บท 13
เหตุผลที่การดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้านำมาซึ่งความสุข
1. ทำไมเรากล่าวได้ว่า แนวทางของพระยะโฮวานำมาซึ่งความสุข?
พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” และพระองค์ทรงประสงค์ให้คุณเพลิดเพลินกับชีวิต. (1 ติโมเธียว 1:11) โดยดำเนินในแนวทางของพระองค์ คุณสามารถได้รับประโยชน์และประสบความสงบสุขที่ล้ำลึกและยั่งยืน ดุจดังแม่น้ำที่ไหลอยู่เสมอ. การดำเนินในแนวทางของพระเจ้ายังกระตุ้นคนเราให้ปฏิบัติกิจแห่งความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง “ดังคลื่นในมหาสมุทร.” นี่นำมาซึ่งความสุขแท้.—ยะซายา 48:17, 18.
2. คริสเตียนจะมีความสุขได้อย่างไรถึงแม้เขาได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายในบางครั้ง?
2 บางคนอาจคัดค้านว่า ‘บางครั้งคนเรารับทุกข์เนื่องจากทำสิ่งที่ถูกต้อง.’ จริง และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัครสาวกของพระเยซู. อย่างไรก็ดี แม้ถูกข่มเหง พวกเขายังชื่นชมยินดีและ “ประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์” ต่อไป. (กิจการ 5:40-42, ล.ม.) เราสามารถเรียนรู้บทเรียนสำคัญจากเรื่องนี้ได้. บทเรียนหนึ่งก็คือ การที่เราดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้ามิได้รับประกันว่า เราจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีเสมอไป. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “อันที่จริง ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) เหตุผลสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ซาตานและโลกของมันต่อต้านคนเหล่านั้นซึ่งดำเนินชีวิตในแนวทางที่เลื่อมใสพระเจ้า. (โยฮัน 15:18, 19; 1 เปโตร 5:8) แต่ความสุขแท้มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ความสุขแท้เกิดจากความมั่นใจที่ว่า เราทำสิ่งที่ถูกต้องและจึงได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า.—มัดธาย 5:10-12; ยาโกโบ 1:2, 3; 1 เปโตร 4:13, 14.
3. การนมัสการพระยะโฮวาควรมีผลกระทบต่อชีวิตของคนเราอย่างไร?
3 มีผู้ที่รู้สึกว่า เขาอาจได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าได้โดยการกระทำด้วยความเลื่อมใสเป็นครั้งคราว แต่อาจลืมเรื่องพระองค์ไปในโอกาสอื่น. การนมัสการแท้ของพระเจ้ายะโฮวามิได้เป็นเช่นนั้น. การนมัสการแท้มีผลกระทบต่อความประพฤติของคนเราตลอดเวลาที่เขาตื่นอยู่วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า. นี่เป็นเหตุผลที่การนมัสการแท้ถูกเรียกว่า “ทาง” นั้นด้วย. (กิจการ 19:9; ยะซายา 30:21) นั่นเป็นแนวทางชีวิตที่เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งเรียกร้องให้เราพูดและทำอย่างที่ประสานกับพระคำของพระเจ้า.
4. ทำไมเป็นประโยชน์ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า?
4 เมื่อผู้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลใหม่ ๆ เข้าใจว่า เขาต้องทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย เขาอาจสงสัยว่า ‘การดำเนินชีวิตที่เลื่อมใสในพระเจ้าคุ้มค่าจริง ๆ ไหม?’ คุณแน่ใจได้ว่าคุ้มค่า. เพราะเหตุใด? เพราะ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” และฉะนั้น แนวทางของพระองค์จึงมุ่งหมายจะเป็นประโยชน์แก่เรา. (1 โยฮัน 4:8) พระเจ้ายังทรงไว้ซึ่งสติปัญญาและทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา. เนื่องจากพระเจ้ายะโฮวาทรงไว้ซึ่งฤทธานุภาพทุกประการ พระองค์ทรงสามารถเสริมกำลังเราให้ทำได้สำเร็จตามความปรารถนาจะทำให้พระองค์พอพระทัยโดยการเลิกนิสัยไม่ดี. (ฟิลิปปอย 4:13) ขอให้เราพิจารณาหลักการบางอย่างที่รวมอยู่ในการดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าและดูว่าการนำหลักการนั้นมาใช้นำมาซึ่งความสุขอย่างไร.
ความซื่อสัตย์ยังผลด้วยความสุข
5. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรเรื่องการโกหกและการขโมย?
5 พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง.” (บทเพลงสรรเสริญ 31:5) ไม่ต้องสงสัย คุณคงปรารถนาจะติดตามแบบอย่างของพระองค์และเป็นที่รู้จักฐานะผู้มีความสัตย์จริง. ความซื่อสัตย์นำไปสู่ความนับถือต่อตัวเองและความรู้สึกเป็นสุข. อย่างไรก็ดี เนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์เป็นเรื่องธรรมดาในโลกที่ชั่วช้านี้ คริสเตียนจำต้องได้รับข้อเตือนใจนี้คือ “จงต่างคนต่างพูดตามความจริงกับเพื่อนบ้าน . . . ฝ่ายคนที่เคยลักขโมยก็อย่าให้ลักขโมยอีกต่อไป แต่ให้ใช้มือกระทำการงาน . . . เพื่อจะได้มีอะไร ๆ แจกให้แก่คนเหล่านั้นที่ขัดสน.” (เอเฟโซ 4:25, 28) ลูกจ้างที่เป็นคริสเตียนทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเวลาทำงาน. เขาไม่เอาสิ่งที่เป็นของนายจ้างไป นอกจากได้รับอนุญาต. ไม่ว่าอยู่ในที่ทำงาน, ในโรงเรียน, หรือที่บ้าน ผู้นมัสการพระยะโฮวาต้อง ‘ซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.’ (เฮ็บราย 13:18, ล.ม.) ใครที่มีนิสัยโกหกหรือขโมยไม่อาจได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าได้.—พระบัญญัติ 5:19; วิวรณ์ 21:8.
6. ความซื่อสัตย์ของบุคคลที่เลื่อมใสในพระเจ้าอาจนำเกียรติมาสู่พระยะโฮวาโดยวิธีใด?
6 การเป็นคนซื่อสัตย์ยังผลด้วยพระพรหลายประการ. ซาลีนาเป็นแม่ม่ายชาวแอฟริกันที่ขัดสนซึ่งรักพระเจ้ายะโฮวาและหลักการอันชอบธรรมของพระองค์. วันหนึ่ง เธอพบกระเป๋าถือใบหนึ่งมีสมุดบัญชีธนาคารและเงินจำนวนมาก. โดยใช้สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ เธอสามารถหาพบเจ้าของ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าที่ถูกปล้น. ชายคนนั้นแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อซาลีนาแม้จะไม่สบายมาก ก็ไปที่บ้านเขาแล้วคืนของที่อยู่ในกระเป๋าทั้งหมด. เขาบอกว่า “ความซื่อสัตย์เช่นนี้ต้องได้รับผลตอบแทน” แล้วส่งเงินจำนวนหนึ่งให้เธอ. ที่สำคัญกว่านั้น ชายคนนี้ชมเชยศาสนาของซาลีนา. ถูกแล้ว ความซื่อสัตย์ประดับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ ถวายเกียรติพระเจ้ายะโฮวา และนำความสุขมาสู่ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระองค์.—ติโต 2:10; 1 เปโตร 2:12.
ความเอื้อเฟื้อนำมาซึ่งความสุข
7. มีอะไรผิดเกี่ยวกับการพนัน?
7 มีความสุขในการเป็นคนเอื้อเฟื้อ ส่วนคนที่โลภจะ “ไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก.” (1 โกรินโธ 6:10, ล.ม.) ความโลภในรูปแบบหนึ่งซึ่งมีทั่วไปก็คือการพนัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะได้เงินจากการสูญเสียของคนอื่น. พระยะโฮวาไม่พอพระทัยคนที่ “ละโมบผลกำไรโดยมิชอบ.” (1 ติโมเธียว 3:8, ล.ม.) แม้แต่ในที่ซึ่งการพนันถูกต้องตามกฎหมายและผู้คนเล่นการพนันเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เขาก็อาจกลายเป็นคนติดการพนันและส่งเสริมกิจปฏิบัติที่ทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว. บ่อยครั้งการพนันนำความลำบากมาสู่ครอบครัวของผู้เล่น ซึ่งอาจเหลือเงินไม่มากนักที่จะซื้อสิ่งจำเป็น เช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม.—1 ติโมเธียว 6:10.
8. พระเยซูทรงวางแบบอย่างที่ดีไว้อย่างไรเรื่องความเอื้อเฟื้อ และเราจะเป็นคนเอื้อเฟื้อได้อย่างไร?
8 เนื่องจากความเอื้อเฟื้อด้วยความรัก คริสเตียนประสบความยินดีในการช่วยคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมความเชื่อที่ขัดสน. (ยาโกโบ 2:15, 16) ก่อนพระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลก พระองค์ทรงสังเกตเห็นความเอื้อเฟื้อของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ. (กิจการ 14:16, 17) พระเยซูเองทรงสละเวลา, ความสามารถ, และกระทั่งชีวิตของพระองค์เพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ. ดังนั้น พระองค์ทรงมีคุณสมบัติที่จะตรัสว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) พระเยซูยังตรัสชมหญิงม่ายยากจนซึ่งได้ใส่เงินเหรียญเล็ก ๆ สองเหรียญในตู้เก็บเงินถวายด้วยใจเอื้อเฟื้อ เพราะเธอเอา “เงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.” (มาระโก 12:41-44) ชนยิศราเอลโบราณและคริสเตียนศตวรรษแรกวางแบบอย่างเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อด้วยใจยินดีในการสนับสนุนด้านวัตถุแก่ประชาคมและงานราชอาณาจักร. (1 โครนิกา 29:9; 2 โกรินโธ 9:11-14) นอกจากการบริจาคด้านวัตถุเพื่อจุดประสงค์เหล่านี้แล้ว คริสเตียนสมัยปัจจุบันมีความสุขที่ได้ถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าและใช้ชีวิตของเขาในการรับใช้พระองค์. (โรม 12:1; เฮ็บราย 13:15) พระยะโฮวาอวยพระพรพวกเขาที่ใช้เวลา, พลัง, และทรัพยากรอื่น ๆ ของเขา รวมทั้งเงินทุน เพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้และส่งเสริมงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรทั่วโลก.—สุภาษิต 3:9, 10.
ปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมความสุข
9. มีอะไรผิดเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์มากเกินไป?
9 เพื่อจะมีความสุข คริสเตียนต้อง ‘รักษาความสามารถในการคิด.’ (สุภาษิต 5:1, 2, ล.ม.) เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ เขาต้องอ่านและคิดรำพึงถึงพระคำของพระเจ้าและสรรพหนังสือที่มีประโยชน์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. แต่มีสิ่งต่าง ๆ ที่พึงหลีกเลี่ยง. ยกตัวอย่าง การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้คนเราสูญเสียการควบคุมความคิด. ในสภาพดังกล่าว หลายคนเข้าไปพัวพันในพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม, ก่อความรุนแรง, และทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงตาย. ไม่แปลกที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า คนเมาเหล้าจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก! (1 โกรินโธ 6:10) โดยตั้งใจที่จะคงไว้ซึ่ง “สุขภาพจิตดี” ต่อไป คริสเตียนแท้หลีกเลี่ยงการเมาเหล้า และนี่ช่วยส่งเสริมความสุขในท่ามกลางพวกเขา.—ติโต 2:2-6, ล.ม.
10. (ก) ทำไมคริสเตียนไม่ใช้ยาสูบ? (ข) มีผลประโยชน์อะไรจากการเลิกนิสัยเสพย์ติด?
10 ร่างกายที่สะอาดส่งเสริมให้มีความสุข. กระนั้น หลายคนติดสารที่เป็นอันตราย. ลองพิจารณาการใช้ยาสูบเป็นตัวอย่าง. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การสูบบุหรี่ “สังหารชีวิตสามล้านคนทุกปี.” การเลิกนิสัยใช้ยาสูบอาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีอาการถอนในช่วงหยุดสูบ. ในทางตรงข้าม ผู้ที่เคยสูบบุหรี่หลายคนพบว่า เขามีสุขภาพดีขึ้นและมีเงินมากขึ้นสำหรับสิ่งจำเป็นในครอบครัว. ถูกแล้ว การเอาชนะนิสัยการใช้ยาสูบหรือการติดสารอื่น ๆ ที่ก่อความเสียหายนั้นจะส่งเสริมให้มีร่างกายที่สะอาด, สติรู้สึกผิดชอบที่บริสุทธิ์, และความสุขแท้.—2 โกรินโธ 7:1.
ความสุขในชีวิตสมรส
11. จำต้องทำอะไรเพื่อจะมีชีวิตสมรสที่น่านับถือซึ่งถูกต้องตามกฎหมายและยืนนาน?
11 คนเหล่านั้นที่อยู่กันฉันสามีภรรยาควรทำให้แน่ใจว่า การสมรสของเขามีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง. (มาระโก 12:17) เขาต้องมองดูการสมรสว่าเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญด้วย. จริง การแยกกันอยู่อาจจำเป็นหากมีการจงใจไม่เลี้ยงดู, การทำทารุณเกินขนาด, หรือการทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณเป็นอันตรายอย่างแท้จริง. (1 ติโมเธียว 5:8; ฆะลาเตีย 5:19-21) แต่ถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่ 1 โกรินโธ 7:10-17 สนับสนุนคู่สมรสให้คงอยู่ด้วยกันต่อไป. แน่นอน เพื่อจะมีความสุขแท้ เขาต้องซื่อสัตย์ต่อกัน. เปาโลเขียนว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง และให้เตียงสมรสปราศจากความชั่วช้า เพราะคนมีชู้ และคนที่ล่วงประเวณีนั้น พระเจ้าจะทรงพิพากษาโทษเขา.” (เฮ็บราย 13:4, ฉบับแปลใหม่) คำว่า “เตียงสมรส” ใช้หมายถึงการร่วมประเวณีระหว่างชายและหญิงที่สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ไม่อาจพรรณนาถึงเพศสัมพันธ์นอกเหนือจากนี้ เช่น แต่งงานกับภรรยามากกว่าหนึ่งคน ว่าเป็น “ที่น่านับถือแก่คนทั้งปวง” ได้. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า การร่วมประเวณีก่อนแต่งงานและการรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิด.—โรม 1:26, 27; 1 โกรินโธ 6:18.
12. ผลเลวร้ายจากการผิดประเวณีมีอะไรบ้าง?
12 การผิดประเวณีอาจให้ความเพลิดเพลินทางกายชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ยังผลด้วยความสุขแท้. การประพฤติอย่างนั้นทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัยและอาจก่อให้เกิดแผลเป็นในสติรู้สึกผิดชอบของคนเราได้. (1 เธซะโลนิเก 4:3-5) ผลอันน่าเศร้าจากเพศสัมพันธ์ที่ผิดคลองธรรมอาจได้แก่โรคเอดส์และโรคอื่น ๆ ที่ติดต่อทางเพศ. รายงานหนึ่งทางการแพทย์แถลงว่า “มีการกะประมาณว่า มากกว่า 250 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อโรคหนองใน และประมาณ 50 ล้านคนติดเชื้อซิฟิลิสทุกปี.” ยังมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่ต้องการด้วย. สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศรายงานว่า ทั่วโลก ทุกปีมีเด็กสาวอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปีกว่า 15 ล้านคนตั้งครรภ์ และหนึ่งในสามของเด็กสาวเหล่านั้นทำแท้ง. การวิจัยรายหนึ่งแสดงว่า ในประเทศหนึ่งแถบแอฟริกา การตายของหญิงสาววัยรุ่น 72 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดมาจากโรคแทรกซ้อนจากการทำแท้ง. ผู้ทำผิดประเวณีบางคนอาจรอดจากการติดโรคและการตั้งครรภ์ แต่ไม่รอดจากความเสียหายด้านอารมณ์. หลายคนหมดความนับถือต่อตัวเองและถึงกับเกลียดตัวเองด้วยซ้ำ.
13. การเล่นชู้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรอีก และอะไรรออยู่ข้างหน้าสำหรับคนเหล่านั้นที่ยังคงผิดประเวณีและเล่นชู้?
13 แม้การเล่นชู้อาจได้รับการอภัย แต่นั่นก็เป็นพื้นฐานที่ชอบด้วยเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งฝ่ายที่ไม่มีความผิดจะหย่าได้. (มัดธาย 5:32; เทียบกับโฮเซอา 3:1-5.) เมื่อการผิดศีลธรรมดังกล่าวยังผลเป็นการสิ้นสุดของการสมรส นี่อาจทิ้งรอยแผลลึกทางด้านความรู้สึกไว้กับฝ่ายที่ไม่มีความผิดและกับลูก ๆ. เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวมนุษย์ พระคำของพระเจ้าชี้ชัดว่า การพิพากษาอย่างเป็นผลร้ายจะตกแก่คนผิดประเวณีและคนเล่นชู้ซึ่งไม่กลับใจ. นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดว่า คนเหล่านั้นที่ประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ “จะรับส่วนในแผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] ของพระเจ้าไม่ได้.”—ฆะลาเตีย 5:19, 21.
“ไม่เป็นส่วนของโลก”
14. (ก) การไหว้รูปเคารพในรูปแบบใดบ้างที่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระเจ้าหลีกเลี่ยง? (ข) มีการจัดเตรียมเครื่องนำทางอะไรไว้ที่โยฮัน 17:14 และยะซายา 2:4?
14 ผู้ที่ปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและได้รับพระพรแห่งราชอาณาจักรหลีกเลี่ยงการไหว้รูปเคารพไม่ว่าในรูปแบบใด. คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า เป็นการผิดที่จะทำและนมัสการรูปเคารพ รวมทั้งรูปของพระคริสต์, หรือรูปของมาเรีย มารดาของพระเยซู. (เอ็กโซโด 20:4, 5; 1 โยฮัน 5:21) ดังนั้น คริสเตียนแท้ไม่บูชาภาพวาด, ไม้กางเขน, รูปปั้น. พวกเขาหลีกเลี่ยงการไหว้รูปเคารพในแบบแฝงเร้น เช่น การกระทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธาต่อธงและร้องเพลงที่สดุดีประเทศชาติ. เมื่อถูกบีบให้ทำการดังกล่าว พวกเขานึกถึงคำตรัสของพระเยซูต่อซาตานที่ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้านั่นแหละ ที่เจ้าต้องนมัสการ และแด่พระองค์ผู้เดียวที่เจ้าต้องถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์.” (มัดธาย 4:8-10, ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า พวกสาวกของพระองค์ “ไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:14, ล.ม.) นี่หมายถึงการเป็นกลางในเรื่องการเมืองและดำเนินชีวิตอย่างสันติประสานกับยะซายา 2:4 ซึ่งกล่าวว่า “พระองค์ [พระเจ้ายะโฮวา] จะทรงวินิจฉัยความระหว่างประชาชาติ, และจะทรงตัดสินเรื่องของมหาชน: และเขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง; ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.”
15. บาบูโลนใหญ่คืออะไร และคนใหม่ที่เข้ามาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายคนทำอะไรเพื่อออกจากบาบูโลนใหญ่?
15 การ “ไม่เป็นส่วนของโลก” ยังหมายถึงการตัดความสัมพันธ์ทุกอย่างกับ “บาบูโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. การนมัสการที่ไม่สะอาดแผ่กระจายจากบาบูโลนโบราณไปจนกระทั่งมีอำนาจครอบงำด้านศาสนาอย่างที่เป็นผลเสียต่อประชาชนทั่วแผ่นดินโลก. “บาบูโลนใหญ่” รวมเอาทุกศาสนาซึ่งมีคำสอนและกิจปฏิบัติที่ไม่ประสานกับความรู้ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 17:1, 5, 15) ไม่มีผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาคนใดจะเข้าร่วมในกิจกรรมรวมความเชื่อ โดยมีส่วนในการนมัสการร่วมกับต่างศาสนา หรือโดยมีมิตรภาพฝ่ายวิญญาณกับส่วนใด ๆ ของบาบูโลนใหญ่. (อาฤธโม 25:1-9; 2 โกรินโธ 6:14) เพราะฉะนั้น คนใหม่ที่เข้ามาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายคนส่งจดหมายลาออกถึงองค์การศาสนาซึ่งเขาเคยสังกัด. การทำเช่นนี้นำเขามาใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระเจ้าเที่ยงแท้ ดังที่ทรงสัญญาไว้ว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เหตุฉะนั้น จงออกมาจากท่ามกลางพวกเขา และแยกตัวอยู่ต่างหาก และเลิกแตะต้องสิ่งที่เป็นมลทิน’; ‘และเราจะรับเจ้าทั้งหลายไว้.’” (2 โกรินโธ 6:17, ล.ม.; วิวรณ์ 18:4, 5) การยอมรับจากพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเราเช่นนั้นเป็นสิ่งที่คุณปรารถนาอย่างแรงกล้ามิใช่หรือ?
การวิเคราะห์ดูการฉลองประจำปี
16. ทำไมคริสเตียนแท้ไม่ฉลองคริสต์มาส?
16 ชีวิตที่เลื่อมใสในพระเจ้าปลดปล่อยเราจากการฉลองวันหยุดทางโลกซึ่งเป็นภาระอยู่บ่อย ๆ. ยกตัวอย่าง คัมภีร์ไบเบิลมิได้เปิดเผยวันประสูติที่แน่ชัดของพระเยซู. บางคนอาจร้องออกมาว่า ‘ฉันเข้าใจว่าพระเยซูประสูติวันที่ 25 ธันวาคม!’ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ฤดูใบไม้ผลิ ปี ส.ศ. 33 ตอนพระชนมายุ 33 พรรษาครึ่ง. นอกจากนี้ ในคราวที่พระองค์ประสูตินั้น คนเลี้ยงแกะ “อยู่ในทุ่งนาเฝ้าฝูงแกะของเขาในเวลากลางคืน.” (ลูกา 2:8) ในประเทศอิสราเอล ปลายเดือนธันวาคมเป็นฤดูหนาวที่มีฝนตก ซึ่งระหว่างช่วงนั้นแกะจะถูกกักไว้ในที่กำบังตอนกลางคืนเพื่อป้องกันมันจากอากาศหนาว. ที่จริง ชาวโรมันจัดวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันประสูติของพระอาทิตย์ เทพเจ้าของพวกเขา. หลายศตวรรษหลังจากพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก คริสเตียนที่ออกหากได้รับเอาวันนี้มาใช้กับการฉลองการประสูติของพระคริสต์. ฉะนั้น คริสเตียนแท้จึงไม่ฉลองคริสต์มาสหรือวันหยุดอื่นใดที่อาศัยความเชื่อทางศาสนาเท็จ. เนื่องจากพวกเขามอบความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะให้พระยะโฮวา พวกเขาจึงไม่ฉลองวันหยุดงานซึ่งบูชามนุษย์หรือประเทศชาติที่มีบาปนั้นด้วย.
17. ทำไมชนที่เลื่อมใสในพระเจ้าไม่ฉลองวันเกิด และทำไมเด็ก ๆ คริสเตียนยังมีความสุข?
17 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเฉพาะการฉลองวันเกิดสองรายเท่านั้น ซึ่งทั้งสองรายเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ได้รับใช้พระเจ้า. (เยเนซิศ 40:20-22; มัดธาย 14:6-11) เนื่องจากพระคัมภีร์ไม่ได้เปิดเผยวันประสูติของพระเยซูคริสต์มนุษย์สมบูรณ์ ทำไมเราจะให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่วันเกิดของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ล่ะ? (ท่านผู้ประกาศ 7:1) แน่นอน บิดามารดาผู้เลื่อมใสพระเจ้าไม่ได้รอวันพิเศษที่จะแสดงความรักต่อบุตรของตน. เด็กหญิงคริสเตียนวัย 13 ปีคนหนึ่งบอกว่า “หนูกับครอบครัวสนุกสนานกันมาก. . . . หนูสนิทกับคุณพ่อคุณแม่มาก และเมื่อคนอื่นถามว่า ทำไมหนูไม่ฉลองวันหยุด หนูบอกเขาว่า หนูฉลองอยู่แล้วทุกวัน.” เยาวชนคริสเตียนวัย 17 ปีบอกว่า “ในบ้านของเรา มีการให้ของขวัญกันตลอดทั้งปี.” เมื่อมีการให้ของขวัญโดยไม่มีใครกระตุ้น ผลก็คือมีความสุขมากกว่า.
18. การฉลองประจำปีอย่างเดียวอะไรที่พระเยซูทรงบัญชาให้พวกสาวกถือรักษา และนั่นเตือนเราให้ระลึกถึงอะไร?
18 สำหรับคนเหล่านั้นซึ่งมุ่งติดตามชีวิตที่เลื่อมใสในพระเจ้า มีวันหนึ่งในแต่ละปีที่พึงฉลองเป็นพิเศษ. นั่นคือการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า บ่อยครั้งเรียกว่า อนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์. พระเยซูทรงบัญชาสาวกของพระองค์ในเรื่องนั้นว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (ลูกา 22:19, 20; 1 โกรินโธ 11:23-25) เมื่อพระเยซูทรงตั้งอาหารมื้อนี้ขึ้นในคืนวันที่ 14 เดือนไนซาน ปี ส.ศ. 33 พระองค์ทรงใช้ขนมปังไม่มีเชื้อและเหล้าองุ่นแดง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงร่างกายมนุษย์ของพระองค์ที่ปราศจากบาป และพระโลหิตที่สมบูรณ์พร้อมของพระองค์. (มัดธาย 26:26-29) คริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าร่วมรับประทานเครื่องหมายเหล่านี้. พวกเขาถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีใหม่และคำสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักร และพวกเขามีความหวังทางภาคสวรรค์. (ลูกา 12:32; 22:20, 28-30; โรม 8:16, 17; วิวรณ์ 14:1-5) กระนั้น ทุกคนที่เข้าร่วมในค่ำวันที่ตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซานตามปฏิทินโบราณของชาวยิวต่างก็ได้รับผลประโยชน์. พวกเขาได้รับการเตือนให้ระลึกถึงความรักที่พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์ได้สำแดงโดยเครื่องบูชาไถ่บาปซึ่งทำให้ชีวิตถาวรเป็นไปได้สำหรับคนเหล่านั้นที่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า.—มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16.
งานอาชีพและความบันเทิง
19. คริสเตียนเผชิญปัญหาอะไรในการทำมาหากิน?
19 คริสเตียนแท้อยู่ภายใต้พันธะหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับตน. การบรรลุผลในเรื่องนี้ทำให้หัวหน้าครอบครัวมีความรู้สึกพึงพอใจ. (1 เธซะโลนิเก 4:11, 12) แน่นอน หากงานอาชีพของคริสเตียนขัดกับคัมภีร์ไบเบิล นี่คงจะทำให้เขาสูญเสียความสุข. กระนั้น บางครั้งเป็นเรื่องยากที่คริสเตียนจะพบงานอาชีพที่ประสานกับมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิล. ยกตัวอย่าง ลูกจ้างบางคนถูกสั่งให้หลอกลูกค้า. ในอีกด้านหนึ่ง นายจ้างหลายคนจะยินยอมโอนอ่อนตามสติรู้สึกผิดชอบของคนงานที่ซื่อสัตย์ ไม่ต้องการเสียลูกจ้างที่ไว้ใจได้. อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณแน่ใจได้ว่า พระเจ้าจะอวยพระพรความพยายามของคุณที่จะได้งานอาชีพซึ่งยังคงทำให้คุณมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด.—2 โกรินโธ 4:2.
20. ทำไมเราควรเลือกเฟ้นเมื่อหาความบันเทิง?
20 เนื่องจากพระเจ้าประสงค์ให้ผู้รับใช้ของพระองค์มีความสุข เราต้องให้งานหนักสมดุลกับช่วงเวลาแห่งนันทนาการและการพักผ่อนที่ทำให้สดชื่น. (มาระโก 6:31; ท่านผู้ประกาศ 3:12, 13) โลกของซาตานส่งเสริมความบันเทิงที่ไม่ยำเกรงพระเจ้า. แต่เพื่อทำให้พระเจ้าพอพระทัย เราต้องเลือกหนังสือที่เราอ่าน, รายการวิทยุและดนตรีที่เราฟัง, และคอนเสิร์ต, ภาพยนตร์, ละคร, รายการโทรทัศน์, และวีดิทัศน์ที่เราดู. หากความบันเทิงที่เราเลือกในอดีตขัดกับคำเตือนในข้อคัมภีร์ดังเช่น พระบัญญัติ 18:10-12, บทเพลงสรรเสริญ 11:5, และเอเฟโซ 5:3-5 แล้ว เราจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและจะมีความสุขมากขึ้นหากเราทำการปรับปรุงแก้ไข.
ความนับถือต่อชีวิตและเลือด
21. ความนับถือต่อชีวิตควรมีผลกระทบอย่างไรต่อทัศนะของเราเรื่องการทำแท้ง รวมทั้งนิสัยและความประพฤติของเราด้วย?
21 เพื่อจะมีความสุขแท้ เราต้องถือว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังที่พระยะโฮวาทรงถือ. พระคำของพระองค์ห้ามเราฆ่าคน. (มัดธาย 19:16-18) ที่จริง กฎหมายของพระเจ้าที่ให้แก่ชาติยิศราเอลแสดงว่า พระองค์ทรงถือว่าทารกในครรภ์เป็นชีวิตที่มีค่า ไม่ใช่สิ่งที่พึงทำลาย. (เอ็กโซโด 21:22, 23) เหตุฉะนั้น เราต้องไม่ปฏิบัติราวกับว่าชีวิตไม่ค่อยมีค่าโดยใช้ยาสูบ, ใช้ร่างกายของเราอย่างผิด ๆ ด้วยยาเสพย์ติดหรือแอลกอฮอล์, หรือเสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น. และเราไม่ควรเข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ที่คุกคามชีวิต หรือละเลยข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัย ซึ่งอาจยังผลเป็นความผิดฐานทำให้เลือดตก.—พระบัญญัติ 22:8.
22. (ก) ทัศนะแบบพระเจ้าในเรื่องเลือดและการใช้เลือดนั้นคืออย่างไร? (ข) เลือดของใครเท่านั้นที่ช่วยชีวิตอย่างแท้จริง?
22 พระยะโฮวารับสั่งแก่โนฮาและครอบครัวว่า เลือดหมายถึงจิตวิญญาณ คือชีวิต. เพราะฉะนั้น พระเจ้าทรงห้ามพวกเขารับประทานเลือดใด ๆ. (เยเนซิศ 9:3, 4) เนื่องจากเราเป็นลูกหลานของเขา กฎหมายนั้นจึงผูกมัดเราทุกคน. พระยะโฮวารับสั่งแก่ชนยิศราเอลว่า ต้องเทเลือดลงบนพื้นดิน และต้องไม่ใช้เพื่อจุดประสงค์ของมนุษย์เอง. (พระบัญญัติ 12:15, 16) และมีการกล่าวซ้ำกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือดเมื่อคริสเตียนศตวรรษแรกได้รับคำสั่งให้ “ละเว้นเสมอ . . . จากเลือด.” (กิจการ 15:28, 29, ล.ม.) เนื่องจากความนับถือต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ชนผู้เลื่อมใสในพระเจ้าไม่ยอมรับการเติมเลือด แม้คนอื่นยืนยันว่า วิธีการเช่นนั้นจะช่วยชีวิตได้. การรักษาทางการแพทย์อย่างอื่นซึ่งเป็นที่ยอมรับสำหรับพยานพระยะโฮวาปรากฏว่าใช้ได้ผลทีเดียว และไม่ทำให้คนเราได้รับอันตรายจากการเติมเลือด. คริสเตียนทราบว่า เฉพาะพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูเท่านั้นช่วยชีวิตอย่างแท้จริง. ความเชื่อในพระโลหิตนั้นนำมาซึ่งการให้อภัยและความหวังเกี่ยวกับชีวิตถาวร.—เอเฟโซ 1:7.
23. ผลตอบแทนจากแนวทางชีวิตที่เลื่อมใสพระเจ้ามีอะไรบ้าง?
23 ปรากฏชัดว่า การดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าต้องมีความพยายาม. นั่นอาจยังผลด้วยการเยาะเย้ยจากสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่คุ้นเคย. (มัดธาย 10:32-39; 1 เปโตร 4:4) แต่ผลตอบแทนจากการดำเนินชีวิตเช่นนั้นมีความสำคัญกว่าการทดลองใด ๆ มากนัก. นั่นยังผลด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและมิตรภาพที่ดีงามกับเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวา. (มัดธาย 19:27, 29) ครั้นแล้ว ขอให้นึกภาพการมีชีวิตอยู่ตลอดไปในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้าด้วย. (ยะซายา 65:17, 18) และช่างมีความยินดีเสียจริง ๆ ในการทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลและโดยวิธีนี้ทำให้พระหฤทัยของพระยะโฮวายินดี! (สุภาษิต 27:11) ไม่แปลกที่การดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้านำมาซึ่งความสุข!—บทเพลงสรรเสริญ 128:1, 2.
ทดสอบความรู้ของคุณ
เหตุใดการดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าจึงนำมาซึ่งความสุข?
เพื่อดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าอาจต้องเปลี่ยนแปลงอะไร?
ทำไมคุณต้องการดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 124, 125]
กิจกรรมฝ่ายวิญญาณที่สมดุลกับช่วงเวลาแห่งการหย่อนใจส่งเสริมความสุขของคนเหล่านั้นที่ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า