บท 43
เมืองอันรุ่งโรจน์
นิมิต 16—วิวรณ์ 21:9–22:5
เรื่อง: การพรรณนาเยรูซาเลมใหม่
เวลาที่สำเร็จเป็นจริง: ภายหลังความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่และการขังซาตานไว้ในขุมลึก
1, 2. (ก) ทูตสวรรค์พาโยฮันไปที่ไหนเพื่อจะเห็นเยรูซาเลมใหม่ และเราสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรในที่นี้? (ข) เพราะเหตุใดนี่จึงเป็นจุดสุดยอดอันสง่างามของพระธรรมวิวรณ์?
ทูตสวรรค์องค์หนึ่งเคยพาโยฮันเข้าไปในป่ากันดารเพื่อแสดงให้ท่านเห็นบาบิโลนใหญ่. ตอนนี้ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งจากทูตสวรรค์กลุ่มเดียวกันพาโยฮันขึ้นไปยังภูเขาสูงตระหง่าน. ท่านเห็นสิ่งที่แตกต่างไปอย่างลิบลับ! ที่นี่ไม่ใช่เมืองที่โสโครก ผิดศีลธรรมอย่างหญิงแพศยาแห่งบาบิโลน แต่เป็นเยรูซาเลมใหม่ สะอาด เป็นฝ่ายวิญญาณ บริสุทธิ์ กำลังลอยลงมาจากสวรรค์.—วิวรณ์ 17:1, 5.
2 แม้แต่เยรูซาเลมทางภาคแผ่นดินโลกก็ไม่เคยมีสง่าราศีเช่นนี้. โยฮันบอกเราว่า “แล้วทูตสวรรค์องค์หนึ่งในเจ็ดองค์ที่มีขันเจ็ดใบซึ่งเต็มไปด้วยภัยพิบัติเจ็ดอย่างสุดท้ายนั้นมาพูดกับข้าพเจ้าว่า ‘มานี่เถิด ข้าพเจ้าจะให้ท่านเห็นเจ้าสาวซึ่งจะเป็นพระมเหสีของพระเมษโปดก.’ แล้วท่านก็พาข้าพเจ้าไปยังภูเขาใหญ่ที่สูงตระหง่านด้วยฤทธิ์ของพระวิญญาณและให้ข้าพเจ้าได้เห็นเยรูซาเลมเมืองบริสุทธิ์ลงมาจากพระเจ้าผู้สถิตในสวรรค์ เป็นเมืองที่รุ่งโรจน์ด้วยรัศมีของพระเจ้า.” (วิวรณ์ 21:9-11ก, ล.ม.) จากจุดที่สามารถมองเห็นได้กว้างไกลของภูเขาสูงตระหง่านลูกนั้น โยฮันสำรวจเมืองงดงามนั้นอย่างละเอียดลออ. เหล่าผู้มีความเชื่อตั้งตาคอยการมาของเมืองนี้นับตั้งแต่มนุษยชาติตกเข้าสู่บาปและความตาย. ในที่สุดเมืองนั้นก็อยู่ที่นี่! (โรม 8:19; 1 โกรินโธ 15:22, 23; เฮ็บราย 11:39, 40) เป็นเมืองฝ่ายวิญญาณอันสง่างาม ประกอบด้วยผู้รักษาความซื่อสัตย์ภักดีอย่างมั่นคง 144,000 คน รุ่งโรจน์ด้วยความบริสุทธิ์และสะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวา. นี่คือจุดสุดยอดอันยิ่งใหญ่ของพระธรรมวิวรณ์!
3. โยฮันพรรณนาความงดงามของเยรูซาเลมใหม่อย่างไร?
3 เยรูซาเลมใหม่เป็นเมืองที่น่าตื่นตะลึงในด้านความงาม: “ความรุ่งโรจน์ของเมืองนี้ดุจอัญมณีล้ำค่า เหมือนแจสเพอร์ที่ส่องแสงสุกใสดังผลึก. เมืองนี้มีกำแพงใหญ่ที่สูงตระหง่านและมีประตูสิบสองประตู ที่ประตูมีทูตสวรรค์สิบสององค์ประจำอยู่ประตูละองค์และมีชื่อของสิบสองตระกูลแห่งบุตรอิสราเอลจารึกอยู่ประตูละชื่อ. มีประตูอยู่ด้านตะวันออกสามประตู ด้านเหนือสามประตู ด้านใต้สามประตู และด้านตะวันตกสามประตู. ที่กำแพงเมืองนี้ยังมีศิลาฐานรากสิบสองก้อนด้วย และบนศิลาเหล่านั้นมีชื่ออัครสาวกสิบสองคนของพระเมษโปดกอยู่ก้อนละชื่อ.” (วิวรณ์ 21:11ข-14, ล.ม.) ช่างเหมาะเจาะที่ความประทับใจแรกที่โยฮันบันทึกไว้นั้นคือความรุ่งโรจน์บรรเจิด! เยรูซาเลมใหม่ ซึ่งงามสดใสดังเจ้าสาวใหม่ จึงเป็นคู่ครองที่เหมาะสมสำหรับพระคริสต์. เมืองนี้สว่างไสวอย่างแท้จริง ซึ่งเหมาะกับสิ่งทรงสร้างอย่างหนึ่งของ “พระบิดาแห่งดวงสว่างทั้งหลายแห่งฟ้าสวรรค์.”—ยาโกโบ 1:17, ล.ม.
4. อะไรแสดงว่า เยรูซาเลมใหม่ไม่ใช่ชาติอิสราเอลโดยสายเลือด?
4 ที่ประตูเมืองทั้ง 12 บาน มีชื่อของ 12 ตระกูลแห่งอิสราเอลจารึกไว้. ฉะนั้น นครโดยนัยนี้จึงประกอบด้วยชน 144,000 คนซึ่งถูกประทับตรา “จากทุกตระกูลแห่งเหล่าบุตรของอิสราเอล.” (วิวรณ์ 7:4-8, ล.ม.) สอดคล้องกับเรื่องนี้ หินฐานรากจึงมีชื่อของอัครสาวก 12 คนของพระเมษโปดกอยู่. ใช่แล้ว เยรูซาเลมใหม่ไม่ใช่ชาติอิสราเอลโดยสายเลือดที่ก่อตั้งบนรากของบุตรชาย 12 คนของยาโคบ แต่เป็นอิสราเอลฝ่ายวิญญาณที่ก่อตั้งบนรากของ “พวกอัครสาวกและพวกศาสดาพยากรณ์.”—เอเฟโซ 2:20.
5. “กำแพงใหญ่ที่สูงตระหง่าน” ของเยรูซาเลมใหม่มีความหมายแสดงถึงอะไรและข้อเท็จจริงที่ว่า เหล่าทูตสวรรค์ถูกตั้งไว้ตรงทางเข้าทุกแห่งนั้นมีความหมายแสดงถึงอะไร?
5 เมืองโดยนัยนี้มีกำแพงขนาดใหญ่. ในสมัยโบราณ กำแพงเมืองถูกสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยกันไม่ให้ศัตรูเข้ามา. “กำแพงใหญ่ที่สูงตระหง่าน” ของเยรูซาเลมใหม่แสดงว่า เมืองนี้มีความปลอดภัยทางฝ่ายวิญญาณ. ศัตรูของความชอบธรรม คนที่มีมลทินหรือไม่ซื่อสัตย์ จะไม่มีวันเข้าไปได้. (วิวรณ์ 21:27) แต่สำหรับคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้า การเข้าไปในเมืองอันงดงามนี้เสมือนการเข้าในอุทยาน. (วิวรณ์ 2:7) หลังจากที่อาดามถูกขับไล่ พระเจ้าทรงตั้งคะรูบไว้ข้างหน้าอุทยานแรกเดิมเพื่อกันไม่ให้มนุษย์ที่มีมลทินเข้าไป. (เยเนซิศ 3:24) ทำนองเดียวกัน มีทูตสวรรค์ถูกตั้งไว้ตรงทางเข้าทุกแห่งของเยรูซาเลมเมืองบริสุทธิ์เพื่อทำให้แน่ใจในความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณของเมืองนี้. แท้จริงแล้ว ตลอดสมัยสุดท้ายนี้ เหล่าทูตสวรรค์ปกป้องประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งกลายมาเป็นเยรูซาเลมใหม่ให้พ้นจากการแปดเปื้อนแบบบาบิโลน.—มัดธาย 13:41.
การวัดเมืองนั้น
6. (ก) โยฮันพรรณนาการวัดกรุงอย่างไร และการวัดนี้แสดงถึงอะไร? (ข) อะไรอาจอธิบายว่า มาตราวัดที่ใช้นั้นเป็น “ตามมาตราวัดของมนุษย์ซึ่งเป็นมาตราวัดของทูตสวรรค์ด้วย”? (ดูเชิงอรรถ.)
6 โยฮันดำเนินเรื่องต่อดังนี้: “ผู้ที่พูดกับข้าพเจ้าอยู่นั้นถือไม้อ้อทองคำเป็นเครื่องวัด เพื่อจะวัดตัวเมือง ประตูเมือง และกำแพงเมืองนี้. เมืองนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คือมีความยาวเท่ากับความกว้าง. ท่านวัดเมืองนี้ด้วยไม้อ้อนั้นได้หนึ่งหมื่นสองพันสตาดิอน เมืองนี้มีความยาว ความกว้าง และความสูงเท่ากัน. ท่านวัดกำแพงเมืองนี้ได้หนึ่งร้อยสี่สิบสี่ศอกตามมาตราวัดของมนุษย์ซึ่งเป็นมาตราวัดของทูตสวรรค์ด้วย.” (วิวรณ์ 21:15-17, ล.ม.) คราวที่มีการวัดสถานศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร นั่นเป็นการรับประกันความสำเร็จเป็นจริงตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาอันเกี่ยวกับพระวิหารนี้. (วิวรณ์ 11:1) ในคราวนี้ การที่ทูตสวรรค์วัดเยรูซาเลมใหม่ย่อมแสดงว่า พระประสงค์ของพระยะโฮวานั้นไม่แปรเปลี่ยนจริง ๆ เกี่ยวกับเมืองอันรุ่งโรจน์นี้.a
7. อะไรเป็นสิ่งน่าทึ่งเกี่ยวกับการวัดกรุงนี้?
7 ช่างเป็นเมืองที่น่าทึ่งอะไรเช่นนี้! เป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่สมบูรณ์ วัดได้โดยรอบ 12,000 สตาดิอน (ประมาณ 2,200 กิโลเมตร) ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง 144 ศอก หรือ 210 ฟุต. ไม่มีเมืองตามตัวอักษรเมืองใดจะมีขนาดเท่านี้. เมืองนี้จะครอบคลุมอาณาบริเวณเป็น 14 เท่าของประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน และจะตั้งตระหง่านสูงขึ้นไปเกือบ 560 กิโลเมตรในชั้นอวกาศทีเดียว! พระธรรมวิวรณ์ถูกประทานในรูปสัญลักษณ์. ฉะนั้น ขนาดต่าง ๆ เหล่านี้บอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่ฝ่ายสวรรค์?
8. สิ่งต่อไปนี้บ่งชี้ถึงอะไร (ก) กำแพงเมืองสูง 144 ศอก? (ข) เมืองซึ่งมีขนาด 12,000 สตาดิอนทุกด้าน? (ค) การที่เมืองนี้มีรูปทรงเป็นรูปลูกบาศก์สมบูรณ์แบบ?
8 กำแพงซึ่งสูง 144 ศอกทำให้เรานึกถึงว่า เมืองนั้นประกอบด้วยบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า 144,000 คน. ส่วนตัวเลข 12 ซึ่งปรากฏในขนาดของเมืองที่วัดได้ 12,000 สตาดิอน โดยมีความยาว, ความกว้าง, และความสูงเท่ากันนั้น เป็นการใช้ในความหมายเป็นนัยในเรื่องการจัดเตรียมต่าง ๆ ในองค์การที่พยากรณ์ไว้ในพระคัมภีร์. ดังนั้น เยรูซาเลมใหม่จึงเป็นการจัดเตรียมทางองค์การซึ่งได้รับการออกแบบอย่างยอดเยี่ยมเพื่อให้พระประสงค์ถาวรของพระเจ้าลุล่วง. เยรูซาเลมใหม่ พร้อมด้วยพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์เป็นองค์การราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. แล้วก็มีรูปทรงของเมืองนั้นคือเป็นรูปลูกบาศก์สมบูรณ์แบบ. ในวิหารของซะโลโม ส่วนที่บริสุทธิ์ที่สุดซึ่งบรรจุสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนการประทับของพระยะโฮวาเคยเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สมบูรณ์แบบ. (1 พงศาวดารกษัตริย์ 6:19, 20) ฉะนั้น จึงเหมาะเจาะที่เห็นเยรูซาเลมใหม่ซึ่งสว่างด้วยพระรัศมีของพระยะโฮวาเองนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สมบูรณ์แบบขนาดใหญ่! ขนาดของเมืองนั้นทั้งหมดมีความสมดุลทุกประการ. เป็นเมืองที่ปราศจากสิ่งที่ไม่เป็นระเบียบหรือสิ่งด่างพร้อย.—วิวรณ์ 21:22.
วัสดุก่อสร้างอันสูงค่า
9. โยฮันพรรณนาถึงวัสดุก่อสร้างเมืองนี้ว่าอย่างไร?
9 โยฮันพรรณนาต่อไปว่า “กำแพงเมืองนี้ก่อด้วยแจสเพอร์และตัวเมืองเป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแก้วใส. ฐานรากกำแพงเมืองนี้ประกอบด้วยอัญมณีทุกชนิด ฐานที่หนึ่งเป็นแจสเพอร์ ฐานที่สองเป็นแซปไฟร์ ฐานที่สามเป็นคาลซิโดนี ฐานที่สี่เป็นมรกต ฐานที่ห้าเป็นซาร์โดนิกซ์ ฐานที่หกเป็นซาร์ด ฐานที่เจ็ดเป็นเพริดอต ฐานที่แปดเป็นเบริล ฐานที่เก้าเป็นโทแพซ ฐานที่สิบเป็นคริโซเพรส ฐานที่สิบเอ็ดเป็นไฮยาซินท์ ฐานที่สิบสองเป็นแอเมทิสต์. ประตูสิบสองประตูนั้นเป็นไข่มุกสิบสองเม็ด แต่ละประตูทำด้วยไข่มุกหนึ่งเม็ด. ถนนใหญ่ของเมืองนี้เป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแก้วใส.”—วิวรณ์ 21:18-21, ล.ม.
10. ข้อเท็จจริงที่ว่า เมืองนี้ถูกสร้างด้วยแจสเพอร์, ทองคำ, และ “อัญมณีทุกชนิด” แสดงถึงอะไร?
10 การก่อสร้างของเมืองนี้งามรุ่งโรจน์จริง ๆ. แทนที่จะใช้วัสดุก่อสร้างธรรมดา ๆ อย่างที่ใช้กันบนแผ่นดินโลกเช่นดินเหนียวหรือหิน เรากลับอ่านว่าเป็นแจสเพอร์, ทองคำบริสุทธิ์ และ “อัญมณีทุกชนิด.” สิ่งมีค่าเหล่านี้แสดงภาพวัสดุก่อสร้างในสวรรค์อย่างเหมาะสมจริง ๆ! ไม่มีอะไรจะงดงามไปกว่านี้อีกแล้ว. หีบสัญญาไมตรีโบราณก็หุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ และในคัมภีร์ไบเบิล ทองคำมักใช้แทนสิ่งที่ดีและมีค่า. (เอ็กโซโด 25:11; สุภาษิต 25:11; ยะซายา 60:6, 17) แต่เยรูซาเลมใหม่ทุกส่วน และแม้แต่ถนนใหญ่ของเมืองยังสร้างด้วย “ทองคำบริสุทธิ์เหมือนแก้วใส” ซึ่งแสดงถึงความงดงามและคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเกินจินตนาการเลยทีเดียว.
11. อะไรรับรองว่า เหล่าผู้ที่ประกอบเป็นเยรูซาเลมใหม่นั้นจะแวววาวด้วยความบริสุทธิ์ล้ำเลิศฝ่ายวิญญาณ?
11 ไม่มีช่างถลุงแร่คนใดที่เป็นมนุษย์จะสามารถถลุงให้ได้ทองที่บริสุทธิ์ขนาดนั้น. แต่พระยะโฮวาทรงเป็นช่างถลุงองค์ยิ่งใหญ่. พระองค์ประทับ “เหมือนช่างหลอมช่างถลุงเงิน” และพระองค์ทรงถลุงสมาชิกผู้ซื่อสัตย์แห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณเป็นรายบุคคล “ดุจดังถลุงทองและเงิน” เพื่อไล่ขี้แร่ออกให้หมด. เฉพาะปัจเจกบุคคลที่ถูกถลุงและชำระจนปราศจากมลทินอย่างแท้จริงแล้วเท่านั้นจึงจะประกอบกันเป็นเยรูซาเลมใหม่ได้ในที่สุด และโดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงสร้างเมืองนั้นด้วยวัสดุก่อสร้างมีชีวิตที่แวววาวด้วยความบริสุทธิ์ล้ำเลิศฝ่ายวิญญาณ.—มาลาคี 3:3, 4.
12. ข้อเท็จจริงเหล่านี้หมายถึงอะไร (ก) ฐานรากของเมืองประดับด้วยอัญมณี 12 ชนิด? (ข) ประตูเมืองเป็นไข่มุก?
12 แม้ฐานรากของเมืองก็งดงาม ประดับด้วยอัญมณี 12 ชนิด. สิ่งนี้ทำให้เราระลึกถึงมหาปุโรหิตชาวยิวสมัยโบราณในวันที่มีพิธีกรรมซึ่งสวมเอโฟดที่มีอัญมณี 12 ชนิดฝังอยู่ ซึ่งมีส่วนคล้ายกับอัญมณีที่พรรณนาในที่นี้อยู่บ้าง. (เอ็กโซโด 28:15-21) แน่นอน นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ! แต่เป็นการเน้นถึงหน้าที่ปุโรหิตของเยรูซาเลมใหม่ ซึ่งพระเยซูมหาปุโรหิตองค์ยิ่งใหญ่ทรงเป็น “ตะเกียง.” (วิวรณ์ 20:6; 21:23; เฮ็บราย 8:1) นอกจากนั้น คุณประโยชน์แห่งงานรับใช้ในฐานะมหาปุโรหิตของพระเยซูจะถูกนำไปถึงมนุษยชาติก็โดยทางเยรูซาเลมใหม่นี่เอง. (วิวรณ์ 22:1, 2) ประตูเมืองทั้ง 12 บาน ที่แต่ละบานเป็นไข่มุกอันงดงามยิ่งนั้น ทำให้เรานึกถึงอุปมาของพระเยซูที่เปรียบราชอาณาจักรเหมือนไข่มุกล้ำค่า. ทุกคนที่ผ่านเข้าประตูเหล่านั้นจะได้สำแดงความหยั่งรู้ค่าแท้ต่อคุณค่าของสิ่งฝ่ายวิญญาณมาแล้ว.—มัดธาย 13:45, 46, ล.ม.; เทียบกับโยบ 28:12, 17, 18.
เมืองแห่งแสงสว่าง
13. โยฮันกล่าวต่อไปอย่างไรเกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่ และเพราะเหตุใดเมืองนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีพระวิหารตามตัวอักษร?
13 ในสมัยของซะโลโม ที่ตั้งตระหง่านเหนือกรุงเยรูซาเลมคือพระวิหารซึ่งสร้างในที่สูงที่สุดของกรุงนั้นบนภูเขาโมรียาห์ทางทิศเหนือ. แล้วเยรูซาเลมใหม่ล่ะเป็นอย่างไร? โยฮันบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นพระวิหารในเมืองนี้ เพราะพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงเป็นพระวิหารของเมืองนี้ พระเมษโปดกก็เช่นกัน. เมืองนี้ไม่จำเป็นต้องมีดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ส่องสว่าง เพราะรัศมีของพระเจ้าทำให้เมืองนี้สว่างและตะเกียงของเมืองนี้คือพระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 21:22, 23, ล.ม.) จริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างพระวิหารตามตัวอักษรขึ้นที่นี่. พระวิหารของชาวยิวในสมัยโบราณเป็นเพียงแบบอย่าง และตัวจริงที่แบบอย่างนั้นแสดงถึง ก็คือพระวิหารฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ มีอยู่ตั้งแต่พระยะโฮวาทรงเจิมพระเยซูเป็นมหาปุโรหิตในปีสากลศักราช 29. (มัดธาย 3:16, 17; เฮ็บราย 9:11, 12, 23, 24) พระวิหารยังต้องมีชนจำพวกปุโรหิตที่ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาแทนประชาชน. แต่ผู้ที่ประกอบกันเป็นเยรูซาเลมใหม่ล้วนแต่เป็นปุโรหิต. (วิวรณ์ 20:6) และเครื่องบูชาที่ยิ่งใหญ่ อันได้แก่ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระเยซูก็ถูกถวายครั้งเดียวสำหรับตลอดกาล. (เฮ็บราย 9:27, 28) ยิ่งกว่านั้น ทุกคนที่อาศัยในเมืองนั้นก็เข้าเฝ้าพระยะโฮวาได้เป็นการส่วนตัว.
14. (ก) ทำไมเยรูซาเลมใหม่จึงไม่จำเป็นต้องมีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ส่องแสงให้? (ข) คำพยากรณ์ของยะซายาบอกล่วงหน้าอย่างไรเกี่ยวด้วยสากลองค์การของพระยะโฮวา และเยรูซาเลมใหม่เกี่ยวข้องด้วยอย่างไร?
14 เมื่อพระรัศมีของพระยะโฮวาผ่านไปข้างหน้าโมเซบนภูเขาไซนาย รัศมีนั้นทำให้หน้าของโมเซสว่างเจิดจ้าจนท่านต้องคลุมหน้าไม่ให้เพื่อนชาวอิสราเอลของท่านเห็น. (เอ็กโซโด 34:4-7, 29, 30, 33) แล้วคุณนึกภาพได้ไหมว่า เมืองที่มีพระรัศมีของพระยะโฮวาส่องสว่างอยู่ตลอดเวลาจะสว่างไสวเพียงใด? เมืองนั้นคงไม่มีเวลากลางคืน. เมืองนั้นคงจะไม่ต้องมีดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์จริง ๆ. เมืองนั้นคงจะส่องสว่างตลอดไป. (เทียบกับ 1 ติโมเธียว 6:16.) เยรูซาเลมใหม่ก็สว่างรุ่งโรจน์เช่นนั้น. ที่จริง เจ้าสาวนี้และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าบ่าวของเธอได้มาเป็นเมืองหลวงแห่งสากลองค์การของพระยะโฮวา ซึ่งก็คือ “ผู้หญิง” ของพระยะโฮวาหรือ “เยรูซาเลมเบื้องบน” ซึ่งยะซายาได้พยากรณ์เกี่ยวกับสากลองค์การนี้ว่า “จะไม่ต้องมีดวงอาทิตย์เป็นดวงสว่างของเจ้าในเวลากลางวันอีกต่อไป, และไม่ต้องมีดวงจันทร์เป็นดวงสว่างในเวลากลางคืนให้เจ้าอีกต่อไป, แต่พระยะโฮวาจะเป็นแสงสว่างอันไม่รู้ดับให้เจ้า, และพระเจ้าของเจ้าจะเป็นสง่าราศีของเจ้า. ดวงอาทิตย์ของเจ้าจะไม่ตกอีกต่อไป, และดวงจันทร์ของเจ้าจะไม่มีข้างแรม, เพราะว่าพระยะโฮวาจะเป็นแสงสว่างอันไม่รู้ดับให้เจ้า, และวันแห่งความโศกเศร้าของเจ้าจะสิ้นสุดลง.”—ยะซายา 60:1, 19, 20; ฆะลาเตีย 4:26.
แสงสว่างสำหรับนานาชาติ
15. ถ้อยคำอะไรในพระธรรมวิวรณ์ที่เกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่ซึ่งคล้ายกับคำพยากรณ์ของยะซายา?
15 คำพยากรณ์เดียวกันนี้ยังได้บอกล่วงหน้าว่า “ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า และกษัตริย์ทั้งหลายจะดำเนินตามแสงสว่างอันจ้าของเจ้า.” (ยะซายา 60:3) พระธรรมวิวรณ์แสดงให้เห็นว่า ถ้อยคำเหล่านี้จะหมายรวมถึงเยรูซาเลมใหม่ด้วย: “ชาติต่าง ๆ จะเดินไปโดยอาศัยแสงสว่างของเมืองนี้ และกษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกจะนำความรุ่งเรืองของตนเข้ามาในเมืองนี้. ประตูเมืองนี้จะไม่ปิดเลยในเวลากลางวัน และที่เมืองนี้จะไม่มีเวลากลางคืนเลย. พวกเขาจะนำความรุ่งเรืองและเกียรติยศของชาติต่าง ๆ เข้ามาในเมืองนี้.”—วิวรณ์ 21:24-26, ล.ม.
16. ใครคือ “ชาติต่าง ๆ” ซึ่งจะเดินไปโดยอาศัยแสงสว่างของเยรูซาเลมใหม่?
16 “ชาติต่าง ๆ” เหล่านี้ที่เดินไปโดยอาศัยแสงสว่างของเยรูซาเลมใหม่นั้นเป็นใครกัน? พวกเขาคือผู้คนซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของชาติทั้งหลายแห่งโลกที่ชั่วช้านี้ ผู้ซึ่งตอบรับแสงสว่างที่ส่องผ่านทางเมืองภาคสวรรค์อันรุ่งโรจน์นี้. ในอันดับแรกก็คือชนฝูงใหญ่ซึ่งออกมาจาก “ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา” และซึ่งนมัสการพระเจ้าทั้งวันทั้งคืนร่วมกับชนจำพวกโยฮัน. (วิวรณ์ 7:9, 15, ล.ม.) หลังจากเยรูซาเลมใหม่ลงมาจากสวรรค์และพระเยซูทรงใช้กุญแจแห่งความตายและหลุมศพเพื่อปลุกผู้ที่ล่วงลับไปให้เป็นขึ้นมา พวกเขาก็จะมีชนนับล้าน ๆ เข้ามาร่วมสมทบ ซึ่งเดิมทีก็มาจาก “ชาติต่าง ๆ” ซึ่งมารักพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ ผู้เป็นสามีที่เป็นเยี่ยงพระเมษโปดกของเยรูซาเลมใหม่.—วิวรณ์ 1:18.
17. ใครคือ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” ซึ่ง “นำความรุ่งเรืองของตน” เข้ามาในเยรูซาเลมใหม่?
17 แล้วใครคือ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” ที่ “นำความรุ่งเรืองของตนเข้ามาในเมืองนี้”? ไม่ใช่เหล่ากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกจริง ๆ เพราะกษัตริย์เหล่านั้นจมสู่ความพินาศในการต่อสู้ราชอาณาจักรของพระเจ้า ณ อาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16; 19:17, 18) กษัตริย์เหล่านี้จะเป็นผู้มีตำแหน่งสูงบางคนของชาติต่าง ๆ ซึ่งได้มาเป็นส่วนแห่งชนฝูงใหญ่ หรือว่าพวกเขาเป็นกษัตริย์ที่กลับเป็นขึ้นจากตายซึ่งสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าในโลกใหม่ไหม? (มัดธาย 12:42) คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว สง่าราศีของกษัตริย์เหล่านั้นเป็นอย่างโลกนี้และได้เสื่อมไปนานแล้ว. ฉะนั้น “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” ซึ่งนำความรุ่งเรืองของตนเข้ามาในเยรูซาเลมใหม่ จะต้องเป็นชน 144,000 คนซึ่งถูก “ซื้อ . . . จากทุกตระกูล ทุกภาษา ทุกชนชาติ และทุกประเทศ” ให้ปกครองในฐานะกษัตริย์กับพระเมษโปดก พระเยซูคริสต์. (วิวรณ์ 5:9, 10; 22:5, ล.ม.) พวกเขานำสง่าราศีที่พระเจ้าประทานเข้ามาในเมืองนี้เพื่อเพิ่มความรุ่งโรจน์ของเมืองนี้ให้ยิ่งขึ้นอีก.
18. (ก) ใครจะถูกกันไม่ให้เข้าเยรูซาเลมใหม่? (ข) เฉพาะผู้ใดเท่านั้นจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในกรุงนี้?
18 โยฮันบอกต่อไปว่า “แต่สิ่งใดที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์และคนใดที่ทำสิ่งน่าสะอิดสะเอียนและโกหกเป็นอาจิณจะเข้าไปในเมืองนี้ไม่ได้เลย เฉพาะแต่คนที่มีชื่อเขียนไว้ในม้วนหนังสือแห่งชีวิตของพระเมษโปดกจึงจะเข้าได้.” (วิวรณ์ 21:27, ล.ม.) ไม่มีสิ่งใดที่เป็นมลทินจากระบบของซาตานจะมาเป็นส่วนของเยรูซาเลมใหม่ได้. แม้ว่าประตูเมืองจะเปิดอยู่ตลอดเวลา คนที่ “ทำสิ่งน่าสะอิดสะเอียนและโกหก” จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป. จะไม่มีผู้ออกหากในเมืองนั้นและไม่มีสมาชิกของบาบิโลนใหญ่. และถ้าคนใดพยายามจะทำลายความบริสุทธิ์ของเมืองนั้นด้วยการชักนำผู้ที่จะเป็นสมาชิกของเมืองนั้นไปในทางชั่วในขณะที่เขายังอยู่บนแผ่นดินโลก ความพยายามนั้นจะไร้ผล. (มัดธาย 13:41-43) เฉพาะคนที่ “มีชื่อเขียนไว้ในม้วนหนังสือแห่งชีวิตของพระเมษโปดก” คือชน 144,000 คนเท่านั้นจะได้เข้าในเยรูซาเลมใหม่ในที่สุด.b—วิวรณ์ 13:8, ล.ม.; ดานิเอล 12:3.
แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต
19. (ก) โยฮันพรรณนาถึงเยรูซาเลมใหม่อย่างไรว่าเป็นช่องทางนำพระพรมาสู่มนุษยชาติ? (ข) เมื่อไรที่ “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” ไหลออกมา และเราทราบได้อย่างไร?
19 เยรูซาเลมใหม่อันรุ่งโรจน์จะนำพระพรล้ำเลิศมาสู่มนุษยชาติบนแผ่นดินโลก. นี่คือสิ่งที่โยฮันเห็นต่อไป: “แล้วท่านให้ข้าพเจ้าเห็นแม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตที่ใสดุจผลึกไหลออกมาจากราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก ลงไปตามกลางถนนใหญ่ของเมืองนี้.” (วิวรณ์ 22:1, 2ก, ล.ม.) “แม่น้ำ” นี้ไหลออกมาเมื่อไร? เนื่องจากแม่น้ำนี้ไหล “ออกมาจากราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก” แม่น้ำนี้จึงไหลออกมาได้หลังจากวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าเริ่มในปี 1914 เท่านั้น. นั่นเป็นเวลาสำหรับการป่าวประกาศเหตุการณ์นั้นด้วยการเป่าแตรคันที่เจ็ด และด้วยคำประกาศที่ยิ่งใหญ่ว่า “บัดนี้ ความรอด ฤทธิ์เดช ราชอาณาจักรของพระเจ้า และอำนาจของพระคริสต์ของพระองค์ก็ปรากฏแล้ว.” (วิวรณ์ 11:15; 12:10, ล.ม.) ระหว่างเวลาอวสาน พระวิญญาณและเจ้าสาวได้กล่าวเชิญบรรดาผู้ที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องให้มารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียค่า. น้ำจากแม่น้ำนี้จะมีให้บุคคลดังกล่าวเรื่อยไปจนระบบนี้ถึงกาลอวสาน และหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่โลกใหม่ คราวเมื่อเยรูซาเลมใหม่ ‘ลงมาจากสวรรค์จากพระเจ้า.’—วิวรณ์ 21:2, ล.ม.
20. อะไรแสดงว่า น้ำแห่งชีวิตมีให้บ้างแล้ว?
20 นี่มิใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอน้ำที่ให้ชีวิตแก่มนุษยชาติ. เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ก็ตรัสถึงน้ำที่ให้ชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 4:10-14; 7:37, 38) นอกจากนี้ โยฮันกำลังจะได้ยินคำเชิญด้วยความรัก ที่ว่า “พระวิญญาณกับเจ้าสาวกล่าวไม่หยุดว่า ‘มาเถิด!’ และให้คนที่ได้ยินกล่าวด้วยว่า ‘มาเถิด!’ ให้คนที่กระหายมาเถิด ให้คนที่อยากดื่มน้ำแห่งชีวิตมาดื่มโดยไม่เสียค่า.” (วิวรณ์ 22:17, ล.ม.) คำเชิญนี้กำลังประกาศอยู่แล้วแม้ในเวลานี้ แสดงว่าน้ำแห่งชีวิตมีให้บ้างแล้ว. แต่ในโลกใหม่ น้ำเหล่านั้นจะไหลออกจากราชบัลลังก์ของพระเจ้าและผ่านเยรูซาเลมใหม่อย่างที่เป็นแม่น้ำจริง ๆ.
21. “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” หมายถึงอะไร และนิมิตของยะเอศเคลเกี่ยวกับแม่น้ำนี้ช่วยเราให้ทราบอย่างไร?
21 “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” นี้คืออะไร? น้ำจริง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับชีวิต. หากปราศจากอาหาร คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้หลายสัปดาห์ แต่ถ้าปราศจากน้ำ เขาจะตายภายในประมาณหนึ่งสัปดาห์. น้ำยังเป็นสิ่งชำระล้างและเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อสุขภาพ. ฉะนั้น น้ำแห่งชีวิตจะต้องหมายถึงบางสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษยชาติ. ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลก็ได้รับนิมิตเกี่ยวกับ “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” นี้ด้วย และในนิมิตที่ท่านเห็น แม่น้ำนั้นไหลออกจากพระวิหารและไหลลงไปในทะเลตาย. แล้วการอัศจรรย์แห่งการอัศจรรย์ทั้งหลายก็เกิดขึ้น! แหล่งน้ำที่อิ่มตัวทางสารเคมีซึ่งปราศจากสิ่งมีชีวิตนั้นก็ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำจืดที่ชุกชุมไปด้วยปลา! (ยะเอศเคล 47:1-12) ใช่แล้ว แม่น้ำที่เห็นในนิมิตนำสิ่งที่ตายแล้วกลับคืนสู่ชีวิต เป็นการยืนยันว่า แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตเป็นภาพแสดงถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์เพื่อจะนำชีวิตมนุษย์สมบูรณ์กลับคืนมาสู่เผ่าพันธุ์มนุษยชาติที่ “ตายแล้ว.” แม่น้ำนี้ “ใสดุจผลึก” แสดงถึงความสะอาดและความบริสุทธิ์แห่งการจัดเตรียมของพระเจ้า. แม่น้ำนี้ไม่เหมือน “น้ำทั้งหลาย” ของคริสต์ศาสนจักรที่เปรอะเปื้อนโลหิตและทำให้ถึงตาย.—วิวรณ์ 8:10, 11.
22. (ก) แม่น้ำนี้มีจุดเริ่มต้นที่ไหน และทำไมเรื่องนี้จึงเหมาะสม? (ข) มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ในน้ำแห่งชีวิต และแม่น้ำโดยนัยนี้หมายรวมถึงอะไร?
22 แม่น้ำนั้นมีจุดเริ่มต้นที่ “ราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก.” นั่นเป็นการสมควร เพราะรากฐานแห่งการจัดเตรียมของพระยะโฮวาที่ให้ชีวิตคือเครื่องบูชาไถ่ และสิ่งนี้ถูกจัดให้มีขึ้นก็เพราะพระยะโฮวา “ทรงรักโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) น้ำแห่งชีวิตยังเกี่ยวพันกับพระคำของพระเจ้า ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงว่าเป็นน้ำ. (เอเฟโซ 5:26) อย่างไรก็ตาม แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตหมายรวมถึงไม่เพียงความจริงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการจัดเตรียมอื่น ๆ ทุกอย่างของพระยะโฮวาที่อาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู เพื่อกอบกู้มนุษย์ที่เชื่อฟังให้พ้นจากบาปและความตาย แล้วให้ชีวิตนิรันดร์แก่พวกเขา.—โยฮัน 1:29; 1 โยฮัน 2:1, 2.
23. (ก) ทำไมจึงเหมาะสมที่แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตไหลผ่านกลางถนนใหญ่ของเยรูซาเลมใหม่? (ข) คำสัญญาอะไรที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮามจะสำเร็จเป็นจริงเมื่อน้ำแห่งชีวิตไหลออกมาอย่างอุดม?
23 ในระหว่างรัชสมัยพันปี จะมีการใช้คุณประโยชน์ของค่าไถ่อย่างเต็มที่ผ่านทางคณะปุโรหิตที่ประกอบด้วยพระเยซูและรองปุโรหิต 144,000 คนของพระองค์. จึงเหมาะสมที่แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตไหลผ่านกลางถนนใหญ่ของเยรูซาเลมใหม่. เมืองนี้ประกอบด้วยอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ และเมืองนี้กับพระเยซูประกอบกันเป็นพงศ์พันธุ์แท้ของอับราฮาม. (ฆะลาเตีย 3:16, 29) ฉะนั้น เมื่อน้ำแห่งชีวิตไหลผ่านกลางถนนใหญ่ของเมืองโดยนัยนี้อย่างอุดม “ชนทุกชาติทั่วโลก” จะมีโอกาสเต็มที่เพื่อทำให้ตนเองได้รับพระพรผ่านทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. คำทรงสัญญาที่พระยะโฮวามีต่ออับราฮามก็จะสำเร็จครบถ้วน.—เยเนซิศ 22:17, 18.
ต้นไม้แห่งชีวิต
24. บัดนี้โยฮันเห็นอะไรบนทั้งสองฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต และสิ่งเหล่านั้นเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
24 ในนิมิตของยะเอศเคล แม่น้ำนั้นยังกลายเป็นน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และผู้พยากรณ์ได้เห็นต้นไม้ทุกชนิดที่เกิดผลงอกขึ้นบนสองฝั่งแม่น้ำ. (ยะเอศเคล 47:12) แต่โยฮันเห็นอะไร? ท่านเห็นดังนี้: “บนฝั่งข้างนี้และข้างโน้นของแม่น้ำมีต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งเกิดผลสิบสองครั้ง โดยออกผลเดือนละครั้ง. ใบของต้นไม้เหล่านั้นใช้เยียวยาชาติต่าง ๆ.” (วิวรณ์ 22:2ข, ล.ม.) “ต้นไม้แห่งชีวิต” เหล่านี้ก็ต้องเป็นภาพแสดงถึงส่วนแห่งการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อให้ชีวิตนิรันดร์แก่มนุษยชาติที่เชื่อฟังด้วยเช่นกัน.
25. การจัดเตรียมอันอุดมสมบูรณ์อะไรที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อมนุษยชาติที่ตอบรับในอุทยานทั่วโลก?
25 ช่างเป็นการจัดเตรียมอย่างอุดมสมบูรณ์จริง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อมนุษย์ที่ตอบรับ! พวกเขาไม่เพียงแต่จะดื่มน้ำที่ให้ความสดชื่นเหล่านั้นได้ แต่ยังจะเด็ดผลที่บำรุงกำลังนานาชนิดจากต้นไม้ที่ให้ผลอย่างต่อเนื่องเหล่านั้นได้ด้วย. ถ้าบิดามารดาแรกเดิมของเราพอใจกับการจัดเตรียม “ที่งามน่าดู” ทำนองเดียวกันในอุทยานเอเดนก็คงจะดี! (เยเนซิศ 2:9) แต่บัดนี้อุทยานทั่วโลกก็อยู่ที่นี่แล้ว และพระยะโฮวายังทรงจัดเตรียมเพื่อ “เยียวยาชาติต่าง ๆ”c โดยใช้ใบของต้นไม้โดยนัยเหล่านั้น. เหนือกว่ายาใด ๆ ไม่ว่าสมุนไพรหรือยาอื่น ๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน การใช้ใบโดยนัยเหล่านั้นในการรักษาจะยกมนุษยชาติที่เชื่อฟังขึ้นสู่ความสมบูรณ์ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย.
26. ต้นไม้แห่งชีวิตอาจหมายรวมถึงอะไร และเพราะเหตุใด?
26 ต้นไม้เหล่านั้นซึ่งได้รับน้ำอย่างอุดมจากแม่น้ำอาจหมายรวมถึงสมาชิก 144,000 คน แห่งมเหสีของพระเมษโปดก. ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก ชนจำพวกนี้ก็เช่นกันดื่มจากการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อชีวิตผ่านทางพระเยซูคริสต์. น่าสนใจ พี่น้องของพระเยซูที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณเหล่านี้ถูกเรียกด้วยถ้อยคำเชิงพยากรณ์ว่า “ต้นไม้ใหญ่แห่งความชอบธรรม.” (ยะซายา 61:1-3, ล.ม.; วิวรณ์ 21:6) พวกเขาผลิตผลแล้วมากมายทางฝ่ายวิญญาณซึ่งนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา. (มัดธาย 21:43) และระหว่างรัชสมัยพันปี พวกเขาจะมีส่วนในการแจกจ่ายการจัดเตรียมต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับค่าไถ่ซึ่งจะใช้ในการ “เยียวยาชาติต่าง ๆ” ให้หลุดพ้นจากบาปและความตาย.—เทียบกับ 1 โยฮัน 1:7.
ไม่มีกลางคืนอีกต่อไป
27. โยฮันกล่าวถึงพระพรอื่น ๆ อะไรอีกสำหรับคนที่มีสิทธิพิเศษจะเข้าไปในเยรูซาเลมใหม่ และทำไมจึงกล่าวว่า “การแช่งสาปใด ๆ จะไม่มีอีกเลย”?
27 การเข้าไปในเยรูซาเลมใหม่—แน่นอน ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิทธิพิเศษยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว! ลองคิดดูซิ—คนเหล่านั้นซึ่งเคยเป็นมนุษย์ต่ำต้อยไม่สมบูรณ์จะติดตามพระเยซูเข้าไปในสวรรค์เพื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเตรียมที่รุ่งโรจน์เช่นนั้น! (โยฮัน 14:2) โยฮันช่วยให้เราเห็นพระพรต่าง ๆ ที่คนเหล่านี้จะได้รับ โดยกล่าวว่า “การแช่งสาปใด ๆ จะไม่มีอีกเลย. แต่ราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดกจะอยู่ในเมืองนี้ และทาสทั้งหลายของพระเจ้าจะทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ถวายพระองค์ พวกเขาจะเห็นพระพักตร์พระองค์ และจะมีพระนามพระองค์อยู่บนหน้าผากพวกเขา.” (วิวรณ์ 22:3, 4, ล.ม.) เมื่อคณะปุโรหิตของชาติอิสราเอลกลายเป็นคนทุจริต จึงได้รับคำสาปแช่งจากพระยะโฮวา. (มาลาคี 2:2) พระเยซูทรงประกาศให้ “เรือน” ที่ไร้ความเชื่อของกรุงเยรูซาเลมถูกปล่อยให้ร้าง. (มัดธาย 23:37-39) แต่ในเยรูซาเลมใหม่ “การแช่งสาปใด ๆ จะไม่มีอีกเลย.” (เทียบกับซะคาระยา 14:11.) พลเมืองทั้งหมดของเมืองนั้นถูกทดสอบมาแล้วในไฟแห่งการทดลองบนแผ่นดินโลกนี้ และเนื่องจากได้รับชัยชนะ พวกเขาจะ “สวมซึ่งไม่รู้เน่าเปื่อย และ . . . ซึ่งไม่รู้ตาย.” ในกรณีของพวกเขา พระยะโฮวาทรงทราบว่าพวกเขาจะไม่มีวันออกหาก เหมือนกับที่พระองค์ทรงทราบในกรณีของพระเยซู. (1 โกรินโธ 15:53, 57, ล.ม.) นอกจากนี้ “ราชบัลลังก์ของพระเจ้าและของพระเมษโปดก” จะอยู่ที่นั่น ทำให้เมืองนี้มีสถานะมั่นคงตลอดกาล.
28. ทำไมสมาชิกของเยรูซาเลมใหม่จึงมีพระนามของพระเจ้าเขียนไว้บนหน้าผาก และมีความหวังอันน่าตื่นเต้นอะไรรออยู่เบื้องหน้าพวกเขา?
28 เช่นเดียวกับท่านโยฮันเอง ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของเมืองในสวรรค์นั้นเป็น “ทาส” ของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงมีพระนามของพระเจ้าเขียนไว้เด่นชัดบนหน้าผาก เป็นการระบุว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของของพวกเขา. (วิวรณ์ 1:1; 3:12) พวกเขาจะถือเป็นสิทธิพิเศษอันประมาณค่ามิได้ที่จะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นส่วนแห่งเยรูซาเลมใหม่. ขณะที่พระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงทำสัญญาที่น่าตื่นเต้นกับผู้ที่มีความหวังจะเป็นผู้ปกครองเหล่านั้นว่า “บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า.” (มัดธาย 5:8) ทาสเหล่านี้จะมีความสุขเพียงไรที่ได้เห็นและนมัสการพระยะโฮวาโดยตรงจริง ๆ!
29. ทำไมโยฮันจึงกล่าวถึงเยรูซาเลมใหม่ภาคสวรรค์ว่า “กลางคืนจะไม่มีอีกเลย”?
29 โยฮันเล่าต่อไปว่า “กลางคืนจะไม่มีอีกเลย พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีแสงตะเกียงหรือแสงอาทิตย์เพราะพระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงส่องสว่างแก่พวกเขา.” (วิวรณ์ 22:5ก, ล.ม.) เยรูซาเลมโบราณ ก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ บนแผ่นดินโลก ได้พึ่งดวงอาทิตย์เพื่อมีแสงสว่างในเวลากลางวัน และอาศัยแสงจันทร์และแสงไฟในเวลากลางคืน. แต่ในเยรูซาเลมใหม่ภาคสวรรค์ แสงเช่นนั้นไม่จำเป็น. พระยะโฮวาเองจะทรงทำให้เมืองนั้นสว่างไสว. “กลางคืน” อาจมีความหมายเป็นนัย คือหมายถึงความทุกข์ยากหรือการเหินห่างจากพระยะโฮวา. (มีคา 3:6; โยฮัน 9:4; โรม 13:11, 12) ไม่มีทางจะมีกลางคืนเช่นนั้นได้เลย ในเมื่อพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการประทับอยู่ด้วยรัศมีอันรุ่งโรจน์.
30. โยฮันปิดท้ายนิมิตอันล้ำเลิศอย่างไร และพระธรรมวิวรณ์รับรองกับเราว่าอย่างไร?
30 โยฮันปิดท้ายนิมิตอันล้ำเลิศนี้ด้วยการกล่าวถึงทาสเหล่านี้ของพระเจ้าว่า “และพวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์ตลอดไปเป็นนิตย์.” (วิวรณ์ 22:5ข, ล.ม.) จริงทีเดียว ในตอนปลายของรัชสมัยพันปี คุณประโยชน์แห่งค่าไถ่จะถูกนำไปใช้จนครบถ้วน แล้วพระเยซูจะมอบมนุษยชาติที่สมบูรณ์แล้วแด่พระบิดาของพระองค์. (1 โกรินโธ 15:25-28) หลังจากนั้น พระยะโฮวาทรงมีพระดำริอย่างไรสำหรับพระเยซูและชน 144,000 คนนั้น เราไม่รู้. แต่พระธรรมวิวรณ์รับรองกับเราว่า งานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสิทธิพิเศษที่พวกเขาทำถวายพระยะโฮวานั้นจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดกาล.
จุดสุดยอดอันน่ายินดีในพระธรรมวิวรณ์
31. (ก) นิมิตเกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่เป็นจุดสุดยอดของอะไร? (ข) เยรูซาเลมใหม่ทำสิ่งใดให้สำเร็จเพื่อคนอื่น ๆ ที่ซื่อสัตย์แห่งมนุษยชาติ?
31 การเป็นขึ้นจริงของนิมิตเกี่ยวกับเยรูซาเลมใหม่ เจ้าสาวของพระเมษโปดก คือจุดสุดยอดอันน่ายินดีที่พระธรรมวิวรณ์ชี้ถึง และก็สมควรจะเป็นเช่นนั้น. เพื่อนคริสเตียนทั้งปวงในศตวรรษแรกของโยฮันซึ่งมีการกล่าวถึงในตอนต้นของพระธรรมนี้ล้วนแต่คอยท่าการเข้าไปในเมืองนั้นในฐานะผู้ปกครองที่เป็นกายวิญญาณอมตะร่วมกับพระเยซูคริสต์. ชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งยังมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกในทุกวันนี้ก็มีความหวังเดียวกัน. ดังนั้น พระธรรมวิวรณ์จึงดำเนินเรื่องต่อไปถึงจุดสุดยอดอันยิ่งใหญ่ขณะที่เจ้าสาวซึ่งมีจำนวนครบถ้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเมษโปดก. ถัดจากนั้น คุณประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูจะถูกนำมาใช้กับมนุษยชาติโดยผ่านทางเยรูซาเลมใหม่ เพื่อว่าในที่สุดคนที่ซื่อสัตย์ทั้งปวงจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์. โดยวิธีนี้ เจ้าสาว หรือเยรูซาเลมใหม่ ในฐานะคู่เคียงที่ภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าบ่าวของเธอนั้นจะร่วมในการสร้างแผ่นดินโลกใหม่อันชอบธรรมให้ยืนยงตลอดกาล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพระเกียรติแด่พระยะโฮวาองค์บรมมหิศรของเรา.—มัดธาย 20:28; โยฮัน 10:10, 16; โรม 16:27.
32, 33. เราได้เรียนรู้อะไรจากพระธรรมวิวรณ์ และการตอบรับด้วยความจริงใจของเราควรเป็นเช่นไร?
32 ฉะนั้น เรารู้สึกยินดีเพียงไรเมื่อเราใกล้จะถึงตอนจบของการพิจารณาพระธรรมวิวรณ์! เราได้เห็นความพยายามขั้นสุดท้ายของซาตานและพงศ์พันธุ์ของมันถูกขัดขวางโดยสิ้นเชิง และการพิพากษาอันชอบธรรมของพระยะโฮวาก็มีการดำเนินไปจนสำเร็จเสร็จสิ้น. บาบิโลนใหญ่จะต้องอันตรธานไปตลอดกาล ติดตามด้วยส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้งหมดที่เหลวแหลกสิ้นดีแห่งโลกของซาตาน. ซาตานเองกับผีปิศาจฝ่ายมันจะถูกขังในขุมลึกและจะถูกทำลายภายหลัง. เยรูซาเลมใหม่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์จากสวรรค์ในขณะที่ดำเนินการปลุกคนตายให้เป็นขึ้นและดำเนินการพิพากษา แล้วในที่สุดมนุษยชาติที่บรรลุความสมบูรณ์ก็จะมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. พระธรรมวิวรณ์แสดงภาพสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนจริง ๆ! พระธรรมนี้เสริมความตั้งใจของเราในการ ‘ประกาศข่าวดีนิรันดร์นี้ ซึ่งเป็นข่าวที่น่ายินดีแก่ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา และทุกชนชาติ’ บนแผ่นดินโลกในปัจจุบัน! (วิวรณ์ 14:6, 7) คุณกำลังทุ่มเทตัวอย่างเต็มที่ในงานอันยิ่งใหญ่นี้ไหม?
33 ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณ ขอให้เราใส่ใจกับถ้อยคำในตอนจบของพระธรรมวิวรณ์.
[เชิงอรรถ]
a ข้อเท็จจริงที่ว่า การวัดที่ใช้นั้นเป็น “ตามมาตราวัดของมนุษย์ซึ่งเป็นมาตราวัดของทูตสวรรค์ด้วย” นั่นอาจเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ากรุงนั้นมีการประกอบกันขึ้นด้วยชน 144,000 คนซึ่งแต่เดิมเป็นมนุษย์แต่แล้วได้มาเป็นผู้มีชีวิตกายวิญญาณอยู่ท่ามกลางเหล่าทูตสวรรค์.
b โปรดสังเกตว่า “ม้วนหนังสือแห่งชีวิตของพระเมษโปดก” นั้นบรรจุไว้เพียงรายชื่อของชน 144,000 คนแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณเท่านั้น. ดังนั้น ม้วนหนังสือนี้จึงต่างไปจาก “ม้วนหนังสือแห่งชีวิต” ซึ่งรวมเอาคนเหล่านั้นซึ่งได้รับชีวิตทางแผ่นดินโลกนี้ไว้ด้วย.—วิวรณ์ 20:12.
c โปรดสังเกตว่า การใช้คำ “ชาติต่าง ๆ” นั้นมักใช้อ้างถึงคนเหล่านั้นที่ไม่ใช่เป็นพวกอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 7:9; 15:4; 20:3; 21:24, 26) การใช้คำนั้นในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า มนุษยชาติจะยังคงมีการแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ในระหว่างรัชสมัยพันปี.