ดูเถอะ! ผู้รับใช้ที่พระยะโฮวาพอพระทัย
“ดูเถอะ, ผู้รับใช้ของเรา . . . ผู้ที่เราได้พึงพอใจ.”—ยซา. 42:1.
1. ประชาชนของพระยะโฮวาได้รับการสนับสนุนให้ทำอะไรโดยเฉพาะเมื่อใกล้จะถึงวันอนุสรณ์ และเพราะเหตุใด?
เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ ประชาชนของพระเจ้าได้รับการสนับสนุนให้ทำตามคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่จะ “เพ่งมองพระเยซู ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.” เปาโลกล่าวต่อไปอีกว่า “ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูพระองค์ผู้ทรงทนกับการพูดต่อต้านของคนบาปซึ่งการพูดนั้นกลับทำให้ตัวเขาเองเสียหาย เพื่อพวกท่านจะไม่เหนื่อยล้าและหมดกำลังใจ.” (ฮีบรู 12:2, 3) การเพ่งมองหรือพิจารณาแนวทางอันซื่อสัตย์ของพระคริสต์ ซึ่งมาถึงจุดสุดยอดเมื่อพระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพ จะช่วยทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและแกะอื่นสหายของพวกเขาให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปและจะช่วยพวกเขาไม่ให้ “หมดกำลังใจ.”—เทียบกับกาลาเทีย 6:9.
2. เราอาจเรียนอะไรได้จากคำพยากรณ์ต่าง ๆ ของยะซายาซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบุตรของพระเจ้า?
2 พระยะโฮวาทรงดลใจผู้พยากรณ์ยะซายาให้เขียนคำพยากรณ์ที่ติดต่อกันเป็นชุดซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบุตรโดยตรง. คำพยากรณ์เหล่านี้จะช่วยเราให้เพ่งมองพระคริสต์เยซู “ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.”a คำพยากรณ์เหล่านี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคลิกภาพของพระองค์, ความทุกข์ที่พระองค์ประสบ, และการยกฐานะของพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และพระผู้ไถ่ของเรา. คำพยากรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจการประชุมอนุสรณ์มากขึ้น ซึ่งปีนี้เราจะร่วมรำลึกในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน หลังดวงอาทิตย์ตก.
ระบุตัวผู้รับใช้
3, 4. (ก) ในหนังสือยะซายา คำ “ผู้รับใช้” หมายถึงใคร? (ข) คัมภีร์ไบเบิลเองระบุไว้อย่างไรว่าใครคือผู้รับใช้ที่กล่าวถึงในยะซายาบท 42, 49, 50, 52, และ 53?
3 คำ “ผู้รับใช้” ปรากฏหลายครั้งในหนังสือยะซายา. บางครั้งคำนี้หมายถึงผู้พยากรณ์ยะซายาเอง. (ยซา. 20:3; 44:26) บางครั้ง คำนี้ใช้หมายถึงชนชาติทั้งสิ้นแห่งอิสราเอลหรือยาโคบ. (ยซา. 41:8, 9; 44:1, 2, 21) แต่จะว่าอย่างไรสำหรับคำพยากรณ์เด่น ๆ เกี่ยวกับผู้รับใช้ที่บันทึกไว้ในยะซายาบท 42, 49, 50, 52, และ 53? พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกระบุอย่างชัดเจนว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่พรรณนาไว้ในบทเหล่านี้หมายถึงใคร. น่าสนใจ ขุนนางชาวเอธิโอเปียซึ่งหนังสือกิจการกล่าวถึงกำลังอ่านคำพยากรณ์เหล่านี้อยู่เมื่อฟิลิปผู้เผยแพร่ข่าวดีได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณให้เข้าไปหาเขา. ขุนนางคนนี้ ซึ่งกำลังอ่านคัมภีร์ไบเบิลตอนหนึ่งซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ยะซายา 53:7, 8 ถามฟิลิปว่า “ขอบอกข้าพเจ้าเถิดว่า ท่านผู้พยากรณ์กล่าวถึงผู้ใด ตัวท่านเองหรือผู้อื่น?” ฟิลิปอธิบายทันทีว่ายะซายากล่าวถึงพระมาซีฮา ซึ่งก็คือพระเยซู.—กิจ. 8:26-35.
4 เมื่อพระเยซูยังเป็นทารก ชายชอบธรรมคนหนึ่งซึ่งชื่อซิมโอนประกาศโดยฤทธิ์แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า “ทารกเยซู” จะเป็น “แสงสว่างเพื่อขจัดสิ่งที่ปิดคลุมชนต่างชาติ” ตามที่บอกไว้ล่วงหน้าในยะซายา 42:6 และ 49:6. (ลูกา 2:25-32) นอกจากนั้น การที่พระเยซูถูกลบหลู่ดูหมิ่นในคืนแห่งการทดสอบมีบอกล่วงหน้าไว้แล้วในยะซายา 50:6-9. (มัด. 26:67; ลูกา 22:63) หลังวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 อัครสาวกเปโตรระบุอย่างชัดเจนว่าพระเยซูเป็น “ผู้รับใช้” ของพระยะโฮวา. (ยซา. 52:13; 53:11; อ่านกิจการ 3:13, 26.) เราอาจเรียนอะไรได้จากคำพยากรณ์เหล่านี้เกี่ยวกับพระมาซีฮา?
พระยะโฮวาทรงฝึกอบรมผู้รับใช้ของพระองค์
5. ผู้รับใช้ได้รับการฝึกอบรมอย่างไร?
5 คำพยากรณ์หนึ่งของยะซายาเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระยะโฮวากับพระบุตรหัวปีในช่วงก่อนพระบุตรจะมาเป็นมนุษย์. (อ่านยะซายา 50:4-9.) ตัวผู้รับใช้เองเปิดเผยว่าพระยะโฮวาทรงฝึกอบรมพระองค์อย่างต่อเนื่อง โดยตรัสว่า “พระองค์ทรงปลุกหูของข้าพเจ้าให้ฟังเหมือนคนที่ได้รับการสอน.” (ยซา. 50:4, ล.ม.) ตลอดเวลาในช่วงนั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาฟังพระบิดาและเรียนรู้จากพระองค์ และเป็นสาวกที่เชื่อฟัง. ช่างเป็นสิทธิพิเศษที่ไม่มีอะไรเทียบได้จริง ๆ ที่ได้รับการสอนจากพระผู้สร้างเอกภพ!
6. ผู้รับใช้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าทรงเชื่อฟังพระบิดาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์?
6 ในคำพยากรณ์นี้ ผู้รับใช้พูดถึงพระบิดาในฐานะที่ทรงเป็น “พระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศร.” (ยซา. 50:4, ล.ม.) นี่แสดงว่าผู้รับใช้ได้เรียนรู้ความจริงพื้นฐานว่าพระยะโฮวาทรงเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. ผู้รับใช้ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์เชื่อฟังพระบิดาอย่างครบถ้วนโดยตรัสว่า “พระยะโฮวาเจ้าได้ทรงเปิดหูของข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าไม่ได้ขัดขืน, ข้าพเจ้าไม่ได้หันหลังให้.” (ยซา. 50:5) พระองค์ “อยู่เคียงข้าง [พระยะโฮวา] เป็นนายช่าง” ในการสร้างเอกภพและมนุษย์. “นายช่าง” ผู้นี้ “ชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์ [พระยะโฮวา] ตลอดเวลา ชื่นชมยินดีกับแผ่นดินที่เกิดผลบนแผ่นดินโลกของพระองค์ และสิ่งที่ทำให้ [พระบุตรของพระเจ้า] ยินดีนั้นเกี่ยวข้องกับเหล่าบุตรของมนุษย์.”—สุภา. 8:22-31, ล.ม.
7. อะไรแสดงว่าผู้รับใช้ทรงเชื่อมั่นว่าพระบิดาจะค้ำจุนพระองค์เมื่อถูกทดสอบ?
7 การฝึกอบรมนี้ที่ผู้รับใช้ได้รับและความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์ช่วยเตรียมพระองค์ให้พร้อมเมื่อพระองค์ทรงมายังแผ่นดินโลกและถูกต่อต้านอย่างรุนแรง. พระองค์ทรงยินดีทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาต่อไป แม้เมื่อถูกข่มเหงอย่างรุนแรง. (เพลง. 40:8; มัด. 26:42; โย. 6:38) ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ถูกทดสอบบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงเชื่อมั่นว่าพระบิดาทรงพอพระทัยและค้ำจุนพระองค์. ดังที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของยะซายา พระเยซูทรงสามารถตรัสว่า “ผู้ที่ให้ความยุติธรรมแก่ข้าพเจ้านั้นอยู่เคียงข้างข้าพเจ้า, ใครจะกล่าวโทษข้าพเจ้าเล่า? . . . ดูเถอะ, พระยะโฮวาเจ้าจะทรงช่วยข้าพเจ้า.” (ยซา. 50:8, 9) พระยะโฮวาทรงช่วยผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์องค์นี้ตลอดช่วงเวลาที่ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลกอย่างแน่นอน ดังที่คำพยากรณ์อีกเรื่องหนึ่งของยะซายาแสดงไว้.
การรับใช้ของผู้รับใช้บนแผ่นดินโลก
8. อะไรพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเป็น ‘ผู้ที่พระยะโฮวาเลือกสรรไว้’ ดังที่บอกล่วงหน้าไว้ในยะซายา 42:1?
8 บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมาในปี ส.ศ. 29: “พระวิญญาณบริสุทธิ์ . . . ก็ลงมาบนพระองค์ และมีเสียงตรัสจากฟ้าว่า ‘เจ้าเป็นบุตรที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก.’ ” (ลูกา 3:21, 22) โดยวิธีนั้น พระยะโฮวาทรงระบุอย่างชัดเจนว่าใครคือ ‘ผู้ที่พระองค์ได้เลือกสรรไว้’ ตามที่กล่าวถึงในคำพยากรณ์ของยะซายา. (อ่านยะซายา 42:1-7.) ระหว่างที่รับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำให้คำพยากรณ์นี้สำเร็จอย่างน่าทึ่ง. ในบันทึกกิตติคุณของมัดธาย ท่านยกถ้อยคำที่พบในยะซายา 42:1-4 และใช้ข้อความดังกล่าวกับพระเยซู.—มัด. 12:15-21.
9, 10. (ก) พระเยซูทรงทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ในยะซายา 42:3 อย่างไรระหว่างที่พระองค์ทำงานรับใช้? (ข) พระคริสต์ทรง “ตัดสินให้เป็นยุติธรรม” อย่างไรขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลก และทรง “ตั้งความยุติธรรมไว้บนแผ่นดินโลก” เมื่อไร?
9 คนธรรมดาสามัญทั้งหลายในหมู่ชาวยิวถูกพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวเหยียดหยาม. (โย. 7:47-49) ประชาชนถูกปฏิบัติอย่างหยาบคายและอาจเปรียบพวกเขาได้กับ “ไม้อ้อช้ำแล้ว” หรือ “ไส้ตะเกียง” ที่จวนดับ. แต่พระเยซูทรงแสดงความเมตตาต่อคนจนและคนทุกข์เข็ญ. (มัด. 9:35, 36) พระองค์ทรงเชิญคนเหล่านั้นอย่างกรุณาโดยตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายที่ตรากตรำและมีภาระมากจงมาหาเราเถิด แล้วเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.” (มัด. 11:28) นอกจากนั้น พระเยซู “ตัดสินให้เป็นยุติธรรม” โดยสอนมาตรฐานของพระยะโฮวาว่าอะไรถูกอะไรผิด. (ยซา. 42:3) พระองค์ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าต้องใช้กฎหมายของพระเจ้าด้วยความมีเหตุผลและความเมตตา. (มัด. 23:23) นอกจากนั้น พระเยซูยังแสดงความยุติธรรมด้วยการประกาศอย่างไม่เลือกหน้าใครทั้งคนรวยและคนจน.—มัด. 11:5; ลูกา 18:18-23.
10 คำพยากรณ์ของยะซายายังบอกล่วงหน้าด้วยว่า ‘ผู้ที่พระยะโฮวาเลือกสรรไว้’ “ตั้งความยุติธรรมไว้บนแผ่นดินโลก.” (ยซา. 42:4) ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาซีฮา พระองค์จะทำอย่างนี้ในอีกไม่ช้าเมื่อพระองค์ทำลายอาณาจักรทางการเมืองทั้งหมดและให้การปกครองอันชอบธรรมของพระองค์เข้ามาแทนที่. พระองค์จะทรงทำให้มีโลกใหม่ ซึ่งที่นั่น “จะมีความชอบธรรมอยู่จริง.”—2 เป. 3:13; ดานิ. 2:44.
“แสงสว่าง” และ “คำสัญญา”
11. พระเยซูทรงเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” ในสมัยศตวรรษแรกอย่างไร และพระองค์ยังคงเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งสมัยปัจจุบันอย่างไร?
11 พระเยซูทรงทำให้ยะซายา 42:6 สำเร็จโดยทรงพิสูจน์ให้เห็นจริง ๆ ว่าทรงเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ.” ระหว่างที่ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงนำแสงสว่างฝ่ายวิญญาณมาสู่ชาวยิวเป็นอันดับแรก. (มัด. 15:24; กิจ. 3:26) แต่พระเยซูตรัสด้วยว่า “เราเป็นความสว่างของโลก.” (โย. 8:12) พระองค์ทรงเป็นความสว่างแก่ทั้งชาวยิวและชนประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงแค่โดยทรงให้ความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ แต่โดยประทานชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้นด้วย. (มัด. 20:28) หลังจากที่คืนพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงมอบหมายเหล่าสาวกให้เป็นพยานฝ่ายพระองค์ “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจ. 1:8) ระหว่างที่ทำงานรับใช้ เปาโลและบาร์นาบัสยกวลี “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” ขึ้นมากล่าว และใช้วลีนี้กับงานประกาศที่ท่านทั้งสองทำในหมู่คนที่ไม่ใช่ชาวยิว. (กิจ. 13:46-48; เทียบกับยะซายา 49:6.) งานนั้นยังคงทำกันอยู่ในเวลานี้ขณะที่เหล่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูบนแผ่นดินโลกและสหายของพวกเขาแพร่กระจายแสงสว่างฝ่ายวิญญาณออกไป และช่วยผู้คนให้มีความเชื่อในพระเยซูผู้เป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ.”
12. พระยะโฮวาประทานผู้รับใช้ “เป็นเครื่องหมายแห่งคำสัญญาสำหรับมนุษย์” อย่างไร?
12 ในคำพยากรณ์เดียวกัน พระยะโฮวาทรงบอกผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรว่า “เรา . . . จะป้องกันท่านไว้, และได้ตั้งท่านไว้เป็นเครื่องหมายแห่งคำสัญญาสำหรับมนุษย์.” (ยซา. 42:6) ซาตานพยายามอย่างไม่ละลดเพื่อจะทำลายพระเยซูและขัดขวางพระองค์ไม่ให้ทำงานรับใช้บนแผ่นดินโลกสำเร็จ แต่พระยะโฮวาทรงคุ้มครองพระองค์ไว้จนกระทั่งถึงเวลากำหนดที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์. (มัด. 2:13; โย. 7:30) จากนั้น พระยะโฮวาทรงปลุกพระเยซูให้คืนพระชนม์และประทานพระองค์เป็น “คำสัญญา” หรือคำสัตย์ปฏิญาณแก่ประชาชนบนแผ่นดินโลก. คำมั่นสัญญาที่ให้อย่างเป็นทางการนั้นเป็นคำรับรองว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าองค์นี้จะยังคงเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” ต่อ ๆ ไป และช่วยปลดปล่อยคนที่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ.—อ่านยะซายา 49:8, 9.b
13. พระเยซูทรงช่วย “ผู้ที่นั่งอยู่ในที่มืด” ให้รอดอย่างไรระหว่างที่พระองค์ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก และพระองค์ทรงทำอย่างนั้นอย่างต่อเนื่องอย่างไร?
13 สอดคล้องกับคำสัตย์ปฏิญาณนี้ ผู้รับใช้ที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรจะ “เปิดตาคนตาบอด,” “นำผู้ถูกจำจองให้ออกมาจากคุกมืด,” และช่วย “ผู้ที่นั่งอยู่ในที่มืด” ให้รอดพ้น. (ยซา. 42:7) ระหว่างที่ทำงานรับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำอย่างนี้โดยการเปิดโปงธรรมเนียมทางศาสนาที่ไม่ถูกต้องและโดยการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (มัด. 15:3; ลูกา 8:1) โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงช่วยชาวยิวที่มาเป็นสาวกของพระองค์ให้หลุดพ้นจากการถูกจำจองฝ่ายวิญญาณ. (โย. 8:31, 32) พระเยซูทรงช่วยหลายล้านคนที่ไม่ใช่ชาวยิวให้หลุดพ้นจากการถูกจำจองฝ่ายวิญญาณคล้าย ๆ กัน. พระองค์ทรงมอบหมายเหล่าสาวกให้ “ไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก” และทรงสัญญาว่าพระองค์จะอยู่กับเหล่าสาวก “จนถึงช่วงสุดท้ายของยุค.” (มัด. 28:19, 20) จากตำแหน่งของพระองค์ในสวรรค์ พระคริสต์เยซูกำลังดูแลงานประกาศทั่วโลกอยู่ในขณะนี้.
พระยะโฮวาทรงยกฐานะ “ผู้รับใช้” ให้สูงขึ้น
14, 15. เหตุใดพระยะโฮวาทรงยกฐานะผู้รับใช้ของพระองค์ให้สูงขึ้น และโดยวิธีใด?
14 ในคำพยากรณ์อีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับพระมาซีฮาผู้รับใช้ของพระองค์ พระยะโฮวาตรัสว่า “นี่แน่ะ, ผู้รับใช้ของเราจะรุ่งเรืองขึ้น, เขาจะถูกยกย่องขึ้น, และยกชูขึ้น, และให้อยู่ในระดับสูงยิ่ง.” (ยซา. 52:13) เมื่อคำนึงถึงว่าพระบุตรทรงยอมอยู่ใต้อำนาจปกครองของพระองค์อย่างภักดีและซื่อสัตย์แม้ถูกทดสอบอย่างแสนสาหัส พระยะโฮวาจึงทรงยกฐานะของพระองค์ให้สูงขึ้น.
15 อัครสาวกเปโตรเขียนเกี่ยวกับพระเยซูว่า “พระองค์สถิตด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าเพราะพระองค์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว และพระเจ้าทรงโปรดให้เหล่าทูตสวรรค์กับผู้มีอำนาจและผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจพระองค์แล้ว.” (1 เป. 3:22) อัครสาวกเปาโลก็เขียนคล้าย ๆ กันว่า “พระองค์ก็ทรงถ่อมพระทัยเชื่อฟังจนสิ้นพระชนม์ คือสิ้นพระชนม์บนเสาทรมาน. เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงโปรดให้พระองค์ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นและทรงประทานพระนามอันสูงส่งเหนือนามอื่นทั้งหมดแก่พระองค์ เพื่อว่าใครก็ตามที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก รวมทั้งคนที่อยู่ใต้พื้นดินจะคุกเข่าลงในพระนามพระเยซู และลิ้นทุกลิ้นจะยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อยกย่องพระเจ้าผู้เป็นพระบิดา.”—ฟิลิป. 2:8-11.
16. พระเยซูได้มา “อยู่ในระดับสูงยิ่ง” อย่างไรในปี 1914 และพระองค์ได้ทำอะไรให้สำเร็จนับแต่นั้นมา?
16 ในปี 1914 พระยะโฮวาทรงยกฐานะพระเยซูให้สูงขึ้นไปอีก. พระองค์ทรง “อยู่ในระดับสูงยิ่ง” เมื่อพระยะโฮวามอบราชบัลลังก์ให้พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาซีฮา. (เพลง. 2:6; ดานิ. 7:13, 14) นับแต่นั้นมา พระคริสต์ได้ออกไป “ปราบปรามท่ามกลางศัตรูของ [พระองค์].” (เพลง. 110:2, ล.ม.) ในอันดับแรก พระองค์ทรงปราบซาตานและปิศาจทั้งหลาย เหวี่ยงพวกมันลงมายังบริเวณแผ่นดินโลก. (วิ. 12:7-12) จากนั้น พระคริสต์ทรงปฏิบัติงานในฐานะไซรัสผู้ยิ่งใหญ่โดยทรงช่วยชนที่เหลือแห่งพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์บนแผ่นดินโลกให้รอดพ้นจากการควบคุมของ “บาบิโลนใหญ่.” (วิ. 18:2; ยซา. 44:28) พระองค์ทรงชี้นำงานประกาศทั่วโลก ทำให้มีการรวบรวมพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์ “ที่ยังเหลืออยู่” และหลังจากนั้นก็มีการรวบรวม “แกะอื่น” หลายล้านคนซึ่งเป็นสหายที่ภักดีของ “แกะฝูงน้อย.”—วิ. 12:17; โย. 10:16; ลูกา 12:32.
17. เราได้เรียนอะไรไปบ้างแล้วจากการศึกษาคำพยากรณ์ของยะซายาเกี่ยวกับ “ผู้รับใช้”?
17 เป็นเรื่องแน่นอนว่าการศึกษาคำพยากรณ์ที่น่าทึ่งเหล่านี้ในหนังสือยะซายาช่วยเราให้รู้สึกขอบคุณพระคริสต์เยซูพระมหากษัตริย์และพระผู้ไถ่ของเรามากขึ้น. การที่พระองค์ในฐานะพระบุตรทรงยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าระหว่างที่พระองค์ทำงานรับใช้บนโลกสะท้อนให้เห็นถึงการฝึกอบรมที่พระองค์ได้รับเมื่อทรงอยู่เคียงข้างพระบิดาก่อนมาที่แผ่นดินโลก. พระองค์ได้พิสูจน์พระองค์เองว่าเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” ด้วยงานรับใช้ที่พระองค์เองทำและด้วยงานประกาศที่พระองค์ทรงดูแลเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้. ดังที่เราจะเห็นในบทความต่อไป คำพยากรณ์อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระมาซีฮาผู้รับใช้เผยให้เห็นว่าพระองค์จะทนทุกข์และสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควร “พิจารณาดู” ขณะที่วันอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ใกล้เข้ามา.—ฮีบรู 12:2, 3.
[เชิงอรรถ]
a คุณจะพบคำพยากรณ์เหล่านี้ได้ที่ยะซายา 42:1-7; 49:1-12; 50:4-9; และ 52:13–53:12.
b สำหรับการพิจารณาคำพยากรณ์ที่ยะซายา 49:1-12 โปรดดูคำพยากรณ์ของยะซายา—ความสว่างสำหรับมวลมนุษยชาติ เล่ม 2 หน้า 136-145 (ไม่มีในภาษาไทย).
เพื่อทบทวน
• “ผู้รับใช้” ที่กล่าวถึงในคำพยากรณ์ของยะซายาคือใคร และเรารู้ได้อย่างไร?
• ผู้รับใช้ได้รับการฝึกอบรมอะไรจากพระยะโฮวา?
• พระเยซูทรงเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” อย่างไร?
• ผู้รับใช้ได้รับการยกฐานะให้สูงขึ้นอย่างไร?
[ภาพหน้า 21]
ฟิลิประบุอย่างชัดเจนว่า “ผู้รับใช้” ที่ยะซายากล่าวถึงคือพระเยซู พระมาซีฮา
[ภาพหน้า 23]
ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรร พระเยซูทรงแสดงความเมตตาต่อคนจนและคนทุกข์เข็ญ
[ภาพหน้า 24]
พระบิดาทรงยกฐานะของพระเยซูให้สูงขึ้นและให้ครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรมาซีฮา