นี่เป็นวันแห่งความรอด!
“นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นเวลาที่โปรดเป็นพิเศษ. นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.”—2 โกรินโธ 6:2, ล.ม.
1. อะไรที่นับว่าจำเป็นเพื่อจะมีฐานะอันเป็นที่ชอบเฉพาะพระเจ้าและพระคริสต์?
พระยะโฮวาได้ทรงกำหนดวันพิพากษาสำหรับมนุษยชาติเอาไว้แล้ว. (กิจการ 17:31) เพื่อที่วันนั้นจะเป็นวันแห่งความรอดสำหรับเรา เราจำต้องอยู่ในฐานะอันเป็นที่ชอบเฉพาะพระองค์และผู้พิพากษาซึ่งพระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ คือพระเยซูคริสต์. (โยฮัน 5:22) ฐานะเช่นนั้นเรียกร้องให้มีการประพฤติสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าและความเชื่อซึ่งผลักดันเราให้ช่วยคนอื่นเข้ามาเป็นสาวกแท้ของพระเยซู.
2. เหตุใดโลกแห่งมนุษยชาติจึงเหินห่างจากพระเจ้า?
2 เนื่องจากบาปอันเป็นมรดกตกทอด โลกแห่งมนุษยชาติจึงเหินห่างจากพระเจ้า. (โรม 5:12; เอเฟโซ 4:17, 18) ด้วยเหตุนั้น คนที่เราประกาศแก่เขาจะสามารถได้รับความรอดก็เฉพาะแต่ถ้าพวกเขาได้เข้ามาคืนดีกับพระองค์. อัครสาวกเปาโลแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเมื่อเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธ. ให้เราตรวจดูที่ 2 โกรินโธ 5:10–6:10 เพื่อจะดูว่าเปาโลกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับการพิพากษา, การกลับคืนดีกับพระเจ้า, และความรอด.
‘เราจึงคอยชักชวนคนทั้งหลาย’
3. เปาโล ‘คอยชักชวนคนทั้งหลาย’ โดยวิธีใด และเหตุใดเราควรทำเช่นนี้ในปัจจุบัน?
3 เปาโลเชื่อมโยงการพิพากษากับการประกาศเมื่อท่านเขียนว่า “จำเป็นเราทั้งหลายทุกคนต้องปรากฏตัวที่หน้าบัลลังก์ของพระคริสต์, เพื่อทุกคนจะได้รับสมกับการที่ได้ประพฤติในร่างกายนี้, แล้วแต่จะดีหรือชั่ว. เหตุฉะนั้นเมื่อเรารู้จักความเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว, เราก็จะชวนคนทั้งหลายให้เห็นจริงได้.” (2 โกรินโธ 5:10, 11) ท่านอัครสาวก ‘คอยชักชวนคนทั้งหลาย’ โดยการประกาศข่าวดี. แล้วเราล่ะ? เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับอวสานของระบบนี้ เราควรทำเต็มที่ในการชักชวนผู้อื่นให้ทำตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อจะได้รับการพิพากษาอย่างที่ได้รับความชอบจากพระเยซูและได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งความรอด.
4, 5. (ก) เหตุใดเราไม่ควรโอ้อวดเกี่ยวกับผลสำเร็จของเราในการรับใช้พระยะโฮวา? (ข) การที่เปาโลอวด “เพราะเห็นแก่พระเจ้า” หมายความอย่างไร?
4 อย่างไรก็ตาม หากพระเจ้าได้ทรงอวยพระพรงานรับใช้ของเรา เราก็ไม่ควรโอ้อวด. ที่เมืองโกรินโธ บางคนพองตัวด้วยความหยิ่งในตัวเองหรือภาคภูมิใจในผู้อื่น จึงเป็นเหตุให้มีการแตกเป็นกลุ่มเป็นพวกในประชาคม. (1 โกรินโธ 1:10-13; 3:3, 4) เปาโลเขียนพาดพิงถึงสถานการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “นี่ไม่ใช่การอวดตัวต่อท่านทั้งหลายอีก, แต่เราให้ท่านมีโอกาสที่จะนำเราออกอวดได้, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้มีข้อสำหรับตอบคนเหล่านั้นที่ชอบอวดในสิ่งซึ่งปรากฏแต่มิได้อวดในสิ่งซึ่งอยู่ในใจ. ด้วยว่าถ้าเราได้ประพฤติอย่างคนเสียจริต, เราก็ได้ประพฤติเพราะเห็นแก่พระเจ้า, หรือถ้าเราประพฤติอย่างคนปกติ, ก็เป็นเพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย.” (2 โกรินโธ 5:12, 13) คนหยิ่งยโสไม่สนใจในเอกภาพและสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคม. พวกเขาต้องการอวดสิ่งที่ปรากฏภายนอกแทนที่จะช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อให้พัฒนาหัวใจที่ดีเฉพาะพระเจ้า. ฉะนั้น เปาโลว่ากล่าวประชาคมนี้และกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ผู้ใดจะอวด ก็จงอวดองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด.”—2 โกรินโธ 10:17, ฉบับแปลใหม่.
5 เปาโลเองก็ไม่คุยโตหรอกหรือ? บางคนอาจคิดเช่นนั้นเนื่องด้วยสิ่งที่ท่านกล่าวเกี่ยวกับการเป็นอัครสาวกของท่าน. แต่ท่านจำเป็นต้องอวด “เพราะเห็นแก่พระเจ้า.” ท่านอวดเกี่ยวกับหนังสือแนะนำตัวท่านในฐานะอัครสาวกเพื่อชาวโกรินโธจะไม่ได้หลงไปจากพระยะโฮวา. เปาโลทำเช่นนี้เพื่อนำพวกเขากลับมาหาพระเจ้า เพราะเหล่าอัครสาวกเท็จกำลังชักนำพวกเขาไปในทางผิด. (2 โกรินโธ 11:16-21; 12:11, 12, 19-21; 13:10) กระนั้น เปาโลไม่ได้พยายามสร้างความประทับใจแก่ทุกคนอยู่เรื่อย ๆ ด้วยความสำเร็จทั้งหลายที่ท่านทำ.—สุภาษิต 21:4.
ความรักของพระคริสต์ผลักดันคุณไหม?
6. ความรักของพระคริสต์ควรมีผลต่อเราอย่างไร?
6 ในฐานะอัครสาวกแท้ เปาโลสอนคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. เรื่องนี้มีผลกระทบชีวิตของเปาโล เพราะท่านเขียนดังนี้: “ความรักของพระคริสต์ผลักดันเราอยู่ เพราะเราได้ลงความเห็นอย่างนี้ คือว่ามนุษย์ผู้หนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง; ด้วยเหตุนั้น ทุกคนจึงได้ตายแล้ว; และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวงเพื่อคนที่มีชีวิตจะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) ช่างเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้ที่พระเยซูได้ประทานชีวิตพระองค์เพื่อเรา! แน่ทีเดียว นั่นน่าจะเป็นพลังผลักดันในชีวิตเรา. ความสำนึกในบุญคุณของพระเยซูที่ประทานชีวิตพระองค์เพื่อประโยชน์ของเราควรกระตุ้นเราให้เข้าร่วมด้วยใจแรงกล้าในการประกาศข่าวดีเรื่องความรอดที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้โดยทางพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์. (โยฮัน 3:16; เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 96:2.) “ความรักของพระคริสต์” ได้ผลักดันคุณให้มีส่วนร่วมด้วยใจแรงกล้าในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและในงานทำให้คนเป็นสาวกไหม?—มัดธาย 28:19, 20.
7. ที่ว่า “ไม่รู้จักคนใดตามเนื้อหนัง” นั้นหมายความอย่างไร?
7 โดยใช้ชีวิตแบบที่แสดงถึงความสำนึกบุญคุณในสิ่งที่พระคริสต์ทรงทำเพื่อพวกเขา เหล่าผู้ถูกเจิม “ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์.” เปาโลกล่าวว่า “เหตุฉะนั้นตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่รู้จักคนใดตามเนื้อหนัง แม้ว่าเมื่อก่อนเราได้รู้จักพระคริสต์ตามเนื้อหนังก็จริง, แต่เดี๋ยวนี้เราจะไม่รู้จักพระองค์เช่นนั้นอีก.” (2 โกรินโธ 5:16) คริสเตียนต้องไม่มองดูผู้คนตามเนื้อหนัง โดยอาจเห็นคนยิวดีกว่าคนต่างชาติหรือถือว่าคนรวยดีกว่าคนจน. ชนผู้ถูกเจิม “ไม่รู้จักคนใดตามเนื้อหนัง” เพราะสิ่งที่สำคัญคือความสัมพันธ์ทางฝ่ายวิญญาณกับเพื่อนร่วมความเชื่อ. คนที่ “รู้จักพระคริสต์ตามเนื้อหนัง” ไม่ใช่เฉพาะคนที่เห็นพระเยซูด้วยตาตัวเองขณะพระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลกเท่านั้น. แม้แต่บางคนที่หวังในพระมาซีฮาซึ่งเคยมีทัศนะต่อพระคริสต์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็ต้องไม่มองอย่างนั้นอีกต่อไป. พระองค์ประทานพระกายของพระองค์เป็นค่าไถ่และถูกปลุกให้คืนพระชนม์ในฐานะกายวิญญาณที่เป็นผู้ประทานชีวิต. คนอื่น ๆ ที่ถูกปลุกให้รับชีวิตทางภาคสวรรค์จะสละกายเนื้อหนังของตนโดยไม่เคยได้เห็นพระเยซูคริสต์ในกายเนื้อหนังเลย.—1 โกรินโธ 15:45, 50; 2 โกรินโธ 5:1-5.
8. คนเราจะได้มา “ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์” ได้อย่างไร?
8 โดยที่ยังกล่าวแก่ผู้ถูกเจิมต่อไป เปาโลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ถ้าแม้คนใดร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ เขาก็เป็นสิ่งทรงสร้างใหม่; สิ่งเก่า ๆ ได้ล่วงไป นี่แน่ะ สิ่งใหม่ ๆ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว.” (2 โกรินโธ 5:17, ล.ม.) การ “ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์” หมายถึงการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์. (โยฮัน 17:21) ความสัมพันธ์นี้ได้เกิดมีขึ้นกับบุคคลผู้นั้นเมื่อพระยะโฮวาทรงชักนำเขาให้เข้ามาหาพระบุตรของพระองค์และทรงให้กำเนิดผู้นั้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ในฐานะบุตรที่บังเกิดด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า เขาเป็น “สิ่งทรงสร้างใหม่” ซึ่งมีความหวังจะได้ร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (โยฮัน 3:3-8; 6:44; ฆะลาเตีย 4:6, 7) คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้รับมอบสิทธิพิเศษยิ่งใหญ่แห่งการรับใช้.
‘จงคืนดีกันกับพระเจ้า’
9. พระเจ้าได้ทรงทำอะไรเพื่อทำให้เป็นไปได้ที่จะมีการกลับคืนดีกับพระองค์?
9 พระยะโฮวาทรงพอพระทัยใน “สิ่งทรงสร้างใหม่” ยิ่งนัก! เปาโลกล่าวว่า “สิ่งสารพัตรทั้งปวงนั้นบังเกิดมาจากพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้เราคืนดีกันกับพระองค์โดยพระเยซูคริสต์, และได้ทรงโปรดประทานให้เรารับใช้ในการประกาศเรื่องการคืนดีกันนั้น คือว่าพระเจ้าผู้สถิตในองค์พระคริสต์ทรงกระทำให้โลกนี้คืนดีกันกับพระองค์, ไม่ได้คอยนับการผิดของเขา, และพระองค์ได้ทรงมอบเรื่องการที่จะให้คืนดีกันนั้นไว้กับเรา.” (2 โกรินโธ 5:18, 19) มนุษยชาติได้เหินห่างจากพระเจ้านับตั้งแต่อาดามทำบาป. แต่พระยะโฮวาทรงริเริ่มด้วยความรักในการเปิดทางให้มีการคืนดีกับพระองค์โดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู.—โรม 5:6-12.
10. พระยะโฮวาทรงมอบงานในการช่วยให้กลับคืนดีไว้กับใคร และพวกเขาได้ทำอะไรเพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วง?
10 พระยะโฮวาได้ทรงมอบงานในการช่วยให้กลับคืนดีไว้กับผู้ถูกเจิม เปาโลจึงกล่าวได้ว่า “เหตุฉะนั้นเราจึงเป็นราชทูตของพระคริสต์, เหมือนหนึ่งพระเจ้าได้ทรงอ้อนวอนขอท่านทั้งหลายโดยเรา เราผู้แทนพระคริสต์จึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้คืนดีกันกับพระเจ้า.” (2 โกรินโธ 5:20) ในสมัยโบราณ โดยมากแล้วราชทูตถูกส่งไปในช่วงที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพื่อดูลู่ทางว่าจะเลี่ยงสงครามได้หรือไม่. (ลูกา 14:31, 32) เนื่องจากโลกแห่งมนุษยชาติที่ผิดบาปเหินห่างจากพระเจ้า พระองค์จึงได้ทรงส่งราชทูตที่พระองค์ทรงเจิมไว้ให้ออกไปแจ้งแก่ผู้คนให้ทราบเงื่อนไขในการคืนดีกับพระองค์. ในฐานะผู้แทนพระคริสต์ ผู้ถูกเจิมวิงวอนดังนี้: ‘จงคืนดีกันกับพระเจ้า.’ คำวิงวอนนี้เป็นการกระตุ้นเตือนด้วยความเมตตาให้แสวงหาสันติสุขกับพระเจ้าและตอบรับความรอดที่พระองค์ทรงทำให้เป็นไปได้โดยทางพระคริสต์.
11. โดยความเชื่อในค่าไถ่ ท้ายที่สุดใครจะได้มีฐานะชอบธรรมเฉพาะพระเจ้า?
11 มนุษย์ทุกคนที่แสดงความเชื่อในค่าไถ่สามารถกลับคืนดีกับพระเจ้า. (โยฮัน 3:36) เปาโลกล่าวดังนี้: “พระเจ้าได้ทรงกระทำพระองค์ [พระเยซู] นั้นผู้ไม่มีความผิดเป็นความผิดเพราะเห็นแก่เรา, เพื่อเราจะได้เป็นความชอบธรรมของพระเจ้าโดยพระองค์.” (2 โกรินโธ 5:21) มนุษย์สมบูรณ์เยซูทรงเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปสำหรับลูกหลานของอาดามทุกคนซึ่งได้รับการช่วยให้พ้นความผิดบาปที่ติดตัวมา. พวกเขากลายมาเป็น “ความชอบธรรมของพระเจ้า” โดยทางพระเยซู. ความชอบธรรมหรือฐานะอันชอบธรรมเฉพาะพระเจ้าดังกล่าวนี้มีแก่รัชทายาทร่วม 144,000 คนของพระคริสต์เป็นกลุ่มแรก. ในระหว่างรัชสมัยพันปีของพระองค์ ฐานะอันชอบธรรมโดยเป็นมนุษย์สมบูรณ์จะมีแก่เหล่าบุตรทางแผ่นดินโลกของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระบิดาองค์ถาวร. พระองค์จะทรงยกพวกเขาขึ้นสู่ฐานะอันชอบธรรมในความสมบูรณ์ เพื่อพวกเขาจะได้พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและได้รับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์.—ยะซายา 9:6; วิวรณ์ 14:1; 20:4-6, 11-15.
“เวลาที่โปรดเป็นพิเศษ”
12. งานรับใช้ที่สำคัญอะไรที่เหล่าราชทูตและอุปทูตของพระยะโฮวากำลังทำกันอยู่?
12 เพื่อจะได้รับความรอด เราต้องประพฤติสอดคล้องกับถ้อยคำของเปาโลที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ร่วมงานกับพระองค์ [พระยะโฮวา] เราวิงวอนท่านทั้งหลายเช่นกันว่า อย่ารับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าแล้วพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณานั้น. เพราะพระองค์ตรัสว่า ‘ในเวลาที่โปรดเราได้ฟังเจ้า และในวันแห่งความรอดเราได้ช่วยเจ้า.’ นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นเวลาที่โปรดเป็นพิเศษ. นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.” (2 โกรินโธ 6:1, 2, ล.ม.) เหล่าราชทูตที่ได้รับการเจิมของพระยะโฮวาและอุปทูตของพระองค์ซึ่งก็คือชนจำพวก “แกะอื่น” ไม่รับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของตนแล้วพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณานั้น. (โยฮัน 10:16) โดยการประพฤติที่ซื่อตรงและงานรับใช้ด้วยใจแรงกล้าใน “เวลาที่โปรด” นี้ พวกเขาแสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้าและแจ้งแก่ประชากรโลกว่าบัดนี้เป็น “วันแห่งความรอด.”
13. สาระสำคัญของยะซายา 49:8 คืออะไร และพระคัมภีร์ข้อนี้สำเร็จเป็นจริงในครั้งแรกอย่างไร?
13 เปาโลยกข้อความจากยะซายา 49:8 ขึ้นมากล่าว ซึ่งอ่านว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสว่าดังนี้: ‘ในสมัยโปรดปราน, เราได้ตอบเจ้า, ในสมัยความรอด, เราได้ช่วยเจ้าไว้; เราได้รักษาเจ้าไว้และตั้งเจ้าให้เป็นเครื่องหมายแห่งคำสัญญาแก่มนุษย์, ว่าเราจะกู้เอาแผ่นดินกลับคืนมา, และปักปันที่ร้างเปล่าให้เป็นมฤดก.’” คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อไพร่พลแห่งยิศราเอลได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยในบาบูโลนแล้วกลับคืนสู่มาตุภูมิอันร้างเปล่า.—ยะซายา 49:3, 9.
14. ยะซายา 49:8 สำเร็จอย่างไรในกรณีของพระเยซู?
14 ในความสำเร็จเป็นจริงขั้นต่อมาของคำพยากรณ์ของยะซายานี้ พระยะโฮวาประทาน “ผู้รับใช้” ของพระองค์คือพระเยซูให้เป็น “ดวงสว่างแก่ประชาชาติ, เพื่อความรอด [ของพระเจ้า] จะได้แผ่ไปถึงกระทั่งปลายพิภพโลก.” (ยะซายา 49:6, 8; เทียบกับยะซายา 42:1-4, 6, 7; มัดธาย 12:18-21.) เห็นได้ชัดว่า “สมัยโปรดปราน” หรือ “เวลาที่โปรด” ดังกล่าวนี้ใช้ได้กับพระเยซูในคราวที่พระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงอธิษฐาน และพระเจ้าทรง “ตอบ” พระองค์. เห็นได้ชัดว่านั่นเป็น “วันแห่งความรอด” สำหรับพระเยซู เนื่องจากพระองค์ทรงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างสมบูรณ์แบบ และด้วยเหตุนั้น “จึงได้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความรอดนิรันดร์แก่คนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์.”—เฮ็บราย 5:7, 9, ล.ม.; โยฮัน 12:27, 28.
15. ชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณได้เพียรพยายามพิสูจน์ตัวว่าคู่ควรกับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าตั้งแต่เมื่อไร และด้วยเป้าหมายเช่นไร?
15 เปาโลใช้ยะซายา 49:8 กับคริสเตียนผู้ถูกเจิม อ้อนวอนพวกเขา ‘อย่าพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า’ โดยไม่ได้แสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์ในระหว่าง “เวลาที่โปรด” และใน “วันแห่งความรอด” ที่พระองค์ทรงจัดไว้ให้. เปาโลกล่าวอีกว่า “นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นเวลาที่โปรดเป็นพิเศษ. นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.” (2 โกรินโธ 6:2, ล.ม.) นับตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 ชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณได้เพียรพยายามพิสูจน์ตัวว่าควรค่าแก่การได้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า เพื่อว่า “เวลาที่โปรด” จะเป็น “วันแห่งความรอด” สำหรับพวกเขา.
‘การแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า’
16. เปาโลแนะนำตัวท่านเองว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้าภายใต้สภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ยากลำบากเช่นไร?
16 บางคนที่สมทบกับประชาคมโกรินโธไม่ได้พิสูจน์ตัวว่าคู่ควรกับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. พวกเขาใส่ร้ายเปาโลโดยหมายจะล้มอำนาจอัครสาวกของท่าน แม้ว่าท่านพยายามวางตัวเพื่อจะไม่เป็น “เหตุสะดุดในสิ่งหนึ่งสิ่งใด.” ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องที่ว่า ท่านแนะนำตัวเองในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า “โดยความเพียรอดทนเป็นอันมาก ในความทุกข์, ในความขัดสน, ในเหตุวิบัติ, ในการถูกเฆี่ยน, ในการที่ถูกจำคุก, ในการวุ่นวาย, ในการงานต่าง ๆ, ในการอดหลับอดนอน, ในการอดอาหาร.” (2 โกรินโธ 6:3-5) ต่อมา เปาโลหาเหตุผลว่าถ้าฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับท่านเป็นผู้รับใช้ ท่านก็ “ทำเกินกว่าเขาอีก” ด้วยเหตุที่ท่านถูกจำคุก, ถูกเฆี่ยน, เผชิญภัยสารพัด, ตลอดจนประสบความอดอยากขาดแคลนยิ่งกว่าใคร.—2 โกรินโธ 11:23-27.
17. (ก) เราจะแนะนำตัวเราเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าได้โดยแสดงคุณลักษณะเช่นไร? (ข) “เครื่องอาวุธแห่งความชอบธรรม” คืออะไร?
17 เราสามารถแนะนำตัวเราเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าได้เช่นเดียวกับเปาโลและสหายของท่าน. โดยวิธีใด? “โดยความบริสุทธิ์” หรือความสะอาดหมดจด และโดยประพฤติสอดคล้องกับความรู้ถ่องแท้ของคัมภีร์ไบเบิล. เราสามารถแนะนำตัวเราเองได้ “โดยการไม่โกรธเร็ว” อดทนอดกลั้นต่อสิ่งผิดหรือการยั่วยุ และ “โดยใจกรุณา” ขณะที่เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น. นอกจากนั้น เราสามารถแนะนำตัวเราเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าได้โดยการยอมรับเอาการชี้นำจากพระวิญญาณของพระองค์, แสดง “ความรักแท้ [“ความรักอันปราศจากความหน้าซื่อใจคด,” ล.ม.],” กล่าววาจาสัตย์, และไว้วางใจว่าพระองค์จะประทานกำลังที่จะทำงานรับใช้ให้สำเร็จ. น่าสนใจ เปาโลยังได้พิสูจน์สถานภาพของการเป็นผู้รับใช้ของท่านโดย “ใช้เครื่องอาวุธแห่งความชอบธรรมด้วยมือขวาและมือซ้าย.” ในการทำศึกสมัยโบราณ ตามปกติมือขวาจะกวัดแกว่งดาบ ในขณะที่มือซ้ายถือโล่ไว้. ในการทำสงครามฝ่ายวิญญาณกับพวกผู้สอนเท็จ เปาโลไม่ได้ใช้อาวุธแห่งเนื้อหนังที่ผิดบาปอันได้แก่ความปลิ้นปล้อน, เล่ห์เพทุบาย, การหลอกลวง. (2 โกรินโธ 6:6, 7, ฉบับแปลใหม่; 11:12-14; สุภาษิต 3:32) ท่านใช้ “อาวุธ” หรือวิธีที่ชอบธรรมเพื่อส่งเสริมการนมัสการแท้. เราก็ควรทำเช่นนั้น.
18. หากเราเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร?
18 ถ้าเราเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับเปาโลและเพื่อนร่วมงาน. เราจะประพฤติแบบคริสเตียนไม่ว่าจะได้รับเกียรติหรือไม่ก็ตาม. รายงานข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับพวกเราจะไม่ทำให้เราเลิกทำงานประกาศ หรือหากมีรายงานในแง่ดีเกี่ยวกับพวกเราก็จะไม่ทำให้เรากลายเป็นคนหยิ่งยโส. เราจะพูดความจริงและจะได้รับการยอมรับเนื่องด้วยการงานที่เลื่อมใสในพระเจ้า. เมื่อตกอยู่ในอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเนื่องด้วยการทำร้ายของศัตรู เราจะไว้วางใจพระยะโฮวา. และเราจะยอมรับเอาการตีสอนด้วยความสำนึกขอบคุณ.—2 โกรินโธ 6:8, 9.
19. เป็นไปได้อย่างไรที่จะ “ทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี” ทางฝ่ายวิญญาณ?
19 ในการลงท้ายการพิจารณาเกี่ยวกับงานในการช่วยให้กลับคืนดี เปาโลกล่าวถึงตัวท่านเองและเพื่อนร่วมงานว่า “เหมือนคนที่เป็นทุกข์อยู่, แต่ยังมีความยินดีเสมอ เหมือนคนยากจน, แต่ยังทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี เหมือนคนไม่มีอะไรเลย, แต่ยังมีสิ่งสารพัตรบริบูรณ์.” (2 โกรินโธ 6:10) แม้ว่าผู้รับใช้เหล่านั้นมีเหตุผลที่จะโศกเศร้าเนื่องด้วยความทุกข์ยาก แต่ขณะเดียวกันพวกเขามีความยินดีที่อยู่ภายใน. พวกเขายากจนฝ่ายวัตถุ แต่เขาได้ “ทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี” ฝ่ายวิญญาณ. ที่จริง พวกเขา “มีสิ่งสารพัดบริบูรณ์” เพราะความเชื่อของพวกเขาทำให้เขามั่งมีฝ่ายวิญญาณ—กระทั่งมีความหวังจะได้เป็นบุตรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. นอกจากนี้ พวกเขามีชีวิตที่บริบูรณ์และมีความสุขในฐานะคริสเตียนผู้รับใช้. (กิจการ 20:35) เช่นเดียวกับพวกเขา เราก็สามารถ “ทำให้คนเป็นอันมากมั่งมี” โดยเข้าร่วมในงานการช่วยให้กลับคืนดีเสียแต่บัดนี้ ในวันแห่งความรอดนี้!
จงวางใจในความรอดจากพระยะโฮวา
20. (ก) ความปรารถนาอันจริงจังของเปาโลคืออะไร และเหตุใดจึงไม่อาจชักช้าเสียเวลาได้อีกแล้ว? (ข) อะไรแสดงว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในวันแห่งความรอด?
20 เมื่อเปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงชาวโกรินโธประมาณปี ส.ศ. 55 ยังเหลือเวลาอีกเพียง 15 ปีสำหรับระบบยิว. ท่านอัครสาวกปรารถนาอย่างจริงจังให้ชาวยิวและชาวต่างชาติกลับคืนดีกับพระเจ้าโดยทางพระคริสต์. นั่นเป็นวันแห่งความรอด และไม่อาจชักช้าเสียเวลาได้อีกแล้ว. นับตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมาเราได้มาถึงช่วงอวสานของระบบนี้ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับในศตวรรษแรก. งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลกที่กำลังก้าวรุดไปในเวลานี้แสดงว่าเรากำลังอยู่ในวันแห่งความรอด.
21. (ก) ข้อพระคัมภีร์ประจำปีที่ได้มีการเลือกไว้สำหรับปี 1999 คือข้อใด? (ข) เราควรทำอะไรในวันแห่งความรอดนี้?
21 ประชาชนในชาติทั้งปวงจำต้องได้ยินเกี่ยวกับการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อความรอดโดยทางพระเยซูคริสต์. ไม่มีเวลาจะรีรออีกแล้ว. เปาโลเขียนดังนี้: “นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.” ประโยคนี้ซึ่งอยู่ใน 2 โกรินโธ 6:2 (ล.ม.) จะเป็นข้อพระคัมภีร์ประจำปี 1999 ของพยานพระยะโฮวา. นับว่าเหมาะสักเพียงไร เพราะเราเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าพินาศกรรมของกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารมากนัก! สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าได้แก่อวสานของระบบทั้งสิ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกคนบนแผ่นดินโลก. เดี๋ยวนี้—ไม่ใช่พรุ่งนี้—เป็นเวลาที่จะต้องลงมือ. หากเราเชื่อว่าความรอดมาจากพระยะโฮวา, หากเรารักพระองค์, และหากเราถือว่าชีวิตนิรันดร์ล้ำค่า เราจะไม่พลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า. ด้วยความปรารถนาจากหัวใจที่จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา เราจะพิสูจน์ด้วยคำพูดและการกระทำว่าเราหมายความอย่างนั้นจริง ๆ เมื่อเราอุทานออกมาว่า “นี่แน่ะ! บัดนี้เป็นวันแห่งความรอด.”
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดการกลับคืนดีกับพระเจ้าจึงสำคัญอย่างยิ่ง?
▫ ใครเป็นราชทูตและอุปทูตที่ทำงานในการช่วยให้กลับคืนดี?
▫ เราจะแนะนำตัวเราเองว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้าได้อย่างไร?
▫ ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 1999 ของพยานพระยะโฮวามีความหมายเช่นไรต่อคุณ?
[รูปภาพหน้า 17]
เช่นเดียวกับเปาโล คุณกำลังประกาศและช่วยผู้อื่นด้วยใจแรงกล้าให้กลับคืนดีกับพระเจ้าไหม?
สหรัฐ
ฝรั่งเศส
โกตดิวัวร์
[รูปภาพหน้า 18]
ในวันแห่งความรอดนี้ คุณอยู่ในหมู่คนจำนวนมากที่กลับคืนดีกับพระยะโฮวาพระเจ้าไหม?