ชัยชนะของการนมัสการแท้ใกล้เข้ามาแล้ว
“พระยะโฮวาจะเป็นกษัตริย์ครองทั่วทั้งแผ่นดิน.”—ซะคาระยา 14:9.
1. ประสบการณ์ของเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นอย่างไร และมีการบอกล่วงหน้าถึงเรื่องนี้อย่างไร?
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับความลำบากมาก และการคุมขังโดยน้ำมือของคนในชาติเหล่านั้นที่ทำสงครามกัน. การถวายคำสรรเสริญของเขาเป็นเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาถูกจำกัดอย่างเข้มงวด และพวกเขาได้ตกอยู่ในสภาพเชลยฝ่ายวิญญาณ. ทั้งหมดนี้มีบอกไว้ล่วงหน้าที่พระธรรมซะคาระยา 14:2 ซึ่งพรรณนาการโจมตียะรูซาเลมจากนานาชาติ. เมืองที่มีกล่าวในคำพยากรณ์นี้ได้แก่ “ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าและที่ตั้ง “ราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก.” (เฮ็บราย 12:22, 28; 13:14; วิวรณ์ 22:3, ล.ม.) ผู้ถูกเจิมของพระเจ้าที่อยู่บนแผ่นดินโลกเป็นตัวแทนของเมืองนั้น. เหล่าผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อผ่านการโจมตีมาได้ พวกเขาไม่ยอมให้ตัวเองถูกเนรเทศไป “จากเมืองนั้น.”a
2, 3. (ก) การนมัสการของพระยะโฮวามีชัยเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1919 อย่างไร? (ข) ตั้งแต่ปี 1935 ได้เกิดอะไรขึ้น?
2 ในปี 1919 เหล่าผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ถูกปล่อยเป็นอิสระพ้นสภาพเชลย และทันทีทันใดพวกเขาได้ใช้ช่วงสงบหลังสงครามให้เป็นประโยชน์. ในฐานะราชทูตจากยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์ พวกเขาถือเอาโอกาสอันดีเยี่ยมนี้ทำการเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า ทั้งได้ช่วยรวบรวมสมาชิกรุ่นสุดท้ายแห่งชน 144,000 คน. (มัดธาย 24:14; 2 โกรินโธ 5:20) ในปี 1931 พวกเขารับเอาชื่อที่เหมาะสมตามหลักพระคัมภีร์คือ พยานพระยะโฮวา.—ยะซายา 43:10, 12.
3 นับแต่นั้นมา พยานฯผู้ถูกเจิมของพระเจ้าก็ก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง. แม้ฮิตเลอร์พร้อมด้วยกลยุทธ์ต่อสู้แบบนาซีก็ไม่สามารถทำให้เขาเงียบเสียง. ทั้งที่มีการเคี่ยวเข็ญกดขี่ทั่วโลก ถึงกระนั้น กิจการของเขาบังเกิดผลดีไปทั่วโลก. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับจากปี 1935 พวกเขาได้ “ชนฝูงใหญ่” จากนานาชาติมาร่วมสมทบตามคำกล่าวล่วงหน้าในพระธรรมวิวรณ์. คนเหล่านี้ก็เช่นกัน เป็นคริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมา และ “ได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” พระเยซูคริสต์. (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) อย่างไรก็ดี ชนฝูงใหญ่ไม่ใช่ผู้ถูกเจิมที่มีความหวังจะได้ชีวิตทางภาคสวรรค์. ความหวังของพวกเขาคือที่จะรับสิ่งซึ่งอาดามและฮาวาทำให้เสียไปอันได้แก่ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์บนแผ่นดินโลกสภาพอุทยานเป็นมรดก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:29; มัดธาย 25:34) ทุกวันนี้ ชนฝูงใหญ่มีจำนวนมากกว่าห้าล้านคน. การนมัสการแท้ของพระยะโฮวากำลังมีชัย แต่ชัยชนะขั้นสุดยอดยังมาไม่ถึง.
คนต่างประเทศในวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า
4, 5. (ก) ชนฝูงใหญ่นมัสการพระยะโฮวาที่ไหน? (ข) พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษอะไร อันเป็นการสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์อะไร?
4 ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ชนฝูงใหญ่ “นมัสการ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” (วิวรณ์ 7:15, ล.ม., เชิงอรรถ) เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่ยิศราเอลฝ่ายวิญญาณหรือเป็นตระกูลปุโรหิต โยฮันคงได้เห็นพวกเขายืนอยู่ในพระวิหาร ณ ลานชั้นนอกสำหรับคนต่างชาติ. (1 เปโตร 2:5) วิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาโชติช่วงด้วยสง่าราศีขนาดไหน โดยที่เขตวิหารเต็มไปด้วยฝูงชนมากมาย ผู้ซึ่งพร้อมกับชนที่เหลือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ พากันสรรเสริญพระองค์!
5 ชนฝูงใหญ่ไม่ได้รับใช้พระเจ้าในฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณซึ่งลานวิหารชั้นในสำหรับปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึง. พวกเขาไม่ได้รับการประกาศเป็นผู้ชอบธรรมเพื่อพระเจ้าจะโปรดรับเขาไว้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์. (โรม 8:1, 15) กระนั้นก็ดี อาศัยการสำแดงความเชื่อในค่าไถ่ของพระเยซู พวกเขาอยู่ในฐานะที่สะอาดจำเพาะพระยะโฮวา. เขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมเพื่อเขาจะได้เป็นมิตรของพระองค์. (เทียบกับยาโกโบ 2:21, 23.) เขาก็เช่นกันได้รับสิทธิพิเศษที่จะถวายเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับบนแท่นฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ในชนฝูงใหญ่คำพยากรณ์ในยะซายา 56:6, 7 (ล.ม.) จึงกำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าดีใจยิ่งที่ว่า “คนต่างชาติที่นำตัวเข้ามาสมทบพระยะโฮวาที่จะปรนนิบัติพระองค์และรักพระนามของพระยะโฮวา . . . เราจะพาเขามายังภูเขาบริสุทธิ์ของเราด้วย และทำให้เขาชื่นบานอยู่ภายในราชสำนักของเราสำหรับการอธิษฐาน. เครื่องถวายเผาครบและเครื่องบูชาของเขาจะเป็นที่รับเอาไว้ได้บนแท่นของเรา. เพราะว่าราชสำนักของเราจะถูกเรียกว่าเป็นราชสำนักสำหรับการอธิษฐานของผู้คนทั้งสิ้น.”
6. (ก) คนต่างประเทศได้ถวายเครื่องบูชาชนิดใด? (ข) อ่างน้ำ ณ ลานปุโรหิตเตือนใจพวกเขาให้นึกถึงสิ่งใด?
6 ในบรรดาเครื่องบูชาที่คนต่างประเทศถวายมี “ผลแห่งริมฝีปาก [เปรียบได้กับเครื่องบูชาธัญญาหารที่ได้เตรียมไว้เป็นอย่างดี] ที่ประกาศพระนามของ [พระเจ้า] อย่างเปิดเผย” และ “การทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ กับคนอื่น ๆ.” (เฮ็บราย 13:15, 16, ล.ม.) อ่างน้ำขนาดใหญ่ที่พวกปุโรหิตต้องใช้ชำระร่างกายของตนก็เป็นสิ่งเตือนใจที่สำคัญด้วยสำหรับชาวต่างประเทศเหล่านี้. พวกเขาต้องยินยอมรับการชำระทั้งฝ่ายวิญญาณและศีลธรรมเช่นเดียวกันขณะที่พระคำของพระเจ้าเป็นที่เข้าใจกระจ่างมากขึ้นเรื่อย ๆ.
ที่บริสุทธิ์และสิ่งของต่าง ๆ ในที่นั้น
7. (ก) ชนฝูงใหญ่มีทัศนะเช่นไรต่อสิทธิพิเศษต่าง ๆ แห่งคณะปุโรหิตบริสุทธิ์? (ข) คนต่างประเทศบางคนได้รับสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเข้ามา?
7 ที่บริสุทธิ์และสิ่งของต่าง ๆ ในที่นั้นมีความหมายต่อชนฝูงใหญ่ที่ประกอบด้วยชาวต่างประเทศเหล่านี้ไหม? พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้อยู่ในสภาพซึ่งสถานบริสุทธิ์เป็นภาพเล็งถึง. พวกเขาไม่ได้กำเนิดใหม่เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าพร้อมกับฐานะพลเมืองฝ่ายสวรรค์. ทั้งนี้ทำให้เขารู้สึกอิจฉาไหม? เปล่าเลย. แต่พวกเขากลับปีติยินดีในสิทธิพิเศษของตนที่จะให้การสนับสนุนชนที่เหลือจำพวก 144,000 คน และเขาแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อพระประสงค์ของพระเจ้าในการรับเอาบุตรฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ ผู้ซึ่งจะร่วมกับพระคริสต์ยกฐานะมนุษยชาติสู่ความสมบูรณ์. อนึ่ง ชนฝูงใหญ่ที่ประกอบด้วยชาวต่างประเทศเหล่านี้ต่างก็รู้สึกดื่มด่ำกับพระกรุณาใหญ่หลวงอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่ทรงโปรดให้พวกเขามีความหวังจะมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยานทางแผ่นดินโลก. ชาวต่างประเทศเหล่านี้บางคน เหมือนนะธีนิมในอดีต ได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ดูแลเพื่อช่วยเหลือคณะปุโรหิตบริสุทธิ์.b (ยะซายา 61:5) จากท่ามกลางคนเหล่านี้ พระเยซูทรง “แต่งตั้งเป็นเจ้าทั่วแผ่นดินโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 45:16, ล.ม.
8, 9. ชนฝูงใหญ่ได้ประโยชน์อะไรจากการพิจารณาสิ่งของต่าง ๆ แห่งที่บริสุทธิ์?
8 ถึงแม้ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสจะเข้าถึงสภาพซึ่งสถานบริสุทธิ์เป็นภาพเล็งถึงก็ตาม แต่ชนฝูงใหญ่ชาวต่างประเทศก็เรียนบทเรียนที่ทรงคุณค่าจากสิ่งของต่าง ๆ ในที่บริสุทธิ์. เชิงตะเกียงต้องมีน้ำมันหล่อไว้มิให้ขาดฉันใด ชาวต่างประเทศจำต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเหลือฉันนั้น เพื่อพวกเขาจะเข้าใจความจริงจากพระคำของพระเจ้าที่เผยให้ทราบเป็นลำดับโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยเขาที่จะตอบรับคำเชิญที่ว่า “พระวิญญาณและเจ้าสาว [ชนที่เหลือผู้ถูกเจิม] กล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ และให้คนใด ๆ ที่ได้ยินกล่าวว่า ‘มาเถิด!’ และให้คนใด ๆ ที่กระหายมาเถิด; ให้คนใด ๆ ที่ปรารถนามารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เชิงตะเกียงจึงเป็นสิ่งเตือนใจชนฝูงใหญ่ให้ตระหนักถึงพันธะหน้าที่ของตนที่จะส่องสว่างฐานะเป็นคริสเตียน และหลีกเลี่ยงสิ่งซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย ไม่ว่าทัศนคติ, ความคิด, คำพูด, หรือการกระทำ.—เอเฟโซ 4:30.
9 ขนมปังบนโต๊ะถวายเตือนใจชนฝูงใหญ่ว่าเพื่อจะคงสภาพเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ เขาต้องรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำจากคัมภีร์ไบเบิลและจากสรรพหนังสือของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 4:4) แท่นเผาเครื่องหอมเตือนใจเขาถึงความสำคัญของการอธิษฐานทูลขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาด้วยความรู้สึกอันแรงกล้าเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงไว้. (ลูกา 21:36) คำอธิษฐานของเขาควรรวมเอาการกล่าวสรรเสริญและการขอบพระคุณอย่างจริงใจไว้ด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 106:1) แท่นเผาเครื่องหอมยังเป็นสิ่งเตือนพวกเขาเช่นกันให้ระลึกถึงความจำเป็นจะต้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยวิธีอื่น เช่น ด้วยการเปล่งเสียงร้องเพลงราชอาณาจักร ณ การประชุมคริสเตียนอย่างสุดหัวใจ และโดยการที่พวกเขาเตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อให้การ “ประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด” มีประสิทธิผล.—โรม 10:10, ล.ม.
การนมัสการแท้มีชัยอย่างสมบูรณ์
10. (ก) พวกเราเฝ้ารออนาคตที่ดีเยี่ยมเช่นไร? (ข) จะต้องมีอะไรเกิดขึ้นเสียก่อน?
10 ทุกวันนี้ “ชนชาติเป็นอันมาก” จากทุกประเทศพากันหลั่งไหลมาสู่ราชนิเวศของพระยะโฮวาเพื่อนมัสการ. (ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.) เพื่อยืนยันในเรื่องนี้ วิวรณ์ 15:4 (ล.ม.) แถลงว่า “พระยะโฮวา ผู้ใดเล่าจะไม่เกรงกลัวพระองค์อย่างแท้จริง และไม่เทิดทูนพระนามพระองค์ เพราะพระองค์ผู้เดียวทรงภักดี? ด้วยว่าชาติทั้งปวงจะมาและนมัสการต่อพระพักตร์พระองค์ เพราะข้อกำหนดต่าง ๆ อันชอบธรรมของพระองค์มีสำแดงให้เห็นแล้ว.” ซะคาระยาบท 14 พรรณนาสิ่งซึ่งตามมา. ภายในอนาคตอันใกล้นี้ ความเป็นปรปักษ์ของผู้คนส่วนใหญ่บนแผ่นดินโลกจะถึงจุดสุดยอดขณะพวกเขารวมตัวกันครั้งสุดท้ายเพื่อทำสงครามกับยะรูซาเลม—ตัวแทนยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก. ครั้นแล้ว พระยะโฮวาจะทรงปฏิบัติการ. ฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้านักรบ แน่นอน พระองค์ “จะเสด็จออกไปรบประเทศเหล่านั้น” ซึ่งอาจหาญทำการโจมตีครั้งนี้.—ซะคาระยา 14:2, 3.
11, 12. (ก) พระยะโฮวาจะทรงตอบสนองการโจมตีทั่วโลกซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้นมัสการในวิหารของพระองค์อย่างไร? (ข) ผลของสงครามของพระเจ้าจะเป็นอย่างไร?
11 “อันนี้จะเป็นเหตุร้ายซึ่งพระยะโฮวาจะกระทำร้าย, ส่วนประเทศทั้งปวงที่มารังแกเมืองยะรูซาเลมนั้น, พระเจ้าจะให้โรคห่ามาประหารเขา, คือเนื้อหนังของเขาจะเน่าไปเมื่อเขายังยืนอยู่, แลลูกตาของเขาจะเน่าคาเบ้าตา, แลลิ้นของเขาจะเน่าคาปาก. แลในวันนั้นพระยะโฮวาจะให้บังเกิดการสับสนอลหม่านในท่ามกลางเขาทั้งหลาย, แลเขาทั้งหลายจะจับกุมกันแลกัน, แลยกมือขึ้นต่อสู้กันแลกัน.”—ซะคาระยา 14:12, 13.
12 เหตุร้ายนี้จะเป็นไปตามตัวอักษรหรือโดยนัยนั้น พวกเราจะต้องรอดู. อย่างไรก็ดี อย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน. ขณะที่บรรดาศัตรูของพระเจ้าเข้าโจมตีผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทั่วโลก เขาจะถูกทำให้ชะงักเนื่องจากการสำแดงฤทธิ์เดชอันมหัศจรรย์ด้วยอำนาจใหญ่ยิ่งของพระเจ้า. เขาจำต้องหุบปากนิ่งเงียบ ประหนึ่งว่าลิ้นพูดสบประมาทของเขานั้นเน่าไปแล้ว. เป้าหมายร่วมของเขาจะพร่ามัวมองไม่เห็นชัดเจนซึ่งคล้ายกับว่าดวงตาของเขาเน่าไป. กำลังวังชาซึ่งเคยหนุนเขาให้ปฏิบัติการโจมตีก็จะเสื่อมสิ้นไป. ด้วยความสับสน พวกเขาจะหันมาเข่นฆ่ากันเองเป็นการใหญ่. โดยวิธีนี้ ปฏิปักษ์ทั้งสิ้นต่อการนมัสการของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกจะถูกทำลายเสียสิ้น. ในที่สุด นานาประเทศทั้งปวงจะอยู่ในภาวะจำยอมต้องรับรองสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. คำพยากรณ์จะสำเร็จสมจริงที่ว่า “พระยะโฮวาจะเป็นกษัตริย์ครองทั่วทั้งแผ่นดิน.” (ซะคาระยา 14:9) หลังจากนั้น ซาตานและพวกผีปีศาจจะถูกมัดขณะที่รัชสมัยพันปีของพระคริสต์เริ่มต้นพร้อมด้วยพระพรนานัปการสำหรับมนุษยชาติ.—วิวรณ์ 20:1, 2; 21:3, 4.
การปลุกขึ้นจากตายทางแผ่นดินโลก
13. ใครคือ “บรรดาชนที่เหลืออยู่ในประเทศทั้งปวง”?
13 คำพยากรณ์ของซะคาระยากล่าวต่อไปในบท 14 ข้อ 16 ดังนี้: “แลอยู่มาบรรดาชนที่เหลืออยู่ในประเทศทั้งปวงซึ่งขึ้นมาต่อสู้เมืองยะรูซาเลมนั้น, จะขึ้นไปนมัสการอธิษฐานต่อพระมหากษัตริย์, คือพระยะโฮวาแห่งจอมพลโยธาทั้งหลาย, แลนับถือเทศกาลตั้งทับอาศัย.” ตามคำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิล ปวงประชาทั้งสิ้นที่มีชีวิตอยู่เวลานี้ผู้ซึ่งจะอยู่ต่อไปจนถึงอวสานของระบบชั่วนี้ และผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการนมัสการแท้จะได้ “รับโทษคือความพินาศนิรันดร์.” (2 เธซะโลนิเก 1:7-9; ดูมัดธาย 25:31-33, 46 ด้วย.) คนพวกนี้จะไม่ได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. ครั้นแล้ว เป็นไปได้ที่บรรดา “ชนที่เหลืออยู่” นับรวมคนชาติต่าง ๆ ซึ่งตายไปก่อนสงครามสุดท้ายของพระเจ้า และอาศัยพื้นฐานของพระคัมภีร์ คนเหล่านั้นมีหวังจะได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. พระเยซูทรงสัญญาดังนี้: “เวลาจะมาเมื่อบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของพระองค์ และจะออกมา ผู้ที่ได้ทำการดีจะเป็นขึ้นมาสู่ชีวิต ผู้ที่ได้ทำการชั่วก็จะเป็นขึ้นมาสู่การพิพากษา.”—โยฮัน 5:28, 29, ล.ม.
14. (ก) พวกที่ถูกปลุกขึ้นจากตายต้องทำประการใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์? (ข) จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ไม่ยอมอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและไม่ปฏิบัติการนมัสการแท้?
14 คนเหล่านี้ทุกคนที่ถูกปลุกขึ้นจากตายต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อการเป็นขึ้นจากตายของเขาจะเป็นในลักษณะที่ได้รับชีวิต และไม่ใช่การพิพากษาอย่างที่ให้ผลร้าย. พวกเขาต้องมายังลานวิหารของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลกและอ่อนน้อมอุทิศตนแด่พระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์. คนใดที่ถูกปลุกขึ้นจากตายแล้วทว่าไม่ยอมทำดังกล่าวจะรับเหตุร้ายเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชาติต่าง ๆ สมัยปัจจุบัน. (ซะคาระยา 14:18) ใครจะรู้บ้างว่าจำนวนคนที่รับการปลุกขึ้นจากตายมีเท่าไรที่จะยินดีสมทบชนฝูงใหญ่ฉลองสิ่งซึ่งเทศกาลตั้งทับอาศัยเป็นภาพเล็งถึง? คงต้องมีจำนวนมากแน่ ๆ และจะยังผลให้มหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวามีสง่าราศีมากยิ่งขึ้น!
สิ่งซึ่งเทศกาลตั้งทับอาศัยเป็นภาพเล็งถึง
15. (ก) ลักษณะเด่นบางประการเกี่ยวกับเทศกาลตั้งทับอาศัยของพวกยิศราเอลสมัยโบราณนั้นคืออะไร? (ข) ทำไมจึงต้องถวายวัวตัวผู้ 70 ตัวในระหว่างเทศกาล?
15 ทุกปี ชาติยิศราเอลในอดีตต้องฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัย. งานฉลองนี้กินเวลาหนึ่งสัปดาห์และเป็นช่วงที่พวกเขาเสร็จงานเก็บพืชผลเข้าไว้ในยุ้งฉางแล้ว. เทศกาลนี้เป็นวาระการโมทนาขอบพระคุณอันน่าชื่นชม. ตลอดสัปดาห์นั้น พวกเขาต้องอยู่ในที่อาศัยชั่วคราวซึ่งมุงด้วยใบไม้โดยเฉพาะทางปาล์ม. เทศกาลนี้เตือนใจชาวยิศราเอลให้สำนึกว่าพระเจ้าได้โปรดช่วยบรรพบุรุษของเขารอดชีวิตจากอียิปต์อย่างไร และพระองค์ทรงใฝ่พระทัยดูแลเขาอย่างไรระหว่างที่เขาอาศัยในทับช่วงที่รอนแรมในป่าทุรกันดารนานถึง 40 ปี จนกระทั่งเขามาถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา. (เลวีติโก 23:39-43) ระหว่างการฉลองเทศกาล เขาได้ถวายวัวตัวผู้ 70 ตัวเป็นเครื่องบูชาบนแท่นในพระวิหาร. ตามหลักฐานแล้ว ลักษณะพิเศษแห่งเทศกาลนี้เป็นเชิงพยากรณ์บ่งชี้ถึงงานช่วยชีวิตอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนโดยพระเยซูคริสต์. คุณประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์นั้นในที่สุดจะล้นไหลไปถึงผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งเป็นลูกหลานที่เกิดจาก 70 ตระกูลของมนุษยชาติซึ่งสืบเชื้อสายจากโนฮา.—เยเนซิศ 10:1-29; อาฤธโม 29:12-34; มัดธาย 20:28.
16, 17. สิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึงได้เริ่มเป็นจริงเมื่อไร และได้ดำเนินต่อไปอย่างไร? (ข) ชนฝูงใหญ่มีส่วนในการฉลองอย่างไร?
16 ด้วยเหตุนี้ เทศกาลตั้งทับอาศัยในคราวโบราณจึงเล็งถึงวาระแห่งความยินดีเมื่อมีการรวบรวมคนบาปที่ถูกไถ่แล้วเข้าสู่มหาวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา. สิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเป็นภาพเล็งถึงเริ่มต้นในวันเพนเตคอสเต สากลศักราช 33 ด้วยการเริ่มงานรวบรวมที่น่ายินดีของชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเข้ามาในประชาคมคริสเตียน. (กิจการ 2:41, 46, 47) ชนจำพวกผู้ถูกเจิมเหล่านี้สำนึกเสมอว่าตน “เป็นคนต่างด้าว” ในโลกของซาตาน เนื่องจากที่แท้เขา “เป็นชาวแผ่นดินสวรรค์.” (1 เปโตร 2:11, ล.ม.; ฟิลิปปอย 3:20) เทศกาลที่ยังความชื่นชมยินดีนี้ถูกบดบังไว้ชั่วคราวด้วยเงามืดของพวกออกหากซึ่งในที่สุดได้ก่อรูปเป็นคริสต์ศาสนจักร. (2 เธซะโลนิเก 2:1-3) อย่างไรก็ดี เทศกาลนี้ฟื้นขึ้นมาอีกเมื่อปี 1919 พร้อมกับการรวมตัวอย่างน่ายินดีของสมาชิกกลุ่มสุดท้ายแห่งชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ 144,000 คน ติดตามด้วยการรวบรวมชนฝูงใหญ่จากนานาชาติตามที่กล่าวในวิวรณ์ 7:9.
17 ชนฝูงใหญ่ได้รับการพรรณนาว่าเขาถือทางปาล์มในมือ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาเป็นผู้ฉลองสิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึงนั้นด้วยความชื่นชมยินดีเช่นกัน. ในฐานะเป็นคริสเตียนที่อุทิศตัว ด้วยความชื่นชมยินดีพวกเขาร่วมงานรวบรวมผู้นมัสการอีกหลายคนเข้ามายังวิหารของพระยะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น ฐานะเป็นคนบาป พวกเขาหยั่งเห็นเข้าใจว่าเขาไม่มีสิทธิอาศัยถาวรบนแผ่นดินโลก. เขาพร้อมทั้งบรรดาผู้ที่จะถูกปลุกขึ้นจากตายในอนาคตจึงต้องแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุสภาพมนุษย์สมบูรณ์ตอนสิ้นรัชสมัยพันปีของพระคริสต์.—วิวรณ์ 20:5.
18. (ก) จะเกิดอะไรขึ้นตอนปลายรัชสมัยพันปีแห่งการปกครองของพระเยซูคริสต์? (ข) การนมัสการแท้ของพระยะโฮวาจะมีชัยอย่างไรในที่สุด?
18 ครั้นแล้ว ผู้นมัสการพระเจ้าที่อยู่บนแผ่นดินโลกจะยืนตรงหน้าพระองค์ในสภาพมนุษย์สมบูรณ์โดยไม่ต้องอาศัยปุโรหิตฝ่ายสวรรค์. เมื่อถึงเวลานั้น พระเยซูคริสต์จะ “ทรงมอบราชอาณาจักรให้แก่พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์.” (1 โกรินโธ 15:24, ล.ม.) ซาตานจะถูกปล่อย “ชั่วขณะหนึ่ง” เพื่อทดสอบมนุษยชาติซึ่งบรรลุความสมบูรณ์แล้ว. คนไม่สัตย์ซื่อจะถูกทำลายไปพร้อมกับซาตานและปีศาจบริวารของมันตลอดชั่วกาลนาน. ส่วนผู้ที่รักษาความซื่อสัตย์จะได้รับชีวิตนิรันดร์. พวกเขาจะกลายเป็นผู้อาศัยถาวรในอุทยานทางแผ่นดินโลก. ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เทศกาลตั้งทับอาศัยเล็งถึงจะบรรลุจุดสุดยอดอย่างงดงามและสำเร็จผล. การนมัสการแท้จะได้มีชัยเพื่อพระเกียรติยืนยงแด่พระยะโฮวาและเพื่อความสุขสำหรับมนุษย์ตลอดไป.—วิวรณ์ 20:3, 7-10, 14, 15.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะได้คำอธิบายเกี่ยวด้วยซะคาระยาบท 14 เป็นข้อ ๆ ไป โปรดดูจากหนังสืออุทยานได้รับการฟื้นฟูสำหรับมนุษยชาติ—โดยการปกครองของพระเจ้า! (ภาษาอังกฤษ) บท 21, 22 พิมพ์ปี 1972 โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
b เพื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับนะธีนิมสมัยปัจจุบัน โปรดอ่าน หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1992 หน้า 16.
คำถามทบทวน
▫ “ยะรูซาเลม” ถูกโจมตีอย่างไรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง?—ซะคาระยา 14:2.
▫ เกิดอะไรขึ้นกับไพร่พลของพระเจ้าตั้งแต่ปี 1919?
▫ เวลานี้ ใครร่วมงานฉลองสิ่งซึ่งเทศกาลตั้งทับอาศัยเป็นภาพเล็งถึง?
▫ โดยวิธีใดการนมัสการแท้จะมีชัยบริบูรณ์?
[รูปภาพหน้า 23]
มีการใช้ทางปาล์มเมื่อฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัย