พระยะโฮวาทรงเฝ้าดูเราเพื่อประโยชน์ของเรา
“พระเนตรของ [พระยะโฮวา] กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.”—2 โคร. 16:9, ล.ม.
1. เหตุใดพระยะโฮวาทรงพิจารณาดูเรา?
พระยะโฮวาทรงเป็นบิดาที่สมบูรณ์แบบ. พระองค์ทรงรู้จักเราดีถึงขนาดที่ทรงรู้แม้กระทั่ง “แนวโน้มแห่งความคิด” ของเรา. (1 โคร. 28:9, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้พิจารณาดูเราเพียงเพื่อจะจับผิด. (เพลง. 11:4; 130:3) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ด้วยความรักพระองค์ทรงประสงค์จะปกป้องเราให้พ้นจากสิ่งใดก็ตามที่อาจส่งผลเสียหายต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระองค์หรือต่อโอกาสที่เราจะได้ชีวิตนิรันดร์.—เพลง. 25:8-10, 12, 13.
2. พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ของใคร?
2 พระยะโฮวาทรงมีอำนาจยิ่งใหญ่ไม่มีใครเทียบและทรงมองเห็นทุกสิ่ง. ด้วยเหตุผลนี้เอง พระองค์ทรงสามารถช่วยเหลือคนที่ภักดีต่อพระองค์ได้ทุกเมื่อที่พวกเขาร้องขอ และพระองค์ทรงสามารถค้ำจุนพวกเขาในช่วงที่พวกเขาประสบความทุกข์ยาก. สองโครนิกา 16:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระเนตรของ [พระยะโฮวา] กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.” โปรดสังเกตว่าพระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ของคนที่รับใช้พระองค์ด้วยหัวใจเป็นหนึ่งเดียว คือหัวใจที่บริสุทธิ์และมีแรงกระตุ้นที่จริงใจ. พระองค์ไม่ทรงแสดงความห่วงใยเช่นนั้นต่อคนที่หลอกลวงหรือหน้าซื่อใจคด.—ยโฮ. 7:1, 20, 21, 25; สุภา. 1:23-33.
จงดำเนินกับพระเจ้า
3, 4. การ “ดำเนินกับพระเจ้า” หมายความอย่างไร และตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยให้ความกระจ่างแก่เราในเรื่องนี้?
3 สำหรับหลายคน เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่พระผู้สร้างเอกภพอันไพศาลของเราจะอนุญาตให้มนุษย์ดำเนินกับพระองค์ในความหมายฝ่ายวิญญาณ. กระนั้น นั่นแหละคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราทำ. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ฮะโนคและโนอาห์ “ดำเนินกับพระเจ้า.” (เย. 5:24; 6:9) โมเซ “ยังยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปเสมือนเห็นพระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (ฮีบรู 11:27) กษัตริย์ดาวิดก็ดำเนินอย่างถ่อมตนเคียงข้างพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์. ท่านกล่าวว่า “เพราะ [พระยะโฮวา] ทรงสถิตอยู่ข้างมือขวาของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะไม่แปรปรวนไป.”—เพลง. 16:8.
4 แน่นอน เราไม่สามารถจับพระหัตถ์พระเจ้าไว้และเดินไปกับพระองค์จริง ๆ ได้. แต่เราสามารถทำอย่างนั้นได้ในความหมายเป็นนัย. โดยวิธีใด? อาซาฟผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “ข้าพเจ้ายังอยู่กับพระองค์เสมอ พระองค์ได้ทรงยึดมือขวาของข้าพเจ้าไว้. พระองค์จะทรงนำข้าพเจ้าด้วยคำแนะนำของพระองค์.” (เพลง. 73:23, 24) พูดง่าย ๆ คือ เราดำเนินกับพระยะโฮวาเมื่อเราทำตามคำแนะนำทุกอย่างของพระองค์ ซึ่งในอันดับแรกเราได้รับโดยทางพระคำที่จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัด. 24:45; 2 ติโม. 3:16.
5. พระยะโฮวาทรงเฝ้าดูคนที่ภักดีต่อพระองค์เหมือนบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักอย่างไร และเราควรรู้สึกอย่างไรต่อพระองค์?
5 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเห็นว่าคนที่ดำเนินกับพระองค์มีค่าอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเฝ้าดูพวกเขาเหมือนบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก, คอยดูแล, ปกป้อง, และสอนพวกเขา. พระเจ้าตรัสว่า “เราจะทำให้เจ้ามีความหยั่งเห็นเข้าใจ และสั่งสอนเจ้าในทางที่เจ้าควรดำเนิน. เราจะให้คำแนะนำพร้อมกับเฝ้าดูเจ้า.” (เพลง. 32:8, ล.ม.) จงถามตัวเองว่า ‘ฉันนึกภาพไหมว่าเหมือนกับกำลังเดินไปด้วยกันกับพระยะโฮวา, จับพระหัตถ์พระองค์ไว้, ฟังสติปัญญาของพระองค์, และรู้ว่าสายพระเนตรอันเปี่ยมด้วยความรักกำลังจับจ้องฉันอยู่? การที่ฉันตระหนักว่าพระองค์ทรงอยู่ด้วยส่งผลกระทบต่อความคิด, คำพูด, และการกระทำของฉันไหม? และเมื่อฉันทำผิดพลาด ฉันตระหนักไหมว่าพระยะโฮวาไม่ทรงวางพระองค์เหินห่างและเกรี้ยวกราด แต่ทรงเป็นพระบิดาที่อบอุ่นและเปี่ยมเมตตาซึ่งต้องการช่วยคนที่กลับใจให้กลับมามีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับพระองค์อีก?’—เพลง. 51:17.
6. พระยะโฮวาทรงเหนือกว่าบิดามารดาที่เป็นมนุษย์อย่างไร?
6 บางครั้ง พระยะโฮวาอาจช่วยเราก่อนที่เราจะถลำเข้าสู่แนวทางผิดด้วยซ้ำ. ตัวอย่างเช่น พระองค์อาจสังเกตว่าหัวใจเราซึ่งมีแนวโน้มจะทรยศเริ่มปรารถนาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง. (ยิระ. 17:9) ในสถานการณ์เช่นนั้น พระองค์ทรงสามารถช่วยเราได้เร็วกว่าบิดามารดาที่เป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำ เพราะ “พระเนตรที่เปล่งประกาย” ของพระองค์สามารถเห็นลึกลงไปในตัวเรา เพื่อตรวจสอบความคิดในส่วนลึกที่สุดของเรา. (เพลง. 11:4, ล.ม.; 139:4; ยิระ. 17:10) ขอให้พิจารณาปฏิกิริยาของพระเจ้าต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบารุค เลขานุการส่วนตัวของผู้พยากรณ์ยิระมะยาและเป็นเพื่อนสนิทของท่านด้วย.
ทรงเป็นพระบิดาซึ่งรักและห่วงใยบารุค
7, 8. (ก) บารุคเป็นใคร และอาจมีความปรารถนาที่ไม่ดีอะไรเกิดขึ้นในหัวใจของเขา? (ข) พระยะโฮวาทรงห่วงใยบารุคแบบที่บิดาห่วงใยบุตรอย่างไร?
7 บารุคเป็นเลขานุการซึ่งทำหน้าที่ในการรับใช้อย่างซื่อสัตย์เคียงข้างยิระมะยาในงานมอบหมายอย่างหนึ่งที่เป็นงานยาก คือการประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวาต่อยูดาห์. (ยิระ. 1:18, 19) มาถึงจุดหนึ่ง บารุคซึ่งอาจเกิดในครอบครัวชั้นสูงเริ่มแสวงหา “ของใหญ่” สำหรับตัวเอง. อาจเป็นได้ว่าเขาเริ่มเกิดมีความทะเยอทะยานอันเห็นแก่ตัวหรืออยากมั่งคั่งด้านวัตถุ. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม พระยะโฮวาทรงเห็นว่าความคิดที่เป็นอันตรายอย่างนี้กำลังก่อตัวขึ้นในหัวใจบารุค. โดยทางยิระมะยา พระยะโฮวาตรัสเรื่องนี้กับบารุคทันทีว่า “เจ้าได้บอกไว้แล้วว่า, บัดนี้จะมีวิบากแก่ข้าพเจ้า, เพราะพระยะโฮวาได้เพิ่มเติมความเศร้าหมองแก่ความทุกข์ของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าได้สลบไปในความหายใจใหญ่ของข้าพเจ้า, แลข้าพเจ้าเสาะหาความสงบเงียบมิได้.” จากนั้น พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าได้แสวงหาซึ่งของใหญ่สำหรับตัวหรือ, อย่าหาเลย.”—ยิระ. 45:1-5.
8 แม้ว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างหนักแน่นต่อบารุค พระองค์ไม่ทรงแสดงปฏิกิริยาด้วยความโกรธ แต่ด้วยความห่วงใยแท้แบบที่บิดามีต่อบุตร. เห็นได้ชัด พระเจ้าทรงเห็นว่าที่ชายผู้นี้ปรารถนาอย่างนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขามีใจชั่วหรือใจคด. พระยะโฮวาทรงทราบด้วยว่าเยรูซาเลมและยูดาห์อยู่ในช่วงสุดท้ายใกล้จะพินาศ และพระองค์ไม่ต้องการให้บารุคล้มพลาดในช่วงวิกฤติอย่างนั้น. ด้วยเหตุนั้น เพื่อจะช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้ตระหนักถึงความเป็นจริง พระเจ้าทรงเตือนเขาว่าพระองค์ “จะนำเหตุร้ายมาเหนือมนุษย์ทั้งสิ้น” และเสริมด้วยว่าหากบารุคปฏิบัติอย่างสุขุมเขาจะมีชีวิตอยู่. (ยิระ. 45:5, ฉบับแปลใหม่) อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าตรัสในทำนองนี้: ‘บารุคเอ๋ย จงยอมรับความเป็นจริงเถิด. อย่าลืมว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับยูดาห์และกรุงเยรูซาเลมที่ผิดบาป. จงรักษาตัวซื่อสัตย์เสมอแล้วเจ้าจะมีชีวิตอยู่! เราจะปกป้องเจ้าไว้.’ เห็นได้ชัดว่าคำตรัสของพระยะโฮวาเข้าถึงหัวใจของบารุค เพราะเขาทำตามคำเตือนและรอดชีวิตจากพินาศกรรมของกรุงเยรูซาเลมซึ่งเกิดขึ้นในอีก 17 ปีต่อมา.
9. คุณจะตอบคำถามที่ยกขึ้นมาในข้อนี้อย่างไร?
9 ขณะที่คุณใคร่ครวญเรื่องราวเกี่ยวกับบารุค ขอให้พิจารณาคำถามและข้อคัมภีร์ต่อไปนี้: วิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อบารุคเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาและความรู้สึกที่พระองค์มีต่อผู้รับใช้ของพระองค์? (อ่านฮีบรู 12:9.) เมื่อคำนึงถึงวิกฤตกาลที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เราเรียนอะไรได้จากคำแนะนำของพระเจ้าที่ให้แก่บารุคและจากการสนองตอบของบารุค? (อ่านลูกา 21:34-36.) ด้วยการเลียนแบบยิระมะยา ผู้ปกครองคริสเตียนสามารถสะท้อนความห่วงใยที่พระยะโฮวาทรงมีต่อผู้รับใช้ของพระองค์ได้อย่างไร?—อ่านกาลาเทีย 6:1.
ความรักของพระบิดาสะท้อนให้เห็นในพระบุตร
10. พระยะโฮวาทรงเตรียมพระเยซูอย่างไรให้พร้อมจะทำหน้าที่เป็นประมุขประชาคมคริสเตียน?
10 ก่อนยุคคริสเตียน พระยะโฮวาทรงเผยให้เห็นความรักต่อประชาชนของพระองค์โดยทางผู้พยากรณ์และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ. ปัจจุบัน พระองค์ทรงเผยให้เห็นความรักของพระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์ผู้เป็นประมุขประชาคมคริสเตียนมากกว่าทางอื่นใด. (เอเฟ. 1:22, 23) ด้วยเหตุนั้น มีการพรรณนาถึงพระเยซูในหนังสือวิวรณ์ว่าทรงเป็นพระเมษโปดกที่มี “ตาเจ็ดดวง ตาเจ็ดดวงนั้นหมายถึงพระวิญญาณทั้งเจ็ดของพระเจ้าที่ถูกส่งออกไปทั่วแผ่นดินโลก.” (วิ. 5:6) ดังนั้น โดยได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่ พระเยซูทรงมีความเข้าใจอันลึกซึ้งอย่างสมบูรณ์แบบ. เช่นเดียวกับพระบิดา พระองค์ทรงเห็นว่าภายในส่วนลึกของเราเป็นอย่างไร และไม่มีสิ่งใดพ้นการสังเกตของพระองค์ไปได้.
11. พระคริสต์ทรงมีบทบาทอะไร และทัศนะของพระองค์ต่อเราสะท้อนถึงทัศนะของพระบิดาอย่างไร?
11 แต่เช่นเดียวกับพระยะโฮวา พระเยซูไม่ใช่ตำรวจที่อยู่ในสวรรค์. พระองค์ทรงพิจารณาดูเราด้วยสายพระเนตรอันเปี่ยมด้วยความรัก. ตำแหน่งหนึ่งของพระเยซู คือ “พระบิดาองค์ถาวร” ทำให้เรานึกถึงบทบาทอย่างหนึ่งของพระองค์คือการประทานชีวิตนิรันดร์แก่ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์. (ยซา. 9:6) นอกจากนั้น ในฐานะประมุขประชาคมคริสเตียน พระคริสต์ทรงสามารถกระตุ้นคริสเตียนที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณที่เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง ให้ปลอบโยนหรือให้คำแนะนำแก่คนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ.—1 เทส. 5:14; 2 ติโม. 4:1, 2.
12. (ก) จดหมายถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อยเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระเยซู? (ข) ผู้ปกครองสะท้อนให้เห็นทัศนะของพระคริสต์ต่อฝูงแกะของพระเจ้าอย่างไร?
12 ความสนพระทัยอย่างลึกซึ้งของพระคริสต์ต่อฝูงแกะนั้นเห็นได้ในจดหมายถึงผู้ปกครองประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อย. (วิ. 2:1–3:22) ในจดหมายเหล่านั้น พระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงรู้ดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละประชาคม และพระองค์ทรงห่วงใยเหล่าสาวกอย่างยิ่ง. ในสมัยปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้นด้วย—ที่จริง ยิ่งกว่าในศตวรรษแรกด้วยซ้ำ—เนื่องจากนิมิตในวิวรณ์สำเร็จในช่วง “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”a (วิ. 1:10) ความรักของพระคริสต์มักแสดงออกทางผู้ปกครอง ซึ่งรับใช้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณในประชาคม. พระองค์ทรงสามารถกระตุ้น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เหล่านี้ให้ปลอบโยน, หนุนใจ, หรือให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น. (เอเฟ. 4:8; กิจ. 20:28; อ่านยะซายา 32:1, 2.) คุณถือว่าความพยายามของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าพระคริสต์ทรงสนพระทัยในตัวคุณเป็นส่วนตัวไหม?
ความช่วยเหลือในเวลาอันเหมาะ
13-15. พระเจ้าอาจเลือกตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไร? จงยกตัวอย่าง.
13 คุณเคยอธิษฐานอย่างแรงกล้าเพื่อขอความช่วยเหลือและได้รับคำตอบในรูปของการเยี่ยมที่หนุนใจจากคริสเตียนที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณไหม? (ยโก. 5:14-16) หรือความช่วยเหลืออาจมาในรูปของคำบรรยาย ณ การประชุมคริสเตียนหรือข้อมูลที่อยู่ในหนังสือของเรา. บ่อยครั้ง พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานในวิธีดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น หลังจากผู้ปกครองคนหนึ่งบรรยายจบ พี่น้องหญิงคนหนึ่งก็เข้ามาหาเขา. หลายสัปดาห์ก่อนคำบรรยาย พี่น้องหญิงคนนี้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งสำหรับเธอ. แทนที่จะบ่นในเรื่องปัญหาของเธอ เธอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งที่ผู้บรรยายได้ชี้ถึงจุดต่าง ๆ จากพระคัมภีร์ในคำบรรยาย. จุดเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ของเธอและทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้นมาก. เธอดีใจจริง ๆ ที่ได้เข้าร่วมการประชุมนั้น!
14 เกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ได้รับทางคำอธิษฐาน ขอให้พิจารณาตัวอย่างของผู้ต้องขังสามคนซึ่งได้มารู้จักความจริงในคัมภีร์ไบเบิลระหว่างที่อยู่ในเรือนจำและก้าวหน้าจนเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา. เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงในครั้งหนึ่ง นักโทษทุกคนที่อยู่ในเรือนจำนั้นจึงถูกถอนสิทธิพิเศษหลายอย่าง. เรื่องนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วง. พวกนักโทษตกลงกันว่าหลังอาหารเช้าวันถัดไปพวกเขาจะไม่ยอมคืนถาดอาหารเพื่อแสดงการขัดขืน. ผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมาทั้งสามคนจึงเผชิญสถานการณ์ลำบากที่จะต้องตัดสินใจ. ถ้าพวกเขาร่วมในการประท้วงนั้น ก็จะฝ่าฝืนคำแนะนำของพระยะโฮวาตามที่พบในโรม 13:1. ถ้าพวกเขาไม่ร่วมด้วย ก็คาดหมายได้เลยว่าพวกเขาจะถูกพวกนักโทษที่โกรธแค้นทำร้าย.
15 ทั้งสามไม่สามารถติดต่อกันได้ แต่พวกเขาอธิษฐานขอสติปัญญา. เช้าวันต่อมา ทั้งสามก็พบว่าพวกเขาได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกันเลย นั่นคือพวกเขาไม่รับอาหารเช้า. ภายหลังเมื่อผู้คุมมาเก็บถาด ทั้งสามจึงไม่มีถาดจะคืนให้. พวกเขารู้สึกยินดีจริง ๆ ที่ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงอยู่ใกล้ ๆ!—เพลง. 65:2.
เผชิญอนาคตด้วยความมั่นใจ
16. งานประกาศแสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงห่วงใยคนที่มีลักษณะเยี่ยงแกะ?
16 งานประกาศทั่วโลกยังเป็นหลักฐานอีกประการหนึ่งว่าพระยะโฮวาทรงห่วงใยคนที่มีหัวใจสุจริต ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน. (เย. 18:25) พระยะโฮวาทรงสามารถนำทางผู้รับใช้ของพระองค์ให้ไปพบกับคนที่มีลักษณะเยี่ยงแกะ—หลายครั้งพระองค์ให้ทูตสวรรค์ชี้ทาง—แม้แต่ในกรณีที่คนเหล่านี้อยู่ในเขตที่ข่าวดียังไปไม่ถึง. (วิ. 14:6, 7) ตัวอย่างเช่น โดยทางทูตสวรรค์องค์หนึ่ง พระเจ้าทรงนำทางฟิลิปซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีในศตวรรษแรกให้ไปพบขุนนางชาวเอธิโอเปียกลางทางและอธิบายพระคัมภีร์ให้เขาเข้าใจ. ผลเป็นอย่างไร? ชายคนนี้ตอบรับข่าวดีและรับบัพติสมาเป็นสาวกของพระเยซู.b—โย. 10:14; กิจ. 8:26-39.
17. เหตุใดเราไม่ควรกังวลจนเกินไปในเรื่องอนาคต?
17 ขณะที่ระบบปัจจุบันกำลังใกล้จะถึงอวสาน “ความทุกข์ปวดร้าวเหมือนตอนเจ็บท้องคลอด” ตามที่บอกไว้ล่วงหน้าก็จะดำเนินต่อไป. (มัด. 24:8) ตัวอย่างเช่น ราคาอาหารอาจสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากความต้องการมีมากขึ้น, สภาพอากาศเลวร้าย, หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ. งานอาจหาได้ยากขึ้น และคนที่เป็นลูกจ้างอาจถูกกดดันให้ทำงานยาวนานกว่าเดิม. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนที่รักษางานรับใช้พระยะโฮวาให้อยู่ในอันดับแรกและ ‘ให้ตามองที่สิ่งเดียว’ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินไป. พวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขาและจะดูแลพวกเขา. (มัด. 6:22-34) ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงดูแลยิระมะยาในช่วงเวลาอวสานอันสับสนวุ่นวายของกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช.
18. พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ความรักของพระองค์ต่อยิระมะยาอย่างไรในช่วงที่กรุงเยรูซาเลมถูกล้อม?
18 ในช่วงท้ายที่ชาวบาบิโลนล้อมกรุงเยรูซาเลม ยิระมะยาถูกขังคุกในบริเวณวังกษัตริย์. ท่านจะได้รับอาหารอย่างไร? หากเป็นอิสระ ท่านก็คงสามารถหาอาหารได้. แต่ในตอนนี้ท่านต้องพึ่งคนอื่นอย่างสิ้นเชิง และคนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบตัวท่านก็เกลียดท่าน! ถึงกระนั้น ยิระมะยาไม่ได้ไว้วางใจมนุษย์ แต่ไว้วางใจพระเจ้าผู้ทรงสัญญาว่าจะดูแลท่าน. พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาไหม? แน่นอนที่สุด! พระองค์ทรงจัดการให้ยิระมะยาได้รับ “ขนมปังก้อนหนึ่ง . . . ทุกวัน, กว่าบรรดาขนมในเมืองนั้นจะหมดไป.” (ยิระ. 37:21) ยิระมะยา, รวมทั้งบารุค, เอเบ็ดเมเล็ก, และคนอื่น ๆ รอดชีวิตผ่านช่วงเวลาที่เต็มด้วยการกันดารอาหาร, โรคภัย, และความตาย.—ยิระ. 38:2; 39:15-18.
19. ขณะที่เราเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราควรตั้งใจแน่วแน่อย่างไร?
19 จริงทีเดียว “พระเนตรพระยะโฮวาเฝ้ามองคนชอบธรรมและพระกรรณพระองค์คอยฟังคำวิงวอนของพวกเขา.” (1 เป. 3:12) คุณรู้สึกยินดีที่พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ทรงคอยเฝ้าดูไหม? คุณรู้สึกมั่งคงปลอดภัยไหมที่รู้ว่าพระเนตรของพระองค์คอยดูคุณอยู่เพื่อประโยชน์ของคุณ? ถ้าอย่างนั้น จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะดำเนินกับพระเจ้าต่อ ๆ ไป—ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร. เราสามารถมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงคอยเฝ้าดูเหล่าผู้ภักดีต่อพระองค์ทุกคนเสมอแบบเดียวกับที่บิดาคอยดูบุตร.—เพลง. 32:8; อ่านยะซายา 41:13.
[เชิงอรรถ]
a แม้ว่าจดหมายเหล่านี้ในเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ แต่หลักการในจดหมายเหล่านี้ใช้ได้กับผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคน.
b อีกตัวอย่างหนึ่งของการชี้นำจากพระเจ้าจะพบได้ที่กิจการ 16:6-10. ที่นั่น เราอ่านว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ห้าม” เปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางไม่ให้ประกาศพระคำในแคว้นเอเชียและแคว้นบิทีเนีย. แทนที่จะไปสองแห่งนี้ พวกเขาถูกส่งไปทำงานที่แคว้นมาซิโดเนียซึ่งที่นั่นมีคนถ่อมหลายคนตอบรับการเผยแพร่ข่าวดีของพวกเขา.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เราจะแสดงให้เห็นได้โดยวิธีใดว่าเรากำลัง “ดำเนินกับพระเจ้า”?
• พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงรักบารุค?
• ในฐานะประมุขประชาคมคริสเตียน พระเยซูทรงสะท้อนคุณลักษณะของพระบิดาอย่างไร?
• เราจะแสดงได้โดยวิธีใดว่าเราไว้วางใจพระเจ้าในสมัยวิกฤตินี้?
[ภาพหน้า 9]
เช่นเดียวกับยิระมะยา ผู้ปกครองคริสเตียนในปัจจุบันสะท้อนความห่วงใยของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 10]
พระยะโฮวาอาจช่วยเราในเวลาที่เหมาะสมอย่างไร?