บทสิบสอง
“เขาทำอย่างนั้นเพราะเขารู้จักเรามิใช่หรือ?”
1, 2. เหตุใดนับว่าไม่สุขุมที่ยะโฮยาคิมเริ่มโครงการก่อสร้างของท่าน?
กษัตริย์ยะโฮยาคิมได้สร้างวังซึ่งคงต้องใหญ่โตโอ่อ่า. ตามแปลน ต้องสร้างห้องที่กว้างใหญ่ในอาคารซึ่งมีอย่างน้อยสองชั้น. หน้าต่างใหญ่คงทำให้แสงแดดสาดส่องไปทั่ว อีกทั้งสายลมเย็นพัดมาเอื่อย ๆ คงทำให้กษัตริย์กับเหล่าเชื้อพระวงศ์สำราญ. ฝาผนังต้องกรุด้วยไม้สนที่มีกลิ่นหอมจากละบาโนน. ชาดซึ่งเป็นสีที่นำเข้าคงจะทำให้การตกแต่งภายในมีสีแดงเข้มขึ้นเงา ซึ่งคนมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจในดินแดนอื่นต้องการมากทีเดียว.—ยิระ. 22:13, 14
2 โครงการนี้มีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย. ประมาณช่วงนั้น การปกป้องประเทศชาติและการที่อียิปต์เรียกร้องเอาเครื่องบรรณาการดูเหมือนว่าทำให้เงินในท้องพระคลังหมดลง. (2 กษัต. 23:33-35) แต่ยะโฮยาคิมได้พบวิธีที่จะมีเงินพอสร้างวังใหม่ของท่าน. ท่านไม่ยอมจ่ายค่าจ้างคนงานก่อสร้าง! ยะโฮยาคิมปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงทาส โดยถือว่าพวกเขาได้สละหยาดเหงื่อและแรงกายเพื่อแผ่นดิน.
3. มีความแตกต่างอะไรระหว่างยะโฮยาคิมกับราชบิดา และเพราะเหตุใด?
3 โดยทางยิระมะยาห์ พระเจ้าทรงกล่าวโทษยะโฮยาคิมที่แสดงความเห็นแก่ตัวเช่นนั้น.a พระองค์เตือนกษัตริย์ให้ระลึกว่าโยซียาห์ ราชบิดาของกษัตริย์ได้แสดงความกรุณาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นพิเศษต่อชนชั้นแรงงานและคนยากจน. โยซียาห์ถึงกับช่วยพวกเขาให้ได้รับความเป็นธรรมในศาล. โดยให้ยะโฮยาคิมคิดถึงการที่โยซียาห์คำนึงถึงคนต่ำต้อย พระยะโฮวาทรงถามว่า “เขาทำอย่างนั้นเพราะเขารู้จักเรามิใช่หรือ?”—อ่านยิระมะยา 22:15, 16, ล.ม.b
4. เหตุใดการรู้จักพระยะโฮวาควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ?
4 ขณะที่สภาพการณ์ในโลกของซาตานเสื่อมลง เราต้องได้รับความช่วยเหลือและการปกป้องที่พระยะโฮวาทรงให้แก่คนเหล่านั้นซึ่งรู้จักพระองค์อย่างสนิทสนม. ดังนั้น เราควรใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น. นอกจากนี้ เราต้องเลียนแบบคุณลักษณะที่ดีของพระองค์เพื่อจะประสบผลสำเร็จในการประกาศข่าวดี. แต่คุณอาจสงสัยว่า ‘คริสเตียนจะรู้จักพระยะโฮวาเช่นเดียวกับที่กษัตริย์โยซียาห์รู้จักได้อย่างไร?’
การรู้จักพระเจ้าหมายถึงอะไร?
5, 6. (ก) พ่อที่ดีก่อผลเช่นไรต่อลูก ๆ? (ข) ต่างจากยะโฮยาคิม เมื่อเรารู้วิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติกับคนอื่น เราควรทำอย่างไร?
5 ขอให้คิดถึงวิธีที่พ่อที่ดีก่อผลต่อชีวิตของลูก ๆ. ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกสังเกตว่าพ่อแบ่งปันให้คนอื่นที่ด้อยโอกาส พวกเขาก็คงถูกกระตุ้นให้เป็นคนใจกว้าง. การที่ลูกเห็นพ่อปฏิบัติต่อแม่ด้วยความรักและความนับถือคงจะช่วยเขาให้แสดงการคำนึงถึงคนที่เป็นเพศตรงข้าม. เมื่อลูก ๆ รู้ว่าพ่อเป็นคนยุติธรรมและซื่อตรงในเรื่องเงิน ก็น่าจะกระตุ้นลูกให้เป็นคนยุติธรรมและซื่อตรงด้วย. ใช่แล้ว โดยที่พวกเขาได้รู้จักวิธีปฏิบัติและคุณลักษณะต่าง ๆ ของพ่อ ลูกวัยเยาว์ก็คงจะเติบโตขึ้นพร้อมกับต้องการปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนที่พ่อทำ.
6 ทำนองเดียวกัน คริสเตียนซึ่งรู้จักพระยะโฮวาเช่นเดียวกับที่โยซียาห์รู้จักไม่เพียงยอมรับพระองค์ฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในเอกภพ. โดยอ่านคัมภีร์ไบเบิล คริสเตียนได้มาทราบวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับคนอื่น ครั้นแล้วเขาก็ต้องการเลียนแบบพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์. ความรักที่เขามีต่อพระยะโฮวาก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้นขณะที่แต่ละวันเขาเลียนแบบทัศนะของพระเจ้าต่อสิ่งที่พระองค์พอพระทัยหรือไม่พอพระทัย. ในทางตรงข้าม คนที่ละเลยกฎหมายและข้อเตือนใจของพระเจ้า ไม่ได้มารู้จักพระเจ้าองค์เที่ยงแท้เพราะเขาปฏิเสธการชี้นำใด ๆ จากพระองค์. เขาก็เหมือนกับยะโฮยาคิม ซึ่งโยนหนังสือที่มีพระคำของพระยะโฮวาที่ตรัสผ่านทางยิระมะยาห์ลงในเตาไฟ.—อ่านยิระมะยา 36:21-24
7. เหตุใดคุณควรต้องการรู้จักพระยะโฮวาเช่นเดียวกับที่กษัตริย์โยซียาห์รู้จัก?
7 ความสำเร็จในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์และโอกาสที่เราจะมีชีวิตในโลกใหม่ขึ้นอยู่กับการที่เรารู้จักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. (ยิระ. 9:24) ขอให้เราพิจารณาคุณลักษณะบางอย่างของพระเจ้าตามที่เปิดเผยไว้ในหนังสือที่ยิระมะยาห์เขียน. ระหว่างการพิจารณาบุคลิกภาพของพระเจ้าเช่นนี้ ขอให้มองหาวิธีที่คุณทั้งสามารถรู้จักพระองค์เป็นส่วนตัวและเลียนแบบพระองค์เช่นเดียวกับที่กษัตริย์โยซียาห์ได้ทำนั้น.
ทำไมเราจึงพูดได้ว่ากษัตริย์โยซียาห์รู้จักพระยะโฮวาอย่างสนิทสนม? มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการรู้จักพระยะโฮวาเหมือนที่โยซียาห์รู้จัก?
“ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”
8. ความรักมั่นคงคืออะไร?
8 แง่มุมหนึ่งแห่งบุคลิกภาพของพระเจ้าคือความรักมั่นคงหรือความรักภักดี. ในหลายภาษาเป็นเรื่องยากที่จะหาคำซึ่งถ่ายทอดความหมายของคำ “ความรักมั่นคง” ตามที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างครบถ้วน. ดังที่กล่าวในพจนานุกรมเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่ง คำนี้ในภาษาฮีบรูแสดงถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเข้มแข็ง, ความมั่นคงแน่วแน่, และความรัก. พจนานุกรมนั้นกล่าวต่อไปว่า “การอธิบายใด ๆ ของคำนี้ซึ่งไม่ครอบคลุมคุณลักษณะสามอย่างดังกล่าวคงจะไม่ถ่ายทอดความหมายของคำนี้อย่างครบถ้วน.” ดังนั้น คนที่แสดงความรักมั่นคงจึงไม่เป็นแค่คนดีเท่านั้น. ด้วยความห่วงใยอย่างลึกซึ้ง เขาพยายามจะสนองความจำเป็นของคนอื่นเท่าที่เขาจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นด้านวิญญาณ. เหตุผลหลักในการทำเช่นนั้นอย่างไม่เห็นแก่ตัวคือ เขาปรารถนาจะทำให้พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งพอพระทัย.
9. การปฏิบัติของพระยะโฮวาต่อชาติอิสราเอลพิสูจน์อะไร?
9 วิธีดีที่สุดที่จะเข้าใจความหมายครบถ้วนของคำ “ความรักมั่นคง” ในคัมภีร์ไบเบิลคือ โดยศึกษาวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับผู้นมัสการแท้ของพระองค์ตลอดหลายยุค. พระยะโฮวาทรงปกป้องและเลี้ยงดูชนอิสราเอลระหว่างอยู่ในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี. ในแผ่นดินตามคำสัญญา พระเจ้าได้ทรงจัดให้มีผู้วินิจฉัยเพื่อช่วยพวกเขารอดจากเหล่าศัตรูและนำพวกเขากลับมาสู่การนมัสการแท้. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงอยู่เคียงข้างพวกเขาทั้งในยามทุกข์และสุขตลอดหลายศตวรรษ พระองค์จึงสามารถตรัสกับชาตินี้ว่า “เราได้รักเจ้าด้วยความรักนิรันดร์ เพราะฉะนั้น เราจึงมีความรักมั่นคงต่อเจ้า.”—ยิระ. 31:3, ฉบับ R73c
10. ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างของชาวยิวในบาบิโลน พระยะโฮวาทรงแสดงความรักมั่นคงในวิธีที่ทรงสดับคำอธิษฐานอย่างไร?
10 ในสมัยของเรา พระเจ้ายังคงแสดงความรักมั่นคงในวิธีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้นมัสการพระองค์. ขอพิจารณาเรื่องการอธิษฐาน. พระยะโฮวาทรงสังเกตคำอธิษฐานที่จริงใจทุกอย่าง แต่พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษเมื่อผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วอธิษฐานถึงพระองค์. ถึงแม้เราอธิษฐานเกี่ยวกับปัญหาเดิม ๆ อยู่เรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายปีแล้ว พระองค์ก็มิได้หมดความอดทนหรือเบื่อหน่ายที่จะฟังคำอธิษฐานของเรา. ครั้งหนึ่ง พระยะโฮวาทรงให้ยิระมะยาห์ส่งข่าวถึงกลุ่มชาวยิวที่เป็นเชลยอยู่แล้วในบาบิโลน. พวกเขาอยู่ห่างจากพระวิหารมากกว่า 800 กิโลเมตร ห่างไกลจากครอบครัวและเพื่อน ๆ ในยูดาห์. อย่างไรก็ดี การอยู่ห่างไกลจากพระวิหารใช่ว่าจะขัดขวางมิให้พระยะโฮวาสดับคำทูลขอและคำสรรเสริญของพวกเขา. ขอให้คิดถึงชาวยิวที่รู้สึกสบายใจเมื่อได้ยินพระคำของพระเจ้า ดังที่พบในยิระมะยา 29:10-12 (อ่าน ) ถ้อยคำดังกล่าวนำมาใช้ได้กับคุณและคำอธิษฐานอย่างจริงใจของคุณเช่นกัน.
11, 12. (ก) พระยะโฮวาทรงเสนออะไรให้ชาวเยรูซาเลม? (ข) ความช่วยเหลืออะไรมีอยู่พร้อมสำหรับคนที่ได้รับการตีสอนที่จำเป็น?
11 เราเห็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความรักมั่นคงของพระยะโฮวาจากการที่พระองค์ทรงมองในแง่ดี. ขณะที่พินาศกรรมของเยรูซาเลมใกล้เข้ามา และชาวเมืองยังคงกบฏขัดขืนอยู่ต่อไปซึ่งเท่ากับเป็นการกบฏต่อพระเจ้า พวกเขาจะมีอนาคตเช่นไร? พวกเขาอาจจะเสียชีวิตเนื่องจากการขาดแคลนอาหารหรือว่าถูกชาวบาบิโลนฆ่าไหม? อย่างดีก็แค่อยู่ในสภาพเชลยเป็นเวลานานและเสียชีวิตในต่างแดน. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาเสนอ “คำดี” ที่ให้กำลังใจสำหรับคนที่ได้กลับใจและเปลี่ยนชีวิตของเขา. พระองค์ทรงสัญญาว่าจะ “เอาใจใส่” พวกเขา. พระองค์จะนำพวกเขา “กลับมาถึงที่นี่” นั่นคือบ้านเกิดของเขาซึ่งอยู่ห่างไกลจากบาบิโลน. (ยิระ. 27:22, ฉบับ R73 ) ผลก็คือ พวกเขาจะร้องว่า “จงถวายโมทนาแด่พระเจ้าจอมโยธา เพราะพระเจ้าประเสริฐ เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์.”—ยิระ. 33:10, 11, ฉบับ R73
12 เนื่องจากความรักมั่นคง พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งที่มาของการหนุนกำลังใจสำหรับคนเหล่านั้นที่อยู่ในสถานการณ์ลำบากแสนสาหัสจากมุมมองของมนุษย์. มีบางคนในทุกวันนี้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียน แต่เป็นผู้ที่ได้รับการตีสอนที่จำเป็นอย่างเหมาะสม. เขาอาจจมอยู่กับความรู้สึกผิดและตอนนี้ลังเลที่จะกลับมาคบหากับประชาชนของพระเจ้าอีก. พวกเขาอยากรู้ว่าพระยะโฮวาจะให้อภัยเขาและรับเขากลับมาหรือไม่. พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งมี “คำดี” สำหรับทุกคนที่รู้สึกเช่นนั้น. พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือด้วยความกรุณาให้ทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จำเป็นในด้านความคิดและการกระทำ. และสิ่งที่เราอ่านในวรรคก่อนก็นำมาใช้ได้กับพวกเขาตามหลักที่ว่า พระยะโฮวาจะ ‘ให้พวกเขากลับสู่สถานที่ของพวกเขา’ ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ที่มีความสุข.—ยิระ. 31:18-20
13. เหตุใดการที่พระยะโฮวาเกื้อหนุนยิระมะยาห์จึงน่าจะหนุนกำลังใจคุณ?
13 พระยะโฮวาซึ่งเป็นพระเจ้าแห่งความรักมั่นคง ยังทรงเกื้อหนุนผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ด้วยความภักดี. ในสมัยสุดท้ายแห่งโลกของซาตานนี้ เรามีเหตุผลที่จะวางใจว่าพระยะโฮวาจะทรงค้ำจุนและปกป้องทุกคนที่แสวงหาราชอาณาจักรของพระองค์เป็นอันดับแรก. ขอจำไว้ว่าระหว่างช่วงสุดท้ายของเยรูซาเลม ยิระมะยาห์ต้องพึ่งพระยะโฮวาเพื่อได้รับอาหารและการปกป้อง. พระเจ้าไม่เคยทำให้ผู้พยากรณ์คนนี้ผิดหวัง. (ยิระ. 15:15; อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:55-57 ) หากคุณรู้สึกว่าประสบความกดดันอย่างหนักไม่ว่าแบบใด ขอมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงระลึกถึงสิ่งที่คุณเคยทำด้วยความภักดี. เนื่องด้วยความรักมั่นคง พระองค์ทรงปรารถนาจะช่วยคุณเพื่อคุณจะไม่ “ถูกเผาผลาญเสียให้สูญไปทีเดียว.”—ทุกข์. 3:22
แง่มุมใดของความรักมั่นคงของพระยะโฮวาที่ดึงดูดใจคุณให้มาหาพระองค์มากที่สุด? ทำไมคุณรู้สึกอย่างนั้น?
“พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่ . . . เป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรม”
14. ไม่นานมานี้คุณได้สังเกตเห็นความไม่ยุติธรรมอะไรบ้าง?
14 บางคนถูกตัดสินให้ติดคุกหลายปีเนื่องด้วยความผิดที่เขาไม่ได้ทำ. ถึงกับเคยมีคดีที่ศาลตัดสินลงโทษบางคนให้ถึงตาย แต่เมื่อประหารชีวิตไปแล้วจึงมีหลักฐานปรากฏชัดว่าผู้นั้นไม่ได้มีความผิด. ในบางประเทศ พ่อแม่อดอยากจนถึงกับต้องขายลูกไปเป็นทาสเพื่อครอบครัวจะมีอะไรกินบ้าง. คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินเรื่องความไม่ยุติธรรมดังกล่าวในทุกวันนี้? คุณคิดว่าพระยะโฮวาจะรู้สึกอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดว่าพระองค์ทรงประสงค์ที่จะกำจัดสาเหตุของความทุกข์ทั้งสิ้น. พระองค์เป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถทำสิ่งนั้นได้. ดังนั้น คนจนและคนที่ไม่มีความผิดซึ่งทนทุกข์อยู่ในทุกวันนี้จึงมีกำลังใจได้. พระยะโฮวา พระเจ้าแห่งความยุติธรรมกำลังดำเนินการเพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากความทุกข์ในปัจจุบัน.—ยิระ. 23:5, 6
15, 16. (ก) ยิระมะยาห์เน้นความเป็นจริงอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา? (ข) เหตุใดคุณจึงไว้ใจกฎหมายและคำสัญญาของพระเจ้าได้?
15 ในสมัยยิระมะยาห์ บางคนทราบดีว่าความยุติธรรมเป็นคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ชาวอิสราเอลจะกลับใจจากบาป และเสมือนหนึ่งว่าพวกเขายืนยันการกลับใจเช่นนี้โดยพูดว่า “พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่และเป็นพระเจ้าแห่งความจริง ความยุติธรรม และความชอบธรรม.” (ยิระ. 4:1, 2, ล.ม.) นั่นเป็นความจริงเพราะความอยุติธรรมไม่อาจมีอยู่ในพระประสงค์ของพระยะโฮวา. แต่มีข้อพิสูจน์อื่น ๆ ที่ว่าพระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม.
16 ไม่มีข้อสงสัย พระเจ้าทรงรักษาคำสัญญาของพระองค์และปราศจากความหน้าซื่อใจคด. ขณะที่มนุษย์หลายคนผิดสัญญากับคนอื่น พระยะโฮวาไม่เป็นเช่นนั้น. แม้แต่กฎธรรมชาติที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเราก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้. (ยิระ. 31:35, 36) เราจึงไว้ใจในคำสัญญาและการพิพากษาตัดสินของพระองค์ได้เช่นกัน เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นประโยชน์เสมอ.—อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:37, 38, ล.ม.d
17. (ก) พระยะโฮวาทรงทำเช่นไรเมื่อตัดสินเรื่องต่าง ๆ? (ข) เหตุใดคุณจึงไว้ใจได้เมื่อผู้ปกครองจัดการกับปัญหาในประชาคม? (ดูกรอบ “พวกเขาตัดสินความแทนพระยะโฮวา”)
17 เมื่อพิพากษาตัดสิน พระยะโฮวาไม่พอพระทัยเพียงแค่พิจารณาสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอก. พระองค์ทรงมองลึกกว่าสิ่งที่ใคร ๆ มองเห็นและทรงเข้าใจข้อเท็จจริงทั้งหมด. พระองค์ยังทรงประเมินแรงจูงใจของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย. แพทย์ในปัจจุบันสามารถใช้อุปกรณ์พิเศษและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อตรวจหัวใจคนไข้ขณะสูบฉีดโลหิต จึงได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของหัวใจ. หรือเขาอาจตรวจดูไตซึ่งทำหน้าที่กรองเลือด. พระยะโฮวาทรงทำได้ยิ่งกว่านั้นอีก. พระองค์ทรงตรวจดูหัวใจโดยนัยและประเมินแรงจูงใจของคนเรา รวมทั้งไตโดยนัย ซึ่งก็คือความรู้สึกในส่วนลึกที่สุดของเขา. ดังนั้น พระองค์จึงทราบดีว่าอะไรกระตุ้นคนเราให้ทำอย่างนั้นและเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการกระทำของเขา. และพระผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งสามารถรับข้อมูลจากการวิเคราะห์ของพระองค์ไม่ว่าจะมีรายละเอียดมากแค่ไหนก็ตาม. ก่อนพระยะโฮวาทรงพิพากษาตัดสิน พระองค์ทรงใช้ข้อมูลทั้งสิ้นนั้นอย่างถูกต้องและสมดุล ดียิ่งกว่าผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีความเข้าใจมากที่สุดจะทำได้.—อ่านยิระมะยา 12:1ก; 20:12
18, 19. การที่เรารู้จักความยุติธรรมของพระเจ้ามีผลต่อเราอย่างไร?
18 ดังนั้น คุณจึงมีเหตุผลหนักแน่นที่จะวางใจพระยะโฮวา ถึงแม้บางครั้งคุณรู้สึกว่าสติรู้สึกผิดชอบทิ่มแทงอยู่บ้างเนื่องจากความผิดพลาดในอดีต. อย่าลืมว่าพระยะโฮวาไม่ใช่อัยการที่จ้องจะหาเหตุลงโทษอย่างไม่ละลด แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาที่เมตตาสงสารซึ่งต้องการให้ความช่วยเหลือ. หากคุณรู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากการกระทำในอดีตหรือความผิดบางอย่างที่คนอื่นทำต่อคุณ จงทูลขอพระยะโฮวาให้ “รับเป็นธุระ” โดยฝากปัญหานั้นไว้กับพระองค์ เพื่อคุณจะเลิกใส่ใจกับเรื่องนั้น.e พระองค์จะช่วยคุณให้เห็นความสำคัญที่คุณจะมีส่วนในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป.—อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:58, 59
19 เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ พระเจ้าแห่งความยุติธรรมที่สมบูรณ์พร้อมทรงปรารถนาให้คนเหล่านั้นที่แสวงหาความพอพระทัยจากพระองค์ปฏิบัติด้วยความยุติธรรมเช่นกัน. (ยิระ. 7:5-7; 22:3) การประกาศข่าวดีโดยไม่ลำเอียงเป็นวิธีสำคัญในการแสดงความยุติธรรมของพระเจ้า. เมื่อคุณกลับเยี่ยมเยียนและนำการศึกษาพระคัมภีร์อย่างสำนึกในหน้าที่ คุณก็สะท้อนมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้าเกี่ยวกับความยุติธรรมในวิธีที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พระองค์ทรงปรารถนาให้ผู้คนทุกชนิดเรียนรู้เรื่องพระองค์และได้รับความรอด. (ทุกข์. 3:25, 26) คุณช่างมีสิทธิพิเศษเสียจริง ๆ ที่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานกับพระเจ้า สะท้อนความยุติธรรมของพระองค์ในงานช่วยชีวิต!
ความยุติธรรมของพระยะโฮวาปลอบโยนคุณอย่างไร? คุณจะปลอบโยนคนอื่นโดยเลียนแบบความยุติธรรมของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
“เราจะไม่เก็บความโกรธเป็นนิตย์”
20. (ก) ยิระมะยาห์เน้นแง่มุมใดเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับประชาชนของพระองค์? (ข) ‘การเปลี่ยนพระทัย’ เกี่ยวข้องกับการให้อภัยของพระยะโฮวาอย่างไร? (ดูกรอบ “พระยะโฮวา ‘ทรงเปลี่ยนพระทัย’ อย่างไร?”)
20 หลายคนมองว่า หนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์มีแต่การติเตียนสิ่งชั่วร้าย. คนที่มีทัศนะเช่นนั้นมองข้ามเรื่องที่ทำให้อบอุ่นใจในหนังสือเหล่านี้ คือที่พระยะโฮวาเสนอการให้อภัยแก่ประชาชนของพระองค์. พระองค์ทรงกระตุ้นชาวยิวว่า “พวกเจ้าจงหันกลับจากความชั่วของตัวทุกตัวคน, แลจงกระทำให้ทางทั้งหลายของพวกเจ้า, แลการประพฤติทั้งปวงของพวกเจ้าให้ดีเถิด.” ต่อมา ยิระมะยาห์ได้กระตุ้นเตือนพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงหันมาประพฤติดีและทำการดีและจงฟังเสียงพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกท่าน แล้วพระยะโฮวาจะเปลี่ยนพระทัยไม่ทำให้พวกท่านประสบความหายนะอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่าจะทำนั้น.” (ยิระ. 18:11; 26:13, ล.ม.) ในสมัยของเรา พระยะโฮวายังคงให้อภัยทุกคนซึ่งสำนึกผิดเสียใจอย่างแท้จริงและเลิกกิจปฏิบัติที่ผิด.
21. พระยะโฮวามีจุดมุ่งหมายอะไรในการให้อภัยคนที่ทำผิด?
21 พระยะโฮวาไม่เพียงแค่ตรัสเรื่องการให้อภัย แต่พระองค์ทรงให้อภัยจริง ๆ. พระยะโฮวาทรงใช้ยิระมะยาห์ให้กระตุ้นเตือนว่า “ดูกรพวกยิศราเอล, ที่มักถอยหลังนั้น, จงกลับเสียเถิด . . . เราจะไม่กระทำให้ความพิโรธของเราตกเหนือพวกเจ้า . . . เราจะไม่เก็บ (ความโกรธ) เป็นนิตย์.” (ยิระ. 3:12) พระเจ้าไม่ทรงรู้สึกพิโรธหรือเคียดแค้นอยู่ไม่หายต่อประชาชนของพระองค์ไม่ว่าใครซึ่งพระองค์ทรงให้อภัยไปแล้ว. แต่พระยะโฮวาทรงต้องการจะแก้ไขความสัมพันธ์ที่เสียหายถึงแม้มีการทำผิด. ทั้ง ๆ ที่คนเราอาจได้ทำบาป หากคนนั้นกลับใจจริง ๆ และขอการอภัยจากพระเจ้า พระยะโฮวาก็จะ ‘ให้เขากลับสู่’ ความพอพระทัยและรับพระพรของพระองค์. (ยิระ. 15:19, ฉบับ R73 ) คำรับรองนี้น่าจะสนับสนุนใครก็ตามซึ่งตอนนี้ห่างเหินจากพระเจ้าเที่ยงแท้ให้กลับมาหาพระองค์. คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่าการให้อภัยของพระยะโฮวาดึงดูดเราให้ใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น?—อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 5:21
22, 23. คุณควรมีเป้าหมายอะไร ขณะที่เลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องการให้อภัย?
22 เมื่อมีคนทำให้คุณขุ่นเคืองเนื่องจากคำพูดและการกระทำโดยไม่คิด คุณจะเลียนแบบพระยะโฮวาไหม? พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับชาวยิวในสมัยก่อนว่า พระองค์จะ “ชำระ” คนเหล่านั้นที่พระองค์ทรงให้อภัยแล้ว. (อ่านยิระมะยา 33:8 ) พระองค์ทรงสามารถชำระหรือทำให้สะอาดได้ในความหมายที่ว่าไม่จดจำความผิดของคนที่กลับใจแล้วอีกต่อไป ทรงให้คนนั้นตั้งต้นใหม่ในการรับใช้พระองค์. จริงอยู่ การได้รับการอภัยจากพระเจ้ามิได้หมายความว่าคนนั้นได้รับการชำระจากความไม่สมบูรณ์ที่ตกทอดมาเพื่อเขาจะเป็นคนสมบูรณ์ไม่มีบาป. แต่ก็มีบทเรียนสำหรับเราในเรื่องที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับการชำระมนุษย์. เราสามารถใช้ความพยายามที่จะลืมข้อผิดพลาดหรือความผิดของคนอื่น ซึ่งโดยอุปมาแล้วเท่ากับการชำระทัศนะที่เรามีต่อคนนั้นในใจ. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
23 ขอให้นึกภาพว่าคุณได้รับของขวัญเป็นชามหรือแจกันที่ตกทอดมา. หากภาชนะดังกล่าวเกิดสกปรกหรือมีรอยเปื้อน คุณจะโยนมันทิ้งทันทีเลยไหม? คงจะไม่. คุณคงจะพยายามทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง โดยขจัดจุดด่างหรือรอยสกปรกใด ๆ ให้หมดไป. คุณอยากเห็นความสวยงามของภาชนะนั้น อยากดูว่าเมื่อต้องแสงตะวันจะมีประกายแวววาวขนาดไหน. ในทำนองเดียวกัน คุณอาจพยายามขจัดความเจ็บใจใด ๆ ที่ยังค้างคาอยู่ รวมทั้งความรู้สึกขุ่นเคืองต่อพี่น้องชายหญิงที่ได้ทำผิดต่อคุณ. จงสู้กับแนวโน้มที่จะครุ่นคิดถึงคำพูดหรือการกระทำที่ทำให้เจ็บใจ. เมื่อคุณลืมเรื่องนั้นได้ ก็เหมือนกับว่าคุณได้ชำระภาพในใจรวมทั้งความทรงจำใด ๆ เกี่ยวกับคนนั้นที่คุณให้อภัยไปแล้ว. โดยที่หัวใจคุณได้รับการชำระให้ปราศจากความคิดแง่ลบต่อคนนั้น คุณก็จะรู้สึกว่าง่ายขึ้นที่จะมีมิตรภาพใกล้ชิดอีกครั้งถึงแม้เคยคิดว่าไม่มีทางที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก.
24, 25. คุณจะได้รับผลประโยชน์อะไรหากคุณรู้จักพระยะโฮวาเหมือนกับที่กษัตริย์โยซียาห์รู้จัก?
24 เราได้พิจารณาคุณลักษณะของพระยะโฮวาเพียงแค่บางอย่าง และวิธีปฏิบัติของพระองค์ซึ่งเราเรียนรู้ขณะที่มารู้จักพระองค์มากขึ้น. เราเห็นได้ว่าผลประโยชน์ที่เราได้รับเป็นส่วนตัวจากการรู้จักพระยะโฮวาอย่างสนิทสนมเป็นแรงจูงใจที่มีพลังเพื่อจะนมัสการพระองค์อย่างที่ทรงยอมรับ. หากเรารู้จักพระยะโฮวาอย่างสนิทสนมเหมือนที่กษัตริย์โยซียาห์รู้จักแล้ว ชีวิตเราก็จะเปี่ยมด้วยความสุข ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งแห่งบุคลิกภาพของพระเจ้า.
25 การรู้จักพระยะโฮวามากขึ้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นดีขึ้น. โดยที่เราพยายามแสดงความรักมั่นคง, ความยุติธรรม, และการให้อภัยเช่นเดียวกับพระยะโฮวา มิตรภาพของเรากับพี่น้องในประชาคมคริสเตียนก็จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้น. ยิ่งกว่านั้น เราเองก็จะมีความสามารถในการสอนมากขึ้นขณะที่เรากลับเยี่ยมในเขตของเราและสอนนักศึกษาพระคัมภีร์ให้ก้าวหน้า. ผู้สนใจก็จะรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นที่เห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบคริสเตียนของเรานั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุด. ดังนั้น เราจึงถูกเตรียมไว้พร้อมที่จะช่วยพวกเขานมัสการพระยะโฮวาอย่างที่พระองค์ทรงยอมรับ เพื่อจะดำเนินใน “ทางที่ดีนั้น.”—ยิระ. 6:16
บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 5:21 บอกข่าวสารอะไรแก่คุณ?
b ยิระมะยา 22:15, 16 (ล.ม.) “เจ้าจะใช้ไม้สนซีดาร์เพื่อแสดงว่าเจ้าเหนือกว่าคนอื่นเพื่อจะครองราชย์ต่อไปหรือ? ส่วนบิดาเจ้า เขากินดื่มและดำเนินการอย่างยุติธรรมและชอบธรรมไม่ใช่หรือ? เขาจึงได้สุขสบาย. เขาช่วยคนเดือดร้อนและคนยากจนให้ได้รับความเป็นธรรม เขาจึงมีความสุข. พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เขาทำอย่างนั้นเพราะเขารู้จักเรามิใช่หรือ?’ ”
c เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล แปลคำตรัสของพระยะโฮวาว่า “เราได้รักเจ้ามากตั้งแต่กาลโบราณ และเรายังคงดูแลเจ้าต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง.”
d บทเพลงร้องทุกข์ 3:37, 38 (ล.ม.) “ใครล่ะที่สั่งอะไรแล้วสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ในเมื่อพระยะโฮวาไม่ได้ทรงบัญชาให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น? สิ่งดีกับสิ่งไม่ดีไม่ได้ออกจากพระโอษฐ์พระผู้สูงสุดพร้อมกัน.”
e หากพี่น้องชายหรือหญิงได้ทำสิ่งที่ละเมิดกฎหมายของพระเจ้าอย่างเห็นได้ชัด ก็ควรแจ้งให้ผู้ปกครองในประชาคมทราบเพื่อพวกเขาจะจัดการเรื่องนี้และให้การช่วยเหลือตามหลักพระคัมภีร์.—ยโก. 5:13-15