“ใครเล่ารู้พระทัยพระยะโฮวา?”
“ ‘ใครเล่ารู้พระทัยพระยะโฮวา จะได้แนะนำพระองค์ได้?’ แต่เรามีจิตใจอย่างพระคริสต์.”—1 โค. 2:16
1, 2. (ก) ผู้คนมากมายประสบความยุ่งยากอะไร? (ข) เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับวิธีคิดของเราและวิธีคิดของพระยะโฮวา?
คุณรู้สึกว่ายากไหมที่จะเข้าใจวิธีคิดของคนอื่น? คุณอาจแต่งงานเมื่อไม่นานมานี้ และคุณรู้สึกว่าไม่มีทางที่จะเข้าใจอย่างเต็มที่ว่าคู่ของคุณคิดอย่างไร. ที่จริง ผู้ชายและผู้หญิงคิดและแม้แต่พูดก็ต่างกัน. คิดดูซิ ในบางวัฒนธรรมมีการใช้ภาษาเดียวกันแต่ผู้ชายพูดภาษาเฉพาะของผู้ชายและผู้หญิงก็พูดภาษาเฉพาะของผู้หญิง! นอกจากนั้น ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและภาษายังอาจส่งผลให้คิดต่างกันและมีพฤติกรรมต่างกัน. อย่างไรก็ตาม ยิ่งคุณรู้จักคนอื่นมากเท่าไร ก็มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่คุณจะเริ่มเข้าใจวิธีคิดของพวกเขา.
2 ดังนั้น เราไม่ควรแปลกใจที่วิธีคิดของเราต่างกันมากกับวิธีคิดของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงบอกชาวอิสราเอลโดยทางผู้พยากรณ์ยะซายาห์ว่า “ความคิดของเราไม่เหมือนความคิดของเจ้า, และทางของเราก็ไม่เหมือนทางของเจ้า.” จากนั้น พระยะโฮวาทรงอธิบายข้อเท็จจริงนี้โดยตรัสต่อไปว่า “เพราะท้องฟ้าสูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด, ทางของเราก็สูงกว่าทางของเจ้า, และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าฉันนั้น.”—ยซา. 55:8, 9
3. มีสองวิธีอะไรที่เราทำได้ในการพยายาม ‘เป็นไมตรีกับพระยะโฮวา’?
3 แต่นี่หมายความไหมว่าเราไม่ควรพยายามเข้าใจวิธีคิดของพระยะโฮวา? ไม่เลย. แม้ว่าเราไม่อาจเข้าใจความคิดทุกอย่างของพระยะโฮวาได้อย่างเต็มที่ แต่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ ‘เป็นไมตรีกับพระยะโฮวา.’ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 25:14; สุภาษิต 3:32) วิธีหนึ่งที่เราจะเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้นได้ก็คือโดยแสดงความนับถือและสนใจพระราชกิจของพระองค์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์. (เพลง. 28:5) อีกวิธีหนึ่งคือโดยมี “จิตใจอย่างพระคริสต์” ผู้เป็น “ภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (1 โค. 2:16; โกโล. 1:15) โดยใช้เวลาศึกษาเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลและใคร่ครวญเรื่องเหล่านั้น เราก็จะเริ่มเข้าใจคุณลักษณะต่าง ๆ และวิธีคิดของพระยะโฮวาได้.
ระวังแนวโน้มที่ผิด
4, 5. (ก) เราต้องหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่ไม่ถูกต้องอะไร? จงอธิบาย. (ข) ชาวอิสราเอลเริ่มมีแนวคิดผิด ๆ อะไร?
4 เมื่อเราใคร่ครวญพระราชกิจของพระยะโฮวา เราต้องหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะตัดสินพระเจ้าโดยอาศัยมาตรฐานของมนุษย์. มีการพาดพิงถึงแนวโน้มนี้ในคำตรัสของพระยะโฮวาที่บทเพลงสรรเสริญ 50:21 ดังนี้: “เจ้าคิดในใจว่าเราเป็นเหมือนตัวเจ้าเอง.” ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าวไว้เมื่อประมาณ 175 ปีที่แล้วว่า “คนเรามักตัดสินพระเจ้าตามความคิดของตัวเอง และทึกทักเอาว่าพระองค์ก็ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์เดียวกันกับที่พวกเขาต้องปฏิบัติตาม.”
5 เราต้องระวังอย่าใช้มาตรฐานและความปรารถนาของเราเองตัดสินว่าพระยะโฮวาทรงเป็นเช่นไร. ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ บางสิ่งที่พระยะโฮวาทรงทำอาจดูเหมือนไม่ค่อยถูกต้องเมื่อมองจากทัศนะที่จำกัดและไม่สมบูรณ์ของเรา. ชาวอิสราเอลโบราณเริ่มคิดแบบนั้นและสรุปอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อพวกเขา. ขอให้สังเกตถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสกับพวกเขาที่ว่า “เจ้าทั้งหลายมักกล่าวว่า ‘ทางของพระเจ้าไม่เสมอซื่อตรง.’ แน่ะโอ้เรือนยิศราเอล, จงฟัง, ทางของเราเป็นเสมอซื่อตรงมิใช่หรือ?”—ยเอศ. 18:25
6. โยบได้บทเรียนอะไร และเราจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของท่านได้อย่างไร?
6 ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยหลีกเลี่ยงการตัดสินพระยะโฮวาตามมาตรฐานของเราเองก็คือการยอมรับว่าทัศนะของเรานั้นจำกัดและบางครั้งก็บกพร่องอย่างร้ายแรง. โยบต้องได้บทเรียนในเรื่องนี้. ในช่วงที่โยบประสบความทุกข์ ท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความท้อแท้และค่อนข้างคิดถึงแต่ตัวเอง. ท่านมองไม่เห็นประเด็นที่ใหญ่กว่า. แต่พระยะโฮวาทรงช่วยท่านด้วยความรักให้ขยายมุมมองของท่านให้กว้างขึ้น. โดยถามโยบด้วยคำถามต่าง ๆ มากกว่า 70 คำถาม ซึ่งไม่มีคำถามใดที่โยบตอบได้ พระยะโฮวาทรงเน้นให้เห็นขีดจำกัดของโยบในด้านความเข้าใจ. โยบตอบรับด้วยความถ่อมใจโดยปรับทัศนะของท่าน.—อ่านโยบ 42:1-6
เราจะมี “จิตใจอย่างพระคริสต์” ได้อย่างไร?
7. เหตุใดการพิจารณาสิ่งที่พระเยซูทำช่วยเราให้เข้าใจวิธีคิดของพระยะโฮวา?
7 พระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาอย่างสมบูรณ์ในทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ. (โย. 14:9) ด้วยเหตุนั้น การพิจารณาสิ่งที่พระเยซูทำช่วยเราให้เข้าใจวิธีคิดของพระยะโฮวา. (โรม 15:5; ฟิลิป. 2:5) ดังนั้น ให้เรามาพิจารณาเรื่องราวในหนังสือกิตติคุณสองเรื่อง.
8, 9. ตามบันทึกที่โยฮัน 6:1-5 สถานการณ์เป็นเช่นไรที่ทำให้พระเยซูถามฟิลิป และทำไมพระองค์ทรงถามเช่นนั้น?
8 ขอให้นึกภาพฉากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนเทศกาลปัศคาในสากลศักราช 32. เหล่าอัครสาวกของพระเยซูเพิ่งกลับจากการประกาศที่น่าประทับใจทั่วมณฑลแกลิลี. เนื่องจากพวกเขาเหน็ดเหนื่อยจากการงานดังกล่าว พระเยซูทรงพาพวกเขาไปยังที่ห่างไกลแถวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลแกลิลี. อย่างไรก็ตาม หลายพันคนติดตามพวกเขาไปที่นั่น. หลังจากที่พระเยซูทรงรักษาฝูงชน และสอนพวกเขาหลายสิ่ง เกิดปัญหาอย่างหนึ่งขึ้นเกี่ยวกับการจัดการเรื่องอาหาร. จะหาอาหารจากที่ไหนมาให้ผู้คนเหล่านี้กินในที่โดดเดี่ยวห่างไกลเช่นนี้? เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ พระเยซูทรงถามฟิลิปซึ่งเป็นคนท้องถิ่นนี้ว่า “เราจะซื้อขนมปังจากที่ไหนมาให้คนเหล่านี้กิน?”—โย. 6:1-5
9 เหตุใดพระเยซูจึงถามฟิลิปเช่นนี้? พระเยซูทรงกังวลไหมว่าควรทำอย่างไรดี? ไม่เลย. พระองค์ทรงคิดอย่างไรจริง ๆ? อัครสาวกโยฮัน ซึ่งอยู่ที่นั่นด้วยอธิบายว่า “[พระเยซู] ตรัสอย่างนั้นก็เพื่อทดสอบเขา เพราะพระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร.” (โย. 6:6) ในที่นี้พระเยซูทรงทดสอบดูว่าความเชื่อของเหล่าสาวกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว. โดยถามคำถามนี้ พระองค์ทรงกระตุ้นให้พวกเขาคิดและให้โอกาสพวกเขาแสดงความเชื่อในเรื่องที่พระองค์ทำได้. แต่พวกเขาพลาดโอกาสนี้ไปและแสดงให้เห็นว่าทัศนะของพวกเขาจำกัดจริง ๆ. (อ่านโยฮัน 6:7-9) จากนั้น พระเยซูทรงแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพระองค์สามารถทำสิ่งที่พวกเขาคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ. พระองค์ทรงเลี้ยงอาหารผู้คนที่หิวโหยหลายพันคนอย่างอัศจรรย์.—โย. 6:10-13
10-12. (ก) อะไรอาจเป็นเหตุผลที่พระเยซูไม่ให้ตามที่หญิงชาวกรีกขอในทันที? จงอธิบาย. (ข) ตอนนี้เราจะพิจารณาอะไร?
10 บันทึกเรื่องนี้อาจช่วยเราให้เข้าใจว่าพระเยซูทรงคิดอย่างไรในโอกาสอื่น ๆ. ไม่นานหลังจากเลี้ยงฝูงชนกลุ่มใหญ่นี้ พระเยซูและเหล่าสาวกก็เดินทางขึ้นเหนือเลยชายแดนอิสราเอลไป ใกล้กับเมืองไทระและซีโดน. ระหว่างที่อยู่ที่นั่น พวกเขาพบหญิงชาวกรีกคนหนึ่งที่ขอพระเยซูให้ช่วยรักษาลูกสาว. ทีแรก พระเยซูไม่สนใจหญิงคนนี้. แต่เมื่อนางวิงวอนต่อ ๆ ไป พระเยซูตรัสกับนางว่า “ให้ลูก ๆ กินอิ่มเสียก่อน เพราะถ้าจะเอาขนมปังของลูกโยนให้ลูกสุนัขก็ไม่ถูก.”—มโก. 7:24-27; มัด. 15:21-26
11 เหตุใดพระเยซูทรงปฏิเสธที่จะช่วยหญิงผู้นี้ในตอนแรก? พระเยซูกำลังทดสอบนางเหมือนกับที่พระองค์ทรงทดสอบฟิลิปไหมเพื่อดูว่านางจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร และให้โอกาสนางได้แสดงความเชื่อ? แม้ว่าบันทึกไม่ได้บอกเกี่ยวกับน้ำเสียงของพระองค์ แต่เป็นที่แน่นอนว่าน้ำเสียงของพระองค์ไม่ได้ทำให้นางท้อใจ. การที่พระองค์ใช้คำว่า “ลูกสุนัข” ทำให้การเปรียบเทียบของพระองค์ฟังนุ่มนวลขึ้น. ดังนั้น อาจเป็นได้ว่าพระเยซูกำลังทำเหมือนกับพ่อแม่ที่ตั้งใจอยู่แล้วว่า จะให้ตามที่ลูกขอ แต่ไม่ได้แสดงความตั้งใจนั้นออกมาให้เห็นเพื่อจะทดสอบความตั้งใจแน่วแน่ของลูก. ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อหญิงผู้นี้แสดงความเชื่อ พระเยซูทรงเต็มใจให้ตามที่นางขอ.—อ่านมาระโก 7:28-30
12 บันทึกเรื่องราวในหนังสือกิตติคุณทั้งสองเรื่องนี้ทำให้เรามีความเข้าใจลึกซึ้งอันล้ำค่าเกี่ยวกับ “จิตใจอย่างพระคริสต์.” ตอนนี้ ให้เรามาดูว่าบันทึกทั้งสองเรื่องนี้จะช่วยเราให้เข้าใจดีขึ้นเกี่ยวกับพระทัยของพระยะโฮวาเองอย่างไร?
วิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อโมเซ
13. การเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีคิดของพระเยซูช่วยเราอย่างไร?
13 การเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีคิดของพระเยซูช่วยเราเข้าใจข้อความต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่อาจเข้าใจยาก. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสกับโมเซหลังจากชาวอิสราเอลทำรูปโคทองคำขึ้นเพื่อนมัสการ. พระเจ้าตรัสว่า “เราได้เห็นพลไพร่นี้แล้ว นี่แหละเขาเป็นพลไพร่คอแข็ง. เหตุฉะนี้เจ้าจงปล่อยให้เราทำตามลำพัง, เพื่อความพิโรธของเราจะได้เดือดพลุ่งทวีขึ้นต่อเขา, และเพื่อเราจะได้เผาผลาญเขาเสีย, แล้วเราจะบันดาลให้เจ้าเป็นชนประเทศใหญ่.”—เอ็ก. 32:9, 10
14. โมเซแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำตรัสของพระยะโฮวา?
14 บันทึกบอกต่อไปว่า “โมเซก็วิงวอนกราบทูลพระยะโฮวาพระเจ้าของท่านว่า, ‘ข้าแต่พระยะโฮวา, เหตุไฉนความพิโรธของพระองค์จึงเดือดพลุ่งทวีขึ้นต่อพลไพร่ของพระองค์, ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำออกจากประเทศอายฆุบโตด้วยฤทธานุภาพอันใหญ่ยิ่งและด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์? เหตุไฉนจะให้ชาวอายฆุบโตกล่าวหาว่า, “พระองค์ได้ทรงนำเขาออกมาเพื่อจะทรงทำร้ายเขา, เพื่อจะได้ประหารชีวิตเขาที่ภูเขาและผลาญเขาเสียจากพื้นแผ่นดิน?” ขอพระองค์ได้ทรงหันกลับจากความพิโรธอันแรงกล้าของพระองค์, และทรงกลับพระทัยไม่ทำอันตรายอย่างนี้ต่อพลไพร่ของพระองค์. ขอพระองค์ได้ทรงระลึกถึงอับราฮาม, ยิศฮาค, และยิศราเอลผู้รับใช้ของพระองค์, เป็นผู้ซึ่งพระองค์เองได้ทรงปฏิญาณแก่เขาเหล่านั้นไว้ว่า, “เราจะบันดาลให้เผ่าพันธุ์ของเจ้าทวีขึ้นดุจดาวในอากาศ, และแผ่นดินนี้ซึ่งเราได้กล่าวไว้แล้วเราจะประทานแก่เผ่าพันธุ์ของเจ้าทั้งหมด, และเขาจะรับแผ่นดินนั้นเป็นมฤดกเสมอไป.”’ แล้วพระยะโฮวาจึงได้ทรงกลับพระทัยมิได้ทรงทำอันตรายซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่าจะกระทำต่อพลไพร่ของพระองค์.”—เอ็ก. 32:11-14a
15, 16. (ก) คำตรัสของพระยะโฮวาทำให้โมเซมีโอกาสอะไร? (ข) พระยะโฮวาทรง “กลับพระทัย” ในความหมายใด?
15 จริง ๆ แล้วโมเซจำเป็นต้องแก้ไขความคิดของพระยะโฮวาไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่! แม้พระยะโฮวาตรัสว่าจะทำอะไร แต่นั่นไม่ใช่คำตัดสินขั้นสุดท้าย. ที่จริง ในที่นี้พระยะโฮวากำลังทดสอบโมเซ เช่นเดียวกับที่ในภายหลังพระเยซูทรงทดสอบฟิลิปและหญิงชาวกรีก. โมเซได้รับโอกาสที่จะแสดงทัศนะของท่าน.b พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งโมเซให้เป็นผู้กลางระหว่างพระองค์กับชาติอิสราเอล และพระยะโฮวาทรงให้เกียรติโมเซผู้ที่พระองค์แต่งตั้งให้ทำบทบาทดังกล่าว. โมเซจะพ่ายแพ้แก่ความโกรธไหม? ท่านจะใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้พระยะโฮวาลืมชาติอิสราเอลและสร้างชาติที่เข้มแข็งขึ้นมาใหม่จากลูกหลานของท่านเองไหม?
16 ปฏิกิริยาของโมเซเผยให้เห็นว่าท่านมีความเชื่อและไว้วางใจความยุติธรรมของพระยะโฮวา. เห็นได้ชัดจากท่าทีที่ท่านแสดงออกว่าท่านไม่ได้คิดถึงเรื่องของตัวเอง แต่เป็นห่วงเรื่องพระนามพระยะโฮวา. ท่านไม่ต้องการให้พระนามของพระเจ้าเสื่อมเสีย. การที่โมเซทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจ “พระทัยพระยะโฮวา” ในเรื่องนี้. (1 โค. 2:16) ผลเป็นเช่นไร? เนื่องจากพระยะโฮวาไม่ได้ยึดติดกับวิธีการใดโดยเฉพาะ บันทึกที่ได้รับการดลใจกล่าวไว้ว่าพระองค์ “กลับพระทัย.” ในภาษาฮีบรู วลีนี้อาจเพียงแค่หมายความว่าพระยะโฮวาไม่ทำลายชาตินี้ทั้งชาติอย่างที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ว่าจะทำ.
วิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่ออับราฮาม
17. พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นอย่างยิ่งเช่นไรในการจัดการกับเรื่องที่อับราฮามเป็นห่วง?
17 อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ของพระองค์ได้แสดงความเชื่อและความไว้วางใจก็คือในคราวที่อับราฮามร้องขอเกี่ยวข้องกับเมืองโซโดม. ในบันทึกนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นอย่างยิ่งโดยทรงปล่อยให้อับราฮามซักถามถึงแปดครั้ง. เมื่อถึงจุดหนึ่ง อับราฮามขอด้วยความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า “การที่พระองค์จะทรงประหารชีวิตทั้งคนดีกับคนชั่วฉะนี้. จะให้คนชอบธรรมเป็นเหมือนคนบาป, ก็หามิได้. ผู้พิพากษาทั้งโลกจะไม่พิพากษาตามยุติธรรมหรือ?”—เย. 18:22-33
18. เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่ออับราฮาม?
18 จากบันทึกนี้ เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับความคิดของพระยะโฮวา? อับราฮามจำเป็นต้องชักเหตุผลกับพระยะโฮวาไหมเพื่อพระองค์จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง? ไม่เลย. จริง ๆ แล้วพระยะโฮวาอาจเพียงแค่บอกตั้งแต่แรกเลยก็ได้ว่าทำไมพระองค์จึงตัดสินพระทัยอย่างนั้น. แต่โดยการปล่อยให้อับราฮามถาม พระยะโฮวาทรงให้เวลาแก่อับราฮามที่จะยอมรับการตัดสินใจนั้นและเข้าใจความคิดของพระองค์. การทำเช่นนั้นยังทำให้อับราฮามได้เข้าใจว่าความเมตตาสงสารและความยุติธรรมของพระยะโฮวาล้ำลึกเพียงใด. ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่ออับราฮามในฐานะมิตรคนหนึ่ง.—ยซา. 41:8; ยโก. 2:23
บทเรียนสำหรับเรา
19. เราจะเลียนแบบโยบได้อย่างไร?
19 เราได้เรียนอะไรเกี่ยวกับ “พระทัยพระยะโฮวา”? เราต้องให้พระคำของพระเจ้าปรับเปลี่ยนแก้ไขความเข้าใจของเราในเรื่องพระทัยของพระยะโฮวา. เราไม่ควรคิดว่าพระยะโฮวาทรงมีขีดจำกัดเหมือนเราและตัดสินพระองค์โดยอาศัยมาตรฐานและความคิดของเรา. โยบกล่าวว่า “[พระเจ้า] มิใช่มนุษย์เหมือนอย่างข้าฯ, ที่ข้าฯ จะไปโต้เถียงกับพระองค์, และที่ข้าจะไปเป็นคู่ความกับพระองค์.” (โยบ 9:32) เช่นเดียวกับโยบ เมื่อเราเริ่มเข้าใจพระทัยของพระยะโฮวา เราอดไม่ได้ที่จะร้องออกมาว่า “ดูเถิด กิจการเหล่านี้เป็นแต่เพียงผิวนอกแห่งราชกิจของพระองค์. เรารู้ถึงเรื่องของพระองค์จากเสียงกระซิบที่แผ่วเบาเท่านั้น. ส่วนเดชานุภาพอันกึกก้องของพระองค์นั้นใครจะเข้าใจได้?”—โยบ 26:14
20. เราควรทำเช่นไรหากพบข้อความในพระคัมภีร์ที่เข้าใจยาก?
20 ขณะที่เราอ่านพระคัมภีร์ เราควรทำอย่างไรถ้าพบข้อความที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะในเรื่องความคิดของพระยะโฮวา? ถ้าหลังจากที่ได้ค้นคว้าเรื่องนั้นแล้วเรายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เราอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นการทดสอบความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวา. จำไว้ว่า บางครั้งข้อความบางอย่างทำให้เรามีโอกาสแสดงว่า เราเข้าใจคุณลักษณะของพระยะโฮวาดีเพียงไร. ขอให้เรายอมรับอย่างถ่อมใจว่าเราไม่เข้าใจทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำ. (ผู้ป. 11:5) ด้วยเหตุนั้น เราถูกกระตุ้นให้เห็นด้วยกับคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “โอ้ความมั่งคั่งและสติปัญญาและความรู้ของพระเจ้าล้ำลึกเสียจริง! คำพิพากษาของพระองค์เหลือกำลังที่จะสืบค้นได้ และทางของพระองค์เหลือวิสัยที่จะสืบเสาะได้! ด้วยว่า ‘ใครเล่ารู้พระทัยพระยะโฮวา หรือใครเล่าเป็นที่ปรึกษาของพระองค์?’ หรือ ‘ใครเล่าได้ถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดแด่พระองค์ก่อน พระองค์จึงต้องตอบแทนเขา?’ เพราะสรรพสิ่งมาจากพระองค์ โดยพระองค์ และเพื่อพระองค์. ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไป. อาเมน.”—โรม 11:33-36
[เชิงอรรถ]
a เรื่องราวคล้ายกันนี้มีบันทึกไว้ที่ อาฤธโม 14:11-20.
b ตามที่ผู้คงแก่เรียนบางคนกล่าวไว้ อาจมองได้ว่าสำนวนภาษาฮีบรูในเอ็กโซโด 32:10 ที่แปลไว้ว่า “จงปล่อยให้เราทำตามลำพัง” เป็นการชี้ชวนให้โมเซเป็นผู้วิงวอน หรือ “ยืนเฝ้าต่อพระพักตร์” พระยะโฮวาเพื่อชาติอิสราเอล. (เพลง. 106:23; ยเอศ. 22:30) ไม่ว่าจะอย่างไร เห็นได้ชัดว่าโมเซไม่รู้สึกลำบากใจที่จะบอกพระยะโฮวาว่าท่านคิดอย่างไร.
คุณจำได้ไหม?
• อะไรจะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะตัดสินพระยะโฮวาโดยอาศัยมาตรฐานของเราเอง?
• การที่เราเข้าใจสิ่งที่พระเยซูทำจะช่วยเราให้ ‘เป็นไมตรีกับพระยะโฮวา’ ได้อย่างไร?
• คุณเรียนรู้อะไรได้จากการสนทนาของพระยะโฮวากับโมเซและอับราฮาม?
[ภาพหน้า 5]
เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับความคิดของพระยะโฮวาจากวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อโมเซและอับราฮาม?