บท 11
“เราตั้งเจ้าเป็นคนเฝ้ายาม”
จุดสำคัญ พระยะโฮวาแต่งตั้งคนเฝ้ายามและบอกว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง
1. พระยะโฮวาให้พวกผู้พยากรณ์ทำหน้าที่คนเฝ้ายาม พวกเขาทำอะไรบ้าง? และมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น?
คนเฝ้ายามยืนอยู่บนกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม เขาเอามือป้องตาเพื่อบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า ขณะที่กวาดสายตาไปตามแนวเส้นขอบฟ้า เขาเห็นกองทัพบาบิโลนกำลังมา! เขารีบหยิบแตรขึ้นมา หายใจเข้าเต็มปอดและเป่าแตรเตือนประชาชน แต่เสียงแตรของคนเฝ้ายามครั้งนี้เป็นการเตือนที่สายเกินไปสำหรับคนที่ไม่ยอมฟัง เพราะเป็นร้อยปีแล้วที่พระยะโฮวาแต่งตั้งคนเฝ้ายามซึ่งก็คือพวกผู้พยากรณ์ ให้เตือนว่าวันนี้จะมาถึง แต่ผู้คนปิดหูปิดตาไม่ยอมฟังคำเตือน ตอนนี้กองทัพบาบิโลนมาล้อมเมืองแล้ว และหลังจากล้อมอยู่หลายเดือนทหารบาบิโลนก็ทลายกำแพงเมืองและพังวิหารจนราบ ส่วนชาวเมืองเยรูซาเล็มที่ไม่ซื่อสัตย์และไหว้รูปเคารพ มีบางส่วนถูกฆ่า และบางส่วนก็ถูกพาตัวไป
2, 3. (ก) อีกไม่นานผู้คนบนโลกต้องเจอกับอะไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
2 ตอนนี้ กองทัพของพระยะโฮวากำลังมาเพื่อจะลงโทษคนบนโลกที่ขาดความเชื่อ (วว. 17:12-14) การปะทะกันที่จะเกิดขึ้นจะเป็นจุดสิ้นสุดของความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษย์ (มธ. 24:21) แต่ก็ไม่สายเกินไปที่อีกหลายคนจะฟังคำเตือนจากคนที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้ายาม
3 อะไรกระตุ้นพระยะโฮวาให้แต่งตั้งคนเฝ้ายาม? พระยะโฮวาให้คนเฝ้ายามประกาศข่าวแบบไหน? ใครทำหน้าที่นี้และเรามีส่วนร่วมอย่างไร? ให้เรามาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยกัน
“ไปเตือนพวกเขาตามที่เราบอก”
4. อะไรกระตุ้นพระยะโฮวาให้แต่งตั้งคนเฝ้ายาม? (ดูภาพแรก)
4 อ่านเอเสเคียล 33:7 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คนเฝ้ายามมักยืนอยู่บนกำแพงเมืองเพื่อดูแลความปลอดภัยของคนในเมือง การมีคนเฝ้ายามเป็นหลักฐานชัดเจนว่าผู้ปกครองเมืองเป็นห่วงชาวเมืองที่อยู่ในความดูแล ถึงแม้คนเฝ้ายามจะเป่าแตรดังแสบแก้วหูและทำให้ประชาชนที่กำลังหลับต้องตกใจตื่น แต่มันก็ช่วยชีวิตคนที่ฟังเสียงเตือนนั้น คล้ายกัน พระยะโฮวาแต่งตั้งคนเฝ้ายามไม่ใช่เพื่อทำให้ชาวอิสราเอลตกใจกลัวข่าวเรื่องความพินาศ แต่พระองค์เป็นห่วงประชาชนและต้องการให้พวกเขารอดชีวิต
5, 6. พระยะโฮวาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ยุติธรรม?
5 ตอนที่พระยะโฮวาแต่งตั้งเอเสเคียลเป็นคนเฝ้ายาม พระองค์ทำให้เราเห็นคุณลักษณะหลายอย่างของพระองค์ซึ่งทำให้เราอบอุ่นใจ ให้เรามาดูกันสัก 2 อย่าง
6 ความยุติธรรม เราเห็นความยุติธรรมของพระยะโฮวาจากการที่พระองค์ปฏิบัติกับเราแต่ละคนอย่างไม่ลำเอียง ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่จะปฏิเสธข่าวสารของเอเสเคียล แต่พระยะโฮวาก็ไม่ได้ถือว่าทุกคนเป็นกบฏ พระองค์อยากเห็นว่าแต่ละคนมีท่าทีอย่างไรเมื่อได้ยินข่าวสารนั้น มีหลายครั้งที่พระยะโฮวาบอกว่าพระองค์พูดกับ “คนชั่ว” และ “คนดี” ดังนั้น พระองค์จึงพิพากษาแต่ละคนตามการกระทำของเขาเมื่อได้ยินคำเตือน—อสค. 33:8, 18-20
7. พระยะโฮวาใช้อะไรเป็นหลักในการตัดสินผู้คน?
7 เรายังเห็นความยุติธรรมของพระยะโฮวาจากวิธีที่พระองค์ตัดสินผู้คนด้วย พระยะโฮวาตัดสินโดยดูว่าแต่ละคนทำอย่างไรเมื่อได้ยินคำเตือนในตอนนี้ ไม่ได้ตัดสินจากสิ่งที่ทำในอดีต พระยะโฮวาบอกเอเสเคียลว่า “เมื่อเราบอกคนชั่วว่า ‘เจ้าคนชั่ว เจ้าจะตายแน่!’ และเขาเลิกทำบาป แล้วทำสิ่งที่ยุติธรรมและถูกต้องชอบธรรม . . . เขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป” พระองค์ยังบอกด้วยว่า “เขาจะไม่ต้องรับโทษเพราะบาปที่เขาเคยทำ” (อสค. 33:14-16) ในทางกลับกัน คนที่ทำดีมาตลอดจะเอาความดีที่เคยทำ มาลบล้างความผิดที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน พระยะโฮวาบอกว่าถ้าใคร “มั่นใจในความดีของตัวเองและทำผิด เราจะไม่คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่เขาเคยทำเลย แต่เขาจะตายเพราะความผิดที่เขาทำ”—อสค. 33:13
8. ทำไมการเตือนของพวกผู้พยากรณ์จึงทำให้เรารู้ว่าพระยะโฮวายุติธรรม?
8 เรายังได้เห็นความยุติธรรมของพระยะโฮวาจากการที่พระองค์เตือนล่วงหน้านานพอก่อนจะลงมือจัดการ เอเสเคียลเริ่มงานของเขาประมาณ 6 ปีก่อนที่กองทัพบาบิโลนจะทำลายเยรูซาเล็ม แต่เอเสเคียลไม่ใช่คนแรกที่เตือนประชาชนว่าพวกเขาจะต้องรับผลจากสิ่งที่ทำ มากกว่า 100 ปีก่อนที่เยรูซาเล็มถูกทำลาย พระยะโฮวาให้ผู้พยากรณ์เช่น โฮเชยา อิสยาห์ มีคาห์ โอเดด และเยเรมีย์ทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้ายาม พระยะโฮวาให้เยเรมีย์เตือนชาวอิสราเอลว่า “เราได้จัดคนเฝ้ายามไว้และพวกเขาบอกว่า ‘คอยฟังเสียงแตรเขาสัตว์ให้ดีนะ’” (ยรม. 6:17) ดังนั้น พระยะโฮวาและคนเฝ้ายามจึงไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อหลายคนต้องเสียชีวิตตอนที่ชาวบาบิโลนมาโจมตีตามการพิพากษาของพระยะโฮวา
9. พระยะโฮวาแสดงความรักที่มั่นคงอย่างไร?
9 ความรัก พระยะโฮวาแสดงความรักที่มั่นคงโดยส่งคนเฝ้ายามไปเตือน ไม่ใช่เตือนแต่คนดีเท่านั้นแต่เตือนคนชั่วด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาทำให้พระองค์เสียใจมากและทำให้พระองค์เสียชื่อเสียง คิดดูสิ ใคร ๆ ก็รู้ว่าชาวอิสราเอลเป็นประชาชนของพระยะโฮวา แต่กลับทิ้งพระองค์ไปหาพระเท็จครั้งแล้วครั้งเล่า! พระยะโฮวาบอกให้รู้ว่าพระองค์เจ็บปวดขนาดไหนที่ถูกชาตินี้ทรยศ โดยเปรียบพวกเขาเป็นเหมือนภรรยาที่เล่นชู้ (อสค. 16:32) ถึงจะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาก็ยังไม่หมดหวังกับพวกเขา พระองค์หาทางให้พวกเขากลับมาคืนดีกับพระองค์แทนที่จะลงโทษ พระองค์ให้การทำลายพวกเขาเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะอะไร? พระองค์บอกเอเสเคียลว่า “เราไม่ดีใจเลยที่คนชั่วตาย แต่เราอยากให้เขาเลิกทำชั่วและมีชีวิตอยู่ต่อไป” (อสค. 33:11) ทุกวันนี้พระยะโฮวาก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม—มลค. 3:6
10, 11. เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากวิธีที่พระยะโฮวาติดต่อเกี่ยวข้องกับประชาชนของพระองค์?
10 เราได้เรียนอะไรเกี่ยวกับความยุติธรรมและความรักจากวิธีที่พระยะโฮวาติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวอิสราเอล? บทเรียนอย่างหนึ่งคือ เราต้องมองผู้คนที่เราประกาศเป็นคน ๆ ไป ไม่มองแบบเหมารวม คิดดูว่าจะผิดพลาดแค่ไหนถ้าเรามีอคติกับผู้คนว่าพวกเขาไม่คู่ควรที่จะได้ยินข่าวสารของพระเจ้า เพราะพวกเขาเคยทำไม่ดีในอดีต หรือเพราะเรามีอคติกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ฐานะทางการเงิน หรือภาษาของพวกเขา พระยะโฮวาสอนอัครสาวกเปโตรถึงบทเรียนที่ใช้ได้ในทุกวันนี้ที่ว่า “พระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ยอมรับทุกคนที่เกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม”—กจ. 10:34, 35
11 บทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องระวังตัวให้ดี การกระทำที่ดีในอดีตไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับการทำผิดในปัจจุบัน เราต้องจำไว้ว่าทั้งตัวเราเองและคนที่เราประกาศข่าวสารให้ฟังก็มีแนวโน้มที่จะทำบาป สิ่งที่อัครสาวกเปาโลแนะนำประชาคมโครินธ์จึงใช้ได้กับพวกเราในทุกวันนี้ เขาแนะนำว่า “คนที่คิดว่าตัวเองมั่นคงอยู่แล้ว ระวังตัวให้ดี จะได้ไม่ล้มลง การล่อใจอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับคุณก็เคยเกิดขึ้นกับคนอื่นมาแล้วทั้งนั้น” (1 คร. 10:12, 13) เราคงไม่อยาก “มั่นใจในความดีของตัวเอง” และคิดว่าเราทำผิดได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษเพราะเรารับใช้อย่างดี (อสค. 33:13) ไม่ว่าเราจะรับใช้พระยะโฮวามานานแค่ไหน เราก็ต้องถ่อมตัวและเชื่อฟังเสมอ
12. ถ้าเราทำบาปร้ายแรงในอดีต เราควรจำอะไรไว้เสมอ?
12 แล้วถ้าเรารู้สึกเสียใจมากเพราะเคยทำบาปร้ายแรงในอดีตล่ะ? ข่าวสารของเอเสเคียลทำให้เรารู้ว่าถึงแม้พระยะโฮวาจะลงโทษคนทำผิดที่ไม่กลับใจ แต่ก็ทำให้รู้ด้วยว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้มีความรัก ไม่ใช่พระเจ้าที่ชอบแก้แค้น (1 ยน. 4:8) ถ้าเราพิสูจน์ให้เห็นว่าเรากลับตัวกลับใจจริง ๆ เราก็ไม่ควรคิดว่าพระเจ้าจะไม่ให้อภัยเรา (ยก. 5:14, 15) ถ้าพระยะโฮวาเต็มใจให้อภัยชาวอิสราเอลที่ทิ้งพระองค์ไปเหมือนกับให้อภัยภรรยาที่เล่นชู้ พระองค์ก็เต็มใจให้อภัยเราเหมือนกัน—สด. 86:5
“ไปบอกเพื่อนร่วมชาติของเจ้า”
13, 14. (ก) คนเฝ้ายามประกาศข่าวแบบไหน? (ข) อิสยาห์ประกาศข่าวอะไร?
13 อ่านเอเสเคียล 33:2, 3 พระยะโฮวาให้คนเฝ้ายามประกาศข่าวแบบไหน? งานสำคัญของพวกเขาคือประกาศคำเตือน แต่พวกเขาก็ประกาศข่าวดีด้วย ให้เรามาดูบางตัวอย่างด้วยกัน
14 อิสยาห์ประกาศคำเตือนตั้งแต่ประมาณปี 778 ถึงปี 732 ก่อน ค.ศ. เขาเตือนว่าชาวบาบิโลนจะมายึดกรุงเยรูซาเล็มและจับคนในเมืองไปเป็นเชลย (อสย. 39:5-7) แต่เขาได้รับการดลใจให้เขียนด้วยว่า “ฟังสิ คนยามของคุณร้องเสียงดังและโห่ร้องด้วยความยินดีขึ้นมาพร้อมกัน เพราะพวกเขาจะเห็นอย่างชัดเจนเมื่อพระยะโฮวารวบรวมผู้คนที่เคยอยู่ในศิโยนกลับมา” (อสย. 52:8) อิสยาห์ประกาศข่าวที่ดีที่สุดคือ การนมัสการแท้จะได้รับการฟื้นฟู!
15. เยเรมีย์ประกาศข่าวอะไร?
15 เยเรมีย์ซึ่งเตือนผู้คนตั้งแต่ปี 647 ถึงปี 580 ก่อน ค.ศ. มักถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ประกาศแต่เรื่อง “หายนะ” แน่นอนว่าเขาทำงานที่โดดเด่นในการเตือนชาติอิสราเอลที่ชั่วช้าว่าพระยะโฮวาจะให้พวกเขาเจอกับหายนะa แต่เยเรมีย์ก็ประกาศข่าวดีด้วยโดยพยากรณ์ว่าประชาชนของพระเจ้าจะได้กลับมาที่แผ่นดินของพวกเขาและฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ที่นั่น—ยรม. 29:10-14; 33:10, 11
16. ข่าวสารของเอเสเคียลช่วยพวกเชลยในบาบิโลนอย่างไร?
16 พระยะโฮวาแต่งตั้งเอเสเคียลให้เป็นคนเฝ้ายามในปี 613 ก่อน ค.ศ. เขาทำหน้าที่นี้จนถึงปี 591 ก่อน ค.ศ. เป็นอย่างน้อย บท 5 และบท 6 ของหนังสือนี้บอกว่า เอเสเคียลเตือนชาวอิสราเอลอย่างกระตือรือร้นว่าความพินาศกำลังจะมาถึงพวกเขาแล้ว เอเสเคียลจึงไม่มีความผิดถ้าผู้คนเสียชีวิต เขาไม่ได้แค่เตือนพวกเชลยว่าพระยะโฮวาจะลงโทษคนทรยศในเยรูซาเล็ม แต่ยังช่วยเชลยในบาบิโลนให้มีความเชื่อเข้มแข็งและพร้อมจะทำงานในอนาคตด้วย ตอนสิ้นสุด 70 ปีที่เป็นเชลย พระยะโฮวาจะพาคนที่รอดจากการทำลายกลับไปแผ่นดินอิสราเอลที่ได้รับการฟื้นฟู (อสค. 36:7-11) คนที่รอดชีวิตส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนที่ฟังเอเสเคียล บทอื่น ๆ ในตอน 3 นี้เน้นว่าเอเสเคียลมีข่าวที่ดีมากจะบอกผู้คน ซึ่งยืนยันว่าการนมัสการที่บริสุทธิ์จะได้รับการฟื้นฟูในเยรูซาเล็ม
17. ตอนไหนบ้างที่พระยะโฮวาแต่งตั้งคนเฝ้ายาม?
17 พระยะโฮวาใช้ผู้พยากรณ์เหล่านี้ประกาศกับผู้คนในช่วงที่กรุงเยรูซาเล็มกำลังจะถูกทำลายในปี 607 ก่อน ค.ศ. แต่พวกเขาเป็นเพียงกลุ่มเดียวไหมที่พระยะโฮวาให้ทำหน้าที่คนเฝ้ายาม? ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทุกครั้งที่จะมีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงว่าความประสงค์ของพระยะโฮวากำลังเกิดขึ้นจริง พระองค์จะแต่งตั้งคนเฝ้ายามเพื่อเตือนคนชั่วและประกาศข่าวดีก่อนเสมอ
คนเฝ้ายามในศตวรรษแรก
18. ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำหน้าที่อะไร?
18 ในศตวรรษแรก ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำหน้าที่เป็นคนเฝ้ายาม เขาเตือนคนอิสราเอลโดยกำเนิดว่าอีกไม่นานพวกเขาจะถูกพระเจ้าปฏิเสธ (มธ. 3:1, 2, 9-11) แต่เขาไม่ได้ทำแค่นั้น พระเยซูบอกว่ายอห์นคือ “ทูต” ที่จะมาเตรียมทางไว้ให้เมสสิยาห์ตามที่บอกไว้นานมาแล้ว (มลค. 3:1; มธ. 11:7-10) งานนั้นรวมถึงการประกาศข่าวดีที่ว่า “ลูกแกะของพระเจ้า” ซึ่งก็คือพระเยซูมาแล้ว และท่านจะรับบาปของโลกไป—ยน. 1:29, 30
19, 20. พระเยซูและสาวกของท่านทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้ายามอย่างไร?
19 ในจำนวนคนเฝ้ายามทั้งหมด พระเยซูโดดเด่นที่สุด งานมอบหมายที่ท่านได้รับจากพระยะโฮวาเหมือนกับเอเสเคียลคือไปหา “ชาวอิสราเอล” (อสค. 3:17; มธ. 15:24) พระเยซูเตือนว่าอีกไม่นานชาติอิสราเอลโดยกำเนิดจะถูกพระเจ้าปฏิเสธและกรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย (มธ. 23:37, 38; 24:1, 2; ลก. 21:20-24) แต่งานหลักของท่านคือการประกาศข่าวดี—ลก. 4:17-21
20 ตอนอยู่บนโลก พระเยซูบอกสาวกอย่างชัดเจนว่า “ให้เฝ้าระวังอยู่เสมอ” (มธ. 24:42) พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งของท่านและทำงานเหมือนคนเฝ้ายามโดยเตือนว่า พระยะโฮวาปฏิเสธชาติอิสราเอลโดยกำเนิดและปฏิเสธกรุงเยรูซาเล็มที่อยู่บนโลกแล้ว (รม. 9:6-8; กท. 4:25, 26) พวกเขาเหมือนคนเฝ้ายามก่อนหน้านี้ที่มีข่าวดีต้องประกาศ ข่าวดีที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งคือ คนต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นอิสราเอลของพระเจ้า และมีสิทธิพิเศษได้ช่วยพระคริสต์ฟื้นฟูการนมัสการที่บริสุทธิ์บนโลกด้วย—กจ. 15:14; กท. 6:15, 16; วว. 5:9, 10
21. เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องอะไร?
21 ในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่คนเฝ้ายาม เขาทำงานอย่างจริงจัง เขาเหมือนเอเสเคียลที่รู้ว่า ถ้าทำงานมอบหมายไม่เต็มที่เขาจะต้องรับผิดชอบเมื่อมีคนเสียชีวิต (กจ. 20:26, 27) เปาโลทำแบบเดียวกับคนเฝ้ายามคนอื่น เขาประกาศทั้งคำเตือนและข่าวดี (กจ. 15:35; รม. 1:1-4) ที่จริง พลังบริสุทธิ์ชี้นำเขาให้ยกคำพยากรณ์ของอิสยาห์ขึ้นมาที่บอกว่า “บนภูเขามีคนกำลังนำข่าวดีมา เท้าของเขางดงามจริง ๆ” เปาโลใช้คำพยากรณ์นี้กับงานที่สาวกของพระคริสต์ทำ คือ งานประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า—อสย. 52:7, 8; รม. 10:13-15
22. เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่พวกอัครสาวกเสียชีวิต?
22 หลังจากพวกอัครสาวกเสียชีวิต การทรยศพระเจ้าก็ครอบงำประชาคมคริสเตียนตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า (กจ. 20:29, 30; 2 ธส. 2:3-8) ในช่วงเวลายาวนาน วัชพืชหรือคริสเตียนปลอมมีจำนวนมากกว่าข้าวสาลีหรือสาวกของพระคริสต์ที่ภักดี และข่าวสารที่ชัดเจนเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าก็ถูกคำสอนเท็จกลืนหายไป (มธ. 13:36-43) แต่เมื่อถึงเวลาที่พระเจ้ามาจัดการ พระองค์แสดงความรักและความยุติธรรมอีกครั้งด้วยการแต่งตั้งคนเฝ้ายาม เพื่อส่งเสียงเตือนที่ชัดเจนและเพื่อประกาศข่าวดี แต่คนกลุ่มไหนที่แสดงหลักฐานว่าเป็นคนเฝ้ายามที่พระเจ้าแต่งตั้ง?
พระยะโฮวาแต่งตั้งคนเฝ้ายามอีกครั้งเพื่อเตือนคนชั่ว
23. ชาลส์ เทซ รัสเซลล์และเพื่อนร่วมงานของเขาทำหน้าที่อะไร?
23 ในช่วงหลายปีก่อนปี 1914 ชาลส์ เทซ รัสเซลล์และเพื่อนร่วมงานของเขาทำหน้าที่เป็นเหมือน “ทูต” เพื่อ “เตรียมทางไว้” ก่อนที่รัฐบาลเมสสิยาห์จะถูกตั้งขึ้นb (มลค. 3:1) คนกลุ่มนี้ยังทำหน้าที่คนเฝ้ายามโดยใช้วารสารหอสังเกตการณ์แห่งซีโอนและผู้ป่าวประกาศถึงการประทับของพระคริสต์ (ภาษาอังกฤษ) เพื่อเตือนถึงการพิพากษาของพระเจ้าและทำให้ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระองค์แพร่ออกไป
24. (ก) ทาสที่ซื่อสัตย์ทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้ายามอย่างไร? (ข) คุณได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของคนเฝ้ายามในอดีต? (ดูแผนภูมิ “คนเฝ้ายามบางคนที่เป็นตัวอย่างที่ดี”)
24 หลังจากรัฐบาลของพระเจ้าเริ่มปกครอง พระเยซูแต่งตั้งผู้ชายกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งให้เป็นทาสที่ซื่อสัตย์ (มธ. 24:45-47) และตอนนี้ทาสที่ซื่อสัตย์ซึ่งก็คือคณะกรรมการปกครอง ทำหน้าที่ของคนเฝ้ายาม คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่นำหน้าเรื่องการเตือนเกี่ยวกับ “วันที่พระเจ้า . . . จะลงโทษ” เท่านั้น แต่ยังประกาศ “ปีที่พระยะโฮวาจะเมตตาเป็นพิเศษ” ด้วย—อสย. 61:2; ดู 2 โครินธ์ 6:1, 2 ด้วย
25, 26. (ก) สาวกทุกคนของพระคริสต์ต้องทำงานอะไร และงานนี้จะสำเร็จอย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทต่อไป?
25 ขณะทาสที่ซื่อสัตย์นำหน้าในงานของคนเฝ้ายาม พระเยซูสั่งสาวก “ทุก ๆ คน” ของท่าน “ให้เฝ้าระวังอยู่เสมอ” (มก. 13:33-37) เราเชื่อฟังคำสั่งนั้นโดยการรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งอยู่เสมอและสนับสนุนคนเฝ้ายามในทุกวันนี้อย่างภักดี เราพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำอย่างนั้นโดยการทำงานประกาศอย่างเต็มที่ (2 ทธ. 4:2) ทำไมเราถึงทำอย่างนั้น? เหตุผลหนึ่งคือ เราอยากช่วยชีวิตผู้คน (1 ทธ. 4:16) อีกไม่นานคนจำนวนมหาศาลจะต้องเสียชีวิตเพราะไม่ฟังเสียงเตือนจากคนเฝ้ายามในสมัยนี้ (อสค. 3:19) แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราอยากบอกข่าวดีที่สุดกับผู้คนว่า การนมัสการที่บริสุทธิ์ได้รับการฟื้นฟูแล้ว! ในช่วงนี้ยังเป็น “ปีที่พระยะโฮวาจะเมตตาเป็นพิเศษ” ซึ่งเปิดโอกาสให้คนมากมายมานมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีความยุติธรรมและความรักด้วยกันกับเรา อีกไม่นานทุกคนที่รอดชีวิตจากจุดจบของโลกชั่วนี้จะได้อยู่ภายใต้การปกครองที่เมตตาของพระเยซูคริสต์ลูกของพระองค์ นี่เป็นข่าวที่ดีจริง ๆ ดังนั้น เราจะสนับสนุนคนเฝ้ายามในปัจจุบันด้วยการบอกข่าวดีนี้กับผู้คนอย่างแน่นอน!—มธ. 24:14
26 แม้แต่ก่อนที่โลกชั่วนี้จะจบสิ้นลง พระยะโฮวาก็ทำให้ประชาชนของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยวิธีที่น่าทึ่ง ในบทถัดไปเราจะพิจารณาคำพยากรณ์เกี่ยวกับไม้ 2 ท่อนซึ่งช่วยให้เข้าใจว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันเกิดขึ้นได้อย่างไร
a มีคำว่า “ภัยพิบัติ” หรือ “หายนะ” ประมาณ 60 ครั้งในหนังสือเยเรมีย์
b ดูข้อมูลเกี่ยวกับคำพยากรณ์นี้และการเกิดขึ้นจริงได้ในหนังสือราชอาณาจักรของพระเจ้าปกครองแล้ว! บท 2 “ราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อตั้งในสวรรค์”