ผู้อยู่ร่วมกันใน “แผ่นดิน” ที่ได้รับการฟื้นฟู
“ฝ่ายเจ้าจะถูกเรียกว่าเป็นปุโรหิตของพระยะโฮวา, และถูกขนานนามว่าเป็นผู้ปรนนิบัติพระเจ้าของเจ้า.”—ยะซายา 61:6
1, 2. (ก) สถานภาพของคนเข้าจารีตยูดายในแผ่นดินยิศราเอลเป็นเช่นไร? (ข) ปัจจุบันนี้ สมาชิกแห่ง “ชนฝูงใหญ่” ได้แสดงน้ำใจแบบไหน?
ในกาลโบราณ ชาติยิศราเอลเมื่อประพฤติซื่อสัตย์ได้แสดงตัวบนเวทีโลกฐานะเป็นพยานถึงสง่าราศีของพระยะโฮวา. (ยะซายา 41:8, 9; 43:10, 11) คนต่างชาติหลายคนตอบรับและหันมานมัสการพระยะโฮวาร่วมกับไพร่พลที่พระองค์ทรงสรรไว้. อันที่จริง พวกเขาพูดกับชาติยิศราเอลอย่างที่นางรูธกล่าวต่อนาอะมี: “ญาติพี่น้องของ [คุณ] จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของ [คุณ] จะเป็นพระเจ้าของฉัน.” (ประวัตินางรูธ 1:16) พวกเขายอมรับเงื่อนไขในพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรี พวกผู้ชายรับสุหนัต. (เอ็กโซโด 12:43-48) ผู้หญิงบางคนได้แต่งงานกับชาวยิศราเอล. ราฮาบชาวเมืองยะริโฮและรูธชาวโมอาบได้กลายเป็นบรรพสตรีของพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 1:5) บุคคลดังกล่าวที่ได้เข้าจารีตยูดายจึงกลายเป็นส่วนของประชาคมยิศราเอล.—พระบัญญัติ 23:7, 8.
2 ทำนองคล้ายกันกับพวกเข้าจารีตยูดายในประเทศยิศราเอล “ชนฝูงใหญ่” ทุกวันนี้ได้กล่าวแก่ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (วิวรณ์ 7:9; ซะคาระยา 8:23) พวกเขายอมรับว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้เป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ของพระยะโฮวา และร่วมงานอย่างใกล้ชิดยิ่งกับพวกผู้ถูกเจิม ถึงขนาดที่ผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” เป็น “ฝูงเดียว มีผู้เลี้ยงผู้เดียว.” (มัดธาย 24:45-47; โยฮัน 10:16) จะเกิดอะไรขึ้นกับชนฝูงใหญ่เมื่อบรรดาพี่น้องผู้ถูกเจิมของเขารับบำเหน็จทางภาคสวรรค์? เขาไม่ต้องหวั่นกลัว. ตลอดช่วง “สมัยสุดท้าย” นี้ พระยะโฮวาได้ทรงเตรียมการไว้สำหรับวาระนั้นอยู่แล้ว.—2 ติโมเธียว 3:1.
“แผ่นดิน” ฝ่ายวิญญาณ
3. อะไรคือ “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ที่เปโตรได้พยากรณ์ไว้ และได้มีการสถาปนาฟ้าสวรรค์ใหม่เมื่อไร?
3 การดำเนินงานปกครองทางภาคสวรรค์ซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม 144,000 คนจะมีส่วนร่วมได้มีการพยากรณ์ไว้แล้วโดยอัครสาวกเปโตร. ท่านกล่าวว่า “มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญาของพระองค์ และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ถูกสถาปนาในปี 1914 เมื่อพระคริสต์ประทับบัลลังก์เป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. แต่ทาง “แผ่นดินโลกใหม่” ล่ะ?
4. (ก) เหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิดได้อุบัติขึ้นเมื่อปี 1919? (ข) ‘ประเทศที่ให้กำเนิดทันที’ ได้แก่อะไร? และ ‘แผ่นดินที่ผ่านความเจ็บปวดรวดร้าว’ นั้นคืออะไร?
4 ปี 1919 พระยะโฮวาได้ปลดปล่อยชนที่เหลือผู้ถูกเจิมจากสภาพทาสของบาบูโลนใหญ่. (วิวรณ์ 18:4) เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกะทันหันเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำฝ่ายคริสต์ศาสนจักรไม่ได้คาดคิดเลย. เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ใครเคยได้ยินเช่นนี้บ้าง, ใครเคยได้เห็นเช่นนี้บ้าง? แผ่นดินใดจะผ่านความเจ็บปวดรวดร้าวให้พ้นไปในวันเดียวได้รึ? ประเทศใดจะให้การกำเนิดทันทีได้รึ?” (ยะซายา 66:8) เมื่อประชาคมผู้ถูกเจิมปรากฏแก่ชาติต่าง ๆ ทันทีทันใดฐานะเป็นชนชาติอิสระเช่นนั้น นั่นแหละคือชาติที่ “กำเนิดทันที” อย่างแท้จริง. แต่ “แผ่นดิน” ล่ะหมายถึงอะไร? ในแง่หนึ่ง นั่นคือการเท่าเทียมทางฝ่ายวิญญาณกับแผ่นดินยิศราเอลโบราณ. เป็นดินแดนแห่งกิจกรรมซึ่งมอบไว้กับ “ชาติ” ที่กำเนิดใหม่ เป็นดินแดนซึ่งคำพยากรณ์ว่าด้วยอุทยานในพระธรรมยะซายานั้นได้มาสำเร็จเป็นจริงฝ่ายวิญญาณในยุคปัจจุบัน. (ยะซายา 32:16-20; 35:1-7; เทียบกับเฮ็บราย 12:12-14.) ในทางรูปธรรมแล้ว ไม่ว่าคริสเตียนอยู่แห่งหนใด เขาอยู่ใน “แผ่นดิน” นั้น.
5. แกนกลางอะไรเกิดขึ้นเมื่อปี 1919 จงอธิบาย.
5 เรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับ “แผ่นดินโลกใหม่” ตามที่เปโตรพยากรณ์? เป็นอย่างนี้คือ “ชาติ” ใหม่นั้น ที่ถือกำเนิดเมื่อปี 1919 ใน “แผ่นดิน” ที่รับการฟื้นฟูแล้วนั้น จำต้องพัฒนาขึ้นเป็นองค์การที่คลุมทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้สรรเสริญที่ถูกเจิมและที่ไม่ถูกเจิมของพระยะโฮวา. องค์การนี้จะรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอนเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า. ด้วยวิธีนี้ อาจถือได้ว่าชาติเกิดใหม่นี้เป็นแกนกลางแห่งสังคมมนุษย์ผู้ชอบธรรม คือแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งจะดำรงอยู่ภายหลังการทำลายล้างโลกของซาตาน.a ช่วงกลางทศวรรษปี 1930 ชนที่เหลือ ฐานะเป็นกลุ่ม ได้รับการรวบรวมสู่แผ่นดินที่รับการฟื้นฟูแล้ว. นับตั้งแต่นั้น มีการเน้นถึงงานรวบรวมชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่น ซึ่งเวลานี้มีจำนวนเกือบห้าล้าน. (วิวรณ์ 14:15, 16) จะมีประชากรแออัดจนล้น “แผ่นดิน” ไหม? ไม่ อาณาเขตของแผ่นดินจะแผ่กว้างออกไปเท่าไรก็ได้เท่าที่จำเป็น. (ยะซายา 26:15) จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เห็นการเติบโตด้านประชากรของแผ่นดินขณะที่ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมทำให้ “แผ่นดิน” เต็มไปด้วย “ผลผลิต” ได้แก่ อาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงสุขภาพ, เพิ่มกำลังวังชา. (ยะซายา 27:6) แต่สถานภาพของแกะอื่นเหล่านี้เป็นเช่นไรใน “แผ่นดิน” ที่รับการฟื้นฟูแล้วแห่งไพร่พลของพระเจ้า?
คนต่างชาติขยันขันแข็งใน “แผ่นดิน”
6. โดยวิธีใดคนต่างชาติได้ทำการงานใน “แผ่นดิน” แห่งไพร่พลของพระเจ้า?
6 คนเข้าจารีตยูดายในแผ่นดินยิศราเอลยอมปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซฉันใด ชนฝูงใหญ่สมัยปัจจุบันใน “แผ่นดิน” ที่รับการฟื้นฟูแล้วก็เชื่อฟังข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระยะโฮวาฉันนั้น. เนื่องจากได้รับการสั่งสอนจากพวกผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นพี่น้องของเขา ชนฝูงใหญ่จึงละเลิกการนมัสการเท็จทุกรูปแบบ และตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด. (กิจการ 15:19, 20; ฆะลาเตีย 5:19, 20; โกโลซาย 3:5) พวกเขารักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดหัวใจ, ความคิด, จิตวิญญาณ, และกำลังของเขา และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง. (มัดธาย 22:37; ยาโกโบ 2:8) คนเข้าจารีตยูดายสมัยยิศราเอลโบราณได้ช่วยงานสร้างพระวิหารของซะโลโมและสนับสนุนการฟื้นฟูการนมัสการแท้. (1 โครนิกา 22:2; 2 โครนิกา 15:8-14; 30:25) ทุกวันนี้ ชนฝูงใหญ่ก็มีส่วนช่วยเช่นกันในโครงการก่อสร้าง. ยกตัวอย่าง พวกเขาช่วยเสริมสร้างประชาคมและหมวดต่าง ๆ โดยไม่ต้องพูดถึงการทำงานในโครงการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ อาทิ หอประชุมราชอาณาจักร, สถานประชุมหมวด, และอาคารสำนักงานสาขา.
7. เกิดอะไรขึ้นในยะรูซาเลมหลังกลับจากการเป็นทาสในบาบูโลนเมื่อคนตระกูลเลวีมีไม่พอจะดำเนินงานรับใช้ ณ พระวิหาร?
7 ปี 537 ก่อนสากลศักราช เมื่อชาวยิศราเอลที่ถูกเนรเทศได้กลับจากบาบูโลน พวกเขาเริ่มจัดระเบียบการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของพระวิหาร. อย่างไรก็ดี พวกเลวีที่กลับมามีจำนวนไม่มากนัก. ดังนั้น พวกนะธีนิม—ชาวต่างชาติที่อาศัยในแผ่นดินซึ่งเป็นผู้ได้รับสุหนัตแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นผู้ช่วยพวกเลวี—จึงได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับงานรับใช้ที่พระวิหาร. อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่เท่าเทียมปุโรหิตจากตระกูลอาโรนซึ่งได้รับการเจิม.b—เอษรา 7:24; 8:15-20; นะเฮมยา 3:22-26.
8, 9. แกะอื่นได้มีส่วนร่วมงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นอย่างไรในสมัยสุดท้าย?
8 ทุกวันนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ปฏิบัติตามแบบอย่างนี้. ขณะที่ “สมัยอวสาน” คืบหน้าไป จำนวนชนที่เหลือจำพวกผู้ถูกเจิมลดน้อยลงเรื่อย ๆ ใน “แผ่นดิน” แห่งไพร่พลของพระเจ้า. (ดานิเอล 12:9; วิวรณ์ 12:17) ด้วยความเป็นจริงข้อนี้เอง ชนฝูงใหญ่เวลานี้จึงทำให้งานส่วนใหญ่เกี่ยวด้วย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” บรรลุความสำเร็จ. (วิวรณ์ 7:15) โดยการติดตามการนำของพี่น้องผู้ถูกเจิมพวกเขา “ถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” พวกเขาไม่ “ลืมการทำดีและการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ กับคนอื่น ๆ” เพราะรู้ว่า “พระเจ้าทรงชอบพระทัยด้วยเครื่องบูชาเช่นนั้น.”—เฮ็บราย 13:15, 16, ล.ม.
9 ยิ่งกว่านั้น เนื่องด้วยจำนวนชนฝูงใหญ่ทวีจำนวนมากขึ้นนับแสน ๆ คนแต่ละปี จำเป็นต้องมีการดูแลมากขึ้น. สมัยหนึ่ง งานด้านนี้ดำเนินการโดยคริสเตียนผู้ถูกเจิมโดยเฉพาะ. บัดนี้ งานดูแลประชาคมส่วนใหญ่ อีกทั้งงานดูแลหมวด, ภาค, และสาขาต่าง ๆ จำต้องถูกมอบหมายไว้กับแกะอื่น. ปี 1992 มีจำนวนหนึ่งจากแกะอื่นได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการปกครอง และปฏิบัติหน้าที่ฐานะเป็นผู้ช่วยเมื่อมีการอภิปรายแต่ไม่มีส่วนในการตัดสินขั้นสุดท้ายซึ่งกระทำโดยคณะกรรมการปกครอง. กระนั้น แกะอื่นยังคงซื่อสัตย์ภักดีต่อเพื่อนคริสเตียนผู้ถูกเจิมและถือเป็นสิทธิพิเศษที่จะให้การสนับสนุนผู้ถูกเจิมฐานะเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมของพระยะโฮวา.—มัดธาย 25:34-40.
“เหมือนเจ้าพระยา”
10, 11. ตามแบบอย่างของชาวฟะลิศตีมบางคน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นศัตรูต่อไพร่พลของพระเจ้าได้เปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิดอย่างไร? ผลเป็นประการใด?
10 การที่ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมใช้แกะอื่นทำงานในตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ได้รับการพยากรณ์ไว้ที่ซะคาระยา 9:6, 7. ที่นั่นเราอ่านดังนี้: “เราจะจะทำลายซึ่งความจองหองแห่งเมืองฟะเลเซ็ธ. และเราจะเอาโลหิตของเขาออกจากปากเขา, และบรรดาเครื่องอันน่าเกลียดออกจากระหว่างซี่ฟันเขา, และเขาที่เหลืออยู่นั้นคือเขาเองจะเป็นสำหรับพระเจ้าของเรา, และเขาจะเป็นดุจเจ้าพระยาในจำพวกยะฮูดา, และเมืองเอ็คโรนจะเป็นดุจชาวยะบูศคนหนึ่ง.”c ชาวเมืองฟะเลเซ็ธ [ฟะลิศตีม] เป็นศัตรูที่ไม่มีทางเป็นมิตรกันได้กับไพร่พลของพระยะโฮวา เช่นเดียวกับโลกของซาตานเวลานี้. (1 โยฮัน 5:19) ชาวฟะลิศตีมฐานะชาติหนึ่งถูกทำลายในที่สุดฉันใด อีกไม่นาน โลกนี้พร้อมด้วยส่วนประกอบทางศาสนา, การเมือง, และการพาณิชย์จะประสบพระพิโรธแรงกล้าของพระยะโฮวาทำลายล้างเช่นกันฉันนั้น.—วิวรณ์ 18:21; 19:19-21.
11 อย่างไรก็ตาม ตามถ้อยคำของซะคาระยา ชาวฟะลิศตีมบางคนได้เปลี่ยนใจเปลี่ยนแนวคิดของตน และข้อนี้เป็นภาพเล็งถึงชาวโลกสมัยนี้บางคนจะไม่ตั้งตัวเป็นศัตรูต่อพระยะโฮวาอยู่เรื่อยไป. เขาจะเลิกการบูชารูปเคารพพร้อมกับพิธีทางศาสนาที่น่ารังเกียจและของบูชาอันน่าสะอิดสะเอียน และชำระตัวปราศจากมลทินในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. สมัยของเราพบ “ฟะลิศตีม” ที่กลับตัวกลับใจอยู่ในชนฝูงใหญ่.
12. ในปัจจุบัน “เอ็คโรน” กลายเป็น “ดุจชาวยะบูศ” อย่างไร?
12 ตามคำพยากรณ์ เอ็คโรนอันเป็นเมืองเอกของฟะลิศตีมจะกลายเป็น “ดุจชาวยะบูศ.” ชาวยะบูศก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูของยิศราเอล. กรุงยะรูซาเลมอยู่ในเงื้อมมือชาวยะบูศกระทั่งดาวิดได้ตีชนะเมืองนั้น. กระนั้นก็ดี จำพวกคนที่รอดชีวิตผ่านการสู้รบกับชาติยิศราเอลปรากฏว่าได้เปลี่ยนมาเข้าจารีตยูดาย. พวกเขาทำงานรับใช้ในแผ่นดินยิศราเอลฐานะทาส และมีสิทธิพิเศษได้ทำงานก่อสร้างพระวิหารด้วยซ้ำ. (2 ซามูเอล 5:4-9; 2 โครนิกา 8:1-18) ทุกวันนี้ “ชาวเอ็คโรน” ที่ได้หันมานมัสการพระยะโฮวา จึงได้รับสิทธิพิเศษแห่งงานรับใช้เช่นกันใน “แผ่นดิน” ภายใต้การดูแลของทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.
13. เจ้าพระยาในสมัยโบราณได้แก่อะไร
13 ซะคาระยากล่าวว่าชาวฟะลิศตีมจะเป็นดุจเจ้าพระยาในแผ่นดินยูดา. คำภาษาฮีบรู อัลลูพʹ เมื่อได้รับการแปลว่า “เจ้าพระยา” หมายความว่า “นายพัน.” (หรือผู้บัญชาการ) นับว่าเป็นตำแหน่งสูงทีเดียว. ชาติอะโดมสมัยโบราณดูเหมือนมีเจ้าพระยาเพียง 13 คน. (เยเนซิศ 36:15-19) คำ “เจ้าพระยา” ไม่ค่อยใช้กันบ่อยเมื่อพูดถึงชาติยิศราเอล แต่คำ “หัวหน้าในพลยิศราเอล” มีบ่อยครั้ง. เมื่อโมเซได้เรียกตัวแทนชาติยิศราเอล ท่านเรียกเอา “คนหัวหน้าในพลยิศราเอล.”d มีคนหัวหน้าเช่นนั้น เพียง 12 คนซึ่งดูเหมือนว่าเป็นรองเพียงแต่โมเซเท่านั้น. (อาฤธโม 1:4-16) ทำนองคล้ายกัน การจัดวางตำแหน่งในกองทัพ นายพันย่อมอยู่ในตำแหน่งรองจากนายพลหรือกษัตริย์เท่านั้น.—2 ซามูเอล 18:1, 2; 2 โครนิกา 25:5.
14. “ชาวฟะลิศตีม” สมัยนี้กลายเป็นเหมือนเจ้าพระยาโดยวิธีใด?
14 ซะคาระยาไม่ได้พยากรณ์ว่าชาวฟะลิศตีมที่กลับใจจะเป็นเจ้าพระยาจริง ๆ ในแผ่นดินยิศราเอล. นั่นคงจะไม่เหมาะสม เพราะเขาไม่ใช่ชาวยิศราเอลโดยกำเนิด. แต่เขาจะเป็นเช่น เจ้าพระยา อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่อันพอเทียบได้ว่าเป็นเจ้าพระยา. และก็ได้เป็นไปเช่นนั้น. ขณะที่คริสเตียนชนที่เหลือผู้ถูกเจิมลดจำนวนลง และหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่างก็มีขีดจำกัดเนื่องด้วยอายุขัย แกะอื่นซึ่งรับการฝึกอบรมเป็นอย่างดีต้องเข้ามาช่วยเหลือตามที่จำเป็น. พวกเขาไม่ต้องการเข้าแทนที่พี่น้องผู้ถูกเจิม. ทว่า ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้มอบอำนาจหน้าที่ตามความจำเป็นใน “แผ่นดิน” เพื่อว่าองค์การของพระเจ้าจะรุดหน้าต่อไปได้เรื่อย ๆ ตามวิธีการที่เป็นระเบียบ. การดำเนินงานเป็นขั้น ๆ ดังกล่าวยังจะเห็นได้จากคำพยากรณ์อีกข้อหนึ่ง.
ปุโรหิตและเกษตรกร
15. (ก) ในความสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 61:5, 6 ใครคือเหล่า “ปุโรหิตของพระยะโฮวา” และปุโรหิตดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างครบถ้วนเมื่อไร? (ข) ใครคือ “คนต่างชาติ” ซึ่งทำงานด้านเกษตรกรรมให้ชาวยิศราเอล และตามความหมายทางฝ่ายวิญญาณแล้ว งานนี้รวมถึงสิ่งใด?
15 ยะซายา 61:5, 6, อ่านดังนี้: “คนต่างชาติจะมาเลี้ยงฝูงสัตว์ให้เจ้า, คนต่างด้าวจะเป็นคนไถนาและเป็นคนทำสวนองุ่นให้เจ้า; ฝ่ายเจ้าจะถูกเรียกว่าเป็นปุโรหิตของพระยะโฮวา, และถูกขนานนามว่าเป็นผู้ปรนนิบัติพระเจ้าของเจ้า, เจ้าจะชื่นบานใจในทรัพย์สินของประชาชาติ, และเจ้าจะสวมรอยเข้าอยู่ในสง่าราศีของเขา.” ทุกวันนี้ “ปุโรหิตของพระยะโฮวา” คือคริสเตียนผู้ถูกเจิม. ในความหมายขั้นสุดยอดและครบถ้วน พวกเขาจะปฏิบัติหน้าที่ฐานะ “ปุโรหิตของพระยะโฮวา . . . เป็นผู้ปรนนิบัติพระเจ้าของเรา” ในราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 4:9-11) ใครคือคน “ต่างชาติ” ที่จะมาไถนาทำสวนให้? คนเหล่านี้ได้แก่แกะอื่น ซึ่งเป็นผู้อาศัยใน “แผ่นดิน” แห่งยิศราเอลของพระเจ้า. งานเลี้ยงสัตว์, งานไถนา, งานทำสวนองุ่นที่มอบหมายให้เขาทำหมายถึงอะไร? ตามนัยฝ่ายวิญญาณที่สำคัญ งานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ, บำรุงเลี้ยงและเก็บเกี่ยวรวบรวมผู้คน.—ยะซายา 5:7; มัดธาย 9:37, 38; 1 โกรินโธ 3:9; 1 เปโตร 5:2.
16. ในที่สุด ใครจะดำเนินงานทุกอย่างใน “แผ่นดิน” แห่งไพร่พลของพระเจ้า?
16 ในยุคปัจจุบัน มียิศราเอลฝ่ายวิญญาณเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกจำนวนไม่มากที่เข้าส่วนร่วมงานบำรุงเลี้ยง, งานไถนา, และงานทำสวนองุ่นฝ่ายวิญญาณ. ในที่สุด เมื่อประชาคมผู้ถูกเจิมทั้งหมดได้อยู่ร่วมกับพระคริสต์แล้ว งานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ทุกอย่างจะถูกละไว้กับแกะอื่น. แม้แต่การดูแล “แผ่นดิน” โดยมนุษย์ ก็จะอยู่ในมือของแกะอื่นผู้มีคุณวุฒิ ซึ่งมีการระบุชัดในพระธรรมยะเอศเคลว่าเป็นชนจำพวกเจ้าแผ่นดิน.—ยะเอศเคล บท 45, 46.e
“แผ่นดิน” ยั่งยืนตลอดไป
17. พระยะโฮวาทรงตระเตรียมการอะไรตลอดสมัยสุดท้ายนี้?
17 ใช่แล้ว ไม่จำเป็นที่ชนฝูงใหญ่จะหวั่นกลัว! พระยะโฮวาได้ทรงเตรียมการใหญ่โตไว้สำหรับพวกเขา. การดำเนินงานที่สำคัญอย่างยิ่งบนแผ่นดินโลกสมัยสุดท้ายนี้ได้แก่งานรวบรวมและงานประทับตราเหล่าผู้ถูกเจิม. (วิวรณ์ 7:3) อย่างไรก็ดี ระหว่างงานนี้ดำเนินอยู่ พระยะโฮวาจึงทรงนำแกะอื่นเข้ามาร่วมสมทบกับพวกเขาในแผ่นดินฝ่ายวิญญาณที่รับการฟื้นฟูแล้ว. ณ ที่นั่น พวกเขาได้รับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณและการฝึกอบรมในวิธีดำเนินชีวิตแบบคริสเตียน. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาได้รับการสั่งสอนเป็นอย่างดีเกี่ยวด้วยการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงงานดูแล. เนื่องด้วยสิ่งเหล่านี้ พวกเขารู้สึกขอบพระคุณอย่างสุดซึ้งต่อพระยะโฮวา และพี่น้องผู้ถูกเจิมของพวกเขา.
18. แกะอื่นจะอยู่ใน “แผ่นดิน” แห่งยิศราเอลฝ่ายวิญญาณอย่างซื่อสัตย์ภักดีตลอดเหตุการณ์อะไร?
18 เมื่อโฆฆแห่งมาโฆฆจู่โจมไพร่พลของพระเจ้ารอบสุดท้าย แกะอื่นจะยืนหยัดซื่อสัตย์มั่นคงพร้อมกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิมใน “แผ่นดินอันมีแต่บ้านเล็กน้อย.” แกะอื่นจะยังคงอยู่ใน “แผ่นดิน” นั้น ตอนที่พวกเขารอดผ่านการทำลายล้างชนนานาชาติและเข้าสู่โลกใหม่ของพระเจ้า. (ยะเอศเคล 38:11; 39:12, 13; ดานิเอล 12:1; วิวรณ์ 7:9, 14) โดยการรักษาความซื่อสัตย์อยู่เสมอ พวกเขาจะไม่ต้องทิ้งถิ่นอาศัยที่ยังความเบิกบานใจนั้นเลย.—ยะซายา 11:9.
19, 20. (ก) ในโลกใหม่ ผู้อยู่อาศัยใน “แผ่นดิน” จะชื่นชมกับงานดูแลที่ยิ่งใหญ่อะไร? (ข) พวกเราคอยท่าสิ่งใดด้วยความคาดหมายอย่างแรงกล้า?
19 แผ่นดินยิศราเอลโบราณมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครองและมีปุโรหิตแห่งตระกูลเลวี. ในโลกใหม่นั้น คริสเตียนจะมีผู้ดูแลยิ่งใหญ่กว่ามาก ภายใต้พระยะโฮวาองค์บรมมหิศร พวกเขาจะอยู่ใต้อำนาจพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นมหาปุโรหิตและมหากษัตริย์, และอยู่ภายใต้ชน 144,000 ในฐานะปุโรหิตและกษัตริย์—บางคนเป็นพี่น้องคริสเตียนชายหญิงซึ่งเขาเคยรู้จักมาก่อนเมื่ออยู่ในโลก. (วิวรณ์ 21:1) ผู้อยู่อาศัยในแผ่นดินฝ่ายวิญญาณด้วยความซื่อสัตย์จะอยู่บนแผ่นดินโลกที่ได้รับการกู้กลับสู่สภาพอุทยานตามตัวอักษร ชื่นชมยินดีกับพระพรในการบำบัดรักษาซึ่งไหลผ่านยะรูซาเลมใหม่.—ยะซายา 32:1; วิวรณ์ 21:2; 22:1, 2.
20 ขณะที่ราชรถอันสง่างามของพระยะโฮวาเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่อาจขัดขวางได้เพื่อที่จะบรรลุผลตามพระประสงค์ของพระองค์ พวกเราทุกคนรอท่าด้วยความคาดหวังอันแรงกล้าเพื่อจะทำส่วนของเราให้สำเร็จ. (ยะเอศเคล 1:1-28) ในที่สุด เมื่อบรรลุจุดมุ่งหมายเหล่านั้นแล้ว จงคิดดู จะมีการฉลองการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างมีชัยด้วยใจชื่นชมขนาดไหน! ถึงตอนนั้นบรรดาสิ่งมีชีวิตจะร่วมร้องเพลงถวายชัยด้วยเสียงดังกึกก้องตามที่บันทึกในวิวรณ์ 5:13 (ล.ม.) ดังนี้: “ขอให้พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์และพระเมษโปดกนั้นจงได้รับพระพรและเกียรติยศและสง่าราศีและฤทธานุภาพตลอดไปเป็นนิตย์”! ไม่ว่าแหล่งที่อยู่ของเราจะเป็นที่สวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก เราไม่กระหายอยากจะอยู่ที่นั่นหรอกหรือ เพื่อจะร่วมร้องประสานเสียงเป็นคำสรรเสริญอันเยี่ยมยอดเช่นนั้น?
[เชิงอรรถ]
a ดูหนังสือ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” (ภาษาอังกฤษ). จัดพิมพ์ปี 1953 โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง นิวยอร์ก, หน้า 322-323.
b เพื่อการพิจารณาอย่างละเอียด ดูบทความ “‘ผู้ที่ทรงให้ไว้’—การจัดเตรียมของพระยะโฮวา” จากหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1992.
c ดูหนังสือการกู้อุทยานให้มนุษยชาติ—โดยระบอบของพระเจ้า! (ภาษาอังกฤษ) หน้า 264-269 จัดพิมพ์ปี 1972 โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง นิวยอร์ก.
d คำฮีบรู: ระเชʹอัลเฟʹยิศราเอลʹ ได้รับการแปลเป็น คิลีʹอาร์คอยʹ ในคัมภีร์ เซ็ปตัวจินต์.
e ดูหนังสือ “นานาชาติจะรู้ว่าเราคือพระยะโฮวา”—โดยวิธีใด? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์ปี 1971 โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง นิวยอร์ก, หน้า 401-407.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ “แผ่นดิน” อะไรที่ได้รับการฟื้นฟูเมื่อปี 1919 และมีคนอยู่กันเต็มแผ่นดินโดยวิธีใด?
▫ แกะอื่นได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นอย่างไรใน “แผ่นดิน” แห่งไพร่พลของพระเจ้าซึ่งได้รับการฟื้นฟู?
▫ โดยวิธีใดสมาชิกแห่งชนฝูงใหญ่เป็น “ดุจชาวยะบูศ”? “ดุจเจ้าพระยาในจำพวกยะฮูดา”?
▫ แกะอื่นที่สัตย์ซื่อจะคงอยู่ใน “แผ่นดิน” นั้นนานเท่าไร?
[รูปภาพหน้า 23]
ชาวฟะลิศตีมสมัยปัจจุบันจะเป็น ‘ดุจเจ้าพระยาในแผ่นดินยูดา’
[รูปภาพหน้า 24]
ผู้ถูกเจิมและแกะอื่นร่วมรับใช้ด้วยกันในแผ่นดินฝ่ายวิญญาณ