ถ่อมใจยอมรับอำนาจของผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก
“จงเชื่อฟังผู้ที่นำหน้าท่ามกลางท่านทั้งหลายและยอมรับอำนาจของพวกเขา.”—เฮ็บราย 13:17, ล.ม.
1, 2. มีข้อพระคัมภีร์อะไรบ้างที่แสดงว่าพระยะโฮวาและพระเยซูทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก?
พระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตร พระเยซูคริสต์ ทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก. ยะซายากล่าวพยากรณ์ไว้ดังนี้: “ดูเถิด, พระยะโฮวาเจ้าจะเสด็จมาดุจผู้มีอำนาจ, และพระองค์จะทรงได้แผ่นดินมาปกครองด้วยพระพาหุของพระองค์ . . . พระองค์จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ดุจผู้เลี้ยงแกะ, พระองค์จะทรงอุ้มลูกแกะไว้ในพระพาหุ, และจะกอดไว้ในพระทรวง, และตัวแม่ลูกอ่อนพระองค์จะทรงค่อย ๆ ต้อนไปด้วยพระทัยเอ็นดู.”—ยะซายา 40:10, 11.
2 คำพยากรณ์ดังกล่าวเกี่ยวกับการฟื้นฟูสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อชนที่เหลือชาวยิวกลับสู่ยูดาห์ในปี 537 ก่อนสากลศักราช. (2 โครนิกา 36:22, 23) คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงอีกครั้งเมื่อชนที่เหลือผู้ถูกเจิมได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจาก “บาบิโลนใหญ่” ในปี 1919 โดยพระเยซูคริสต์ผู้ยิ่งใหญ่กว่าไซรัส. (วิวรณ์ 18:2, ล.ม.; ยะซายา 44:28) พระองค์ทรงเป็น “พระพาหุ” ของพระยะโฮวาที่ทรงใช้ให้ปกครอง และรวบรวมแกะทั้งหลายเข้ามาและบำรุงเลี้ยงพวกเขาด้วยความอ่อนละมุน. พระเยซูเองตรัสดังนี้: “เราเป็นผู้เลี้ยงอันดี เรารู้จักแกะของเรา, และแกะของเรารู้จักเรา.”—โยฮัน 10:14.
3. พระยะโฮวาทรงแสดงความห่วงใยรักใคร่อย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่แกะของพระองค์ถูกปฏิบัติ?
3 คำพยากรณ์ที่ยะซายา 40:10, 11 เน้นว่าพระยะโฮวาทรงบำรุงเลี้ยงประชาชนของพระองค์ด้วยความอ่อนโยน. (บทเพลงสรรเสริญ 23:1-6) ระหว่างที่ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก พระเยซูก็เช่นกันทรงแสดงความห่วงใยอันอ่อนละมุนต่อเหล่าสาวกและผู้คนทั่วไป. (มัดธาย 11:28-30; มาระโก 6:34) ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูทรงชิงชังพฤติกรรมอันไร้ความปรานีของพวกผู้บำรุงเลี้ยงหรือผู้นำของอิสราเอล ซึ่งละเลยและฉวยประโยชน์จากฝูงแกะอย่างไร้ความละอาย. (ยะเอศเคล 34:2-10; มัดธาย 23:3, 4, 15) พระยะโฮวาทรงสัญญาว่า “เราจึงช่วยฝูงแกะของเรา, และฝูงแกะนั้นจะมิได้เป็นเหยื่อต่อไป, และเราจะตัดสินในท่ามกลางแกะ, และแกะเราจะตั้งผู้เลี้ยงผู้เดียวแก่เขาทั้งหลาย, และผู้นั้นจะเลี้ยงเขาทั้งหลาย, คือดาวิดผู้รับใช้ของเรา, ท่านจะเลี้ยงเขาทั้งหลาย; และท่านจะเป็นผู้เลี้ยงแห่งเขาทั้งหลาย.” (ยะเอศเคล 34:22, 23) ในสมัยอวสานนี้ พระเยซูคริสต์ ดาวิดผู้ยิ่งใหญ่ ทรงเป็น “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” ที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งไว้ให้ดูแลผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก ทั้งคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณและ “แกะอื่น.”—โยฮัน 10:16.
ของประทานจากสวรรค์ถึงประชาคม
4, 5. (ก) พระยะโฮวาทรงให้ของประทานล้ำค่าอะไรแก่ประชาชนของพระองค์บนแผ่นดินโลก? (ข) พระเยซูได้ทรงให้ของประทานอะไรแก่ประชาคมของพระองค์?
4 โดยตั้ง “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” คือพระเยซูคริสต์ ให้ดูแลผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงให้ของประทานล้ำค่าแก่ประชาคมคริสเตียน. มีคำพยากรณ์เกี่ยวกับของประทานอันได้แก่ผู้นำผู้อยู่ในสวรรค์นี้ที่ยะซายา 55:4 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งกล่าวว่า “ดูเถิด เรากระทำให้ท่านเป็นพยานต่อชนชาติทั้งหลาย เป็นหัวหน้าและเป็นผู้บัญชาการเพื่อชนชาติทั้งปวง.” ทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและสมาชิกแห่ง “ชนฝูงใหญ่” ถูกรวบรวมจากทุกประเทศ, ตระกูล, ชนชาติ, และภาษา. (วิวรณ์ 5:9, 10; 7:9, ล.ม.) พวกเขาประกอบกันเป็นประชาคมนานาชาติ เป็น “ฝูงเดียว” ภายใต้การนำของ “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” คือพระคริสต์เยซู.
5 พระเยซูเองก็ได้ทรงให้ของประทานอันมีค่ายิ่งแก่ประชาคมของพระองค์บนแผ่นดินโลกด้วย. พระองค์ได้จัดเตรียมให้มีรองผู้บำรุงเลี้ยงที่ซื่อสัตย์ ซึ่งดำเนินตามแบบอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซูในการบำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน. อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงของประทานอันเปี่ยมด้วยความรักนี้ในจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์. ท่านเขียนว่า “ ‘คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.’ . . . พระองค์ได้ประทานบางคนให้เป็นอัครสาวก ให้บางคนเป็นผู้พยากรณ์ ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.
6. วิวรณ์ 1:16, 20 ให้ภาพของผู้ดูแลที่เป็นผู้ถูกเจิมที่รับใช้ในคณะผู้ปกครองไว้อย่างไร และอาจกล่าวได้เช่นไรสำหรับผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งที่เป็นแกะอื่น?
6 “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เหล่านี้ได้แก่ผู้ดูแลหรือผู้ปกครอง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระยะโฮวาและพระบุตรโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน. (กิจการ 20:28, 29) เริ่มแรก ผู้ดูแลเหล่านี้ทั้งหมดเป็นชายคริสเตียนที่เป็นผู้ถูกเจิม. ที่วิวรณ์ 1:16, 20 มีการให้สัญลักษณ์คนเหล่านี้ที่รับใช้ในคณะผู้ปกครองภายในประชาคมแห่งผู้ถูกเจิมว่าเป็น “ดวงดาว” หรือ “ทูต” ในพระหัตถ์ขวาของพระคริสต์ นั่นคือ อยู่ในการควบคุมของพระองค์. ทว่า ในเวลาอวสานนี้ขณะที่จำนวนผู้ดูแลที่เป็นผู้ถูกเจิมที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกลดน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ของคริสเตียนผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ เป็นแกะอื่น. เนื่องจากคนเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งโดยตัวแทนของคณะกรรมการปกครองภายใต้การชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาก็เช่นกันอยู่ในพระหัตถ์ขวา (หรืออยู่ภายใต้การชี้นำ) ของพระเยซูคริสต์ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี. (ยะซายา 61:5, 6) เนื่องจากผู้ปกครองในประชาคมของเรายอมรับอำนาจของพระคริสต์ ประมุขของประชาคม พวกเขาจึงสมควรได้รับความร่วมมือจากเราอย่างเต็มที่.—โกโลซาย 1:18.
การเชื่อฟังและการยอมรับอำนาจ
7. อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับเจตคติที่เราควรมีต่อคริสเตียนผู้ดูแล?
7 ผู้บำรุงเลี้ยงของเราผู้อยู่ในสวรรค์ พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ ทรงคาดหมายให้เราเชื่อฟังและยอมรับอำนาจรองผู้บำรุงเลี้ยงที่พระองค์ทั้งสองได้ตั้งไว้ในตำแหน่งให้รับผิดชอบประชาคม. (1 เปโตร 5:5) อัครสาวกเปาโลเขียนโดยได้รับการดลใจว่า “ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงคนเหล่านั้นที่ได้เคยปกครองท่าน, คือคนที่ได้ประกาศพระคำของพระเจ้าแก่ท่าน. และจงพิจารณาดูผลแห่งปลายทางแห่งประวัติของเขา, แล้วจงเอาอย่างความเชื่อของเขา. ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาท [“ยอมรับอำนาจ,” ล.ม.] ของคนเหล่านั้นที่ปกครองท่านด้วยว่าท่านเหล่านั้นคอยระวังดูจิตวิญญาณของท่าน, เหมือนกับผู้ที่จะต้องรายงาน เพื่อเขาจะได้ทำการนี้ด้วยความชื่นใจ, ไม่ใช่ด้วยความเศร้าใจ เพราะว่าที่ทำดังนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย.”—เฮ็บราย 13:7, 17.
8. เปาโลเชิญเราให้ “พิจารณาดู” อะไร และเราควร “เชื่อฟัง” อย่างไร?
8 สังเกตว่าเปาโลเชิญเราให้ “พิจารณาดู” ผลของการประพฤติที่ซื่อสัตย์ของผู้ปกครองและเอาอย่างความเชื่อของพวกเขา. นอกจากนั้น ท่านยังแนะนำเราให้เชื่อฟังและยอมตามการชี้นำของชายที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้. อาร์. ที. ฟรานซ์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล อธิบายว่าในต้นฉบับภาษากรีก คำซึ่งแปลในที่นี้ว่า “เชื่อฟัง” ไม่ใช่ “คำที่ใช้กันตามปกติสำหรับการเชื่อฟัง แต่มีความหมายตรงตัวว่า ‘ถูกโน้มน้าว’ ซึ่งแสดงนัยถึงการยอมรับการนำของพวกเขาอย่างเต็มใจ.” เราเชื่อฟังผู้ปกครองไม่เพียงเพราะเราได้รับการชี้นำจากพระคำของพระเจ้าให้ทำอย่างนั้น แต่เพราะเราถูกโน้มน้าวจากการที่พวกเขาถือเอาผลประโยชน์ของราชอาณาจักรและผลประโยชน์ของเราเป็นที่ตั้งด้วย. เราจะมีความสุขอย่างแน่นอนหากเราเต็มใจยอมรับการนำของพวกเขา.
9. เหตุใดนอกเหนือจากการเชื่อฟังแล้วเราจำเป็นต้อง “ยอมรับอำนาจ” ด้วย?
9 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรหากเราไม่มั่นใจว่าในบางกรณีการชี้นำของผู้ปกครองเป็นวิธีจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่ดีที่สุด? นั่นแหละคือเวลาที่ต้องยอมรับอำนาจ. เป็นเรื่องง่ายที่จะเชื่อฟังเมื่อทุกสิ่งชัดเจนและเราเห็นด้วย แต่เราจะแสดงว่าเรายอมรับอำนาจอย่างแท้จริงหากเรายอมแม้แต่เมื่อเราเองไม่เข้าใจการชี้นำที่เราได้รับ. เปโตร ซึ่งภายหลังกลายเป็นอัครสาวก แสดงให้เห็นว่าท่านยอมรับอำนาจแบบนั้น.—ลูกา 5:4, 5.
เหตุผลสี่ประการสำหรับการเต็มใจให้ความร่วมมือ
10, 11. ผู้ดูแล “ประกาศพระคำของพระเจ้า” แก่เพื่อนคริสเตียนในศตวรรษแรกและในปัจจุบันอย่างไร?
10 ที่เฮ็บราย 13:7, 17 ดังยกขึ้นมาในตอนต้น อัครสาวกเปาโลให้เหตุผลสี่ประการที่เราควรเชื่อฟังและยอมอยู่ใต้อำนาจของคริสเตียนผู้ดูแล. เหตุผลแรกคือ พวกเขา “ประกาศพระคำของพระเจ้า” แก่เรา. พึงจำไว้ว่า “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ที่พระเยซูประทานแก่ประชาคมนั้นเพื่อ “ปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีก.” (เอเฟโซ 4:11, 12, ล.ม.) พระองค์ทรงปรับความคิดและการกระทำของคริสเตียนในศตวรรษแรกให้เข้าที่โดยทางรองผู้บำรุงเลี้ยงที่ซื่อสัตย์ ซึ่งบางคนได้รับการดลใจให้เขียนจดหมายไปถึงประชาคมต่าง ๆ. พระองค์ทรงใช้ผู้ดูแลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณเช่นนั้นให้ชี้นำและเสริมสร้างคริสเตียนในยุคแรกให้เข้มแข็ง.—1 โกรินโธ 16:15-18; 2 ติโมเธียว 2:2; ติโต 1:5.
11 ปัจจุบัน พระเยซูทรงชี้นำเราโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งมีตัวแทนคือคณะกรรมการปกครองและผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) เนื่องด้วยความนับถือต่อ “ผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ” คือพระเยซูคริสต์ เราใส่ใจคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “[จง] นับถือคนที่ทำงานอยู่ในพวกท่านซึ่งปกครองท่านในองค์พระผู้เป็นเจ้าและตักเตือนท่าน.”—1 เปโตร 5:4, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:12, ฉบับแปลใหม่; 1 ติโมเธียว 5:17.
12. ผู้ดูแล “คอยระวังดูจิตวิญญาณของ [เรา]” อย่างไร?
12 เหตุผลประการที่สองสำหรับการให้ความร่วมมือกับคริสเตียนผู้ดูแลคือพวกเขา “คอยระวังดูจิตวิญญาณของ [เรา].” หากพบว่าเรามีเจตคติหรือพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา พวกเขาก็จะไม่รอช้าในการให้คำแนะนำที่จำเป็นแก่เราด้วยความมุ่งหมายจะปรับเราให้เข้าที่. (ฆะลาเตีย 6:1) คำภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “คอยระวังดู” ตามตัวอักษรแล้วหมายถึง “อดนอน.” ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งให้ความเห็นว่า คำนี้ “หมายถึงการที่ผู้เลี้ยงแกะเฝ้าระวังอย่างไม่ย่อท้อ.” นอกจากคอยเฝ้าระวังฝ่ายวิญญาณแล้ว ผู้ปกครองอาจถึงกับนอนไม่หลับเพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. เราน่าจะเต็มใจให้ความร่วมมือกับรองผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรักเช่นนั้น ซึ่งทำสุดกำลังเพื่อทำตามแบบอย่างการดูแลอันอ่อนละมุนที่พระเยซูคริสต์ “ผู้เลี้ยงแกะอันเลิศ” ได้ทรงวางไว้มิใช่หรือ?—เฮ็บราย 13:20.
13. ผู้ดูแลและคริสเตียนทุกคนต้องให้การต่อใครและอย่างไร?
13 เหตุผลประการที่สามสำหรับการเต็มใจให้ความร่วมมือกับผู้ดูแลคือ พวกเขาคอยดูแลเรา “เหมือนกับผู้ที่จะต้องรายงาน.” ผู้ดูแลระลึกว่าพวกเขาเป็นรองผู้บำรุงเลี้ยง รับใช้โดยอยู่ใต้ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่ผู้อยู่ในสวรรค์ คือพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์. (ยะเอศเคล 34:22-24) พระยะโฮวาทรงเป็นเจ้าของแกะ ซึ่ง “พระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรของพระองค์เอง” และพระองค์ทรงถือว่าผู้ดูแลที่ทรงแต่งตั้งไว้ต้องรับผิดชอบต่อวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อฝูงแกะของพระองค์ ซึ่งควรเป็นวิธีที่ “อ่อนโยน.” (กิจการ 20:28, 29, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น เราทุกคนต้องให้การต่อพระยะโฮวาสำหรับวิธีที่เราตอบสนองต่อการชี้นำของพระองค์. (โรม 14:10-12) การที่เราเชื่อฟังผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งยังให้หลักฐานด้วยว่าเรายอมรับอำนาจของพระคริสต์ ประมุขของประชาคม.—โกโลซาย 2:19.
14. อะไรอาจทำให้คริสเตียนผู้ดูแลรับใช้ “ด้วยการทอดถอนใจ” และนั่นอาจยังผลเช่นไร?
14 เปาโลให้เหตุผลประการที่สี่ที่เราควรถ่อมใจยอมรับอำนาจของคริสเตียนผู้ดูแล. ท่านเขียนดังนี้: “เพื่อเขาจะได้ทำการนี้ด้วยความชื่นใจ, ไม่ใช่ด้วยความเศร้าใจ [“ด้วยการทอดถอนใจ,” ล.ม.] เพราะว่าที่ทำดังนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย.” (เฮ็บราย 13:17) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบหนักในการสอน, บำรุงเลี้ยง, นำหน้าในงานประกาศ, เลี้ยงดูครอบครัว, และจัดการปัญหาต่าง ๆ ในประชาคม คริสเตียนผู้ปกครองรับภาระหนัก. (2 โกรินโธ 11:28, 29) หากเราไม่ให้ความร่วมมือกับพวกเขา ก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มภาระหนักแก่พวกเขา. นั่นย่อมยังผลทำให้พวกเขา “ทอดถอนใจ.” การที่เราไม่ได้แสดงน้ำใจให้ความร่วมมือเช่นนั้นย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาและอาจก่อผลเสียหายต่อตัวเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เมื่อเราแสดงความนับถือและให้ความร่วมมืออย่างเหมาะสม ผู้ปกครองก็จะสามารถทำหน้าที่ของตนด้วยความยินดี และนั่นย่อมส่งเสริมเอกภาพและการมีส่วนร่วมด้วยความยินดีในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร.—โรม 15:5, 6.
การแสดงความถ่อมใจของเรา
15. เราสามารถแสดงได้โดยวิธีใดว่าเราเชื่อฟังและยอมรับอำนาจ?
15 มีหลายวิธีที่ใช้ได้จริงที่เราสามารถให้ความร่วมมือกับผู้ดูแลซึ่งได้รับการแต่งตั้ง. โดยมีเป้าหมายจะปรับให้เข้ากับสภาพการณ์ใหม่ในท้องถิ่น ผู้ปกครองได้จัดให้มีการประชุมเพื่อการประกาศในวันและเวลาที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนตารางเวลาของเราไหม? ให้เราพยายามสนับสนุนการจัดเตรียมใหม่เหล่านั้น. เราอาจได้รับบำเหน็จอย่างไม่คาดคิด. ผู้ดูแลการรับใช้ไปเยี่ยมกลุ่มศึกษาหนังสือประจำประชาคมของเราไหม? ขอให้เราเข้าร่วมเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ในงานประกาศในสัปดาห์นั้น. เราได้รับมอบหมายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าไหม? เราควรพยายามจริง ๆ ที่จะมาทำส่วนมอบหมายของเรา. ผู้ดูแลกลุ่มการศึกษาหนังสือประจำประชาคมได้ประกาศว่าเป็นเวรของกลุ่มเราที่จะทำความสะอาดหอประชุมราชอาณาจักรไหม? ขอให้เราให้การสนับสนุนเขาเต็มที่ เท่าที่สุขภาพและกำลังของเราจะเอื้ออำนวย. ในแง่ต่าง ๆ เหล่านี้และในทางอื่น ๆ อีกหลายทาง เราแสดงให้เห็นว่าเรายอมรับอำนาจของผู้ชายที่พระยะโฮวาและพระบุตรได้แต่งตั้งไว้ให้ดูแลฝูงแกะ.
16. หากผู้ปกครองไม่ได้ดำเนินตามการชี้นำ เหตุใดนั่นไม่ได้ทำให้มีเหตุผลสมควรที่เราจะขืนอำนาจ?
16 บางครั้ง ผู้ปกครองบางคนอาจไม่ได้ดำเนินตามการชี้นำของชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองของทาสนั้น. หากเขายังคงทำอย่างนั้นต่อไป เขาจะต้องให้การต่อพระยะโฮวา “ผู้บำรุงเลี้ยงและผู้ดูแลแห่งจิตวิญญาณของ [เรา].” (1 เปโตร 2:25, ล.ม.) แต่ข้อผิดพลาดของผู้ปกครองบางคนไม่อาจเป็นข้อแก้ตัวที่เราจะมีเจตคติไม่ยอมรับอำนาจ. พระยะโฮวาไม่ทรงสนับสนุนการไม่เชื่อฟังและการขืนอำนาจ.—อาฤธโม 12:1, 2, 9-11.
พระยะโฮวาอวยพรการเต็มใจให้ความร่วมมือ
17. เราควรมีเจตคติเช่นไรต่อผู้ดูแล?
17 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทราบว่าผู้ชายทั้งหลายที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ให้เป็นผู้ดูแลนั้นไม่สมบูรณ์. ถึงกระนั้น พระองค์ทรงใช้พวกเขา และโดยทางพระวิญญาณ พระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงประชาชนของพระองค์บนแผ่นดินโลก. นับว่าเป็นจริงกับผู้ปกครอง—และเราทุกคนด้วย—ที่ว่า “กำลังที่มากกว่าปกติ [มา] จากพระเจ้าและมิใช่มาจากตัวเราเอง.” (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น เราควรขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับสิ่งที่พระองค์กำลังทำให้สำเร็จโดยทางผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์ทั้งหลาย และเราควรแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราเต็มใจให้ความร่วมมือ.
18. โดยยอมรับอำนาจของเหล่าผู้ดูแล ที่จริงเรากำลังทำอะไร?
18 เหล่าผู้ดูแลพยายามเต็มที่ในการดำเนินชีวิตให้สมกับที่พระยะโฮวาทรงพรรณนาไว้ว่าผู้บำรุงเลี้ยงที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลฝูงแกะของพระองค์ในสมัยสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ดังจะอ่านได้ที่ยิระมะยา 3:15 (ล.ม.) ว่า “เราจะประทานผู้เลี้ยงแกะให้เจ้าตามความพอใจของเรา และพวกเขาจะบำรุงเลี้ยงเจ้าด้วยความรู้ และความเข้าใจลึกซึ้งเป็นแน่.” แน่นอน ผู้ปกครองที่อยู่ท่ามกลางพวกเรากำลังทำการงานที่ดีในการสอนและปกป้องแกะของพระยะโฮวา. ขอให้เราแสดงความหยั่งรู้ค่าเสมอไปต่องานหนักที่พวกเขาทำ โดยเต็มใจให้ความร่วมมือ, เชื่อฟัง, และยอมรับอำนาจของพวกเขา. เมื่อทำอย่างนั้น นั่นแสดงว่าเราหยั่งรู้ค่าผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่ผู้อยู่ในสวรรค์ พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์.
เพื่อทบทวน
• พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงพิสูจน์อย่างไรว่าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก?
• นอกเหนือจากการเชื่อฟังแล้ว เหตุใดจึงจำเป็นต้องยอมรับอำนาจด้วย?
• มีวิธีใดบ้างในภาคปฏิบัติที่เราสามารถแสดงว่าเรายอมรับอำนาจ?
[ภาพหน้า 27]
คริสเตียนผู้ปกครองยอมรับอำนาจการนำของพระคริสต์
[ภาพหน้า 29]
มีหลายทางที่เราทำได้เพื่อแสดงว่าเรายอมรับอำนาจของผู้บำรุงเลี้ยงที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง