พระยะโฮวา—พระเจ้าผู้สั่งสอน
“เขาทั้งหลายทุกคนจะได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา.”—โยฮัน 6:45, ล.ม.
1. บัดนี้พระเยซูทรงทำอะไร ณ กัปเรนาอูม?
พระเยซูคริสต์เพิ่งทำการอัศจรรย์ไปไม่นานก่อนหน้านี้ และมาบัดนี้พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่ในธรรมศาลาเมืองกัปเรนาอูม ใกล้ทะเลฆาลิลาย. (โยฮัน 6:1-21, 59, ล.ม.) หลายคนแสดงอาการไม่เชื่อเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราได้ลงมาจากสวรรค์.” พวกเขาพูดพึมพำว่า “ผู้นี้คือเยซูลูกชายของโยเซฟ พ่อแม่ของเขาเราก็รู้จักมิใช่หรือ? เป็นไปได้อย่างไรที่เขาพูดว่า ‘เราได้ลงมาจากสวรรค์’?” (โยฮัน 6:38, 42, ล.ม.) พระเยซูทรงต่อว่าเขาและประกาศว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้เว้นแต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา; และเราจะให้ผู้นั้นเป็นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย.”—โยฮัน 6:44, ล.ม.
2. มีพื้นฐานอะไรที่จะเชื่อคำสัญญาของพระเยซูเกี่ยวกับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย?
2 ช่างเป็นคำสัญญาที่เยี่ยมยอดอะไรเช่นนั้น—การถูกปลุกขึ้นจากตายในวันสุดท้าย เมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้าปกครอง! เราเชื่อคำสัญญานี้ได้ เพราะเป็นคำสัญญาซึ่งพระเจ้ายะโฮวา พระบิดาทรงรับรอง. (โยบ 14:13-15; ยะซายา 26:19) แท้จริง พระยะโฮวาผู้ทรงสอนว่าคนตายจะเป็นขึ้นมาอีกนั้นเป็น “ครูผู้ใหญ่ยิ่งไม่มีผู้ใดเทียบได้” (โยบ 36:22, ฉบับแปล ทูเดย์ส อิงลิช) โดยมุ่งความสนใจไปที่การสอนของพระบิดา พระเยซูตรัสต่อไปว่า “มีคำเขียนไว้ในคัมภีร์ศาสดาพยากรณ์ว่า ‘และเขาทั้งหลายทุกคนจะได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา.’”—โยฮัน 6:45, ล.ม.
3. เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
3 แน่นอน นับว่าเป็นสิทธิพิเศษที่จะอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ผู้พยากรณ์ยะซายาเขียนไว้ว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา.” (ยะซายา 54:13, ล.ม.) พวกเราเป็นเช่นนั้นได้ไหม? ใครเป็นเสมือนบุตรของพระองค์และรับการสอนจากพระองค์? คำสอนสำคัญที่มาจากพระยะโฮวาได้แก่อะไร ซึ่งเราต้องรู้และปฏิบัติตามเพื่อได้รับพระพรของพระองค์? พระยะโฮวาทรงสอนอย่างไรในอดีต และทุกวันนี้พระองค์ทรงสอนแบบเดียวกันไหม? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้.
บิดา, ครู, สามี
4. ใครคือบุตรพวกแรกของพระยะโฮวาที่ได้รับการสอนจากพระองค์?
4 พระยะโฮวาได้กลายเป็นทั้งบิดาและเป็นครูครั้งแรกสุดเมื่อพระองค์ได้สร้างพระบุตรผู้รับกำเนิดองค์เดียว คือพระเยซูก่อนกำเนิดเป็นมนุษย์. ผู้นี้มีชื่อว่า “พระวาทะ” เพราะทรงเป็นโฆษกองค์สำคัญของพระยะโฮวา. (โยฮัน 1:1, 14; 3:16) พระวาทะเคยปฏิบัติการ “ใกล้ชิดกับพระองค์ [พระบิดา] แล้ว, เป็นลูกมือของพระองค์” และพระองค์ทรงเรียนรู้เป็นอย่างดีจากการสอนของพระบิดา. (สุภาษิต 8:22, 30) อันที่จริง พระองค์กลายเป็นตัวแทนซึ่งโดยพระองค์นี้เอง พระบิดาได้สร้างสรรพสิ่งรวมทั้ง “เหล่าบุตรของพระเจ้า” ที่เป็นกายวิญญาณ. บุตรเหล่านั้นคงต้องมีความชื่นชมยินดีเพียงใดที่ได้รับการสอนจากพระเจ้า! (โยบ 1:6; 2:1; 38:7; โกโลซาย 1:15-17) ในเวลาต่อมา อาดามได้ถูกสร้างขึ้น. เขาเป็น “บุตรพระเจ้า” เหมือนกัน และคัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่า พระยะโฮวาได้สอนเขา.—ลูกา 3:38; เยเนซิศ 2:7, 16, 17.
5. อาดามได้สูญเสียสิทธิพิเศษอันล้ำค่าอะไร กระนั้น พระยะโฮวาได้สอนใครบ้าง และเพราะเหตุใด?
5 น่าเสียดาย เนื่องจากอาดามเจตนาไม่เชื่อฟัง เขาจึงเสียสิทธิพิเศษ ไม่ได้เป็นบุตรของพระเจ้าอีกต่อไป. ดังนั้น ลูกหลานของอาดามจึงไม่อาจอ้างความสัมพันธ์ในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า เพียงแต่โดยถือการกำเนิดเป็นเกณฑ์. กระนั้น พระยะโฮวาก็ได้สอนมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์ซึ่งหวังพึ่งพระองค์เพื่อการชี้นำ. ยกตัวอย่าง โนฮาได้พิสูจน์ตนเป็น “คนชอบธรรม” ซึ่ง “ได้ดำเนินกับพระเจ้า” และดังนั้นพระยะโฮวาจึงได้สอนโนฮา. (เยเนซิศ 6:9, 6:13–7:5) ด้วยการเชื่อฟัง อับราฮามได้พิสูจน์ตนเป็น “มิตรสหายของพระยะโฮวา” และด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการสอนจากพระยะโฮวาเช่นกัน.—ยาโกโบ 2:23, ล.ม.; เยเนซิศ 12:1-4; 15:1-8; 22:1, 2.
6. พระยะโฮวาทรงถือว่าใครเป็น “บุตร” ของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นครูประเภทใดสำหรับพวกเขา?
6 ต่อมาอีกนาน ในสมัยโมเซ พระยะโฮวาทรงเข้าร่วมความสัมพันธ์ทางคำสัญญาไมตรีกับชาติยิศราเอล. ผลที่ตามมา ชาตินี้จึงได้กลายเป็นไพร่พลที่ถูกเลือกไว้ของพระองค์ และทรงถือเอาชาตินี้เป็นดุจ “บุตร” ของพระองค์. พระเจ้าตรัสดังนี้: “ชนชาติยิศราเอลนั้นเป็นบุตรหัวปีของเรา.” (เอ็กโซโด 4:22, 23; 19:3-6; พระบัญญัติ 14:1, 2) อาศัยความสัมพันธ์ทางคำสัญญาไมตรีนั้น ชาวยิศราเอลจึงสามารถกล่าวอย่างที่ผู้พยากรณ์ยะซายาบันทึกไว้ว่า “โอ้พระยะโฮวา พระองค์เป็นพระบิดาของพวกข้าพเจ้า.” (ยะซายา 63:16) พระยะโฮวาทรงปฏิบัติตามความรับผิดชอบเยี่ยงบิดา และสอนชาวยิศราเอลบุตรทั้งหลายของพระองค์ด้วยความรัก. (บทเพลงสรรเสริญ 71:17; ยะซายา 48:17, 18) ที่จริง เมื่อพวกเขากลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ พระองค์ยังได้วิงวอนพวกเขาด้วยความเมตตาดังนี้: “ดูกร ลูกหลานซึ่งมักถอยหลังนั้น จงหันกลับเสียเถิด.”—ยิระมะยา 3:14.
7. ชาติยิศราเอลมีความสัมพันธ์แบบไหนกับพระยะโฮวา?
7 สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ทางคำสัญญาไมตรีกับชาติยิศราเอล พระยะโฮวาจึงกลายเป็นสามีโดยนัยของชาตินี้ด้วย และชาตินี้จึงกลายเป็นภรรยาโดยนัยของพระองค์. ผู้พยากรณ์ยะซายาเขียนเกี่ยวกับชาตินี้ว่า “พระผู้สร้างตัวเจ้าก็เป็นสามีของเจ้า คือพระยะโฮวาจอมพลโยธา.” (ยะซายา 54:5; ยิระมะยา 31:32) แม้ว่าพระยะโฮวาได้ทรงกระทำหน้าที่สามีอย่างครบถ้วนและน่านับถือ กระนั้น ชาติยิศราเอลกลายเป็นภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์. “เหมือนเมียผู้หนึ่งที่ได้ไปจากผัวของตัวโดยอสัตย์ฉันใด, โอ้ตระกูลยิศราเอล, เจ้าทั้งหลายได้ไปจากเราด้วยอสัตย์ฉันนั้น, พระยะโฮวาได้ตรัส.” (ยิระมะยา 3:20) พระยะโฮวาทรงวิงวอนบุตรทั้งหลายของภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์ผู้นี้อยู่เนือง ๆ พระองค์ยังคงเป็น “พระครู” ของเขาต่อไป.—ยะซายา 30:20; 2 โครนิกา 36:15.
8. แม้ว่าชาติยิศราเอลถูกพระยะโฮวาทอดทิ้งไปแล้วก็ตาม กระนั้น พระองค์ทรงมีภรรยาโดยนัยซึ่งตัวจริงได้แก่อะไร?
8 เมื่อชาติยิศราเอลไม่ยอมรับพระเยซูคริสต์พระบุตรและได้ประหารพระองค์ พระเจ้าจึงทรงทอดทิ้งชาตินี้ในที่สุด. ฉะนั้น ชาติยิศราเอลจึงไม่ได้เป็นภรรยาโดยนัยของพระองค์อีกต่อไป หรือพระองค์จะทรงเป็นต่างบิดาและครูแก่บรรดาบุตรที่ดื้อรั้นของนางก็หาไม่. (มัดธาย 23:37, 38) อย่างไรก็ดี ชาติยิศราเอลเป็นเพียงภรรยาที่เป็นตัวอย่างหรือเพียงโดยนัยเท่านั้น. อัครสาวกเปาโลได้ยกคำกล่าวจากยะซายา 54:1 ซึ่งกล่าวเกี่ยวกับ “หญิงหมัน” ผู้ซึ่งแตกต่างและแยกต่างหากจาก “หญิงที่อยู่กับผัว” อันได้แก่ชาติยิศราเอลโดยกำเนิด. เปาโลชี้แจงว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นบุตร “หญิงหมัน” ซึ่งท่านเรียกว่า “ยะรูซาเลมซึ่งอยู่เบื้องบน.” ดังนั้น หญิงหมันโดยนัยซึ่งเป็นตัวจริงจึงได้แก่องค์การของพระเจ้าทางภาคสวรรค์ประกอบด้วยเหล่ากายวิญญาณ.—ฆะลาเตีย 4:26, 27.
9. (ก) เมื่อพระเยซูตรัสว่า ‘บุตรทั้งหลายของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา’ พระองค์พาดพิงถึงใคร? (ข) ผู้คนมาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าโดยอาศัยพื้นฐานอะไร?
9 ดังนั้น ณ ธรรมศาลาเมืองกัปเรนาอูม เมื่อพระเยซูได้ยกคำพยากรณ์ของยะซายาขึ้นมาที่ว่า “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา” พระองค์ตรัสถึงคนเหล่านั้นซึ่งจะกลายเป็น “บุตร” แห่ง “ยะรูซาเลมซึ่งอยู่เบื้องบน” องค์การของพระเจ้าทางภาคสวรรค์อันเปรียบเสมือนภรรยาของพระองค์. โดยการยอมรับการสอนจากตัวแทนของพระเจ้าซึ่งลงมาจากสวรรค์ อันได้แก่พระเยซูคริสต์ ชาวยิวที่รับฟังจึงอาจกลายมาเป็นบุตรของหญิงทางภาคสวรรค์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหมัน และประกอบกันเป็น “ชาติบริสุทธิ์” “ยิศราเอลของพระเจ้า” ฝ่ายวิญญาณ. (1 เปโตร 2:9, 10, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:16) เมื่อพรรณนาถึงโอกาสอันเยี่ยมยอดซึ่งพระเยซูทรงจัดไว้เพื่อการเข้ามาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “พระองค์ได้เสด็จมายังบ้านเมืองของพระองค์ แต่ชนร่วมชาติไม่ได้ต้อนรับพระองค์. อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ต้อนรับพระองค์ พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเขาได้สำแดงความเชื่อในพระนามของพระองค์.”—โยฮัน 1:11, 12, ล.ม.
คำสอนสำคัญของพระยะโฮวา
10. ทันทีหลังจากการกบฏในสวนเอเดน พระยะโฮวาทรงสอนอะไรเกี่ยวด้วยเรื่อง “พงศ์พันธุ์” และพงศ์พันธุ์ที่ว่านี้คือใคร?
10 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาที่มีความรัก พระองค์ทรงแจ้งพระประสงค์ต่าง ๆ ของพระองค์แก่บุตรทั้งหลายของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ เมื่อทูตสวรรค์ที่กบฏได้ชักนำมนุษย์คู่แรกละเมิดคำสั่ง พระยะโฮวาก็ทรงแถลงทันทีถึงสิ่งซึ่งพระองค์จะกระทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ที่จะให้แผ่นดินโลกเป็นอุทยาน. พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะทำให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์กันระหว่าง “งูตัวแรกเดิม” ซึ่งได้แก่ซาตานพญามาร กับ “หญิง.” ครั้นแล้วพระองค์ก็ได้ชี้แจงว่า “พงศ์พันธุ์” ของหญิงจะบดขยี้ “หัว” ซาตานให้ถึงตาย. (เยเนซิศ 3:1-6, 15, ฉบับแปลใหม่; วิวรณ์ 12:9; 20:9, 10, ล.ม.) ตามที่เราทราบแล้ว หญิงนั้น—ต่อมาถูกระบุว่าเป็น “ยะรูซาเลมซึ่งอยู่เบื้องบน”—คือองค์การของพระเจ้าทางภาคสวรรค์ ประกอบด้วยเหล่ากายวิญญาณ. แต่ใครคือ “พงศ์พันธุ์” ของหญิง? ผู้นั้นคือพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า ซึ่งถูกส่งมาจากสวรรค์และเป็นผู้ซึ่งในที่สุดจะทำลายซาตาน.—ฆะลาเตีย 4:4; เฮ็บราย 2:14; 1 โยฮัน 3:8.
11, 12. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยคำสอนสำคัญเรื่องพงศ์พันธุ์นี้ให้กระจ่างยิ่งขึ้นโดยวิธีใด?
11 พระยะโฮวาทรงเปิดเผยคำสอนสำคัญเรื่อง “พงศ์พันธุ์” ให้กระจ่างยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ได้สัญญากับอับราฮามว่า “เราจะอวยพรเจ้าเป็นแน่ . . . และโดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.” (เยเนซิศ 22:17, 18, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงใช้อัครสาวกเปาโลให้อธิบายว่า พระเยซูคริสต์คือพงศ์พันธุ์ของอับราฮามตามคำสัญญา แต่ก็บอกด้วยว่าคนอื่น ๆ จะกลายเป็นส่วนของ “พงศ์พันธุ์” นั้นเหมือนกัน. เปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์แล้ว, ท่านจึงเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม, และผู้รับมฤดกตามคำสัญญานั้น.”—ฆะลาเตีย 3:16, 29.
12 อนึ่ง พระยะโฮวาทรงเผยให้ทราบด้วยว่า พระคริสต์ผู้เป็นพงศ์พันธุ์จะมาทางเชื้อวงศ์กษัตริย์แห่งตระกูลยูดา “และชนชาติทั้งหลายจะเชื่อฟังผู้นั้น.” (เยเนซิศ 49:10, ฉบับแปลใหม่) เกี่ยวกับกษัตริย์ดาวิดแห่งตระกูลยูดา พระยะโฮวาตรัสสัญญาดังนี้: “เราจะตั้งพงศ์พันธุ์ของเจ้าไว้เป็นนิตย์, และจะสร้างบัลลังก์ของเจ้าขึ้นไว้ให้ถาวรทุกชั่วอายุ. เราจะให้พงศ์พันธุ์ของท่านคงอยู่ชั่วนิรันดร์, และพระที่นั่งของท่านเราจะให้ดำรงอยู่นานเช่นฟ้าสวรรค์. พงศ์พันธุ์ของท่านจะดำรงอยู่เป็นนิตย์, และพระที่นั่งของท่านจะดำรงอยู่ตรงหน้าเราเหมือนดวงอาทิตย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 89:3, 4, 29, 36) เมื่อทูตสวรรค์ฆับรีเอลได้ประกาศการประสูติของพระเยซู ท่านได้ชี้แจงว่า บุตรนี้พระเจ้าทรงตั้งไว้เป็นกษัตริย์ เป็นพงศ์พันธุ์ของดาวิด. ฆับรีเอลบอกว่า “บุตรนั้นจะเป็นใหญ่และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด พระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] จะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน . . . และแผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] ของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.”—ลูกา 1:32, 33; ยะซายา 9:6, 7; ดานิเอล 7:13, 14.
13. เพื่อจะรับพระพรของพระยะโฮวา เราต้องตอบสนองการสอนของพระองค์อย่างไร?
13 เพื่อจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา เราจำต้องรู้คำสอนสำคัญข้อนี้เกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและลงมือปฏิบัติตาม. เราต้องเชื่อว่าพระเยซูเสด็จมาจากสวรรค์ เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง—เป็นพงศ์พันธุ์หลวงซึ่งจะดูแลการฟื้นฟูอุทยานบนแผ่นดินโลก—และเชื่อว่าพระองค์จะทรงปลุกคนตายให้มีชีวิตอีก. (ลูกา 23:42, 43; โยฮัน 18:33-37) ณ เมืองกัปเรนาอูม คราวที่พระเยซูตรัสถึงการปลุกคนตายให้เป็นขึ้น ก็น่าจะปรากฏชัดแก่ชาวยิวว่าพระองค์พูดความจริง. ทั้งนี้ เพราะว่าเพียงสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นที่กัปเรนาอูมก็ได้ซึ่งพระองค์ปลุกเด็กหญิงวัย 12 ปี ลูกสาวเจ้าหน้าที่ดูแลธรรมศาลาให้เป็นขึ้นจากตาย! (ลูกา 8:49-56) แน่นอน เราก็เช่นกันมีเหตุผลทุกประการที่จะเชื่อและปฏิบัติสอดคล้องกับการสอนของพระยะโฮวาเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งบันดาลใจให้เกิดความหวัง!
14, 15. (ก) ราชอาณาจักรของพระยะโฮวามีความสำคัญอย่างไรต่อพระเยซู? (ข) เรื่องอะไรที่เราจำต้องเข้าใจและสามารถชี้แจงเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระยะโฮวา?
14 พระเยซูทรงทุ่มเทชีวิตของพระองค์ทางโลกนี้ให้แก่การสอนเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. พระองค์จัดเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญของการประกาศเผยแพร่ และพระองค์ถึงกับสอนบรรดาสาวกของพระองค์อธิษฐานขอราชอาณาจักรด้วยซ้ำ. (มัดธาย 6:9, 10; ลูกา 4:43) ชาวยิวโดยกำเนิดอยู่ในเส้นทางที่จะได้เป็น “ลูกแห่งแผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] นั้น” แต่เนื่องจากขาดความเชื่อ ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับสิทธิพิเศษนั้น. (มัดธาย 8:12; 21:43) พระเยซูทรงเผยให้เห็นว่าเฉพาะ “แกะฝูงน้อย” ได้รับสิทธิพิเศษที่จะกลายเป็น “ลูกแห่งแผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] นั้น.” “ลูก” เหล่านี้จึงกลายเป็น “ทายาทร่วมกับพระคริสต์” ในราชอาณาจักรของพระองค์ทางภาคสวรรค์.—ลูกา 12:32; มัดธาย 13:38; โรม 8:14-17, ล.ม.; ยาโกโบ 2:5.
15 ทายาทราชอาณาจักรมีสักกี่มากน้อยซึ่งพระคริสต์จะทรงรับไปสวรรค์เพื่อปกครองแผ่นดินโลกร่วมกับพระองค์? มีจำนวน 144,000 คนเท่านั้นตามที่แจ้งในคัมภีร์ไบเบิล. (โยฮัน 14:2, 3; 2 ติโมเธียว 2:12; วิวรณ์ 5:10; 14:1-3; 20:4) แต่พระเยซูตรัสว่าพระองค์ทรงมี “แกะอื่น” ซึ่งจะเป็นพลเมืองทางแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร. ชนเหล่านี้จะมีสุขภาพสมบูรณ์และมีสันติสุขชั่วกาลนานบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 37:29; วิวรณ์ 21:3, 4) จำเป็นที่เราต้องเข้าใจและสามารถอธิบายคำสอนของพระยะโฮวาว่าด้วยเรื่องราชอาณาจักร.
16. คำสอนสำคัญอะไรของพระยะโฮวาซึ่งเราต้องเรียนรู้และถือปฏิบัติ?
16 อัครสาวกเปาโลได้ระบุคำสอนที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของพระยะโฮวา. ท่านกล่าวว่า “ตัวท่านเองก็รับคำสอนจากพระเจ้าแล้วว่าให้รักซึ่งกันและกัน.” (1 เธซะโลนิเก 4:9) ที่จะให้พระยะโฮวาพอพระทัย เราจำต้องแสดงความรักดังกล่าว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” และเราต้องเอาอย่างพระองค์ในการแสดงความรัก. (1 โยฮัน 4:8; เอเฟโซ 5:1, 2) น่าเศร้า ผู้คนส่วนใหญ่พลาดไปอย่างน่าสังเวชจากการเรียนรู้ที่จะรักเพื่อนมนุษย์อย่างที่พระเจ้าทรงสอนเรา. ส่วนพวกเราล่ะ? เราได้ตอบสนองคำสอนข้อนี้ของพระยะโฮวาไหม?
17. พวกเราควรเลียนทัศนคติของใคร?
17 เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราพึงตอบรับคำสอนทุกข้อทุกประการของพระยะโฮวา. ขอให้ทัศนะของเราเป็นอย่างที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้ดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์, ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้ดำเนินในพระมรคาของพระองค์. ขอทรงแนะนำสอนข้าพเจ้าตามความสัตย์จริงของพระองค์.” “ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้รู้ข้อกฎหมายของพระองค์. ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้มีปัญญาและความรู้อันดี; . . . ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้รู้กฎของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5; 119:12, 66, 108) หากคุณมีทัศนะอย่างเดียวกันกับบรรดาผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ คุณก็อาจอยู่ในจำพวกชนกลุ่มใหญ่ที่รับการสอนจากพระยะโฮวา.
ชนฝูงใหญ่ที่ได้รับการสอน
18. ผู้พยากรณ์ยะซายาได้บอกล่วงหน้าถึงสิ่งใดซึ่งจะเกิดขึ้นในสมัยของเรา?
18 ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงสิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในสมัยของเราว่า: “และในช่วงสุดท้ายแห่งสมัยจะต้องเป็นดังนี้ ภูเขาแห่งราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกสถาปนาอย่างมั่นคงให้เหนือยอดภูเขาทั้งหลาย. . . . และประชาชาติทั้งปวงจะต้องหลั่งไหลไปที่นั้น. และชนชาติเป็นอันมากจะไปเป็นแน่และกล่าวว่า ‘มาเถิด เจ้าทั้งหลาย และให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา ยังราชนิเวศของพระเจ้าแห่งยาโคบ; และพระองค์จะทรงสอนเราเรื่องวิถีทางของพระองค์.’” (ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.; มีคา 4:2) บุคคลเหล่านี้คือใครซึ่งได้รับการสอนจากพระยะโฮวา?
19. ทุกวันนี้ใครรวมอยู่ในกลุ่มชนที่รับการสอนจากพระยะโฮวา?
19 คนเหล่านี้รวมเอาคนอื่น ๆ เข้าไปด้วย นอกจากผู้ที่จะปกครองในสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์. ดังสังเกตมาแล้ว พระเยซูตรัสไว้ว่าพระองค์ทรงมี “แกะอื่น”—ประชากรทางแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักร—นอกเหนือจาก “ฝูงแกะเล็กน้อย” ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักร. (โยฮัน 10:16; ลูกา 12:32) “ชนฝูงใหญ่” ผู้รอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” อยู่ในจำพวกแกะอื่น และเขาจะได้รับฐานะเป็นที่ยอมรับจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวา โดยอาศัยความเชื่อที่พวกเขามีในพระโลหิตซึ่งพระเยซูได้หลั่งออก. (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) แม้ว่าแกะอื่นไม่ถูกนับโดยตรงรวมกับ “บุตรทั้งสิ้น” ในยะซายา 54:13 (ล.ม.) กระนั้น พวกเขาได้พระพรเนื่องด้วยการสอนจากพระยะโฮวา. เหตุฉะนั้น ที่เขาเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” นั้นเหมาะสมแล้ว เพราะที่จริง พระองค์จะเป็นพระอัยกาของเขา ผ่านทางพระเยซูคริสต์ “พระบิดาองค์ถาวร.”—มัดธาย 6:9; ยะซายา 9:6.
วิธีที่พระยะโฮวาสอน
20. พระยะโฮวาทรงสอนโดยวิธีใดบ้าง?
20 พระยะโฮวาทรงสอนหลายวิธี. ยกตัวอย่าง พระองค์ทรงสอนโดยทางกิจการงานสร้างสรรค์ของพระองค์ ซึ่งให้หลักฐานทั้งการดำรงอยู่ของพระองค์และพระสติปัญญาเยี่ยมยอดของพระองค์. (โยบ 12:7-9; บทเพลงสรรเสริญ 19:1, 2; โรม 1:20) นอกจากนั้น พระองค์ทรงสอนโดยการสื่อความโดยตรง ดังที่พระองค์ทรงสอนพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์. ทำนองคล้ายกัน มีสามครั้งที่บันทึกไว้ว่า พระองค์ได้ตรัสโดยตรงจากสวรรค์กับมนุษย์บนแผ่นดินโลก.—มัดธาย 3:17; 17:5; โยฮัน 12:28.
21. พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์องค์ใดโดยเฉพาะเป็นตัวแทนพระองค์ แต่เราทราบอย่างไรว่าพระองค์ได้ใช้ทูตองค์อื่น ๆ เช่นกัน?
21 อนึ่ง พระยะโฮวาทรงใช้ตัวแทนที่เป็นทูตสวรรค์ให้สอน รวมทั้ง “พระวาทะ” พระบุตรหัวปีของพระองค์ด้วย. (โยฮัน 1:1-3) แม้อาจจะเป็นได้ที่พระยะโฮวาตรัสโดยตรงกับอาดามมนุษย์สมบูรณ์บุตรของพระองค์ ณ สวนเอเดน แต่พระองค์คงใช้พระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์พูดแทนพระองค์. (เยเนซิศ 2:16, 17) ท่านองค์นี้คงเป็น “เทวทูตแห่งพระเจ้าซึ่งนำหน้ากองทัพยิศราเอล” และเป็นองค์นั้นซึ่งพระยะโฮวาทรงมีบัญชาว่า “จงเชื่อฟังคำของท่าน.” (เอ็กโซโด 14:19; 23:20, 21) ไม่ต้องสงสัย พระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์นั้นทรงเป็น “จอมพลโยธาของพระเจ้า” ผู้ซึ่งได้ปรากฏแก่ยะโฮซูอะเพื่อให้กำลังใจ. (ยะโฮซูอะ 5:14, 15, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวายังทรงใช้ทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ อีกด้วยเพื่อให้ถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ เป็นต้นว่า ทูตเหล่านั้นที่พระองค์ทรงใช้ให้นำพระบัญญัติของพระองค์ไปมอบแก่โมเซ.—เอ็กโซโด 20:1; ฆะลาเตีย 3:19; เฮ็บราย 2:2, 3.
22. (ก) พระยะโฮวาใช้ใครบ้างให้สอนบนแผ่นดินโลก? (ข) ปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วพระยะโฮวาทรงสอนมนุษย์โดยวิธีใด?
22 นอกเหนือจากนี้แล้ว พระเจ้ายะโฮวาทรงใช้ตัวแทนที่เป็นมนุษย์ให้ทำการสอน. บิดามารดาในแผ่นดินยิศราเอลต้องสอนบุตรหลานของตน; พวกผู้พยากรณ์, ปุโรหิต, เจ้านายทั้งหลาย, และชาวเลวีต่างก็ได้สอนพระบัญญัติของพระยะโฮวาแก่คนในชาติ. (พระบัญญัติ 11:18-21; 1 ซามูเอล 12:20-25; 2 โครนิกา 17:7-9) พระเยซูทรงเป็นโฆษกเอกของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก. (เฮ็บราย 1:1, 2) พระเยซูตรัสบ่อย ๆ ว่าสิ่งที่พระองค์สอนล้วนแต่ได้เรียนจากพระบิดาทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้รับฟังพระองค์ ที่แท้แล้ว ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา. (โยฮัน 7:16; 8:28; 12:49; 14:9, 10) พระยะโฮวาทรงบันดาลให้มีการบันทึกถ้อยแถลงของพระองค์ และในสมัยของเรา ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ทรงสอนมนุษย์เราโดยทางพระคัมภีร์ที่เขียนขึ้นโดยการดลใจ.—โรม 15:4; 2 ติโมเธียว 3:16.
23. จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
23 พวกเรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่มีความสำคัญ เนื่องจากคำสัญญาในพระคัมภีร์ระบุว่า ‘ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย [ซึ่งเรามีชีวิตอยู่] ประชาชาติเป็นอันมากจะได้รับการสอนให้รู้วิถีทางต่าง ๆ ของพระยะโฮวา.’ (ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.) มีการจัดเตรียมการสอนนี้โดยวิธีใด? เราพึงทำอย่างไรเพื่อได้รับประโยชน์ อีกทั้งมีส่วนในโครงการสอนอย่างใหญ่โตของพระยะโฮวาซึ่งกำลังดำเนินอยู่? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ พระยะโฮวาได้กลายเป็นบิดา, ครู, และสามีโดยวิธีใด?
▫ พระยะโฮวาทรงสอนอะไรเกี่ยวด้วย “พงศ์พันธุ์’?
▫ คำสอนสำคัญอะไรที่มาจากพระเจ้าซึ่งพวกเราต้องถือรักษา?
▫ พระยะโฮวาทรงสอนโดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 10]
การปลุกลูกสาวญายโรคืนชีพเป็นพื้นฐานสำหรับความเชื่อในคำสัญญาของพระเยซูว่าด้วยการปลุกขึ้นจากตาย