ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา—“ถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา”
“เขาผู้นั้นถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา, และถูกฟกช้ำก็เพราะความอสัตย์อธรรมของพวกเรา . . . ที่พวกเราหายเป็นปกติได้ก็เพราะรอยแผลเฆี่ยนของเขาผู้นั้น.”—ยซา. 53:5.
1. เราควรระลึกถึงอะไรไว้เสมอเมื่อเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ และคำพยากรณ์อะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้น?
เราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์และเพื่อระลึกถึงทุกสิ่งที่การสิ้นพระชนม์และการคืนพระชนม์ของพระองค์ทำให้บรรลุผล. การประชุมอนุสรณ์เตือนเราให้นึกถึงการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการปกครอง, การทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, และการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ ซึ่งรวมถึงการช่วยมนุษยชาติให้รอดด้วย. อาจเป็นได้ว่าไม่มีคำพยากรณ์ข้ออื่นใดในคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาเครื่องบูชาของพระคริสต์และสิ่งที่เครื่องบูชานี้ทำให้บรรลุผลได้ดีไปกว่าคำพยากรณ์ที่บันทึกไว้ในยะซายา 53:3-12. ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงความทุกข์ที่ผู้รับใช้องค์เอกจะประสบและให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์และพระพรที่การสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะทำให้เกิดขึ้นกับพี่น้องผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ของพระองค์.—โย. 10:16.
2. คำพยากรณ์ของยะซายาเป็นข้อพิสูจน์ถึงอะไร และข้อเท็จจริงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
2 เจ็ดศตวรรษก่อนพระเยซูมาประสูติบนแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงดลใจยะซายาให้พยากรณ์ว่าผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้จะซื่อสัตย์แม้เมื่อถูกทดสอบถึงขีดสุด. ข้อเท็จจริงนี้เองพิสูจน์ให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในความภักดีของพระบุตร. ขณะที่เราตรวจสอบคำพยากรณ์นี้ เราจะรู้สึกซาบซึ้งใจและความเชื่อของเราจะเข้มแข็งยิ่งขึ้น.
ผู้คน “ดูหมิ่น” และ “หาได้นับถือ [พระองค์] ไม่”
3. เหตุใดชาวยิวน่าจะต้อนรับพระเยซู แต่พวกเขาปฏิบัติต่อพระองค์อย่างไร?
3 อ่านยะซายา 53:3. ขอให้นึกภาพว่าคงต้องหมายถึงอะไรสำหรับพระบุตรของพระเจ้าเมื่อพระองค์ทรงสละความยินดีในการรับใช้เคียงข้างพระบิดาแล้วมายังแผ่นดินโลก สละพระชนม์ชีพเป็นเครื่องบูชาเพื่อช่วยมนุษยชาติให้พ้นจากบาปและความตาย! (ฟิลิป. 2:5-8) เครื่องบูชาของพระองค์จะทำให้มีการอภัยบาปอย่างแท้จริง ซึ่งเครื่องบูชาสัตว์ภายใต้พระบัญญัติของโมเซเป็นเพียงภาพเล็งถึง. (ฮีบรู 10:1-4) จริง ๆ แล้วพระองค์ควรได้รับการต้อนรับและยกย่อง อย่างน้อยที่สุดก็จากชาวยิวที่คอยท่าพระมาซีฮาตามคำสัญญามิใช่หรือ? (โย. 6:14) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ชาวยิว “ดูหมิ่น” พระคริสต์และ “หาได้นับถือ [พระองค์] ไม่” ดังที่ยะซายาได้พยากรณ์ไว้. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “พระองค์เสด็จมายังบ้านของพระองค์ แต่ชนร่วมชาติของพระองค์ไม่ต้อนรับ.” (โย. 1:11) อัครสาวกเปโตรบอกชาวยิวว่า “พระเจ้าของบรรพบุรุษของพวกเรา ทรงยกย่องผู้รับใช้ของพระองค์ คือพระเยซูผู้ที่พวกท่านได้มอบไว้ในมือมนุษย์และได้ปฏิเสธพระองค์ต่อหน้าปีลาต แม้ว่าเขาตั้งใจจะปล่อยพระองค์. พวกท่านปฏิเสธพระองค์ผู้บริสุทธิ์และชอบธรรม.”—กิจ. 3:13, 14.
4. พระเยซูทรงคุ้นเคยกับความเจ็บไข้อย่างไร?
4 ยะซายายังพยากรณ์ด้วยว่าพระเยซูจะ “คุ้นเคยกับความเจ็บไข้.” ระหว่างที่ทรงรับใช้ พระเยซูทรงเหน็ดเหนื่อยอย่างแน่นอนในบางโอกาส แต่ไม่มีที่ใดบ่งบอกเลยว่าพระองค์ทรงเจ็บป่วย. (โย. 4:6) อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงคุ้นเคยกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนที่พระองค์ประกาศข่าวดี. พระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขาและทรงรักษาหลายคน. (มโก. 1:32-34) โดยวิธีนั้น พระเยซูทรงทำให้คำพยากรณ์ข้อนี้สำเร็จ ที่ว่า “แน่ทีเดียวท่านได้แบกความเจ็บไข้ของเราทั้งหลายและหอบความเจ็บปวดของเราไป.”—ยซา. 53:4ก, ฉบับ R73; มัด. 8:16, 17.
ราวกับถูก “พระเจ้าโบยตี”
5. ชาวยิวหลายคนมีทัศนะอย่างไรต่อการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู และเหตุใดเรื่องนี้จึงเพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับพระองค์?
5 อ่านยะซายา 53:4ข. คนในสมัยเดียวกันกับพระเยซูหลายคนไม่เข้าใจเหตุผลที่พระองค์ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์. พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงลงโทษพระองค์. (มัด. 27:38-44) ชาวยิวกล่าวหาว่าพระเยซูหมิ่นประมาท. (มโก. 14:61-64; โย. 10:33) แน่นอน พระเยซูไม่ใช่คนบาปหรือคนหมิ่นประมาท. แต่ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ต่อพระบิดา ความคิดที่ว่าพระองค์จะต้องตายโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หมิ่นประมาทคงต้องเพิ่มความทุกข์ให้กับพระองค์ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวามากขึ้นไปอีก. ถึงกระนั้น พระองค์ทรงเต็มพระทัยจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา.—มัด. 26:39.
6, 7. พระยะโฮวาทรงทำให้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ “ฟกช้ำ” ในความหมายใด และเหตุใดเรื่องนั้นทำให้พระเจ้า “ทรงพอพระทัย”?
6 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คำพยากรณ์ของยะซายากล่าวว่าคนอื่นจะถือว่าพระคริสต์ถูก “พระเจ้าโบยตี” แต่อาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ “พระยะโฮวาก็ยังทรงพอพระทัยที่จะให้ [พระองค์] ฟกช้ำ.” (ยซา. 53:10) เนื่องจากพระยะโฮวาตรัสด้วยว่า “ดูเถอะ, ผู้รับใช้ของเรา . . . ผู้ที่เราได้เลือกสรรไว้, ผู้ที่เราได้พึงพอใจ” พระยะโฮวาจะ “ทรงพอพระทัยที่จะให้ [พระองค์] ฟกช้ำ” ได้อย่างไร? (ยซา. 42:1) อาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยในความหมายใด?
7 เพื่อจะเข้าใจคำพยากรณ์ส่วนนี้ เราควรจำไว้ว่าในการท้าทายพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา ซาตานตั้งข้อสงสัยในเรื่องความภักดีของผู้รับใช้ทั้งหมดของพระเจ้า ทั้งในสวรรค์และแผ่นดินโลก. (โยบ 1:9-11; 2:3-5) โดยรักษาความซื่อสัตย์ตราบสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงให้คำตอบอย่างครบถ้วนแก่ข้อท้าทายของซาตาน. ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าพระยะโฮวาทรงยอมให้พระคริสต์ถูกศัตรูฆ่า แต่ไม่อาจมีข้อสงสัยได้เลยว่าพระยะโฮวาทรงทุกข์พระทัยเมื่อเห็นผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ถูกฆ่า. อย่างไรก็ตาม การที่เห็นพระบุตรซื่อสัตย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทำให้พระยะโฮวามีพระทัยยินดีอย่างยิ่ง. (สุภา. 27:11) นอกจากนั้น การที่ทรงทราบว่าการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรจะนำผลประโยชน์อะไรบ้างมาสู่มนุษย์ที่กลับใจทำให้พระยะโฮวาทรงยินดีอย่างยิ่ง.—ลูกา 15:7.
“ถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา”
8, 9. (ก) พระเยซูทรง “ถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา” อย่างไร? (ข) เปโตรยืนยันเรื่องนี้อย่างไร?
8 อ่านยะซายา 53:6. เช่นเดียวกับแกะที่หลงหาย มนุษย์ผิดบาปได้ร่อนเร่ไปทั่ว แสวงหาการช่วยให้รอดจากความเจ็บป่วยและความตายที่ได้รับตกทอดจากอาดาม. (1 เป. 2:25) เนื่องจากไม่สมบูรณ์ ไม่มีลูกหลานคนใดของอาดามสามารถซื้อคืนสิ่งที่อาดามทำให้สูญเสียไป. (เพลง. 49:7) แต่ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ “พระยะโฮวาทรงให้บาปผิดทั้งหมดของพวกเราตกอยู่กับเขาผู้นั้น” คือพระบุตรที่รักและผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้. โดยทรงยินยอมถูก “เจ็บเป็นบาดแผล . . . เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา” และ “ถูกฟกช้ำ . . . เพราะความอสัตย์อธรรมของพวกเรา” พระคริสต์ทรงแบกรับบาปของเราไว้บนเสาและสิ้นพระชนม์แทนเรา.
9 อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายถูกเรียกให้เดินตามทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ก็ยังทรงทนทุกข์เพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้พวกท่านดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด. พระองค์ทรงแบกรับบาปของเราไว้ด้วยพระกายของพระองค์เองบนเสาเพื่อเราจะได้พ้นบาปและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม.” จากนั้น เปโตรยกข้อความจากคำพยากรณ์ของยะซายามากล่าวเพิ่มเติมว่า “และ ‘โดยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายได้รับการรักษาให้หายแล้ว.’ ” (1 เป. 2:21, 24; ยซา. 53:5) สิ่งที่พระองค์ทำช่วยเปิดทางให้คนบาปกลับคืนดีกับพระเจ้า ดังที่เปโตรกล่าวต่อไปอีกว่า “พระคริสต์ผู้ชอบธรรมก็วายพระชนม์ครั้งเดียวเพื่อบาปของคนไม่ชอบธรรม เพื่อพระองค์จะทรงนำท่านทั้งหลายไปถึงพระเจ้า.”—1 เป. 3:18.
“เหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า”
10. (ก) โยฮันผู้ให้บัพติสมาพรรณนาพระเยซูไว้อย่างไร? (ข) เหตุใดคำกล่าวของโยฮันจึงถูกต้อง?
10 อ่านยะซายา 53:7, 8. เมื่อโยฮันผู้ให้บัพติสมาเห็นพระเยซูเสด็จมาหา ท่านก็กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า “ดูสิ พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป!” (โย. 1:29) เมื่อโยฮันกล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นพระเมษโปดก ท่านอาจนึกถึงคำกล่าวของยะซายาที่ว่า “ท่าน . . . เหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า.” (ยซา. 53:7, ฉบับ R73) ยะซายากล่าวพยากรณ์ว่า “ผู้นั้นได้ยอมสละเลือดจนกระทั่งหยดสุดท้าย.” (ยซา. 53:12) น่าสนใจ ในคืนที่พระเยซูทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระองค์ประทานจอกเหล้าองุ่นแก่อัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนและตรัสว่า “นี่หมายถึงโลหิตของเราซึ่งเป็น ‘โลหิตแห่งสัญญา’ ซึ่งจะต้องไหลออกเพื่อปลดเปลื้องบาปของคนเป็นอันมาก.”—มัด. 26:28.
11, 12. (ก) ความเต็มใจของยิศฮาคที่จะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาเป็นภาพตัวอย่างแสดงถึงอะไรเกี่ยวกับเครื่องบูชาของพระคริสต์? (ข) เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับพระยะโฮวา อับราฮามองค์ยิ่งใหญ่ เมื่อเราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์?
11 เช่นเดียวกับยิศฮาค พระเยซูทรงเต็มพระทัยจะถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาบนแท่นตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. (เย. 22:1, 2, 9-13; ฮีบรู 10:5-10) แม้ว่ายิศฮาคเต็มใจยอมเป็นเครื่องบูชา แต่อับราฮามเป็นผู้ที่พยายามจะถวายเครื่องบูชา. (ฮีบรู 11:17) คล้ายกัน พระเยซูทรงเต็มพระทัยยอมรับการที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ แต่พระยะโฮวาทรงเป็นผู้จัดเตรียมในเรื่องค่าไถ่. เครื่องบูชาของพระบุตรแสดงถึงความรักอันลึกซึ้งที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษยชาติ.
12 พระเยซูเองตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์.” (โย. 3:16) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระเจ้าทรงเสนอความรักของพระองค์แก่เราโดยที่พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเราในขณะที่เรายังเป็นคนบาป.” (โรม 5:8) ด้วยเหตุนั้น ขณะที่แสดงความนับถือต่อพระคริสต์ด้วยการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เราไม่ควรลืมว่าผู้ที่จัดเตรียมให้มีเครื่องบูชาดังกล่าวคือพระยะโฮวา อับราฮามองค์ยิ่งใหญ่. เราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เพื่อสรรเสริญพระองค์.
ผู้รับใช้องค์เอกทรงนำ “ความชอบธรรมมาสู่คนเป็นอันมาก”
13, 14. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวานำ “ความชอบธรรมมาสู่คนเป็นอันมาก” อย่างไร?
13 อ่านยะซายา 53:11, 12. พระยะโฮวาตรัสถึงผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ว่า “ผู้รับใช้ของเรา, คือผู้ชอบธรรมนั้นจะนำความชอบธรรมมาสู่คนเป็นอันมาก.” โดยวิธีใด? ตอนท้ายข้อ 12 ให้เบาะแสที่นำไปสู่คำตอบ. “และ [ผู้รับใช้] ได้เสนอความแทนคนล่วงละเมิดเหล่านั้น.” ลูกหลานของอาดามทุกคนล้วนเกิดมาเป็นคนบาป หรือ “คนล่วงละเมิด” และด้วยเหตุนั้นจึงรับ “ค่าจ้างที่บาปจ่าย” ซึ่งก็คือความตาย. (โรม 5:12; 6:23) คนบาปจำเป็นต้องกลับคืนดีกับพระยะโฮวา. คำพยากรณ์ของยะซายาในบท 53 พรรณนาอย่างงดงามถึงวิธีที่พระเยซู “เสนอความแทน” หรือเป็นผู้กลางเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ที่ผิดบาป โดยกล่าวว่า “การลงโทษเพื่อให้เกิดความสุขแก่พวกเราไปตกอยู่กับเขาผู้นั้น, และที่พวกเราหายเป็นปกติได้ก็เพราะรอยแผลเฆี่ยนของเขาผู้นั้น.”—ยซา. 53:5.
14 โดยรับเอาบาปของเราและตายเพื่อเรา พระคริสต์ทรงนำ “ความชอบธรรมมาสู่คนเป็นอันมาก.” เปาโลเขียนว่า “พระเจ้าทรงเห็นชอบให้พระองค์ [พระคริสต์] เป็นผู้ที่ครบถ้วนในทุกด้าน และให้พระองค์ทำให้สิ่งอื่นทั้งหมดคืนดีกับพระเจ้า ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะอยู่บนแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์. การคืนดีนั้นเกิดขึ้นได้โดยใช้พระโลหิตที่พระองค์ทรงหลั่งบนเสาทรมาน.”—โกโล. 1:19, 20.
15. (ก) ‘สิ่งที่อยู่ในสวรรค์’ ที่เปาโลกล่าวถึงคือใคร? (ข) ใครเท่านั้นมีสิทธิ์รับประทานสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในวันอนุสรณ์ และเพราะเหตุใด?
15 ‘สิ่งที่อยู่ในสวรรค์’ ที่คืนดีกับพระยะโฮวาโดยอาศัยพระโลหิตที่พระคริสต์ทรงหลั่งได้แก่คริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งถูกเรียกให้ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. พระเจ้าทรงถือว่าคริสเตียนที่เป็น “ผู้มีส่วนร่วมในการถูกเรียกสู่สวรรค์” เป็น “ผู้ชอบธรรมเพื่อจะได้ชีวิต.” (ฮีบรู 3:1; โรม 5:1, 18) แล้วพระยะโฮวาก็ทรงรับพวกเขาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์. พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานแก่พวกเขาว่าพวกเขาเป็น “ผู้รับมรดกร่วมกับพระคริสต์” โดยถูกเรียกให้เป็นกษัตริย์และปุโรหิตในราชอาณาจักรสวรรค์. (โรม 8:15-17; วิ. 5:9, 10) พวกเขาได้มาเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ หรือ “อิสราเอลของพระเจ้า” และพวกเขาเข้ามีส่วนใน “สัญญาใหม่.” (ยิระ. 31:31-34; กลา. 6:16) ในฐานะสมาชิกของสัญญาใหม่ พวกเขามีสิทธิ์รับประทานสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในวันอนุสรณ์ ซึ่งก็รวมถึงการดื่มจากถ้วยเหล้าองุ่นแดงที่พระเยซูตรัสว่า “ถ้วยนี้หมายถึงสัญญาใหม่ที่อาศัยโลหิตของเราซึ่งจะต้องไหลออกเพื่อเจ้าทั้งหลาย.”—ลูกา 22:20.
16. ‘สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก’ คืออะไร และพระยะโฮวาทรงถือว่าพวกเขาเป็นคนชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระองค์อย่างไร?
16 ‘สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก’ ได้แก่แกะอื่นของพระคริสต์ ซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก. ผู้รับใช้ที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรทรงทำให้คนเหล่านี้มีฐานะชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาด้วย. เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์และด้วยเหตุนั้นจึง “ได้ซักเสื้อคลุมของตนและทำให้ขาวด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก” พระยะโฮวาทรงถือว่าพวกเขาเป็นคนชอบธรรม ไม่ใช่ในฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณ แต่เป็นมิตรของพระองค์ โดยประทานความหวังอันยอดเยี่ยมที่พวกเขาจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิ. 7:9, 10, 14; ยโก. 2:23) เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีส่วนในสัญญาใหม่และด้วยเหตุนั้นจึงไม่มีความหวังจะอยู่ในสวรรค์ แกะอื่นเหล่านี้จึงไม่รับประทานสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในวันอนุสรณ์ แต่เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ให้ความนับถือ.
พระยะโฮวาและผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงโปรดปรานสมควรได้รับความขอบคุณอย่างเหลือล้น!
17. การศึกษาคำพยากรณ์ในยะซายาซึ่งมุ่งความสนใจที่ผู้รับใช้องค์เอกช่วยเราให้เตรียมความคิดจิตใจไว้สำหรับการประชุมอนุสรณ์อย่างไร?
17 การพิจารณาคำพยากรณ์ในยะซายาซึ่งมุ่งให้ความสนใจที่ผู้รับใช้องค์เอกเป็นวิธีที่ดีในการเตรียมความคิดจิตใจของเราไว้สำหรับการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์. การพิจารณานี้ช่วยเราให้ “เพ่งมอง . . . ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.” (ฮีบรู 12:2) เราได้เรียนรู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าไม่ขืนอำนาจ. ต่างกับซาตาน พระองค์ทรงยินดีที่ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา และทรงยอมรับพระบิดาในฐานะพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร. เราได้เห็นแล้วว่าระหว่างที่พระเยซูทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงแสดงความเห็นอกเห็นใจประชาชนที่พระองค์สอน, รักษาหลายคนทั้งด้านร่างกายและด้านวิญญาณ. โดยวิธีนั้น พระองค์ทรงแสดงว่าพระองค์จะทำอะไรในฐานะพระมหากษัตริย์มาซีฮาในระบบใหม่ เมื่อพระองค์ “ตั้งความยุติธรรมไว้บนแผ่นดินโลก.” (ยซา. 42:4) ใจแรงกล้าที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นในการประกาศเรื่องราชอาณาจักร ในฐานะ “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” เป็นเครื่องเตือนใจเหล่าสาวกให้ประกาศข่าวดีทั่วโลกด้วยใจแรงกล้า.—ยซา. 42:6.
18. เหตุใดคำพยากรณ์ของยะซายาจึงทำให้หัวใจเราเปี่ยมด้วยความขอบพระคุณพระยะโฮวาและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์?
18 คำพยากรณ์ของยะซายายังช่วยเสริมความเข้าใจของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเรื่องเครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่ที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเมื่อพระองค์ทรงส่งพระบุตรที่รักให้มายังแผ่นดินโลกเพื่อทนทุกข์และตายแทนเรา. พระยะโฮวาไม่ได้ยินดีที่เห็นพระบุตรทนทุกข์ แต่ทรงยินดีที่เห็นพระเยซูทรงรักษาความซื่อสัตย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์. เราควรมีความยินดีเช่นเดียวกับพระยะโฮวา โดยยอมรับทุกสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อพิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้มุสาและทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และด้วยเหตุนั้นจึงพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการปกครอง. นอกจากนั้น พระคริสต์ทรงรับเอาบาปของเราและตายเพื่อเรา. โดยวิธีนั้น พระองค์ทรงทำให้แกะฝูงน้อยแห่งพี่น้องที่ถูกเจิมของพระองค์และแกะอื่นสามารถมีฐานะชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. เมื่อเราร่วมประชุมกันในวันอนุสรณ์ ขอให้หัวใจของเราเปี่ยมด้วยความขอบพระคุณพระยะโฮวาและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์.
เพื่อทบทวน
• พระยะโฮวา “ทรงพอพระทัย” ที่พระบุตร “ฟกช้ำ” ในความหมายใด?
• พระเยซู “ถูกเจ็บเป็นบาดแผลก็เพราะการล่วงละเมิดของพวกเรา” อย่างไร?
• ผู้รับใช้องค์เอก “นำความชอบธรรมมาสู่คนเป็นอันมาก” อย่างไร
• การศึกษาคำพยากรณ์เกี่ยวกับผู้รับใช้องค์เอกช่วยเตรียมความคิดจิตใจและหัวใจของคุณไว้สำหรับการประชุมอนุสรณ์อย่างไร?
[ภาพหน้า 26]
“เขาผู้นั้นก็ถูกสบประมาทและเราหาได้นับถือเขาไม่”
[ภาพหน้า 28]
“ผู้นั้นได้ยอมสละเลือดจนกระทั่งหยดสุดท้าย”
[ภาพหน้า 29]
“แกะอื่น” เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ให้ความนับถือ