พระธรรมเล่มที่ 26—ยะเอศเคล
ผู้เขียน: ยะเอศเคล
สถานที่เขียน: บาบูโลน
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 591 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ปี 613–ประมาณปี 591 ก.ส.ศ.
1. สภาพการณ์ของพวกเชลยในบาบูโลนเป็นเช่นไร และพวกเขาต้องเผชิญการทดลองใหม่ ๆ อะไรบ้าง?
ในปี 617 ก.ส.ศ. กษัตริย์ยะโฮยาคินแห่งยูดายอมยกยะรูซาเลมให้นะบูคัดเนซัรซึ่งได้กวาดเอาพลเมืองชั้นหัวกะทิกับทรัพย์สมบัติจากพระวิหารของพระยะโฮวาและจากราชวังไปยังบาบูโลน. ในหมู่เชลยนั้นมีพวกเชื้อพระวงศ์และพวกเจ้านาย; นักรบ, ชายฉกรรจ์; ช่างฝีมือและช่างก่อสร้าง; รวมทั้งยะเอศเคลบุตรบูซีผู้เป็นปุโรหิต. (2 กษัต. 24:11-17; ยเอศ. 1:1-3) ด้วยใจท้อแท้ ชาวยิศราเอลที่ถูกเนรเทศได้เสร็จสิ้นการเดินทางที่เหนื่อยอ่อนล้าจากดินแดนแห่งเนินเขา, บ่อน้ำพุ, และหุบเขาสู่ดินแดนที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่. บัดนี้ พวกเขาอยู่ในแถบแม่น้ำคะบาระ ในใจกลางจักรวรรดิอันเกรียงไกร แวดล้อมด้วยประชาชนที่มีประเพณีแตกต่างออกไปและนมัสการแบบนอกรีต. นะบูคัดเนซัรอนุญาตให้ชาวยิศราเอลมีบ้านของตัวเอง, มีคนรับใช้ และทำธุรกิจได้. (ยเอศ. 8:1; ยิระ. 29:5-7; เอษรา 2:65) หากพวกเขาขยันก็จะมั่งคั่งได้. พวกเขาจะตกเข้าสู่บ่วงแร้วทางศาสนาและการนิยมวัตถุของบาบูโลนไหม? พวกเขายังจะขืนอำนาจพระยะโฮวาต่อไปอีกไหม? พวกเขาจะยอมรับว่าที่ตนถูกเนรเทศนั้นเป็นการตีสอนจากพระองค์ไหม? พวกเขาจะเผชิญการทดลองใหม่ ๆ ในดินแดนที่เขาตกเป็นเชลย.
2. (ก) ผู้พยากรณ์สามคนใดบ้างที่เด่นในช่วงปีที่ยากลำบากก่อนความพินาศของยะรูซาเลม? (ข) ยะเอศเคลถูกเรียกอย่างมีความหมายว่าอย่างไร และชื่อของท่านมีความหมายอะไร? (ค) ยะเอศเคลพยากรณ์ระหว่างปีใดและเราทราบอะไรเกี่ยวกับชีวิตและความตายของท่าน?
2 ในช่วงปีที่ยากลำบากเหล่านี้เรื่อยไปจนถึงความพินาศของยะรูซาเลม พระยะโฮวาไม่ได้ทำให้พระองค์เองหรือชาวยิศราเอลขาดโอกาสได้รับการรับใช้จากผู้พยากรณ์. ยิระมะยาอยู่ที่ยะรูซาเลม ดานิเอลอยู่ในราชสำนักบาบูโลน ส่วนยะเอศเคลเป็นผู้พยากรณ์สำหรับชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบูโลน. ยะเอศเคลเป็นทั้งปุโรหิตและผู้พยากรณ์ ฐานะเฉพาะเหมือนที่ยิระมะยาได้รับและต่อมาซะคาระยาก็ได้รับ. (ยเอศ. 1:3) ตลอดพระธรรมที่ท่านเขียน ท่านถูกเรียกว่า “บุตรมนุษย์” มากกว่า 90 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความหมายสำคัญเมื่อศึกษาคำพยากรณ์ของท่าน เพราะในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการกล่าวถึงพระเยซูในทำนองเดียวกันว่าเป็น “บุตรมนุษย์” เกือบ 80 ครั้ง. (ยเอศ. 2:1; มัด. 8:20) ชื่อของท่านยะเอศเคล (ฮีบรู, เยเชซเคลʹ) หมายถึง “พระเจ้าทรงเสริมกำลัง.” พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งยะเอศเคลเป็นผู้พยากรณ์ในปีที่ห้าของการเนรเทศยะโฮยาคิน ซึ่งเป็นปี 613 ก.ส.ศ. เราอ่านพบว่ายะเอศเคลยังคงปฏิบัติหน้าที่ในปีที่ 27 แห่งการเนรเทศ คืออีก 22 ปีต่อมา. (ยเอศ. 1:1, 2; 29:17) ท่านสมรสแล้ว แต่ภรรยาท่านตายในวันที่นะบูคัดเนซัรเริ่มการล้อมยะรูซาเลมครั้งสุดท้าย. (24:2, 18) เราไม่ทราบวันเวลาและลักษณะการตายของท่าน.
3. จะกล่าวได้อย่างไรในเรื่องที่ยะเอศเคลเป็นผู้เขียน รวมทั้งการเป็นส่วนแห่งสารบบพระคัมภีร์และความเชื่อถือได้ของพระธรรมยะเอศเคล?
3 ที่ว่ายะเอศเคลเขียนพระธรรมที่เรียกตามชื่อท่านและที่ว่าพระธรรมนี้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์อย่างถูกต้องนั้นไม่เป็นที่สงสัย. พระธรรมนี้ถูกรวมไว้ในสารบบพระคัมภีร์ในสมัยของเอษราและปรากฏอยู่ในรายชื่อพระธรรมต่าง ๆ ในสมัยคริสเตียนรุ่นแรก ๆ โดยเฉพาะในสารบบพระคัมภีร์ของออริเกน. ความเชื่อถือได้ของพระธรรมนี้มีการยืนยันโดยความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งระหว่างพระธรรมนี้กับในพระธรรมยิระมะยาและพระธรรมวิวรณ์ในเรื่องการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ.—ยเอศ. 24:2-12—ยิระ. 1:13-15; ยเอศ. 23:1-49—ยิระ. 3:6-11; ยเอศ. 18:2-4—ยิระ. 31:29, 30; ยเอศ. 1:5, 10—วิ. 4:6, 7; ยเอศ. 5:17—วิ. 6:8; ยเอศ. 9:4—วิ. 7:3; ยเอศ. 2:9; 3:1—วิ. 10:2, 8-10; ยเอศ. 23:22, 25, 26—วิ. 17:16; 18:8; ยเอศ. 27:30, 36—วิ. 18:9, 17-19; ยเอศ. 37:27—วิ. 21:3; ยเอศ. 48:30-34—วิ. 21:12, 13; ยเอศ. 47:1, 7, 12—วิ. 22:1, 2.
4. คำพยากรณ์ของยะเอศเคลสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งเช่นไร?
4 ข้อพิสูจน์อื่น ๆ อีกในเรื่องความเชื่อถือได้นั้นจะพบได้ในความสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งของคำพยากรณ์ของยะเอศเคลต่อชาติข้างเคียง เช่น ตุโร, อียิปต์, และอะโดม. ยกตัวอย่าง ยะเอศเคลพยากรณ์ว่าตุโรจะถูกทำลายล้าง และเรื่องนี้สำเร็จเป็นจริงบางส่วนเมื่อนะบูคัดเนซัรยึดเมืองนี้หลังจากล้อมนาน 13 ปี. (ยเอศ. 26:2-21) การรบคราวนี้ไม่ได้ทำให้ตุโรถึงจุดจบอย่างสิ้นเชิง. อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของพระยะโฮวาคือ ตุโรจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง. พระองค์ทรงบอกล่วงหน้าโดยทางยะเอศเคลว่า “เราจะกวาดผงคลีดินจากเมืองนั้น, และให้เมืองนั้นเป็นศิลาว่างเปล่าอยู่. . . . เขาทั้งหลายจะ . . . ทิ้งเครื่องศิลาและไม้และผงคลีดินของเจ้าเสียในท่ามกลางน้ำทั้งหลาย.” (26:4, 12) คำพยากรณ์นี้ได้สำเร็จเป็นจริงทั้งสิ้นในอีก 250 ปีต่อมาเมื่ออะเล็กซานเดอร์มหาราชยกมาตีเมืองตุโรที่อยู่บนเกาะ. ทหารของอะเล็กซานเดอร์ได้กวาดเอาสิ่งปรักหักพังทั้งหมดจากเมืองบนแผ่นดินใหญ่ที่ถูกทำลายและโยนลงทะเลถมเป็นทางยาว 800 เมตรไปถึงเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะ. จากนั้น ด้วยเครื่องมือที่ซับซ้อนในการบุกยึด พวกเขาปีนกำแพงสูง 46 เมตรเข้ายึดเมืองตุโรในปี 332 ก.ส.ศ. คนนับหมื่นถูกฆ่า และอีกมากมายถูกขายเป็นทาส. ดังที่ยะเอศเคลพยากรณ์ไว้แล้วเช่นกัน ตุโรได้กลายเป็น ‘ศิลาอันว่าเปล่าอยู่และ ที่ตากแหและอวน.’ (26:14)a ส่วนอีกฟากหนึ่งของแผ่นดินแห่งคำสัญญา ชาวอะโดมที่ทรยศก็ถูกกวาดล้างเช่นกัน สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของยะเอศเคล. (25:12, 13; 35:2-9)b และแน่นอน คำพยากรณ์ของยะเอศเคลเรื่องความพินาศของยะรูซาเลมและการฟื้นฟูชาติยิศราเอลก็ปรากฏว่าถูกต้องแม่นยำ.—17:12-21; 36:7-14.
5. ชาวยิวมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำพยากรณ์แรก ๆ ของยะเอศเคล?
5 ในปีแรก ๆ แห่งงานพยากรณ์ของท่าน ยะเอศเคลได้ประกาศคำตัดสินอันแน่นอนที่พระเจ้าทรงมีต่อยะรูซาเลมที่ไม่ซื่อสัตย์และเตือนผู้ถูกเนรเทศเรื่องการไหว้รูปเคารพ. (14:1-8; 17:12-21) ชาวยิวที่เป็นเชลยไม่ได้แสดงเครื่องหมายแห่งการกลับใจที่แท้จริง. ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขามาปรึกษายะเอศเคลเป็นประจำ แต่พวกเขาไม่ใส่ใจข่าวสารจากพระยะโฮวาที่ยะเอศเคลถ่ายทอดแก่พวกเขาเลย. พวกเขามุ่งหน้าในการไหว้รูปเคารพและในกิจปฏิบัติแบบนิยมวัตถุ. การที่พวกเขาสูญเสียพระวิหาร, เมืองบริสุทธิ์, และราชวงศ์เป็นสิ่งที่ทำให้ตกตะลึงอย่างยิ่ง แต่เรื่องนี้กระตุ้นไม่กี่คนเท่านั้นให้ถ่อมใจลงและกลับใจ.—เพลง. 137:1-9.
6. คำพยากรณ์ต่อ ๆ มาของยะเอศเคลเน้นอะไร และการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ได้รับการเน้นอย่างไร?
6 คำพยากรณ์ของยะเอศเคลในปีต่อ ๆ มาเน้นความหวังเรื่องการฟื้นฟู. คำพยากรณ์เหล่านั้นยังตำหนิชาติเพื่อนบ้านของยูดาด้วยซึ่งลิงโลดยินดีในความพินาศของยูดา. ความอัปยศอดสูของชาติเหล่านั้นพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูชาติยิศราเอลจะทำให้พระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ต่อหน้าต่อตาพวกเขา. สรุปแล้ว จุดประสงค์ของการตกเป็นเชลยและการฟื้นฟูคือ ‘เจ้าทั้งหลาย ทั้งชาวยิวและนานาชาติ จะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา.’ (ยเอศ. 39:7, 22) การทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์มีการเน้นตลอดพระธรรมนี้ มีการใช้ถ้อยคำ “เจ้า [หรือ เขาทั้งหลาย] จะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา” มากกว่า 60 ครั้ง.—6:7, ล.ม., เชิงอรรถ.
เนื้อเรื่องในยะเอศเคล
7. ตามปกติแล้วพระธรรมยะเอศเคลแบ่งออกเป็นสามตอนอะไรบ้าง?
7 ปกติแล้วพระธรรมนี้แบ่งเป็นสามตอน. ตอนแรก บท 1 ถึง 24 มีคำเตือนเรื่องความหายนะที่แน่นอนของยะรูซาเลม. ตอนที่สอง บท 25 ถึง 32 มีคำพยากรณ์เรื่องความพินาศของชาตินอกรีตหลายชาติ. ตอนสุดท้าย บท 33 ถึง 48 ประกอบด้วยคำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟู ซึ่งถึงจุดสุดยอดด้วยนิมิตเรื่องพระวิหารหลังใหม่และเมืองบริสุทธิ์. ส่วนใหญ่แล้วคำพยากรณ์ถูกจัดไว้ตามลำดับเวลาและตามหัวข้อ.
8. ยะเอศเคลเห็นอะไรในนิมิตแรกของท่าน?
8 พระยะโฮวาทรงมอบหมายให้ยะเอศเคลเป็นคนยาม (1:1–3:27). ในนิมิตแรกของท่านเมื่อปี 613 ก.ส.ศ. ยะเอศเคลเห็นลมพายุพัดจากทิศเหนือพร้อมกับก้อนเมฆและไฟที่ลุกวับวาบ. มีสิ่งมีชีวิตที่มีปีกสี่ตนซึ่งใบหน้าเป็นหน้ามนุษย์, สิงโต, วัว, และนกอินทรีออกมาจากไฟนั้น. สิ่งมีชีวิตทั้งสี่นั้นมีลักษณะเหมือนถ่านที่ติดไฟอยู่ และแต่ละตนมีวงล้อซ้อนอยู่ในวงล้อซึ่งมีความสูงน่ากลัว ขอบล้อมีดวงตาโดยรอบ เคลื่อนตามไปด้วย. สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเคลื่อนไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน. เหนือศีรษะของสิ่งมีชีวิตทั้งสี่นั้นมีสิ่งที่แผ่ออกเหมือนท้องฟ้า และเหนือสิ่งที่แผ่ออกนั้นคือราชบัลลังก์ซึ่งข้างบนนั้นคือ “รัศมีแห่งพระยะโฮวามีสัณฐานดูเหมือนดังนั้น.”—1:28.
9. มีอะไรเกี่ยวพันอยู่ด้วยในงานมอบหมายของยะเอศเคล?
9 พระยะโฮวาทรงเรียกยะเอศเคลซึ่งหมอบอยู่ว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย, จงยืนขึ้นด้วยเท้าของท่าน.” แล้วพระองค์ทรงแต่งตั้งท่านเป็นผู้พยากรณ์สำหรับยิศราเอลและสำหรับชนชาติขืนอำนาจที่อยู่รอบ ๆ. พวกเขาจะเอาใจใส่หรือไม่นั้นไม่สำคัญ. อย่างน้อยพวกเขาจะรู้ว่าผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาเจ้าอยู่ท่ามกลางพวกเขา. พระยะโฮวาให้ยะเอศเคลกินหนังสือม้วนหนึ่งซึ่งกลายเป็นเหมือนน้ำผึ้งรสหวานในปากท่าน. พระองค์ทรงบอกยะเอศเคลว่า “บุตรมนุษย์เอ๋ย เราตั้งท่านเป็นผู้ตรวจตราดูแล [“คนยาม,” ล.ม.] สำหรับเรือนยิศราเอล.” (2:1; 3:17) ยะเอศเคลต้องแจ้งคำเตือนอย่างซื่อสัตย์ มิฉะนั้นท่านจะต้องตาย.
10. ยะเอศเคลแสดงหมายสำคัญอะไรแก่ชาติยิศราเอล?
10 การแสดงถึงการล้อมยะรูซาเลม (4:1–7:27). พระยะโฮวาทรงบอกยะเอศเคลให้สลักรูปกรุงยะรูซาเลมบนแผ่นอิฐ. ท่านต้องแสดงท่าเลียนการล้อมเมืองโดยทำกับอิฐแผ่นนี้เพื่อเป็นหมายสำคัญแก่ชาติยิศราเอล. เพื่อเน้นเรื่องนี้ ท่านต้องนอนตะแคงซ้ายอยู่หน้าแผ่นอิฐ 390 วัน และนอนตะแคงขวาอีก 40 วัน ขณะเดียวกันก็ยังชีพด้วยอาหารที่จำกัดจำเขี่ย. ที่ว่ายะเอศเคลแสดงตามฉากนั้นจริง ๆ เห็นได้จากการที่ท่านทูลวิงวอนพระยะโฮวาด้วยความทุกข์ใจเพื่อขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการทำอาหาร.—4:9-15.
11. (ก) ยะเอศเคลแสดงภาพจุดจบที่เป็นความหายนะจากการล้อมอย่างไร? (ข) เหตุใดจึงจะไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ?
11 พระยะโฮวาทรงให้ยะเอศเคลแสดงภาพจุดจบที่เป็นความหายนะจากการล้อมโดยการโกนผมและเคราทิ้ง. ผมและเคราเหล่านั้นท่านต้องเผาทิ้งหนึ่งในสาม, สับด้วยดาบหนึ่งในสาม, และซัดอีกหนึ่งในสามให้กระจายไปตามลม. ดังนั้น ในตอนสิ้นสุดการล้อม พลเมืองยะรูซาเลมบางส่วนจะตายด้วยความอดอยาก, โรคระบาด, และด้วยดาบ, และส่วนที่เหลือจะกระจัดกระจายไปท่ามกลางนานาชาติ. พระยะโฮวาจะทำให้กรุงพินาศร้างเปล่า. เพราะเหตุใด? เพราะความขุ่นเคืองเนื่องจากการไหว้รูปเคารพที่เสื่อมทรามและน่าสะอิดสะเอียนของกรุงนี้. ความมั่งคั่งซื้อการผ่อนปรนไม่ได้. ในวันแห่งพระพิโรธกล้าของพระยะโฮวา พลเมืองยะรูซาเลมจะทิ้งเงินบนถนน “และเขาทั้งหลายจะรู้ว่าเราคือยะโฮวา.”—7:27.
12. ยะเอศเคลเห็นสิ่งอันน่าสะอิดสะเอียนอะไรในนิมิตเรื่องยะรูซาเลมที่ออกหาก?
12 นิมิตของยะเอศเคลเรื่องยะรูซาเลมที่ออกหาก (8:1–11:25). บัดนี้เป็นปี 612 ก.ส.ศ. ในนิมิตหนึ่ง ยะเอศเคลถูกนำไปยังยะรูซาเลมที่อยู่ห่างไกล ที่นั่นท่านได้เห็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนที่กำลังเกิดขึ้นในพระวิหารของพระยะโฮวา. ในลานพระวิหาร มีสัญลักษณ์น่าเกลียดที่ยั่วพระยะโฮวาให้เกิดความหวงแหน. เมื่อเจาะทะลุผนัง ยะเอศเคลพบผู้เฒ่าผู้แก่ 70 คนกำลังนมัสการตรงหน้ารูปสัตว์น่าขยะแขยงและรูปเคารพที่โสโครกซึ่งแกะสลักไว้บนกำแพง. พวกเขาแก้ตัวว่า “พระยะโฮวามิได้เห็นเรา, พระยะโฮวาละทิ้งแผ่นดินนี้เสียแล้ว.” (8:12) ที่ประตูทิศเหนือ พวกผู้หญิงกำลังร้องไห้แก่ทัมมุซพระนอกรีต. แต่ยังไม่หมดแค่นี้! ตรงทางเข้าพระวิหารนั้นเอง มีผู้ชาย 25 คนที่หันหลังให้กับตัวพระวิหาร กำลังนมัสการดวงอาทิตย์. พวกเขาหมิ่นพระยะโฮวาเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และพระองค์จะทรงลงมือแน่ด้วยความกริ้ว!
13. ชายในชุดผ้าป่านและชายที่ถืออาวุธอีกหกคนปฏิบัติตามคำสั่งอะไร?
13 บัดนี้ดูสิ! ชายหกคนปรากฏตัวพร้อมกับอาวุธประหารในมือ. ท่ามกลางพวกเขามีชายคนที่เจ็ดซึ่งนุ่งห่มผ้าป่าน มีกระปุกหมึกของเลขานุการ. พระยะโฮวาทรงบอกชายในชุดผ้าป่านคนนี้ให้ไปทั่วกรุงและทำเครื่องหมายบนหน้าผากคนที่ถอนหายใจและคร่ำครวญต่อสภาพน่าสะอิดสะเอียนที่ทำกันท่ามกลางกรุงนี้. ต่อจากนั้นพระองค์ทรงบอกชายหกคนนั้นให้เข้าไปและฆ่าทุกคนที่ไม่มีเครื่องหมายไม่ว่า “คนแก่และหนุ่มและหญิงทั้งหญิงสาวและลูกอ่อนให้สิ้นเชิง.” พวกเขาทำตามนั้น โดยเริ่มกับผู้เฒ่าที่อยู่หน้าพระวิหาร. ส่วนชายในชุดผ้าป่านรายงานว่า “ข้าพเจ้าได้กระทำตามคำพระองค์สั่งแก่ข้าพเจ้านั้นแล้ว.”—9:6, 11.
14. ในที่สุด นิมิตแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพระรัศมีของพระยะโฮวาและการพิพากษาของพระองค์?
14 อีกครั้งหนึ่ง ยะเอศเคลเห็นพระรัศมีของพระยะโฮวาลอยอยู่เหนือคะรูบ. คะรูบตนหนึ่งเข้าไปเอาถ่านเพลิงจากท่ามกลางวงล้อและชายในชุดผ้าป่านได้รับถ่านเพลิงนั้นไปแล้วโปรยลงเหนือกรุง. สำหรับชาวยิศราเอลที่กระจัดกระจาย พระยะโฮวาทรงสัญญาจะรวบรวมพวกเขาอีกและให้พวกเขามีวิญญาณใหม่. แต่จะว่าอย่างไรกับเหล่าผู้นมัสการเท็จที่ชั่วช้าในยะรูซาเลม? พระยะโฮวาตรัสว่า “เราจะให้เป็นไปเหนือศีรษะเขาทั้งหลาย, ตามทางปรนนิบัติของเขา.” (11:21) ปรากฏพระรัศมีของพระยะโฮวาลอยขึ้นจากเหนือกรุงนั้น และยะเอศเคลเริ่มเล่านิมิตตามที่เห็นนั้นแก่ประชาชนที่ถูกเนรเทศ.
15. โดยตัวอย่างอะไรอีกที่ยะเอศเคลแสดงว่า การที่ยะรูซาเลมจะตกเป็นเชลยนั้นเป็นเรื่องแน่นอน?
15 คำพยากรณ์เรื่องต่อไปในบาบูโลนซึ่งเกี่ยวกับยะรูซาเลม (12:1–19:14). ยะเอศเคลได้เป็นผู้แสดงในอีกฉากหนึ่งที่มีความหมายเป็นนัย. ตอนกลางวัน ท่านขนหีบข้าวของออกจากบ้านสำหรับการไปเป็นเชลย แล้วในตอนกลางคืน ท่านคลุมหน้าเดินออกไปทางช่องในกำแพง (ดูเหมือนเป็นกำแพงบ้านท่าน). ท่านชี้แจงเรื่องนี้ว่าเป็นหมายสำคัญ “เขาทั้งหลายจะต้องอพยพไปในที่เป็นเชลย.” (12:11) เหล่าผู้ทำนายเท็จที่โง่เง่าซึ่งดำเนินตามใจตัวเอง! พวกเขากล่าวว่า “สันติภาพ” เมื่อไม่มีสันติภาพเลย. (13:10, ฉบับแปลใหม่) ถึงแม้โนฮา, ดานิเอล, และโยบอยู่ในยะรูซาเลม พวกท่านก็ไม่สามารถช่วยจิตวิญญาณใดได้นอกจากตนเอง.
16. มีการแสดงภาพอย่างไรถึงความไร้ค่าของยะรูซาเลม แต่เหตุใดจึงจะมีการฟื้นฟู?
16 กรุงนี้เป็นเหมือนเถาองุ่นไร้ค่า. เนื้อไม้ก็ไม่เหมาะสำหรับทำเสา ไม่เหมาะแม้แต่จะทำหมุด! ไม้นั้นไหม้ที่ปลายทั้งสองและไหม้เกรียมตรงกลาง จึงไร้ประโยชน์. ยะรูซาเลมช่างขาดความเชื่อและไร้ค่าจริง ๆ! นางกำเนิดจากดินแดนชาวคะนาอัน และพระยะโฮวาทรงเลือกนางมาเหมือนทารกที่ถูกทอดทิ้ง. พระองค์ทรงเลี้ยงดูและเข้าสู่สัญญาไมตรีโดยการสมรสกับนาง. พระองค์ทรงทำให้นางงดงามและ “เจริญขึ้นเป็นชั้นจ้าว.” (16:13, ฉบับแปลใหม่) แต่นางได้กลายเป็นแพศยา หันไปหาชาติต่าง ๆ ที่ผ่านไปมา. นางได้นมัสการรูปเคารพของพวกเขาและเผาลูก ๆ ของนางด้วยไฟ. จุดจบของนางจะเป็นความพินาศด้วยน้ำมือของชาติเหล่านั้นซึ่งเป็นชู้รักของนาง. นางเลวทรามยิ่งกว่าพี่สาวคือโซโดมและซะมาเรีย. แม้กระนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงเมตตาจะทรงไถ่โทษนางและฟื้นฟูนางตามสัญญาไมตรีของพระองค์.
17. พระยะโฮวาทรงเผยให้เห็นอะไรโดยปริศนาเรื่องนกอินทรีกับเถาองุ่น?
17 พระยะโฮวาทรงบอกปริศนาข้อหนึ่งแก่ผู้พยากรณ์แล้วจึงบอกคำเฉลย. ปริศนานั้นแสดงถึงความไร้ผลของการที่ยะรูซาเลมหันไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์. นกอินทรีใหญ่ (นะบูคัดเนซัร) ได้มาจิกยอด (ยะโฮยาคิน) ของต้นสนซีดาร์สูง, นำท่านไปยังบาบูโลน, และปลูกเถาองุ่น (ซิดคียา) แทนที่ท่าน. เถาองุ่นแผ่กิ่งก้านไปหานกอินทรีอีกตัวหนึ่ง (อียิปต์) แต่สำเร็จไหม? เถาองุ่นนั้นถูกถอนขึ้นทั้งราก! พระยะโฮวาเองจะทรงเอากิ่งอ่อนจากยอดบนสุดของต้นสนซีดาร์นั้นและปลูกไว้บนภูเขาสูงลิ่ว. ที่นั่น ยอดนั้นจะเติบโตเป็นต้นสนซีดาร์ใหญ่สวยสง่างาม เป็นที่อาศัยของ “นกมีปีกทั้งปวง.” คนทั้งปวงจะต้องรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ทำการนั้น.—17:23, 24.
18. (ก) พระยะโฮวาทรงแถลงหลักการอะไรบ้างเมื่อว่ากล่าวชาวยิวที่ถูกเนรเทศ? (ข) การพิพากษาอะไรคอยท่ากษัตริย์ยูดา?
18 พระยะโฮวาทรงว่ากล่าวชาวยิวที่ถูกเนรเทศเพราะคำภาษิตของพวกเขาที่ว่า “พ่อได้กินผลองุ่นเปรี้ยว, แต่เป็นลูกที่ฟันเขยินไป.” เปล่าเลย “จิตวิญญาณที่ได้ทำบาป จิตวิญญาณนั้นจะตายเอง.” (18:2, 4) คนชอบธรรมจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป. พระยะโฮวาไม่ทรงยินดีในความตายของคนชั่ว. พระองค์ทรงยินดีจะเห็นคนชั่วหันจากทางชั่วของตนและมีชีวิตอยู่. ส่วนกษัตริย์ยูดาเป็นเหมือนสิงโตหนุ่มที่ถูกอียิปต์และบาบูโลนทำให้ติดบ่วง. เสียงของพวกเขาจะ “มิได้ยินตามบนภูเขาทั้งหลายแห่งยิศราเอลอีก.”—19:9.
19. (ก) ทั้ง ๆ ที่จะเกิดความหายนะ ยะเอศเคลแจ้งให้ทราบถึงความหวังอะไร? (ข) ท่านเปรียบความไม่ซื่อสัตย์ของยิศราเอลกับยูดาและผลของมันอย่างไร?
19 คำประจานยะรูซาเลม (20:1–23:49). เวลาผ่านไปจนถึงปี 611 ก.ส.ศ. ผู้เฒ่าผู้แก่ของพวกที่เป็นเชลยได้มาหายะเอศเคลอีกครั้งเพื่อทูลถามพระยะโฮวา. สิ่งที่พวกเขาได้ยินคือการกล่าวซ้ำประวัติศาสตร์อันยาวนานของยิศราเอลเรื่องการขืนอำนาจและการไหว้รูปเคารพที่เสื่อมทรามรวมทั้งคำเตือนว่า พระยะโฮวาได้เรียกกระบี่มาเพื่อลงโทษกรุงนี้ตามคำพิพากษา. พระองค์จะทรงทำให้เป็นที่ “พังทลาย, พังทลาย, พังทลาย.” แต่ว่ามีความหวังอันรุ่งโรจน์! พระยะโฮวาจะทรงรักษาตำแหน่งกษัตริย์ (“มงกุฎ”) ไว้สำหรับ “ผู้มีสิทธิ์อันชอบธรรม” และจะมอบตำแหน่งนี้แก่ท่าน. (21:26, 27, ฉบับแปลใหม่) ยะเอศเคลกล่าวทบทวนสิ่งน่าสะอิดสะเอียนที่ทำกันในยะรูซาเลม “เมืองอันประกอบไปด้วยโลหิต.” เรือนยิศราเอลได้กลายเป็นเหมือน “สนิม” และจะต้องถูกรวบรวมเข้ามาในยะรูซาเลมและถูกทำให้กลายเป็นของเหลวที่นั่นเหมือนในเตาหลอม. (22:2, 18) ความไม่ซื่อสัตย์ของซะมาเรีย (ยิศราเอล) และยูดาถูกเปรียบเหมือนพี่สาวกับน้องสาว. ซะมาเรียเป็นอาฮะลาซึ่งทำตัวเป็นโสเภณีแก่ชาวอัสซีเรียและถูกทำลายโดยคนรักของนาง. ยูดาเป็นอาฮะลีอาบที่ไม่ยอมรับรู้บทเรียน แต่ทำเลวยิ่งกว่า โดยขายตัวแก่อัสซีเรียก่อนแล้วก็บาบูโลน. นางจะถูกทำลายให้สิ้นซาก “และเจ้าทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.”—23:49.
20. ยะรูซาเลมที่ถูกล้อมถูกเปรียบเหมือนอะไร และพระยะโฮวาทรงประทานหมายสำคัญอันทรงพลังอะไรเกี่ยวกับการพิพากษาที่พระองค์มีต่อนาง?
20 การล้อมยะรูซาเลมครั้งสุดท้ายเริ่มต้น (24:1-27). ในปี 609 ก.ส.ศ. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ยะเอศเคลว่า กษัตริย์บาบูโลนได้ล้อมยะรูซาเลมไว้เมื่อวันที่สิบเดือนที่สิบ. พระองค์ทรงเปรียบกรุงที่มีกำแพงเหมือนกับหม้อใหญ่ มีราษฎรชั้นเยี่ยมเป็นเสมือนเนื้อในหม้อนั้น. จงทำให้หม้อร้อนขึ้น! จงต้มความไม่สะอาดทั้งสิ้นของการไหว้รูปเคารพอันน่าสะอิดสะเอียนของยะรูซาเลมให้เดือดพล่าน! ภรรยาของยะเอศเคลตายในวันนั้น แต่ด้วยความเชื่อฟังต่อพระยะโฮวา ผู้พยากรณ์ไม่ได้คร่ำครวญ. นี่เป็นหมายสำคัญว่าพลเมืองนี้ต้องไม่คร่ำครวญเมื่อยะรูซาเลมพินาศ เพราะนั่นคือการพิพากษาจากพระยะโฮวา เพื่อเขาจะรู้ว่าพระองค์เป็นใคร. พระยะโฮวาจะส่งผู้ที่หนีรอดคนหนึ่งให้มาบอกเรื่องความพินาศของสิ่งซึ่ง “งดงาม, เป็นที่ยินดี . . . แห่งเขาทั้งหลาย” และกว่าเขาจะมาถึง ยะเอศเคลจะต้องไม่พูดอะไรอีกกับพวกที่ถูกเนรเทศ.—24:25.
21. ชาติทั้งหลายจะต้องรู้จักพระยะโฮวาและการแก้แค้นของพระองค์อย่างไร?
21 คำพยากรณ์ต่อสู้ชาติทั้งหลาย (25:1–32:32). พระยะโฮวาทรงเห็นล่วงหน้าว่าชาติทั้งหลายที่อยู่รอบ ๆ จะยินดีที่ยะรูซาเลมล่มจม และใช้โอกาสนั้นติเตียนพระเจ้าแห่งยูดา. พวกเขาจะไม่พ้นโทษไปได้! อัมโมน รวมทั้งโมอาบด้วย จะตกเป็นของชาวตะวันออก. อะโดมจะถูกทำให้เป็นที่ร้างเปล่าและจะมีการลงมือแก้แค้นครั้งใหญ่แก่ฟะเลเซ็ธ. พระยะโฮวาตรัสว่าเขาทั้งหลาย “จะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา, ขณะเมื่อเราวางพระราชอาญาของเราเหนือเขาทั้งหลายนั้น.”—25:17.
22. ตุโรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษอย่างไร และเกี่ยวกับซีโดน พระยะโฮวาจะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างไร?
22 ตุโรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ. ด้วยความภาคภูมิใจในการค้าที่รุ่งเรืองของตน นางเป็นเหมือนเรือลำงามอยู่กลางทะเล แต่ในไม่ช้านางจะต้องอับปางในทะเลลึก. ผู้นำตุโรโอ้อวดว่า “เราเป็นพระเจ้า.” (28:9) พระยะโฮวาให้ผู้พยากรณ์ของพระองค์กล่าวเพลงคร่ำครวญเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งตุโรดังนี้: ในฐานะคะรูบผู้สง่างามที่ถูกเจิม ท่านอยู่ในเอเดนสวนของพระเจ้า; แต่พระยะโฮวาจะทรงขับท่านออกจากภูเขาของพระองค์อย่างของมลทิน และท่านจะถูกเผาด้วยไฟจากภายใน. พระยะโฮวาตรัสว่าพระองค์ยังจะได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์อีกด้วยโดยการทำลายซีโดนที่ชอบดูหมิ่น.
23. อียิปต์จะต้องได้รู้อะไร และเรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างไร?
23 บัดนี้พระยะโฮวาทรงบอกยะเอศเคลให้ตั้งหน้าต่อต้านอียิปต์และฟาโรห์ และให้กล่าวพยากรณ์ต่อสู้พวกเขา. ฟาโรห์โอ้อวดว่า “แม่น้ำนี้ [ไนล์] เป็นของเรา, เราได้สร้างไว้สำหรับตัว.” (29:3) ฟาโรห์กับชาวอียิปต์ที่เลื่อมใสฟาโรห์จะต้องรู้เช่นกันว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า และจะได้รับบทเรียนด้วยความร้างเปล่า 40 ปี. ตรงนี้ยะเอศเคลได้แทรกข้อมูลบางอย่างซึ่งแท้จริงแล้วได้เปิดเผยแก่ท่านภายหลัง คือในปี 591 ก.ส.ศ. พระยะโฮวาจะทรงยกอียิปต์แก่นะบูคัดเนซัรเป็นสิ่งตอบแทนในการทำลายเมืองตุโร. (นะบูคัดเนซัรยึดสิ่งของจากตุโรได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากชาวตุโรหนีพร้อมกับสมบัติส่วนใหญ่ไปยังเมืองบนเกาะ.) ยะเอศเคลแจ้งในเพลงคร่ำครวญว่านะบูคัดเนซัรจะทำลายความจองหองของอียิปต์ และ “เขาทั้งหลายจึงจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.”—32:15.
24. (ก) หน้าที่รับผิดชอบของยะเอศเคลในฐานะคนยามคืออะไร? (ข) เมื่อทราบข่าวความล่มจมของยะรูซาเลม ยะเอศเคลแจ้งข่าวสารอะไรแก่พวกที่ถูกเนรเทศ? (ค) คำสัญญาอะไรในเรื่องพระพรที่มีการเน้นในบท 34?
24 คนยามสำหรับเหล่าเชลย; คำพยากรณ์เรื่องการฟื้นฟู (33:1–37:28). พระยะโฮวาทรงทบทวนกับยะเอศเคลในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบในฐานะคนยาม. ประชาชนพากันกล่าวว่า “ทางของพระเจ้าไม่เสมอซื่อตรง.” ดังนั้น ยะเอศเคลต้องทำให้พวกเขารู้ชัดว่าเขาผิดพลาดขนาดไหน. (33:17) แต่บัดนี้เป็นวันที่ห้าเดือนที่สิบปี 607 ก.ส.ศ.c ผู้หนีรอดคนหนึ่งมาจากยะรูซาเลมเพื่อบอกผู้พยากรณ์ว่า “เมืองนั้นแตกเสียแล้ว.” (33:21) ยะเอศเคล ซึ่งตอนนี้มีอิสระอีกเพื่อจะพูดกับพวกที่ถูกเนรเทศ บอกพวกเขาว่าความคิดอะไรก็ตามที่พวกเขามีในเรื่องการช่วยยูดานั้นไร้ผล. แม้ว่าพวกเขามาหายะเอศเคลเพื่อจะได้ยินคำของพระยะโฮวา แต่สำหรับพวกเขา ยะเอศเคลเป็นเหมือนนักร้องเพลงรัก เหมือนนักร้องเสียงดีที่เล่นเครื่องสายได้ไพเราะ. พวกเขาไม่ใส่ใจ. อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง พวกเขาจะรู้ว่ามีผู้พยากรณ์อยู่ท่ามกลางพวกเขา. ยะเอศเคลตำหนิผู้เลี้ยงแกะปลอมซึ่งละทิ้งฝูงแกะเพื่อปรนเปรอตัวเอง. พระยะโฮวาผู้เลี้ยงองค์ดีพร้อมจะทรงรวบรวมแกะที่แตกฉานซ่านเซ็นและนำพวกเขามายังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อันอุดมบนภูเขาต่าง ๆ ในยิศราเอล. ที่นั่น พระองค์จะทรงตั้งผู้เลี้ยงผู้เดียวไว้เหนือพวกเขา “คือดาวิดผู้รับใช้ของเรา.” (34:23) พระยะโฮวาเองจะทรงเป็นพระเจ้าของพวกเขา. พระองค์จะทรงทำสัญญาไมตรีสันติภาพและจะทรงเทพระพรลงบนพวกเขาดังสายฝน.
25. (ก) เพราะเหตุใดและโดยวิธีใดที่พระยะโฮวาจะทรงทำให้แผ่นดินเป็นเหมือนสวนเอเดน? (ข) มีการแสดงให้เห็นอะไรโดยนิมิตเรื่องกระดูกแห้ง? โดยนิมิตเกี่ยวกับไม้สองท่อน?
25 ยะเอศเคลพยากรณ์อีกครั้งถึงความร้างเปล่าของภูเขาเซอีร (อะโดม). อย่างไรก็ตาม สถานที่ร้างเปล่าของยิศราเอลจะถูกสร้างขึ้นใหม่ เพราะพระยะโฮวาจะทรงเมตตาเพื่อเห็นแก่พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ เพื่อทำให้พระนามนี้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ต่อหน้าชาติทั้งหลาย. พระองค์จะทรงทำให้ไพร่พลของพระองค์มีหัวใจใหม่และวิญญาณใหม่ และแผ่นดินของพวกเขาจะเป็นเหมือน “สวนในเอเดน” อีก. (36:35) ตอนนี้ยะเอศเคลเห็นนิมิตเกี่ยวกับยิศราเอลที่แสดงให้เห็นด้วยภาพหุบเขากระดูกแห้ง. ยะเอศเคลพยากรณ์แก่กระดูกเหล่านั้น. กระดูกเหล่านั้นกลับมีเนื้อหนัง, ลมหายใจ, และมีชีวิตอีกอย่างอัศจรรย์. อย่างนั้นแหละที่พระยะโฮวาจะทรงเปิดสุสานแห่งการเป็นเชลยในบาบูโลนและนำชนยิศราเอลกลับสู่แผ่นดินของตนอีกครั้ง. ยะเอศเคลเอาไม้สองท่อนซึ่งหมายถึงสองตระกูลแห่งยิศราเอล คือยูดาและเอฟรายิม. ไม้ทั้งสองกลายเป็นท่อนเดียวกันในมือของท่าน. ดังนั้น เมื่อพระยะโฮวาทรงฟื้นฟูยิศราเอล พวกเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสัญญาไมตรีสันติภาพภายใต้ “ดาวิด” ผู้รับใช้ของพระองค์.—37:24.
26. เหตุใดโฆฆแห่งมาโฆฆจึงโจมตี และผลเป็นอย่างไร?
26 การโจมตีโดยโฆฆแห่งมาโฆฆต่อยิศราเอลที่ได้รับการฟื้นฟู (38:1–39:29). ครั้นแล้ว จะมีการบุกรุกจากทิศทางใหม่! สันติสุขและความมั่งคั่งแห่งไพร่พลที่ได้รับการฟื้นฟูของพระยะโฮวายั่วโฆฆแห่งมาโฆฆให้โจมตีอย่างบ้าคลั่ง. มันจะรีบมาเพื่อเขมือบพวกเขา. ถึงตอนนั้น พระยะโฮวาจะทรงลุกขึ้นด้วยพระพิโรธอันแรงกล้า. พระองค์จะทรงทำให้พวกเขาจับดาบต่อสู้พี่น้องของเขาและทำให้เกิดโรคระบาดและเลือดและห่าลูกเห็บ, ไฟ, และกำมะถันลงมาเหนือพวกเขา. พวกเขาจะพ่ายแพ้และรู้ว่าพระยะโฮวาเป็น “ผู้บริสุทธิ์แห่งยิศราเอล.” (39:7) แล้วไพร่พลของพระองค์จะจุดไฟด้วยเครื่องอาวุธที่เสียหายยับเยินของศัตรูและฝังกระดูกเหล่านั้นในหุบเขา “ฮะโมนโฆฆ.” (39:11) นกที่กินเนื้อเน่าและพวกสัตว์ป่าจะกินเนื้อและดื่มเลือดของผู้ที่ถูกฆ่า. จากนั้น ยิศราเอลจะอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย ไม่มีใครทำให้เขาสะดุ้งกลัว และพระยะโฮวาจะเทพระวิญญาณของพระองค์ลงบนพวกเขา.
27. ยะเอศเคลเห็นอะไรในการเยือนแผ่นดินยิศราเอลในนิมิต และรัศมีของพระเจ้าปรากฏอย่างไร?
27 นิมิตของยะเอศเคลเรื่องพระวิหาร (40:1–48:35). เรามาถึงปี 593 ก.ส.ศ. นี่เป็นปีที่ 14 นับแต่การทำลายพระวิหารของซะโลโม และเหล่าผู้กลับใจในหมู่ผู้ถูกเนรเทศจำต้องได้รับการชูใจและความหวัง. พระยะโฮวาทรงส่งยะเอศเคลไปยังแผ่นดินยิศราเอลโดยนิมิตและวางท่านลงบนภูเขาที่สูงมาก. ที่นั่นในนิมิต ท่านเห็นพระวิหารและ “สัณฐานเรือนดุจเมืองอยู่ในทิศใต้.” ทูตสวรรค์องค์หนึ่งสั่งท่านว่า “จงแจ้งสิ่งทั้งปวงที่เจ้าเห็นแก่เรือนยิศราเอล.” (40:2, 4) จากนั้นท่านสำแดงให้ยะเอศเคลเห็นรายละเอียดทั้งหมดของพระวิหารและลานพระวิหาร, โดยวัดกำแพง, ประตู, ป้อมยาม, ห้องอาหาร, และตัวพระวิหาร พร้อมกับห้องบริสุทธิ์และห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพระวิหาร. ท่านนำยะเอศเคลไปยังประตูตะวันออก. “และนี่แน่ะรัศมีของพระยะโฮวาแห่งยิศราเอลได้มาโดยทางตะวันออก. และเสียงของพระองค์ดุจเสียงแม่น้ำเป็นอันมาก, และแผ่นดินก็รุ่งเรืองด้วยรัศมีของพระองค์.” (43:1ข, 2) ทูตสวรรค์บอกยะเอศเคลอย่างละเอียดเกี่ยวกับพระนิเวศ (หรือพระวิหาร); แท่นบูชาและเครื่องบูชา; สิทธิและหน้าที่ของปุโรหิตตระกูลเลวี; และหัวหน้าตระกูล; รวมทั้งการจัดสรรแผ่นดิน.
28. นิมิตของยะเอศเคลเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับกระแสน้ำที่ไหลออกจากพระวิหาร และมีการเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับเมืองนั้น และชื่อเมือง?
28 ทูตสวรรค์นำยะเอศเคลกลับมายังทางเข้าพระวิหาร ที่นั่นท่านผู้พยากรณ์เห็นน้ำไหลออกจากธรณีประตูพระวิหารไปทางตะวันออก โดยไหลจากทางทิศใต้ของแท่น. น้ำเริ่มไหลเพียงเล็กน้อย แต่มากขึ้น ๆ จนกลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยว. แล้วน้ำนั้นไหลลงสู่ทะเลเดดซี ทำให้ปลาที่นั่นมีชีวิตและการประมงก็เกิดขึ้น. บนสองฝั่งแม่น้ำมีต้นไม้ให้อาหารและการรักษาแก่ประชาชน. ครั้นแล้วนิมิตนี้จึงแจ้งเรื่องมรดกของ 12 ตระกูล โดยไม่มองข้ามคนต่างด้าวและหัวหน้า อีกทั้งพรรณนาถึงเมืองบริสุทธิ์ที่อยู่ทางใต้ ซึ่งมี 12 ประตูที่ตั้งชื่อตามตระกูลต่าง ๆ. เมืองนี้จะถูกตั้งชื่อตามพระนามที่รุ่งโรจน์ที่สุดคือ “พระยะโฮวาเจ้าอยู่ที่นั่น.”—48:35.
เหตุที่เป็นประโยชน์
29. พวกยิวที่ถูกเนรเทศได้รับประโยชน์อย่างไรจากคำพยากรณ์ของยะเอศเคล?
29 แถลงการณ์, นิมิต, และคำสัญญาที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่ยะเอศเคลนั้นล้วนถูกแจ้งอย่างซื่อสัตย์แก่ชาวยิวที่ถูกเนรเทศ. ขณะที่หลายคนเยาะเย้ยถากถางท่านผู้พยากรณ์ มีบางคนเชื่อ. คนเหล่านี้ที่เชื่อได้รับประโยชน์ใหญ่หลวง. พวกเขาได้รับการเสริมกำลังโดยคำสัญญาเรื่องการฟื้นฟู. ไม่เหมือนชาติอื่น ๆ ที่ถูกกวาดเป็นเชลย พวกเขารักษาเอกลักษณ์ประจำชาติไว้ และพระยะโฮวาทรงฟื้นฟูชนที่เหลือในปี 537 ก.ส.ศ. ตามที่พระองค์ทรงบอกล่วงหน้า. (ยเอศ. 28:25, 26; 39:21-28; เอษรา 2:1; 3:1) พวกเขาสร้างพระวิหารขึ้นใหม่สำหรับพระยะโฮวาและเริ่มการนมัสการแท้ขึ้นใหม่ที่นั่น.
30. หลักการอะไรบ้างในพระธรรมยะเอศเคลที่มีค่าแก่พวกเราในทุกวันนี้?
30 หลักการต่าง ๆ ที่บอกไว้ในยะเอศเคลก็มีค่ายิ่งแก่พวกเราในทุกวันนี้ด้วย. การออกหากและการไหว้รูปเคารพ ควบคู่กับการขืนอำนาจ ย่อมมีแต่นำไปสู่ความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวา. (ยเอศ. 6:1-7; 12:2-4, 11-16) แต่ละคนจะให้การสำหรับบาปของตน แต่พระยะโฮวาจะทรงอภัยผู้ที่หันกลับจากแนวทางผิดของตน. เขาจะได้รับความเมตตาและจะมีชีวิตอยู่ต่อไป. (18:20-22) ผู้รับใช้ของพระเจ้าต้องเป็นคนยามที่ซื่อสัตย์เหมือนยะเอศเคล แม้ว่าถูกมอบหมายงานที่ยาก อีกทั้งถูกเยาะเย้ยและดูหมิ่น. เราต้องไม่ปล่อยให้คนชั่วตายโดยไม่เตือนเขา โดยที่เลือดของพวกเขาตกบนศีรษะของเรา. (3:17; 33:1-9) ผู้บำรุงเลี้ยงไพร่พลของพระเจ้าแบกความรับผิดชอบหนักในการเอาใจใส่ฝูงแกะ.—34:2-10.
31. คำพยากรณ์อะไรบ้างของยะเอศเคลที่พยากรณ์ถึงการมาของพระมาซีฮา?
31 สิ่งที่เด่นในพระธรรมยะเอศเคลคือคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับพระมาซีฮา. มีการพาดพิงถึงพระองค์ว่าเป็น “ผู้มีสิทธิ์อันชอบธรรม” สำหรับบัลลังก์ของดาวิดและบัลลังก์นี้จะต้องยกแก่ท่าน. มีกล่าวถึงพระองค์สองแห่งว่าเป็น “ดาวิดผู้รับใช้ของเรา,” และเป็น “ผู้เลี้ยง,” “กษัตริย์,” และ “เจ้านาย” อีกด้วย. (21:27; 34:23, 24; 37:24, 25, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากดาวิดสิ้นชีพไปนานแล้ว ยะเอศเคลจึงกำลังพูดถึงบุคคลหนึ่งซึ่งจะเป็นทั้งราชบุตรและองค์พระผู้เป็นเจ้าของดาวิด. (เพลง. 110:1; มัด. 22:42-45) เช่นเดียวกับยะซายา ยะเอศเคลพูดถึงการปลูกกิ่งอ่อนที่พระยะโฮวาจะทรงยกชูขึ้น.—ยเอศ. 17:22-24; ยซา. 11:1-3.
32. นิมิตของยะเอศเคลเรื่องพระวิหารเทียบกับนิมิตเรื่อง “เมืองบริสุทธิ์” ในวิวรณ์แล้วเป็นอย่างไร?
32 น่าสนใจที่จะเทียบนิมิตของยะเอศเคลเรื่องพระวิหารกับนิมิตเรื่อง “เยรูซาเลมเมืองบริสุทธิ์” ในพระธรรมวิวรณ์. (วิ. 21:10, ล.ม.) มีข้อแตกต่างที่พึงสังเกต; ตัวอย่างเช่น พระวิหารของยะเอศเคลแยกอยู่ต่างหากและอยู่ทางเหนือของเมือง ขณะที่พระยะโฮวาเองทรงเป็นพระวิหารของเมืองในพระธรรมวิวรณ์. อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกรณีมีแม่น้ำแห่งชีวิตไหลออกมา มีต้นไม้ที่ให้ผลทุกเดือนและใบไม้สำหรับการเยียวยารักษา และมีสง่าราศีของพระยะโฮวาปรากฏอยู่. แต่ละนิมิตส่งเสริมความหยั่งรู้ค่าฐานะกษัตริย์ของพระยะโฮวา รวมทั้งการที่พระองค์ทรงจัดเตรียมความรอดสำหรับผู้ที่ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์.—ยเอศ. 43:4, 5—วิ. 21:11; ยเอศ. 47:1, 8, 9, 12—วิ. 22:1-3.
33. พระธรรมยะเอศเคลเน้นเรื่องอะไร? และจะเกิดผลเช่นไรแก่ผู้ที่บัดนี้กำลังทำให้พระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ในชีวิตของตน?
33 พระธรรมยะเอศเคลเน้นว่าพระยะโฮวาบริสุทธิ์. พระธรรมนี้ทำให้รู้ว่าการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด. “‘เราจะทำให้นามยิ่งใหญ่ของเราเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างแน่นอน . . . และนานาชาติจะต้องรู้ว่าเราคือยะโฮวา’ เป็นคำตรัสของพระยะโฮวาเจ้าองค์บรมมหิศร.” ดังที่คำพยากรณ์แสดงให้เห็น พระองค์จะทรงทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยทำลายบรรดาผู้ดูหมิ่นพระนามของพระองค์ รวมทั้งโฆฆแห่งมาโฆฆ. ผู้ฉลาดสุขุม คือผู้ที่บัดนี้กำลังทำให้พระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ในชีวิตของตนด้วยการบรรลุข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์สำหรับการนมัสการอันเป็นที่ยอมรับได้. คนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยารักษาและได้รับชีวิตถาวรจากแม่น้ำที่ไหลจากพระวิหารของพระองค์. เมืองที่เลิศล้ำด้วยสง่าราศีและมีความประณีตงดงามสุดยอดคือเมืองที่ชื่อ “พระยะโฮวาเจ้าอยู่ที่นั่น”!—ยเอศ. 36:23, ล.ม.; 38:16; 48:35.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 531, 1136.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 681-682.
c ขณะที่ข้อความของพวกมาโซเรตบอกว่าผู้ที่หนีรอดคนนั้นมาจากยะรูซาเลมในปีที่ 12 แต่สำเนาอื่น ๆ บอกว่า “ปีที่สิบเอ็ด” และข้อความนั้นได้รับการแปลเช่นนั้นโดย แลมซาและมอฟฟัตต์ รวมทั้งฉบับ แอน อเมริกัน แทรนสเลชัน.