จงพัฒนาความถ่อมใจแท้
“พระองค์จะทรงช่วยคนถ่อมใจให้รอด.”—2 ซามูเอล 22:28, ล.ม.
1, 2. ผู้ปกครองหลายคนในโลกมีอะไรที่เหมือนกัน?
พีระมิดในอียิปต์บ่งบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับผู้ที่ปกครองดินแดนนั้นในอดีต. คนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ก็มีซันเฮริบของอัสซีเรีย, อะเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีซ, และจูเลียสซีซาร์ของโรม. ผู้ปกครองเหล่านี้ทั้งหมดมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน. พวกเขาไม่ได้ฝากประวัติไว้ในด้านการเป็นคนถ่อมใจแท้.—มัดธาย 20:25, 26.
2 คุณนึกภาพออกไหมว่าผู้ปกครองคนใดก็ตามที่กล่าวถึงข้างต้นจะเสาะหาไปทั่วอาณาจักรของตนเป็นประจำเพื่อจะพบประชาชนที่อนาถาผู้ต้องการความช่วยเหลือ? นึกไม่ออกแน่ ๆ! ทั้งยังนึกภาพไม่ออกด้วยว่าพวกเขาจะไปยังบ้านเรือนซ่อมซ่อของประชาชนที่ถูกกดขี่เพื่อหนุนใจคนเหล่านั้น. เจตคติของพวกเขาต่อผู้ที่ต่ำต้อยนั้นช่างต่างกันสักเพียงไรกับท่าทีของผู้ปกครององค์สูงสุดในเอกภพ พระยะโฮวาพระเจ้า!
แบบอย่างอันล้ำเลิศเรื่องความถ่อมใจ
3. ผู้ปกครององค์สูงสุดปฏิบัติกับมนุษย์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์อย่างไร?
3 ความยิ่งใหญ่และความสูงส่งของพระยะโฮวานั้นสุดที่จะหยั่งรู้ได้ ถึงกระนั้น “พระเนตรของพระองค์กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.” (2 โครนิกา 16:9, ล.ม.) และพระยะโฮวาทรงทำอะไรเมื่อพบผู้นมัสการที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยซึ่งมีใจชอกช้ำเนื่องจากประสบความทุกข์ยากนานัปการ? ในความหมายหนึ่ง พระองค์ทรง “อยู่” กับคนเหล่านั้นโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ “เพื่อฟื้นจิตใจของผู้ที่หดหู่และเพื่อฟื้นหัวใจของผู้ที่ชอกช้ำ.” (ยะซายา 57:15, ล.ม.) โดยวิธีนี้ ผู้นมัสการพระองค์ซึ่งได้รับการฟื้นฟูจิตใจจึงอยู่พร้อมที่จะกลับมารับใช้พระองค์ด้วยความชื่นชมยินดีอีก. ช่างเป็นการแสดงความถ่อมพระทัยของพระเจ้าเสียจริง ๆ!
4, 5. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญมีความรู้สึกอย่างไรต่อวิธีที่พระเจ้าทรงปกครอง? (ข) อะไรคือความหมายของการที่พระเจ้า “ถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมา” ช่วย “คนอนาถา”?
4 ไม่มีใครอีกแล้วในเอกภพที่ถ่อมใจมากเท่ากับองค์บรมมหิศรเพื่อจะช่วยเหลือมนุษย์ที่ผิดบาป. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญสามารถเขียนเพลงได้ดังนี้: “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ในที่สูงเหนือชนประเทศทั้งปวง, และพระรัศมีของพระองค์ปรากฏอยู่เหนือฟ้าสวรรค์. มีผู้ใดเล่าจะเสมอเหมือนพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเรา? ผู้ซึ่งประทับอยู่เบื้องสูง, ผู้ซึ่งทรงถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมาพิจารณาดูฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงโปรดยกคนอนาถาขึ้นจากผงคลีดิน, และทรงอุ้มคนขัดสนออกจากกองหยากเยื่อ.”—บทเพลงสรรเสริญ 113:4-7.
5 พระยะโฮวาทรงบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่พบ “ความเย่อหยิ่ง” ในพระองค์เลย. (มาระโก 7:22, 23, ฉบับแปลใหม่) ถ้อยคำที่ว่า “ถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมา” ถ่ายทอดความหมายในแง่การลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ที่มีฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อยกว่า หรือลงมาจากฐานะอันมีเกียรติเพื่อเอาใจใส่ผู้ที่ต่ำต้อยกว่า. ช่างเหมาะเจาะสักเพียงไรที่บทเพลงสรรเสริญ 113:6 ได้พรรณนาภาพพระเจ้าผู้ถ่อมพระทัยของเราที่ทรงเอาใจใส่ด้วยความรักต่อความจำเป็นของผู้ที่นมัสการพระองค์ที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์!—2 ซามูเอล 22:36.
เหตุผลที่พระเยซูมีพระทัยถ่อม
6. การกระทำอันใหญ่ยิ่งที่สุดของพระยะโฮวาที่แสดงถึงความถ่อมพระทัยคืออะไร?
6 การกระทำอันใหญ่ยิ่งที่สุดของพระเจ้าที่แสดงถึงความถ่อมพระทัยและความรักคือการที่พระองค์ส่งพระบุตรหัวปีผู้เป็นที่รักมาถือกำเนิดบนแผ่นดินโลก และได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญวัยขึ้นในฐานะมนุษย์เพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอด. (โยฮัน 3:16) พระเยซูสอนความจริงแก่เราเกี่ยวกับพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ และต่อมาทรงสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เพื่อรับ “ความผิดบาปของโลก” ไป. (โยฮัน 1:29; 18:37) เนื่องจากทรงเลียนแบบคุณลักษณะของพระบิดาได้อย่างสมบูรณ์พร้อม ซึ่งรวมถึงความถ่อมพระทัยของพระยะโฮวา พระเยซูจึงเต็มพระทัยจะกระทำในสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา. นั่นเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเรื่องความถ่อมใจและความรักโดยบุคคลหนึ่งในบรรดาผู้ที่พระเจ้าสร้าง. ใช่ว่าทุกคนชื่นชมความถ่อมพระทัยของพระเยซู พวกศัตรูของพระองค์มองว่าพระองค์เป็น “คนต่ำต้อยที่สุด” ด้วยซ้ำ. (ดานิเอล 4:17) กระนั้นก็ตาม อัครสาวกเปาโลตระหนักว่าเพื่อนร่วมความเชื่อของท่านควรเลียนแบบพระเยซู และโดยการทำเช่นนั้น พวกเขาจึงควรมีความถ่อมใจในการปฏิบัติต่อกันและกัน.—1 โกรินโธ 11:1; ฟิลิปปอย 2:3, 4.
7, 8. (ก) พระเยซูทรงเรียนรู้โดยวิธีใดที่จะเป็นผู้ที่ถ่อมใจ? (ข) พระเยซูให้คำเชิญชวนอะไรแก่ผู้ที่อาจจะเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์?
7 เปาโลเน้นแบบอย่างอันโดดเด่นของพระเยซูเมื่อเขียนว่า “จงรักษาเจตคติอย่างนี้ไว้ในตัวท่านซึ่งเจตคติอย่างนี้ก็มีอยู่ในพระคริสต์เยซูด้วย ผู้ซึ่งถึงแม้พระองค์ได้ดำรงอยู่ในลักษณะของพระเจ้าก็ตาม ไม่คิดจะแย่งชิง กล่าวคือการที่พระองค์จะได้เท่าเทียมกับพระเจ้า. เปล่าเลย แต่พระองค์ทรงสละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาสและมาเป็นอย่างมนุษย์. ยิ่งกว่านั้น เมื่อทรงเห็นว่าพระองค์เองอยู่ในลักษณะมนุษย์แล้ว พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา คือความมรณาบนหลักทรมาน.”—ฟิลิปปอย 2:5-8, ล.ม.
8 บางคนอาจสงสัยว่า ‘พระเยซูทรงเรียนรู้โดยวิธีใดที่จะเป็นผู้ที่ถ่อมใจ?’ นั่นเป็นผลจากการได้มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระบิดาในสวรรค์เป็นเวลานานสุดที่จะนับได้ ระหว่างช่วงที่พระองค์เป็น “นายช่าง” ของพระเจ้าในการสร้างสรรพสิ่ง. (สุภาษิต 8:30, ฉบับแปลใหม่) หลังจากการกบฏในสวนเอเดน พระบุตรหัวปีของพระเจ้าสามารถสังเกตเห็นวิธีที่พระบิดาของพระองค์ปฏิบัติด้วยความถ่อมพระทัยต่อมนุษย์ที่ผิดบาปทั้งหลาย. ดังนั้น เมื่ออยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูจึงสะท้อนความถ่อมพระทัยของพระบิดาและเชิญชวนผู้คนว่า “จงเอาแอกของเราแบกไว้, แล้วเรียนจากเรา, เพราะว่าใจเราอ่อนสุภาพ [“เพราะเราเป็นคนอ่อนโยนและถ่อมใจ,” ล.ม.] และท่านทั้งหลายจะได้ความสุขสำราญในใจของตน.”—มัดธาย 11:29; โยฮัน 14:9.
9. (ก) พระเยซูพบอะไรที่น่าดึงดูดใจในตัวเด็ก ๆ? (ข) โดยการใช้เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งเป็นตัวอย่าง พระเยซูทรงสอนบทเรียนอะไร?
9 เนื่องจากพระเยซูถ่อมพระทัยอย่างแท้จริง เด็ก ๆ จึงไม่หวาดกลัวพระองค์. แทนที่จะหวาดกลัว พวกเขารู้สึกถูกดึงดูดให้เข้าไปหาพระองค์. พระองค์เองก็ทรงแสดงความรักใคร่ต่อเด็ก ๆ และสนใจพวกเขา. (มาระโก 10:13-16) พระเยซูทรงพบคุณลักษณะอะไรที่น่าดึงดูดใจในตัวเด็ก ๆ? แน่นอน เด็ก ๆ มีคุณลักษณะที่น่าปรารถนาซึ่งสาวกบางคนที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้แสดงออกมาเสมอไป. เป็นที่รู้กันดีว่าเด็กเล็ก ๆ จะมองว่าผู้ใหญ่เหนือกว่าเขา. เราเห็นได้จากการที่พวกเขามักจะถามคำถามมากมาย. ใช่แล้ว เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่หลายคน เด็ก ๆ สอนง่ายกว่า และมักจะไม่หยิ่งทะนงเหมือนผู้ใหญ่. ในโอกาสหนึ่ง พระเยซูเลือกเด็กเล็ก ๆ ออกมาคนหนึ่ง และบอกสาวกว่า “ถ้าพวกท่านไม่กลับใจเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะเข้าในแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้เลย.” พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ถ้าผู้ใดถ่อมจิตต์ใจลงเหมือนเด็กเล็ก ๆ คนนี้ ผู้นั้นจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์.” (มัดธาย 18:3, 4) พระเยซูแถลงกฎข้อหนึ่งที่ว่า “ทุกคนที่ได้ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง, และผู้ที่ถ่อมตัวลงผู้นั้นจะต้องถูกยกขึ้น.”—ลูกา 14:11; 18:14; มัดธาย 23:12.
10. เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
10 ความจริงดังกล่าวทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้น. โอกาสของเราที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราปลูกฝังความถ่อมใจแท้อยู่หรือไม่ แต่ทำไมบางครั้งคริสเตียนจึงรู้สึกว่ายากที่จะถ่อมใจ? ทำไมจึงเป็นเรื่องท้าทายที่เราจะกล้ำกลืนความหยิ่งในตัวเอง แล้วแสดงท่าทีต่อการทดลองต่าง ๆ ด้วยความถ่อมใจ? อะไรจะช่วยเราให้ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังความถ่อมใจแท้?—ยาโกโบ 4:6, 10.
สาเหตุที่ยากที่จะถ่อมใจ
11. ทำไมจึงไม่แปลกที่เราต้องบากบั่นพยายามเป็นคนถ่อมใจ?
11 ถ้าคุณกำลังออกแรงพยายามที่จะเป็นคนถ่อมใจ คุณก็ไม่ใช่คนเดียวที่เป็นเช่นนั้น. ย้อนไปในปี 1920 วารสารนี้ได้พิจารณาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะมีความถ่อมใจ โดยกล่าวว่า “ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ความสำคัญในเรื่องความถ่อมใจมากเพียงไร เรื่องนี้ก็น่าจะกระตุ้นสาวกแท้ทุกคนให้ปลูกฝังคุณลักษณะนี้ทุก ๆ วัน.” จากนั้น วารสารนี้ก็ยอมรับตามตรงว่า “ถึงแม้คำแนะนำทั้งหมดนี้มาจากพระคัมภีร์ แต่ธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ก็ดูเหมือนจะทำให้ผู้ที่เข้ามาเป็นสาวกขององค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ที่ตัดสินใจว่าจะติดตามแนวทางของพระองค์ มีความยุ่งยากมากกว่า ต้องต่อสู้มากกว่าในเรื่องความถ่อมใจ เมื่อเทียบกับคุณลักษณะอื่น ๆ.” ข้อความดังกล่าวเน้นเหตุผลหนึ่งที่ว่าเหตุใดคริสเตียนแท้จึงต้องบากบั่นพยายามที่จะเป็นคนถ่อมใจ นั่นก็คือธรรมชาติของมนุษย์ที่ผิดบาปปรารถนาที่จะได้รับเกียรติที่ไม่สมควรจะได้รับ. นั่นเป็นเพราะเราเป็นลูกหลานของอาดามและฮาวา มนุษย์คู่แรกที่ผิดบาป ซึ่งได้ยอมพ่ายต่อความปรารถนาอันเห็นแก่ตัว.—โรม 5:12.
12, 13. (ก) โลกเป็นอุปสรรคต่อความถ่อมใจของคริสเตียนอย่างไร? (ข) ใครทำให้การบากบั่นพยายามของเราเพื่อจะพัฒนาความถ่อมใจเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น?
12 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่เราอาจรู้สึกว่ายากที่จะแสดงความถ่อมใจคือเราอยู่ท่ามกลางโลกที่ส่งเสริมให้ผู้คนพยายามจะเหนือกว่าคนอื่น ๆ. เป้าหมายอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกนี้คือ การกระหายที่จะให้ได้รับความพอใจใน “ความปรารถนาของเนื้อหนัง [ที่ผิดบาป], ความปรารถนาของตา, และการอวดอ้างปัจจัยการดำรงชีวิตของตน.” (1 โยฮัน 2:16, ล.ม.) แทนที่จะปล่อยให้ความปรารถนาของโลกแบบนั้นเข้าครอบงำ สาวกของพระเยซูต้องรักษาตาให้ปกติ และมุ่งความสนใจในการกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.—มัดธาย 6:22-24, 31-33; 1 โยฮัน 2:17.
13 เหตุผลประการที่สามที่ทำให้การพัฒนาความถ่อมใจและแสดงออกมานั้นเป็นเรื่องยากก็คือซาตานพญามาร ต้นตอของความหยิ่งทะนง เป็นผู้ครอบครองโลกนี้. (2 โกรินโธ 4:4; 1 ติโมเธียว 3:6) ซาตานส่งเสริมลักษณะนิสัยที่เลวทรามของมัน. ตัวอย่างเช่น มันพยายามที่จะได้การนมัสการจากพระเยซูแลกกับการยก “บรรดาประเทศในโลกทั้งสง่าราศีของประเทศเหล่านั้น” ให้พระองค์. เนื่องด้วยพระองค์ถ่อมพระทัยเสมอ พระเยซูทรงปฏิเสธข้อเสนอของพญามารอย่างหนักแน่น. (มัดธาย 4:8, 10) เช่นเดียวกัน ซาตานก็พยายามล่อใจคริสเตียนให้แสวงหาเกียรติยศสำหรับตนเอง. แต่คริสเตียนที่ใจถ่อมพยายามจะติดตามตัวอย่างของพระเยซู โดยสรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระเจ้า ไม่ใช่นำคำสรรเสริญมาสู่ตนเอง.—มาระโก 10:17, 18.
การพัฒนาและการแสดงความถ่อมใจแท้
14. การ “ทำทีถ่อมตัวลง” เป็นอย่างไร?
14 ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซาย อัครสาวกเปาโลเตือนให้ระวังการแสร้งทำตัวเป็นคนถ่อมเพื่อให้คนอื่น ๆ ประทับใจ. เปาโลพรรณนาการทำเช่นนี้โดยใช้คำว่า “ทำทีถ่อมตัวลง.” คนที่ทำทีว่าเป็นคนถ่อมไม่ใช่มนุษย์ฝ่ายวิญญาณ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาเผยให้เห็นโดยไม่ตั้งใจว่า แท้ที่จริงเขา “พองตัว” ด้วยความหยิ่ง. (โกโลซาย 2:18, 23) พระเยซูชี้ถึงตัวอย่างของความถ่อมใจอย่างผิด ๆ ดังกล่าว. พระองค์ตำหนิพวกฟาริซายที่ชอบอธิษฐานในแบบที่ทำให้ผู้คนประทับใจ และถือศีลอดอาหารโดยทำหน้าเศร้าหมองและดูมอมแมมเพื่อผู้คนจะได้สังเกตเห็น. ตรงกันข้าม เพื่อคำอธิษฐานของเราจะมีคุณค่าจำเพาะพระเจ้า เราต้องถ่อมใจจากใจจริง.—มัดธาย 6:5, 6, 16.
15. (ก) เราจะทำอะไรได้เพื่อรักษาความถ่อมใจ? (ข) ใครบ้างเป็นตัวอย่างเรื่องความถ่อมใจ?
15 สิ่งที่จะช่วยให้คริสเตียนรักษาความถ่อมใจแท้ก็คือการตรึกตรองแบบอย่างที่ดีที่สุดเรื่องความถ่อมใจ ซึ่งก็ได้แก่ พระยะโฮวาเจ้าและพระเยซูคริสต์. การทำเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จัดเตรียมไว้ให้โดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เป็นประจำ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) การศึกษาเช่นนั้นมีความสำคัญมากสำหรับคริสเตียนผู้ดูแล “เพื่อว่าจิตใจของเขาจะมิได้พองขึ้นสูงกว่าพี่น้องของตน.” (พระบัญญัติ 17:19, 20, ฉบับแปลใหม่; 1 เปโตร 5:1-3) จงไตร่ตรองตัวอย่างที่มีอยู่มากมายของเหล่าสตรีที่รับพระพรเนื่องจากมีใจถ่อม เช่น รูธ, ฮันนา, เอลีซาเบ็ต, และคนอื่น ๆ อีกมากมาย. (ประวัตินางรูธ 1:16, 17; 1 ซามูเอล 1:11, 20; ลูกา 1:41-43) นอกจากนั้น จงคิดถึงหลายตัวอย่างที่ดีของเหล่าบุรุษที่มีชื่อเสียงผู้ซึ่งถ่อมใจเสมอในการรับใช้พระยะโฮวา เช่น ดาวิด, โยซียา, โยฮันผู้ให้บัพติสมา, และอัครสาวกเปาโล. (2 โครนิกา 34:1, 2, 19, 26-28; บทเพลงสรรเสริญ 131:1; โยฮัน 1:26, 27; 3:26-30; กิจการ 21:20-26; 1 โกรินโธ 15:9) และยังมีตัวอย่างมากมายเรื่องความถ่อมใจที่เราพบในประชาคมคริสเตียนในสมัยปัจจุบัน. การใคร่ครวญตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้คริสเตียนแท้ “ถ่อมใจในการปฏิบัติต่อกันและกัน.”—1 เปโตร 5:5.
16. กิจกรรมการเผยแพร่ของคริสเตียนช่วยเราให้เป็นคนถ่อมใจอย่างไร?
16 การเข้าร่วมเป็นประจำในกิจกรรมการเผยแพร่ของคริสเตียนก็ช่วยเราเป็นคนถ่อมใจด้วย. ความถ่อมใจจะทำให้เราบังเกิดผลเมื่อเข้าไปสนทนากับคนแปลกหน้าที่เราพบขณะไปตามบ้านเรือนหรือในที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าของบ้านไม่ตอบรับข่าวสารราชอาณาจักรหรือแสดงกิริยาหยาบคายในตอนแรก. บ่อยครั้งมีการโต้แย้งความเชื่อของเรา และความถ่อมใจจะช่วยให้คริสเตียนตอบข้อสงสัยต่าง ๆ “ด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง” เสมอ. (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) ผู้รับใช้ที่ถ่อมใจของพระเจ้าได้ย้ายไปเขตใหม่และช่วยผู้คนที่มีวัฒนธรรมและมาตรฐานการดำเนินชีวิตต่างออกไป. ผู้รับใช้เหล่านั้นอาจต้องถ่อมใจรับมือกับความยากลำบากในการเรียนรู้ภาษาใหม่เพื่อช่วยให้พวกเขาแบ่งปันข่าวดีแก่ผู้คนได้ดียิ่งขึ้น. ช่างน่าชมเชยเสียจริง ๆ!—มัดธาย 28:19, 20.
17. หน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้างของคริสเตียนที่เรียกร้องความถ่อมใจ?
17 ด้วยความถ่อมใจ หลายคนได้เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียน โดยจัดให้ผลประโยชน์ของผู้อื่นมาก่อนของตัวเอง. ตัวอย่างเช่น การที่บิดาคริสเตียนจัดแบ่งเวลาจากการงานของตนเพื่อเตรียมตัวและนำการศึกษาพระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพกับลูก ๆ นั้น ย่อมต้องมีความถ่อมใจ. ความถ่อมใจยังช่วยลูก ๆ ให้นับถือและเชื่อฟังบิดามารดาที่เป็นคนไม่สมบูรณ์. (เอเฟโซ 6:1-4) ภรรยาที่มีสามีที่ไม่เชื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้ต้องแสดงความถ่อมใจอยู่บ่อย ๆ ขณะที่พวกเธอพยายามโน้มน้าวสามีให้เข้ามาในความจริงโดย ‘การประพฤติอันบริสุทธิ์พร้อมกับความนับถืออันสุดซึ้ง.’ (1 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) ความถ่อมใจและความรักแบบเสียสละตัวเองมีค่ามากเช่นกันเมื่อเราเอาใจใส่ดูแลด้วยความรักต่อความจำเป็นของบิดามารดาที่เจ็บป่วยและสูงอายุ.—1 ติโมเธียว 5:4.
ความถ่อมใจช่วยแก้ปัญหา
18. ความถ่อมใจช่วยเราแก้ปัญหาได้อย่างไร?
18 ผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าล้วนไม่สมบูรณ์. (ยาโกโบ 3:2) บางครั้ง ความขัดแย้งหรือความเข้าใจผิดอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างคริสเตียนสองคน. คนหนึ่งอาจมีเหตุอันควรที่จะบ่นว่าอีกคนหนึ่ง. ตามปกติแล้ว สภาพการณ์อย่างนี้สามารถแก้ได้โดยการทำตามคำแนะนำที่ว่า “จงทนต่อกันอยู่เรื่อยไปและอภัยให้กันอย่างใจกว้างถ้าผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยพระทัยกว้างเช่นไร ท่านจงทำเช่นนั้นด้วย.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.) จริงอยู่ การทำตามคำแนะนำนี้ไม่ง่าย แต่ความถ่อมใจจะช่วยเราให้ปฏิบัติตาม.
19. เราต้องจดจำอะไรไว้เสมอเมื่อไปพูดกับคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง?
19 บางครั้ง คริสเตียนคนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเหตุอันควรที่จะบ่นว่านั้นหนักหนาเกินกว่าที่จะมองข้ามได้. ในกรณีแบบนี้ ความถ่อมใจจะช่วยเขาให้เข้าไปพูดกับคนที่เขาคิดว่าเป็นผู้ทำให้ขุ่นเคือง โดยมีเป้าหมายจะมีสันติสุขระหว่างกันอีก. (มัดธาย 18:15) สาเหตุอย่างหนึ่งที่บางครั้งปัญหาระหว่างพี่น้องคริสเตียนยังคงเรื้อรังก็เนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบางทีทั้งสองฝ่ายหยิ่งเกินกว่าที่จะยอมรับว่าตัวเองก็มีส่วนทำให้ปัญหาเกิดขึ้น. หรือฝ่ายที่ริเริ่มเข้าไปพูดนั้นก็อาจทำเช่นนั้นด้วยท่าทีที่ถือว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกและตำหนิอีกฝ่ายหนึ่ง. ในทางตรงกันข้าม ท่าทีที่ถ่อมใจอย่างแท้จริงจะช่วยได้มากในการแก้ไขความขัดแย้งหลาย ๆ อย่าง.
20, 21. สิ่งหนึ่งที่ดีเยี่ยมซึ่งช่วยเราให้เป็นคนถ่อมใจคืออะไร?
20 ขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาความถ่อมใจคือการทูลขอความช่วยเหลือและพระวิญญาณของพระเจ้า. แต่อย่าลืมว่า “พระเจ้า . . . ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ [รวมทั้งพระวิญญาณบริสุทธิ์] แก่ผู้ที่ถ่อมใจ.” (ยาโกโบ 4:6, ล.ม.) ฉะนั้น หากคุณมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมความเชื่อ จงทูลขอพระยะโฮวาให้ช่วยคุณถ่อมใจยอมรับว่าคุณมีส่วนผิดอยู่บ้างไม่มากก็น้อย. และเมื่อมีใครทำให้คุณขุ่นเคืองและเขามากล่าวขอโทษด้วยน้ำใสใจจริง จงถ่อมใจให้อภัยเขา. ถ้ารู้สึกยากที่จะทำตามที่กล่าวมานี้ จงทูลขอพระยะโฮวาให้ช่วยคุณขจัดความหยิ่งที่ยังอาจมีอยู่ในหัวใจของคุณ.
21 การรู้ถึงประโยชน์หลายประการที่เกิดจากความถ่อมใจควรจะกระตุ้นเราให้พัฒนาคุณลักษณะอันล้ำค่านี้และรักษาไว้. เพื่อจะทำได้เช่นนั้น พระยะโฮวาเจ้าและพระเยซูคริสต์ช่างเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับเรา! ขออย่าลืมคำรับรองของพระเจ้าที่กล่าวว่า “บำเหน็จแห่งการถ่อมใจลงและความยำเกรงพระยะโฮวาก็เป็นทางนำมาถึงทรัพย์สมบัติและเกียรติศักดิ์และชีวิต.”—สุภาษิต 22:4.
จุดต่าง ๆ สำหรับใคร่ครวญ
• ใครบ้างเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องความถ่อมใจ?
• ทำไมจึงยากที่จะพัฒนาความถ่อมใจ?
• อะไรจะช่วยเราให้ถ่อมใจ?
• ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะรักษาความถ่อมใจไว้?
[ภาพหน้า 26]
พระเยซูทรงถ่อมพระทัยอย่างแท้จริง
[ภาพหน้า 28]
โลกส่งเสริมให้ผู้คนพยายามเป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ
[ที่มาของภาพ]
WHO photo by L. Almasi/K. Hemzǒ
[ภาพหน้า 29]
ความถ่อมใจช่วยเราให้เข้าไปสนทนากับคนแปลกหน้าในงานเผยแพร่
[ภาพหน้า 30]
บ่อยครั้งความขัดแย้งแก้ได้ด้วยความรัก โดยที่เราถ่อมใจมองข้ามเรื่องที่เกิดขึ้น
[ภาพหน้า 31]
มีหลายทางที่คริสเตียนแสดงความถ่อมใจ