บท 13
“เรารักพระบิดา”
1, 2. อัครสาวกโยฮันได้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับเย็นวันสุดท้ายที่เหล่าอัครสาวกอยู่กับพระเยซู?
ชายชราเอาปากกาก้านขนนกจุ่มหมึก ในใจของเขาเต็มไปด้วยความทรงจำมากมาย. เขาชื่อโยฮัน เป็นอัครสาวกคนสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ที่ยังมีชีวิตอยู่. ตอนนี้โยฮันอายุราว ๆ 100 ปี เขาย้อนคิดถึงเหตุการณ์ในเย็นวันหนึ่งที่น่าจดจำที่สุดซึ่งได้เกิดขึ้นมาหกสิบกว่าปีก่อนหน้านั้น—วันสุดท้ายที่เขากับเพื่อนอัครสาวกอยู่กับพระเยซูก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์. โดยการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า โยฮันสามารถจำเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียดและเขียนเรื่องนั้นไว้.
2 คืนวันนั้น พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่าในไม่ช้าพระองค์จะถูกประหาร. โยฮันผู้เดียวเปิดเผยเหตุผลว่าทำไม พระเยซูตรัสว่าพระองค์จะยอมประสบความตายอันเจ็บปวดรวดร้าวเช่นนั้น: “เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา. และพระบิดาได้ตรัสสั่งเราอย่างไร เราจึงกระทำอย่างนั้น. จงลุกขึ้น, ให้เราทั้งหลายไปจากที่นี่เถิด.”—โยฮัน 14:31.
3. พระเยซูแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าทรงรักพระบิดาของพระองค์?
3 “เรารักพระบิดา.” ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับพระเยซูยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว. พระองค์มิได้ตรัสซ้ำข้อความดังกล่าวอยู่เรื่อย ๆ. ที่จริง โยฮัน 14:31 เป็นแห่งเดียวในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลที่เราพบว่าพระเยซูตรัสตรงไปตรงมาถึงความรักที่พระองค์มีต่อพระบิดา. อย่างไรก็ดี พระเยซูดำเนินชีวิต ตามคำตรัสนั้น. ความรักที่พระองค์มีต่อพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นทุกวัน. ความกล้าหาญของพระเยซู, การเชื่อฟัง, และความอดทนของพระองค์ล้วนเป็นหลักฐานแสดงถึงความรักที่พระองค์มีต่อพระเจ้า. งานรับใช้ทั้งสิ้นของพระองค์ได้รับการกระตุ้นจากความรักนี้.
4, 5. คัมภีร์ไบเบิลส่งเสริมความรักชนิดใด และอาจกล่าวได้เช่นไรเกี่ยวกับความรักที่พระเยซูมีต่อพระยะโฮวา?
4 ในทุกวันนี้ บางคนอาจคิดว่าความรักเป็นคุณลักษณะที่แสดงถึงความอ่อนแอ. พวกเขาอาจคิดถึงบทกวีหรือเพลงที่เกี่ยวกับความรัก บางทีกระทั่งคิดถึงความเพ้อฝันซึ่งบางครั้งมีอยู่ในความรักระหว่างชายหญิง. คัมภีร์ไบเบิลมีการพูดถึงความรักระหว่างชายหญิง ทว่าในแบบที่น่านับถือยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน. (สุภาษิต 5:15-21) แต่พระคำของพระเจ้าให้ความสนใจกับการพิจารณาความรักอีกชนิดหนึ่งมากกว่า. ความรักแบบนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความรักใคร่หลงใหลหรืออารมณ์ชั่ววูบ; ทั้งมิใช่เป็นแบบปรัชญาที่มุ่งเน้นความคิดแต่ขาดอารมณ์ความรู้สึก. ความรักนี้เกี่ยวข้องกับทั้งหัวใจและจิตใจ. ความรักดังกล่าวเกิดจากตัวตนในส่วนลึกที่สุด อยู่ภายใต้การควบคุมของหลักการอันสูงส่งและประสานกับหลักการนั้น และความรักแบบนี้แสดงออกโดยการกระทำที่เสริมสร้าง. ความรักแบบนี้จึงไม่ใช่ความเพ้อฝันหรือเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบอย่างแน่นอน. พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.”—1 โกรินโธ 13:8, ล.ม.
5 ในบรรดามวลมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ พระเยซูเป็นผู้ที่รักพระยะโฮวามากที่สุด. ไม่มีใครเหนือกว่าพระเยซูในการปฏิบัติตามถ้อยคำที่พระองค์เองยกขึ้นมากล่าวฐานะเป็นพระบัญญัติสำคัญที่สุดในบรรดาบัญญัติทั้งสิ้นของพระเจ้าที่ว่า “เจ้าต้องรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดหัวใจของเจ้าและด้วยสุดชีวิตของเจ้าและด้วยสุดจิตใจของเจ้าและด้วยสุดกำลังของเจ้า.” (มาระโก 12:30, ล.ม.) พระเยซูพัฒนาความรักดังกล่าวโดยวิธีใด? พระองค์ทำให้ความรักที่มีต่อพระเจ้าแรงกล้าอยู่เสมอโดยวิธีใดระหว่างอยู่บนแผ่นดินโลก? และเราจะเลียนแบบพระองค์ได้โดยวิธีใด?
ความผูกพันแห่งความรักที่ยาวนานที่สุดและเหนียวแน่นที่สุด
6, 7. เราทราบโดยวิธีใดว่าสุภาษิต 8:22-31 พรรณนาถึงพระบุตรของพระเจ้า ไม่ใช่พรรณนาถึงแต่พระปัญญาที่เป็นคุณลักษณะเท่านั้น?
6 คุณเคยทำงานในโครงการหนึ่งร่วมกับเพื่อนคนหนึ่งไหม และปรากฏว่า คุณทั้งสองกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมากขึ้น สนิทกันยิ่งขึ้น? ประสบการณ์ที่น่ายินดีเช่นนั้นอาจช่วยคุณให้เข้าใจความรักที่พัฒนาขึ้นระหว่างพระยะโฮวากับพระบุตรองค์เดียวที่พระเจ้าทรงสร้างเอง. เราได้อ้างถึงสุภาษิต 8:30 มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ขอให้เราพิจารณาบริบทของข้อนั้นอย่างละเอียดมากขึ้น. ในข้อ 22 ถึง 31 เราพบคำพรรณนาที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับพระปัญญาที่เป็นประหนึ่งบุคคล. เราทราบโดยวิธีใดว่า ถ้อยคำเหล่านี้หมายถึงพระบุตรของพระเจ้า?
7 ในข้อ 22 พระปัญญากล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงสร้างตัวเราเป็นปฐมแห่งทางการ, ก่อนกิจโบราณอื่น ๆ ของพระองค์.” ในที่นี้ คงไม่ได้พูดถึงเฉพาะแต่พระปัญญาที่เป็นคุณลักษณะเท่านั้น เพราะพระปัญญาไม่เคยถูก “สร้าง” ขึ้น. พระปัญญาไม่มีจุดเริ่มต้น เพราะพระยะโฮวาทรงดำรงอยู่ตลอดมาและทรงไว้ซึ่งพระปัญญาเสมอมา. (บทเพลงสรรเสริญ 90:2) อย่างไรก็ดี พระบุตรของพระเจ้าเป็น “บุตรหัวปีเหนือทุกสิ่งที่ทรงสร้าง.” พระองค์ได้ถูกสร้างขึ้น; พระองค์เป็นสิ่งแรกสุดในผลงานการสร้างทั้งสิ้นของพระยะโฮวา. (โกโลซาย 1:15, ฉบับแปล 2002) พระบุตรทรงดำรงอยู่ก่อนแผ่นดินโลกและฟ้าสวรรค์ ดังที่พรรณนาไว้ในพระธรรมสุภาษิต. และในฐานะพระวาทะ โฆษกของพระเจ้าเอง พระองค์แสดงถึงพระปัญญาของพระยะโฮวาอย่างครบถ้วน.—โยฮัน 1:1.
8. พระบุตรทรงทำอะไรระหว่างช่วงที่ดำรงอยู่ก่อนมาเป็นมนุษย์ และเราอาจคิดคำนึงถึงอะไรเมื่อรู้สึกหยั่งรู้ค่าสิ่งทรงสร้าง?
8 พระบุตรทรงทำอะไรระหว่างช่วงเวลาอันยาวนานยิ่งนักก่อนพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก? ข้อ 30 บอกเราว่าพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างพระบิดาฐานะเป็น “นายช่าง.” ข้อนี้หมายความเช่นไร? โกโลซาย 1:16 (ล.ม.) อธิบายว่า “โดยพระองค์ สิ่งอื่นทั้งสิ้นถูกสร้างขึ้นทั้งในสวรรค์และที่แผ่นดินโลก . . . สิ่งอื่นทั้งสิ้นได้สร้างขึ้นโดยพระองค์และเพื่อพระองค์.” ดังนั้น พระยะโฮวาพระผู้สร้างทรงใช้พระบุตรของพระองค์ที่เป็นนายช่างให้สร้างสรรพสิ่งอื่น ๆ—ตั้งแต่พวกกายวิญญาณที่อยู่ในแดนสวรรค์ไปจนถึงเอกภพกว้างใหญ่ไพศาลที่เป็นวัตถุ, แผ่นดินโลกพร้อมกับชีวิตพืชและสัตว์ที่น่าอัศจรรย์หลากหลายชนิด, จนถึงสุดยอดของการทรงสร้างทางแผ่นดินโลก นั่นก็คือมนุษยชาติ. ในบางแง่มุม ความร่วมมือกันระหว่างพระบิดากับพระบุตรเช่นนี้ เราอาจเทียบได้กับความร่วมมือกันระหว่างสถาปนิกที่ทำงานร่วมกับช่างก่อสร้างที่ชำนาญเป็นพิเศษในการสร้างตรงตามแบบแปลนที่สถาปนิกคิดขึ้นมา. เมื่อเรารู้สึกเกรงขามเนื่องจากแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของการทรงสร้าง ที่จริงแล้วเรากำลังสรรเสริญสถาปนิกองค์ยิ่งใหญ่. (บทเพลงสรรเสริญ 19:1) อย่างไรก็ดี เรายังอาจระลึกถึงการร่วมมือกันมานานอย่างมีความสุขระหว่างพระผู้สร้างกับ “นายช่าง” ของพระองค์ด้วย.
9, 10. (ก) อะไรเสริมความผูกพันระหว่างพระยะโฮวากับพระบุตรของพระองค์ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น? (ข) อะไรจะเสริมความผูกพันระหว่างคุณกับพระบิดาของคุณทางภาคสวรรค์ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น?
9 เมื่อคนไม่สมบูรณ์สองคนทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด บางครั้งยากที่เขาทั้งสองจะเข้ากันได้. แต่หาเป็นเช่นนั้นกับพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ไม่! พระบุตรทำงานร่วมกับพระบิดามาเป็นเวลานานสุดคณานับ และ “ชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตลอด เวลา.” (สุภาษิต 8:30) ใช่แล้ว พระองค์ทรงยินดีอยู่กับพระบิดา และนี่เป็นความรู้สึกที่ทั้งสองพระองค์มีต่อกัน. เป็นธรรมดาที่พระบุตรเป็นเหมือนพระบิดาของพระองค์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทรงเรียนรู้ที่จะเลียนแบบคุณลักษณะของพระเจ้า. ดังนั้น ไม่น่าแปลกที่ความผูกพันระหว่างพระบิดากับพระบุตรจึงเหนียวแน่นอย่างยิ่ง! เราจึงเรียกได้อย่างถูกต้องว่า นี่เป็นความผูกพันแห่งความรักที่ยาวนานที่สุดและเหนียวแน่นที่สุดในเอกภพทั้งสิ้น.
10 แต่เรื่องนี้อาจหมายความเช่นไรสำหรับเรา? คุณอาจรู้สึกว่าคุณไม่มีวันจะสร้างความผูกพันเช่นนั้นกับพระยะโฮวาได้. จริงอยู่ ไม่มีใครสักคนในพวกเรามีตำแหน่งสูงส่งเหมือนพระบุตร. อย่างไรก็ดี เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยม. จำไว้ว่า พระเยซูทรงเข้าใกล้พระบิดายิ่งขึ้นโดยการทำงานร่วมกับพระองค์. ด้วยความรักพระยะโฮวาเสนอโอกาสให้เราเป็น “ผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 3:9) ขณะที่เราติดตามตัวอย่างของพระเยซูในงานรับใช้ เราควรจำไว้เสมอว่าเราเป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า. ดังนั้น ความผูกพันของความรักที่ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระยะโฮวาจึงเหนียวแน่นยิ่งขึ้น. จะมีสิทธิพิเศษใดหรือที่ใหญ่ยิ่งกว่านี้?
วิธีที่พระเยซูรักษาความรักอันมั่นคงต่อพระยะโฮวา
11-13. (ก) ทำไมเป็นประโยชน์ที่จะคิดถึงความรักประหนึ่งว่าเป็นสิ่งมีชีวิต และพระเยซูตอนเยาว์วัยได้รักษาความรักที่มีต่อพระยะโฮวาให้มั่นคงอย่างไร? (ข) พระบุตรของพระเจ้าได้แสดงความสนพระทัยในการเรียนรู้จากพระยะโฮวาอย่างไรทั้งก่อนและหลังเสด็จมายังแผ่นดินโลกฐานะเป็นมนุษย์?
11 ในหลายทาง นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะคิดถึงความรักในหัวใจเราประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต. เช่นเดียวกับต้นไม้อันสวยงามที่ปลูกไว้ภายในบ้าน ความรักต้องได้รับการบำรุงและดูแลรักษาเพื่อจะเจริญงอกงาม. หากถูกละเลย ขาดการบำรุงเลี้ยง ความรักก็จะอ่อนลงแล้วก็ตาย. พระเยซูมิได้ถือว่าความรักที่พระองค์มีต่อพระยะโฮวาเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ. พระองค์รักษาความรักให้มั่นคงและเจริญงอกงามตลอดช่วงที่พระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก. ให้เราดูว่าพระองค์ทำเช่นนั้นอย่างไร.
12 ลองคิดอีกครั้งหนึ่งถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูผู้เยาว์วัยได้พูดออกมาโดยไม่ต้องคิด ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. ขอระลึกถึงถ้อยคำที่พระองค์ตรัสแก่บิดามารดาผู้เป็นห่วงพระองค์ว่า “ท่านเที่ยวหาฉันทำไม? ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” (ลูกา 2:49) ตอนที่เป็นเด็ก ดูเหมือนว่าพระเยซูยังไม่มีความทรงจำใด ๆ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระองค์ก่อนมาเป็นมนุษย์. กระนั้น พระองค์ก็มีความรักอันแรงกล้าต่อพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์. พระองค์ทรงทราบว่า ปกติแล้วความรักเช่นนั้นแสดงออกโดยการนมัสการ. ดังนั้น ไม่มีที่อื่นใดบนแผ่นดินโลกที่น่าสนใจสำหรับพระเยซูเหมือนราชสำนักแห่งการนมัสการบริสุทธิ์ของพระบิดา. พระองค์ทรงปรารถนาจะอยู่ที่นั่นและไม่ประสงค์จะจากไป. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สังเกตดู. พระองค์ทรงกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่พระองค์ทรงทราบ. ความรู้สึกดังกล่าวมิได้เริ่มตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ 12 พรรษา ทั้งความรู้สึกนั้นก็มิได้หมดไปในวัยนั้น.
13 ขณะอยู่ในสวรรค์ก่อนมาเป็นมนุษย์ พระบุตรได้ทรงเรียนรู้จากพระบิดาอย่างกระตือรือร้น. คำพยากรณ์ที่บันทึกในยะซายา 50:4-6 เปิดเผยว่าพระยะโฮวาทรงให้การศึกษาเป็นพิเศษแก่พระบุตรในเรื่องบทบาทของพระองค์ฐานะพระมาซีฮา. ถึงแม้การศึกษาดังกล่าวรวมไปถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับความยากลำบากบางอย่างซึ่งจะเกิดขึ้นกับพระองค์ฐานะผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา พระบุตรก็ได้เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น. ต่อมา หลังจากพระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลกและเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ พระองค์ก็ยังคงกระตือรือร้นที่จะไปราชสำนักของพระบิดาและเข้าร่วมในการนมัสการและการเรียนรู้ที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้มีขึ้นที่นั่น. ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลรายงานเรื่องที่พระเยซูเข้าร่วมเป็นประจำที่พระวิหารและธรรมศาลา. (ลูกา 4:16; 19:47) หากเราต้องการให้ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาคงอยู่และเจริญงอกงาม เราต้องขยันขันแข็งในการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน สถานที่ซึ่งเรานมัสการพระยะโฮวาและทำให้ความรู้และความหยั่งรู้ค่าที่เรามีต่อพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น.
14, 15. (ก) ทำไมพระเยซูหาทางอยู่ตามลำพัง? (ข) คำอธิษฐานที่พระเยซูทูลต่อพระบิดาเผยให้เห็นความสนิทสนมและความนับถืออย่างไร?
14 พระเยซูยังรักษาความรักที่มีต่อพระยะโฮวาให้มั่นคงโดยการอธิษฐานเป็นประจำด้วย. ถึงแม้พระองค์เป็นคนที่เป็นมิตรและชอบพบปะผู้คน น่าสังเกตว่าพระองค์เห็นคุณค่าของการอยู่ตามลำพัง. ตัวอย่างเช่น ลูกา 5:16 กล่าวว่า “พระองค์เสด็จออกไปในที่สงัดและทรงอธิษฐาน.” คล้ายกัน มัดธาย 14:23 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “เมื่อให้ประชาชนเหล่านั้นไปหมดแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นไปบนภูเขาโดยลำพังเพื่ออธิษฐาน. เวลาก็ดึกลงพระองค์ยังทรงอยู่ที่นั่นแต่ผู้เดียว.” พระเยซูหาทางอยู่ตามลำพังในโอกาสเหล่านี้และในโอกาสอื่น ๆ ใช่ว่าเพราะพระองค์เป็นคนที่ปลีกตัวจากสังคมหรือไม่ชอบการคบหาสมาคมกับคนอื่น แต่เป็นเพราะพระองค์ต้องการอยู่ตามลำพังกับพระยะโฮวา เพื่อจะสนทนาอย่างสะดวกกับพระบิดาของพระองค์ในคำอธิษฐาน.
15 เมื่ออธิษฐาน บางครั้งพระเยซูใช้คำว่า “อาบา, พระบิดาเจ้าข้า.” (มาระโก 14:36) ในสมัยของพระเยซู “อาบา” เป็นคำที่แสดงถึงความสนิทสนมที่ใช้หมายถึง “บิดา” เป็นคำซึ่งใช้กันภายในครอบครัว. บ่อยครั้งคำนี้อยู่ในบรรดาคำแรก ๆ ที่เด็กจะหัดพูด. กระนั้น ก็เป็นคำที่แสดงถึงความนับถือ. ถึงแม้คำนี้เผยให้เห็นความสนิทสนมของพระบุตรที่พูดกับพระบิดาที่รักของพระองค์ คำนี้ยังบ่งชี้ถึงความนับถืออันสุดซึ้งที่มีต่ออำนาจของพระยะโฮวาฐานะบิดาด้วย. เราพบว่ามีความสนิทสนมและความนับถือรวมกันตลอดคำอธิษฐานของพระเยซูที่มีการบันทึกไว้. ตัวอย่างเช่น ในโยฮันบท 17 อัครสาวกโยฮันได้บันทึกคำอธิษฐานที่ยาวซึ่งพระเยซูทูลต่อพระเจ้าอย่างจริงใจในคืนสุดท้ายของพระองค์บนโลกนี้. เป็นการกระตุ้นใจอย่างแท้จริงที่เราจะศึกษาคำอธิษฐานนั้นและสำคัญที่เราจะเลียนแบบคำอธิษฐานดังกล่าว—แน่นอน ไม่ใช่โดยพูดซ้ำคำตรัสของพระเยซู แต่โดยการหาวิธีต่าง ๆ ที่จะพูดจากหัวใจกับพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเราบ่อยเท่าที่เราจะทำได้. การทำเช่นนี้จะทำให้ความรักที่เรามีต่อพระเจ้ายังคงอยู่และมั่นคง.
16, 17. (ก) พระเยซูตรัสถึงความรักที่พระองค์มีต่อพระบิดาอย่างไร? (ข) พระเยซูพรรณนาถึงพระทัยเอื้อเฟื้อของพระบิดาอย่างไร?
16 ดังที่เราสังเกตก่อนหน้านี้ พระเยซูมิได้ตรัสครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “เรารักพระบิดา.” อย่างไรก็ตาม หลายครั้งด้วยคำตรัสของพระองค์ พระองค์แสดงว่ารักพระบิดา. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? พระเยซูเองตรัสว่า “พระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์และแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ต่อหน้าคนทั้งปวง.” (มัดธาย 11:25, ล.ม.) เมื่อศึกษาตอนที่ 2 ของหนังสือนี้ เราเห็นว่าพระเยซูทรงชอบสรรเสริญพระบิดาโดยการช่วยผู้คนให้รู้จักพระบิดา. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงเปรียบพระยะโฮวาเป็นเหมือนบิดาซึ่งปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้อภัยบุตรที่ดื้อรั้นของตนจนถึงกับคอยการมาถึงของบุตรน้อยที่กลับใจ ครั้นมองเห็นเขาแต่ไกล จึงวิ่งออกไปหาแล้วสวมกอดเขา. (ลูกา 15:20) ใครหรือที่อ่านข้อความตอนนี้แล้วจะไม่รู้สึกซาบซึ้งตรึงใจจากการที่พระเยซูพรรณนาถึงความรักและการให้อภัยของพระยะโฮวา?
17 บ่อยครั้งพระเยซูทรงสรรเสริญพระบิดาเนื่องด้วยความมีพระทัยเอื้อเฟื้อ. พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างของบิดาที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถแน่ใจได้สักเพียงไรว่า พระบิดาของเราจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เราซึ่งจำเป็นจริง ๆ สำหรับเรา. (ลูกา 11:13) พระเยซูยังตรัสเกี่ยวกับความหวังที่พระบิดาทรงเสนอให้ด้วยพระทัยเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง. พระเยซูทรงพรรณนาด้วยความปรารถนาอันล้ำลึกเกี่ยวกับความหวังของพระองค์เองที่จะกลับไปอยู่เคียงข้างพระบิดาในสวรรค์อีก. (โยฮัน 14:28; 17:5) พระองค์ทรงแจ้งเหล่าสาวกถึงความหวังที่พระยะโฮวาเสนอแก่ “แกะฝูงเล็ก” ของพระคริสต์ นั่นคือการอยู่ในสวรรค์และมีส่วนร่วมในการปกครองของพระมหากษัตริย์มาซีฮา. (ลูกา 12:32, ล.ม.; โยฮัน 14:2) และพระองค์ทรงปลอบโยนผู้กระทำผิดที่กำลังจะตายโดยให้ความหวังเกี่ยวกับชีวิตในอุทยาน. (ลูกา 23:43) การกล่าวถึงความเอื้อเฟื้ออย่างมากมายของพระบิดาในวิธีเหล่านี้ช่วยพระเยซูให้รักษาความรักที่มั่นคงต่อพระยะโฮวาอย่างแน่นอน. สาวกหลายคนของพระคริสต์ได้พบว่าสิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดในการเสริมความรักและความเชื่อที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาคือการพูดถึงพระองค์และความหวังที่พระองค์เสนอให้เขา.
คุณจะเลียนแบบความรักที่พระเยซูมีต่อพระยะโฮวาไหม?
18. อะไรคือแนวทางสำคัญที่สุดที่เราต้องดำเนินตามพระเยซู และเพราะเหตุใด?
18 ในทุกแนวทางที่เราต้องติดตามพระเยซู ไม่มีสักทางเดียวที่สำคัญยิ่งกว่านี้ นั่นคือ เราต้องรักพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ, สุดชีวิต, สุดจิตใจ, และสุดกำลังของเรา. (ลูกา 10:27) ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาไม่สามารถวัดได้จากเพียงแค่ว่าเรามีความรู้สึกเช่นนั้นแรงกล้าแค่ไหน แต่ดูจากการกระทำในชีวิตจริงของเราด้วย. พระเยซูไม่พอพระทัยเพียงแค่รู้สึก รักพระบิดาของพระองค์ ทั้งไม่เพียงตรัส ว่า “เรารักพระบิดา.” พระองค์ตรัสว่า “เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา. และพระบิดาได้ตรัสสั่งเราอย่างไร. เราจึงกระทำอย่างนั้น.” (โยฮัน 14:31) ซาตานได้กล่าวหาว่าจะไม่มีมนุษย์คนใดรับใช้พระยะโฮวาเนื่องด้วยความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว. (โยบ 2:4, 5) เพื่อให้คำตอบอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับการให้ร้ายป้ายสีแบบประสงค์ร้ายของซาตาน พระเยซูทรงลงมือปฏิบัติอย่างกล้าหาญและแสดงให้โลกรู้ว่าพระองค์ทรงรักพระบิดามากสักเพียงไร. พระองค์เชื่อฟังจนถึงขั้นสละชีวิตของพระองค์. คุณจะดำเนินตามพระเยซูไหม? คุณจะแสดงให้โลกเห็นไหมว่าคุณรักพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างแท้จริง?
19, 20. (ก) เราต้องการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำด้วยเหตุผลที่สำคัญอะไรบ้าง? (ข) เราน่าจะมีทัศนะเช่นไรต่อการศึกษาส่วนตัว, การคิดรำพึง, และการอธิษฐานของเรา?
19 เรามีความจำเป็นทางด้านวิญญาณอย่างยิ่งที่จะแสดงความรักดังกล่าว. ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาทรงจัดให้เรานมัสการในวิธีที่บำรุงและเสริมสร้างความรักที่เรามีต่อพระบิดา. เมื่อคุณเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน พยายามจำไว้ว่าคุณอยู่ที่นั่นเพื่อนมัสการพระเจ้าของคุณ. แง่มุมต่าง ๆ ของการนมัสการนั้นรวมไปถึงการร่วมในคำอธิษฐานอย่างจริงใจ, การร้องเพลงสรรเสริญ, การตั้งใจฟัง, และมีส่วนออกความคิดเห็นเมื่อมีโอกาส. การประชุมดังกล่าวยังทำให้คุณมีโอกาสที่จะหนุนใจเพื่อนคริสเตียนด้วย. (เฮ็บราย 10:24, 25) การนมัสการพระยะโฮวาเป็นประจำ ณ การประชุมคริสเตียนจะช่วยให้ความรักที่คุณมีต่อพระเจ้ามั่นคงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ.
20 ความรักต่อพระเจ้าจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นโดยการศึกษาส่วนตัว, การคิดรำพึง, และการอธิษฐานด้วย. ขอให้คิดถึงสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นวิธีที่จะอยู่ตามลำพังกับพระยะโฮวา. ขณะที่คุณศึกษาพระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรและคิดรำพึงถึงพระคำนั้น พระยะโฮวากำลังถ่ายทอดความคิดของพระองค์ให้คุณ. ขณะที่คุณอธิษฐาน คุณกำลังเปิดหัวใจต่อพระองค์. อย่าลืมว่าการอธิษฐานเกี่ยวข้องไม่เพียงแค่การทูลขออะไรบางอย่างจากพระเจ้า. การอธิษฐานยังเป็นโอกาสที่จะขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับพระพรต่าง ๆ ที่คุณได้รับและสรรเสริญพระองค์สำหรับราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 146:1) นอกจากนี้ การสรรเสริญพระยะโฮวาอย่างเปิดเผยด้วยความยินดีและความกระตือรือร้นเป็นวิธีดีที่สุดที่จะขอบพระคุณพระยะโฮวาและแสดงว่าคุณรักพระองค์.
21. ความรักต่อพระยะโฮวาสำคัญอย่างไร และจะมีการพิจารณาอะไรในบทต่าง ๆ ต่อจากนี้?
21 ความรักต่อพระเจ้าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสุขถาวรของคุณ. ความรักเช่นนี้แหละที่อาดามและฮาวาจะต้องมีเพื่อจะประสบผลสำเร็จ—และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาทั้งสองไม่ได้พัฒนา. ความรักต่อพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อจะผ่านการทดสอบใด ๆ เกี่ยวกับความเชื่อ, เพื่อจะปฏิเสธการล่อใจไม่ว่าเรื่องไหน, เพื่อจะอดทนการทดลองใด ๆ ก็ตาม. นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเป็นสาวกของพระเยซู. แน่นอน ความรักต่อพระเจ้าเกี่ยวข้องกับความรักที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์. (1 โยฮัน 4:20) ในบทต่าง ๆ ต่อจากนี้ เราจะพิจารณาว่าพระเยซูแสดงความรักต่อผู้คนโดยวิธีใด. ในบทถัดไป เราจะพิจารณาเหตุผลที่ผู้คนมากมายได้พบว่าพระเยซูเป็นบุคคลที่เข้าหาได้ง่าย.