บท 18
จงตั้งเป้าที่จะรับใช้พระเจ้าตลอดไป
1, 2. มีอะไรที่จำเป็นนอกจากการมีความรู้ของพระเจ้า?
ลองนึกมโนภาพว่า คุณยืนอยู่หน้าประตูห้องมหาสมบัติที่ใส่กุญแจ. สมมุติว่า ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้กุญแจคุณ แล้วบอกให้คุณเปิดเอาของมีค่าเหล่านี้ได้ตามชอบใจ. กุญแจนั้นคงจะไม่มีประโยชน์อะไรนอกเสียจากว่าคุณใช้มัน. ในทำนองคล้ายกัน คุณต้องใช้ความรู้เพื่อความรู้นั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณ.
2 นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะกับความรู้ของพระเจ้า. ที่จริง ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์หมายถึงชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 17:3) กระนั้น ความหวังดังกล่าวจะสำเร็จเป็นจริงไม่ได้โดยการมีเพียงความรู้. ดังที่คุณต้องใช้กุญแจที่มีค่านั้น คุณก็ต้องใช้ความรู้ของพระเจ้าในชีวิตของคุณ. พระเยซูตรัสว่า คนเหล่านั้นที่ปฏิบัติตาม พระทัยของพระเจ้าจะ “ได้เข้าในเมือง [ราชอาณาจักร, ล.ม.] สวรรค์.” บุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิพิเศษรับใช้พระเจ้าตลอดไป!—มัดธาย 7:21; 1 โยฮัน 2:17.
3. พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราคืออย่างไร?
3 หลังจากเรียนรู้ว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นเช่นไรแล้ว นับว่าสำคัญยิ่งที่จะทำตามนั้น. คุณคิดว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นเช่นไรสำหรับคุณ? อาจสรุปได้อย่างเหมาะเจาะด้วยถ้อยคำเหล่านี้: จงเลียนแบบพระเยซู. พระธรรมหนึ่งเปโตร 2:21 (ล.ม.) บอกเราว่า “ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” ดังนั้นแล้ว เพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า คุณต้องดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูอย่างใกล้ชิดเท่าที่เป็นไปได้. นั่นแหละเป็นวิธีที่คุณใช้ความรู้ของพระเจ้า.
วิธีที่พระเยซูใช้ความรู้ของพระเจ้า
4. ทำไมพระเยซูทรงทราบเรื่องพระยะโฮวามากทีเดียว และพระองค์ใช้ความรู้นี้อย่างไร?
4 พระเยซูคริสต์ทรงมีความรู้ที่ละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้ามากกว่าคนอื่น. พระองค์ทรงดำรงอยู่และทำงานร่วมกับพระเจ้ายะโฮวาในสวรรค์เป็นเวลายาวนานก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. (โกโลซาย 1:15, 16) และพระเยซูทรงทำประการใดกับความรู้ทั้งหมดนั้น? พระองค์ไม่พอพระทัยกับการมีเพียงความรู้เท่านั้น. พระองค์ทรงดำเนินชีวิตประสานกับความรู้นั้น. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีความกรุณา, อดกลั้นพระทัย, และแสดงความรักเมื่อปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์. โดยวิธีนี้ พระองค์เลียนแบบพระบิดาทางภาคสวรรค์และปฏิบัติสอดคล้องกับความรู้ของพระองค์เกี่ยวกับแนวทางและบุคลิกภาพของพระยะโฮวา.—โยฮัน 8:23, 28, 29, 38; 1 โยฮัน 4:8.
5. ทำไมพระเยซูรับบัพติสมา และพระองค์ทรงดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความหมายแห่งการรับบัพติสมาของพระองค์อย่างไร?
5 ความรู้ที่พระเยซูมีได้กระตุ้นพระองค์ให้ดำเนินการขั้นสำคัญด้วย. พระองค์เสด็จจากมณฑลฆาลิลายมายังแม่น้ำยาระเดน ที่ซึ่งโยฮันให้พระองค์รับบัพติสมา. (มัดธาย 3:13-15) การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ถึงสิ่งใด? ในฐานะคนยิว พระองค์ประสูติในชาติที่ได้อุทิศแด่พระเจ้าแล้ว. เนื่องจากเหตุนี้ พระเยซูได้ถูกอุทิศแล้วตั้งแต่เกิด. (เอ็กโซโด 19:5, 6) โดยการยอมรับบัพติสมา พระองค์ทรงเสนอ ตัวแด่พระยะโฮวาเพื่อกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อพระองค์ในตอนนั้น. (เฮ็บราย 10:5, 7) และพระเยซูทรงทำให้ความหมายแห่งการรับบัพติสมาของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. พระองค์ทรงทุ่มเทตัวในการรับใช้พระยะโฮวา แบ่งปันความรู้ของพระเจ้าให้กับประชาชนในทุกโอกาส. พระเยซูประสบความยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ถึงกับตรัสว่าการทำเช่นนี้เป็นเหมือนอาหารสำหรับพระองค์.—โยฮัน 4:34.
6. พระเยซูทรงปฏิเสธตัวเองในทางใด?
6 พระเยซูทรงรู้อยู่เต็มอกว่า การทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาจะต้องเสียสละมากทีเดียว—กระทั่งเสียชีวิตด้วยซ้ำ. ถึงอย่างไร พระเยซูทรงปฏิเสธตัวเอง โดยจัดความต้องการส่วนตัวไว้ในอันดับรอง. การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกเสมอ. ในเรื่องนี้ เราจะดำเนินตามแบบอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของพระเยซูได้อย่างไร?
ขั้นตอนที่นำไปสู่ชีวิตถาวร
7. คนเราต้องปฏิบัติขั้นตอนอะไรบ้างเพื่อจะมีคุณวุฒิที่จะรับบัพติสมา?
7 ต่างจากพระเยซู เราเป็นคนไม่สมบูรณ์และสามารถบรรลุขั้นสำคัญของการรับบัพติสมาได้ก็ต่อเมื่อทำตามขั้นตอนสำคัญอื่น ๆ แล้วเท่านั้น. ขั้นตอนแรกคือการรับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์เข้าไว้ในหัวใจของเรา. การทำเช่นนี้เป็นเหตุให้เราแสดงความเชื่อและมีความรักลึกซึ้งต่อพระเจ้า. (มัดธาย 22:37-40; โรม 10:17; เฮ็บราย 11:6) การที่เราพร้อมจะทำตามกฎหมาย, หลักการ, และมาตรฐานของพระเจ้าควรกระตุ้นเราให้กลับใจ แสดงความเสียใจอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้าเกี่ยวกับบาปของเราในอดีต. นี่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั่นคือ หันกลับและละทิ้งแนวทางใด ๆ ที่ผิดซึ่งเราได้ดำเนินขณะที่เราไม่มีความรู้ของพระเจ้า. (กิจการ 3:19) แน่นอน หากเรายังกระทำบาปบางอย่างแบบลับ ๆ แทนที่จะทำสิ่งชอบธรรม เราก็ไม่ได้หันกลับอย่างแท้จริง แต่เราหลอกพระเจ้าไม่ได้. พระยะโฮวาทรงเห็นความหน้าซื่อใจคดทั้งหมด.—ลูกา 12:2, 3.
8. คุณควรปฏิบัติเช่นไรเมื่อคุณปรารถนาจะมีส่วนในกิจการงานประกาศราชอาณาจักร?
8 ตอนนี้เนื่องด้วยคุณรับเอาความรู้ของพระเจ้าแล้ว เป็นการสมควรมิใช่หรือที่จะพิจารณาว่าเรื่องฝ่ายวิญญาณมีผลกระทบอย่างไรต่อตัวคุณ? คุณคงจะกระตือรือร้นที่จะบอกญาติพี่น้อง, เพื่อนฝูง, และคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเรียนรู้. ที่จริง คุณอาจทำเช่นนี้อยู่แล้ว ดังที่พระเยซูได้แบ่งปันข่าวดีให้คนอื่นเมื่อสบโอกาส. (ลูกา 10:38, 39; โยฮัน 4:6-15) ตอนนี้คุณอาจต้องการทำมากขึ้น. ผู้ปกครองคริสเตียนจะยินดีพูดคุยกับคุณเพื่อดูว่าคุณมีคุณวุฒิและสามารถมีส่วนในกิจการงานประกาศราชอาณาจักรของพยานพระยะโฮวาเป็นประจำหรือไม่. หากคุณมีคุณวุฒิและมีความสามารถ ผู้ปกครองก็จะจัดให้คุณไปกับพยานฯ คนหนึ่งในงานรับใช้. สาวกของพระเยซูปฏิบัติตามคำชี้นำของพระองค์เพื่อจะปฏิบัติงานรับใช้ของเขาให้สำเร็จด้วยวิธีที่เป็นระเบียบ. (มาระโก 6:7, 30; ลูกา 10:1) คุณจะได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือคล้ายกันขณะที่คุณมีส่วนในการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรตามบ้านและในวิธีอื่น.—กิจการ 20:20, 21.
9. คนเราทำการอุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยวิธีใด และการอุทิศตัวมีผลกระทบต่อชีวิตของคนเราอย่างไร?
9 การประกาศข่าวดีแก่คนทุกชนิดในเขตทำงานของประชาคมเป็นวิธีที่จะพบคนเหล่านั้นซึ่งมีความโน้มเอียงในทางชอบธรรม และนั่นเป็นหนึ่งในการงานที่ดีซึ่งพิสูจน์ว่าคุณมีความเชื่อ. (กิจการ 10:34, 35; ยาโกโบ 2:17, 18, 26) การเข้าร่วมเป็นประจำ ณ การประชุมคริสเตียนและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในงานประกาศยังเป็นวิธีแสดงให้เห็นด้วยว่า คุณได้กลับใจและหันกลับ และตอนนี้คุณตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตประสานกับความรู้ของพระเจ้า. ขั้นตอนต่อไปตามที่ควรจะเป็นคืออะไร? คือการอุทิศตัวแด่พระเจ้ายะโฮวา. นี่หมายความว่า คุณทูลพระเจ้าโดยการอธิษฐานอย่างจริงใจว่า คุณอุทิศชีวิตของคุณให้พระองค์อย่างเต็มใจและด้วยสิ้นสุดหัวใจเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. นี่คือวิธีที่จะอุทิศตัวคุณเองแด่พระยะโฮวาและยอมรับแอกที่พอเหมาะของพระเยซูคริสต์.—มัดธาย 11:29, 30.
การรับบัพติสมามีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ
10. ทำไมคุณควรรับบัพติสมาหลังจากคุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้ว?
10 ตามที่พระเยซูตรัส บรรดาคนเหล่านั้นซึ่งเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์ต้องรับบัพติสมา. (มัดธาย 28:19, 20) ทำไมการทำเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นหลังจากคุณได้ทำการอุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้ว? เนื่องจากคุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา พระองค์ทรงทราบว่า คุณรักพระองค์. แต่ไม่ต้องสงสัย คุณคงจะต้องการปฏิบัติขั้นต่อไปเพื่อจะให้คนอื่นทราบถึงความรักของคุณที่มีต่อพระเจ้า. การรับบัพติสมาเปิดโอกาสให้คุณประกาศอย่างเปิดเผยถึงการที่คุณอุทิศตัวแด่พระเจ้ายะโฮวา.—โรม 10:9, 10.
11. ความหมายของการรับบัพติสมาคืออะไร?
11 การรับบัพติสมาเต็มไปด้วยความหมายที่เป็นสัญลักษณ์. ขณะที่คุณจมอยู่ หรือ “ถูกฝัง” ใต้น้ำ นั่นเป็นเสมือนว่าคุณได้ตายจากแนวทางชีวิตแต่ก่อนของคุณ. เมื่อคุณโผล่ขึ้นจากน้ำ นั่นก็เป็นเสมือนว่า คุณขึ้นมาสู่ชีวิตใหม่ ชีวิตที่ถูกควบคุมโดยพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ไม่ใช่ของคุณเอง. แน่ละ นั่นมิได้หมายความว่า คุณจะไม่ทำผิดพลาดอีก เพราะเราทุกคนไม่สมบูรณ์และจึงทำบาปทุกวัน. อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัว รับบัพติสมาแล้วของพระยะโฮวา คุณจะได้เข้าสู่สัมพันธภาพพิเศษกับพระองค์. เนื่องจากคุณกลับใจและรับบัพติสมาอย่างถ่อมใจ พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะให้อภัยบาปของคุณโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. ด้วยเหตุนี้ การรับบัพติสมาจึงนำไปสู่สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า.—1 เปโตร 3:21.
12. มีความหมายประการใดในการรับบัพติสมา (ก) “ในนามแห่งพระบิดา”? (ข) ‘ในนามแห่งพระบุตร’? (ค) ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’?
12 พระเยซูทรงบัญชาเหล่าผู้ติดตามพระองค์ว่าให้สาวกใหม่รับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19) พระเยซูทรงหมายความประการใด? การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดา” บ่งชี้ว่า บุคคลที่รับบัพติสมาอย่างสิ้นสุดหัวใจนั้นยอมรับพระเจ้ายะโฮวาฐานะพระผู้สร้างและองค์บรมมหิศรที่ชอบด้วยสิทธิแห่งเอกภพ. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9; 83:18; ท่านผู้ประกาศ 12:1) การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระบุตร’ หมายความว่า บุคคลนั้นยอมรับพระเยซูคริสต์ และโดยเฉพาะเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์ ว่าเป็นวิถีทางเดียวแห่งความรอดที่พระเจ้าทรงจัดเตรียม. (กิจการ 4:12) การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’ แสดงว่า ผู้ที่พร้อมจะรับบัพติสมายอมรับว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระยะโฮวา เป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จและในการมอบอำนาจให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทำตามพระทัยประสงค์อันชอบธรรมด้วยกันกับองค์การที่ได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระองค์.—เยเนซิศ 1:2; บทเพลงสรรเสริญ 104:30; โยฮัน 14:26; 2 เปโตร 1:21.
คุณพร้อมสำหรับการรับบัพติสมาไหม?
13, 14. ทำไมเราไม่ควรหวั่นกลัวในการเลือกที่จะรับใช้พระเจ้ายะโฮวา?
13 เนื่องจากการรับบัพติสมามีความหมายมากทีเดียวและเป็นขั้นสำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา นี่เป็นขั้นตอนที่คุณควรจะหวั่นกลัวไหม? ไม่เลย! ถึงแม้การตัดสินใจจะรับบัพติสมาไม่ควรถือเป็นเรื่องเล่น ๆ ก็ตาม นั่นเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดสุขุมที่สุดซึ่งคุณจะทำได้อย่างไม่ต้องสงสัย.
14 การรับบัพติสมาเป็นหลักฐานว่า คุณเลือกที่จะรับใช้พระเจ้ายะโฮวา. จงคิดถึงผู้คนที่คุณรู้จักคุ้นเคย. แต่ละคนในพวกเขารับใช้นายคนหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมิใช่หรือ? บางคนเป็นทาสเงินทอง. (มัดธาย 6:24) คนอื่นเอาแต่แข็งขันทำงานอาชีพหรือทำเพื่อตนเองโดยให้ความสำเร็จผลตามความปรารถนาของตนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต. ยังมีคนอื่นอีกที่ปฏิบัติพระเท็จ. แต่คุณเลือกที่จะรับใช้พระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้. ไม่มีใครอื่นแสดงความกรุณา, ความเมตตา, และความรักมากอย่างนั้น. พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีด้วยงานที่มีความหมายซึ่งนำเขาไปสู่ความรอด. พระองค์ประทานบำเหน็จให้ผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยชีวิตนิรันดร์. แน่นอน การดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซู และการถวายชีวิตของคุณแด่พระยะโฮวาไม่ใช่แนวทางที่พึงหวั่นกลัว. ที่จริง นั่นเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยและมีเหตุผลอย่างพร้อมมูล.—1 กษัตริย์ 18:21.
15. อุปสรรคธรรมดาบางอย่างสำหรับการรับบัพติสมามีอะไรบ้าง?
15 กระนั้น การรับบัพติสมาไม่ใช่ขั้นตอนที่พึงปฏิบัติเนื่องจากผู้คนคะยั้นคะยอ. การรับบัพติสมาเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับพระยะโฮวา. (ฆะลาเตีย 6:4) ขณะที่คุณก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ คุณอาจสงสัยว่า “มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?” (กิจการ 8:35, 36) คุณอาจถามตัวเองว่า ‘การต่อต้านของครอบครัวขัดขวางฉันไว้ไหม? ฉันยังคงมีส่วนพัวพันในสภาพการณ์บางอย่างที่ผิดหลักพระคัมภีร์หรือกิจปฏิบัติที่ผิดบาปไหม? เป็นได้ไหมว่า ฉันกลัวการสูญเสียความนิยมชมชอบในชุมชน?’ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยบางอย่างที่พึงพิจารณา แต่จงประเมินสิ่งเหล่านี้อย่างที่ตรงกับความเป็นจริง.
16. คุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากการรับใช้พระยะโฮวา?
16 ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่จะประเมินปัจจัยด้านลบโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์จากการรับใช้พระยะโฮวา. ลองพิจารณาเรื่องการต่อต้านจากครอบครัวเป็นตัวอย่าง. พระเยซูทรงสัญญาว่า แม้สาวกของพระองค์สูญเสียญาติพี่น้องเนื่องจากการติดตามพระองค์ พวกเขาจะได้ครอบครัวฝ่ายวิญญาณที่ใหญ่กว่า. (มาระโก 10:29, 30) เพื่อนร่วมความเชื่อเหล่านี้จะแสดงความรักฉันพี่น้องต่อคุณ, ช่วยคุณให้อดทนการข่มเหง, และสนับสนุนคุณให้อยู่บนทางซึ่งนำไปถึงชีวิต. (1 เปโตร 5:9) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองในประชาคมสามารถช่วยคุณให้รับมือกับปัญหาและเผชิญข้อท้าทายอื่น ๆ ได้อย่างเป็นผลสำเร็จ. (ยาโกโบ 5:14-16) เกี่ยวกับการสูญเสียความนิยมชมชอบในโลกนี้ คุณอาจถามตัวเองว่า ‘มีอะไรอาจเทียบได้กับการได้รับความพอพระทัยจากพระผู้สร้างแห่งเอกภพ ซึ่งทำให้พระองค์ปีติยินดีในแนวทางชีวิตที่ฉันเลือก?’—สุภาษิต 27:11.
การดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวและการรับบัพติสมา
17. ทำไมคุณควรถือว่าการรับบัพติสมาเป็นตอนเริ่มต้นแทนที่จะเป็นตอนจบ?
17 สำคัญที่จะจดจำว่า การรับบัพติสมาไม่ใช่ตอนจบแห่งความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของคุณ. การรับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายแสดงการเริ่มต้นของการรับใช้พระเจ้าตลอดชีวิตฐานะผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งและเป็นพยานพระยะโฮวา. แม้การรับบัพติสมาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่การรับประกันความรอด. พระเยซูมิได้ตรัสว่า ‘ทุกคนที่รับบัพติสมาจะรอด.’ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด, ผู้นั้นจะรอด.” (มัดธาย 24:13) ฉะนั้น นับว่าสำคัญที่คุณแสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นอันดับแรก โดยให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณคำนึงถึงมากที่สุดในชีวิต.—มัดธาย 6:25-34.
18. หลังจากการรับบัพติสมาแล้ว พึงติดตามเป้าหมายอะไรบ้าง?
18 เพื่อคุณจะเพียรอดทนในงานรับใช้พระยะโฮวา คุณพึงต้องตั้งเป้าฝ่ายวิญญาณไว้สำหรับตัวเอง. เป้าที่คุ้มค่าอย่างหนึ่งคือ เพิ่มพูนความรู้ของพระเจ้าโดยการศึกษาพระคำของพระองค์เป็นส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ. วางแผนที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. (บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2) เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ เพราะการคบหาที่คุณพบที่นั่นจะช่วยให้คุณมีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. โดยส่วนตัวแล้ว ทำไมคุณไม่ตั้งเป้าที่จะออกความเห็น ณ การประชุมของประชาคมและโดยวิธีนี้จึงสรรเสริญพระยะโฮวาและพยายามจะเสริมสร้างคนอื่นขึ้น? (โรม 1:11, 12) เป้าอีกอย่างหนึ่งอาจเป็นการปรับปรุงคุณภาพแห่งการอธิษฐานของคุณ.—ลูกา 11:2-4.
19. พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยคุณให้สำแดงคุณลักษณะอะไรบ้าง?
19 หากคุณจะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความหมายแห่งการรับบัพติสมาแล้ว คุณต้องเอาใจใส่เสมอในสิ่งที่คุณทำ ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าก่อคุณลักษณะ เช่น ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, และการรู้จักบังคับตนขึ้นในตัวคุณ. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.; 2 เปโตร 3:11) ขอระลึกว่า พระยะโฮวาทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ให้ทุกคนซึ่งอธิษฐานขอและเชื่อฟังพระองค์ฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์. (ลูกา 11:13; กิจการ 5:32) ดังนั้น จงอธิษฐานถึงพระเจ้าเพื่อได้พระวิญญาณของพระองค์ และทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในการสำแดงคุณลักษณะซึ่งเป็นที่พอพระทัยพระองค์. คุณลักษณะดังกล่าวจะปรากฏชัดมากขึ้นในคำพูดและความประพฤติของคุณ ขณะที่คุณตอบรับต่ออำนาจชักจูงแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. แน่ละ ทุกคนในประชาคมคริสเตียนพยายามจะพัฒนา “บุคลิกภาพใหม่” เพื่อจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น. (โกโลซาย 3:9-14, ล.ม.) เราแต่ละคนเผชิญการท้าทายที่ต่างกันในการทำเช่นนี้ เพราะเราอยู่ต่างขั้นกันในความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากคุณไม่สมบูรณ์ คุณต้องพยายามอย่างแข็งขันที่จะมีบุคลิกภาพแบบพระคริสต์. แต่อย่าหมดหวังในเรื่องนี้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยความช่วยเหลือของพระเจ้า.
20. คุณสามารถเลียนแบบพระเยซูในงานรับใช้ในทางใด?
20 หนึ่งในเป้าฝ่ายวิญญาณของคุณน่าจะเป็นการเลียนแบบความยินดีของพระเยซูอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น. (เฮ็บราย 12:1-3) พระองค์ทรงรักงานรับใช้. หากคุณมีสิทธิพิเศษที่จะเข้าร่วมในกิจการงานประกาศราชอาณาจักร ดังนั้นแล้ว อย่าปล่อยให้งานนั้นกลายเป็นเพียงกิจวัตร. จงพยายามจะได้ความพึงพอใจในการสอนคนอื่นเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าดังที่พระเยซูทรงกระทำ. จงใช้ประโยชน์จากคำแนะนำที่ประชาคมจัดเตรียมให้เพื่อช่วยคุณให้เป็นผู้สอนที่ดีขึ้น. และจงมั่นใจว่า พระยะโฮวาทรงสามารถประทานกำลังแก่คุณเพื่อจะปฏิบัติงานรับใช้ของคุณให้สำเร็จ.—1 โกรินโธ 9:19-23.
21. (ก) เราทราบอย่างไรว่า พระยะโฮวาทรงถือว่า บุคคลผู้รับบัพติสมาที่ซื่อสัตย์นั้นมีค่า? (ข) อะไรแสดงว่า การรับบัพติสมาเป็นสิ่งสำคัญต่อการที่เราจะรอดผ่านการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าเหนือระบบชั่วนี้?
21 บุคคลที่อุทิศตัว รับบัพติสมาแล้วซึ่งพยายามปฏิบัติตามพระเยซูอย่างซื่อสัตย์เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงตรวจสอบหัวใจมนุษย์หลายพันล้านคนและทรงทราบว่า บุคคลดังกล่าวหายากเพียงไร. พระองค์ทรงถือว่าพวกเขาเป็นทรัพย์สมบัติ เป็น “สิ่งน่าปรารถนา.” (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า พระเจ้าทรงถือว่าคนเช่นนั้นถูกหมายไว้เพื่อรอดผ่านการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระองค์ซึ่งจะมาถึงระบบชั่วนี้อีกไม่นาน. (ยะเอศเคล 9:1-6; มาลาคี 3:16, 18) คุณ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์” ไหม? (กิจการ 13:48, ล.ม.) คุณมีความปรารถนาอย่างจริงจังไหมที่จะถูกหมายไว้ฐานะผู้หนึ่งที่รับใช้พระเจ้า? การอุทิศตัวและการรับบัพติสมาเป็นส่วนหนึ่งแห่งเครื่องหมายนั้น และเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อการรอดชีวิต.
22. “ชนฝูงใหญ่” อาจคอยท่าความหวังอะไร?
22 ภายหลังมหาอุทกภัยทั่วโลก โนฮาและครอบครัวออกจากนาวามาสู่แผ่นดินโลกที่ได้รับการชำระให้สะอาดแล้ว. คล้ายกันในทุกวันนี้ “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งนำความรู้ของพระเจ้าไปใช้ในชีวิตของเขาและได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวามีความหวังในการรอดผ่านอวสานของระบบชั่วนี้และมีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่ได้รับการชำระให้สะอาดอย่างถาวร. (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) ชีวิตเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร?
ทดสอบความรู้ของคุณ
พระยะโฮวาทรงต้องการให้คุณใช้ความรู้ของคุณเกี่ยวกับพระองค์อย่างไร?
ขั้นตอนอะไรบ้างที่นำไปสู่การรับบัพติสมา?
ทำไมการรับบัพติสมาไม่ใช่ตอนจบ แต่เป็นตอนเริ่มต้น?
เราจะดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวและการรับบัพติสมาของเราได้โดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 172]
คุณได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยการอธิษฐานแล้วไหม?
[รูปภาพหน้า 174]
อะไรขัดขวางคุณไว้มิให้รับบัพติสมา?