บทสิบหก
กษัตริย์คู่แข่งใกล้ถึงจุดจบ
1, 2. กษัตริย์ทิศเหนือเปลี่ยนตัวไปอย่างไรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2?
อาเลกซี เดอ ตอกวีล นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมืองของสหรัฐและรัสเซียโดยเขียนไว้เมื่อปี 1835 ว่า “ฝ่ายหนึ่งมีเสรีภาพเป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติ; อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเสรีภาพ. . . . แนวทางของพวกเขาแตกต่างกัน กระนั้น แต่ละฝ่ายดูเหมือนถูกฟ้าลิขิตไว้ให้วันหนึ่งได้ควบคุมชะตากรรมของโลกครึ่งหนึ่ง.” การทำนายนี้แม่นยำเพียงไรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2? นักประวัติศาสตร์ เจ. เอ็ม. โรเบิตส์เขียนว่า “ที่จริง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ในที่สุดชะตากรรมของโลกดูเหมือนว่าคงจะถูกครอบงำโดยอำนาจใหญ่ที่แตกต่างกันมากสองระบบ ระบบหนึ่งอาศัยรากฐานจากสิ่งที่เคยเป็นรัสเซีย อีกระบบหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา.”
2 ระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เยอรมนีเคยเป็นศัตรูสำคัญของกษัตริย์ทิศใต้—มหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน—และเคยอยู่ในฐานะกษัตริย์ทิศเหนือ. แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศนี้ถูกแบ่งแยก. เยอรมนีตะวันตกกลายเป็นพันธมิตรของกษัตริย์ทิศใต้ และเยอรมนีตะวันออกอยู่ฝ่ายอำนาจทางการเมืองอีกขั้วหนึ่ง คือกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียต. กลุ่มประเทศ หรืออำนาจทางการเมืองนี้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ทิศเหนือ เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงกับฝ่ายพันธมิตรแองโกล-อเมริกัน. และความเป็นอริกันระหว่างกษัตริย์สององค์นี้กลายเป็นสงครามเย็นที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 1948 จนถึงปี 1989. ก่อนหน้านี้ เยอรมนีกษัตริย์ทิศเหนือเคยทำตัว “ต่อต้านสัญญาไมตรีอันบริสุทธิ์.” (ดานิเอล 11:28, 30, ล.ม.) กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์จะทำประการใดกับคำสัญญาไมตรีนี้?
คริสเตียนแท้สะดุดแต่มีชัย
3, 4. ใครคือคนที่ “กำลังทำการชั่วต่อสัญญาไมตรี” และพวกเขามีความสัมพันธ์อย่างไรกับกษัตริย์ทิศเหนือ?
3 ทูตสวรรค์ของพระเจ้ากล่าวว่า “ท่าน [กษัตริย์ทิศเหนือ] จะชักนำคนเหล่านั้นที่กำลังทำการชั่วต่อสัญญาไมตรีให้ออกหากโดยคำพูดหว่านล้อม.” ทูตสวรรค์กล่าวต่อไปว่า “แต่ส่วนประชาชนที่รู้จักพระเจ้าของตน พวกเขาจะมีชัยและปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ. และส่วนคนเหล่านั้นผู้ซึ่งมีความหยั่งเห็นเข้าใจท่ามกลางประชาชน พวกเขาจะทำให้คนเป็นอันมากมีความเข้าใจ. และพวกเขาจะถูกทำให้สะดุดล้มเป็นแน่ด้วยดาบและด้วยเปลวไฟ โดยการจับเป็นเชลยและโดยการปล้น เป็นเวลาหลายวัน.”—ดานิเอล 11:32, 33, ล.ม.
4 ผู้ที่ “กำลังทำการชั่วต่อสัญญาไมตรี” ต้องเป็นผู้นำของคริสต์ศาสนจักรแน่นอน ซึ่งอ้างว่าเป็นคริสเตียนแต่พวกเขาประพฤติอย่างที่เป็นการดูหมิ่นชื่อศาสนาคริสต์. วอลเตอร์ โคลาร์ซ กล่าวในหนังสือของเขาที่ชื่อศาสนาในสหภาพโซเวียต (ภาษาอังกฤษ) ว่า “[ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2] รัฐบาลโซเวียตพยายามจะขอความช่วยเหลือด้านวัตถุและด้านศีลธรรมจากคริสตจักรเพื่อการป้องกันมาตุภูมิ.” หลังสงครามนั้น ผู้นำคริสตจักรพยายามรักษามิตรภาพนั้นไว้ ทั้ง ๆ ที่อำนาจที่เป็นกษัตริย์ทิศเหนือตอนนี้มีนโยบายแบบอเทวนิยม. ด้วยเหตุนี้ คริสต์ศาสนจักรกลายเป็นส่วนของโลกนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา—เป็นการออกหากที่น่าสะอิดสะเอียนในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.—โยฮัน 17:16; ยาโกโบ 4:4.
5, 6. ใครคือ “ประชาชนที่รู้จักพระเจ้าของตน” และสภาพการณ์ของพวกเขาเป็นอย่างไรภายใต้กษัตริย์ทิศเหนือ?
5 แล้วคริสเตียนแท้—หรือ “ประชาชนที่รู้จักพระเจ้าของตน” และ “คนเหล่านั้นผู้ซึ่งมีความหยั่งเห็นเข้าใจ” ล่ะ? แม้ว่าพวกเขา “อยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า” อย่างเหมาะสม คริสเตียนที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ทิศเหนือไม่ได้เป็นส่วนของโลกนี้. (โรม 13:1, ล.ม.; โยฮัน 18:36) พวกเขาเอาใจใส่ต่อการจ่าย “ของของซีซาร์คืนแก่ซีซาร์” และเช่นกันเขาได้ถวาย “ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า” ด้วย. (มัดธาย 22:21, ล.ม.) เนื่องจากเหตุนี้ ความซื่อสัตย์มั่นคงของพวกเขาจึงถูกท้าทาย.—2 ติโมเธียว 3:12.
6 ผลคือคริสเตียนแท้ทั้ง “สะดุดล้มลง” และ “มีชัย.” พวกเขาสะดุดล้มในแง่ที่ว่า พวกเขาถูกข่มเหงอย่างแสนสาหัส บางคนถึงกับถูกฆ่า. แต่พวกเขามีชัยในแง่ที่ว่า พวกเขาส่วนใหญ่ได้รักษาความซื่อสัตย์ไว้. พวกเขาชนะโลกเหมือนพระเยซู. (โยฮัน 16:33) ยิ่งกว่านั้น พวกเขาไม่เคยเลิกประกาศ แม้ว่าพวกเขาจะต้องอยู่ในคุกหรือในค่ายกักกัน. เมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขา “ทำให้คนเป็นอันมากมีความเข้าใจ.” ทั้ง ๆ ที่มีการข่มเหงในดินแดนส่วนใหญ่ที่ปกครองโดยกษัตริย์ทิศเหนือ จำนวนของพยานพระยะโฮวาเพิ่มขึ้น. เนื่องจากความซื่อสัตย์ของ “คนเหล่านั้นผู้ซึ่งมีความหยั่งเห็นเข้าใจ” “ชนฝูงใหญ่” ที่แผ่ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงปรากฏขึ้นในดินแดนเหล่านั้น.—วิวรณ์ 7:9-14, ล.ม.
ไพร่พลของพระยะโฮวาถูกถลุง
7. ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งอยู่ภายใต้กษัตริย์ทิศเหนือได้รับ “การช่วยเหลือเล็กน้อย” อะไร?
7 ทูตสวรรค์กล่าวว่า “เมื่อพวกเขา [ไพร่พลของพระเจ้า] ถูกทำให้สะดุดล้มพวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือเล็กน้อย.” (ดานิเอล 11:34ก, ล.ม.) ชัยชนะของกษัตริย์ทิศใต้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังผลให้มีการบรรเทาอยู่บ้างสำหรับคริสเตียนที่อยู่ภายใต้กษัตริย์คู่ปรับ. (เทียบกับวิวรณ์ 12:15, 16.) คล้ายกัน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหงโดยกษัตริย์ผู้สืบตำแหน่งได้รับการบรรเทาเป็นครั้งคราว. ขณะที่สงครามเย็นกำลังจะยุติลง ผู้นำหลายคนมาตระหนักว่า คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามและจึงให้การรับรองตามกฎหมาย. นอกจากนี้ ความช่วยเหลือมาจากชนฝูงใหญ่ที่กำลังทวีจำนวนขึ้น ผู้ซึ่งตอบรับการประกาศอย่างซื่อสัตย์ของชนผู้ถูกเจิมและได้ช่วยเหลือพวกเขา.—มัดธาย 25:34-40.
8. บางคนได้ร่วมสมทบกับไพร่พลของพระเจ้า “โดยคำพูดหว่านล้อม” อย่างไร?
8 ไม่ใช่ทุกคนที่อ้างว่ามีความสนใจในการรับใช้พระเจ้าระหว่างช่วงสงครามเย็นมีแรงจูงใจที่ดี. ทูตสวรรค์ได้เตือนว่า “หลายคนจะเข้าร่วมกับพวกเขาเป็นแน่โดยคำพูดหว่านล้อม.” (ดานิเอล 11:34ข, ล.ม.) มีคนจำนวนไม่น้อยที่แสดงความสนใจในความจริงแต่ไม่ต้องการอุทิศตัวแด่พระเจ้า. กระนั้น คนอื่นที่ดูเหมือนว่าตอบรับข่าวดีแท้จริงเป็นสายลับของทางราชการ. รายงานจากประเทศหนึ่งบอกว่า “คนไร้คุณธรรมพวกนี้บางคนเป็นคอมมิวนิสต์โดยแท้ ซึ่งได้คืบคลานเข้ามาในองค์การขององค์พระผู้เป็นเจ้า ได้แสดงความมีใจแรงกล้าอย่างยิ่ง และถึงกับได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงในงานรับใช้.”
9. ทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์บางคน “สะดุดล้ม” เนื่องด้วยผู้แทรกซึม?
9 ทูตสวรรค์กล่าวต่อไปว่า “และเขาเหล่านั้นบางคนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะถูกทำให้สะดุดล้ม เพื่อจะทำงานถลุงอันเนื่องจากพวกเขาและเพื่อจะทำการชำระอีกทั้งทำให้ขาว จนกว่าเวลาอวสาน; เพราะการนั้นยังดำเนินไปตามเวลาที่กำหนด.” (ดานิเอล 11:35, ล.ม.) ผู้แทรกซึมเหล่านั้นเป็นเหตุให้ผู้ซื่อสัตย์บางคนตกอยู่ในเงื้อมมือของทางราชการ. พระยะโฮวาทรงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อถลุงและชำระไพร่พลของพระองค์. เหมือนกับที่พระเยซู “ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทนเอา” ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้เรียนรู้ที่จะอดทนจากการทดสอบความเชื่อของพวกเขาเช่นกัน. (เฮ็บราย 5:8, ล.ม.; ยาโกโบ 1:2, 3; เทียบกับมาลาคี 3:3.) พวกเขาจึงถูก ‘ถลุง, ชำระ, อีกทั้งทำให้ขาว.’
10. ถ้อยคำที่ว่า “จนกว่าเวลาอวสาน” หมายความว่าอะไร?
10 ไพร่พลของพระยะโฮวาจะต้องประสบกับการสะดุดล้มและการถลุง “จนกว่าเวลาอวสาน.” แน่นอน พวกเขาคาดหมายว่าจะถูกข่มเหงจนกว่าจะถึงจุดจบของระบบชั่วนี้. อย่างไรก็ตาม การชำระไพร่พลของพระเจ้า ซึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงของกษัตริย์ทิศเหนือจะ “ดำเนินไปตามเวลาที่กำหนด.” ด้วยเหตุนี้ ที่ดานิเอล 11:35 “เวลาอวสาน” ต้องพาดพิงถึงตอนจบของช่วงเวลาที่ไพร่พลของพระเจ้าจำเป็นต้องถูกถลุงขณะที่อดทนการโจมตีของกษัตริย์ทิศเหนือ. ดูเหมือนว่าการสะดุดล้มได้สิ้นสุดลงในเวลาที่กำหนดโดยพระยะโฮวา.
กษัตริย์ยกตน
11. ทูตสวรรค์กล่าวอะไรเกี่ยวกับทัศนะของกษัตริย์ทิศเหนือที่มีต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา?
11 ทูตสวรรค์กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกษัตริย์ทิศเหนือว่า “กษัตริย์จะทำตามใจท่านเองอย่างแท้จริง และท่านจะเชิดชูตัวเองและยกตนเหนือพระทุกองค์; และ [โดยที่ไม่ยอมรับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา] ท่านจะพูดสิ่งประหลาดต่อสู้พระเจ้าแห่งพระทั้งหลาย. และท่านจะประสบผลสำเร็จเป็นแน่จนกว่าการกล่าวโทษจะเสร็จสิ้น; เพราะสิ่งที่ตัดสินใจไว้แล้วนั้นจะต้องทำให้สำเร็จ. และท่านจะไม่คำนึงถึงพระเจ้าของเหล่าบิดาของท่าน; และท่านจะไม่คำนึงถึงความปรารถนาของเหล่าสตรีและพระอื่นใด แต่ท่านจะยกตนเหนือทุกคน.”—ดานิเอล 11:36, 37, ล.ม.
12, 13. (ก) กษัตริย์ทิศเหนือปฏิเสธ “พระเจ้าของเหล่าบิดาของท่าน” ในทางใด? (ข) ใครคือ “เหล่าสตรี” ที่กษัตริย์ทิศเหนือไม่คำนึงถึง “ความปรารถนา” ของพวกนาง? (ค) “พระ” องค์ไหนที่กษัตริย์ทิศเหนือให้เกียรติ?
12 สมจริงตามคำพยากรณ์นี้ กษัตริย์ทิศเหนือปฏิเสธ “พระเจ้าของเหล่าบิดาของท่าน” เช่น พระตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนจักร. กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ส่งเสริมลัทธิอเทวนิยมอย่างโจ่งแจ้ง. ดังนั้น กษัตริย์ทิศเหนือทำตัวเป็นพระเจ้า หรือ “ยกตนเหนือทุกคน.” โดยไม่คำนึงถึง “ความปรารถนาของเหล่าสตรี” ซึ่งก็คือประเทศที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของท่าน ซึ่งทำหน้าที่ประหนึ่งหญิงรับใช้แห่งระบอบการปกครองของท่าน เช่น เวียดนามเหนือ—กษัตริย์ปฏิบัติ “ตามใจท่านเอง.”
13 ทูตสวรรค์กล่าวพยากรณ์ต่อไปว่า “ในตำแหน่งของท่าน ท่านจะให้เกียรติพระแห่งป้อมปราการ; และท่านจะถวายเกียรติแด่พระที่เหล่าบิดาของท่านไม่รู้จักด้วยทองคำและด้วยเงินและด้วยอัญมณีและด้วยสิ่งน่าปรารถนาต่าง ๆ.” (ดานิเอล 11:38, ล.ม.) ที่จริง กษัตริย์ทิศเหนือวางใจในแสนยนิยมสมัยใหม่ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ คือ “พระแห่งป้อมปราการ.” ท่านแสวงหาความรอดผ่านทาง “พระ” นี้ โดยถวายทรัพยากรมหาศาลบนแท่นบูชาของพระนี้.
14. กษัตริย์ทิศเหนือ “ทำการอย่างบังเกิดผล” อย่างไร?
14 “ร่วมกับพระต่างประเทศ ท่านจะทำการอย่างบังเกิดผลต่อที่มั่นที่แข็งแกร่งที่สุด. ผู้ใดก็ตามที่ยอมรับท่าน ท่านจะทำให้มีเกียรติมากมาย และท่านจะตั้งพวกเขาให้ปกครองท่ามกลางคนเป็นอันมากเป็นแน่; และท่านจะแบ่งสรรแผ่นดินโดยเรียกค่าตอบแทน.” (ดานิเอล 11:39, ล.ม.) โดยวางใจใน “พระต่างประเทศ” แห่งแสนยานุภาพของตน กษัตริย์ทิศเหนือได้ทำอย่าง “บังเกิดผล” ที่สุด คือปรากฏว่าเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันน่าเกรงขามใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) คนที่สนับสนุนอุดมการณ์ของท่านได้รับรางวัลเป็นการสนับสนุนทางการเมือง, การเงิน, และบางครั้งทางการทหาร.
การ “ผลักดัน” ในเวลาอวสาน
15. กษัตริย์ทิศใต้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกษัตริย์ทิศเหนืออันเป็นการ “ผลักดัน” โดยวิธีใด?
15 ทูตสวรรค์บอกดานิเอลว่า “ในเวลาอวสานกษัตริย์ทิศใต้จะเป็นฝ่ายเข้าผลักดันกับท่าน.” (ดานิเอล 11:40ก, ล.ม.) กษัตริย์ทิศใต้ได้ “ผลักดัน” กษัตริย์ทิศเหนือใน “เวลาอวสาน” ไหม? (ดานิเอล 12:4, 9) ใช่ แน่นอน. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อลงโทษกษัตริย์ทิศเหนือในตอนนั้น—คือเยอรมนี—นั่นเป็นการ “ผลักดัน” อย่างแน่นอน คือเป็นการกระตุ้นให้มีการแก้แค้น. หลังจากได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ทิศใต้เล็งอาวุธนิวเคลียร์อันน่ากลัวไปที่คู่ปรับของตนและจัดตั้งพันธมิตรทางทหารที่มีกำลังเข้มแข็งต่อต้านกษัตริย์ทิศเหนือ ซึ่งก็คือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้). นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวเกี่ยวกับหน้าที่ขององค์การนาโต้ว่า “องค์การนี้เป็นเครื่องมือสำหรับ ‘การสกัดกั้น’ สหภาพโซเวียต ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นผู้คุกคามที่สำคัญต่อสันติภาพในยุโรป. ภาระกิจขององค์การนี้ยาวนานถึง 40 ปี และประสบความสำเร็จอย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ.” ขณะที่ช่วงเวลาหลายปีแห่งสงครามเย็นผ่านไป การ “ผลักดัน” โดยกษัตริย์ทิศใต้รวมไปถึงการจารกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและการโจมตีทางการทูตและทางการทหาร.
16. กษัตริย์ทิศเหนือแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการผลักดันของกษัตริย์ทิศใต้?
16 กษัตริย์ทิศเหนือแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? “กษัตริย์ทิศเหนือจะบุกโจมตีท่านด้วยรถรบและพลม้าและด้วยเรือมากมาย; และท่านจะเข้าไปในแผ่นดินต่าง ๆ เป็นแน่ และไหลท่วมและผ่านไป.” (ดานิเอล 11:40ข, ล.ม.) ประวัติศาสตร์ของสมัยสุดท้ายแสดงให้เห็นการขยายอาณาเขตของกษัตริย์ทิศเหนือ. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 “กษัตริย์” นาซีไหลท่วมผ่านพรมแดนของท่านไปยังดินแดนที่อยู่ล้อมรอบ. ในตอนจบของสงครามนั้น “กษัตริย์” ที่สืบตำแหน่งได้สร้างจักรวรรดิอันเข้มแข็ง. ระหว่างช่วงสงครามเย็น กษัตริย์ทิศเหนือสู้กับคู่ปรับของตนในสงครามที่ใช้ตัวแทนรบกันและก่อการจลาจลในแอฟริกา, เอเชีย, และลาตินอเมริกา. ท่านข่มเหงคริสเตียนแท้ ถ่วงกิจกรรมของพวกเขาไว้ แต่ไม่อาจหยุดกิจกรรมนั้นได้. และการโจมตีทางทหารและทางการเมืองทำให้หลายดินแดนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของท่าน. นี่เป็นสิ่งที่ทูตสวรรค์ได้พยากรณ์ไว้อย่างแม่นยำว่า “ท่านจะถึงกับเข้าไปในแผ่นดินแห่งสิ่งประดับ [สภาพฝ่ายวิญญาณของไพร่พลของพระยะโฮวา] ด้วย และจะมีหลาย ดินแดน ซึ่งจะถูกทำให้สะดุดล้ม.”—ดานิเอล 11:41ก, ล.ม.
17. การขยายอาณาเขตของกษัตริย์ทิศเหนือมีขีดจำกัดอะไร?
17 แต่กระนั้น กษัตริย์ทิศเหนือพิชิตโลกไม่สำเร็จ. ทูตสวรรค์บอกล่วงหน้าว่า “ดินแดนเหล่านี้คือดินแดนซึ่งจะหนีพ้นเงื้อมมือของท่าน คือเอโดมกับโมอาบอีกทั้งลูกหลานส่วนใหญ่ของอัมโมน.” (ดานิเอล 11:41ข, ล.ม.) ในสมัยโบราณ เอโดม, โมอาบ, และอัมโมนอยู่ระหว่างอาณาเขตของกษัตริย์ทิศใต้แห่งอียิปต์และกษัตริย์ทิศเหนือแห่งซีเรีย. ในสมัยปัจจุบัน พวกเขาหมายถึงชาติและองค์การต่าง ๆ ที่กษัตริย์ทิศเหนือมุ่งมั่นจะเอาแต่ไม่สามารถนำเข้ามาอยู่ใต้อิทธิพลของท่านได้.
อียิปต์หนีไม่พ้น
18, 19. กษัตริย์ทิศใต้รู้สึกถึงอิทธิพลของคู่ปรับของตนในทางใด?
18 ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวากล่าวต่อไปว่า “ท่าน [กษัตริย์ทิศเหนือ] จะยื่นมือของท่านออกต่อสู้ดินแดนต่าง ๆ ต่อไป; และส่วนแผ่นดินอียิปต์ ปรากฏว่าจะหนีไม่พ้น. และท่านจะถึงกับครอบครองเหนือทรัพย์สมบัติที่ซ่อนไว้ซึ่งเป็นทองคำและเงินและเหนือสิ่งน่าปรารถนาทั้งปวงของอียิปต์. และชาวลิเบียกับชาวเอธิโอเปียจะก้าวตามท่านไปติด ๆ.” (ดานิเอล 11:42, 43, ล.ม.) แม้แต่กษัตริย์ทิศใต้ คือ “อียิปต์” ก็ไม่รอดพ้นจากผลกระทบของนโยบายขยายอาณาเขตของกษัตริย์ทิศเหนือ. ยกตัวอย่าง กษัตริย์ทิศใต้ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในเวียดนาม. แล้ว “ชาวลิเบียกับชาวเอธิโอเปีย” ล่ะ? ประเทศเพื่อนบ้านของอียิปต์โบราณเหล่านี้อาจเป็นภาพล่วงหน้าของชาติต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านทางภูมิศาสตร์ของ “อียิปต์” สมัยใหม่ (กษัตริย์ทิศใต้) ได้เป็นอย่างดี. บางครั้ง พวกเขาเป็นผู้ติดตามกษัตริย์ทิศเหนือ—หรือ ‘ก้าวตามท่านไปติด ๆ.’
19 กษัตริย์ทิศเหนือปกครอง ‘ทรัพย์สมบัติที่ซ่อนไว้ของอียิปต์’ ไหม? แท้จริงท่านมีอิทธิพลอย่างมากในวิธีที่กษัตริย์ทิศใต้ใช้ทรัพยากรทางการเงินของท่าน. เนื่องจากเกรงกลัวคู่ปรับของตน กษัตริย์ทิศใต้จึงได้ใช้ทรัพย์จำนวนมากรักษากองทัพบก, กองทัพเรือ, และกองทัพอากาศที่น่าเกรงขามไว้. ในแง่นี้ กษัตริย์ทิศเหนือได้ “ครอบครองเหนือ” หรือควบคุมการใช้จ่ายทรัพยากรของกษัตริย์ทิศใต้.
การรบครั้งสุดท้าย
20. ทูตสวรรค์พรรณนาการรบครั้งสุดท้ายของกษัตริย์ทิศเหนือไว้อย่างไร?
20 การเป็นปรปักษ์กันระหว่างกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้—ไม่ว่าจะเป็นทางทหาร, ทางเศรษฐกิจ, หรือในทางอื่น ๆ —กำลังใกล้จะถึงอวสาน. ทูตสวรรค์เปิดเผยรายละเอียดของการต่อสู้ที่กำลังจะมาถึงดังนี้: “จะมีรายงานซึ่งจะทำให้ท่าน [กษัตริย์ทิศเหนือ] ตื่นตระหนก มาจากทางตะวันออกและจากทิศเหนือ และท่านจะออกไปด้วยความพิโรธกล้าเป็นแน่เพื่อจะทำลายล้างและเพื่อมอบคนเป็นอันมากแก่ความพินาศ. และท่านจะตั้งพลับพลาอันโอ่อ่าของท่านระหว่างทะเลใหญ่กับภูเขาอันบริสุทธิ์แห่งสิ่งประดับ; และท่านจะต้องมาจนถึงจุดจบของท่านทีเดียว และจะไม่มีผู้ช่วยท่าน.”—ดานิเอล 11:44, 45, ล.ม.
21. เรายังไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับกษัตริย์ทิศเหนือ?
21 พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเดือนธันวาคม 1991 กษัตริย์ทิศเหนือประสบกับการถดถอยอย่างหนัก. ใครจะเป็นกษัตริย์ทิศเหนือเมื่อดานิเอล 11:44, 45 สำเร็จเป็นจริง? ท่านจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยเป็นส่วนของอดีตสหภาพโซเวียตไหม? หรือท่านจะเปลี่ยนตัวไปอย่างสิ้นเชิง ดังที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว? การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยชาติอื่น ๆ จะยังผลให้มีการแข่งขันทางอำนาจกันใหม่และจะกระทบไปถึงตัวของกษัตริย์องค์นั้นด้วยไหม? เวลาเท่านั้นที่จะตอบได้. นับว่าฉลาดที่พวกเราจะไม่คาดการณ์ล่วงหน้า. เมื่อกษัตริย์ทิศเหนือเข้าสู่การรบครั้งสุดท้าย ทุกคนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจะเห็นความสำเร็จสมจริงของคำพยากรณ์นี้ได้อย่างชัดเจน.—ดู “กษัตริย์ต่าง ๆ ในดานิเอลบท 11” ในหน้า 284.
22. เกิดคำถามอะไรเกี่ยวกับการโจมตีครั้งสุดท้ายโดยกษัตริย์ทิศเหนือ?
22 อย่างไรก็ตาม เราทราบว่ากษัตริย์ทิศเหนือจะดำเนินการอะไรในไม่ช้า. โดยที่ถูกกระตุ้นจากรายงาน “จากทางตะวันออกและจากทิศเหนือ” ท่านจะทำการสงคราม ‘เพื่อคนเป็นอันมากจะพินาศ.’ การสงครามครั้งนี้จะทำกับใคร? และ “รายงาน” อะไรที่กระตุ้นให้เกิดการโจมตีเช่นนี้?
ตกใจกลัวเพราะรายงานที่ทำให้ตื่นตระหนก
23. (ก) เหตุการณ์อันโดดเด่นอะไรจะต้องเกิดขึ้นก่อนอาร์มาเก็ดดอน? (ข) ใครคือ “กษัตริย์เหล่านั้นจากตะวันออก.”?
23 ขอพิจารณาสิ่งที่พระธรรมวิวรณ์กล่าวเกี่ยวกับจุดจบของบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. ก่อน “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” คืออาร์มาเก็ดดอน ศัตรูตัวสำคัญของการนมัสการแท้ “จะถูกเผาจนสิ้นด้วยไฟ.” (วิวรณ์ 16:14, 16, ล.ม.; 18:2-8, ล.ม.) ความพินาศของเมืองนี้มีการให้ภาพล่วงหน้าด้วยการเทขันใบที่หกแห่งพระพิโรธของพระเจ้าบนแม่น้ำยูเฟรทิสโดยนัย. แม่น้ำนี้แห้งไปเพื่อว่า “ทางจะถูกเตรียมไว้สำหรับกษัตริย์เหล่านั้นจากตะวันออก.” (วิวรณ์ 16:12, ล.ม.) ใครคือกษัตริย์เหล่านี้? ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์!—เทียบกับยะซายา 41:2; 46:10, 11.
24. กิจการอะไรของพระยะโฮวาอาจทำให้กษัตริย์ทิศเหนือตื่นตระหนก?
24 การทำลายบาบูโลนใหญ่ได้รับการพรรณนาอย่างชัดเจนในพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งบอกว่า “เขาสิบเขาที่ท่านได้เห็นนั้น [กษัตริย์ต่าง ๆ ที่ปกครองในเวลาอวสาน] และสัตว์ร้ายนั้น [องค์การสหประชาชาติ] เหล่านี้จะเกลียดชังหญิงแพศยานั้นและจะทำให้นางถูกล้างผลาญและเปลือยกายและจะกินเนื้อของนางและเผานางจนสิ้นด้วยไฟ.” (วิวรณ์ 17:16, ล.ม.) ทำไมผู้ปกครองต่าง ๆ จึงทำลายบาบูโลนใหญ่? ก็เพราะว่า “พระเจ้าได้ทรงใส่ความคิดไว้ในหัวใจพวกเขาให้ทำตามความคิดของพระองค์.” (วิวรณ์ 17:17, ล.ม.) ในบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นก็มีกษัตริย์ทิศเหนือรวมอยู่ด้วย. สิ่งที่ท่านได้ยิน “จากทางตะวันออก” อาจพาดพิงถึงกิจการนี้ของพระยะโฮวา เมื่อพระองค์ทรงบันดาลใจพวกผู้นำที่เป็นมนุษย์ให้ทำลายแพศยาตัวสำคัญทางศาสนาให้สิ้นสูญ.
25. (ก) กษัตริย์ทิศเหนือมีเป้าหมายพิเศษอะไร? (ข) กษัตริย์ทิศเหนือ “ตั้งพลับพลาอันโอ่อ่าของท่าน” ที่ไหน?
25 แต่ความโกรธแค้นของกษัตริย์ทิศเหนือยังพุ่งตรงไปยังเป้าหมายพิเศษอีกเป้าหนึ่ง. ทูตสวรรค์กล่าวว่าท่านจะ “ตั้งพลับพลาอันโอ่อ่าของท่านระหว่างทะเลใหญ่กับภูเขาอันบริสุทธิ์แห่งสิ่งประดับ.” ในสมัยของดานิเอล ทะเลใหญ่คือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและภูเขาบริสุทธิ์คือภูเขาซีโอน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระวิหารของพระเจ้า. ดังนั้น เมื่อคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริง กษัตริย์ทิศเหนือผู้โกรธแค้นจะทำสงครามต่อต้านไพร่พลของพระเจ้า. ในความหมายฝ่ายวิญญาณ บริเวณ “ระหว่างทะเลใหญ่และภูเขาอันบริสุทธิ์” เป็นภาพเล็งถึงดินแดนฝ่ายวิญญาณของผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระยะโฮวา. พวกเขาได้ออกมาจาก “ทะเล” แห่งมนุษยชาติที่เหินห่างจากพระเจ้าและมีความหวังที่จะปกครองบนภูเขาซีโอนฝ่ายสวรรค์กับพระเยซูคริสต์.—ยะซายา 57:20; เฮ็บราย 12:22; วิวรณ์ 14:1.
26. ดังที่ระบุในคำพยากรณ์ของยะเอศเคล ต้นตอของข่าว “จากทิศเหนือ” อาจมาจากแหล่งใด?
26 ยะเอศเคลผู้ซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกับดานิเอลก็เช่นกันได้พยากรณ์ถึงการโจมตีไพร่พลของพระเจ้า “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัย.” ท่านกล่าวว่าความเป็นปฏิปักษ์จะเริ่มจากโกกแห่งมาโกก นั่นก็คือโดยซาตานพญามาร. (ยะเอศเคล 38:14, 16, ล.ม.) โดยอุปมาแล้ว โกกมาจากทิศทางใด? พระยะโฮวาทรงตรัสผ่านทางยะเอศเคลว่า “จากส่วนไกลสุดของทิศเหนือ.” (ยะเอศเคล 38:15, ล.ม.) แต่ไม่ว่าการโจมตีนี้จะรุนแรงสักเพียงไร มันจะไม่ทำลายไพร่พลของพระยะโฮวา. การปะทะที่น่าตื่นตะลึงนี้จะเป็นผลจากปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ในส่วนของพระยะโฮวาเพื่อบดขยี้กองกำลังของโกก. ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาตรัสแก่ซาตานว่า “แน่นอนเราจะ . . . เอาขอเกี่ยวขากรรไกรเจ้าและนำเจ้าออกมา.” “เราจะทำให้เจ้า . . . ขึ้นมาจากส่วนที่ไกลที่สุดแห่งทิศเหนือและนำเจ้ามาบนภูเขาแห่งยิศราเอล.” (ยะเอศเคล 38:4; 39:2, ล.ม.) ข่าว “จากทิศเหนือ” ที่ทำให้กษัตริย์ทิศเหนือโกรธแค้นจึงต้องมีต้นตอมาจากพระยะโฮวา. แต่ในที่สุดแล้ว รายงานที่ “มาจากทางตะวันออกและจากทิศเหนือ” จะเป็นเรื่องอะไรกันแน่ พระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินและเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้.
27. (ก) ทำไมโกกจึงกระตุ้นชาติต่าง ๆ รวมทั้งกษัตริย์ทิศเหนือ ให้โจมตีไพร่พลของพระยะโฮวา? (ข) การโจมตีของโกกจะมีผลเป็นอย่างไร?
27 ส่วนโกก มันจัดเตรียมการโจมตีอย่างเต็มกำลังเพราะว่าความเจริญรุ่งเรืองของ “พวกยิศราเอลของพระเจ้า” ซึ่งพวกเขาพร้อมกับ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ไม่ได้เป็นส่วนของโลกของโกกอีกต่อไป. (ฆะลาเตีย 6:16; วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16; 17:15, 16; 1 โยฮัน 5:19) โกกมองอย่างเหยียดหยามไปที่ “ชนชาติที่ถูกรวบรวมจากชาติทั้งหลาย ชนชาติซึ่งสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติ [ฝ่ายวิญญาณ].” (ยะเอศเคล 38:12, ล.ม.) โดยที่ถือว่าดินแดนฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนเป็นดัง “แผ่นดิน, อันมีแต่บ้านเล็กน้อย” ซึ่งเหมาะแก่การยึดครอง โกกจึงออกความพยายามอย่างหนักที่จะกวาดล้างสิ่งนี้ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการที่ตนจะควบคุมมนุษยชาติทั้งสิ้น. แต่มันล้มเหลว. (ยะเอศเคล 38:11, 18; 39:4) เมื่อกษัตริย์ต่าง ๆ แห่งแผ่นดินโลก รวมทั้งกษัตริย์ทิศเหนือ โจมตีไพร่พลของพระยะโฮวา กษัตริย์ต่าง ๆ จะ ‘มาจนถึงจุดจบของพวกเขาทีเดียว.’
‘กษัตริย์จะมาถึงจุดจบของท่าน’
28. เรารู้อะไรเกี่ยวกับอนาคตของกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้?
28 การรบครั้งสุดท้ายของกษัตริย์ทิศเหนือไม่ได้เป็นการต่อสู้กับกษัตริย์ทิศใต้. ดังนั้น กษัตริย์ทิศเหนือไม่ได้ถึงจุดจบโดยคู่ปรับคนสำคัญของท่าน. ทำนองเดียวกัน กษัตริย์ทิศใต้จะไม่ถูกทำลายโดยกษัตริย์ทิศเหนือ. กษัตริย์ทิศใต้ถูกทำลาย “ไม่ใช่ด้วยมือ [มนุษย์]” แต่โดยราชอาณาจักรของพระเจ้า.a (ดานิเอล 8:25, ล.ม.) ที่จริง ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน กษัตริย์ทางแผ่นดินโลกทุกองค์จะต้องถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยราชอาณาจักรของพระเจ้า และสิ่งนี้ปรากฏว่าจะเกิดขึ้นกับกษัตริย์ทิศเหนือ. (ดานิเอล 2:44) ดานิเอล 11:44, 45 พรรณนาเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสู้รบครั้งสุดท้ายนั้น. ไม่แปลก “จะไม่มีผู้ช่วย” เมื่อกษัตริย์ทิศเหนือพบกับจุดจบ!
[เชิงอรรถ]
a ดูบท 10 ของหนังสือนี้.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• กษัตริย์ทิศเหนือเปลี่ยนตัวไปอย่างไรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2?
• ในที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้?
• คุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากการเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอลเกี่ยวกับการเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างกษัตริย์สององค์นี้?
[ตารางแผนภูมิหน้า 284]
กษัตริย์ต่าง ๆ ในดานิเอลบท 11
กษัตริย์ทิศเหนือ กษัตริย์ทิศใต้
ดานิเอล 11:5 เซเลอคุสที่ 1 นิคาเตอร์ ปโตเลมีที่ 1
ดานิเอล 11:6 อันทิโอกุสที่ 2 ปโตเลมีที่ 2
(ภรรยาคือลาโอดิซี) (บุตรสาวคือเบเรนิซี)
ดานิเอล 11:7-9 เซเลอคุสที่ 2 ปโตเลมีที่ 3
ดานิเอล 11:10-12 อันทิโอกุสที่ 3 ปโตเลมีที่ 4
ดานิเอล 11:13-19 อันทิโอกุสที่ 3 ปโตเลมีที่ 5
(บุตรสาวคือคลีโอพัตราที่ 1) ผู้สืบตำแหน่ง: ปโตเลมีที่ 6
ผู้สืบตำแหน่ง:
เซเลอคุสที่ 4
และอันทิโอกุสที่ 4
ดานิเอล 11:20 เอากุสตุส
ดานิเอล 11:21-24 ติเบริอุส
ดานิเอล 11:27-30ก จักรวรรดิเยอรมัน บริเตน ตามด้วย
(สงครามโลกครั้งที่ 1) มหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน
ดานิเอล 11:30ข, 31 จักรวรรดิไรช์ที่สามของ มหาอำนาจโลก
ฮิตเลอร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2) แองโกล-อเมริกัน
ดานิเอล 11:32-43 กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจโลก
(สงครามเย็น) แองโกล-อเมริกัน
ดานิเอล 11:44, 45 ยังไม่ปรากฏb มหาอำนาจ
โลกแองโกล-อเมริกัน
[เชิงอรรถ]
b คำพยากรณ์ในดานิเอลบท 11 ไม่ได้บอกล่วงหน้าถึงชื่อของอำนาจทางการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งกษัตริย์ทิศเหนือและกษัตริย์ทิศใต้ในยุคสมัยต่าง ๆ. เราจะรู้ว่าพวกเขาเป็นใครก็ต่อเมื่อหลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มอุบัติขึ้นแล้ว. ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากการต่อสู้เกิดขึ้นเป็นช่วง จึงมีช่วงพักที่ไม่มีการต่อสู้กัน—กษัตริย์องค์หนึ่งมีอิทธิพลขึ้นขณะที่อีกองค์หนึ่งหยุดนิ่งไป.
[ภาพเต็มหน้า 271]
[รูปภาพหน้า 279]
การ “ผลักดัน” โดยกษัตริย์ทิศใต้ได้รวมไปถึงการจารกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและการคุกคามโดยปฏิบัติการทางทหาร