‘การบอกข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า’
‘เท้าของผู้เดินบนภูเขามาบอกข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่าก็งามจริง ๆ.’—ยะซายา 52:7, ล.ม.
1, 2. (ก) สิ่งเลวร้ายอะไรบ้างกำลังเกิดขึ้นทุกวัน? (ข) หลายคนรู้สึกเช่นไรเมื่อได้ยินข่าวร้ายอยู่เรื่อย ๆ?
ในปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกถูกโถมทับด้วยข่าวร้าย. พวกเขาเปิดวิทยุก็ได้ยินรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคร้ายที่คุกคามแผ่นดินโลก. พวกเขาชมข่าวทางโทรทัศน์ก็เห็นภาพติดตาของเด็กหิวโหยกำลังร้องขอความช่วยเหลือ. พวกเขาหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาก็ได้อ่านเกี่ยวกับระเบิดที่ทำลายตึกเป็นแถบ ๆ ทำให้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จำนวนมากเสียชีวิต.
2 ใช่แล้ว สิ่งเลวร้ายกำลังเกิดขึ้นทุกวัน. ฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไปจริง ๆ—ไปในทางที่เลวร้ายยิ่งขึ้น. (1 โกรินโธ 7:31) วารสารข่าวของยุโรปตะวันตกฉบับหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า บางครั้งดูราวกับว่าโลกทั้งโลก “กำลังจะลุกเป็นไฟ.” ไม่แปลกเลยที่มีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกทุกข์ใจ! ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งหนึ่ง ความเห็นของชายคนหนึ่งที่มีต่อรายงานข่าวทางโทรทัศน์ในสหรัฐสะท้อนถึงความรู้สึกของหลายล้านคนอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเขากล่าวว่า ‘หลังจากดูข่าว ผมรู้สึกหดหู่เหลือเกิน. มีแต่ข่าวร้ายทั้งนั้น. มันทำให้หมดเรี่ยวหมดแรง.’
ข่าวที่ทุกคนจำเป็นต้องได้ยิน
3. (ก) คัมภีร์ไบเบิลบอกข่าวดีอะไร? (ข) ทำไมคุณถือว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรมีค่ามาก?
3 ในโลกที่มืดมนดังกล่าว พอจะมีข่าวดีให้พบเห็นไหม? มีแน่นอน! นับว่าเป็นการปลอบประโลมใจที่ทราบว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกเกี่ยวกับข่าวดี. ข่าวดีดังกล่าวคือข่าวที่ว่าความเจ็บป่วย, ความหิวโหย, อาชญากรรม, สงคราม, และการกดขี่ทุกชนิดจะสิ้นสุดลงโดยทางราชอาณาจักรของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 46:9; 72:12) นี่เป็นข่าวที่ทุกคนจำเป็นต้องได้ยินมิใช่หรือ? พยานพระยะโฮวาคิดอย่างนั้นทีเดียว. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงเป็นที่รู้จักทุกหนทุกแห่งในเรื่องความพยายามอย่างไม่ละลดที่จะบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนทุกชาติ.—มัดธาย 24:14.
4. เราจะพิจารณาแง่มุมใดบ้างของงานประกาศของเราในบทความนี้และบทความถัดไป?
4 แต่เราจะทำอะไรได้เพื่อจะมีส่วนร่วมต่อ ๆ ไปอย่างมีความหมายและด้วยความอิ่มอกอิ่มใจในการประกาศข่าวดีนี้ แม้แต่ในเขตที่ไม่ค่อยมีการตอบรับ? (ลูกา 8:15) การพิจารณากันสั้น ๆ เกี่ยวกับแง่มุมสำคัญสามประการของงานประกาศที่เราทำคงจะช่วยได้. เราสามารถตรวจสอบ (1) แรงกระตุ้นของเรา หรือเหตุใดเราจึงประกาศ, (2) ข่าวสารที่เราประกาศ หรือเราประกาศเรื่องอะไร, และ (3) วิธีของเรา หรือเราประกาศอย่างไร. โดยรักษาแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง, ให้ข่าวสารของเราชัดเจน, และให้วิธีประกาศของเรามีประสิทธิภาพอยู่เสมอ เราจะให้โอกาสแก่ผู้คนมากมายหลายชนิดให้ได้ยินข่าวดีที่ดีที่สุด คือข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.a
เหตุผลที่เรามีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดี
5. (ก) อะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่กระตุ้นเราให้มีส่วนร่วมในการประกาศ? (ข) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าการเชื่อฟังพระบัญชาจากคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ออกไปประกาศเป็นการแสดงความรักต่อพระเจ้า?
5 ขอให้เราพิจารณาแง่มุมแรกกันก่อน ซึ่งก็คือแรงกระตุ้นของเรา. เหตุใดเราจึงประกาศข่าวดี? ก็ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันกับพระเยซู. พระองค์ตรัสว่า “เรารักพระบิดา.” (โยฮัน 14:31; บทเพลงสรรเสริญ 40:8) เหตุผลสำคัญที่สุดที่กระตุ้นเราให้ประกาศข่าวดีก็คือความรักต่อพระเจ้า. (มัดธาย 22:37, 38) คัมภีร์ไบเบิลชี้ถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างความรักต่อพระเจ้ากับงานรับใช้ของเรา เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “นี่แหละเป็นความรักพระเจ้า, คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์.” (1 โยฮัน 5:3; โยฮัน 14:21) พระบัญญัติของพระเจ้ารวมถึง ‘การไปทำให้คนเป็นสาวก’ ด้วยไหม? (มัดธาย 28:19) ถูกแล้ว. จริงอยู่ที่ว่าผู้กล่าวถ้อยคำนี้คือพระเยซู แต่ว่ากันถึงที่สุดแล้วถ้อยคำนี้ก็มาจากพระยะโฮวา. ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น? พระเยซูชี้แจงว่า “เรามิได้ทำสิ่งใดโดยลำพังตัวเราเอง, แต่พระบิดาได้ทรงสอนเราอย่างไร, เราจึงกล่าวอย่างนั้น.” (โยฮัน 8:28; มัดธาย 17:5) ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราเชื่อฟังพระบัญชาที่ให้ออกไปประกาศ เราแสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าเรารักพระองค์.
6. ในทางใดที่ความรักต่อพระเจ้ากระตุ้นเราให้ประกาศ?
6 นอกจากนี้ ความรักต่อพระเจ้ากระตุ้นเราให้ประกาศเนื่องจากเราต้องการแก้คำโกหกที่ซาตานแพร่เกี่ยวกับพระองค์. (2 โกรินโธ 4:4) ซาตานตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบธรรมแห่งการปกครองของพระเจ้า. (เยเนซิศ 3:1-5) ฐานะพยานของพระยะโฮวา เราปรารถนาจะมีส่วนร่วมในการเปิดโปงคำใส่ร้ายของซาตานและในการทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถือสำหรับมนุษยชาติ. (ยะซายา 43:10-12) ยิ่งกว่านั้น เรามีส่วนร่วมในการประกาศเนื่องจากเราได้มารู้จักคุณลักษณะและแนวทางต่าง ๆ ของพระยะโฮวา. เรารู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์และปรารถนาอย่างยิ่งที่จะบอกให้คนอื่น ๆ รู้เกี่ยวกับพระเจ้าของเรา. ที่จริง คุณความดีของพระยะโฮวาและแนวทางอันชอบธรรมของพระองค์ก่อความยินดีมากล้นแก่เราจนเราไม่อาจจะหยุดพูดถึงพระองค์ได้. (บทเพลงสรรเสริญ 145:7-12) เราอดไม่ได้ที่จะพรั่งพรูคำสรรเสริญและประกาศเผยแพร่ “คุณความดีอันล้ำเลิศ” ของพระองค์แก่ทุกคนที่จะรับฟัง.—1 เปโตร 2:9, ล.ม.; ยะซายา 43:21.
7. นอกจากความรักต่อพระเจ้าแล้ว มีเหตุผลสำคัญอะไรอีกที่เรามีส่วนร่วมในงานประกาศ?
7 มีเหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในงานประกาศต่อ ๆ ไป นั่นคือ เราปรารถนาอย่างจริงใจที่จะนำการบรรเทาทุกข์ไปยังผู้คนที่ถูกกระหน่ำอย่างไม่หยุดหย่อนจากข่าวร้าย รวมทั้งคนที่ทนทุกข์ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในการทำงานนี้ เราพยายามติดตามแบบอย่างของพระเยซู. ขอให้พิจารณาสิ่งที่กล่าวไว้ที่มาระโกบท 6 เป็นตัวอย่าง.
8. เรื่องราวในมาระโกบท 6 แสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความรู้สึกที่พระเยซูมีต่อประชาชน?
8 เหล่าอัครสาวกกลับจากการรณรงค์ประกาศและเล่าให้พระเยซูฟังทุกสิ่งที่พวกเขาได้ทำและได้สอน. พระเยซูทรงสังเกตว่าเหล่าอัครสาวกเหนื่อยอ่อน จึงบอกพวกเขาให้ไปกับพระองค์เพื่อ “หยุดพักหายเหนื่อยสักหน่อยหนึ่ง.” ดังนั้นพวกเขาจึงลงเรือเดินทางไปยังที่เงียบสงบแห่งหนึ่ง. ประชาชนวิ่งไปตามชายฝั่งเพื่อตามพระเยซูกับเหล่าอัครสาวกไป และไม่ช้าก็ไปทัน. พระเยซูทรงทำประการใด? บันทึกกล่าวว่า “[พระองค์] ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ และพระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง พระองค์จึงทรงสั่งสอนเขาเป็นหลายข้อหลายประการ.” (มาระโก 6:31-34, ฉบับแปลใหม่) ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้บอกข่าวดีแก่ประชาชนทั้ง ๆ ที่พระองค์เหนื่อยแล้ว. เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงเห็นอกเห็นใจประชาชนเหล่านี้.
9. เราเรียนอะไรจากเรื่องราวในมาระโกบท 6 เกี่ยวกับแรงกระตุ้นที่ถูกต้องในการประกาศ?
9 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? ในฐานะคริสเตียน เรารู้สึกถึงพันธะที่จะต้องประกาศข่าวดีและทำให้คนเป็นสาวก. เราสำนึกถึงความรับผิดชอบที่จะประกาศข่าวดี เนื่องจากเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่จะ “ให้คนทั้งปวงถึงที่รอด.” (1 ติโมเธียว 2:4) อย่างไรก็ตาม เราทำงานประกาศไม่ใช่เพียงเพราะสำนึกในหน้าที่เท่านั้น แต่เพราะเรามีความสงสารด้วย. ถ้าเรารู้สึกสงสารผู้คนเช่นเดียวกับพระเยซู หัวใจของเราจะกระตุ้นเราให้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อบอกข่าวดีแก่พวกเขาต่อ ๆ ไป. (มัดธาย 22:39) การมีแรงกระตุ้นที่ดีเช่นนี้ต่อการเข้าร่วมในงานรับใช้จะผลักดันเราให้ประกาศข่าวดีต่อไปไม่หยุด.
ข่าวสารของเรา—ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า
10, 11. (ก) ยะซายาพรรณนาอย่างไรถึงข่าวสารที่เราประกาศ? (ข) พระเยซูประกาศข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่าอย่างไร และผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันได้ติดตามแบบอย่างของพระเยซูโดยวิธีใด?
10 จะว่าอย่างไรกับแง่มุมที่สองของงานประกาศ—ข่าวสารที่เราประกาศ? เราประกาศเรื่องอะไร? ผู้พยากรณ์ยะซายาพรรณนาเกี่ยวกับข่าวสารที่เราประกาศไว้อย่างน่าจับใจดังนี้: “เท้าของผู้เดินบนภูเขามาบอกข่าวดีก็งามจริง ๆ คือผู้ประกาศสันติสุข ผู้บอกข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า ผู้ประกาศเรื่องความรอด ผู้บอกแก่กรุงซีโอนว่า ‘พระเจ้าของเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แล้ว!’ ”—ยะซายา 52:7, ล.ม.
11 ถ้อยคำสำคัญของข้อคัมภีร์นี้ที่ว่า “พระเจ้าของเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แล้ว” เตือนเราถึงข่าวสารที่เราต้องประกาศ นั่นคือข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มาระโก 13:10) ขอให้สังเกตด้วยว่า ข้อคัมภีร์นี้เผยให้เห็นเนื้อหาในแง่บวกของข่าวสารของเรา. ยะซายาใช้คำอย่างเช่น “ความรอด,” “ข่าวดี,” “สันติสุข,” และ “สิ่งที่ดีกว่า.” หลายศตวรรษต่อมาหลังจากสมัยยะซายา คือในศตวรรษแรก พระเยซูคริสต์ทรงทำให้คำพยากรณ์นี้สำเร็จอย่างโดดเด่นโดยทรงวางตัวอย่างที่แสดงถึงใจอันแรงกล้าในการประกาศข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า นั่นคือราชอาณาจักรของพระเจ้าที่กำลังจะมา. (ลูกา 4:43) ในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 1919 พยานพระยะโฮวาได้ติดตามแบบอย่างของพระเยซูโดยประกาศข่าวดีด้วยใจแรงกล้าเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งได้รับการสถาปนาแล้วและพระพรต่าง ๆ ที่ราชอาณาจักรจะนำมา.
12. ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก่อผลเช่นไรต่อคนที่ตอบรับ?
12 ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก่อผลเช่นไรต่อคนที่ตอบรับ? ในทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกับสมัยของพระเยซู ข่าวดีให้ความหวังและการปลอบประโลมใจ. (โรม 12:12; 15:4) ข่าวนี้ให้ความหวังแก่ผู้มีหัวใจสุจริตเนื่องจากพวกเขาได้เรียนรู้ว่ามีเหตุผลอันหนักแน่นที่จะเชื่อว่ามียุคสมัยที่ดีกว่าคอยท่าพวกเขาอยู่. (มัดธาย 6:9, 10; 2 เปโตร 3:13) ความหวังดังกล่าวช่วยคนที่เกรงกลัวพระเจ้าได้มากที่จะรักษาทัศนะในแง่บวก. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้ว่า คนเหล่านั้น “จะไม่กลัวข่าวร้าย.”—บทเพลงสรรเสริญ 112:1, 7.
ข่าวสารที่จะ “สมานหัวใจที่ชอกช้ำ”
13. ผู้พยากรณ์ยะซายาพรรณนาอย่างไรถึงพระพรที่ผู้ตอบรับข่าวดีได้รับในทันที?
13 นอกจากนั้น คนที่รับฟังข่าวดีนี้ได้รับการปลอบประโลมและพระพรทันที. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? มีการบอกถึงพระพรเหล่านั้นบางอย่างโดยผู้พยากรณ์ยะซายาเมื่อท่านบอกล่วงหน้าว่า “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศรอยู่บนข้าพเจ้า เพราะเหตุที่พระยะโฮวาได้เจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนถ่อม. พระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้าให้สมานหัวใจที่ชอกช้ำ ให้ประกาศอิสรภาพแก่คนตกเป็นเชลย และการเปิดตาออกกว้างแก่ผู้ถูกคุมขัง; ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระยะโฮวา และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา; ให้ปลอบโยนบรรดาผู้เศร้าโศก.”—ยะซายา 61:1, 2, ล.ม.; ลูกา 4:16-21.
14. (ก) ถ้อยคำที่ว่า “สมานหัวใจที่ชอกช้ำ” บ่งชี้อะไรเกี่ยวกับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร? (ข) เราสะท้อนความห่วงใยของพระยะโฮวาต่อผู้มีหัวใจที่ชอกช้ำโดยวิธีใด?
14 ตามคำพยากรณ์นั้น โดยการประกาศข่าวดี พระเยซูจะทรง “สมานหัวใจที่ชอกช้ำ.” ภาพพจน์ที่ยะซายาใช้นับว่าชัดเจนจริง ๆ! ตามที่พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบาย คำภาษาฮีบรูที่มีการแปลว่า “สมาน” นี้ “บ่อยครั้งมีการใช้กับ ‘การพัน’ ผ้าพันแผล และด้วยเหตุนี้จึงเกี่ยวข้องกับการใช้ยาและการรักษาบาดแผล.” พยาบาลที่เป็นห่วงเป็นใยอาจใช้ผ้าพันที่แผลหรือปิดกดทับส่วนที่บาดเจ็บของร่างกายเพื่อพยุงส่วนนั้นไว้. เช่นเดียวกัน เมื่อประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร ผู้ประกาศที่เป็นห่วงเป็นใยให้การเกื้อหนุนแก่ทุกคนที่ตอบรับซึ่งทุกข์ร้อนในทางหนึ่งทางใด. และโดยการเกื้อหนุนผู้ที่ทุกข์ร้อน พวกเขาสะท้อนความห่วงใยของพระยะโฮวา. (ยะเอศเคล 34:15, 16) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงรักษาคนที่ชอกช้ำระกำใจ และทรงพันผูกบาดแผลของเขา.”—บทเพลงสรรเสริญ 147:3, ฉบับแปลใหม่.
วิธีที่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรก่อผลกระทบ
15, 16. ตัวอย่างอะไรบ้างจากชีวิตจริงที่แสดงให้เห็นว่าข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรให้การเกื้อหนุนและเสริมกำลังผู้ที่มีความทุกข์ร้อน?
15 ตัวอย่างจากชีวิตจริงจำนวนมากมายแสดงให้เห็นวิธีที่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรให้การเกื้อหนุนและเสริมกำลังอย่างแท้จริงแก่ผู้มีหัวใจชอกช้ำ. ขอพิจารณาตัวอย่าง ของโอเรียนนา ซึ่งเป็นสตรีสูงอายุในอเมริกาใต้ผู้หมดอาลัยตายอยากในชีวิต. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งได้มาเยี่ยมเธอ และอ่านคัมภีร์ไบเบิลกับหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลให้เธอฟัง.b ในตอนแรก สตรีผู้มีจิตใจห่อเหี่ยวนี้นอนหลับตาฟังการอ่านอยู่บนเตียง และถอนหายใจเป็นบางครั้ง. แต่จากนั้นไม่นาน เธอเริ่มพยายามลุกนั่งบนเตียงเพื่อฟังการอ่าน. อีกระยะหนึ่งต่อมา เธอนั่งรอบนเก้าอี้ในห้องรับแขก คอยผู้สอนคัมภีร์ไบเบิล. จากนั้น สตรีผู้นี้เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนที่หอประชุม. เนื่องจากได้รับการกระตุ้นจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ณ การประชุมต่าง ๆ เธอจึงเริ่มเสนอหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลแก่ใครก็ตามที่ผ่านไปมาหน้าบ้านเธอ. ในที่สุด เมื่ออายุได้ 93 ปี โอเรียนนารับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรทำให้เธอมีความปรารถนาอีกครั้งที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.—สุภาษิต 15:30; 16:24.
16 ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรให้การเกื้อหนุนที่สำคัญยิ่งกระทั่งแก่ผู้ที่รู้ว่าชีวิตของตนจะจบลงในไม่ช้าเนื่องด้วยโรคภัยไข้เจ็บ. ขอพิจารณาตัวอย่างของมาเรียจากยุโรปตะวันตก. เธอป่วยเป็นโรคร้ายที่ทำให้ถึงตายและสูญสิ้นความหวังทุกอย่าง. ตอนที่พยานพระยะโฮวาได้พบเธอ เธอท้อแท้ใจอย่างหนัก. อย่างไรก็ดี เมื่อเธอได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า ชีวิตเธอกลับมามีความหมายอีกครั้ง. เธอรับบัพติสมาและกระตือรือร้นมากในงานประกาศ. ในช่วงสองปีสุดท้ายของชีวิต แววตาของเธอเปล่งประกายความหวังและความชื่นชมยินดี. มาเรียเสียชีวิตพร้อมกับมีความหวังอันมั่นคงในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย.—โรม 8:38, 39.
17. (ก) ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรก่อผลกระทบชีวิตของผู้คนที่ตอบรับในวิธีใด? (ข) ในทางใดบ้างที่คุณได้ประสบด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวา “ทรงยกบรรดาคนตกอับให้ลุกขึ้น”?
17 รายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรก่อผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่แสวงหาความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. ผู้คนที่โศกเศร้าเนื่องจากการเสียชีวิตของผู้เป็นที่รักกลับมามีเรี่ยวแรงขึ้นอีกเมื่อพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (1 เธซะโลนิเก 4:13) คนที่ยากไร้และดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวรู้สึกว่าตนกลับมามีศักดิ์ศรีและมีพลังใจขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งเขาตราบใดที่เขาภักดีต่อพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 37:28) ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา หลายคนที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง ค่อย ๆ มีกำลังเข้มแข็งขึ้นซึ่งจำเป็นเพื่อจะต่อสู้กับโรคนี้ และในบางกรณีถึงกับเอาชนะได้ด้วยซ้ำ. (บทเพลงสรรเสริญ 40:1, 2) ที่จริง โดยกำลังที่พระยะโฮวาประทานให้ผ่านทางพระคำของพระองค์ ในขณะนี้ทีเดียวที่พระองค์ “ทรงยกบรรดาคนตกอับให้ลุกขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:14, ล.ม.) โดยการสังเกตวิธีที่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าปลอบประโลมผู้ที่หัวใจชอกช้ำในเขตประกาศของเราและในประชาคมคริสเตียน เราได้รับการย้ำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเรามีข่าวที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในปัจจุบันนี้!—บทเพลงสรรเสริญ 51:17.
‘คำวิงวอนที่ข้าพเจ้ามีต่อพระเจ้าเพื่อพวกเขา’
18. การที่ชาวยิวปฏิเสธข่าวดีส่งผลกระทบอย่างไรต่อเปาโล และเพราะเหตุใด?
18 แม้ข่าวสารของเราจะเป็นข่าวที่ดีที่สุด แต่หลายคนก็ปฏิเสธ. นี่อาจมีผลกระทบต่อเราอย่างไร? ก็แบบเดียวกันกับที่มีผลกระทบต่ออัครสาวกเปาโล. ท่านประกาศแก่ชาวยิวบ่อย ๆ แต่พวกเขาส่วนมากไม่รับฟังข่าวสารเรื่องความรอด. การปฏิเสธของพวกเขาส่งผลกระทบอย่างมากต่อเปาโล. ท่านยอมรับว่า “ข้าพเจ้ามีความโศกเศร้ามากและมีความปวดร้าวในหัวใจไม่หยุดหย่อน.” (โรม 9:2, ล.ม.) เปาโลสงสารชาวยิวที่ท่านประกาศให้ฟัง. การที่พวกเขาปฏิเสธข่าวดีทำให้ท่านเศร้าใจ.
19. (ก) เพราะเหตุใดจึงเป็นที่เข้าใจได้ที่เราอาจท้อใจในบางครั้ง? (ข) อะไรช่วยให้เปาโลทำงานประกาศต่อ ๆ ไป?
19 เราประกาศข่าวดีก็เนื่องจากเราสงสารผู้คนเช่นกัน. ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ที่เราอาจท้อใจเมื่อหลายคนปฏิเสธข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. การที่เรารู้สึกเช่นนั้นแสดงว่าเรามีความห่วงใยจริง ๆ ต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของผู้คนที่เราประกาศให้ฟัง. อย่างไรก็ตาม เราควรระลึกถึงตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล. อะไรช่วยให้ท่านทำงานประกาศต่อ ๆ ไป? ถึงแม้การที่ชาวยิวไม่ยอมรับเอาข่าวดีทำให้ท่านโศกเศร้าและปวดร้าวใจ แต่เปาโลก็ไม่หมดหวังกับชาวยิวทั้งหมด โดยคิดว่าหมดหนทางช่วยแล้ว. ท่านหวังว่าจะยังมีบางคนที่ยอมรับพระคริสต์. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกของท่านที่มีต่อชาวยิวเป็นรายบุคคลว่า “ความปรารถนาดีในหัวใจข้าพเจ้าและคำวิงวอนที่ข้าพเจ้ามีต่อพระเจ้านั้นแท้จริงแล้วก็เพื่อความรอดของพวกเขา.”—โรม 10:1, ล.ม.
20, 21. (ก) ในเรื่องการประกาศ เราจะติดตามแบบอย่างของเปาโลได้อย่างไร? (ข) จะมีการพิจารณาแง่มุมใดเกี่ยวกับการประกาศของเราในบทความถัดไป?
20 ขอสังเกตสองสิ่งที่เปาโลเน้นอย่างเห็นได้ชัด. นั่นคือท่านมีความปรารถนาจากหัวใจที่จะให้บางคนได้รับความรอด และท่านวิงวอนพระเจ้าในเรื่องนี้. ทุกวันนี้ เราติดตามแบบอย่างของเปาโล. เรารักษาความปรารถนาจากใจจริงที่จะเสาะหาใครก็ตามที่อาจยังมีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องต่อข่าวดี. เราอธิษฐานขอพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปให้พบคนเช่นนั้นเพื่อเราจะสามารถช่วยพวกเขาให้ติดตามแนวทางที่จะนำไปสู่ความรอด.—สุภาษิต 11:30; ยะเอศเคล 33:11; โยฮัน 6:44.
21 อย่างไรก็ตาม เพื่อจะนำข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปถึงผู้คนมากเท่าที่เป็นไปได้ เราต้องสนใจไม่ใช่เฉพาะเหตุใดและอะไรที่เราประกาศเท่านั้น แต่สนใจว่าเราประกาศอย่างไรด้วย. จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a จะมีการพิจารณาสองแง่มุมแรกในบทความนี้ และแง่มุมที่สามในบทความถัดไป.
b จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง?
• อะไรเป็นเหตุผลที่เรามีส่วนร่วมในการประกาศ?
• ข่าวสารหลักที่เราประกาศคืออะไร?
• ผู้ที่ตอบรับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรได้รับพระพรอะไรบ้าง?
• อะไรจะช่วยเราให้ประกาศต่อ ๆ ไป?
[ภาพหน้า 18]
ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรให้ความเข้มแข็งแก่ผู้มีหัวใจที่ชอกช้ำ
[ภาพหน้า 20]
การอธิษฐานช่วยเรายืนหยัดต่อไปในการประกาศ