พระธรรมเล่มที่ 23—ยะซายา
ผู้เขียน: ยะซายา
สถานที่เขียน: ยะรูซาเลม
เขียนเสร็จ: หลังปี 732 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ประมาณปี 778-หลังปี 732 ก.ส.ศ.
1. ในช่วงศตวรรษที่แปด ก.ส.ศ. สถานการณ์เป็นอย่างไรในตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยิศราเอลและยูดา?
เงาอันตรายที่น่ากลัวของกษัตริย์อัสซีเรียผู้เหี้ยมโหดทอดคลุมจักรวรรดิอื่น ๆ และอาณาจักรที่เล็กกว่าทั้งหลายในตะวันออกกลาง. ทั่วเขตนั้นเต็มไปด้วยการเจรจาคบคิดและการรวมตัวเป็นพันธมิตรกัน. (ยซา. 8:9-13) ในไม่ช้า ชาติยิศราเอลที่ออกหากทางเหนือคงตกเป็นเหยื่ออุบายของนานาชาติ ขณะที่กษัตริย์ยูดาทางใต้ก็ครองราชย์ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง. (2 กษัต. บท 15 ถึง 21) มีการพัฒนาอาวุธสงครามแบบใหม่และนำออกมาใช้ ซึ่งทำให้เวลานั้นยิ่งน่ากลัวขึ้น. (2 โคร. 26:14, 15) จะแสวงหาการคุ้มครองและความรอดได้จากที่ไหน? แม้ว่าพระนามของพระยะโฮวาอยู่ที่ริมฝีปากของประชาชนและพวกปุโรหิตแห่งอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างยูดา แต่หัวใจพวกเขาหันเหไปไกลในทิศทางอื่น ทีแรกที่อัสซีเรียและต่อมาก็อียิปต์. (2 กษัต. 16:7; 18:21) ความเชื่อในฤทธิ์เดชของพระยะโฮวาลดลง. ถ้าไม่ใช่การไหว้รูปเคารพโดยตรง ก็เป็นการนมัสการแบบหน้าซื่อใจคดที่มีแพร่หลาย ซึ่งยึดตามพิธีรีตองและไม่ใช่ความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างแท้จริง.
2. (ก) ใครตอบรับการเรียกให้พูดแทนพระยะโฮวา และเมื่อไร? (ข) ชื่อของผู้พยากรณ์คนนี้มีความหมายเช่นไร?
2 แล้วใครล่ะจะพูดแทนพระยะโฮวา? ใครล่ะจะประกาศถึงอำนาจช่วยให้รอดของพระองค์? มีเสียงตอบรับทันทีว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” ผู้พูดคือยะซายา ซึ่งได้กล่าวพยากรณ์อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว. นั่นเป็นในราวปี 778 ก.ส.ศ. ซึ่งกษัตริย์อุซียาผู้เป็นโรคเรื้อนสิ้นพระชนม์. (ยซา. 6:1, 8) ชื่อยะซายาหมายความว่า “ความรอดแห่งพระยะโฮวา” ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับชื่อเยซู แม้จะเขียนกลับกัน (คือ “พระยะโฮวาเป็นความรอด”). ตั้งแต่ต้นจนจบ คำพยากรณ์ของยะซายาเน้นข้อเท็จจริงนี้ที่ว่า พระยะโฮวาเป็นความรอด.
3. (ก) เราทราบอะไรเกี่ยวกับยะซายา? (ข) ท่านพยากรณ์ตลอดช่วงเวลาใด และผู้พยากรณ์คนอื่นในสมัยของท่านมีใครอีกบ้าง?
3 ยะซายาเป็นบุตรอาโมส (แต่อย่าจำสับสนกับอาโมศผู้พยากรณ์อีกคนหนึ่งจากยูดา). (1:1) พระคัมภีร์ไม่มีกล่าวถึงการเกิดและตายของท่าน แม้คำเล่าสืบปากของชาวยิวบอกว่ากษัตริย์มะนาเซผู้ชั่วร้ายได้เลื่อยท่านเป็นท่อน ๆ ก็ตาม. (เทียบกับเฮ็บราย 11:37.) ข้อความที่ท่านเขียนแสดงว่า ท่านอยู่ที่ยะรูซาเลมพร้อมกับภรรยาซึ่งเป็นผู้พยากรณ์หญิงและมีลูกชายอย่างน้อยสองคนซึ่งมีชื่อเชิงพยากรณ์. (ยซา. 7:3; 8:1, 3) ท่านรับใช้ในรัชสมัยของกษัตริย์ยูดาอย่างน้อยสี่องค์คือ อุซียา, โยธาม, อาฮาศ, และฮิศคียา; ซึ่งดูเหมือนเริ่มในราวปี 778 ก.ส.ศ. (ในตอนที่อุซียาสิ้นชีพหรืออาจเป็นก่อนนั้น) และต่อเนื่องมาจนกระทั่งหลังปี 732 ก.ส.ศ. เป็นอย่างน้อย (คือปีที่ 14 แห่งรัชกาลฮิศคียา) หรือไม่น้อยกว่า 46 ปี. ไม่มีข้อสงสัยว่าท่านได้เขียนคำพยากรณ์ของท่านไว้ก่อนเมื่อมาถึงปี 732 ก.ส.ศ. เช่นกัน. (1:1; 6:1; 36:1) ผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ในสมัยของท่าน ได้แก่ มีคาในยูดา และโฮเซอากับโอเดดที่อยู่ทางเหนือ.—มีคา 1:1; โฮ. 1:1; 2 โคร. 28:6-9.
4. อะไรแสดงว่ายะซายาเป็นผู้เขียนพระธรรมนี้?
4 ที่ว่าพระยะโฮวาทรงบัญชายะซายาให้เขียนคำพิพากษาเชิงพยากรณ์ลงไว้นั้นมียืนยันที่ยะซายา 30:8 ดังนี้: “จงไปจารึกบนแผ่นศิลา, และบันทึกไว้ที่ม้วนหนังสือ, เพื่อจะเอาไว้อ้างเป็นพยานสืบต่อไปเป็นนิจ.” พวกรับบีชาวยิวในสมัยโบราณยอมรับว่ายะซายาเป็นผู้เขียนและรวมพระธรรมนี้ไว้เป็นพระธรรมเล่มแรกของผู้พยากรณ์คนสำคัญ ๆ (คือ ยะซายา, ยิระมะยา, และยะเอศเคล).
5. อะไรพิสูจน์ความสอดคล้องลงรอยกันในพระธรรมยะซายา?
5 แม้บางคนชี้ว่าลีลาการเขียนที่เปลี่ยนไปตั้งแต่บท 40 ของพระธรรมนี้แสดงว่าผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่ง หรือไม่ก็เป็น “ยะซายาที่สอง” แต่เนื้อเรื่องที่เปลี่ยนไปน่าจะเพียงพอเพื่ออธิบายเรื่องนี้. มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่ายะซายาเขียนพระธรรมนี้ทั้งเล่มซึ่งถูกเรียกตามชื่อของท่าน. ยกตัวอย่าง ความสอดคล้องกันโดยตลอดของพระธรรมนี้มีระบุไว้โดยถ้อยคำที่ว่า “องค์บริสุทธิ์แห่งชาติยิศราเอล” ซึ่งปรากฏ 12 ครั้งในบท 1 ถึง 39 และ 13 ครั้งในบท 40 ถึง 66 รวมทั้งหมด 25 ครั้ง; ในขณะที่สำนวนนี้ปรากฏเพียง 6 ครั้งตลอดส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. นอกจากนี้ อัครสาวกเปาโลก็ยืนยันความสอดคล้องลงรอยกันของพระธรรมนี้โดยการยกข้อความจากทุกส่วนแห่งคำพยากรณ์มากล่าวและถือว่างานทั้งหมดเป็นของผู้เขียนคนเดียว คือยะซายา.—เทียบโรม 10:16, 20; 15:12; กับยะซายา 53:1; 65:1; 11:1.
6. ม้วนหนังสือทะเลตายของยะซายาให้ข้อพิสูจน์อะไรที่ทำให้มั่นใจในเรื่อง (ก) คัมภีร์ไบเบิลของเราทุกวันนี้ตรงกับฉบับดั้งเดิมที่มีขึ้นโดยการดลใจ และ (ข) ยะซายาคนเดียวเป็นผู้เขียนพระธรรมนี้ทั้งเล่ม?
6 น่าสนใจ เริ่มต้นในปี 1947 มีการนำเอกสารโบราณบางชิ้นออกจากถ้ำมืด ๆ ไม่ไกลนักจากเคียร์เบต คุมราน ใกล้ชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลเดดซี (ทะเลตาย). เอกสารเหล่านั้นได้แก่ ม้วนหนังสือทะเลตาย ซึ่งมีคำพยากรณ์ของยะซายารวมไว้ด้วย. เอกสารนี้เขียนไว้อย่างสวยงามในภาษาฮีบรูก่อนสมัยของพวกมาโซเรตซึ่งได้รับการรักษาไว้อย่างดีและมีอายุประมาณ 2,000 ปี คือตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สอง ก.ส.ศ. ดังนั้น ข้อความในเอกสารนี้จึงเก่าแก่กว่าสำเนาต้นฉบับมาโซเรตเก่าที่สุดที่มีอยู่ถึงหนึ่งพันปี ซึ่งพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูฉบับแปลสมัยปัจจุบันใช้เป็นพื้นฐาน. มีข้อแตกต่างเล็กน้อยในเรื่องการสะกดและมีความแตกต่างในด้านโครงสร้างทางไวยากรณ์อยู่บ้าง แต่บันทึกนี้ไม่ต่างจากสำเนาต้นฉบับมาโซเรตในด้านหลักคำสอน. เรื่องนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นว่าคัมภีร์ไบเบิลของเราในทุกวันนี้บรรจุข่าวสารดั้งเดิมที่ยะซายาเขียนโดยการดลใจ. ยิ่งกว่านั้น ม้วนหนังสือโบราณนี้หักล้างคำวิพากษ์วิจารณ์ที่อ้างว่ามี “ยะซายา” สองคน เนื่องจากบท 40 เริ่มต้นในบรรทัดสุดท้ายของคอลัมน์ซึ่งมีบท 39 อยู่ ประโยคขึ้นต้นนี้จบในคอลัมน์ถัดไป. ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าผู้คัดสำเนาไม่ทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่คิดกันเอาเองไม่ว่าในเรื่องตัวผู้เขียนหรือการแบ่งพระธรรมยะซายาตรงจุดนี้.a
7. มีข้อพิสูจน์มากมายอะไรซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อถือได้ของยะซายา?
7 มีข้อพิสูจน์มากมายเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมยะซายา. นอกจากโมเซ ไม่มีผู้พยากรณ์คนอื่นใดอีกที่ผู้เขียนคัมภีร์คริสเตียนยกข้อความของเขาไปกล่าวบ่อยกว่ายะซายา. เช่นเดียวกัน มีหลักฐานมากมายทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พิสูจน์ว่าพระธรรมนี้เป็นของแท้ เช่น พงศาวดารกษัตริย์อัสซีเรีย ซึ่งรวมทั้งแท่งปริซึมหกเหลี่ยมของซันเฮริบซึ่งเขาเองได้บันทึกเรื่องการล้อมกรุงยะรูซาเลมไว้.b (ยซา. บท 36, 37) กองซากปรักหักพังที่เคยเป็นกรุงบาบูโลนยังคงเป็นพยานหลักฐานถึงความสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 13:17-22.c มีหลักฐานที่มีชีวิตในชาวยิวแต่ละคนในจำนวนหลายหมื่นซึ่งยกขบวนเดินทางกลับจากบาบูโลน พวกเขาได้รับการปลดปล่อยโดยกษัตริย์ไซรัส ซึ่งนามของท่านมีเขียนไว้โดยยะซายาก่อนหน้านั้นเกือบ 200 ปี. อาจเป็นไปได้มากทีเดียวว่า ต่อมามีคนให้ไซรัสดูคำพยากรณ์ส่วนนี้ เนื่องจากในคราวที่ปลดปล่อยชาวยิวที่เหลือ ไซรัสได้ตรัสถึงการที่ตนได้รับมอบหมายจากพระยะโฮวาให้ทำเช่นนั้น.—ยซา. 44:28; 45:1; เอษรา 1:1-3.
8. ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เรื่องพระมาซีฮาพิสูจน์อย่างไรในเรื่องการมีขึ้นโดยการดลใจ?
8 ที่นับว่าเด่นในพระธรรมยะซายาคือคำพยากรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระมาซีฮา. ยะซายาถูกเรียกว่า “ผู้พยากรณ์ที่บอกข่าวดี” เพราะหลายข้อเป็นคำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซู. บท 53 ซึ่งเป็น “บทลึกลับ” มาเป็นเวลานาน ไม่เพียงสำหรับขันทีชาวเอธิโอเปียที่มีกล่าวถึงในกิจการบท 8 แต่สำหรับชาวยิวทั้งชาติด้วยนั้น บอกล่วงหน้าอย่างมีชีวิตชีวาถึงการปฏิบัติต่าง ๆ ต่อพระเยซูเหมือนเป็นบันทึกของพยานที่รู้เห็น. พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกบันทึกความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ในบทที่โดดเด่นนี้ของยะซายา ดังที่การเปรียบเทียบต่อไปนี้แสดงให้เห็น: ข้อ 1—โยฮัน 12:37, 38; ข้อ 2—โยฮัน 19:5-7; ข้อ 3—มาระโก 9:12; ข้อ 4—มัดธาย 8:16, 17; ข้อ 5—1 เปโตร 2:24; ข้อ 6—1 เปโตร 2:25; ข้อ 7—กิจการ 8:32, 35; ข้อ 8—กิจการ 8:33; ข้อ 9—มัดธาย 27:57-60; ข้อ 10—เฮ็บราย 7:27; ข้อ 11—โรม 5:18; ข้อ 12—ลูกา 22:37. ใครจะเป็นแหล่งแห่งคำพยากรณ์ที่แม่นยำนี้ได้ นอกจากพระเจ้า?
เนื้อเรื่องในยะซายา
9. เนื้อหาของยะซายาแบ่งเป็นตอน ๆ อะไรบ้าง?
9 หกบทแรกบอกถึงฉากเหตุการณ์ในยูดาและยะรูซาเลมและกล่าวถึงความผิดที่พวกยูดาทำเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวารวมทั้งงานมอบหมายของยะซายา. บท 7 ถึง 12 กล่าวถึงการรุกรานของศัตรูที่มาคุกคามและคำสัญญาเรื่องการปลดปล่อยโดยองค์สันติราชที่พระยะโฮวาทรงมอบหมาย. บท 13 ถึง 35 บรรจุชุดคำแถลงการณ์ต่อหลายชาติและคำพยากรณ์เรื่องการช่วยให้รอดที่พระยะโฮวาจะทรงจัดเตรียม. เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของฮิศคียามีพรรณนาไว้ในบท 36 ถึง 39. ส่วนบทที่เหลือ คือบท 40 ถึง 66 มีอรรถบทเกี่ยวกับการปลดปล่อยจากบาบูโลน, การกลับมาของชาวยิวที่เหลือ, และการบูรณะซีโอน.
10. (ก) เหตุใดยะซายาเรียกร้องให้ชาตินี้จัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย? (ข) ท่านพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายแห่งสมัย?
10 ข่าวสารของยะซายา “เกี่ยวกับยะฮูดาและยะรูซาเลม” (1:1–6:13). จงมองดูท่านซึ่งสวมเสื้อผ้าเนื้อหยาบและรองเท้าแตะขณะที่ท่านยืนในยะรูซาเลมและร้องว่า พวกผู้เผด็จการ! ประชาชนทั้งหลาย! จงฟัง! ประเทศของเจ้าป่วยตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และเจ้าทำให้พระยะโฮวาเบื่อหน่ายกับมือเปรอะโลหิตที่เจ้าชูขึ้นเมื่ออธิษฐาน. มาเถิด จงจัดการเรื่องราวกับพระองค์ให้เรียบร้อย เพื่อจะทำให้บาปที่แดงฉานขาวเหมือนหิมะ. ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย ภูเขาแห่งราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกยกขึ้น และทุกชาติจะหลั่งไหลไปที่นั่นเพื่อรับการสั่งสอน. พวกเขาจะไม่เรียนการสงครามอีกต่อไป. พระยะโฮวาจะได้รับการเชิดชูสูงส่งและเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. แต่ปัจจุบัน ยิศราเอลและยูดา แม้ถูกปลูกไว้ดุจองุ่นที่คัดแล้ว กลับเกิดผลองุ่นแห่งการละเลยกฎหมาย. พวกเขาทำสิ่งดีให้เสียไป และทำสิ่งชั่วให้เป็นสิ่งดี เพราะพวกเขาคิดว่าตนฉลาด.
11. ยะซายาได้รับงานมอบหมายพร้อมกับนิมิตอะไร?
11 ยะซายากล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับเหนือพระที่นั่งสูงเด่น.” พร้อมกับนิมิตนี้ พระยะโฮวาได้ทรงมอบหมายดังนี้: “ไปบอกพลเมืองเหล่านี้ว่า, ‘ฟังแล้วฟังเล่า.’” นานแค่ไหน? “จนถึงบ้านเมืองจะร้างไม่มีพลเมืองอยู่.”—6:1, 9, 11.
12. (ก) ยะซายากับบุตรชายถูกใช้เป็นหมายสำคัญเชิงพยากรณ์อย่างไร? (ข) คำสัญญาที่โดดเด่นอะไรมีให้ไว้ในยะซายาบท 9?
12 การรุกรานของศัตรูที่คุกคามและคำสัญญาเรื่องการปลดปล่อย (7:1–12:6). พระยะโฮวาทรงใช้ยะซายาและบุตรชายเป็น ‘หมายสำคัญและสิ่งอัศจรรย์’ เชิงพยากรณ์เพื่อแสดงว่า ความร่วมมือของซีเรียกับยิศราเอลเพื่อต่อต้านยูดาจะล้มเหลวก่อน แต่ต่อมายูดาก็จะถูกกวาดไปเป็นเชลยโดยมีชนที่เหลือเท่านั้นที่กลับคืนถิ่น. หญิงสาวคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย. ชื่อของเขาล่ะ? คือ อีมานูเอล (หมายความว่า “พระเจ้าอยู่กับเรา”). ให้เหล่าศัตรูที่รวมหัวกันต่อสู้ยูดาดูไว้เถิด! “จงคาดเอวไว้เถอะ, และเจ้าก็จะแตกไปอย่างย่อยยับ.” จะมีเวลายากลำบาก แต่ต่อจากนั้นแสงสว่างอันยิ่งใหญ่จะฉายลงเหนือไพร่พลของพระเจ้า. เพราะบุตรคนหนึ่งได้เกิดมาเพื่อพวกเรา “และเขาจะขนานนามของท่านว่า, ที่ปรึกษามหัศจรรย์, พระเจ้าทรงอานุภาพ, พระบิดาองค์ถาวร, และองค์สันติราช.”—7:14; 8:9, 18; 9:6.
13. (ก) ผลอะไรที่คอยท่าชาวอัสซีเรียผู้โอหัง? (ข) การปกครองของ “หน่อ” จากยิซัยจะยังผลเช่นไร?
13 พระยะโฮวาตรัสว่า “วิบัติแก่ประเทศอะซูระ, ซึ่งเป็นไม้เรียวสำหรับสำแดงความพิโรธของเรา.” หลังจากที่ใช้ไม้เรียวนั้นต่อ “ประเทศที่ไม่นับถือพระเจ้า [“ชาติที่ออกหาก,” ล.ม.] ” พระเจ้าจะจัดการกับชาวอัสซีเรียผู้โอหังด้วยพระองค์เอง. ต่อจากนั้น “ส่วนที่เหลือ . . . จะหันกลับมา.” (10:5, 6, 21) บัดนี้จงดูหน่อ หน่อที่แตกจากต้นแห่งยิซัย (บิดาของดาวิด)! “หน่อ” นี้จะปกครองด้วยความชอบธรรม และโดยทางท่านสรรพสิ่งจะชื่นชมยินดี จะไม่มีความเสียหายหรือความพินาศใด ๆ “เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.” (11:1, 9) เนื่องด้วยท่านผู้นี้ ในฐานะเครื่องหมายสำหรับชาติต่าง ๆ จึงมีทางหลวงออกมาจากอัสซีเรียสำหรับชนที่เหลือที่กลับคืนถิ่น. จะมีความลิงโลดยินดีในการตักน้ำจากบ่อน้ำพุแห่งความรอดและจะเล่นดนตรีแด่พระยะโฮวา.
14. มีการพยากรณ์ถึงการตกต่ำเช่นไรสำหรับบาบูโลน?
14 การประกาศอวสานของบาบูโลน (13:1–14:27). ตอนนี้ยะซายามองผ่านยุคอัสซีเรียเข้าสู่ยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดของบาบูโลน. ฟังสิ! เสียงผู้คนมากมาย เสียงโกลาหลของอาณาจักรต่าง ๆ และของชาติทั้งหลายที่มาร่วมชุมนุม! พระยะโฮวากำลังระดมกองทัพ! นี่เป็นวันมืดมนสำหรับบาบูโลน. มีแต่ใบหน้าที่ตกตะลึง และหัวใจก็อ่อนละลายไป. ชาวมาดายที่ไร้ความปรานีจะโค่นบาบูโลน “ซึ่งเป็นสง่าของราชอาณาจักรทั้งหลาย.” เมืองนั้นจะต้องร้างเปล่าไร้ผู้คนและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า “ต่อไปทุกชั่วอายุ.” (13:19, 20) คนตายในเชโอลถูกปลุกขึ้นมาต้อนรับกษัตริย์บาบูโลน. พวกหนอนกลายเป็นที่นอนของท่านและไส้เดือนเป็นผ้าห่ม. ช่างเป็นความตกต่ำจริง ๆ สำหรับ “ดาราประจำวันบุตราแห่งอรุโณทัย” ผู้นี้! (14:12) เขาทะยานอยากจะยกบัลลังก์ของตนให้สูงขึ้นแต่กลับกลายเป็นซากศพที่ถูกโยนทิ้ง เมื่อพระยะโฮวาทรงกวาดบาบูโลนด้วยไม้กวาดแห่งความราพณาสูร. ไม่มีชื่อ, ไม่มีใครเหลือ, ไม่มีลูก, ไม่มีหลานเหลืออยู่เลย!
15. ยะซายาพยากรณ์ถึงความร้างเปล่าเช่นไรของนานาชาติ?
15 ความร้างเปล่าแห่งนานาชาติ (14:28–23:18). บัดนี้ยะซายาชี้กลับไปยังฟะลิศเตีย (ฟะเลเซ็ธ) ซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วมายังโมอาบ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเดดซี. ท่านกล่าวพยากรณ์ถึงดามัสกัสของซีเรียที่อยู่เลยเขตแดนทางเหนือของยิศราเอลขึ้นไป วกกลับไปทางใต้ถึงเอธิโอเปีย แล้วย้ายขึ้นไปทางแม่น้ำไนล์เข้าสู่อียิปต์ ด้วยคำพิพากษาของพระเจ้าซึ่งจะก่อความร้างเปล่าแก่ดินแดนตลอดเส้นทางนั้น. ท่านบอกถึงกษัตริย์ซัรโมน (ซาร์กอน) แห่งอัสซีเรีย ผู้ครองราชย์อยู่ก่อนซันเฮริบ ซึ่งส่งแม่ทัพทาร์ทัน (ธาระธาร) ไปรบกับเมืองอัศโดดของฟะลิศตีมซึ่งอยู่ทางตะวันตกของยะรูซาเลม. คราวนี้ยะซายาได้รับคำสั่งให้ถอดเสื้อและเดินตัวเปล่าและเท้าเปล่าเป็นเวลาสามปี. ด้วยวิธีนี้ ท่านแสดงภาพอย่างชัดเจนถึงความไร้ประโยชน์ของการไว้วางใจอียิปต์และเอธิโอเปีย ซึ่งจะถูกอัสซีเรียจับไปเป็นเชลยโดย “นุ่งผ้าก้นเปิด.”—20:4.
16. มีการมองเห็นความหายนะเช่นไรบ้างที่จะเกิดแก่บาบูโลน, อะโดม, พวกที่เอะอะโวยวายแห่งยะรูซาเลม, ซีโดน, และตุโร?
16 ยามบนหอสังเกตการณ์มองเห็นความล่มจมของบาบูโลนและพระทั้งหลายของเมืองนั้น รวมทั้งมองเห็นความหายนะที่เกิดแก่อะโดมด้วย. พระยะโฮวาเองตรัสแก่ประชาชนที่เอะอะโวยวายแห่งยะรูซาเลมที่กำลังพูดว่า “ให้เรากินและดื่มเถิด เพราะว่าพรุ่งนี้เราจะตาย.” พระยะโฮวาตรัสว่า “เจ้าจะตาย.” (22:13, 14, ฉบับแปลใหม่) เรือเดินทะเลแห่งเมืองธาระซิศก็เช่นกันจะต้องร้องคร่ำครวญ และซีโดนจะต้องอับอาย เพราะพระยะโฮวาทรงประทานคำแนะนำต่อต้านเมืองตุโรเพื่อ “หลู่เกียรติของผู้มีเกียรติทั้งสิ้นในแผ่นดินโลก.”—23:9, ฉบับแปลใหม่.
17. มีคำพยากรณ์ถึงการพิพากษาและการฟื้นฟูเช่นไรสำหรับยูดา?
17 คำพิพากษาและการช่วยให้รอดของพระยะโฮวา (24:1–27:13). แต่บัดนี้ขอมาดูที่ยูดา! พระยะโฮวาทรงกำลังทำให้แผ่นดินว่างเปล่า. ประชาชนและปุโรหิต, บ่าวและนาย, ผู้ซื้อและผู้ขาย—ทุกคนจะต้องไป เพราะพวกเขาได้ละเลยกฎหมายของพระเจ้าและได้หักทำลายสัญญาไมตรีอันยั่งยืนเป็นนิตย์. แต่ในภายหลัง พระองค์จะทรงหันมาเอาใจใส่พวกเชลยและรวบรวมพวกเขา. พระองค์เป็นป้อมเข้มแข็งและเป็นที่คุ้มภัย. พระองค์จะทรงจัดการเลี้ยงบนภูเขาของพระองค์และกำจัดความตายออกไปตลอดกาล ทรงเช็ดน้ำตาจากหน้าของคนทั้งปวง. จะมีการกล่าวว่า “นี่แหละคือพระเจ้าของเรา . . . นี่แหละคือพระยะโฮวา.” (25:9, ล.ม.) ยูดามีเมืองพร้อมด้วยความรอดเป็นกำแพง. สันติสุขยืนนานจะมีสำหรับผู้ที่ไว้วางใจพระยะโฮวา “เพราะยาห์ยะโฮวาเป็นศิลาแห่งเวลาไม่กำหนด.” แต่คนชั่ว “จะไม่เรียนรู้ความชอบธรรมเสียเลย.” (26:4, 10, ล.ม.) พระยะโฮวาจะสังหารเหล่าปรปักษ์ แต่พระองค์จะฟื้นฟูยาโคบ.
18, 19. (ก) ความวิบัติและความยินดีที่ตรงข้ามกันอะไรบ้างที่มีประกาศไว้สำหรับเอฟรายิมและซีโอน? (ข) พระยะโฮวาจะทรงช่วยและปกครองไพร่พลของพระองค์ในฐานะอะไร?
18 พระพิโรธและพระพรของพระเจ้า (28:1–35:10). วิบัติแก่พวกขี้เมาแห่งเอฟรายิมซึ่ง “สิ่งประดับแห่งความงดงาม” ของเขาจะต้องเหี่ยวแห้งไป! แต่พระยะโฮวาจะทรง “เป็นดุจมงกุฎประดับและดุจมาลัยอันงดงาม” แก่ชนที่เหลือแห่งไพร่พลของพระองค์. (28:1, 5, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้ที่คุยโวโอ้อวดแห่งยะรูซาเลมหมายพึ่งความมุสาเป็นที่คุ้มภัย แทนที่จะพึ่งศิลาหัวมุมในซีโอนที่ไว้ใจได้และล้ำค่า. น้ำท่วมฉับพลันจะพัดพาพวกเขาไปสิ้น. พวกผู้พยากรณ์ของยะรูซาเลมกำลังนอนหลับและหนังสือของพระเจ้าถูกปิดผนึกไว้จากพวกเขา. ริมฝีปากอยู่ใกล้พระองค์แต่หัวใจอยู่ไกล. กระนั้น วันนั้นจะมาถึงเมื่อคนหูหนวกจะได้ยินข้อความในหนังสือนั้น. คนตาบอดจะเห็นและคนอ่อนน้อมจะยินดี.
19 วิบัติแก่ผู้ที่ลงไปหาที่ลี้ภัยที่อียิปต์! ประชาชนที่ดื้อดึงพวกนี้ต้องการนิมิตที่หลอกลวงและทำให้สบายใจ. พวกเขาจะต้องถูกกวาดล้าง แต่พระยะโฮวาจะฟื้นฟูชนที่เหลือ. คนเหล่านี้จะเห็นพระบรมครูและพวกเขาจะทำลายรูปแกะสลักของตน เรียกมันว่า “ของโสโครก!” (30:22, ล.ม.) พระยะโฮวาเป็นผู้ป้องกันองค์เที่ยงแท้ของยะรูซาเลม. กษัตริย์จะปกครองด้วยความชอบธรรมพร้อมกับพวกเจ้าชาย. พระองค์จะนำมาซึ่งสันติสุข, ความสงบเงียบ, และความปลอดภัยถึงเวลาไม่กำหนด. การทรยศจะทำให้ทูตแห่งสันติสุขคร่ำครวญอย่างขมขื่น แต่พระยะโฮวาองค์ยิ่งใหญ่ทรงเป็นผู้พิพากษา, ผู้ประทานกฎหมาย, และพระบรมมหากษัตริย์สำหรับไพร่พลของพระองค์เอง และพระองค์จะทรงช่วยชีวิตพวกเขา. ตอนนั้นจะไม่มีผู้ที่อยู่ที่นั่นคนใดกล่าวว่า “ข้าพเจ้าป่วยอยู่.”—33:24.
20. พระพิโรธอะไรที่จะพลุ่งขึ้นต่อชาติทั้งหลาย แต่พระพรอะไรคอยท่าชนที่เหลือที่ได้รับการฟื้นฟู?
20 พระพิโรธของพระยะโฮวาจะต้องพลุ่งขึ้นต่อชาติทั้งหลาย. ซากศพจะส่งกลิ่นเหม็นและเลือดจะนองภูเขา. อะโดมต้องร้างเปล่า. แต่สำหรับผู้ที่พระยะโฮวาทรงไถ่ ทะเลทรายจะมีดอกไม้งอกขึ้นและ “สง่าราศีของพระยะโฮวา, และความงดงามของพระเจ้า” จะปรากฏ. (35:2) คนตาบอด, คนหูหนวก, และคนใบ้จะได้รับการรักษา อีกทั้งทางบริสุทธิ์จะเปิดไว้สำหรับผู้ที่พระยะโฮวาทรงไถ่ ขณะที่พวกเขากลับสู่ซีโอนด้วยความยินดี.
21. ชาวอัสซีเรียเย้ยหยันยะรูซาเลมอย่างไร?
21 พระยะโฮวาทรงทำให้อัสซีเรียถอยกลับในสมัยของฮิศคียา (36:1–39:8). คำกระตุ้นเตือนของยะซายาที่ให้ไว้วางใจพระยะโฮวาใช้ได้จริงไหม? จะผ่านการทดสอบได้ไหม? ในปีที่ 14 แห่งรัชกาลของฮิศคียา ซันเฮริบแห่งอัสซีเรียยกมาตีกวาดเอาราวกับเคียวใหญ่ด้ามยาวเกี่ยวไปทั่วปาเลสไตน์และแบ่งกองทหารบางส่วนให้มาข่มขู่ยะรูซาเลม. รับซาเคโฆษกของเขาที่พูดภาษาฮีบรูได้ร้องถามในเชิงเยาะเย้ยแก่ประชาชนซึ่งยืนเรียงกันอยู่ที่กำแพงกรุงว่า ‘พวกเจ้าไว้วางใจอะไร? อียิปต์รึ? ก็แค่ไม้อ้อที่หักแล้ว! พระยะโฮวารึ? ไม่มีพระองค์ใดสามารถช่วยให้พ้นจากกษัตริย์อัสซีเรียได้!’ (36:4, 6, 18, 20) ด้วยความเชื่อฟังกษัตริย์ ประชาชนไม่ตอบอะไร.
22. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของฮิศคียาอย่างไร และพระองค์ทรงทำให้คำพยากรณ์ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
22 ฮิศคียาอธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงช่วยให้รอดเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์ และโดยทางยะซายา พระยะโฮวาทรงตอบว่าพระองค์จะเอาขอเกี่ยวจมูกกษัตริย์อัสซีเรียและนำเขากลับไปตามทางที่เขามา. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้สังหารชาวอัสซีเรีย 185,000 คน และซันเฮริบรีบถอนทัพกลับบ้าน ที่ซึ่งต่อมาราชบุตรของเขาเองได้สังหารเขาในวิหารนอกรีตของเขา.
23. (ก) ในโอกาสใดที่ฮิศคียาประพันธ์เพลงสรรเสริญพระยะโฮวา? (ข) ท่านทำอะไรอย่างไม่สุขุมซึ่งยังผลให้ยะซายาพยากรณ์เรื่องอะไร?
23 ฮิศคียาทรงป่วยเจียนตาย. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงทำให้เงาอันเนื่องจากดวงอาทิตย์ถอยกลับอย่างอัศจรรย์ เป็นหมายสำคัญว่าฮิศคียาจะได้รับการรักษา และได้ยืดชีวิตฮิศคียาออกไปอีก 15 ปี. ท่านได้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญอันไพเราะแด่พระยะโฮวาด้วยความขอบพระคุณ. เมื่อกษัตริย์บาบูโลนส่งทูตมาแสดงความยินดีอย่างหน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องที่ท่านหายประชวร ฮิศคียาได้แสดงให้ทูตเหล่านั้นเห็นราชทรัพย์อย่างขาดความสุขุม. ด้วยเหตุนั้น ยะซายาจึงพยากรณ์ว่า จะมีวันหนึ่งที่ทุกสิ่งในราชวังของฮิศคียาจะถูกนำไปยังบาบูโลน.
24. (ก) พระยะโฮวาทรงประกาศข่าวดีอะไรที่ให้การปลอบโยน? (ข) พระแห่งชาติทั้งหลายเปรียบกับพระยะโฮวาได้ไหมในด้านความยิ่งใหญ่ และพระองค์ทรงเรียกหาพยานอะไร?
24 พระยะโฮวาทรงปลอบโยนเหล่าพยานของพระองค์ (40:1–44:28). คำขึ้นต้นในบท 40 ที่ว่า “จงเล้าโลม” พรรณนาอย่างดีถึงข้อความส่วนที่เหลือของยะซายา. เสียงในถิ่นทุรกันดารร้องออกมาว่า “จงเตรียมทางของพระยะโฮวาไว้ในป่า.” (40:1, 3) มีข่าวดีสำหรับซีโอน. พระยะโฮวาทรงบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ ทรงอุ้มพวกลูกแกะไว้แนบพระทรวงของพระองค์. พระองค์ทอดพระเนตรจากสวรรค์สูงสุดลงมายังวงกลมของแผ่นดินโลก. จะเปรียบความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้กับอะไร? พระองค์ทรงประทานกำลังและเรี่ยวแรงอย่างเต็มที่แก่ผู้เหน็ดเหนื่อยและอิดโรยซึ่งมุ่งหวังในพระองค์. พระองค์ทรงประกาศว่ารูปเคารพที่ชาติทั้งหลายหล่อขึ้นจะเป็นดั่งลมและสิ่งลวง. ผู้ถูกเลือกสรรของพระองค์จะเป็นเหมือนสัญญาไมตรีแก่ชนชาติต่าง ๆ และเป็นแสงสว่างของชาติทั้งหลายเพื่อจะเปิดตาที่บอดให้มองเห็น. พระยะโฮวาตรัสแก่ยาโคบว่า “เจ้า . . . เป็นที่รัก . . . แก่เรา” และพระองค์ทรงร้องบอกทิศตะวันออก, ทิศตะวันตก, ทิศเหนือ, และทิศใต้ให้ ‘ปล่อยเถิด! จงนำบุตราและบุตรีของเรากลับมา.’ (43:4, 6) ขณะพิจารณาคดี พระองค์ทรงท้าพระของชาติทั้งหลายให้หาพยานมาพิสูจน์ความเป็นพระของตน. พลเมืองยิศราเอลเป็นพยานของพระยะโฮวา เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ซึ่งยืนยันว่าพระองค์เป็นพระเจ้าและเป็นผู้ช่วยให้รอด. สำหรับยะซูรุน (“ผู้ซื่อตรง,” ยิศราเอล) พระองค์สัญญาจะประทานพระวิญญาณของพระองค์แล้วจะยังความอับอายแก่ผู้ทำรูปที่ไม่รู้ไม่เห็นอะไร. พระยะโฮวาเป็นผู้ไถ่แห่งไพร่พลของพระองค์; ยะรูซาเลมจะเป็นที่อาศัยอีกครั้งและพระวิหารจะถูกสร้างขึ้นใหม่.
25. คนทั้งหลายจะได้มารู้เรื่องอะไรจากการพิพากษาที่พระยะโฮวามีต่อบาบูโลนและพระเท็จของนาง?
25 การแก้แค้นบาบูโลน (45:1–48:22). เพื่อเห็นแก่ชาติยิศราเอล พระยะโฮวาทรงระบุชื่อไซรัสซึ่งจะพิชิตบาบูโลน. คนทั้งหลายจะต้องรู้ว่าพระยะโฮวาผู้เดียวเป็นพระเจ้า พระผู้สร้างสวรรค์, แผ่นดินโลก, และมนุษย์บนแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงเย้ยเหล่าพระบาละและพระเนโบของบาบูโลน เพราะพระองค์เท่านั้นที่ทรงบอกถึงอวสานได้ตั้งแต่เริ่มต้น. บุตรีพรหมจารีแห่งบาบูโลนจะต้องนั่งบนฝุ่น ถูกถอดจากบัลลังก์และเปลือยเปล่า และที่ปรึกษามากมายของเธอจะถูกเผาเหมือนซังข้าว. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ชาวยิศราเอลซึ่งมี ‘คอเป็นเหล็ก หัวเป็นทองแดง’ ที่ไหว้รูปเคารพว่า พวกเขาจะมีสันติสุข, ความชอบธรรม, และความรุ่งเรืองได้โดยการรับฟังพระองค์ แต่ “ไม่มีความสงบสุขสำหรับคนชั่ว.”—48:4, 22.
26. ซีโอนจะได้รับการปลอบโยนอย่างไร?
26 ซีโอนได้รับการปลอบโยน (49:1–59:21). เมื่อทรงให้ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นเหมือนแสงสว่างแก่ชาติทั้งหลาย พระยะโฮวาทรงร้องบอกผู้อยู่ในความมืดว่า “จงออกไปเถอะ!” (49:9) ซีโอนจะได้รับการปลอบโยนและถิ่นทุรกันดารจะกลายเป็นเหมือนเอเดน สวนของพระยะโฮวา ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยความลิงโลดยินดี, การขอบพระคุณ, และเสียงดนตรี. พระยะโฮวาจะทรงทำให้ฟ้าสวรรค์สูญไปดั่งควัน และแผ่นดินโลกขาดวิ่นเหมือนเสื้อผ้า และผู้อาศัยบนแผ่นดินโลกตายเหมือนแมลงเล็ก ๆ. ดังนั้น ทำไมจึงกลัวคำตำหนิจากมนุษย์ที่ตายได้? บัดนี้ถ้วยเหล้าอันขมขื่นที่ยะรูซาเลมดื่มได้ถูกส่งให้ชาติทั้งหลายซึ่งได้เหยียบย่ำเมืองนี้.
27. มีการประกาศข่าวดีอะไรแก่ซีโอน และมีคำพยากรณ์อะไรเกี่ยวกับ ‘ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา’?
27 ‘ตื่นเถิด! ซีโอนเอ๋ย จงลุกขึ้นจากฝุ่น.’ จงดูผู้ส่งข่าวซึ่งไปตามภูเขาพร้อมกับข่าวดีและร้องบอกซีโอนว่า “พระเจ้าของเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว!” (52:1, 2, 7, ล.ม.) ผู้อยู่ในงานรับใช้พระยะโฮวา จงออกมาจากสถานที่ที่เป็นมลทินและรักษาตัวเจ้าให้สะอาด. ตอนนี้ผู้พยากรณ์พรรณนาถึง ‘ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา.’ (53:11) ท่านเป็นผู้ที่ถูกดูหมิ่น, ถูกทอดทิ้ง, แบกรับความเจ็บปวดของพวกเราและถึงกระนั้นก็ถือกันว่าถูกพระเจ้าโบยตี. ท่านถูกแทงเพราะการล่วงละเมิดของเรา แต่ท่านรักษาเราด้วยบาดแผลของท่าน. เหมือนแกะที่ถูกนำไปหาผู้ฆ่า ท่านไม่ทำการรุนแรงและไม่พูดคำหลอกลวง. ท่านให้จิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาไถ่ความผิดเพื่อแบกรับความผิดของคนเป็นอันมาก.
28. พระพรที่จะมีมาของซีโอนมีการพรรณนาไว้อย่างไร และเกี่ยวข้องกับสัญญาไมตรีอะไร?
28 ในฐานะเจ้าของดุจสามี พระยะโฮวาทรงบอกซีโอนให้เปล่งเสียงร้องด้วยความยินดีเพราะนางจะมีลูกดก. ถึงแม้ประสบความทุกข์ยากและถูกพายุกล้าพัดกระหน่ำ นางจะเป็นนครที่มีรากเป็นไพฑูรย์, เชิงเทินทับทิม, และประตูรัตนชาติสีแดงเพลิง. ลูกหลานของนางซึ่งได้รับการสอนจากพระยะโฮวาจะมีความสงบสุขอันบริบูรณ์ และไม่มีอาวุธใด ๆ ที่ตั้งขึ้นต่อสู้พวกเขาจะประสบผลสำเร็จ. พระยะโฮวาทรงเปล่งสุรเสียงว่า “โอ้ใคร ๆ ที่กระหาย.” ถ้าพวกเขามา พระองค์จะทรงทำ “สันถวไมตรี” กับพวกเขาอันเกี่ยวด้วย “ความโปรดปรานที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับดาวิดแล้ว”; พระองค์จะทรงประทานผู้นำและผู้บัญชาการเป็นพยานแก่ชนประเทศทั้งหลาย. (55:1-4) ความคิดของพระเจ้าสูงยิ่งกว่าของมนุษย์อย่างไม่มีขีดจำกัด และพระดำรัสของพระองค์จะสำเร็จผลแน่นอน. ขันทีที่ถือรักษากฎหมายของพระองค์ ไม่ว่าจะมาจากชาติใด จะได้รับชื่อที่ดียิ่งกว่าบุตรชายหญิง. ราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกเรียกว่านิเวศแห่งการอธิษฐานสำหรับทุกชนชาติ.
29. พระยะโฮวาตรัสแก่ผู้ที่ไหว้รูปเคารพว่าอย่างไร แต่พระองค์ทรงให้คำรับรองแก่ไพร่พลของพระองค์ว่าอย่างไร?
29 ในฐานะองค์ใหญ่ยิ่งสูงสุดซึ่งพระนามของพระองค์เป็นบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่คนไหว้รูปเคารพที่คลั่งไคล้เรื่องเพศว่า พระองค์จะไม่ทรงถกเถียงกับชาติยิศราเอลจนถึงเวลาไม่กำหนด. การเสแสร้งอดอาหารของพวกเขาก็เพื่อปกปิดความชั่วช้า. พระหัตถ์ของพระยะโฮวาไม่สั้นเกินจะช่วยให้รอด และพระกรรณของพระองค์ก็ไม่หนักเกินจะได้ยิน แต่ยะซายาบอกว่า “ความอสัตย์อธรรมของเจ้าต่างหากที่เป็นเครื่องกีดกั้นระหว่างเจ้ากับพระเจ้าของเจ้า.” (59:2) นั่นคือสาเหตุที่พวกเขาคอยหาแสงสว่างแต่กลับคลำหาในความมืด. อีกด้านหนึ่ง พระวิญญาณของพระยะโฮวาซึ่งอยู่เหนือไพร่พลตามสัญญาไมตรีของพระองค์ซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์นั้นรับรองว่า พระคำของพระองค์จะยังคงอยู่ในปากของพวกเขาจนทุกชั่วอายุในวันข้างหน้าอย่างที่กำจัดออกไปไม่ได้.
30. พระยะโฮวาตกแต่งซีโอนอย่างไร ดังที่มีแสดงโดยชื่อใหม่อะไรบ้าง?
30 พระยะโฮวาทรงตกแต่งซีโอน (60:1–64:12). “[“โอ้หญิงเอ๋ย,” ล.ม.] ลุกขึ้นเถอะ, จงส่องแสง! เพราะว่า . . . สง่าราศีของพระยะโฮวาได้ลงมาจับอยู่บนเจ้าแล้ว.” ในทางตรงข้าม ความมืดทึบห่อหุ้มแผ่นดินโลกไว้. (60:1, 2) ในเวลานั้นซีโอนจะเงยหน้าและจะเปล่งประกายรุ่งโรจน์ และหัวใจนางจะเต้นระทึกเมื่อเห็นทรัพยากรของนานาชาติบนหลังอูฐฝูงใหญ่มายังนาง. พวกเขาจะหลั่งไหลมาหานางดั่งฝูงนกพิราบบิน. ชาวต่างประเทศจะสร้างกำแพงให้นาง กษัตริย์ทั้งหลายจะปรนนิบัตินาง และประตูของนางจะไม่ปิดเลย. พระเจ้าของนางจะเป็นความงดงามแก่นาง และพระองค์จะทรงทำให้ทวีจำนวนอย่างรวดเร็วจากคนเดียวเป็นหนึ่งพันและคนเล็ก ๆ เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่ง. ผู้รับใช้ของพระเจ้าร้องว่า พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตอยู่กับท่าน เจิมท่านให้บอกข่าวดีนี้. ซีโอนได้ชื่อใหม่คือ “ความปีติยินดีของเราอยู่ในนาง” (เฮฟซีบาห์) และดินแดนของนางจะถูกเรียกว่า มีเจ้าของดุจภรรยา (เบอูลาห์). (62:4, ล.ม. เชิงอรรถ) มีคำสั่งออกมาให้สร้างทางหลวงจากบาบูโลนและตั้งเครื่องหมายขึ้นในซีโอน.
31. ใครมาจากอะโดม และไพร่พลของพระเจ้าทูลอธิษฐานเช่นไร?
31 มีผู้หนึ่งนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงเลือดนกออกจากเมืองบัศราในอะโดม. ด้วยความโกรธ ท่านได้เหยียบย่ำประชาชนในรางองุ่น ทำให้พวกเขาเลือดพุ่งกระฉูด. ไพร่พลของพระยะโฮวาสำนึกอย่างแรงกล้าถึงสภาพไม่สะอาดของตนและทูลอธิษฐานด้วยใจปวดร้าวว่า “โอ้พระบิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเหมือนดินเหนียว, พระองค์เป็นช่างปั้นหม้อ, โอ้พระยะโฮวา, ขอพระองค์อย่าทรงพระพิโรธมากนักเลย, ข้าพเจ้าทั้งหลายก็เป็นพลเมืองของพระองค์ทั้งนั้น.”—64:8, 9.
32. ตรงข้ามกับผู้ที่ละทิ้งพระยะโฮวา ไพร่พลของพระยะโฮวาจะลิงโลดยินดีกับอะไร?
32 “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”! (65:1–66:24). ประชาชนซึ่งละทิ้งพระยะโฮวาไปหา “พระโชค” และ “พระเคราะห์” จะอดอยากและประสบความอับอาย. (65:11) ผู้รับใช้ของพระเจ้าเองจะยินดีเป็นอันมาก. ดูสิ! พระยะโฮวากำลังทรงสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่. นับเป็นความยินดีและปลื้มใจจริง ๆ ที่พบในยะรูซาเลมและพลเมืองของนาง! จะมีการสร้างบ้านและทำสวนองุ่นขณะที่สุนัขป่าและลูกแกะจะหากินด้วยกัน. จะไม่มีความเสียหายหรือความพินาศใด ๆ.
33. ความปีติยินดี, สง่าราศี, และความยั่งยืนถาวรอะไรที่มีพยากรณ์ไว้สำหรับผู้ที่รักยะรูซาเลม?
33 ฟ้าสวรรค์เป็นราชบัลลังก์และแผ่นดินโลกเป็นม้ารองพระบาทของพระองค์ ดังนั้นมนุษย์จะสร้างราชนิเวศเช่นไรสำหรับพระยะโฮวาได้? ชาติหนึ่งจะถือกำเนิดในวันเดียว และบรรดาผู้ที่รักยะรูซาเลมล้วนได้รับเชิญให้ปีติยินดีขณะที่พระยะโฮวาทรงทำให้สันติสุขของเมืองนี้ยืดยาวออกไปดุจแม่น้ำ. พระองค์จะเสด็จมาต่อสู้ศัตรูของพระองค์เหมือนไฟ—ราชรถมาเหมือนพายุที่สำแดงพระพิโรธของพระองค์ตอบแทนแก่เนื้อหนังทั้งมวลที่ไม่เชื่อฟัง ด้วยพระพิโรธกล้าและเปลวไฟ. ผู้ส่งข่าวจะออกไปท่ามกลางทุกชาติและไปยังเกาะที่ห่างไกลเพื่อบอกถึงสง่าราศีของพระองค์. ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ของพระองค์จะยั่งยืนถาวร. ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่รับใช้พระองค์กับลูกหลานของเขาจะดำรงอยู่เรื่อยไป. หากไม่เป็นเช่นนี้ก็เป็นความตายตลอดไป.
เหตุที่เป็นประโยชน์
34. อุทาหรณ์ที่มีชีวิตชีวาอะไรบ้างที่เสริมน้ำหนักข่าวสารของยะซายา?
34 เมื่อมองจากทุก ๆ ด้านแล้ว หนังสือแห่งคำพยากรณ์ของยะซายาเป็นของประทานที่ทรงคุณประโยชน์มากที่สุดอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวาพระเจ้า. พระธรรมนี้ฉายพระดำริอันสูงส่งของพระเจ้าออกมา. (ยซา. 55:8-11) เหล่าผู้บรรยายความจริงของคัมภีร์ไบเบิลสามารถพึ่งยะซายาเป็นคลังทรัพย์แห่งอุทาหรณ์ที่มีชีวิตชีวาซึ่งใช้ได้ตรงจุดสำคัญอย่างมีพลังเช่นเดียวกับอุทาหรณ์ต่าง ๆ ของพระเยซู. ยะซายาทำให้เราประทับใจอย่างลึกซึ้งด้วยเรื่องความโง่ของชายที่ใช้ต้นไม้ต้นเดียวกันทั้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงและเพื่อทำรูปเคารพสำหรับกราบไหว้. ท่านทำให้เรารู้ถึงความไม่สะดวกสบายของชายซึ่งนอนบนที่นอนที่สั้นเกินไป และผ้าปูที่นอนที่แคบเกินไป และท่านทำให้เราได้ยินเสียงการเคลิ้มหลับของพวกผู้พยากรณ์ที่เป็นเหมือนสุนัขใบ้ เกียจคร้านเกินจะเห่า. ตามที่ยะซายากระตุ้นเตือน ถ้าเรา ‘เสาะหาในหนังสือของพระยะโฮวาและอ่านเสียงดัง’ เราก็สามารถเข้าใจข่าวสารอันทรงพลังที่ยะซายามีสำหรับสมัยนี้.— 44:14-20; 28:20; 56:10-12; 34:16.
35. ยะซายาชี้ให้สนใจเรื่องราชอาณาจักรโดยพระมาซีฮา และในตัวโยฮันผู้ให้บัพติสมาผู้เตรียมทางล่วงหน้าอย่างไร?
35 คำพยากรณ์มุ่งโดยเฉพาะที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยพระมาซีฮา. พระยะโฮวาเองทรงเป็นพระบรมมหากษัตริย์และพระองค์นั่นแหละที่ช่วยเราให้รอด. (33:22) แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับพระมาซีฮาเอง? คำประกาศที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่มาเรียเกี่ยวกับบุตรที่จะกำเนิดมาแสดงว่า ยะซายา 9:6, 7 ต้องสำเร็จด้วยการที่บุตรนั้นจะได้รับราชบัลลังก์ของดาวิด; “และท่านจะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือเรือนของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และอาณาจักรของท่านจะไม่สิ้นสุดเลย.” (ลูกา 1:32, 33, ล.ม.) มัดธาย 1:22, 23 แสดงว่า การประสูติของพระเยซูจากหญิงพรหมจารีเป็นการสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 7:14 และระบุตัวพระองค์ว่าเป็น “อีมานูเอล.” ราว 30 ปีต่อมา โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้ประกาศว่า “แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว.” ผู้เขียนกิตติคุณทั้งสี่คนได้ยกยะซายา 40:3 มากล่าว เพื่อแสดงว่าโยฮันผู้นี้คือผู้ที่ “ร้องประกาศในถิ่นทุรกันดาร.” (มัด. 3:1-3; มโก. 1:2-4; ลูกา 3:3-6; โย. 1:23, ล.ม.) ในคราวที่พระองค์รับบัพติสมา พระเยซูได้มาเป็นมาซีฮา—ผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา หน่อหรือรากแห่งยิซัย—เพื่อปกครองชาติทั้งหลาย. ตามความสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 11:1, 10 พวกเขาต้องฝากความหวังไว้กับพระองค์.—โรม 15:8, 12.
36. ความสำเร็จเป็นจริงอะไรบ้างตามคำพยากรณ์ซึ่งระบุตัวพระมหากษัตริย์มาซีฮาอย่างชัดเจน?
36 มาดูกันว่ายะซายาดำเนินต่อไปอย่างไรในการระบุตัวพระมหากษัตริย์มาซีฮา! พระเยซูทรงอ่านเรื่องงานมอบหมายของพระองค์จากม้วนหนังสือยะซายาเพื่อแสดงว่าพระองค์เป็นผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาแล้วพระองค์จึงทรงทำการ “ประกาศกิตติคุณแห่งแผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของพระเจ้า . . . เพราะ” ดังที่พระองค์ตรัสว่า “เราได้รับใช้มานั้นก็เพราะเหตุนี้เอง.” (ลูกา 4:17-19, 43; ยซา. 61:1, 2) บันทึกกิตติคุณทั้งสี่เล่มเต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับงานรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลกและลักษณะการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ตามที่พยากรณ์ไว้ในยะซายาบท 53. แม้ว่าพวกยิวได้ยินข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและเห็นการอัศจรรย์ของพระเยซู พวกเขาก็ไม่เข้าใจความหมายเนื่องจากหัวใจพวกเขาขาดความเชื่อ ซึ่งสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ในยะซายา 6:9, 10; 29:13. และ 53:1. (มัด. 13:14, 15; โย. 12:38-40; กิจ. 28:24-27; โรม 10:16; มัด. 15:7-9; มโก. 7:6, 7) พระเยซูทรงเป็นหินสะดุดสำหรับพวกเขา แต่พระองค์ทรงเป็นฐานรากศิลาหัวมุมที่พระยะโฮวาทรงตั้งไว้ที่ซีโอนซึ่งบนหินนี้พระยะโฮวาทรงสร้างพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ขึ้นซึ่งสำเร็จเป็นจริงตามยะซายา 8:14 และ 28:16.—ลูกา 20:17; โรม 9:32, 33; 10:11; 1 เป. 2:4-10.
37. เหล่าอัครสาวกของพระเยซูยกยะซายาไปกล่าวและใช้อย่างไรบ้าง?
37 เหล่าอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ใช้ประโยชน์จากคำพยากรณ์ของยะซายาต่อไป โดยใช้กับงานรับใช้. ตัวอย่างเช่น เพื่อแสดงว่าจำเป็นต้องมีผู้ประกาศสำหรับการสร้างความเชื่อ เปาโลยกถ้อยคำในยะซายาไปกล่าวที่ว่า “เท้าของผู้เดินตามภูเขาประกาศข่าวแห่งสันติสุขและข่าวแห่งความรอดนั้นงดงามสักเพียงไร.” (โรม 10:15; ยซา. 52:7; ดูโรม 10:11, 16, 20, 21 ด้วย.) เปโตรก็เช่นกันยกเอายะซายาไปกล่าวเพื่อแสดงความคงทนถาวรของข่าวดี ที่ว่า “เพราะว่าบรรดาเนื้อหนังเป็นเหมือนต้นหญ้า, และบรรดาสง่าราศีของมนุษย์เป็นเหมือนดอกหญ้า. ต้นหญ้านั้นก็เหี่ยวแห้งไป, และดอกมันก็ร่วงโรยเสียไป แต่ว่าพระคำของพระเจ้าดำรงอยู่เป็นนิตย์. นี่แหละคือข้อความแห่งข่าวประเสริฐซึ่งได้นำมาประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบ.”—1 เป. 1:24, 25; ยซา. 40:6-8.
38. สาระสำคัญอันวิเศษอะไรเรื่องราชอาณาจักรที่มีพรรณนาไว้ในยะซายา ซึ่งผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ในสมัยต่อมาได้ยกไปกล่าว?
38 ยะซายาพรรณนาความหวังเรื่องราชอาณาจักรสำหรับอนาคตอย่างงดงามจริง ๆ! ดูสิ! นั่นคือ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ที่ซึ่ง “กษัตริย์จะทรงราชย์ตั้งอยู่ในความชอบธรรม” และเจ้าชายจะปกครองด้วยความยุติธรรม. ช่างเป็นเหตุแห่งความปลาบปลื้มยินดีเสียจริง ๆ! (65:17, 18; 32:1, 2, ล.ม.) อีกครั้งหนึ่ง เปโตรยกข่าวที่น่าดีใจของยะซายามากล่าวดังนี้: “แต่ว่ามีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญาของพระองค์ และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เป. 3:13, ล.ม.) สาระสำคัญอันวิเศษเรื่องราชอาณาจักรปรากฏเด่นอย่างยิ่งในบทท้าย ๆ ของพระธรรมวิวรณ์.—ยซา. 66:22, 23; 25:8; วิ. 21:1-5.
39. ยะซายาชี้ถึงความหวังอันยิ่งใหญ่อะไร?
39 ดังนั้น ถึงแม้พระธรรมยะซายาบรรจุคำตำหนิอย่างรุนแรงต่อเหล่าศัตรูของพระยะโฮวาและพวกหน้าซื่อใจคดที่ประกาศตัวเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ แต่ก็ชี้บอกด้วยถ้อยคำยกย่องให้เห็นถึงความหวังอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับราชอาณาจักรมาซีฮา ซึ่งโดยราชอาณาจักรนี้พระนามยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาจะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. พระธรรมนี้ช่วยอย่างมากในการอธิบายความจริงอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระยะโฮวาและในการทำให้หัวใจของเราอบอุ่นในการคอยท่า “ความรอดจากพระองค์” ด้วยความยินดี.—ยซา. 25:9; 40:28-31, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 1221-1223.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 957; เล่ม 2 หน้า 894-895.
c การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 324.