา และขอพระองค์ช่วยคุณให้มองที่ข้อดีของเขา ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะดีใจที่คุณพยายามเต็มที่ที่จะสร้างสันติสุขกับพี่น้องของคุณ เพราะเขาก็เป็นเพื่อนของพระเจ้าคนหนึ่งเหมือนกัน
เมื่อเรารู้สึกผิดกับสิ่งที่เคยทำในอดีต
17. ถ้าเราทำผิด พระยะโฮวาจะช่วยเราอย่างไรให้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์เหมือนเดิม และทำไมเราต้องยอมรับความช่วยเหลือ?
17 บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรที่จะรับใช้พระยะโฮวาเพราะเคยทำผิดร้ายแรง ความรู้สึกผิดอาจทำให้เราไม่สงบใจ ไม่มีความสุข และหมดแรง กษัตริย์ดาวิดต่อสู้กับความรู้สึกผิดแบบนั้น เขาบอกว่า “เมื่อผมเงียบ กระดูกของผมก็ผุเพราะผมทุกข์ทรมานตลอดทั้งวัน ผมหนักใจมากทั้งวันทั้งคืนเพราะพระองค์ไม่พอใจ” น่าดีใจที่ดาวิดกล้าทำตามสิ่งที่พระยะโฮวาอยากให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทำ เขาเขียนว่า “ในที่สุด ผมก็สารภาพบาปต่อพระองค์ . . . และพระองค์ก็ยกโทษให้ผม” (สดุดี 32:3-5) ถ้าคุณทำผิดร้ายแรง พระยะโฮวาพร้อมจะให้อภัย พระองค์อยากช่วยคุณให้กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์เหมือนเดิม แต่คุณต้องยอมรับความช่วยเหลือของพระองค์ผ่านทางผู้ดูแลในประชาคม (สุภาษิต 24:16, ยากอบ 5:13-15) ดังนั้น อย่ารีรอ ชีวิตตลอดไปของคุณขึ้นอยู่กับการทำแบบนี้ แต่ถ้าคุณยังคงรู้สึกผิดไม่หายหลังจากที่คุณได้รับการอภัยบาปนานแล้ว คุณควรทำอย่างไร?
18. ถ้ามีบางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรที่จะรับใช้พระยะโฮวา ตัวอย่างของเปาโลช่วยได้อย่างไร?
18 บางครั้งอัครสาวกเปาโลรู้สึกท้อแท้เพราะความผิดที่เขาเคยทำในอดีต เขาบอกว่า “ผมต่ำต้อยที่สุดในพวกอัครสาวก และผมไม่เหมาะที่จะถูกเรียกว่าอัครสาวกด้วยซ้ำ เพราะผมเคยข่มเหงประชาคมของพระเจ้า” ถึงเปาโลจะรู้สึกอย่างนั้น แต่เขาก็บอกว่า “แต่ผมได้ทำหน้าที่นี้ก็เพราะความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 15:9, 10) พระยะโฮวายอมรับเปาโลแม้เขาจะเคยทำผิดมาก่อน พระองค์ยังกรุณากับเขาโดยให้เขาได้ทำหน้าที่พิเศษ และพระองค์อยากให้เปาโลมั่นใจว่าพระองค์รักเขา ถ้าคุณรู้สึกเสียใจจริง ๆ กับสิ่งที่เคยทำผิดในอดีตและคุณได้อธิษฐานบอกพระยะโฮวาไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในกรณีที่จำเป็นคุณก็ได้คุยกับผู้ดูแลในประชาคมไปแล้วด้วย พระยะโฮวาก็จะให้อภัยคุณแน่นอน ขอให้เชื่อว่าพระยะโฮวาให้อภัยคุณแล้วเหมือนอย่างที่พระองค์พูดจริง ๆ—อิสยาห์ 55:6, 7
19. ข้อคัมภีร์ประจำปี 2018 คืออะไร? และทำไมข้อนี้ถึงสำคัญ?
19 สมัยที่เราอยู่ใกล้จะจบลงแล้วและเรายังต้องเจอปัญหาอีกมากมายแน่นอน แต่เราควรจำไว้ว่าพระยะโฮวาจะ “ให้พลังกับคนที่เหน็ดเหนื่อย และให้กำลังกับคนที่หมดเรี่ยวแรง” พระองค์จะให้ทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อจะรับใช้พระองค์ต่อไปอย่างซื่อสัตย์ (อิสยาห์ 40:29; สดุดี 55:22; 68:19) ตลอดปี 2018 เราจะนึกถึงความจริงที่สำคัญนี้ทุกครั้งที่เรามาที่หอประชุมเมื่อเห็นข้อคัมภีร์ประจำปีที่ว่า “คนที่วางใจพระยะโฮวาจะกลับมีเรี่ยวแรงอีก”—อิสยาห์ 40:31