แกะฝูงเดียว ผู้เลี้ยงผู้เดียว
“พวกเจ้าที่ติดตามเราก็จะนั่งบนบัลลังก์สิบสองบัลลังก์ พิพากษาอิสราเอลสิบสองตระกูล.”—มัด. 19:28
1. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างไรต่อลูกหลานของอับราฮาม และเหตุใดนี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่สนพระทัยชนชาติอื่นเลย?
พระยะโฮวาทรงรักอับราฮาม และพระองค์ทรงแสดงความรักภักดีต่อลูกหลานของท่านด้วย. เป็นเวลามากกว่า 1,500 ปี พระองค์ทรงมองชนชาติอิสราเอล ซึ่งเป็นลูกหลานของอับราฮาม ว่าเป็นประชาชนที่พระองค์ทรงเลือกและเป็น “คนในความปกครองของพระองค์โดยตรง.” (อ่านพระบัญญัติ 7:6) นี่หมายความไหมว่าพระยะโฮวาไม่สนพระทัยชนชาติอื่นเลย? ไม่เลย. ในช่วงเวลานั้น คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลซึ่งปรารถนาจะนมัสการพระยะโฮวาได้รับอนุญาตให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชนชาติพิเศษของพระองค์. ผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของชาตินั้น. พวกเขาได้รับการปฏิบัติในฐานะพี่น้อง. (เลวี. 19:33, 34) และพวกเขาถูกคาดหมายให้เชื่อฟังพระบัญญัติทุกข้อของพระยะโฮวา.—เลวี. 24:22
2. พระเยซูทรงประกาศเรื่องที่น่าตกใจอะไร และนั่นทำให้เกิดคำถามอะไร?
2 อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงประกาศเรื่องที่น่าตกใจแก่ชาวยิวในสมัยของพระองค์ว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกเอาไปจากพวกเจ้าแล้วมอบให้แก่ชนชาติหนึ่งซึ่งจะเกิดผลที่เหมาะสมกับราชอาณาจักร.” (มัด. 21:43) ใครจะประกอบกันเป็นชาติใหม่นี้ และพวกเราในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงนี้?
ชาติใหม่
3, 4. (ก) อัครสาวกเปโตรบอกอย่างไรว่าใครคือชาติใหม่นี้? (ข) ใครประกอบกันเป็นชาติใหม่นี้?
3 อัครสาวกเปโตรบอกอย่างชัดเจนว่าใครคือชาติใหม่นี้. ท่านเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนดังต่อไปนี้: “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อชาติที่ถูกเลือก เป็นปุโรหิตและเป็นกษัตริย์ เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อท่านทั้งหลายจะป่าวประกาศคุณความดี’ ของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เป. 2:9) ดังที่บอกไว้ล่วงหน้า ชาวยิวโดยกำเนิดที่ยอมรับพระเยซูในฐานะพระมาซีฮาเป็นสมาชิกกลุ่มแรกของชาติใหม่นั้น. (ดานิ. 9:27ก; มัด. 10:6) ต่อมา คนที่ไม่ใช่ชาวยิวหลายคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชาตินี้ด้วย เพราะเปโตรกล่าวต่อไปว่า “เมื่อก่อนท่านทั้งหลายไม่ได้เป็นชนชาติ แต่เดี๋ยวนี้เป็นชนชาติของพระเจ้า.”—1 เป. 2:10
4 เปโตรกำลังกล่าวถึงใคร? ในตอนต้นจดหมาย ท่านกล่าวว่า “[พระเจ้า] จึงทรงให้เราบังเกิดใหม่เพื่อให้มีความหวังที่มีชีวิตโดยทรงปลุกพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นจากตาย และได้รับทรัพย์สมบัติที่ไม่เน่าเปื่อย ไม่มีมลทิน และไม่ร่วงโรย. ทรัพย์สมบัตินั้นถูกเก็บไว้ในสวรรค์สำหรับพวกท่าน.” (1 เป. 1:3, 4) ดังนั้น ชาติใหม่นี้ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งมีความหวังจะอยู่ในสวรรค์. พวกเขาเป็น “อิสราเอลของพระเจ้า.” (กลา. 6:16) ในนิมิตหนึ่ง อัครสาวกโยฮันเห็นว่าชนอิสราเอลฝ่ายวิญญาณเหล่านี้มีจำนวน 144,000 คน. พวกเขา “ถูกซื้อจากท่ามกลางมนุษย์เป็นผลแรกเพื่อถวายแด่พระเจ้าและพระเมษโปดก” เพื่อรับใช้เป็น “ปุโรหิต” และ “ปกครองเป็นกษัตริย์กับพระคริสต์เป็นเวลาหนึ่งพันปี.”—วิ. 5:10; 7:4; 14:1, 4; 20:6; ยโก. 1:18
รวมคนอื่นด้วยไหม?
5. (ก) คำว่า “อิสราเอลของพระเจ้า” หมายถึงใคร? (ข) เหตุใดคำว่า “อิสราเอล” ไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวเสมอไป?
5 เห็นได้ชัดว่า วลี “อิสราเอลของพระเจ้า” ที่กาลาเทีย 6:16 หมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมโดยเฉพาะ. อย่างไรก็ตาม มีกรณีใดไหมที่พระยะโฮวาทรงใช้ชาติอิสราเอลเป็นภาพเล็งถึงคริสเตียนคนอื่น ๆ นอกเหนือจากชนผู้ถูกเจิม? เราสามารถพบคำตอบจากคำตรัสของพระเยซูที่ตรัสกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า “เราจะทำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรกับพวกเจ้าอย่างที่พระบิดาได้ทรงทำสัญญากับเรา เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้กินและดื่มที่โต๊ะของเราในราชอาณาจักรของเรา และนั่งบัลลังก์พิพากษาอิสราเอลสิบสองตระกูล.” (ลูกา 22:28-30) เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นระหว่าง “การสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นใหม่” ในรัชสมัยพันปีของพระคริสต์.—อ่านมัดธาย 19:28
6, 7. คำว่า “อิสราเอลสิบสองตระกูล” ตามที่กล่าวถึงในมัดธาย 19:28 และลูกา 22:30 หมายถึงใคร?
6 ชน 144,000 คนจะรับใช้เป็นกษัตริย์, ปุโรหิต, และผู้พิพากษาในสวรรค์ระหว่างรัชสมัยพันปี. (วิ. 20:4) พวกเขาจะพิพากษาใครและจะปกครองใคร? มัดธาย 19:28 และลูกา 22:30 บอกเราว่าพวกเขาจะพิพากษา “อิสราเอลสิบสองตระกูล.” “อิสราเอลสิบสองตระกูล” ในที่นี้หมายถึงใคร? พวกเขาเป็นตัวแทนของทุกคนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลก—คนที่มีความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูแต่ไม่ได้รวมอยู่ในชนชั้นปุโรหิตหลวง. (ตระกูลเลวีไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อของอิสราเอลโดยกำเนิด 12 ตระกูล.) อิสราเอล 12 ตระกูลในที่นี้คือคนที่จะได้รับประโยชน์ฝ่ายวิญญาณจากการรับใช้ในฐานะปุโรหิตของชน 144,000 คน. ผู้รับประโยชน์เหล่านี้ที่ไม่ใช่ปุโรหิตเป็นประชาชนของพระเจ้าด้วย และพระองค์ทรงรักและยอมรับพวกเขา. จึงนับว่าเหมาะที่พวกเขาถูกเปรียบเทียบว่าเป็นประชาชนของพระองค์ในสมัยโบราณ.
7 ดังนั้น เป็นเรื่องเหมาะเจาะที่อัครสาวกโยฮันเห็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งออกมา “จากทุกประเทศ” หลังจากที่ท่านเห็นชนอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ 144,000 คนกำลังถูกประทับตราอย่างถาวรก่อนความทุกข์ลำบากใหญ่. (วิ. 7:9) คนเหล่านี้จะรอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่เข้าสู่รัชสมัยพันปีของพระคริสต์. หลายพันล้านคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะสมทบกับพวกเขาที่นั่น. (โย. 5:28, 29; วิ. 20:13) คนเหล่านี้ทั้งหมดจะประกอบกันเป็น “อิสราเอลสิบสองตระกูล” ซึ่งจะถูกพิพากษาโดยพระเยซูและชน 144,000 คนที่ร่วมปกครองกับพระองค์.—กิจ. 17:31; 24:15; วิ. 20:12
8. เหตุการณ์ในวันไถ่โทษประจำปีเป็นภาพเล็งถึงความสัมพันธ์ระหว่างชน 144,000 คนกับมนุษยชาติที่เหลืออย่างไร?
8 เหตุการณ์ในวันไถ่โทษประจำปีเป็นภาพเล็งถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวระหว่างชน 144,000 คนกับมนุษยชาติที่เหลือ. (เลวี. 16:6-10) ก่อนอื่น มหาปุโรหิตต้องถวายโคเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปเพื่อ “ตัวเองและพวกของตน.” ด้วยเหตุนั้น เครื่องบูชาของพระเยซูจึงถูกนำมาใช้ในอันดับแรกกับครอบครัวแห่งรองปุโรหิตซึ่งจะรับใช้กับพระองค์ในสวรรค์. นอกจากนั้น ในวันไถ่โทษในสมัยโบราณมีการเตรียมแพะไว้สองตัวเพื่อรับบาปของชาวอิสราเอลคนอื่น ๆ. ในเรื่องนี้ ซึ่งตระกูลปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงชน 144,000 คน ชาวอิสราเอลที่เหลือเป็นภาพเล็งถึงทุกคนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลก. คำอธิบายนี้แสดงให้เห็นว่า “อิสราเอลสิบสองตระกูล” ที่กล่าวถึงในมัดธาย 19:28 ไม่ได้หมายถึงรองปุโรหิตของพระเยซูซึ่งกำเนิดด้วยพระวิญญาณ แต่หมายถึงคนอื่น ๆ ทั้งหมดที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู.a
9. ในนิมิตที่ยะเอศเคลเห็นเกี่ยวกับพระวิหาร ปุโรหิตหมายถึงใครและชาวอิสราเอลที่ไม่ใช่ปุโรหิตหมายถึงใคร?
9 ขอให้พิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่ง. ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลได้รับนิมิตที่มีรายละเอียดมากเกี่ยวกับพระวิหารของพระยะโฮวา. (ยเอศ. บท 40-48) ในนิมิตนั้น เหล่าปุโรหิตทำงานในพระวิหาร รับคำแนะนำและการแก้ไขจากพระยะโฮวาและสอนประชาชนด้วย. (ยเอศ. 44:23-31) ในฉากเหตุการณ์เดียวกันนี้ สมาชิกของตระกูลต่าง ๆ มานมัสการและถวายเครื่องบูชา. (ยเอศ. 45:16, 17) ดังนั้น ในบริบทนี้ปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงชนผู้ถูกเจิม ส่วนชาวอิสราเอลจากตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงคนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลก. นิมิตนี้เน้นว่าคนสองกลุ่มทำงานประสานกัน โดยที่ชนชั้นปุโรหิตนำหน้าในการนมัสการบริสุทธิ์.
10, 11. (ก) เราได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงตามคำตรัสอะไรของพระเยซูซึ่งเสริมความเชื่อของเรา? (ข) เกิดมีคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับแกะอื่น?
10 พระเยซูตรัสถึง “แกะอื่น” ซึ่งจะไม่ได้อยู่ใน “คอก” เดียวกับ “แกะฝูงน้อย” แห่งเหล่าสาวกผู้ถูกเจิม. (โย. 10:16; ลูกา 12:32) พระองค์ตรัสว่า “เราต้องพาแกะเหล่านั้นมาด้วยและแกะเหล่านั้นจะฟังเสียงเรา และแกะทั้งหมดจะรวมเป็นฝูงเดียว มีผู้เลี้ยงผู้เดียว.” ช่างเป็นเรื่องที่เสริมความเชื่อจริง ๆ ที่ได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำตรัสนี้! มีการรวมคนสองกลุ่มไว้ด้วยกัน คือกลุ่มเล็ก ๆ แห่งชนผู้ถูกเจิมกับชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่น. (อ่านซะคาระยา 8:23) แม้ว่าแกะอื่นไม่ได้รับใช้ในลานพระวิหารชั้นในของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ แต่พวกเขารับใช้ในลานพระวิหารชั้นนอกของพระวิหารนั้น.
11 แต่ถ้าในบางครั้งพระยะโฮวาทรงใช้สมาชิกของอิสราเอลโบราณที่ไม่ใช่ปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงแกะอื่นเหล่านี้ คนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกควรรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการประชุมอนุสรณ์ไหม? ต่อไปนี้เราจะพิจารณาคำตอบสำหรับคำถามนี้.
สัญญาใหม่
12. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงการจัดเตรียมใหม่อะไร?
12 พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับการจัดเตรียมใหม่สำหรับประชาชนของพระองค์ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ความสัญญาที่เราจะกระทำกับด้วยตระกูลแห่งยิศราเอลจะเป็นดังนี้ . . . เราจะใส่บทบัญญัติของเราไว้ ณ ภายในตัวเขาทั้งปวง, แลจะเขียนบทบัญญัตินั้นในใจเขา, แลเราจะเป็นพระเจ้าแก่เขาทั้งหลาย, แลเขาจะเป็นไพร่พลของเรา.” (ยิระ. 31:31-33) โดยอาศัยสัญญาใหม่นี้ คำสัญญาที่พระยะโฮวาประทานแก่อับราฮามจะต้องสำเร็จเป็นจริงอย่างรุ่งโรจน์และถาวร.—อ่านเยเนซิศ 22:18
13, 14. (ก) ใครเป็นผู้มีส่วนร่วมในสัญญาใหม่นี้? (ข) ใครคือผู้รับประโยชน์ และพวกเขา “ถือมั่น” ตามสัญญาใหม่นี้อย่างไร?
13 พระเยซูตรัสถึงสัญญาใหม่นี้ในคืนก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้วยนี้หมายถึงสัญญาใหม่ที่อาศัยโลหิตของเราซึ่งจะต้องไหลออกเพื่อเจ้าทั้งหลาย.” (ลูกา 22:20; 1 โค. 11:25) คริสเตียนทุกคนมีส่วนร่วมในสัญญาใหม่นี้ไหม? ไม่. บางคน เช่น เหล่าอัครสาวกที่ดื่มจากถ้วยดังกล่าวในคืนนั้น เป็นผู้มีส่วนร่วม ในสัญญาใหม่.b พระเยซูทรงทำสัญญาอีกอย่างหนึ่งกับพวกเขาเพื่อให้พวกเขาร่วมปกครองในราชอาณาจักรกับพระองค์. (ลูกา 22:28-30) พวกเขาจะอยู่กับพระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์.—ลูกา 22:15, 16
14 จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่จะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองของพระองค์? พวกเขาเป็นผู้รับประโยชน์ จากสัญญาใหม่. (กลา. 3:8, 9) แม้ว่าไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนร่วม แต่พวกเขา “ถือมั่น” ตามสัญญานี้ด้วยการยอมทำตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ดังที่ผู้พยากรณ์ยะซายาห์ได้บอกไว้ล่วงหน้าว่า “คนต่างชาติที่มาเข้าจารีตนับถือพระยะโฮวา, ปรนนิบัติพระองค์, รักพระนามของพระยะโฮวา, และรับใช้พระองค์, คือทุกคนที่ถือรักษาวันซะบาโตไว้ให้ปราศจากมลทิน, และถือมั่นตามสันถวไมตรีของเรานั้น, เราจะพาเขาทั้งหลายมายังภูเขาบริสุทธิ์ของเรา, และจะทำให้เขาชื่นบานในพลับพลาอธิษฐานของเรา.” แล้วพระยะโฮวาก็ตรัสว่า “เพราะว่าพลับพลาของเราจะถูกเรียกว่าเป็นพลับพลาสำหรับอธิษฐานของประชาชนทั้งหมด.”—ยซา. 56:6, 7
ใครควรรับประทาน?
15, 16. (ก) อัครสาวกเปาโลเชื่อมโยงให้เห็นว่าผู้มีส่วนร่วมในสัญญาใหม่จะได้รับสิทธิพิเศษอะไร? (ข) เหตุใดคนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกไม่ควรรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในวันอนุสรณ์?
15 คนเหล่านั้นที่มีส่วนร่วมในสัญญาใหม่ “มั่นใจว่าจะได้เข้าเฝ้าในสถานบริสุทธิ์.” (อ่านฮีบรู 10:15-20) พวกเขา “จะได้รับอาณาจักรซึ่งไม่อาจทำให้สั่นสะเทือนได้.” (ฮีบรู 12:28) ดังนั้นแล้ว เฉพาะคนที่จะเป็นกษัตริย์และปุโรหิตกับพระเยซูคริสต์ในสวรรค์ควรดื่มจาก “ถ้วย” ที่หมายถึงสัญญาใหม่. คนที่มีส่วนร่วมในสัญญาใหม่นี้คือคนที่หมั้นไว้แล้วกับพระเมษโปดก. (2 โค. 11:2; วิ. 21:2, 9) คนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ให้ความนับถือ ซึ่งไม่รับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์.
16 เปาโลยังช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่าคนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกจะไม่รับสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการประชุมอนุสรณ์. ท่านกล่าวกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “เพราะเมื่อใดก็ตามที่ท่านทั้งหลายกินขนมปังและดื่มจากถ้วยตามอย่างนี้ พวกท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา.” (1 โค. 11:26) องค์พระผู้เป็นเจ้า “เสด็จมา” เมื่อไร? เมื่อพระองค์ทรงมารับผู้ถูกเจิมคนสุดท้ายที่เป็นชนชั้นเจ้าสาวสู่บ้านของพวกเขาในสวรรค์. (โย. 14:2, 3) เห็นได้ชัด การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าปีละครั้งจะไม่ทำกันไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด. ผู้สืบเชื้อสายของผู้หญิง “ที่ยังเหลืออยู่” บนแผ่นดินโลกจะรับประทานอาหารมื้อนี้ต่อไปจนกระทั่งพวกเขาทั้งหมดได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์. (วิ. 12:17) แต่ถ้าคนที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกมีสิทธิ์จะรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์นั้น อาหารมื้ออนุสรณ์นี้ก็จำเป็นจะต้องดำเนินต่อ ๆ ไปไม่สิ้นสุด.
“เขาจะเป็นประชาชนของเรา”
17, 18. คำพยากรณ์ซึ่งบันทึกที่ยะเอศเคล 37:26, 27 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
17 พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับเอกภาพในหมู่ประชาชนของพระองค์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้: “เราจะกระทำพันธสัญญาสันติภาพกับเขา จะเป็นพันธสัญญานิรันดร์แก่เขา. และเราจะตั้งเขาไว้และให้เขาทวีขึ้น และเราจะวางสถานบริสุทธิ์ของเราไว้ท่ามกลางเขาเป็นนิตย์. พลับพลาของเราจะอยู่กับเขา เออ เราจะเป็นพระเจ้าของเขาและเขาจะเป็นประชาชนของเรา.”—ยเอศ. 37:26, 27, ฉบับแปลคิงเจมส์
18 ประชาชนของพระเจ้าทั้งหมดมีสิทธิพิเศษได้รับประโยชน์จากความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาที่ยอดเยี่ยมนี้ คือพันธสัญญาสันติภาพสำหรับคริสเตียน. พระยะโฮวาทรงรับประกันว่าผู้รับใช้ที่เชื่อฟังทุกคนจะมีสันติสุข. ผลพระวิญญาณของพระองค์ปรากฏชัดในหมู่พวกเขา. สถานบริสุทธิ์ของพระองค์ ซึ่งในที่นี้เป็นภาพเล็งถึงการนมัสการบริสุทธิ์ของคริสเตียน อยู่ท่ามกลางพวกเขา. พวกเขาได้กลายมาเป็นประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง เพราะพวกเขาได้ละทิ้งการไหว้รูปเคารพทุกรูปแบบและได้ทำให้พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่พวกเขานมัสการ.
19, 20. คนที่พระยะโฮวาทรงเรียกว่า “ประชาชนของเรา” หมายรวมถึงใครด้วย และสัญญาใหม่ทำให้อะไรเป็นไปได้?
19 ช่างน่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่ได้เห็นสองกลุ่มที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในสมัยของเรานี้ด้วยตาตัวเอง! แม้ว่าชนฝูงใหญ่ที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้มีความหวังจะอยู่ในสวรรค์ พวกเขาภูมิใจที่ได้คบหากับคนที่มีความหวังดังกล่าว. พวกเขาผูกพันใกล้ชิดกับอิสราเอลของพระเจ้า. โดยทำอย่างนี้ พวกเขาจึงรวมอยู่ในหมู่คนที่พระยะโฮวาทรงเรียกว่า “ประชาชนของเรา.” เราพบว่าคำพยากรณ์ต่อไปนี้สำเร็จเป็นจริงกับพวกเขา ที่ว่า “ประชาชาติเป็นอันมากจะสมทบกันเข้าเป็นฝ่ายพระเยโฮวาห์ในวันนั้น และจะเป็นประชาชนของเรา และเราจะอยู่ท่ามกลางเจ้าทั้งหลาย.”—ซคา. 2:11, ฉบับแปลคิงเจมส์; 8:21; อ่านยะซายา 65:22; วิวรณ์ 21:3, 4
20 โดยทางสัญญาใหม่นี้ พระยะโฮวาได้ทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้. คนต่างชาติโดยนัยหลายล้านคนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย. (มีคา 4:1-5) พวกเขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะยึดมั่นในสัญญานั้นต่อ ๆ ไปด้วยการยอมรับและทำตามข้อเรียกร้องของสัญญานั้น. (ยซา. 56:6, 7) เมื่อทำอย่างนั้นด้วยกันกับอิสราเอลของพระเจ้า พวกเขาก็ได้รับพระพรอันอุดมโดยที่มีสันติสุขอยู่เสมอ. ขอให้คุณได้รับพระพรอย่างนั้น ทั้งในเวลานี้และตลอดไปในอนาคต!
[เชิงอรรถ]
a คล้ายกัน ส่วนใหญ่แล้วมีการกล่าวถึงชนผู้ถูกเจิมว่าเป็น “ประชาคม.” (ฮีบรู 12:23) อย่างไรก็ตาม คำว่า “ประชาคม” อาจมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึงคริสเตียนทุกคนไม่ว่าจะมีความหวังเช่นไรก็ตาม.—โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 2007 หน้า 21-23.
b พระเยซูทรงเป็นผู้กลางของสัญญานั้น ไม่ใช่ผู้มีส่วนร่วม. ดูเหมือนว่า ในฐานะผู้กลางพระองค์ไม่รับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์.
คุณจำได้ไหม?
• “อิสราเอลสิบสองตระกูล” ที่ชน 144,000 คนจะพิพากษาคือใคร?
• ชนผู้ถูกเจิมมีบทบาทอย่างไรในสัญญาใหม่ และสัญญาใหม่นั้นเป็นประโยชน์ต่อแกะอื่นอย่างไร?
• คริสเตียนทุกคนควรรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ไหม?
• มีการบอกล่วงหน้าว่าจะมีเอกภาพอะไรในสมัยของเรานี้?
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 25]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
ผู้คนมากมายกำลังรับใช้ด้วยกันกับอิสราเอลของพระเจ้า
1950 | 373,430
1970 | 1,483,430
1990 | 4,017,213
2009 | 7,313,173