เหล่าพยานให้การ ค้านพระเจ้าเทียม
“พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา, และเป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้.’”—ยะซายา 43:10.
1. ใครคือพระเจ้าแท้ และพระองค์อยู่เหนือกว่าพระเจ้ามากมายที่ผู้คนนมัสการทุกวันนี้ในประการใดบ้าง?
ใครเป็นพระเจ้าแท้? ในปัจจุบัน คำถามสำคัญที่สุดนี้เผชิญหน้ามนุษยชาติทั้งสิ้น. แม้มนุษย์นมัสการพระเจ้ามากมาย แต่มีเพียงองค์เดียวให้ชีวิตเราได้ ทั้งทรงเสนออนาคตที่มีความสุขสำราญแก่เรา. อาจกล่าวได้กับองค์เดียวเท่านั้นว่า “โดยพระองค์ เรามีชีวิตและเคลื่อนไหว.” (กิจการ 17:28, ล.ม.) จริงทีเดียว พระเจ้าเพียงองค์เดียวมีสิทธิ์จะได้รับการนมัสการ. ตามที่มีการร้องประสานเสียงในสวรรค์ซึ่งกล่าวในพระธรรมวิวรณ์ว่า “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติยศและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.”—วิวรณ์ 4:11, ล.ม.
2, 3. (ก) ด้วยการโกหก ซาตานได้ท้าทายสิทธิของพระยะโฮวาอันพึงได้รับการนมัสการอย่างไร? (ข) ผลสืบเนื่องจากบาปของฮาวาตกอยู่กับฮาวาและลูกหลานของนางอย่างไร และผลที่ซาตานได้รับคืออะไร?
2 ณ สวนเอเดน โดยการโกหก ซาตานได้ท้าทายสิทธิของพระยะโฮวาที่พึงได้รับการนมัสการ. มันได้บอกฮาวาผ่านงูว่า ถ้านางละเมิดข้อกำหนดของพระยะโฮวาและกินผลไม้จากต้นซึ่งพระยะโฮวาทรงห้าม นางเองก็จะเป็นเหมือนพระเจ้า. คำพูดของซาตานเป็นอย่างนี้: “พระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า, เจ้ากินผลไม้นั้นเข้าไปวันใด, ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น; แล้วเจ้าจะเป็นเหมือนพระ, จะรู้จักความดีและชั่ว.” (เยเนซิศ 3:4ข, 5) ฮาวาเชื่องูและได้กินผลไม้ต้องห้าม.
3 แน่ละ ซาตานพูดมุสา. (โยฮัน 8:44) เมื่อนางทำบาป ทางเดียวที่ฮาวาเป็น ‘เหมือนพระเจ้า’ ก็โดยถือสิทธิ์ตัดสินเองว่าอะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งเรื่องนี้น่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระยะโฮวา. และไม่เป็นไปตามคำโกหกของซาตาน ในที่สุดนางก็ตาย. ฉะนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จริง ๆ จากบาปของฮาวาก็คือซาตาน. อันที่จริง เป้าประสงค์ที่ไม่มีการแถลงของซาตานที่โน้มน้าวให้ฮาวาทำผิดก็เพื่อซาตานจะเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งเสียเอง. เมื่อฮาวาได้ทำผิด นางจึงกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ติดตามซาตาน และอาดามได้สมทบกับเธอในเวลาไม่นานต่อมา. ลูกหลานของเขาส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่เกิดมา “ในสภาพเป็นบาป” แต่ยังตกอยู่ภายใต้แรงชักจูงของซาตานด้วย และภายในช่วงเวลาสั้น ๆ โลกทั้งสิ้นที่เหินห่างพระเจ้าแท้ก็เกิดขึ้นมา.—เยเนซิศ 6:5; บทเพลงสรรเสริญ 51:5.
4. (ก) ใครเป็นพระเจ้าของโลกนี้? (ข) มีความจำเป็นอันเร่งด่วนเกี่ยวกับอะไร?
4 โลกที่ว่านี้ถูกทำลายไปแล้วคราวน้ำท่วมโลก. (2 เปโตร 3:6) ภายหลังน้ำท่วมโลกก็ได้มีอีกโลกหนึ่งที่เหินห่างจากพระยะโฮวาเกิดขึ้น และยังอยู่จนถึงเวลานี้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) โดยกิจปฏิบัติที่ต่อต้านเจตนารมณ์และตัวบทกฎหมายแห่งข้อบัญญัติของพระยะโฮวา โลกนี้จึงส่งเสริมจุดมุ่งหมายของซาตาน. ซาตานจึงเป็นพระเจ้าของโลกนี้. (2 โกรินโธ 4:4) กระนั้น จริง ๆ แล้ว ซาตานเป็นพระเจ้าที่ไร้สมรรถภาพ. มันไม่สามารถทำให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข หรือให้ชีวิตแก่พวกเขาได้ เฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นทรงกระทำเช่นนั้นได้. ดังนั้น ใคร ๆ ซึ่งต้องการชีวิตที่มีความหมายและต้องการโลกที่ดีกว่าจึงต้องเรียนรู้เสียก่อนว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแท้ แล้วเรียนรู้ที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 37:18, 27, 28; ท่านผู้ประกาศ 12:13) ฉะนั้น มีความจำเป็นอันเร่งด่วนสำหรับชายหญิงผู้มีความเชื่อพึงให้คำพยาน, หรือประกาศความจริงเรื่องพระยะโฮวา.
5. “กลุ่มใหญ่แห่งพยาน” ตามที่เปาโลกล่าวไว้หมายถึงอะไร? จงบอกชื่อบางคนซึ่งเปาโลลงรายชื่อไว้.
5 นับแต่เริ่มแรก ปัจเจกชนผู้ซื่อสัตย์ได้ปรากฏตัวบนเวทีโลก. ที่เฮ็บรายบท 11 อัครสาวกเปาโลได้ระบุรายชื่อบุคคลเหล่านี้ไว้ยาวเหยียด และเรียกเขาว่า “กลุ่มใหญ่แห่งพยานล้อมรอบเราเสมือนเมฆ.” (เฮ็บราย 12:1, ล.ม.) เฮเบล บุตรชายคนที่สองของอาดามและฮาวา เป็นคนแรกที่มีชื่อในรายการของเปาโล. ชื่อฮะโนคและโนฮาได้มีการกล่าวถึงเช่นกันว่าอยู่สมัยก่อนน้ำท่วมโลก. (เฮ็บราย 11:4, 5, 7) ที่โดดเด่นก็ได้แก่อับราฮาม บรรพบุรุษแห่งเผ่าพันธุ์ยิว. อับราฮามผู้ได้รับสมญานามว่า “มิตรสหายของพระยะโฮวา” กลายมาเป็นบรรพบุรุษของพระเยซู “พยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.”—ยาโกโบ 2:23, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14, ล.ม.
การให้คำพยานของอับราฮามเพื่อความจริง
6, 7. วิถีชีวิตของอับราฮามและการกระทำของท่านแสดงพยานหลักฐานในทางใดว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแท้?
6 อับราฮามทำหน้าที่เป็นพยานอย่างไร? โดยความเชื่อมั่นคงของท่านพร้อมกับการเชื่อฟังอย่างภักดีต่อพระยะโฮวา. เมื่อพระเจ้าทรงสั่งท่านออกจากเมืองอูระและใช้ชีวิตบั้นปลายของท่านที่แผ่นดินอันห่างไกล อับราฮามเชื่อฟัง. (เยเนซิศ 15:7; กิจการ 7:2-4) บ่อยครั้งชนเผ่าเร่ร่อนจะเลิกใช้ชีวิตพเนจร แล้วตั้งหลักปักฐานอยู่ในเมืองเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยกว่า. ดังนั้น เมื่ออับราฮามไปจากเมืองใหญ่เพื่อเริ่มชีวิตแบบอาศัยอยู่ในกระโจม ท่านก็ได้แสดงหลักฐานแน่นหนาว่าท่านได้วางใจพระเจ้ายะโฮวา. ความเชื่อฟังของท่านเป็นคำพยานแก่คนเหล่านั้นที่สังเกตการประพฤติของท่าน. พระยะโฮวาทรงอวยพรอับราฮามอย่างบริบูรณ์เนื่องด้วยความเชื่อของท่าน. แม้อาศัยอยู่ในกระโจม อับราฮามเจริญมั่งคั่งทางด้านวัตถุ. เมื่อโลตและครอบครัวถูกต้อนไปเป็นเชลย พระยะโฮวาทรงโปรดให้อับราฮามได้ชัยชนะจากการไล่ล่าศัตรู ในที่สุดท่านก็สามารถช่วยพวกเขาให้รอดพ้นมาได้. ภรรยาอับราฮามให้กำเนิดบุตรชายเมื่อนางมีอายุมากแล้ว และโดยวิธีนี้ จึงเป็นการยืนยันถึงคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่าอับราฮามจะมีพงศ์พันธุ์เกิดจากท่าน. โดยทางอับราฮามนี้เอง ผู้คนจึงได้มารู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ผู้ทรงดำเนินการเพื่อคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์จะสำเร็จเป็นจริง.—เยเนซิศ 12:1-3; 14:14-16; 21:1-7.
7 ขณะเดินทางกลับหลังจากช่วยชีวิตโลต มัลคีเซเด็คเจ้าเมืองซาเล็ม (ต่อมาเรียกว่ายะรูซาเลม) ได้ออกมาพบและกล่าวต้อนรับอับราฮามว่า “ขอพระเจ้าที่สูงสุด . . . บันดาลให้ท่านมีความสุขเถิด.” เจ้าเมืองซะโดมได้มาพบท่านด้วยและต้องการมอบของกำนัลให้อับราฮาม. อับราฮามปฏิเสธ. ทำไม? ท่านไม่ประสงค์จะให้มีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับที่มาแห่งพระพรต่าง ๆ ของท่าน. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ยกมือสาบานตัวเฉพาะพระยะโฮวาพระเจ้าผู้สูงสุด, ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก, ว่าแม้เส้นด้ายหรือสายรัดรองเท้าข้าพเจ้าจะไม่รับสักสิ่งหนึ่งเลยที่เป็นของ ๆ ท่าน, เพื่อท่านจะมิได้อวดอ้างว่า, ‘เราได้บำรุงอับรามให้มั่งมี.’” (เยเนซิศ 14:17-24) อับราฮามเป็นพยานที่ดีเยี่ยมจริง ๆ!
ชนชาติหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเหล่าพยาน
8. โมเซแสดงอย่างไรว่าท่านมีความเชื่อมากจริง ๆ ในพระยะโฮวา?
8 ชื่อของโมเซซึ่งเป็นเชื้อสายของอับราฮาม ปรากฏในรายชื่อเหล่าพยานตามที่เปาโลให้ไว้เช่นกัน. โมเซได้หันหลังให้ความมั่งคั่งแห่งอียิปต์ และต่อมา เพื่อจะนำลูกหลานชาวยิศราเอลไปสู่อิสรภาพ ท่านต้องเผชิญหน้าอย่างอาจหาญกับผู้ปกครองแห่งมหาอำนาจโลกสมัยนั้น. โมเซได้ความกล้าจากแหล่งไหน? ได้จากความเชื่อของท่าน. เปาโลกล่าวดังนี้: “[โมเซ] มั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:27) พระเจ้าของอียิปต์เป็นพระเจ้าที่ประจักษ์แก่ตา สัมผัสได้. รูปปั้นพระเหล่านั้นประทับใจผู้คนกระทั่งทุกวันนี้. แต่สำหรับโมเซแล้วพระยะโฮวา แม้ไม่ประจักษ์แก่ตา เป็นพระเจ้าที่ทรงสภาวะแท้จริง ต่างไปจากพระเจ้าเทียมเหล่านั้น. โมเซไม่สงสัยการดำรงอยู่ของพระยะโฮวา และการประทานบำเหน็จแก่ผู้นมัสการพระองค์. (เฮ็บราย 11:6) โมเซจึงกลายมาเป็นพยานที่โดดเด่นคนหนึ่ง.
9. ชนชาติยิศราเอลต้องปฏิบัติพระยะโฮวาโดยวิธีใด?
9 หลังจากการนำชาวยิศราเอลไปสู่อิสรภาพแล้ว โมเซได้มาเป็นผู้กลางแห่งคำสัญญาไมตรีระหว่างพระยะโฮวาและลูกหลานอับราฮามผ่านทางยาโคบ. ผลที่สุด ยิศราเอลก็ถือกำเนิดเป็นชาติเสมือนสมบัติพิเศษของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 19:5, 6) นับเป็นครั้งแรก ที่มีการให้คำพยานระดับชาติ. ถ้อยแถลงของพระยะโฮวาผ่านทางยะซายาประมาณ 800 กว่าปีต่อมา ตามหลักแล้วใช้ได้ตั้งแต่เริ่มมีชาตินี้ ซึ่งได้กล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา, และเป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้, เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักและเชื่อถือเรา, และจะได้เข้าใจว่า, เราคือพระองค์ผู้นั้น.’” (ยะซายา 43:10) ชาติใหม่นี้จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นพยานของพระยะโฮวาโดยวิธีใด? โดยความเชื่อและการเชื่อฟังของเขา และโดยทางราชกิจของพระยะโฮวาเพื่อประโยชน์ของพวกเขา.
10. พระราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาในการช่วยชาติยิศราเอลกลับกลายเป็นการให้คำพยานโดยวิธีใด และมีผลอย่างไร?
10 ประมาณสี่สิบปีหลังจากมีชาตินี้ขึ้นมา ชาวยิศราเอลจวนเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งคำสัญญาอยู่แล้ว. คนสอดแนมได้ออกไปลาดตระเวนสำรวจเมืองยะริโฮ และราฮาบซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ที่เมืองยะริโฮได้ปกป้องพวกเขา. เพราะเหตุใด? นางบอกว่า “ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายได้ยินเรื่องที่พระยะโฮวาทรงบันดาลให้น้ำทะเลแดงแห้งไปข้างหน้าท่าน, เมื่อท่านได้ออกมาจากเมืองอายฆุบโตนั้น; และซึ่งท่านได้กระทำแก่กษัตริย์อะโมรีทั้งสององค์, ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยาระเดนฟากข้างโน้น, คือซีโฮนและโอฆ, ซึ่งพวกท่านได้ทำลายเสียสิ้น. พอได้ยินข่าวดังนี้, จิตต์ใจของข้าพเจ้าทั้งหลายก็อิดโรยไป, ไม่มีผู้ใดมีใจกล้าขึ้นอีกได้ต่อหน้าพวกท่าน, ด้วยว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของท่านเป็นเจ้าของสวรรค์เบื้องบน, ทั้งแผ่นดินเบื้องล่างด้วย.” (ยะโฮซูอะ 2:10, 11) รายงานเกี่ยวด้วยราชกิจที่แสดงถึงอำนาจของพระยะโฮวาเป็นพลังกระตุ้นราฮาบและครัวเรือนของนางให้ทิ้งเมืองยะริโฮกับพระเจ้าเทียมทั้งปวง เพื่อจะนมัสการพระยะโฮวาด้วยกันกับชาวยิศราเอล. เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงให้คำพยานอันยังผลกว้างขวางผ่านทางชาวยิศราเอล.—ยะโฮซูอะ 6:25.
11. บิดามารดาชาวยิศราเอลมีความรับผิดชอบอะไรในการให้คำพยาน?
11 ขณะที่ชาวยิศราเอลยังอยู่ในอียิปต์ พระยะโฮวาได้ส่งโมเซไปเฝ้าฟาโรห์และพระองค์ตรัสดังนี้: “จงเข้าไปหาฟาโรอีก: เพราะเราได้ให้ใจของฟาโรและใจของข้าราชการแข็งกะด้างไป, เพื่อจะแสดงการณ์สำคัญของเราในท่ามกลางเขา, เพื่อเจ้าจะได้เล่าการณ์สำคัญที่เราได้กระทำ ณ ประเทศอายฆุบโตให้ลูกหลานฟัง, คือการณ์สำคัญซึ่งเราได้สำแดงท่ามกลางเขานั้น; เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.” (เอ็กโซโด 10:1, 2) ชาวยิศราเอลที่เชื่อฟังย่อมบอกเล่าให้ลูกหลานของตนรู้ถึงการกระทำอันใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวา. แล้วลูกหลานของเขาก็จะบอกลูกหลานต่อ ๆ กันไปจากคนรุ่นหนึ่งถึงคนอีกรุ่นหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ การสำแดงฤทธิ์เดชของพระยะโฮวาจะตราตรึงอยู่ในความทรงจำ. สมัยนี้ก็เช่นกัน บิดามารดามีความรับผิดชอบที่จะให้คำพยานแก่บุตรหลานของตน.—พระบัญญัติ 6:4-7; สุภาษิต 22:6.
12. พระพรของพระยะโฮวาซึ่งโปรดแก่ซะโลโมและชาติยิศราเอลนั้นเป็นคำพยานได้อย่างไร?
12 พระพรอุดมของพระยะโฮวาที่ได้โปรดแก่ชาวยิศราเอลเมื่อประพฤติซื่อตรงนั้นเป็นการให้คำพยานแก่ชาติอื่นที่อยู่ล้อมรอบ. ตามคำกล่าวของโมเซภายหลังการทบทวนพระพรต่าง ๆ ตามคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่า “บรรดาชนประเทศทั่วโลกจะรู้เห็นว่าเจ้าทั้งหลายจะมีชื่อตามพระนามแห่งพระยะโฮวา; และเขาจะกลัวเจ้าทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 28:10) พระเจ้าทรงประทานสติปัญญาและความอุดมมั่งคั่งแก่ซะโลโมก็เพราะความเชื่อของท่าน. ระหว่างสมัยที่ซะโลโมทรงปกครอง ชาตินี้มีความเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขเป็นเวลานาน. เกี่ยวกับยุคนั้น เราได้อ่านว่า “มีคนมาจากนานาประเทศเพื่อจะได้ฟังพระสติปัญญากษัตริย์ซะโลโม, คือมาจากกษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก, คือผู้ที่ได้ยินถึงพระสติปัญญาของพระองค์แล้ว.” (1 กษัตริย์ 4:25, 29, 30, 34) ผู้หนึ่งที่โดดเด่นในบรรดาผู้มาเยี่ยมเยือนซะโลโมคือราชินีแห่งซะบา. หลังจากพระนางได้เห็นด้วยตนเองว่าคนในชาติและกษัตริย์ของประเทศนี้ได้รับพระพรของพระยะโฮวา พระนางจึงกล่าวดังนี้: “สาธุการแก่พระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน, ผู้ทรงพอพระทัยในท่านจนตั้งท่านไว้บนพระที่นั่งของพระองค์, ให้เป็นกษัตริย์ครอบครองแทนพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน: ก็เพราะพระเจ้าของท่านได้ทรงรักพวกยิศราเอล.”—2 โครนิกา 9:8.
13. การให้คำพยานที่มีประสิทธิภาพยิ่งของชาวยิศราเอลอาจได้แก่อะไร และพวกเรายังคงได้รับประโยชน์จากการให้คำพยานนี้โดยวิธีใด?
13 อัครสาวกเปาโลพูดถึงสิ่งซึ่งอาจเป็นการให้คำพยานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดของชาติยิศราเอล. เมื่อพิจารณาเรื่องยิศราเอลโดยกำเนิดกับประชาคมคริสเตียนในโรม ท่านพูดดังนี้: “เขาได้เป็นผู้รับมอบพระคัมภีร์โอวาทของพระเจ้าให้รักษา.” (โรม 3:1, 2) เริ่มต้นตั้งแต่โมเซ ชาวยิศราเอลบางคนที่ซื่อสัตย์ได้รับการดลใจให้จารึกการดำเนินงานของพระยะโฮวาที่เกี่ยวข้องกับชาติยิศราเอล รวมไปถึงคำแนะนำของพระองค์ ข้อกฎหมาย และคำพยากรณ์ต่าง ๆ ของพระองค์. จากสิ่งที่บันทึกไว้เหล่านี้ พวกผู้จารึกสมัยก่อนจึงให้การเป็นพยานแก่คนรุ่นหลังต่อ ๆ กันมา—รวมถึงคนรุ่นพวกเราในปัจจุบันนี้ด้วย—ว่ามีพระเจ้าแท้เพียงองค์เดียว และพระนามของพระองค์คือพระยะโฮวา.—ดานิเอล 12:9; 1 เปโตร 1:10-12.
14. เหตุใดบางคนซึ่งเป็นพยานถึงพระยะโฮวาจึงถูกข่มเหง?
14 เป็นเรื่องน่าเศร้า ชาติยิศราเอลมักจะไม่แสดงความเชื่ออยู่เนือง ๆ ครั้นแล้ว พระยะโฮวาจึงต้องส่งเหล่าพยานไปยังชนชาติของพระองค์เอง. พยานเหล่านี้หลายคนถูกข่มเหง. เปาโลบอกว่าบางคน “ถูกทดลองโดยคำเยาะเย้ยและถูกเฆี่ยน, แล้วก็ถูกจำและขังไว้ในคุกด้วย.” (เฮ็บราย 11:36) พวกเขาคือเหล่าพยานสัตย์ซื่ออย่างแท้จริง! เป็นเรื่องน่าเศร้าเพียงใดที่การกดขี่ข่มเหงมักจะมาจากเพื่อนร่วมชาติซึ่งเป็นชาติที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรไว้! (มัดธาย 23:31, 37) ที่จริง ความบาปของชาตินั้นใหญ่หลวงถึงขนาดที่พระยะโฮวาทรงให้กองทัพบาบูโลนยกมาทำลายกรุงยะรูซาเลมพร้อมทั้งพระวิหารประจำเมืองในปี 607 ก่อนสากลศักราช และพวกยิศราเอลส่วนใหญ่ที่เหลือรอดอยู่ก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย. (ยิระมะยา 20:4; 21:10) ครั้งนั้นเป็นอวสานของการให้คำพยานระดับชาติถึงพระนามพระยะโฮวาไหม? ไม่ใช่.
การพิสูจน์ตัวของพระเจ้าทั้งหลาย
15. ได้มีการให้คำพยานอย่างไรแม้ยามที่เป็นเชลยอยู่ในบาบูโลน?
15 แม้เป็นเชลยอยู่ในแผ่นดินบาบูโลน สมาชิกที่สัตย์ซื่อในชาตินี้ไม่ลังเลที่จะเป็นพยานบอกถึงความเป็นพระเจ้าและฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา. ยกตัวอย่าง โดยไม่หวั่นกลัวอันตรายใด ๆ ดานิเอลได้แก้สุบินของกษัตริย์นะบูคัดเนซัร, ได้ชี้แจงข้อความซึ่งปรากฏบนกำแพงให้เบละซาซัรทราบ, และเมื่ออยู่ตรงพักตร์กษัตริย์ดาระยาศ ก็ไม่ยอมประนีประนอมเรื่องการอธิษฐาน. ชายฮีบรูสามคนก็เช่นกัน เมื่อไม่ยอมกราบนมัสการรูปเคารพ จึงเป็นการให้คำพยานที่ดีเยี่ยมแก่นะบูคัดเนซัร.—ดานิเอล 3:13-18; 5:13-29; 6:4-27.
16. พระยะโฮวาทรงบอกไว้ล่วงหน้าอย่างไรถึงเรื่องชาวยิศราเอลจะได้กลับไปยังแผ่นดินของตน และพร้อมด้วยวัตถุประสงค์อะไร?
16 กระนั้นก็ดี พระยะโฮวาทรงประสงค์ไว้ว่าจะมีการให้คำพยานระดับชาติอีกครั้งหนึ่งบนผืนแผ่นดินยิศราเอล. ยะเอศเคลซึ่งกล่าวพยากรณ์ท่ามกลางชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบูโลน ได้เขียนเรื่องการปลงพระทัยของพระยะโฮวาเกี่ยวกับแผ่นดินที่ร้างเปล่าดังนี้: “เราจะให้คนคือเรือนยิศราเอลทั้งสิ้นทวีมากขึ้นในเจ้าทั้งหลาย, และหัวเมืองทั้งปวงจะเป็นที่อาศัย, และที่ที่ร้างเปล่าไปทั้งหลายนั้นจะกลับก่อกู้ขึ้น.” (ยะเอศเคล 36:10) เพราะเหตุใดพระยะโฮวาทรงกระทำเช่นนี้? ประการสำคัญก็เพื่อเป็นพยานแก่พระนามของพระองค์เอง. พระองค์ตรัสผ่านยะเอศเคลดังนี้: “เรือนยิศราเอลเอ๋ย, เราทำทั้งนี้มิได้เห็นแก่เจ้า, แต่ทว่าเพราะเห็นแก่พระนามอันบริสุทธิ์ของเรา, ที่เจ้าทั้งหลายทำให้เป็นที่ดูหมิ่นในนานาประเทศที่เจ้าไปอยู่นั้น.”—ยะเอศเคล 36:22; ยิระมะยา 50:28.
17. อะไรคือบริบทของถ้อยคำในยะซายา 43:10?
17 ในคราวที่พยากรณ์เรื่องการกลับคืนสู่ประเทศของชาวยิศราเอลจากการเป็นเชลยในบาบูโลนนั้นเองที่ผู้พยากรณ์ยะซายาได้รับการดลใจให้เขียนข้อความในยะซายา 43:10 โดยบอกว่ายิศราเอลเป็นพยานของพระยะโฮวา ผู้รับใช้ของพระองค์. พระธรรมยะซายาบท 43 และบท 44 ได้พรรณนาถึงพระยะโฮวาว่าทรงเป็นผู้สร้าง, เป็นผู้ทรงปั้นชาตินี้ขึ้นมา, ทรงเป็นพระเจ้า, เป็นองค์บริสุทธิ์, เป็นผู้ช่วยพวกเขาให้รอด, เป็นผู้ไถ่, เป็นกษัตริย์, และเป็นผู้ได้สร้างชาติยิศราเอล. (ยะซายา 43:3, 14, 15; 44:2) สาเหตุที่ปล่อยชาติยิศราเอลถูกต้อนเป็นเชลยในต่างแดนก็เพราะครั้งแล้วครั้งเล่าชาตินี้ไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระองค์อย่างเหมาะสมตามสถานภาพดังกล่าว. อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงเป็นไพร่พลของพระองค์. พระยะโฮวาตรัสแก่พวกเขาดังนี้: “อย่ากลัวเลย, เพราะเราทรงไถ่ค่าตัวเจ้าแล้ว. เราได้เรียกเจ้าตามชื่อของเจ้า, เจ้าเป็นคนของเรา.” (ยะซายา 43:1) การเป็นเชลยของชาวยิศราเอลในบาบูโลนจะสิ้นสุดลง.
18. การปลดปล่อยชาติยิศราเอลออกจากบาบูโลนยืนยันอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแท้เพียงองค์เดียว?
18 อันที่จริง พระยะโฮวาทรงทำให้การปลดปล่อยยิศราเอลออกจากบาบูโลนนั้นเป็นการพิสูจน์ตัวของพระเจ้าทั้งหลาย. พระองค์ทรงท้าพระเจ้าแห่งนานาชาติให้นำพยานของตนมาให้การ และพระองค์ได้ทรงเรียกยิศราเอลว่าพยานของพระองค์. (ยะซายา 43:9, 12) เมื่อทรงหักแอกการเป็นเชลยของยิศราเอล พระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าบรรดาพระเจ้าแห่งบาบูโลนไม่ใช่พระเจ้าเสียเลย และพิสูจน์ว่าพระองค์แต่ผู้เดียวทรงเป็นพระเจ้าแท้. (ยะซายา 43:14, 15) ประมาณ 200 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ เมื่อทรงระบุว่าไซรัสแห่งเปอร์เซียจะเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ในการปลดปล่อยชาวยิว พระองค์ให้หลักฐานเพิ่มอีกถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์. (ยะซายา 44:28) ชาติยิศราเอลจะต้องได้รับการปลดปล่อย. เพราะเหตุใด? พระยะโฮวาทรงแถลงดังนี้: “เพื่อเขา [ยิศราเอล] จะได้สรรเสริญเรา.” (ยะซายา 43:21) ทั้งนี้ เป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับการให้คำพยาน.
19. เป็นการให้คำพยานอย่างไรจากคำประกาศของไซรัสที่ให้ชาวยิศราเอลกลับกรุงยะรูซาเลม และจากการกระทำของชาวยิวที่ซื่อสัตย์หลังจากเดินทางกลับครั้งนั้น?
19 ครั้นถึงเวลา ไซรัสแห่งเปอร์เซียก็มีชัยเหนือบาบูโลนอย่างที่ได้พยากรณ์ไว้. แม้ไซรัสเป็นชาวนอกรีต แต่เขาได้ประกาศความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวาในคราวที่มีคำประกาศแก่ชาวยิวในบาบูโลนดังนี้: “ท่ามกลางคนทั้งปวงมีผู้หนึ่งผู้ใดที่เป็นไพร่พลของพระองค์? ขอพระองค์จงทรงสถิตอยู่ด้วยผู้นั้น, และให้ผู้นั้นขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลม ณ ประเทศยูดา, และทำการสร้างโบสถ์วิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, คือพระองค์ผู้ทรงพระนามปรากฏ ณ กรุงยะรูซาเลม.” (เอษรา 1:3) ชาวยิวหลายคนตอบรับ. พวกเขาเดินทางรอนแรมกลับไปถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา แล้วได้ตั้งแท่นบูชาขึ้นตรงที่พระวิหารหลังก่อนตั้งอยู่. แม้มีความท้อแท้และถูกขัดขวางอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถบูรณะพระวิหารพร้อมทั้งกรุงยะรูซาเลมจนเสร็จ. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ตามที่พระยะโฮวาเองตรัสว่า “ไม่ใช่ด้วยกำลังแลฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา.” (ซะคาระยา 4:6) ความสำเร็จเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานเพิ่มขึ้นอีกว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแท้.
20. แม้ชาวยิศราเอลอ่อนแอและบกพร่อง อาจกล่าวได้อย่างไรเกี่ยวด้วยการที่เขาให้คำพยานถึงพระนามของพระยะโฮวาในโลกสมัยโบราณ?
20 ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวายังคงใช้ชาติยิศราเอลเป็นพยานของพระองค์อย่างต่อเนื่อง แม้เป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์พร้อมและบางครั้งผู้คนดื้อกระด้าง. ในโลกก่อนยุคคริสเตียน ชาตินี้พร้อมทั้งพระวิหารประจำชาติ และระบบปุโรหิตเคยเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นศูนย์รวมการนมัสการแท้ทั่วโลก. ใครก็ตามที่อ่านเรื่องราวในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่าด้วยการดำเนินงานของพระยะโฮวากับชาติยิศราเอลจะไม่สงสัยแม้แต่น้อยที่ว่ามีพระเจ้าแท้องค์เดียวเท่านั้น และพระนามของพระองค์คือยะโฮวา. (พระบัญญัติ 6:4; ซะคาระยา 14:9) อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องมีการให้คำพยานอย่างใหญ่โตมากยิ่งกว่านั้นเกี่ยวกับพระนามของพระยะโฮวา และเราจะพิจารณาจุดนี้ในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
▫ อับราฮามได้ให้คำพยานโดยวิธีใดว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแท้?
▫ คุณลักษณะโดดเด่นอะไรของโมเซได้ทำให้ท่านสามารถเป็นพยานที่ซื่อสัตย์?
▫ โดยวิธีใดชาวยิศราเอลได้ให้คำพยานระดับชาติเกี่ยวด้วยพระยะโฮวา?
▫ การปลดปล่อยชาวยิศราเอลเป็นอิสระจากบาบูโลนแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแท้เพียงองค์เดียว?
[รูปภาพหน้า 10]
โดยความเชื่อและการเชื่อฟังของท่าน อับราฮามได้ให้คำพยานอย่างดีเยี่ยมว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า