รับการสอนจากพระยะโฮวาจนถึงวันนี้
“พระยะโฮวา . . . เองได้ทรงประทานลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอนแก่ข้าพเจ้า.”—ยะซายา 50:4, ล.ม.
1, 2. (ก) พระยะโฮวาทรงเตรียมศิษย์คนโปรดของพระองค์ไว้สำหรับสิ่งใด และผลเป็นเช่นไร? (ข) พระเยซูทรงยอมรับแหล่งการสอนของพระองค์อย่างไร?
พระเจ้ายะโฮวาทรงเป็นครูตลอดมานับตั้งแต่พระองค์ได้เป็นพระบิดา. ในเวลาต่อมา หลังจากบุตรของพระองค์จำนวนหนึ่งได้กบฏ พระองค์ทรงเตรียมศิษย์ที่ทรงโปรดปราน คือพระบุตรหัวปีของพระองค์ ไว้สำหรับงานสั่งสอนบนแผ่นดินโลก. (สุภาษิต 8:30) ยะซายาบท 50 ได้แนะนำตัวศิษย์องค์นี้ โดยคำกล่าวเชิงพยากรณ์ว่า “พระยะโฮวาพระผู้เป็นองค์บรมมหิศรเองได้ทรงประทานลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอนแก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะรู้วิธีตอบคนที่เหนื่อยล้าด้วยถ้อยคำ.” (ยะซายา 50:4, ล.ม.) ผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามคำสอนของพระบิดาขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูจึงเป็นแหล่งแห่งความสดชื่นแก่บรรดาผู้ ‘อิดโรยและแบกภาระหนัก.’—มัดธาย 11:28-30, ล.ม.
2 พระเยซูได้กระทำอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ มากมายในศตวรรษแรก. พระองค์ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็นและกระทั่งปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมา กระนั้น คนร่วมสมัยรู้จักพระองค์ในฐานะครูเป็นอันดับแรก. ทั้งเหล่าสาวกและผู้ต่อต้านต่างก็เรียกพระองค์ว่าครู. (มัดธาย 8:19; 9:11; 12:38; 19:16; โยฮัน 3:2) สิ่งที่พระเยซูได้สอน พระองค์ไม่ถือเป็นเกียรติสำหรับพระองค์เอง แต่ทรงยอมรับด้วยใจถ่อมว่า “สิ่งที่เราสั่งสอนนั้นไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.” “เราพูดสิ่งเหล่านี้ตามที่พระบิดาได้ทรงสอนเรา.”—โยฮัน 7:16; 8:28; 12:49, ล.ม.
ความสัมพันธ์อันดีเลิศระหว่างครูกับศิษย์
3. คำพยากรณ์ของยะซายาระบุอย่างไรถึงความใฝ่พระทัยของพระยะโฮวาต่อคนเหล่านั้นที่พระองค์ทรงสอน?
3 ครูที่ดีเยี่ยมย่อมให้ความเอาใจใส่ศิษย์เป็นส่วนตัว, ด้วยความสำนึกในหน้าที่, และด้วยความรัก. ยะซายาบท 50 แสดงให้เห็นว่า พระเจ้ายะโฮวาทรงมีความสนพระทัยดังกล่าวต่อคนเหล่านั้นที่พระองค์สอน. คำพยากรณ์นั้นกล่าวว่า ‘พระองค์ทรงตื่นขึ้นทุก ๆ เช้า พระองค์ทรงปลุกหูข้าพเจ้าให้ฟังเยี่ยงคนที่ได้รับการสอน.’ (ยะซายา 50:4, ล.ม.) ภาษาที่ใช้ตรงนี้ชวนให้นึกถึงผู้สอนที่ปลุกเรียกศิษย์ของตนแต่เช้าตรู่เพื่อจะสอนเขา. เมื่อให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของคำพยากรณ์นี้ ผู้คงแก่เรียนทางคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตดังนี้: “ความคิดเห็นคือว่าผู้ไถ่จะเป็น . . . บุคคลที่อยู่ในโรงเรียนของพระเจ้า; และเป็นผู้ที่จะมีคุณสมบัติที่จะถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น. . . . โดยการสอนจากพระเจ้า พระมาซีฮาจะมีคุณสมบัติโดดเด่นที่จะเป็นผู้สอนมนุษยชาติ.”
4. พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการสอนของพระบิดาของพระองค์?
4 โดยหลักการแล้ว ศิษย์ย่อมตอบรับคำสอนของครู. พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการสอนของพระบิดา? ปฏิกิริยาของพระองค์สอดคล้องกับสิ่งที่เราอ่านในยะซายา 50:5 (ล.ม.) ที่ว่า “พระยะโฮวาองค์บรมมหิศรเองได้ทรงเปิดหูของข้าพเจ้า และส่วนตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ขัดขืน. ข้าพเจ้าไม่ได้หันไปทางตรงกันข้าม.” ใช่แล้ว พระเยซูทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเรียน. พระองค์ทรงเป็นผู้ฟังด้วยใจจดจ่อ. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเต็มพระทัยจะทำไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระบิดาขอพระองค์ทำ. พระองค์ไม่ขัดขืน ตรงกันข้าม พระองค์ตรัสว่า “ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า, ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์เถิด.”—ลูกา 22:42.
5. (ก) อะไรเป็นข้อบ่งชี้ว่า พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าถึงความทุกข์ทรมานซึ่งพระองค์ต้องทนเอาเมื่ออยู่บนแผ่นดินโลก? (ข) คำพยากรณ์ที่ยะซายา 50:6 ได้สำเร็จอย่างไร?
5 คำพยากรณ์ชี้ให้เห็นว่า พระบุตรได้รับทราบถึงผลอันเป็นไปได้เมื่อพระองค์กระทำตามพระทัยพระเจ้า. ข้อนี้เห็นได้จากสิ่งที่ผู้รับการสอนกล่าว: “ข้าพเจ้าหันหลังแก่ผู้โบยตี และหันแก้มแก่คนที่ถอน [เครา]. ข้าพเจ้าไม่ได้ซ่อนหน้าเสียจากสิ่งอัปยศและน้ำลายที่ถ่มรด.” (ยะซายา 50:6, ล.ม.) ดังระบุในคำพยากรณ์ พระเยซูได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณบนแผ่นดินโลก อัครสาวกมัดธายเขียนไว้ว่า “เขาถ่มน้ำลายรดพระพักตร์และตีพระองค์, และลางคนเอามือตบพระองค์” (มัดธาย 26:67) เรื่องนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของผู้นำทางศาสนาในคืนวันปัศคาปีสากลศักราช 33. พอวันรุ่งขึ้น พระเยซูได้หันหลังแก่ผู้โบยตี เพื่อพวกทหารโรมันได้โบยตีพระองค์อย่างไม่ปรานีก่อนแขวนพระองค์ให้ตายบนหลัก.—โยฮัน 19:1-3, 16-23.
6. อะไรแสดงให้เห็นว่า พระเยซูไม่เคยขาดความมั่นใจในพระบรมครูของพระองค์ และความมั่นใจของพระองค์ได้รับผลตอบแทนอย่างไร?
6 ฝ่ายพระบุตร ซึ่งได้รับการสอนมาแล้วเป็นอย่างดี ไม่เคยสูญเสียความมั่นใจที่มีต่อครูของพระองค์. ข้อนี้มีแจ้งไว้ดังพระองค์ได้ตรัสต่อไปตามคำพยากรณ์ที่ว่า “พระยะโฮวาพระผู้เป็นองค์บรมมหิศรเองจะทรงช่วยข้าพเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ต้องรู้สึกอับอาย.” (ยะซายา 50:7, ล.ม.) ความมั่นใจของพระเยซูในการช่วยเหลือจากครูของพระองค์นั้นได้รับบำเหน็จบริบูรณ์. พระบิดาทรงยกฐานะของพระองค์สูงขึ้น, ทรงประทานตำแหน่งสูงเยี่ยมเหนือบรรดาผู้รับใช้ทั้งสิ้นของพระเจ้า. (ฟิลิปปอย 2:5-11) พระพรอันเลอเลิศมีไว้สำหรับพวกเราเช่นกัน หากเรายึดมั่นอยู่กับคำสอนของพระยะโฮวาด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง และไม่ “หันไปทางตรงกันข้าม.” ให้เราพิจารณาว่า การสอนนั้นได้เตรียมไว้พร้อมเสมอมาอย่างไรกระทั่งสมัยของเรา.
โครงการสอนที่แผ่ขยายออกไป
7. พระยะโฮวาทรงดำเนินการสอนของพระองค์บนแผ่นดินโลกอย่างไร?
7 ดังเราได้ทราบแล้วแต่ต้น พระยะโฮวาทรงใช้ตัวแทนของพระองค์ทางแผ่นดินโลก คือพระเยซูคริสต์ ให้ดำเนินการสอนของพระเจ้าในศตวรรษแรก. (โยฮัน 16:27, 28) พระเยซูทรงชี้ถึงพระคำของพระเจ้าว่าเป็นแหล่งแห่งคำสอนของพระองค์เสมอ ซึ่งเป็นการวางตัวอย่างแก่คนเหล่านั้นที่พระองค์ได้สอน. (มัดธาย 4:4, 7, 10; 21:13; 26:24, 31) ต่อมา การสอนของพระยะโฮวาได้ดำเนินต่อไปบนแผ่นดินโลก โดยการประกาศเผยแพร่ของคนเหล่านั้นที่ได้รับการสอน. ขอจำไว้ว่า พระเยซูทรงบัญชาพวกเขาดังนี้: “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ครั้นได้สอนให้ผู้คนเป็นสาวกแล้ว คนเหล่านี้จึงได้เข้ามาเป็นส่วนของ “ครอบครัวของพระเจ้าคือประชาคมของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (1 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) นอกจากนี้ พวกเขาได้รับการจัดตั้งเป็นประชาคมต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละประชาคมพวกเขาต่างก็ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา. (กิจการ 14:23; 15:41; 16:5; 1 โกรินโธ 11:16) การสอนของพระเจ้าด้วยวิธีนี้มีต่อเนื่องจนถึงสมัยของเราไหม?
8. พระเยซูทรงแจ้งไว้ว่า งานประกาศสั่งสอนบนแผ่นดินโลกจะได้รับการชี้นำอย่างไรก่อนอวสานมาถึง?
8 แน่นอน! สามวันก่อนพระเยซูวายพระชนม์ พระองค์พยากรณ์ว่าจะมีงานประกาศอันยิ่งใหญ่ก่อนอวสานของระบบนี้. พระองค์ตรัสว่า “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” พระเยซูทรงพรรณนาต่อไปเกี่ยวด้วยวิธีที่งานประกาศและโครงการสอนทั่วโลกจะได้รับการชี้นำ. พระองค์ตรัสถึง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นร่องทาง หรือเป็นตัวแทน เพื่อจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณสำหรับผู้รับใช้ของพระองค์. (มัดธาย 24:14, 45-47, ล.ม.) พระเจ้ายะโฮวาทรงใช้ “ทาส” นี้ดูแลผลประโยชน์ของราชอาณาจักรทั่วแผ่นดินโลก.
9. ใครประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม?
9 ทุกวันนี้ ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมประกอบด้วยชนที่เหลือจำพวกทายาทราชอาณาจักร. บุคคลเหล่านี้คือคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ยังคงเหลือจากจำนวน 144,000 คนซึ่ง “เป็นของพระคริสต์” และเป็นส่วนแห่ง “พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม.” (ฆะลาเตีย 3:16, 29; วิวรณ์ 14:1-3) คุณจะชี้ตัวทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้อย่างไร? ที่เห็นได้ชัดคือโดยการงานที่พวกเขากระทำ และโดยการที่เขายึดมั่นในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า.
10. ชนจำพวกทาสได้ใช้เครื่องมืออะไรส่งเสริมการสอนของพระยะโฮวา?
10 พระยะโฮวาทรงใช้ “ทาส” นี้เป็นตัวแทนในการสอนไพร่พลของพระองค์สมัยปัจจุบัน. คนเหล่านั้นที่อยู่ในจำพวกทาสได้รับรองเอาชื่อพยานพระยะโฮวาในปี 1931. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลายล้านคนได้สมทบกับพวกเขาและยอมรับชื่อนี้ และเข้าส่วนในการประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระเจ้า. วารสารหอสังเกตการณ์ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา นี้เป็นเครื่องมือหลักที่ “ทาส” ใช้ในงานสั่งสอน. อย่างไรก็ดี มีการใช้หนังสืออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน รวมทั้งหนังสือปกแข็ง, หนังสือเล่มเล็ก, จุลสาร, แผ่นพับ, และวารสารตื่นเถิด!
11. “ทาส” ได้ก่อตั้งโรงเรียนอะไรบ้าง และโรงเรียนเหล่านี้แต่ละอย่างมีจุดมุ่งหมายอะไร?
11 นอกจากนั้น “ทาส” ยังได้ก่อตั้งโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ที่มีหลักสูตรห้าเดือนเพื่อเตรียมผู้เผยแพร่วัยหนุ่มสาวสำหรับงานรับใช้ฐานะมิชชันนารีในต่างแดน, และโรงเรียนฝึกอบรมเพื่อการรับใช้ หลักสูตรสองเดือน ซึ่งให้การฝึกอบรมผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งที่ไม่แต่งงานสำหรับงานมอบหมายพิเศษตามระบอบของพระเจ้า. นอกจากนั้น มีโรงเรียนพระราชกิจซึ่งเปิดเป็นช่วง ๆ ฝึกอบรมคริสเตียนผู้ปกครองและผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้งให้รู้งานในหน้าที่รับผิดชอบของเขาหลายอย่างในประชาคมที่เขาประจำอยู่, และโรงเรียนไพโอเนียร์ ซึ่งเตรียมผู้ประกาศเผยแพร่เต็มเวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในกิจกรรมเผยแพร่ของเขา.
12. รูปแบบหนึ่งของโครงการสอนประจำสัปดาห์นั้นคืออะไร?
12 อีกรูปแบบหนึ่งของโครงการสอนคือการประชุมห้าวาระประจำสัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นในประชาคมของพยานพระยะโฮวามากกว่า 75,500 ประชาคมทั่วโลก. คุณรับประโยชน์เต็มที่ไหมจากการประชุมเหล่านี้? โดยที่คุณจดจ่อการสอนนั้น คุณแสดงให้เห็นไหมว่าคุณเชื่อจริง ๆ ว่าคุณเสมือนได้เข้าในโรงเรียนของพระเจ้า? ความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของคุณทำให้ปรากฏเด่นชัดต่อผู้อื่นไหมว่าคุณมี “ลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอน”?—ยะซายา 50:4, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 4:15, 16.
รับการสอน ณ การประชุมประจำประชาคม
13. (ก) แนวทางสำคัญที่พระยะโฮวาสอนไพร่พลของพระองค์สมัยนี้คืออะไร? (ข) เราจะแสดงอย่างไรว่าเราหยั่งรู้ค่าวารสารหอสังเกตการณ์?
13 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยะโฮวาทรงสอนไพร่พลของพระองค์ด้วยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์ โดยใช้วารสารหอสังเกตการณ์ เป็นคู่มือการสอน. คุณมองการประชุมนี้เป็นสถานที่ซึ่งคุณอาจรับการสอนจากพระยะโฮวาไหม? แม้ว่ายะซายา 50:4 หมายถึงพระเยซูเป็นอันดับแรกก็ตาม แต่ก็ใช้ได้กับทุกคนเช่นกันที่ถือเอาประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อได้มาซึ่ง “ลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอน.” วิธีหนึ่งที่จะแสดงได้ว่าคุณเห็นคุณค่าวารสารหอสังเกตการณ์ ก็โดยการอ่านทุกฉบับทันทีเมื่อได้รับ. ครั้นเมื่อถึงเวลาศึกษาหอสังเกตการณ์ ในประชาคม คุณสามารถแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาด้วยการอยู่ที่นั่น ทั้งได้มีการเตรียมล่วงหน้าเพื่อจะประกาศความหวังของคุณอย่างเปิดเผย.—เฮ็บราย 10:23.
14. (ก) เหตุใดการออกความคิดเห็น ณ การประชุมจึงถือเป็นสิทธิพิเศษสำคัญยิ่ง? (ข) การออกความคิดเห็นลักษณะไหนของเด็กวัยเยาว์จึงถือว่าเป็นการชูกำลังใจอย่างยิ่ง?
14 คุณตระหนักหรือไม่ว่า การออกความคิดเห็น ณ ที่ประชุมทำให้ คุณมีส่วนในโครงการสอนที่ดีเยี่ยมของพระยะโฮวา? แน่นอน การให้ความคิดเห็น ณ การประชุมเป็นวิธีสำคัญที่เราสามารถเร้าใจกันและกัน “ให้เกิดความรักและการงานที่ดี.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) เด็กจะมีส่วนร่วมในโครงการสอนนี้ได้ไหม? ได้. การออกความคิดเห็นจากหัวใจของเด็กวัยเยาว์บ่อยครั้งหนุนกำลังใจคนสูงอายุ. บางครั้ง คนใหม่ที่มายังการประชุมของเราพลอยได้รับแรงกระตุ้นจากความคิดเห็นของเด็ก จนเกิดความสนใจจริงจังมากขึ้นในความจริงของคัมภีร์ไบเบิล. บ่อยครั้ง เด็กบางคนทำเป็นนิสัยที่จะอ่านคำตอบจากวรรคนั้นโดยตรง หรือพูดตามที่ผู้ใหญ่คอยกระซิบบอกคำตอบ. อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กเตรียมให้ข้อคิดเห็นเป็นอย่างดี ย่อมเป็นการหนุนใจได้มาก. การออกความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการถวายพระเกียรติแด่ผู้สอนองค์ประเสริฐของเรา รวมทั้งโครงการสอนอันสูงส่งของพระองค์.—ยะซายา 30:20, 21.
15. บิดามารดาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยบุตรออกความเห็นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น?
15 เป็นที่น่ายินดีเมื่อเห็นเด็ก ๆ ปรารถนา จะมีส่วนร่วมในการสรรเสริญพระเจ้าของเรา. พระเยซูทรงหยั่งรู้คุณค่าคำสรรเสริญที่ออกจากปากของเด็ก. (มัดธาย 21:15, 16) คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งกล่าวดังนี้: “เมื่อผมเป็นเด็ก ผมอยากแสดงความคิดเห็นเมื่อมีการศึกษาหอสังเกตการณ์. หลังจากคุณพ่อช่วยผมเตรียมคำตอบแล้ว ท่านจะให้ผมฝึกซ้อมคำตอบอย่างน้อยเจ็ดครั้ง.” อาจเป็นได้ระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ประจำครอบครัว คุณซึ่งเป็นบิดามารดาอาจช่วยบุตรเตรียมคำตอบเป็นคำพูดของเขาเองจากวรรคต่าง ๆ ที่เลือกไว้ในวารสารหอสังเกตการณ์. จงช่วยบุตรให้หยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ที่เขามีส่วนร่วมในโครงการสอนของพระยะโฮวา.
16. มีประโยชน์อะไรบ้างที่ได้จากโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า และใครอาจสมัครเป็นนักเรียนในโรงเรียนนี้ได้?
16 การสอน ณ การประชุมคริสเตียนวาระอื่น ๆ ก็ควรเอาใจใส่อย่างจริงจังเช่นกัน ทั้งฝ่ายผู้มีสิทธิพิเศษจะสอนและฝ่ายผู้รับฟังการสอน. จนบัดนี้เป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว พระยะโฮวาได้ใช้โรงเรียนตามระบอบของพระเจ้าประจำสัปดาห์ฝึกอบรมชายหญิงหลายล้านคนให้เสนอข่าวราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. คนเหล่านั้นที่เข้ามาสมทบกับประชาคมเป็นประจำ รวมทั้งผู้คนที่เพิ่งเริ่มมาประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็อาจสมัครเป็นนักเรียนได้ ตราบใดที่พวกเขาดำเนินชีวิตประสานกับหลักการคริสเตียน.
17. (ก) มีการจัดการประชุมสาธารณะขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไรโดยเฉพาะ? (ข) ผู้ให้คำบรรยายสาธารณะควรระลึกถึงสิ่งใดเสมอ?
17 อีกรูปแบบหนึ่งเกี่ยวด้วยโครงการสอนที่มีมานานแล้วได้แก่การประชุมสาธารณะ. ดังชื่อบ่งบอก การประชุมนี้จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อทำให้คนที่ไม่ใช่พยานฯคุ้นเคยกับคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล. ฉะนั้น ผู้บรรยายจึงต้องเสนอเรื่องราวในลักษณะที่คนฟังข่าวสารเป็นครั้งแรกสามารถเข้าใจได้. ทั้งนี้หมายถึงการชี้แจงศัพท์ อาทิ “แกะอื่น,” “พี่น้อง,” “ชนที่เหลือ” ซึ่งคำเหล่านี้คนใหม่อาจไม่เข้าใจ. เนื่องจากผู้เข้าฟังคำบรรยายสาธารณะอาจมีความเชื่อหรือรูปแบบการดำรงชีวิตซึ่งไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์—ถึงแม้เป็นที่ยอมรับในสังคมปัจจุบัน—ผู้บรรยายพึงเป็นคนผ่อนหนักผ่อนเบาและจะไม่พูดดูถูกความเชื่อหรือรูปแบบการดำรงชีวิตดังกล่าว.—เทียบกับ 1 โกรินโธ 9:19-23.
18. มีการประชุมอื่น ๆ ประจำสัปดาห์อะไรบ้าง และการประชุมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
18 การศึกษาหนังสือประจำประชาคมเป็นการประชุมศึกษาหนังสือซึ่งจัดเตรียมภายใต้การชี้นำของทาสสัตย์ซื่อและสุขุมแต่ละสัปดาห์ ควบคู่กับคัมภีร์ไบเบิล. หนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! เป็นเล่มหนึ่งที่กำลังศึกษากันอยู่ในหลายดินแดน. การประชุมวิธีปฏิบัติงานมีขึ้นเพื่อเตรียมไพร่พลของพระยะโฮวาให้เข้าส่วนเต็มที่ในงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก.—มัดธาย 28:19, 20; มาระโก 13:10.
รับการสอน ณ การประชุมใหญ่
19. มีการประชุมใหญ่อะไรบ้างที่ “ทาส” จัดขึ้นในแต่ละปี?
19 กว่าร้อยปี “ทาสสัตย์ซื่อ” ได้จัดให้มีการประชุมหมวดและการประชุมภาคเพื่อสอนและหนุนกำลังใจคริสเตียนแท้เป็นพิเศษ. เวลานี้มีการจัดการประชุมใหญ่ดังกล่าวสามครั้งต่อปี. มีการประชุมพิเศษวันเดียวซึ่งประชาคมต่าง ๆ ในหมวดหนึ่ง ๆ จะประชุมร่วมกัน. ในระหว่างปีหนึ่ง แต่ละหมวดก็จัดการประชุมสองวัน เรียกว่าการประชุมหมวด. นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมที่เรียกว่าการประชุมภาค โดยหลายหมวดได้มาร่วมประชุมด้วยกัน. ในบางปีอาจมีการประชุมนานาชาติ. การประชุมใหญ่แบบนี้ซึ่งมีเหล่าพยานฯเป็นแขกจากหลายประเทศมาร่วมประชุมนั้นเป็นการเสริมสร้างความเชื่อให้เข้มแข็งอย่างแท้จริงแก่ไพร่พลของพระยะโฮวา!—เทียบกับพระบัญญัติ 16:16.
20. ณ การประชุมใหญ่ซึ่งพยานพระยะโฮวาร่วมชุมนุมกันมักมีการเน้นเรื่องอะไรอยู่เสมอ?
20 ในปี 1922 เมื่อประชาชนมากกว่า 10,000 คนได้ร่วมชุมนุมกันที่ซีดาร์พอยนต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐ ตัวแทนที่เข้าร่วมการประชุมต่างได้รับแรงบันดาลใจจากคำกล่าวของผู้บรรยายที่ว่า “นี้เป็นเวลาสำคัญที่สุด. ดูเถิด พระมหากษัตริย์ทรงครอบครองแล้ว! พวกท่านเป็นผู้โฆษณาของพระองค์. เหตุฉะนั้น จงโฆษณา, โฆษณา, โฆษณา พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.” การประชุมใหญ่เช่นนั้นได้เน้นเสมอเรื่องงานประกาศ. ยกตัวอย่าง เมื่อมีการประชุมนานาชาติในนครนิวยอร์กปี 1953 มีคำประกาศแจ้งถึงการจัดตั้งโครงการฝึกอบรมงานประกาศตามบ้านในทุกประชาคม. การปฏิบัติตามวิธีการที่เสนอนี้ก่อผลดีต่องานประกาศราชอาณาจักรในหลายประเทศ.
รับการสอนจากพระยะโฮวาเพื่อจะสอนต่อไป
21. เราต้องการรับเอาสิทธิพิเศษอะไร โดยไม่พลาดจุดมุ่งหมายของสิทธิพิเศษนั้น?
21 แน่นอน ทุกวันนี้พระยะโฮวาทรงมีโครงการสอนที่น่าพิศวงบนแผ่นดินโลก! ทุกคนที่ถือเอาประโยชน์จากโครงการนี้ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา ใช่ เขาอาจอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นซึ่งพระเจ้าทรงประทาน “ลิ้นของคนที่ได้รับการสั่งสอน.” ช่างเป็นสิทธิพิเศษอย่างแท้จริงที่ได้เรียนในโรงเรียนของพระเจ้า! กระนั้น เมื่อรับเอาสิทธิพิเศษนี้ เราต้องไม่พลาดไปจากจุดมุ่งหมายของโครงการสอนนี้. พระยะโฮวาทรงสอนพระเยซูก็เพื่อพระองค์จะสอนผู้อื่น และพระเยซูก็ทรงสอนสาวกของพระองค์ เพื่อสาวกของพระองค์สามารถทำงานอย่างเดียวกันกับที่พระองค์ได้กระทำ แต่ในขอบเขตที่ใหญ่กว่า. ในทำนองคล้ายกัน พวกเราได้รับการฝึกสอนจากโครงการสอนอันดีเยี่ยมของพระยะโฮวาก็ด้วยจุดมุ่งหมายจะสอนคนอื่นต่อไป.—โยฮัน 6:45; 14:12; 2 โกรินโธ 5:20, 21; 6:1; 2 ติโมเธียว 2:2.
22. (ก) โมเซและยิระมะยาเผชิญปัญหาอะไร และปัญหานั้นได้รับการแก้ไขอย่างไร? (ข) เราอาจได้รับคำรับรองอะไรที่ว่าพระเจ้าจะทรงดูแลให้งานประกาศราชอาณาจักรสำเร็จลุล่วงไปได้?
22 คุณพูดเหมือนโมเซไหมที่ว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนพูดไม่คล่องแคล่ว” หรือพูดอย่างยิระมะยาไหมว่า ‘ข้าพเจ้าพูดไม่เป็น’? พระยะโฮวาจะช่วยคุณอย่างที่ได้ทรงช่วยคนทั้งสองมาแล้ว. พระองค์ตรัสแก่โมเซดังนี้: “เราจะอยู่ที่ปากของเจ้า.” และพระองค์ได้ตรัสแก่ยิระมะยาว่า “อย่ากลัวหน้าเขา . . . เราอยู่ด้วยเจ้า.” (เอ็กโซโด 4:10-12; ยิระมะยา 1:6-8) เมื่อพวกผู้นำทางศาสนาต้องการระงับเสียงประกาศของเหล่าสาวกของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “ถึงคนเหล่านี้จะนิ่งเสีย, ศิลาทั้งหลายก็ยังจะร้องออกเสียง.” (ลูกา 19:40) แต่คราวนั้นไม่จำเป็นที่ศิลาต้องร้องออกเสียง และสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นเช่นกัน เพราะพระยะโฮวาทรงใช้ลิ้นของบรรดาผู้ที่ได้รับการสอนประกาศข่าวราชอาณาจักรของพระองค์.
คุณตอบได้ไหม?
▫ พระธรรมยะซายาบท 50 ได้เน้นความสัมพันธ์อันดีเลิศอะไรระหว่างครูกับศิษย์?
▫ พระยะโฮวาได้ทรงดำเนินการอย่างไรเกี่ยวด้วยโครงการสอนที่แผ่ขยายออกไป?
▫ โครงการสอนของพระยะโฮวาประกอบด้วยการประชุมอะไรบ้าง?
▫ ทำไมการมีส่วนร่วมในโครงการสอนของพระยะโฮวาจึงเป็นสิทธิพิเศษอันเยี่ยมยอด?
[รูปภาพหน้า 16]
คำตอบจากหัวใจของเด็กบ่อยครั้งจะเป็นกำลังใจแก่ผู้ใหญ่