ชนชาติที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง
“จงเปิดประตูเมืองออกเถิด เพื่อให้ชนชาติชอบธรรมซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ไว้จะได้เข้าไปได้.”—ยะซายา 26:2.
1. ทำไมถ้อยแถลงของยะซายาเกี่ยวกับ “ชนชาติชอบธรรม” อาจก่อให้เกิดความประหลาดใจ?
สมัยนี้มีประเทศชาติต่าง ๆ มากมาย. บ้างก็เป็นประเทศประชาธิปไตย บ้างก็ปกครองโดยระบอบเผด็จการ. บางประเทศมั่งคั่งร่ำรวย บางประเทศยากจน. สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกชาติเป็นส่วนของโลกซึ่งมีซาตานเป็นพระเจ้า. (2 โกรินโธ 4:4) เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ถ้อยคำของยะซายาอาจยังความประหลาดใจแก่บางคนเมื่อท่านพูดว่า “จงเปิดประตูเมืองออกเถิด, เพื่อให้ชนชาติชอบธรรมซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ไว้ได้เข้าไปได้.” (ยะซายา 26:2) ชนชาติชอบธรรมหรือ? ถูกแล้ว มีชนชาติชอบธรรม เนื่องจากคำพยากรณ์ชี้ถึงการดำรงอยู่ของชนชาติชอบธรรมในสมัยของเรา. จะรู้จักชนชาติที่ผิดธรรมดานี้โดยวิธีใด?
2. “ชนชาติชอบธรรม” คืออะไร? เรารู้ได้อย่างไร?
2 คัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ได้กล่าวถึงชนชาตินั้นที่ยะซายา 26:2 ว่า “รักษาความประพฤติซื่อสัตย์.” ฉบับคิงเจมส์ (ที่ช่องหมายเหตุ) ให้ความหมายข้อนี้ว่า “ชนชาติชอบธรรมซึ่งรักษาสัจจะ.” คำพรรณนาของทั้งสองฉบับนับว่าเหมาะสม. ที่จริง ชนชาติชอบธรรมนั้นสังเกตได้ง่าย เพราะเป็นชนชาติเดียวบนแผ่นดินโลกซึ่งยอมอยู่ใต้อำนาจพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์ ฉะนั้น จึงไม่ใช่ส่วนของโลกซาตาน. (โยฮัน 17:16) เมื่อเป็นเช่นนั้น สมาชิกของชนชาตินี้จึงเป็นที่รู้จักกันว่า ‘รักษาความประพฤติอันดีงามท่ามกลางนานาชาติ.’ พวกเขาติดตามรูปแบบชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า. (1 เปโตร 2:12) ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหนในโลก เขาเป็นส่วนของ “ประชาคมของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ซึ่งเป็นหลัก และรากแห่งความจริง.” (1 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) ด้วยการส่งเสริมความจริง เขาปฏิเสธปรัชญานอกรีตที่คริสต์ศาสนจักรนำมาสอน และเขาส่งเสริม “น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปนที่เป็นของพระคำ” อันได้แก่คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) นอกเหนือจากนี้ เขาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอย่างกระตือรือร้น “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) จะมีข้อสงสัยใด ๆ ไหมที่ชนชาตินี้ประกอบด้วยชนที่เหลือแห่ง “ยิศราเอลของพระเจ้า” คือประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม? ไม่เลย.—ฆะลาเตีย 6:16.
ชนชาตินี้ถือกำเนิด
3. จงพรรณนาการกำเนิด “ชนชาติชอบธรรม” ว่าเป็นมาอย่างไร.
3 “ชนชาติชอบธรรม” มีขึ้นเมื่อไร? การเริ่มต้นของชาตินี้มีพยากรณ์ไว้ในพระธรรมยะซายา. ที่ยะซายา 66:7, 8 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านว่า “ก่อนที่นางจะปวดครรภ์ นางก็คลอดบุตร ก่อนที่ความเจ็บปวดจะมาถึงนาง นางก็ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง. . . . พอศิโยน [ซีโอน] ปวดครรภ์ เธอก็คลอดบุตรทั้งหลายของเธอ.” เป็นเรื่องที่ผิดธรรมดาอย่างยิ่ง ซีโอนหรือองค์การฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าได้ให้กำเนิด “บุตรชาย” คนหนึ่งก่อนนางเจ็บครรภ์คลอดบุตร. ปี 1914 ราชอาณาจักรมาซีฮาได้รับการสถาปนาในสวรรค์. (วิวรณ์ 12:5) หลังจากนั้นหลายชาติได้พัวพันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และคริสเตียนผู้ถูกเจิมทนความทุกข์ลำบากและการข่มเหงอย่างหนัก. ในที่สุด ในปี 1919 ชนชาติฝ่ายวิญญาณ “บุตรชาย” ก็ถูกนำออกมาบนแผ่นดินโลก. โดยวิธีนี้ กรุงซีโอน ‘ได้ให้กำเนิดบุตรทั้งหลายของเธอ’—สมาชิกผู้ถูกเจิมแห่ง “ชนชาติชอบธรรม”—และบุตรเหล่านี้ถูกรวบรวมเข้ามาสำหรับงานให้คำพยานซึ่งขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง.—มัดธาย 24:3, 7, 8, 14; 1 เปโตร 2:9.
4. ทำไมชนชาติชอบธรรมของพระเจ้าจึงต้องบากบั่นเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง?
4 นับตั้งแต่แรกทีเดียว ชนชาตินี้ได้เผชิญการทดลองอย่างหนักเกี่ยวกับประเด็นความซื่อสัตย์มั่นคงของตน. เพราะเหตุใด? เมื่อราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ถือกำเนิดขึ้นมา ซาตานพร้อมกับพวกผีปิศาจถูกเหวี่ยงจากสวรรค์ลงมาที่แผ่นดินโลก. มีเสียงดังประกาศว่า “บัดนี้ความรอดและฤทธิ์เดชและราชอาณาจักรของพระเจ้าของเราและอำนาจของพระคริสต์ของพระองค์ได้มาถึงแล้ว เพราะว่าผู้กล่าวโทษพี่น้องของเราถูกเหวี่ยงลงแล้ว ผู้ซึ่งกล่าวโทษพวกเขาทั้งวันทั้งคืนต่อพระพักตร์พระเจ้าของเรา! และพวกเขาได้มีชัยชนะต่อมันเนื่องด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก และเนื่องด้วยถ้อยคำแห่งการให้คำพยานของเขา และพวกเขาไม่ได้รักจิตวิญญาณของตนแม้จะเผชิญกับความตาย.” ซาตานได้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ด้วยความโกรธแค้น “และออกไปทำสงครามกับผู้ที่เหลืออยู่แห่งพงศ์พันธุ์ของนาง ซึ่งปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู.” เมื่อเผชิญกับการโจมตีอย่างดุเดือดของซาตาน คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ยืนหยัดมั่นคง. จวบจนถึงเวลานี้ สมาชิกผู้กระตือรือร้นของชนชาติชอบธรรมของพระเจ้าก็ยังคงแสดงความเชื่อในโลหิตของพระเยซูที่ประทานเป็นค่าไถ่ และให้พระยะโฮวามีคำตอบสำหรับผู้ที่ตำหนิพระองค์โดยการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง “แม้จะเผชิญกับความตาย.”—วิวรณ์ 12:1, 5, 9-12, 17; สุภาษิต 27:11.
5. พยานฯสมัยปัจจุบันมีทัศนะที่ดีเช่นไร ซึ่งได้ช่วยเขารักษาความซื่อสัตย์มั่นคง?
5 เมื่องานให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าสมัยปัจจุบันได้เริ่มขึ้นในปี 1919 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งมีชื่อเรียกสมัยนี้ว่าพยานพระยะโฮวายังมีไม่มาก แต่มีความเชื่อเข้มแข็ง. คนเหล่านี้แหละกลายมาเป็นสมาชิกที่เป็นฐานรากของ ‘เมืองอันเข้มแข็งพร้อมกับมีความรอดเป็นกำแพงและปราการ.’ ความวางใจของเขาอยู่ใน ‘พระยะโฮวาผู้ทรงเป็นศิลาที่ตั้งมั่นคงไม่รู้สิ้นสุดเลย.’ (ยะซายา 26:1, 3, 4) เหมือนโมเซในสมัยโบราณ พวกเขาประกาศว่า “เราจะประกาศพระนามพระยะโฮวา จงถวายสาธุการในความเป็นใหญ่แก่พระเจ้าของเรา พระองค์เป็นศิลา, กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ; เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความจริงปราศจากความอสัตย์, เป็นผู้ชอบธรรมและซื่อสัตย์.”—พระบัญญัติ 32:3, 4.
6. สมัยสุดท้ายนี้ พระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์ในทางใด?
6 นับตั้งแต่เวลานั้น ประตูแห่งการจัดเตรียมโดยทางราชอาณาจักรของพระเจ้าเปิดไว้กว้างเสมอมา ทีแรกเป็นการรวบรวมชนที่เหลือในจำพวกผู้ถูกเจิม 144,000 คนเข้ามาก่อน และตอนนี้ชนฝูงใหญ่แห่ง “แกะอื่น” กำลังร่วมสมทบเพื่อประกาศจุดมุ่งหมายแห่งราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. (โยฮัน 10:16) ฉะนั้น จึงประกาศเรื่องชนชาตินี้ได้ด้วยความปีติยินดีว่า “โอ้พระยะโฮวา, พระองค์ได้ทรงกระทำให้ประชาชาติเจริญทวีขึ้น, พระองค์ได้ทรงสำแดงสง่าราศีของพระองค์ให้ปรากฏ; พระองค์ได้ทรงขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป.” (ยะซายา 26:15) เมื่อเราสำรวจดูพื้นที่การหว่านพืชราชอาณาจักรทั่วโลกในทุกวันนี้ เราเห็นว่าถ้อยคำเหล่านั้นช่างเป็นความจริงสักเพียงไร! โดยฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ การให้คำพยานเกี่ยวด้วยการคืบใกล้เข้ามาแห่งราชอาณาจักรของพระคริสต์ได้แผ่แพร่อย่างกว้างไกล “ถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) อาจวัดขอบเขตการขยายตัวนั้นได้โดยอาศัยรายงานการรับใช้ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลกในปีรับใช้ 1994 ซึ่งปรากฏในหน้า 12-15.
ยอดใหม่ของผู้ประกาศ
7, 8. (ก) มีพยานหลักฐานอะไรที่ว่าไพร่พลของพระเจ้าได้ ‘ต่อเชือกกะโจมให้ยาวออกไป’? (ข) เมื่อดูรายงานการรับใช้ปี 1994 คุณเห็นภูมิภาคแถบไหนที่ ‘ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป’ อย่างโดดเด่น?
7 ให้เราพิจารณาจุดเด่นของรายงาน. ยอดสูงสุดของจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรทั่วโลก 4,914,094 คน! น่าตื่นเต้นดีใจจริง ๆ เมื่อเห็นการรวมตัวเข้ามาไม่ขาดสายของ “ชนฝูงใหญ่ . . . จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก คนเหล่านั้นสวมเสื้อยาวสีขาว”! ใช่แล้ว คนเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเป็นผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงเช่นเดียวกัน. “พวกเขาได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” เขาจึงถูกนับว่าชอบธรรมเพราะสำแดงความเชื่อในค่าไถ่ของพระเยซู.—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.
8 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี 1919 พระบัญชาได้มาถึงองค์การของพระยะโฮวาดังนี้: “จงขยายกระโจมของเจ้าให้เขื่องออกไป จงจัดม่านในบ้านของเจ้าให้กว้างออกไปโดยไม่จำกัด จงต่อเชือกกะโจมของเจ้าให้ยาวออกไป, และจงปักหลักกะโจมไว้ให้แน่นขึ้น!” (ยะซายา 54:2) เพื่อเป็นการขานรับพระบัญชานั้น งานประกาศจึงรุดหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง แม้แต่ในยูคอน แทร์ริทอรี ดินแดนที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ติดพรมแดนอะแลสกา ที่ซึ่งกลุ่มไพโอเนียร์ที่ทรหดต้องอดทนกับอุณหภูมิที่อาจจะลดต่ำกว่าศูนย์ 45 ถึง 50 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายสัปดาห์. ระยะสองสามปีที่ผ่านมาผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วมากขึ้น สมทบกับชนชาติของพระยะโฮวาที่รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. ประตูเปิดออกกว้างต้อนรับคนเหล่านี้จากแถบเอเชีย กลุ่มประเทศนอกสังกัดคริสต์ศาสนจักร, ประเทศซึ่งอดีตเป็นที่มั่นสำคัญของคอมมิวนิสต์, ดินแดนต่าง ๆ ในแอฟริกา, รวมทั้งประเทศในสังกัดปกครองของคาทอลิก อาทิ อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส และอเมริกาใต้. ผู้อพยพย้ายถิ่นยังได้เปิดโอกาสให้มีเขตทำงานใหม่ขึ้นอีก อย่างที่อังกฤษ เหล่าพยานพระยะโฮวาเอาใจใส่ความต้องการของชนกลุ่มน้อยต่างชาติต่างภาษาถึง 13 กลุ่มด้วยกัน.
“จงกระทำอย่างนี้”
9. (ก) จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ปี 1994 แสดงถึงอะไร? (ข) ประเทศไหนบ้างซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์มากมายอย่างผิดปกติ?
9 จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรายงานประจำปีคือจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์. ไม่นานก่อนพระเยซูวายพระชนม์ พระองค์ทรงจัดตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์และตรัสสั่งสาวกว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (1 โกรินโธ 11:24) เป็นที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่เห็นว่า ในปี 1994 มี 12,288,917 คน—มากกว่าจำนวนผู้ประกาศที่เอาการเอางานถึงสองเท่า—ต่างก็มาร่วมประชุมเพื่อแสดงการเชื่อฟังพระบัญชานั้น ไม่ว่าในฐานะผู้ที่รับประทานเครื่องหมายหรือผู้สังเกตการณ์. ในบางประเทศเฉลี่ยผู้ร่วมในการประชุมอนุสรณ์สูงกว่าจำนวนผู้ประกาศเสียอีก. ผู้ประกาศ 4,049 คนในเอสโตเนีย, ลัตเวีย, และลิทัวเนียต่างก็ปลาบปลื้มยินดีที่มีผู้ร่วมประชุมอนุสรณ์มากถึง 12,876 คน มากกว่าจำนวนผู้ประกาศถึงสามเท่า. และที่เบนิน ผู้ร่วมประชุมอนุสรณ์มี 16,786 คน มากกว่าจำนวนผู้ประกาศเกือบห้าเท่า. ประชาคมหนึ่งมีผู้ประกาศราว 45 คน มีผู้เข้าร่วมประชุม 831 คน.
10. (ก) เรามีความรับผิดชอบอะไรต่อพวกที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์? (ข) จงเล่าถึงสิ่งซึ่งอาจเป็นไปได้เมื่อให้การช่วยเหลือขั้นต่อไปแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์.
10 พยานพระยะโฮวามีความสุขที่คนสนใจจำนวนมากได้ร่วมสมทบกับพวกเขา ณ โอกาสพิเศษเช่นนั้น. มาบัดนี้พวกเขาต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ก้าวหน้าต่อไปในความเข้าใจและความรักต่อความจริง. บางคนอาจตอบรับอย่างเดียวกันกับอัลลาในรัสเซีย. อัลลาศึกษากับซิสเตอร์ซึ่งเป็นไพโอเนียร์พิเศษ แต่ไม่ค่อยก้าวหน้า ดังนั้น การศึกษาเป็นอันชะงักไป. กระนั้นก็ดี อัลลาได้ตอบรับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์. การประชุมนี้ซึ่งมีความหมายมากเหลือเกิน ทำให้เธอรู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้ง. เมื่อกลับไปบ้าน เธอโยนทิ้งของบูชาทุกชิ้นที่เธอเคยเลื่อมใส และได้ทูลอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. สองวันต่อมา ซิสเตอร์ไพโอเนียร์ได้มาเยี่ยมอัลลาเพื่ออยากรู้ว่าเธอชอบหรือรู้สึกอย่างไรต่อการประชุมอนุสรณ์. จากนั้นการสนทนาที่ก่อให้เกิดผลดีก็ตามมา. การศึกษาพระคัมภีร์กับอัลลาก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง. หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ออกประกาศให้คำพยาน. ประสบการณ์เรื่องนี้แสดงให้เห็นคุณค่าการติดตามเยี่ยมผู้เข้าร่วมประชุมอนุสรณ์. หลายคนคงจะตอบรับเช่นเดียวกับอัลลา.
“ไม่ละการประชุมร่วมกัน”
11-13. (ก) ส่วนหนึ่งในการประพฤติซื่อสัตย์ของชนชาติชอบธรรมคืออะไร? (ข) เพราะเหตุใดคริสเตียนแท้จึงต้องเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ?
11 การประชุมอนุสรณ์เป็นการประชุมสำคัญที่สุดสำหรับพยานพระยะโฮวาในรอบปี กระนั้น ก็ใช่ว่ามีแต่การประชุมนี้เพียงอย่างเดียว. ทุกสัปดาห์พยานพระยะโฮวาประชุมร่วมกันเพื่อแสดงการเชื่อฟังคำสั่งของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกัน เพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่จงชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) พวกเขาร่วมสมาคมกับชนชาติชอบธรรมของพระยะโฮวา ซึ่งได้รับการระบุตัวโดยการประพฤติที่ซื่อสัตย์. การประพฤติซื่อสัตย์รวมไปถึงการเข้าร่วมประชุมอย่างเคร่งครัด.
12 เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้เป็นที่เข้าใจกันดีในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเฉลี่ยผู้ร่วมประชุมวันอาทิตย์ทั่วประเทศมีถึง 125 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ประกาศ. ในอาร์เจนตินากลุ่มพยานฯอีกทั้งผู้สนใจก็เข้าใจดีในเรื่องนี้เช่นกัน. พวกเขาอยู่ห่างไกลหอประชุมประมาณ 20 กิโลเมตร. กระนั้นก็ดี ผู้ดูแลหมวดรายงานว่าไม่เคยมีใครขาดประชุม เว้นเสียแต่มีการเจ็บไข้เท่านั้น. เขาเดินทางโดยนั่งรถเทียมม้าตัวเดียวหรือขี่ม้า ซึ่งใช้เวลานานสี่ชั่วโมง และในช่วงฤดูหนาวการเดินทางกลับก็เป็นยามมืดค่ำแล้ว.
13 ขณะอวสานแห่งระบบนี้กระชั้นเข้ามา ชีวิตยิ่งยากลำบาก, ปัญหามีมากขึ้น และการเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมออาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น. แต่ภายใต้สภาวะดังกล่าว เรายิ่งต้องการอาหารฝ่ายวิญญาณและมิตรภาพอันอบอุ่นมากขึ้นกว่าเดิมซึ่งหาพบได้เฉพาะ ณ การประชุมเช่นนั้นเท่านั้น.
“จงทำอย่างรีบด่วน”
14. เพราะเหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงสำนึกถึงความเร่งด่วนเกี่ยวด้วยงานรับใช้ของเขา และผลอะไรที่ตามมาแสดงถึงเรื่องนี้?
14 เมื่อปีที่แล้ว คริสตจักรคาทอลิกในอิตาลีกล่าวพาดพิงถึงการงานของพยานพระยะโฮวาว่าเป็น “การหาสมาชิกอย่างก้าวร้าว.” แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติงานของพยานพระยะโฮวาไม่ได้ส่อความรุนแรงเลย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น งานเผยแพร่ของพวกเขาเป็นการแสดงความรักอันลึกซึ้งต่อเพื่อนบ้าน. อีกประการหนึ่งเป็นการให้หลักฐานว่าเขาปฏิบัติตามคำสั่งของเปาโลที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงทำอย่างรีบด่วน ทั้งในยามเอื้ออำนวยและยามยากลำบาก.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) การสำนึกถึงความเร่งด่วนทำให้พยานพระยะโฮวารู้สึกกระตือรือร้นเอาใจใส่งานเผยแพร่ของตน ดังที่เห็นได้จากการที่พวกเขาได้ใช้เวลามากถึง 1,096,065,354 ชั่วโมงในงานประกาศเผยแพร่ในปี 1994 กลับเยี่ยมคนสนใจและนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล 4,701,357 รายทุกสัปดาห์. หลายคนสามารถร่วมงานรับใช้เป็นไพโอเนียร์ได้ ซึ่งแสดงว่าน้ำใจไพโอเนียร์ยังคงเฟื่องฟู. เฉลี่ยจำนวนไพโอเนียร์ 636,202 คนทั่วโลกเป็นหลักฐานยืนยันเรื่องนี้.
15, 16. (ก) คนหนุ่มและผู้สูงอายุต่างก็แสดงน้ำใจไพโอเนียร์โดยวิธีใด? (ข) เมื่อพิจารณาประเทศต่าง ๆ ในรายงานการรับใช้ปี 1994 คุณเห็นประเทศไหนมีจำนวนไพโอเนียร์โดดเด่น?
15 มีวัยรุ่นหลายคนอยู่ในจำนวนไพโอเนียร์เหล่านี้. ในประเทศสหรัฐ เวลานี้มีวัยรุ่นไม่น้อยระหว่างเรียนชั้นมัธยมกำลังรับใช้ฐานะไพโอเนียร์ประจำ เขามีเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นเป็นเขตทำงานหลัก. หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ประสบว่าการเป็นไพโอเนียร์เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการป้องกันตัวเองจากสิ่งเสพย์ติด, การประพฤติผิดศีลธรรม, และความรุนแรง ซึ่งแพร่เข้าไปในโรงเรียนหลายแห่งในประเทศนั้น. ผู้เยาว์อื่น ๆ อีกหลายคนตั้งเป้าเป็นไพโอเนียร์เมื่อจบโรงเรียน. อีรีนาในประเทศยูเครนเป็นไพโอเนียร์สมทบตลอดเวลาที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมตัวจะทำงานเป็นไพโอเนียร์หลังจากจบโรงเรียน. พอเธอเรียนจบ ครอบครัวได้ร่วมมือให้การช่วยเหลือทางด้านปัจจัยที่จำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อเธอจะเป็นตัวแทนครอบครัวในงานไพโอเนียร์. ในด้านค่าครองชีพในยูเครนนั้น สิ่งต่าง ๆ ไม่ง่ายนัก. แต่อีรีนาพูดว่า “ดิฉันรู้ว่างานที่ดิฉันทำหมายถึงชีวิตไม่เฉพาะสำหรับตัวดิฉันเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ดิฉันประกาศให้เขาฟังด้วย.” จริง ๆ แล้ว น่าชื่นใจเมื่อเห็นหนุ่มสาวหลายคนเวลานี้คิดเหมือนอีรีนา. มีทางใดจะดีไปกว่าที่หนุ่มสาวจะ ‘ระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งของตนขณะอยู่ในวัยหนุ่มแน่น’ ไหม?—ท่านผู้ประกาศ 12:1.
16 ไพโอเนียร์จำนวนมากเป็นคนสูงอายุ. ไพโอเนียร์คนหนึ่งเล่าว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อและพี่ชายของเธอเสียชีวิตในสงคราม และแม่กับน้องสาวถูกยิงเสียชีวิตในชุมชนของชาวยิว. ต่อมา ลูกชายของเธอถึงแก่ความตาย. ตอนนี้ เธอชราภาพ และไม่แข็งแรง พระยะโฮวาทรงโปรดให้เธอมีครอบครัวใหญ่ในประชาคมคริสเตียนนี้เอง ใหญ่กว่าครอบครัวที่เธอสูญเสียไป. และเธอได้รับความชื่นชมยินดีจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นไพโอเนียร์ประจำ.
17, 18. พวกเราแต่ละคน ไม่ว่าเป็นไพโอเนียร์หรือไม่ จะแสดงน้ำใจไพโอเนียร์ได้อย่างไร?
17 จริงอยู่ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นไพโอเนียร์ได้. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยจะรับส่วนสิบชักหนึ่งเต็มอัตราจากเรา คือสิ่งดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามในกรณีของเราโดยเฉพาะ. (มาลาคี 3:10) อันที่จริง พวกเราทุกคนสามารถพัฒนาน้ำใจไพโอเนียร์ได้เหมือนบรรดาไพโอเนียร์ที่มีความกระตือรือร้น และทำเท่าที่สภาพแวดล้อมของเราอำนวยให้ เพื่อส่งเสริมการประกาศข่าวดี.
18 ตัวอย่างเช่น ในออสเตรเลีย วันที่ 16 เมษายนถูกจัดให้เป็นวันพิเศษเพื่อให้คำพยานตามถนน. ผู้ประกาศและไพโอเนียร์ให้การสนับสนุนอย่างดี ดังที่ยอดจำนวนผู้ประกาศในเดือนนั้นคือ 58,780 คนแสดงให้เห็น. และนอกจากนั้น มีการจำหน่ายวารสารมากกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วกว่า 90,000 เล่ม. ระหว่างวันพิเศษนี้ ซิสเตอร์คนหนึ่งได้จำหน่ายวารสารให้แก่ชายผู้หนึ่ง และขณะจดชื่อและที่อยู่ของคนสนใจเพื่อการกลับเยี่ยม เธอได้พบว่าเธอกับเขาเป็นญาติกัน! เรื่องกลายเป็นว่าคนทั้งสองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ไม่เคยพบปะกันเป็นเวลา 30 ปี. แน่นอนว่า นั่นคงเปิดโอกาสสำหรับการกลับเยี่ยมเยียนที่น่ายินดีอย่างยิ่ง!
รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงถึงที่สุด
19. เหตุใดจึงเป็นการเร่งด่วนที่ชนชาติชอบธรรมของพระยะโฮวาพึงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนถึงที่สุด?
19 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนในชาติชอบธรรมของพระเจ้าจะต้องรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง ขณะที่โลกของซาตานดิ่งลงสู่ความหายนะ. ในไม่ช้า ชนชาติบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาจะได้ยินเสียงเรียกดังนี้: “ไปเถิด ไพร่พลของเรา จงเข้าไปยังห้องชั้นในของเจ้าแล้วปิดประตูเสีย. จงซ่อนตัวเพียงขณะหนึ่งจนกว่าการประณามผ่านพ้นไป.” โลกที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตกจะต้องเผชิญกับการพิพากษาของพระเจ้าอย่างเลี่ยงไม่พ้น. “เพราะนี่แน่ะ! พระยะโฮวากำลังเสด็จออกมาจากที่สถิตของพระองค์ เพื่อเรียกผู้อาศัยในแผ่นดินโลกให้การเรื่องความผิดที่กระทำต่อพระองค์ และแผ่นดินจะเปิดเผยเลือดที่ไหลนอง และจะไม่ปิดบังผู้ที่ถูกฆ่าอีกต่อไป.” (ยะซายา 26:20, 21, ล.ม.) ขอให้พวกเราแต่ละคนตั้งมั่นคงในฐานะเป็นคริสเตียนผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงร่วมสัมพันธ์กับชนชาติชอบธรรมของพระยะโฮวา. ครั้นแล้วพวกเราจะปลาบปลื้มยินดีที่ได้รับชีวิตนิรันดรในราชอาณาจักรของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกหรือทางภาคสวรรค์.
คุณจำได้ไหม?
▫ “ชนชาติชอบธรรม” ได้กำเนิดเมื่อไร?
▫ เหตุใดไพร่พลของพระเจ้าจำต้องมีความอดทนในสมัยสุดท้ายนี้?
▫ จำนวนผู้ประกาศที่สูงและการใช้เวลาไปมากมายเพื่องานประกาศตามที่ปรากฏในรายงานปีรับใช้ 1994 แสดงถึงอะไร?
▫ ทำไมการเข้าร่วมประชุมเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ขณะโลกนี้ใกล้อวสานเข้าไปทุกที?
▫ เหตุใดทุกคนที่สมทบกับชนชาติชอบธรรมของพระเจ้าจึงต้องรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง?
[แผนภูมิหน้า 12-15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร.)
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 1994 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
[รูปภาพหน้า 18]
ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงในชนชาติชอบธรรมของพระยะโฮวาจะบรรลุชีวิตนิรันดรที่สมบูรณ์