ผู้ถือความสว่าง—เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
“เราได้ตั้งเจ้าไว้เป็นดวงสว่างของนานาชาติ.”—กิจการ 13:47. ล.ม.
1. อัครสาวกเปาโลได้รับการชักนำอย่างไรโดยพระบัญชาซึ่งได้กล่าวถึงที่กิจการ 13:47?
“พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งเราด้วยถ้อยคำเหล่านี้ว่า ‘เราได้ตั้งเจ้าไว้เป็นดวงสว่างของนานาชาติ เพื่อเจ้าจะเป็นความรอดถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก’” อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้. (กิจการ 13:47, ล.ม.) เปาโลไม่เพียงแต่กล่าวเช่นว่าเท่านั้น แต่ท่านตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย. หลังจากเข้ามาเป็นคริสเตียน เปาโลอุทิศชีวิตให้กับการปฏิบัติตามพระบัญชานี้. (กิจการ 26:14-20) พวกเราได้รับพระบัญชานั้นด้วยไหม? ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระบัญชานั้นจึงสำคัญในสมัยของเรานี้?
เมื่อ ‘ดวงสว่างมืดไป’ สำหรับมนุษยชาติ
2. (ก) ขณะที่โลกย่างเข้าสู่สมัยอวสาน อะไรได้เกิดขึ้นซึ่งมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อบรรยากาศทางฝ่ายวิญญาณและทางศีลธรรม? (ข) นักการเมืองชาวอังกฤษคนหนึ่งมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เขาเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 1914?
2 ก่อนที่ผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ได้เกิดมา โลกนี้ได้ย่างเข้าสู่สมัยสุดท้าย. เหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน. ซาตานพญามาร ผู้ส่งเสริมความมืดทางฝ่ายวิญญาณและทางศีลธรรมตัวเอ้ ถูกโยนลงจากสวรรค์มาสู่โลก. (เอเฟโซ 6:12; วิวรณ์ 12:7-12) มนุษยชาติถูกทำให้กระโจนเข้าสู่สงครามโลกที่หนึ่งอยู่แล้ว. ต้นเดือนสิงหาคม 1914 เมื่อดูเหมือนว่าต้องเกิดสงครามแน่นอน เซอร์เอ็ดเวิร์ด เกรย์ เลขาธิการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ยืนริมหน้าต่างห้องทำงานในกรุงลอนดอนและกล่าวว่า “ดวงสว่างทั่วยุโรปกำลังจะดับ เราจะไม่เห็นดวงสว่างเหล่านั้นเปล่งแสงขึ้นอีกในชั่วชีวิตของเรา.”
3. พวกผู้นำของโลกประสบความสำเร็จอย่างไรในการพยายามจะทำให้อนาคตสำหรับมนุษยชาติแจ่มใสขึ้น?
3 ในความพยายามที่จะทำให้ดวงสว่างเหล่านั้นเปล่งแสงขึ้นอีก จึงได้มีการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นดำเนินการในปี 1920. แต่แสงก็ริบหรี่เหลือเกิน. ตอนที่สงครามโลกที่สองสิ้นสุด บรรดาผู้นำของโลกได้พยายามอีกครั้ง คราวนี้ด้วยการตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมา. อีกครั้งหนึ่งที่ดวงสว่างนั้นหาได้ฉายแสงเจิดจ้าขึ้นไม่. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ พวกผู้นำของโลกได้พูดกันถึงเรื่อง “ระเบียบใหม่สำหรับโลก.” กระนั้น เป็นการยากที่จะกล่าวว่า “ระเบียบใหม่” ใด ๆ ที่พวกเขาพูดถึงนั้นได้นำมาซึ่งสันติภาพและความปลอดภัยแท้. ตรงกันข้าม การต่อสู้ด้วยอาวุธ, การปะทะกันของชนกลุ่มน้อย, อาชญากรรม, การว่างงาน, ความยากจน, ภาวะมลพิษ, และโรคภัยไข้เจ็บล้วนแต่ทำให้ผู้คนสูญเสียความชื่นชมยินดีในชีวิต.
4, 5. (ก) ความมืดได้ลงมาเหนือครอบครัวมนุษย์เมื่อไรและอย่างไร? (ข) อะไรคือสิ่งจำเป็นเพื่อจัดเตรียมการบรรเทา?
4 อันที่จริง สำหรับมนุษยชาติแล้ว ดวงสว่างได้มืดไปนานก่อนปี 1914 เสียอีก. เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้วในสวนเอเดน เมื่อบิดามารดาคู่แรกของเราได้เลือกจะทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เอาเองโดยไม่คำนึงถึงพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่ได้แถลงไว้. ประสบการณ์อันน่าเศร้าสลดแห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์นับตั้งแต่นั้นมาก็เป็นเพียงช่วงต่าง ๆ ภายใต้สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงว่าเป็น “อำนาจแห่งความมืด.” (โกโลซาย 1:13) ภายใต้แรงชักจูงของซาตานพญามารนั่นเองที่อาดามมนุษย์คนแรกได้พาโลกกระโจนลงสู่ความบาป และจากอาดามนั่นเองที่ความบาปและความตายได้ลามไปถึงมนุษยชาติทั้งปวง. (เยเนซิศ 3:1-6; โรม 5:12) ด้วยเหตุนั้น มนุษยชาติจึงสูญเสียความโปรดปรานจากพระยะโฮวา บ่อเกิดแห่งแสงสว่างและชีวิต.—บทเพลงสรรเสริญ 36:9.
5 ทางเดียวที่ความสว่างจะถูกนำมาฉายแสงขึ้นอีกครั้งสำหรับมนุษยชาติคนใดก็ตามก็คือถ้าเขาได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้ายะโฮวา พระผู้สร้างมนุษยชาติ. ครั้นแล้ว “ยองใยแห่งความทุกข์ที่ทอดคลุมประชาชาติทั้งหลายไว้” คือการตัดสินลงโทษอันเนื่องมาจากบาป จะได้รับการเพิกถอน. สิ่งนี้จะมีทางเป็นไปได้อย่างไร?—ยะซายา 25:7.
พระองค์ผู้ถูกประทาน“ให้เป็นสว่างส่องแสงแก่ชาวต่างประเทศ”
6. พระยะโฮวาได้ทรงกระทำให้ความหวังอันยิ่งใหญ่อะไรเป็นไปได้สำหรับเราโดยทางพระเยซูคริสต์?
6 แม้แต่ก่อนที่อาดามกับฮาวาถูกขับออกจากสวนเอเดนเสียอีกที่พระยะโฮวาทรงตรัสล่วงหน้าถึง “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยให้รอดของผู้ที่รักความชอบธรรม. (เยเนซิศ 3:15) หลังการประสูติของพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ซิมโอนชายชรา ณ พระวิหารที่กรุงยะรูซาเลม ชี้ตัวพระองค์นั้นในฐานะเป็น “สว่างส่องแสง [เพื่อการเพิกถอนผ้าคลุม, ล.ม.] แก่ชาวต่างประเทศ.” (ลูกา 2:29-32) โดยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่แห่งชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระเยซู มนุษย์จึงอาจได้รับการปลดเปลื้องจากโทษอันเนื่องมาจากความบาปที่ได้รับแต่กำเนิด. (โยฮัน 3:36) ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา ขณะนี้พวกเขาจึงสามารถคอยท่าชีวิตนิรันดร์ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ว่าในฐานะเป็นส่วนแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์หรือในฐานะราษฎรแห่งราชอาณาจักรนั้นบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. ช่างเป็นการจัดเตรียมอันดีวิเศษอะไรเช่นนั้น!
7. ทำไมคำสัญญาที่ยะซายา 42:1-4 และความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญานี้ในศตวรรษแรกจึงทำให้เราเปี่ยมด้วยความหวัง?
7 พระเยซูคริสต์เองทรงเป็นหลักประกันความสำเร็จแห่งความหวังอันเยี่ยมยอดเหล่านี้. เกี่ยวเนื่องกับการที่พระเยซูทรงรักษาผู้คนที่ทนทุกข์ทรมานนั้น อัครสาวกมัดธายได้ใช้ข้อความที่จารึกไว้ในยะซายา 42:1-4 พาดพิงถึงพระองค์. ข้อพระคัมภีร์นั้นกล่าวว่า “จงดูผู้รับใช้ของเรา ผู้ซึ่งเราเชิดชู ผู้เลือกสรรของเรา ผู้ซึ่งใจเราปีติยินดี เราได้เอาวิญญาณของเราสวมทับท่านไว้แล้ว ท่านจะส่งความยุติธรรมออกไปให้แก่บรรดาประชาชาติ.” และสิ่งนี้มิใช่หรือที่ผู้คนทุกชาติปรารถนา? คำพยากรณ์นี้มีกล่าวต่อไปว่า “ท่านจะไม่ร้องหรือเปล่งเสียงของท่าน หรือกระทำให้ได้ยินในถนน ไม้อ้อช้ำแล้วท่านจะไม่หัก และไส้ตะเกียงที่ลุกริบหรี่อยู่ท่านจะไม่ดับ.” ประสานกับข้อนี้ พระเยซูหาได้ปฏิบัติอย่างเกรี้ยวกราดกับผู้คนซึ่งต้องทนทุกข์อยู่แล้วไม่. พระองค์ทรงแสดงความสงสารพวกเขา สอนเขาถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวา และรักษาเขาให้หายจากโรค.—มัดธาย 12:15-21.
8. พระยะโฮวาทรงประทานพระเยซูเป็น “คำสัญญาสำหรับมนุษย์” และเป็น “แสงสว่างแก่ประชาชาติ” ในแง่ไหน?
8 พระองค์ผู้ทรงประทานคำพยากรณ์ข้อนี้ทรงติดต่อกับพระเยซูผู้รับใช้ของพระองค์ และตรัสว่า “ด้วยความชอบธรรม เรา ยะโฮวา ได้เรียกท่านแล้ว และจะยึดมือท่านไว้ และจะป้องกันท่านไว้ และได้ตั้งท่านไว้เป็นเครื่องหมายแห่งคำสัญญาสำหรับมนุษย์ เป็นแสงสว่างแก่ประชาชาติ. ด้วยการเปิดตาคนตาบอด ด้วยการนำผู้ถูกจำจองให้ออกมาจากคุกมืด และผู้ที่นั่งอยู่ในที่มืดออกมาจากที่คุมขัง.” (ยะซายา 42:6, 7) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงประทานพระเยซูให้เป็นคำสัญญา เป็นหลักประกันคำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์. นั่นเป็นสิ่งที่หนุนกำลังใจจริง ๆ! พระเยซูทรงแสดงความห่วงใยอย่างแท้จริงต่อมนุษยชาติในคราวที่พระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ถึงกับสละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ. พระองค์นี้แหละคือผู้ที่พระยะโฮวาได้ทรงมอบอำนาจให้ปกครองเหนือประชาชาติทั้งสิ้น. จึงไม่มีข้อสงสัยเลยที่พระยะโฮวาทรงตรัสถึงพระองค์ในฐานะเป็น แสงสว่างแก่ประชาชาติ. พระเยซูเองตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก.”—โยฮัน 8:12.
9. ทำไมพระเยซูจึงไม่ทรงทุ่มเทพระองค์เองเพื่อแก้ไขระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้น?
9 พระเยซูทรงทำหน้าที่เป็นความสว่างของโลกด้วยวัตถุประสงค์อะไร? ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ทางโลกหรือด้านวัตถุอย่างแน่นอน. พระองค์ปฏิเสธจะปรับปรุงแก้ไขระบบการเมืองที่มีอยู่ในเวลานั้นและไม่ยอมรับเอาตำแหน่งกษัตริย์ ไม่ว่าจากซาตานผู้ครองโลกนี้ หรือจากประชาชน. (ลูกา 4:5-8; โยฮัน 6:15; 14:30) พระเยซูทรงแสดงความสงสารเห็นใจอย่างมากมายต่อคนเหล่านั้นที่ทนทุกข์และทรงนำการบรรเทาทุกข์มาให้เขาในแนวทางที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้. แต่พระองค์ทรงทราบว่าการปลดเปลื้องอย่างถาวรนั้นไม่อาจมีขึ้นได้ภายในโครงสร้างแห่งสังคมมนุษย์ซึ่งอยู่ภายใต้การปรับโทษจากพระเจ้าเนื่องจากความบาปที่มนุษย์มีแต่กำเนิดและซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของกองกำลังแห่งวิญญาณชั่วอันไม่ประจักษ์ด้วยตา. ด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจอย่างพระเจ้า พระเยซูทรงมุ่งชีวิตทั้งสิ้นของพระองค์ที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.—เฮ็บราย 10:7.
10. พระเยซูทรงทำหน้าที่เป็นความสว่างของโลกด้วยวิธีใดและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
10 ถ้าเช่นนั้น พระเยซูทรงรับใช้ในฐานะความสว่างของโลกในทางใดและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? พระองค์ทรงอุทิศพระองค์เองแก่การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (ลูกา 4:43; โยฮัน 18:37) โดยการเป็นพยานถึงความจริงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา พระเยซูยังได้ทรงยกย่องพระนามแห่งพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ ด้วย. (โยฮัน 17:4, 6) นอกจากนั้น ในฐานะความสว่างของโลก พระเยซูทรงเปิดโปงความเท็จทางศาสนา และด้วยเหตุนี้จึงทรงจัดให้มีเสรีภาพฝ่ายวิญญาณแก่คนที่ตกเป็นทาสทางศาสนา. พระองค์ทรงเปิดโปงซาตาน ว่าเป็นผู้ควบคุมอันไม่ประจักษ์ด้วยตาเหนือคนเหล่านั้นซึ่งยอมให้มันใช้เขา. พระเยซูยังได้ทรงระบุชัดแจ้งถึงการงานของความมืด ด้วย. (มัดธาย 15:3-9; โยฮัน 3:19-21; 8:44) ที่โดดเด่นอย่างยิ่งคือ พระองค์ทรงพิสูจน์ว่าทรงเป็นความสว่างของโลกโดยการสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่ จึงเปิดทางสำหรับผู้ที่แสดงความเชื่อในการจัดเตรียมนี้เพื่อจะได้รับการอภัยบาป มีสัมพันธภาพที่น่าพอใจกับพระเจ้า และมีความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ในฐานะเป็นส่วนของสากลครอบครัวของพระยะโฮวา. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16) และประการสุดท้าย โดยการคงไว้ซึ่งความเลื่อมใสในพระเจ้าอย่างครบถ้วนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระเยซูทรงเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและพิสูจน์ว่าพญามารเป็นตัวมุสา จึงเป็นการทำให้ผลประโยชน์ถาวรมีทางเป็นไปได้สำหรับผู้รักความชอบธรรม. แต่พระเยซูจะทรงเป็นผู้ถือความสว่างแต่เพียงผู้เดียวกระนั้นหรือ?
“ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก”
11. เหล่าสาวกของพระเยซูจำต้องทำอะไรเพื่อพวกเขาจะเป็นผู้ถือความสว่าง?
11 ที่มัดธาย 5:14 พระเยซูตรัสแก่สาวกของพระองค์ดังนี้: “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก.” พวกเขาต้องติดตามรอยพระบาทของพระองค์. ทั้งโดยการดำเนินชีวิตและโดยการประกาศสั่งสอน พวกเขาต้องนำคนอื่น ๆ เข้ามาหาพระยะโฮวาในฐานะที่ทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่างแท้. ในการเลียนแบบพระเยซู พวกเขาต้องทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักและเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระองค์. ดังที่พระเยซูทรงกระทำ พวกเขาต้องประกาศเช่นกันว่า ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นความหวังเพียงอย่างเดียวของมนุษยชาติ. นอกจากนั้น พวกเขาต้องเปิดโปงความเท็จทางศาสนา, การงานของความมืด, และตัวชั่วร้ายซึ่งอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น. เหล่าสาวกของพระเยซูต้องบอกประชาชนทุกหนทุกแห่งถึงการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวาโดยทางพระเยซูคริสต์เพื่อให้มีความรอด. คริสเตียนสมัยแรกได้ปฏิบัติงานมอบหมายนี้ด้วยความกระตือรือร้นเพียงไร โดยเริ่มต้นในกรุงยะรูซาเลมกับมณฑลยูดายก่อน และจากนั้นก็มุ่งเข้าสู่ซะมาเรีย ดังที่พระเยซูทรงบัญชาไว้!—กิจการ 1:8.
12. (ก) ความสว่างฝ่ายวิญญาณจะต้องส่องไปไกลถึงขนาดไหน? (ข) พระวิญญาณของพระยะโฮวากระทำให้เปาโลสามารถเข้าใจถึงสิ่งใดอันเกี่ยวกับยะซายา 42:6 และคำพยากรณ์ข้อนี้น่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตพวกเราอย่างไร?
12 อย่างไรก็ตาม การประกาศข่าวดีไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น. พระเยซูทรงบัญชาเหล่าสาวกของพระองค์ให้ “ออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศ ให้เป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19) ตอนที่เปาโลแห่งเมืองตาระโซเปลี่ยนเข้ามาเชื่อถือ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบ่งแน่ชัดว่าเซาโล (ผู้ซึ่งได้มาเป็นอัครสาวกเปาโล) จะประกาศไม่เพียงแต่กับชาวยิวเท่านั้น แต่กับคนต่างชาติด้วย. (กิจการ 9:15) ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เปาโลได้มาตระหนักถึงสิ่งที่เกี่ยวพันอยู่ด้วย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเข้าใจว่าคำพยากรณ์ที่ยะซายา 42:6 ซึ่งได้สำเร็จโดยตรงในพระเยซูคริสต์นั้น ยังเป็นพระบัญชาแก่ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระคริสต์ด้วย. ดังนั้น ที่กิจการ 13:47 (ล.ม.) เมื่อท่านยกข้อความจากยะซายา เปาโลจึงกล่าวว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งเราอย่างนี้ว่า ‘เราได้ตั้งเจ้าไว้ให้เป็นดวงสว่างของนานาชาติ เพื่อเจ้าจะเป็นความรอดถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.’” แล้วคุณล่ะจะว่าอย่างไร? คุณได้เอาใจใส่อย่างจริงจังต่อพันธะที่จะเป็นผู้ถือความสว่างไหม? เช่นเดียวกับพระเยซูและเปาโล คุณมุ่งชีวิตของคุณอยู่ที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าไหม?
แสงสว่างและความจริงจากพระเจ้าเพื่อนำทางเรา
13. ประสานกับบทเพลงสรรเสริญ 43:3 คำอธิษฐานอย่างจริงจังของเราคืออย่างไร และสิ่งนี้คุ้มครองเราไว้จากอะไร?
13 หากเราพยายามจะ ‘นำความสว่างกลับมา’ โดยวิธีการต่าง ๆ ของเราเอง เพื่อทำให้อนาคตสำหรับมนุษยชาติสดใส เราคงพลาดไปอย่างมากจากจุดสำคัญแห่งพระคำที่ได้รับการดลบันดาลของพระเจ้า. แต่ไม่ว่าโลกโดยทั่วไปทำอะไรก็ตาม คริสเตียนแท้หมายพึ่งพระยะโฮวาในฐานะเป็นแหล่งที่แท้จริงแห่งความสว่าง. คำอธิษฐานของเขาเป็นดังที่มีบันทึกไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 43:3 ซึ่งกล่าวว่า “ขอพระองค์ทรงใช้แสงสว่างและความสัตย์ซื่อของพระองค์ให้นำหน้าข้าพเจ้า ให้นำไปยังภูเขาอันบริสุทธิ์ของพระองค์ และไปถึงพลับพลาของพระองค์.”
14, 15. (ก) พระยะโฮวาทรงส่องความสว่างและความจริงของพระองค์ออกมาในขณะนี้อย่างไร? (ข) เราสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าความสว่างและความจริงของพระเจ้านำทางเราจริง ๆ?
14 พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานเช่นนั้นของเหล่าผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์เรื่อยมา. พระองค์ทรงส่องแสงออกไปโดยการแถลงพระประสงค์ของพระองค์ โดยทรงทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์เข้าใจพระประสงค์นั้น และแล้วก็โดยการกระทำให้สิ่งที่พระองค์ได้ทรงแถลงนั้นบรรลุผลสำเร็จ. เมื่อเราทูลอธิษฐานต่อพระเจ้า จึงไม่ใช่เป็นเพียงพิธีการซึ่งทำไปเพียงเพื่อให้ดูเหมือนเป็นคนเคร่งธรรมะ. ความปรารถนาอันแรงกล้าของเราคือ ให้แสงสว่างที่มาจากพระยะโฮวานำทางเรา ดังที่บทเพลงสรรเสริญกล่าวนั้น. เรายอมรับเอาความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับการได้รับแสงสว่างที่พระเจ้าทรงประทานให้. เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล เราเข้าใจว่าความสำเร็จเป็นจริงแห่งพระคำของพระยะโฮวามาพร้อมกับพระบัญชาที่แฝงอยู่ซึ่งมีแก่ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบัญชานั้น. เรารู้สึกเป็นหนี้คนอื่น ๆ จนกว่าเราได้ให้ข่าวดีแก่เขาซึ่งพระเจ้าได้ทรงมอบไว้กับเราเพื่อจุดประสงค์นั้น.—โรม 1:14, 15.
15 แสงสว่างและความจริงที่พระยะโฮวาทรงส่องออกไปในสมัยของเรานี้ทำให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าพระเยซูคริสต์กำลังปกครองอยู่จากพระที่นั่งทางภาคสวรรค์. (บทเพลงสรรเสริญ 2:6-8; วิวรณ์ 11:15) พระเยซูตรัสไว้ล่วงหน้าว่าในระหว่างประทับฐานะกษัตริย์ของพระองค์ ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่เพื่อเป็นพยาน. (มัดธาย 24:3, 14) งานนี้กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ทั่วโลก และอย่างขมีขมัน. หากเรากำลังทำให้งานนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราละก็ แสงสว่างและความจริงของพระเจ้าก็กำลังนำทางเราอยู่ ดังที่ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวไว้.
สง่าราศีของพระยะโฮวาฉายออกไป
16, 17. พระยะโฮวาทรงกระทำให้สง่าราศีของพระองค์ส่องลงมาบนองค์การที่เปรียบเสมือนผู้หญิงของพระองค์อย่างไรในปี 1914 และพระองค์ทรงประทานพระบัญชาอะไรแก่เธอ?
16 ด้วยคำพูดที่เร้าใจ พระคัมภีร์พรรณนาถึงวิธีการซึ่งแสงสว่างของพระเจ้ากำลังกระจายออกไปถึงผู้คนทั่วทุกแห่ง. ยะซายา 60:1-3 ซึ่งกล่าวถึง “ผู้หญิง” ของพระยะโฮวา หรือองค์การของพระองค์ทางฝ่ายสวรรค์ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้รับใช้ที่ภักดีนั้นบอกว่า “ลุกขึ้นเถอะ จงส่องแสง เพราะว่าแสงสว่างของเจ้ามาแล้ว และสง่าราศีของพระยะโฮวาได้ลงมาจับอยู่บนเจ้าแล้ว. ด้วยว่าดูเถอะ ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้ แต่ส่วนเจ้า พระยะโฮวาจะส่องแสงให้ และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า. ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า และกษัตริย์ทั้งหลายจะดำเนินตามแสงสว่างอันจ้าของเจ้า.”
17 สง่าราศีของพระยะโฮวาส่องเหนือองค์การทางภาคสวรรค์ซึ่งเปรียบเสมือนผู้หญิงของพระองค์ในปี 1914 เมื่อเธอได้ให้กำเนิดราชอาณาจักรมาซีฮา หลังจากที่รอคอยเป็นเวลานาน โดยมีพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์. (วิวรณ์ 12:1-5) แสงสว่างแห่งสง่าราศีของพระยะโฮวาส่องมาพร้อมกับความโปรดปรานลงเหนือรัฐบาลนั้นในฐานะเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมสำหรับทั้งโลก.
18. (ก) ทำไมความมืดจึงปกคลุมแผ่นดินโลกดังที่บอกไว้ล่วงหน้าที่ยะซายา 60:2? (ข) ปัจเจกบุคคลจะสามารถได้รับการช่วยให้พ้นจากความมืดของแผ่นดินโลกได้อย่างไร?
18 ในทางกลับกัน ความมืดปกคลุมแผ่นดินโลกและทำให้ประเทศต่าง ๆ ตกอยู่ในความมืดทึบ. เพราะเหตุใด? ก็เพราะว่านานาชาติปฏิเสธรัฐบาลแห่งพระบุตรที่รักของพระเจ้าโดยสนับสนุนการปกครองของมนุษย์. พวกเขาคิดว่าโดยการกำจัดการปกครองรูปแบบหนึ่งแห่งการปกครองโดยมนุษย์ออกไปแล้วก็จัดตั้งการปกครองอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา เขาก็จะแก้ปัญหาของเขาได้. แต่การทำเช่นนั้นไม่ได้นำมาซึ่งการบรรเทาทุกข์ที่พวกเขาคาดหวัง. พวกเขาพลาดไปไม่ได้มองเห็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังซึ่งกำลังควบคุมนานาชาติจากแดนวิญญาณ. (2 โกรินโธ 4:4) พวกเขาปฏิเสธแหล่งที่แท้จริงแห่งความสว่างและจึงตกอยู่ในความมืด. (เอเฟโซ 6:12) แต่ไม่ว่านานาชาติจะทำอะไร ปัจเจกบุคคลก็สามารถได้รับการช่วยให้พ้นจากความมืดนั้นได้. โดยวิธีใด? ก็โดยการมีความเชื่อเต็มเปี่ยมในราชอาณาจักรของพระเจ้าและสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรนั้น.
19, 20. (ก) เพราะเหตุใดและโดยวิธีใดที่สง่าราศีของพระยะโฮวาส่องลงมาเหนือสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซู? (ข) พระยะโฮวาทรงกระทำให้เหล่าผู้ถูกเจิมของพระองค์เป็นผู้ถือความสว่างเนื่องด้วยเหตุผลอะไร? (ค) ดังมีบอกไว้ล่วงหน้า บรรดา “กษัตริย์” และ “นานาประเทศ” ถูกชักนำเข้ามาสู่ความสว่างที่พระเจ้าทรงประทานนั้นอย่างไร?
19 คริสต์ศาสนจักรไม่มีความเชื่อในราชอาณาจักรของพระเจ้าและไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรนั้น. แต่เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูคริสต์ไม่เป็นเช่นนั้น. เนื่องด้วยเหตุนั้น แสงสว่างแห่งความโปรดปรานแห่งพระยะโฮวาจึงส่องลงมาเหนือบรรดาตัวแทนอันประจักษ์ด้วยตาแห่งผู้หญิงทางภาคสวรรค์ของพระองค์ และสง่าราศีของพระองค์ก็ปรากฏเหนือพวกเขา. (ยะซายา 60:19-21) พวกเขาชื่นชมกับแสงสว่างฝ่ายวิญญาณซึ่งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจของโลกไม่สามารถชิงเอาได้. พวกเขาได้ประสบกับการที่พระยะโฮวาทรงช่วยให้รอดพ้นจากบาบูโลนใหญ่. (วิวรณ์ 18:4) พวกเขาชื่นชมกับความพอพระทัยจากพระองค์เนื่องจากเขายอมรับเอาการตีสอนจากพระองค์และได้ยืนหยัดสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ด้วยความภักดี. พวกเขามีความหวังอันสดใสสำหรับอนาคต และพวกเขาปีติยินดีในความหวังที่พระองค์ทรงวางไว้ต่อหน้าเขา.
20 แต่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับพวกเขาด้วยวิธีนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ดังที่พระองค์เองได้ตรัสไว้ที่ยะซายา 60:21, (ล.ม.) การเป็นไปเช่นนั้นเพื่อ “เป็นความงดงามแก่ตัวเรา” เพื่อพระนามของพระองค์จะเป็นที่นับถือยกย่องและคนอื่น ๆ จะถูกชักนำเข้ามาหาพระองค์ในฐานะพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว—และนั่นก็เพื่อผลประโยชน์ถาวรแก่พวกเขาเอง. สอดคล้องกับสิ่งนี้ ผู้นมัสการแท้เหล่านี้แห่งพระเจ้าเที่ยงแท้ได้รับเอาชื่อพยานพระยะโฮวาในปี 1931. เนื่องด้วยการให้คำพยานของพวกเขา “กษัตริย์ทั้งหลาย” จึงถูกพามาสู่แสงสว่างที่พวกเขาส่องออกไป ดังที่ยะซายาบอกไว้ล่วงหน้า. ถูกแล้ว! ไม่ใช่พวกผู้ปกครองทางการเมืองของโลก แต่เป็นชนที่เหลืออยู่แห่งคนเหล่านั้นซึ่งจะปกครองในฐานะกษัตริย์ร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. (วิวรณ์ 1:5, 6; 21:24) และจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับ “นานาประเทศ”? พวกเขาถูกดึงดูดเข้ามาหาแสงสว่างนี้ไหม? แน่นอน! ไม่มีชาติทางการเมืองใด ๆ ถูกดึงดูดเข้ามา แต่ชนฝูงใหญ่จากนานาประเทศได้เลือกยืนอยู่ฝ่ายราชอาณาจักรของพระเจ้า และเขาคาดหมายการช่วยให้รอดเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้าด้วยใจเร่าร้อน. นั่นจะเป็นโลกใหม่อย่างแท้จริงซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ทั่วไป.—2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 7:9, 10.
21. เราจะสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราไม่ได้พลาดไปจากพระประสงค์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาในการที่ทรงประทานให้เราเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระองค์?
21 คุณเป็นคนหนึ่งไหมแห่งฝูงชนผู้ถือความสว่างซึ่งกำลังทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ? พระยะโฮวาทรงประทานความเข้าใจแก่พวกเราในเรื่องพระทัยประสงค์ของพระองค์เพื่อว่าเราจะสามารถเป็นผู้ถือความสว่างได้เช่นเดียวกับพระเยซู. โดยแสดงความกระตือรือร้นในงานซึ่งพระยะโฮวาทรงมอบหมายแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยของเรานี้ ขอให้เราทุกคนแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้พลาดไปจากจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับซึ่งพระเจ้าทรงประทานแก่เรา. (2 โกรินโธ 6:1, 2) ไม่มีงานใดที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่านี้ในสมัยของเรา. และเราไม่สามารถมีสิทธิพิเศษใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาโดยการสะท้อนแสงสว่างแห่งสง่าราศีที่มาจากพระองค์ออกไปสู่คนอื่น ๆ.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อะไรคือมูลเหตุของปัญหาอันน่าเศร้าของมนุษยชาติ?
▫ พระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์เป็น “ความสว่างของโลก” ด้วยวิธีใด?
▫ ความสว่างและความจริงของพระยะโฮวานำทางเราอย่างไร?
▫ พระยะโฮวาทรงกระทำให้สง่าราศีของพระองค์ส่องลงมาเหนือองค์การของพระองค์อย่างไร?
▫ พระยะโฮวาทรงกระทำให้ไพร่พลของพระองค์เป็นผู้ถือความสว่างด้วยวัตถุประสงค์อะไร?
[รูปภาพหน้า 9]
เหตุการณ์ในสวนเอเดนช่วยเราให้เข้าใจถึงปัญหาอันน่าเศร้าใจของมนุษยชาติในทุกวันนี้
[ที่มาของภาพ]
Tom Haley/Sipa
Paringaux/Sipa